fbpx
สำราญ สำเริง บันเทิง เต็มที่

สำราญ สำเริง บันเทิง เต็มที่

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

หมายเหตุ – คอลัมน์ เมื่อเวลามาถึง ผู้เขียนบันทึกไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ลูกสาวอ่านในอนาคต
____________________________

 

ทำท่าว่าจะแรงเหลือ – หนุ่มใบหน้ากร้านแดดเปื้อนยิ้มสะอาดๆ โพกผ้าสกรีนข้อความคำว่า “ต่อต้านเผด็จการ” เต้นอยู่หน้าเวทีมาร่วมชั่วโมงแล้ว

ทั้งหมอลำ ลูกทุ่ง รำวง ลำตัด ร็อกแอนด์โรล ที่เล่นสลับกันไป เขาจัดเต็มได้หมดเพราะสดชื่น

ไม่ใช่แค่หนุ่มโพกผ้า แต่ลุงๆ ป้าๆ ก็ใส่กันเต็มที่ เหมือนคนลืมวัย คล้ายคนลืมคืน

เหมือนคนมีปีก พูดแบบนี้ก็เว่อร์ไปหน่อย แต่มันก็ประมาณนั้นแหละ พอได้บินแล้วติดใจ อยากจะกระพือไปนานๆ เท่าที่เรี่ยวแรงยังพอมี 

ก่อนดวงอาทิตย์จะพ้นขอบฟ้าเวลาย่ำรุ่ง
ฟ้าสางกลางกรุงเกิดการเปลี่ยนแปลง
ปิดฉากสมบูรณาญาฯ เปิดศักราชแห่งชาติประชา
สถาปนารัฐธรรมนูญ

นักร้องหนุ่มบนเวทีร้องเสียงกังวาน เบสและกลองเดินหนักแน่น มือกีตาร์ริฟฟ์จังหวะชวนเร้าใจให้โยกหัวตาม

นักเรียนนอกกลุ่มนั้นวันหนึ่ง เมื่อถึงคราวลมพัดแรง
เรือกลางใบ ไปเปลี่ยนแปลง ให้แผ่นดินบันดาลความเท่าเทียม
สี่ทหารเสือที่เหลืออด ไม่ยอมอัปยศเหยียบราษฎร
จึงก่อการ การต่อกร กำหนดบทใหม่ ใจกลางมือง

“ราษฎรทั้งหลายจงพึงรู้ไว้เถิดว่า
ประเทศเรานี้เป็นของราษฎรทั้งปวง
ไม่ใช่ของเขาตามที่เขาได้หลอกลวง
ยืนหยัดอยู่กลางเมืองหลวง คณะราษฎร

เพลงคณะราษฎร แต่งและบรรเลงโดยวงกำปั้น ติดหูตรึงใจ มันเย้ายวนชวนให้ขยับตัวลุกยืนขึ้นและร่ำร้องไปพร้อมกัน – ไม่ง่ายที่จะเอาถ้อยคำในประกาศคณะราษฎรมาใส่ทำนองแล้วร้องได้กินใจ แต่วงกำปั้นทำได้

ด้านล่างข้างเวทียาวไปตลอดแนวเป็นซุ้มกิจกรรมของกลุ่มผู้ร่วมจัดงาน มีซุ้มปากระป๋อง สอยดาว จับสลาก ปาเป้า นิทรรศการคณะราษฎร

เลยแนวซุ้มไปสุดทางห่างจากเสียงเพลงบนเวทีเพลง ลุงเหน่ง พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของน้าเฌอ เอาหนังกึ่งสารคดีเรื่องทองปาน ที่เล่าฉากและชีวิตของสามัญชนในช่วง 6 ตุลาคม 2519 มาฉายกลางแปลง

หลายคนปูเสื้อนั่งๆ นอนๆ ดูหนังแกล้มถั่วต้มข้าวโพดต้ม และอีกไม่น้อยจิบของขมสีอำพันไปพลาง

