fbpx

ปรากฏการณ์โรงหนังเทรอบฉาย: “ก็โรงหนังเขามาทำธุรกิจ ไม่ได้มาทำการกุศล!” (รู้แล้วจ้า)

คล้ายจะเป็นธรรมเนียม ‘คลาสสิก’ ที่เราต้องมาพูดเรื่องปรากฏการณ์ ‘เทรอบฉาย’ ของโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ในไทยให้หนังฟอร์มยักษ์ทุนสร้างหลายร้อยล้านเหรียญฯ จากฮอลลีวูด แต่เหลือรอบฉายบางตาให้หนังเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสัญชาติไทยหรือต่างประเทศ และยังไม่ต้องพูดถึงว่า รอบฉายดังกล่าวกระเด็นไปอยู่ช่วงบ่ายๆ กลางสัปดาห์ จนยากที่ใครจะหาเวลาปลีกตัวจากการงานหรือการเรียนมาดู

อย่างไรก็ดี นี่ย่อมไม่ใช่การโจมตีหนังทุนสร้างสูงหรือหนังจากค่ายใหญ่หรือหนังฮอลลีวูดใดๆ ทั้งปวง แต่เป็นการตั้งคำถามต่อการให้รอบฉายของเหล่าโรงหนังมัลติเพล็กซ์ (อีกครั้ง) ว่าอะไรทำให้ต้องเทพื้นที่รอบฉายให้หนังบล็อกบัสเตอร์มากมายขนาดนี้

บางคนอาจบอกว่าสิ่งนี้เป็นไปตามระบบ ‘อุปสงค์-อุปทาน’ ตามระบบทุน ในเมื่อหนังบล็อกบัสเตอร์ส่วนใหญ่เป็นหนังที่มีฐานคนดูแน่นอยู่แล้ว ทั้งจากนักแสดงระดับแถวหน้า, ผู้กำกับชื่อดัง หรือสถานะการเป็นหนังแฟรนไชส์ของหลายๆ เรื่อง ไม่แปลกที่จะมีคนดูจำนวนมากรอดูหนังเหล่านี้เมื่อเข้าโรงฉาย และก็ยิ่งไม่แปลกเข้าไปใหญ่หากโรงหนังจะทุ่มรอบฉายส่วนใหญ่ให้หนังเหล่านี้ ตบท้ายด้วยประโยคคมคายว่า “โรงหนังเขามาทำธุรกิจ ไม่ได้มาทำการกุศล ไม่จำเป็นต้องแบ่งรอบฉายให้หนังฟอร์มเล็กที่กลุ่มคนดูน้อยกว่า”

คลาสสิก!

แต่นั่นเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นจริงหรือเปล่า

ใครเป็นผู้บริโภค ก็ฉันน่ะสิ ฉันน่ะสิ

หากเราพินิจพิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้อย่างจริงๆ จังๆ ก็อาจจะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลลบต่อเราในฐานะ ‘ผู้บริโภค’ ประการแรก หากคุณกำเงินไปซื้อตั๋วหนังบล็อกบัสเตอร์ดังกล่าวตั้งแต่วันแรกที่หนังเข้าฉาย เพื่อจะพบว่าอีกสัปดาห์ต่อมาเต็มๆ หนังเรื่องที่คุณดูไปแล้วก็ยังครองผังตารางฉายเกือบทั้งวัน ขณะที่หนังเรื่องอื่นๆ ถูกโรงเบียดขับให้ไปอยู่รอบเช้าจัดหรือไม่ก็กลางวันซึ่งคนแทบจะหาเวลาไปดูไม่ได้ ประการที่สอง คุณอาจจะพบว่ามีหนังใหม่ๆ ทั้งจากในไทยและต่างประเทศเข้าฉาย แต่โรงก็แทบไม่ให้รอบหนังเหล่านั้น หันมาทีไรคุณก็พบว่าตารางฉายเต็มล้นไปด้วยหนังฟอร์มยักษ์เรื่องเด่นเรื่องเดียว

