น่าอายไหม ถามใจเธอดู กับการใช้ ‘แอปหาคู่’

น่าอายไหม ถามใจเธอดู กับการใช้ ‘แอปหาคู่’

                “เฮ้ยมึง ได้ข่าวว่าไอ้น็อตมันกำลังจะแต่งงานนี่หว่า”

                “เออ เห็นคบกันไม่กี่เดือนเอง จะแต่งแล้ว เร็วฉิบหาย”

                “มันไปเจอแฟนมันที่ไหนวะ”

                “เห็นมันบอกว่าเจอกันในทินเดอร์”

                “………”

 

ในยุคสมัยที่เราสามารถพบเจอคนที่ถูกใจผ่านการปัดนิ้วไปทางขวา ดูเหมือนว่าการสานสัมพันธ์กับผู้คนใหม่ๆ จะเป็นเรื่องง่ายดายกว่าแต่ก่อน ทว่าเมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่จริงจังขึ้นอีกระดับ หลายคนอาจไม่แน่ใจว่านวัตกรรมใหม่ๆ จะเป็นคำตอบให้เราได้หรือไม่ ดังบทสนทนาข้างต้นที่หลายคนคงเคยเจอ

หากการใช้บริการจัดหาคู่ประเภทต่างๆ ตั้งแต่เว็บหาคู่ออนไลน์ ไปจนถึงแอปพลิเคชั่นยอดฮิตอย่างทินเดอร์ สามารถนำไปสู่การพบเจอคนที่เรารักได้ คำถามที่น่าคิดก็คือ ทำไมหลายคนจึงต้องปิดบัง

ในหนังสือ ‘ถอดรหัสรักออนไลน์’ (Modern Romance) ของ อาซิส อันซารี่ (Aziz Ansari) ให้คำอธิบายที่น่าสนใจไว้หลายข้อด้วยกัน เป็นต้นว่า ในช่วงยุค 90 ที่บริการหาคู่ออนไลน์เริ่มแพร่หลาย คู่รักหลายคู่ที่พบกันผ่านช่องทางนี้ มักไม่กล้าเปิดเผยให้คนอื่นรู้ เพราะกลัวคนอื่นจะมองไม่ดี หรือไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม

“เว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ยังคงถูกตีตราทางสังคม และบ่อยครั้งผู้คนยังไม่กล้ายอมรับว่าพบคู่รักด้วยวิธีนี้ พวกเขากลัวว่าการใช้เว็บไซต์ออนไลน์ หมายความว่าพวกเขาไม่น่าดึงดูดหรือไม่เป็นที่ต้องการเพียงพอที่จะพบเจอคนรักได้ด้วยวิธีการดั้งเดิม”

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันความคิดดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไป อาซิสเล่าว่าคนรุ่นใหม่เริ่มรู้สึก ‘เฉยๆ’ กับวิธีการพบรักแบบนี้ สอดคล้องกับผลการศึกษาที่ว่า 1 ใน 3 ของคู่รักที่แต่งงานกันในสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2005 ถึง 2012 พบกันผ่านเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์

ทว่าเมื่อพูดถึงแอปพลิชั่นนัดเดท (หรือที่หลายคนเรียกว่านัดยิ้ม) อย่างทินเดอร์ ฟังก์ชั่นของมันดูจะต่างออกไปจากเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์อยู่พอสมควร ในแง่ที่มันดูเป็นการหาคู่แบบ ‘ชั่วคราว’ มากกว่า

จากการสำรวจความเห็นของคนที่ใช้ทินเดอร์ในปี 2013 คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับว่าใช้แอปนี้หาคู่เดตหรือคู่นอน แต่มักบอกว่า ‘ลองใช้ดูขำๆ’ ผู้หญิงคนหนึ่งถึงกับออกตัวว่า “ฉันจะไม่แต่งงานกับคนที่รู้จักในทินเดอร์หรอกนะ” โดยเธอมองว่ามันเป็น “แหล่งหากิ๊ก” มากกว่า

คำถามที่น่าคิดก็คือว่า แล้วถ้าเกิดเราเจอคนที่ใช่ในทินเดอร์จริงๆ ล่ะ ?