พ่อจะบอกลูกว่าพ่อกำลังอยู่ในคืนวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน ปี 2556 และกำลังพูดถึง ‘งานฉลองวันชาติประชาชน ย่ำรุ่ง 24 มิถุนา’ บริเวณสนามเสือป่า ที่จัดกันเองโดยกลุ่มคนรักประชาธิปไตยเพื่อรำลึกถึงวันชาติที่เราเคยมีเป็นวันที่ 24 มิถุนายน

ปี 2481 พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องวันชาติ มีความว่า “ด้วยเหตุที่ว่าการปฏิวัติสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เกิดขึ้นโดยคณะราษฎร ในวันและเดือนดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. 2475 คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดไว้ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น”

แต่วันชาติประชาชนสุดท้ายก็ถูกปล้นจากเผด็จการนามสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เอาไปใส่เป็นวันที่ 5 ธันวาคมในปี 2503 แทน

ชาติไทยที่มีความหมายเป็นประชาชนก็ถูกด้อยค่าความหมายมาตั้งแต่ครั้งนั้น

แม้กล้ำกลืนและฝืนกัดฟัน ใครหลายคนก็ย่ำเดินมาได้

แม้ทุรกันดารและค่อนไปทางป่าเถื่อน ไม่ได้แปลว่าไม่มีคนสู้ เรายังยืนยันว่าชาติเท่ากับประชาชนและคนย่อมเท่ากัน

มีประจักษ์พยานหลักฐานชัดอยู่ในบทเพลงวันชาติ 24 มิถุนายน ที่ประพันธ์โดยครูเพลงชื่อมนตรี ตราโมท ในปี 2483 เพลงนี้ถูกเปิดวนอยู่ในงานหลายรอบจนพ่อร้องได้ และแน่นอนว่าจนถึงวันนี้ก็ยังมีอีกหลายคนที่ร้องได้เพราะความหมายของมัน

24 มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐธรรมนูญของไทย
เริ่มระบอบแบบอารยะประชาธิปไตย
ทั่วราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี
สำราญ สำเริง บันเทิง เต็มที่
เพราะชาติเรามีเอกราชสมบูรณ์
ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย

ชาติประเทศเหมือนชีวา ราษฎร์ประชาเหมือนร่างกาย
ถ้าแม้ว่าชีวิตมลาย ร่างกายก็เป็นปฏิกูล
พวกเราต้องร่วมรัก พิทักษ์ไทยไพบูลย์
อีกรัฐธรรมนูญคู่ประเทศของไทย
เสียกายเสียชนม์ ยอมทนเสียให้
เสียชาติประเทศไทย อย่ายอมให้เสียเลย
ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย

 

https://www.youtube.com/watch?v=r8Lrn0HXFzE

 

หลายคนอยู่ในคืนนั้นเพื่อรอถึงอรุณรุ่งที่จะวางดอกไม้ตรงหมุดคณะราษฎร ที่วันนี้มันถูกทำให้หายไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ถ้าไม่ไร้เดียงสาเกินไป เราต่างเข้าใจร่วมกันว่าปฏิบัติการลบเลือนประวัติศาสตร์และความพยายามหมุนเข็มนาฬิกาให้กลับไปมีชีวิตในระบอบเก่ากำลังเข้มข้นขึ้นทุกวัน

ในปีที่พ่อเข้าไปบันทึกภาพในงานที่ว่า หลายคนที่มาในงานนั้นต้องลี้ภัยหลังรัฐประหารในปีถัดมาหรือ 22 พฤษภาคม 2557 หลายคนสูญเสียครอบครัว บางคนถูกอุ้มหาย และอีกบางคนก็ถูกสังหารตายใจกลางกรุง บางคนที่ยืนเคียงข้างกันมาก็ผันตัวไปรับใช้โจรในเครื่องแบบ แต่บางคนยังเป็นความหวังเติบโตตามวัย ทำหน้าที่เป็นผู้แทนฯ อยู่กลางใจประชาชน