แน่นอน สิทธิในการเลือกว่าจะดูหนังเรื่องอะไรนั้นเป็นสิทธิของผู้บริโภคอย่างเราๆ แต่คำถามสำคัญคือ แล้วเราได้เลือกหรือยัง ในเมื่อที่ผ่านมา โรงหนังเป็นผู้เลือกให้เราเกือบทั้งหมดผ่านการจัดตารางฉายที่เทไปให้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นหลัก และเหตุใดเราจึงต้องให้อำนาจการตัดสินใจเลือกภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายโรงอยู่ในมือของคนเพียงสองกลุ่ม คือเจ้าของธุรกิจโรงหนังกับสายหนัง ซึ่งวัดเฉพาะในสนามของธุรกิจโรงหนังนั้น มีผู้เล่นหลักเพียงสองเจ้า ได้แก่ เครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และเครือเอสเอฟ ซีเนม่า คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนตลาดภาพยนตร์ไทย

The Fabelmans (2022)

ผลที่ตามมาคือ คนไทยพลาดโอกาสในการได้ดูหนังหลากหลาย ถึงขั้นที่ล่าสุด The Fabelmans (2022) หนังของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่ชิงออสการ์ร่วมเจ็ดสาขารวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก็ถูกพิจารณาว่ากลายเป็น ‘หนังนอกกระแส’ เข้าฉายอยู่เพียงไม่กี่โรง (สปีลเบิร์กคนนั้นน่ะ! คนที่สร้างฉลามจอมเขมือบและเนรมิตไดโนเสาร์ขึ้นมาในจักรวาลฮอลลีวูดน่ะ!) ไม่ต้องไปพูดถึง Tár (2022) หนังของ ท็อดด์ ฟีลด์ ชายผู้ทำหนังอยู่สามเรื่องในรอบสองทศวรรษ ที่รอบฉายระหกระเหินเข้าเฉพาะโรงจำกัดจำเขี่ยไม่ไหว

ผลลัพธ์ที่ได้คือ คนดูหนังชาวไทยห่างไกลจากหนังมากหน้าหลายตาเข้าไปทุกที -ไม่ว่าจะหนังฟอร์มเล็ก หนังยุโรป หนังเอเชีย หนังสารคดีหรือหนังแอนิเมชัน- และถึงที่สุด หลายคนก็ไม่มีโอกาสได้ลองดูหนังที่ไปพ้นจากความคุ้นเคยของตัวเองเพราะโรงหนังถือสิทธิเป็นผู้เลือกให้

ดังนั้น ประเด็นสำคัญจึงเป็นเรื่องที่ว่า ความหลากหลายในการรับเลือกดูหนังของคนไทยถูกพรากออกไปอย่างน่าเสียดายภายใต้ระบบทุนผูกขาดและการตัดสินใจของคนไม่กี่กลุ่ม

ข้อเสนอเก่าแต่เรายังต้องพูดอยู่

มองด้านหนึ่งก็ใช่อยู่ที่ว่าหนังฟอร์มใหญ่หรือหนังบล็อกบัสเตอร์ทั้งหลายนั้นดึงดูดความสนใจจากคนดูได้ง่าย เพราะมักมาพร้อมต้นทุนมหาศาลตั้งแต่นักแสดงชื่อดัง ผู้กำกับเบอร์ใหญ่ และที่สำคัญคือทุนในการโปรโมตภาพยนตร์ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่หนังฟอร์มเล็กหรือค่ายหนังอิสระอื่นๆ มีมากมายนัก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ไม่ง่ายนัก เมื่อเห็นโรงหนังมัลติเพล็กซ์ให้พื้นที่ราว 80 เปอร์เซ็นต์แก่หนังทุนสร้างสูงเหล่านี้ และเหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์เพื่อ ‘เก็บตก’ หนังอื่นๆ จนช่วยไม่ได้เลยหากว่ามองจากภายนอก จะเกิดความรู้สึกคล้ายว่าเห็นแต่หนัง ‘หน้าตาเดิมๆ’ เข้าฉายในโรงอยู่ไม่กี่รูปแบบ