 

แม้ภาพลักษณ์ของทินเดอร์ รวมถึงแอปพลิเคชั่นอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน จะดูมีไว้เพื่อหาความสัมพันธ์แบบ ‘ฉาบฉวย’ แต่ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นก็คือ คนจำนวนไม่น้อยกลับได้พบแฟนหรือคู่รักในปัจจุบันจากแอปพลิเคชั่นเหล่านี้

ในกรณีของทินเดอร์ เหตุผลหนึ่งที่มันกลายเป็นคำตอบของการหาคู่ออนไลน์ของคนยุคนี้ ก็คือ ‘ข้อกำหนดว่าทั้งสองฝ่ายต้องสนใจกันและกัน’ ซึ่งทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องหัวเสียกับข้อความอันไม่พึงประสงค์จากคนที่เราไม่สนใจอย่างในแอปอื่นๆ และนั่นอาจมีส่วนที่ทำให้ความสัมพันธ์ได้รับการพัฒนาต่อ จนกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนได้ในที่สุด

จากกระทู้สำรวจความเห็นผู้ใช้ทินเดอร์ในเว็บไซต์ Reddit ในปี 2014 มีผู้ที่เข้ามาแชร์ประสบการณ์มากมาย และหลายคนที่ตั้งใจว่าจะใช้ทินเดอร์แบบขำๆ กลับได้พบความสัมพันธ์ที่มีความหมาย อย่างที่ผู้หญิงคนหนึ่งแชร์เรื่องราวของเธอว่า

“ฉันกำลังเดตกับชายคนหนึ่งจากทินเดอร์ เราคบกันจริงจังมาได้ประมาณเดือนนึงแล้ว … ฉันชอบเขามากและเรามีความสุขมาก ฉันลบแอปเมื่อเราตกลงว่าจะเป็นคนพิเศษของกันและกันเท่านั้น โดยไม่มองหาคนอื่นอีก”

เฮเลน ฟิชเชอร์ นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าสนใจว่า ทั้งหมดที่ทินเดอร์ทำ คือการแสดงภาพของคนที่อยู่ในละแวกนั้น แล้วปล่อยให้สมองมนุษย์ที่มีอัลกอริธึ่มอันฉลาดล้ำ ไล่เช็กว่าอีกฝ่ายมีคุณสมบัติตรงกับที่เรามองหาอยู่หรือไม่ ซึ่งแง่หนึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่คนรุ่นปู่ยาตายายทำด้วยซ้ำในการ ‘ตามหาคนที่ใช่ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับเรา’

อย่างไรก็ตาม การใช้แอปหาคู่แบบนี้ก็มีจุดอ่อนไม่ต่างจากการหาคู่รูปแบบอื่นๆ โดยข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่สำคัญ คือการที่มันมีฐานผู้ใช้อันกว้างขวาง อันเป็นช่องทางที่เอื้อให้เกิดการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ มากมาย รวมถึงการเปิดช่องให้เกิดการนอกใจ—ในกรณีที่คุณไม่ได้เป็นคนโสด

ถ้าคุณเคยโหลด ‘ทินเดอร์’ มาใช้ สิ่งที่อาจทำให้ประหลาดใจยิ่งกว่าการได้พบหนุ่มๆ สาวๆ โปรไฟล์ดีนับไม่ถ้วน ก็คือคุณอาจพบว่ามีเพื่อนและคนรู้จักจำนวนไม่น้อยที่เล่นแอปนี้ด้วยเหมือนกัน และหลายคนก็อาจเป็นคนที่มีแฟนอยู่แล้วด้วยซ้ำ

คำถามที่ตามมาก็คือว่า พวกเขาดาวน์โหลดเล่นแอปนี้มาเล่นแบบขำๆ หรือตั้งใจจะมองหาความสัมพันธ์ใหม่ๆ กันแน่

เรื่องนี้จึงต้อง ‘ถามใจเธอดู’ ว่าใช้แอปหาคู่ไปเพื่ออะไร

และไม่มีคำตอบไหนถูกหรือผิด

 

อ่านเพิ่มเติม

– หนังสือ ‘ถอดรหัสรักออนไลน์’ (Modern Romance) เขียนโดย Aziz Ansari แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Openworlds

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save