พ่อรู้จัก พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา หรือที่ใครๆ มักเรียกลุงแมวครั้งแรกที่งานนี้ ลุงแมวเป็นลูกชายของพระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในผู้นำคณะราษฎรที่ก่อการอภิวัฒน์ในปี 2475

ชายชาติทหารในวัยสนธยาอย่างลุงแมวเคยบอกพวกเราว่าเขาไม่คาดคิดว่างานฉลองวันชาติจะเกิดขึ้นได้อีก มันเป็นปีที่พิเศษที่สุด

“ผมเกิดปี 2482 สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม งานวันชาติจัดกันอย่างยิ่งใหญ่ และคุณพ่อก็เคยเล่าให้ฟังอีกทอดหนึ่งว่าสมัยที่ผมเด็กๆ อยู่ในวังปารุสกวัน ถนนพิษณุโลก งานเขาจัดบนถนนทุกเส้นในละแวกนี้ ของกินเพียบ ประชาชนเดินเบียดกันแน่น ใหญ่กว่างานกาชาดหลายเท่านัก

“วันที่ 24 มิถุนาฯ นอกจากรัฐบาลจะประกาศเป็นวันชาติของพลเมืองแล้ว ยังเป็นวันเปลี่ยนชื่อจากสยามมาเป็นประเทศไทย ส่วนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เริ่มสร้างในวันเดียวกัน วันที่ 24 มิถุนาฯ จึงผูกพันกับประชาชนมาก เพราะมันเป็นวันแรกที่คนไทยมีศักดิ์ศรี และเริ่มเรียนรู้การเป็นพลเมือง มีสิทธิและเสรีภาพ เสมอภาคกันภายใต้รัฐธรรมนูญ

“น่าเสียดายที่จอมพลสฤษดิ์ ยึดอำนาจรัฐบาล ป.พิบูลสงคราม และยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนาฯ จากนั้นความเป็นประชาธิปไตยก็ล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมา

ถ้าเราต้องการให้ต้นไม้ประชาธิปไตยเติบโตงอกงาม ก็ต้องช่วยกันรดน้ำใส่ปุ๋ยพรวนดิน มันไม่อาจยืนต้นโตเองได้โดยไม่มีใครดูแล ไม่เช่นนั้นก็จะเหี่ยวเฉาและตายไป”

คำของลุงแมวทำหน้าที่เหมือนมือที่มาโอบหลังตบไหล่ ปลุกและปลอบให้เข้าใจความเป็นจริง

 

คนเรารู้สึกเป็นตัวของตัวเองครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่กัน เป็นในความหมายว่าทั้งเนื้อตัว ทั้งความคิดและหัวใจไม่มีใครเป็นเจ้าของ ใครก็สั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้

ใช่หรือไม่ว่าเมื่อเราไม่เป็นทาสใคร เราก็เป็นเสรีชน และเสรีชนย่อมเชื่อในคนเสมอกัน

ยุคสมัยของลูก หรืออนาคตของพ่อ คงไม่มีใครคุยเรื่องนี้กันแล้ว มันน่าจะเชย เก่าและเอาท์ไปแล้ว คนรุ่นลูกน่าจะถกเถียงกันเรื่องดาวดวงใหม่มากกว่า

แต่วันนี้ เดือนนี้ ปีนี้ที่พ่อเขียนถึงลูก ประเทศของเรายังคุยเรื่องเดิมกันอยู่ เรื่องเดิมๆ ที่คุยกันมาราวศตวรรษก่อนหน้า

เรื่องที่เล่ามา พ่อมีภาพถ่ายที่อยากให้ลูกดูไว้ว่ามันคืองานฉลองวันชาติประชาชนที่จัดโดยประชาชนกันเองในรอบหลายทศวรรษ ตั้งแต่มันถูกยกเลิกไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

และวันนั้นคืนนั้นก็หวนกลับมาสะกิดให้พวกเราพยายามลุกขึ้นจากความหลับใหลอีกครั้ง

แม้อาจจะไม่มีวันได้ฉลองในยุคสมัยของเราก็ตามที

 

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save