ถ้ายังจำกันได้ ต้นปี 2017 กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์เคยออกมาเรียกร้องต่อประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ให้ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการเข้าฉาย การกำหนดรอบและระยะเวลาของภาพยนตร์ในโรงหนังมัลติเพล็กซ์ โดยยื่นข้อเสนอให้รัฐกำหนดเงื่อนไขให้โรงหนังจัดสัดส่วนการฉายหนังแต่ละเรื่องไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนโรงทั้งหมด และเปิดพื้นที่ให้หนังไทยยืนโรงอย่างน้อยสองสัปดาห์ โดยข้อเสนอนี้ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ หากแต่เป็นไปตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์ฯ ฉบับปี 2551 ที่ระบุให้คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติมีหน้าที่จัดสัดส่วนภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์

ยกตัวอย่างง่ายๆ หากโรงหนังมีจำนวนจอ 100 จอทั่วประเทศ หากปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว โรงหนังจะต้องจัดฉายหนังแต่ละเรื่องไม่เกิน 20 จอต่อเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าผลประโยชน์ย่อมตกถึงมือผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่ได้ดูทั้งหนังบล็อกบัสเตอร์ หนังนอกกระแส หนังไทย หนังสารคดี ฯลฯ ตามแต่ว่าหนังเรื่องไหนจะเข้ามาฉายในช่วงนั้น โดยไม่จำเป็นต้องเผชิญกับตารางฉายที่แน่นเอี้ยดไปด้วยหนังฟอร์มยักษ์เรื่องเดียว

หนังใหม่เข้าวันพฤ- เอ๊ะ วันพุธเหรอ (แล้วตั๋วหนังราคาถูกล่ะ!)

สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในระยะหลังๆ คือโรงหนังมัลติเพล็กซ์ให้พื้นที่มหาศาลแก่หนังบล็อกบัสเตอร์เข้าฉายใหม่ในวันพุธ

หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับโปรโมชัน Movie Day ดูหนังวันพุธ อันเป็นโปรโมชันที่โรงมัลติเพล็กซ์ออกขึ้นมาเพื่อดึงคนดูให้เข้าไปดูหนังในโรงช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากตามสถิติแล้ว คนดูหนังมักตีตั๋วเข้าโรงกันช่วงสุดสัปดาห์ซึ่งไม่มีธุระการงานหรือการเรียนเข้ามาข้องเกี่ยว โรงที่ฉายหนังช่วงกลางสัปดาห์จึงเงียบเชียบจนเป็นต้นธารของการกำเนิดโปรโมชัน Movie Day ซึ่งตั๋วหนังจะราคาถูกเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่ตั๋วใบละ 60 บาท แล้วจึงขยับขึ้นมาเป็น 100 บาทตามราคาเต็มของค่าตั๋ว ขณะที่วันพฤหัสบดีนั้นเป็นวันที่หนังใหม่เข้าฉาย

และระยะหลังๆ นี้เอง ที่โรงหนังให้พื้นที่แก่หนังบล็อกบัสเตอร์เข้าใหม่ มาฉายวันพุธ -แน่นอนว่าจำหน่ายตั๋วราคาเต็ม

คำถามสำคัญคืออะไรทำให้โรงหนังต้องเร่งเอาหนังใหม่เข้าขนาดนั้น แม้จะพอมองด้วยสายตา (พยายาม) เข้าอกเข้าใจว่าต้องการรับกระแสหนังให้ทันรอบฉายของสหรัฐฯ หรือทั่วโลก แต่อีกด้าน วิธีการเช่นนี้ก็ไปลดทอนอายุขัยของหนังเรื่องอื่นๆ ที่อย่างน้อยที่สุดก็มีกำหนดฉายถึงวันพุธ มากไปกว่านั้น วันที่มีโปรโมชันเช่นนี้ยังอาจเป็นวัน ‘ทำรายได้’ ของหนังเล็กๆ เหล่านี้ด้วย แต่ท้ายที่สุด มันก็ถูกเบียดกระเด็นด้วยการตัดสินใจของโรงภาพยนตร์ และจำต้องโบกมือลาโรงก่อนวาระที่ควรเป็น ขณะที่คนดูบางกลุ่มก็อาจรอดูหนังวันพุธเพื่อจะซื้อตั๋วในราคาที่ถูก เพื่อจะพบว่าโรงตัดโอกาสนั้นไปแล้ว

อีกเช่นเคย คนที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ไม่ใช่แค่เจ้าของหนังเรื่องดังกล่าว แต่ยังรวมถึงคนดูที่อาจพลาดโอกาสในการได้ดูหนังเรื่องอื่นๆ ด้วย

No Screen Quota = No Oldboy

สมัยที่ Parasite (2019) หนังสัญชาติเกาหลีใต้คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้เป็นครั้งแรก หลายคนก็แห่แหนยกย่องอุตสาหกรรมหนังเกาหลี พร้อมทั้งสำรวจสารพัดเงื่อนไขที่ทำให้หนังพูดภาษาเกาหลี แสดงนำโดยคนเกาหลี กระโจนไปคว้าธงชัยจากเวทียักษ์ของฮอลลีวูด -อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐฯ ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ใหญ่โตที่สุดแห่งหนึ่งของโลกภาพยนตร์

ว่ากันตามตรง หนึ่งในเงื่อนไขที่ส่งให้ Parasite -ตลอดจนหนังกับซีรีส์สัญชาติเกาหลีใต้อีกหลายเรื่อง- ตีตลาดโลกได้เป็นวงกว้าง ก็เริ่มขึ้นจากการสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านเกิดทั้งสิ้น รวมทั้งมาตรการป้องกันไม่ให้โรงหนังผูกขาดภาพยนตร์ ที่กำหนดให้โรงหนังในประเทศต้องฉายหนังสัญชาติเกาหลีใต้เป็นเวลา 146 วันต่อปี เพื่อเปิดพื้นที่แข่งขันและสร้างรายได้ให้แก่คนทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้

Parasite (2019)

โดยในปี 2006 รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามเปลี่ยนแปลงระบบโควตา ลดพื้นที่การฉายหนังเกาหลีใต้ให้เหลือเพียง 76 วันต่อปี จน ปาร์คชานวุค -คนทำหนังที่ Oldboy (2003) ส่งเขาเข้าชิงรางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์- ออกมาถือป้าย No Screen Quota = No Oldboy (ไม่มีกฎหมายระบบโควต้า ก็ไม่มี Oldboy) เพื่อประท้วงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว เพราะกล่าวสำหรับตัวปาร์คเอง เขาก็ถือเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่เติบโตขึ้นมาได้ด้วยระบบโควตานี้

อย่างไรก็ตาม กลางปี 2019 รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ออกกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาการผูกขาดในโรงหนัง โดยมีกฎหมายระบุว่าไม่ให้หนังเรื่องใดเข้าฉายมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของโรงหนังทั้งประเทศเพื่อไม่ให้หนังบล็อกบัสเตอร์กินพื้นที่ของโรงฉายทั้งหมด เพราะไม่เช่นนั้นอาจสร้างผลลบต่อระบบอุตสาหกรรมในภาพใหญ่ ทั้งยังสร้างความลำบากต่อคนทำงานในอุตสาหกรรมด้วย

และไม่ใช่แค่เกาหลีใต้เท่านั้น ประเทศจีนเองก็มีนโยบายจำกัดภาพยนตร์จากต่างประเทศที่จะเข้าฉายในจีนอย่างเข้มงวด โดยจีน -ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีตลาดภาพยนตร์ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลก- จำกัดให้มีหนังจากต่างประเทศเข้ามาฉายได้เพียง 34 เรื่อง (ยังไม่นับว่าต้องฝ่าด่านเซนเซอร์ต่างๆ ด้วย) จนทางออกของฮอลลีวูดผู้หวังจะตีตลาดจีนคือการทำหนังร่วมทุนสร้างสหรัฐฯ-จีน ไม่ว่าจะ The Great Wall (2016) หรือ The Meg (2018) ที่หน้าหนังดูฮอลลีวูดจ๋าๆ แต่ก็ร่วมทุนสร้างโดยบริษัทจีน (และ/หรือมีนักแสดงชาวจีนร่วมแสดง)

ทั้งหมดนี้ คงยากจะปฏิเสธว่ารัฐบาลมีบทบาทต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่มากก็น้อย ซึ่งคงเกิดขึ้นไม่ได้หากว่ารัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของภาพยนตร์ในเชิงวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

มากไปกว่านั้น มันหมายถึงการสร้าง ‘สายป่าน’ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วย ปาร์คชานวุคหรือบองจุนโฮคงมาถึงจุดนี้ไม่ได้เลยหากว่าเขาทำหนังเรื่องแรกๆ แล้วไม่มีโรงหนังในเกาหลีใต้ให้รอบฉายพวกเขา พื้นที่ในการฉายภาพยนตร์จึงเป็นเสมือนสนามใหญ่ของคนทำหนังในการจะนำเสนอภาพยนตร์ของตัวเองสู่สายตาคนดู มีรายได้เลี้ยงปากท้องและผลิตหนังเรื่องต่อๆ ไปจนกลายเป็น Oldboy เป็น Decision to Leave (2022) เป็น Memories of Murder (2003) และเป็น Parasite

“ทำหนังออกมาดีๆ เดี๋ยวคนก็ดูเองน่า” (แต่ไม่มีรอบฉายให้นะ)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังไทยเองก็กำลังเผชิญหน้ากับ ‘วิกฤติศรัทธา’ มานานร่วมหลายปี ระดับที่ไม่ว่าจะทำหนังแบบไหน นักแสดงนำเป็นใคร ก็ยากจะดึงดูดให้คนตีตั๋วเข้าไปดูในโรง และแทบทุกครั้งที่มีคนในแวดวงหนังไทยออกมาพูดประเด็นนี้ ก็มักถูกตอบกลับด้วยประโยคที่ว่า “ทำหนังออกมาดีๆ เดี๋ยวคนก็ดูเอง” (ถือเป็นการหงายการ์ดยอดฮิตไม่ต่างจากประโยค “โรงหนังเขามาทำธุรกิจ”)

นั่นก็อาจจะจริง แต่สิ่งที่ต้องวงเล็บ ต้องใส่เครื่องหมายดอกจัน ใส่ปัจฉิมลิขิตไว้ คือข้อเท็จจริงที่ว่า “แต่ไม่มีโรงฉายให้หรอกนะ” -แล้วคนดูจะไปหาดูจากที่ไหน

ว่ากันตามตรง ประเด็น ‘หนังดี-หนังห่วย’ นั้นเป็นมุมมองเชิงปัจเจก แต่กล่าว อย่างรวบรัดที่สุด หากใช้รางวัลจากเทศกาลหนังต่างๆ เพื่อวัดคุณภาพของหนังแต่ละเรื่อง ที่ผ่านมาเราก็มีหนังฟอร์มเล็กมากมายที่เดินหน้าคว้ารางวัลกลับมาบ้าน ทั้ง มะลิลา (2018), กระเบนราหู (2019), เวลา (2021) หรือสารคดีว่าด้วยโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนในไทยที่จากไปแล้วอย่าง Scala (2022) ซึ่งเข้าฉายในเทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลิน รวมทั้งล่าสุดกับ Blue Again (2022) หนังไทยที่เข้าชิงสาขา New Currents เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ที่ได้รอบฉายในโรงมัลติเพล็กซ์เพียงหกวัน

Blue Again (2022)

แน่นอนว่าก็อาจเถียงกันได้อีกเหมือนกันว่า แล้วถ้าโรงหนังเปิดพื้นที่ให้หนังอื่นๆ -โดยเฉพาะหนังไทย- มากขึ้น เท่ากับว่าอาจมีหนังที่ ‘ไม่ได้มาตรฐาน’ (ซึ่งก็คงต้องละไว้ตรงนี้ก่อนว่า ‘มาตรฐานใคร’) มาเข้าฉายมากขึ้นหรือเปล่า ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่คนดูจะเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะหากพื้นที่ในการฉายหนังนั้นเสรีมากพอ มีการแข่งขันที่เท่าเทียมมากพอ คนดูย่อมส่งเสียงและความคิดเห็นกลับไปยังกลุ่มคนทำหนัง เรียกร้องให้ทำหนังในรูปแบบอื่นออกมา หรือที่สุดแล้วคนดูก็เป็นฝ่ายตัดสินใจจะไม่ดูเอง แบบที่ชาวอเมริกันหรือชาวเกาหลีใต้หลายคนก็ไม่ได้ดูหนังจากบ้านเกิดตัวเอง ‘ทุกเรื่อง’ -ไม่ว่าจะหนังดราม่า, พล็อตเซอร์สุดเวียร์ด หรือตลกโป๊งเหน่ง- ที่เข้าฉาย หนังทุกเรื่องก็เป็นเพียงตัวเลือกที่ใครใคร่ดูก็ดู ไม่ดูก็ข้ามผ่าน แต่ประเด็นสำคัญคือในเวลานี้ สิทธิในการตัดสินใจนั้นไม่ได้อยู่ในมือคนดูชาวไทยด้วยซ้ำ หากแต่อยู่ในมือของโรงหนัง

นี่จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องพื้นที่ในการจัดฉาย หากแต่เป็นเรื่อง ‘ระบบนิเวศ’ ของแวดวงหนังไทย

เมื่อโรงหนังไม่แบ่งรอบฉายให้หนังเรื่องอื่นๆ ก็ส่งผลให้คนดูได้ดูหนังน้อยลงไปโดยปริยาย พร้อมกันนี้ก็ ‘คุ้นเคย’ กับหนังไม่กี่รูปแบบจนพร้อมจะ ‘ปัดตก’ หนังเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศที่หน้าหนัง, วิธีการเล่าเรื่อง หรือองค์ประกอบต่างๆ หลุดไปจากความคุ้นชิน แวดวงภาพยนตร์จึงแทบไม่มีพื้นที่ให้ความใหม่ที่อยู่นอกเหนือไปจากความคุ้นเคยของคนดูได้เข้ามาย่างกรายได้เลย

อย่างน้อยที่สุด หากจะแพ้ ก็อยากให้แพ้อยู่บนสังเวียนที่มีกติกาเดียวกัน ภายใต้การตัดสินใจของคนดู ไม่ใช่เจ้าของโรงหนังหรือสายหนัง

แล้วซอฟต์พาวเวอร์นี่จะแล้วไหม

ในรอบปีที่ผ่านมา คำที่ถูกหยิบมาใช้บ่อยมากที่สุดคำหนึ่งน่าจะเป็นคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ที่มีนัยคล้องเกี่ยวกันตั้งแต่เรื่องทรัพยากร วัฒนธรรมและการใช้อำนาจ โจเซฟ เอส นาย (Joseph S. Nye) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ผู้เสนอแนวคิดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ชาวอเมริกัน ให้นิยามภาพกว้างของคำนี้ผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวูดของสหรัฐอเมริกา และเค-ป๊อปกับภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้ระยะเวลาในการฟูมฟักนานหลายสิบปีเป็นอย่างต่ำ

และแม้กระบวนการสร้างซอฟต์พาวเวอร์นั้นจะถูกผลิตโดยเอกชนเป็นหลัก แต่ไม่มากก็น้อย คงยากจะปฏิเสธว่ารัฐเองก็ต้องมีส่วนเกื้อหนุนให้มันประสบผลสำเร็จหรืองอกงามให้เกิดเป็นรูปเป็นร่างด้วย ออสเตรเลียมีสภาสมาคมภาพยนตร์ออสเตรเลีย (Australian Council of Film Societies -ACOFS) เพื่อสนับสนุนผู้คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในบ้านเกิด จนเป็นอีกประเทศที่ผลิตภาพยนตร์จำนวนมากไปเข้าประกวดในเทศกาลหนังต่างๆ รวมทั้งส่งนักแสดงออสซี่เข้าไปยืนแข่งขันกับนักแสดงอเมริกัน (ผายมือไปทาง เคต แบลนเชตต์ หรือ บาซ เลอร์มานน์ คนทำหนังที่เพิ่งจะส่งหนังตัวเองเข้าชิงออสการ์แปดสาขาเต็ม) รวมทั้งมีระบบสกรีน ออสเตรเลีย (Screen Australia) ที่ดูแลเรื่องภาพยนตร์โดยรวม ทั้งยังมีหน่วยงานที่ให้ทุนในการสนับสนุนการทำหนังอย่างเป็นระบบ

ซอฟต์พาวเวอร์ที่จะเกิดจากภาพยนตร์จึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกไปเสียจากสร้างกลไกในวงการนี้อย่างชัดเจน มีพื้นที่สำหรับคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ ในการจะเกิดและเติบโต (เพราะไม่เช่นนั้นเด็กนักเรียนภาพยนตร์ก็จะยังต้องเผชิญกับคำถามโลกแตกอยู่ร่ำไปว่า “เรียนจบฟิล์มแล้วไปทำอะไร”) ซึ่งหนึ่งในกลไกในการสร้างระบบนี้ขึ้นมาคือการสร้างความหลากหลายให้เกิดขึ้นในระบบนิเวศภาพยนตร์ให้ได้ และหนึ่งในนั้นคือการจัดฉายหนังที่พ้นไปจากความคุ้นเคยของหลายๆ คนเพื่อสร้างกลุ่มผู้ชมใหม่ๆ ที่มีรสนิยมหลากหลาย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่สร้างขึ้นได้ภายในวันหรือสองวัน

เพราะภาพยนตร์คือพื้นที่แห่งความหลากหลาย

กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ คนทำหนังจาก Insects in the Backyard (2010), It Gets Better (2012) เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ในงานแถลงข่าว กรณียื่นข้อเรียกร้องต่อประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติเมื่อปี 2017 ว่า “เราไม่ได้มาสร้างศัตรู แต่เรามาหาทางออกของหนังไทยด้วยกัน […] เราไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนดู ทุกคนยังสามารถดูหนังฮอลลีวูดได้อยู่ เพียงแต่เราพยายามสร้างพื้นที่ให้มีทางรอดให้หนังไทย” (อ้างอิงจากนิตยสาร Bioscope ฉบับที่ 178)

เวลาล่วงผ่านมาหกปี ยากจะเชื่อว่าเรายังต้องมาพูดเรื่องเดิมกันอยู่

ปรากฏการณ์โรงหนังเทรอบฉายให้หนังบล็อกบัสเตอร์นี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นประเด็นเดิมที่สะท้อนว่าสิทธิของผู้บริโภคนั้นอยู่ภายในกำมือของคนไม่กี่กลุ่ม และทีละเล็กทีละน้อย การที่โรงหนังแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ความหลากหลาย ก็ดูจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อระบบนิเวศหนังไทยทั้งมวลอย่างปฏิเสธไม่ได้

ก็ใช่ ก็จริง ที่ว่าโรงหนังเขามาทำธุรกิจ ไม่ได้มาทำการกุศล (รู้จ้า) แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะยอมให้โรงมีสิทธิในการตัดสินใจว่า ผู้บริโภคควรหรือไม่ควรดูอะไร มากไปกว่านั้น หากเราปล่อยให้สิทธิทุกอย่างอยู่ในมือของคนไม่กี่กลุ่ม แล้วเราจะยังมาพูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ปรารถนาจะผลักดันอุตสาหกรรมให้ไปถึงระดับโลกแบบเกาหลีใต้กันอยู่ทำไม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save