fbpx
4 ข้อสงสัยต่อมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ”

4 ข้อสงสัยต่อมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ”

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

 

กลายเป็นประเพณีไปแล้วที่ช่วงปลายปีรัฐบาลจะประกาศมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ที่น่าสนใจคือแทบไม่มีการถกเถียงกันเลยว่ามาตรการนี้คุ้มค่าหรือไม่ บรรลุผลตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ราวกับว่าทุกคนเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว และหรี่ตามองไม่เห็นต้นทุนของมัน

แม้ “ช็อปช่วยชาติ” เป็นมาตรการที่ถูกนำกลับมาใช้กันทุกปลายปี แต่กลับไม่มีการเผยแพร่บทวิเคราะห์มาตรการให้สาธารณชนพิจารณาเลย ทั้งที่เราน่าจะมีข้อมูลที่ละเอียดมากแล้วว่า แต่ละปีมีคนใช้สิทธิหักลดหย่อนกี่คน คิดเป็นมูลค่าเท่าไร ผู้ใช้ประโยชน์อยู่ในกลุ่มรายได้ใด นำไปซื้ออะไรบ้าง (สามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับใบกำกับภาษีที่ใช้ยื่นเป็นหลักฐานได้) และที่สำคัญ มาตรการนี้มีผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจและรายได้ของรัฐอย่างไร จะมีก็แต่เพียงตัวเลขที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนหรือผู้ประกอบการบางรายออกมาให้ข่าว แต่เราไม่มีทางตรวจสอบได้ว่าถูกต้องหรือสมเหตุสมผลหรือไม่

แม้แต่อธิบดีกรมสรรพากรยังให้สัมภาษณ์ว่า

“สำหรับการดำเนินมาตรการในปี 2559 กรมสรรพากรมีรายการลดหย่อนภาษีเป็นมาตรการเพิ่มเติมให้แก่ประชาชนหลายมาตรการ โดยรวมผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 1 ราย จะมีสิทธิ์หักลดหย่อนทุกมาตรการรวมกันได้ถึง 75,000 บาท ในภาพรวมทำให้กรมสูญเสียรายได้กว่า 40,000 ล้านบาท แต่ไม่สามารถแยกเฉพาะผลจากมาตรการช็อปช่วยชาติได้ เช่นเดียวกับการจะประเมินว่าจะเกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นแค่ไหน เพราะบางคนอาจจ่ายมากกว่าเพดานสูงสุดที่ให้หักลดหย่อน”

เมื่อเรายังไม่ค่อยแน่ใจว่าต้นทุนของมาตรการเป็นเท่าไร แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่ามาตรการนั้นคุ้มค่าหรือไม่? เอื้อประโยชน์ให้ใคร? อย่าลืมว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการนำเงินภาษีที่พึงได้ไปใช้ในนโยบายหรือมาตรการอื่นที่อาจได้รับประโยชน์มากกว่า

 

ช็อปช่วยชาติ

 

นโยบายช็อปช่วยชาติถูกนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีมาแล้วก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงปลายปี 2558 เป็นเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 และครั้งที่สอง ในช่วงปลายปี 2559 ระหว่าง 14-31 ธันวาคม 2559 เพิ่มเป็น 18 วัน

สำหรับปี 2560 คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวานนี้ให้ใช้มาตรการช็อปช่วยชาติระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2560 รวมเป็นเวลา 23 วัน นานกว่าเดิมอีก

รายละเอียดของมาตรการในปีนี้ก็คล้ายปีก่อนๆ คือผู้เสียภาษีสามารถนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในช่วงวันที่ประกาศ มาหักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และมีการยกเว้นการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ น้ำมัน ก๊าซเติมยานพาหนะ และค่าพักอาศัยในโรงแรม เป็นต้น

ผมมีข้อสงสัย 4 เรื่องที่อยากชวนคิด และอยากให้ผู้เสียภาษีทุกคนควรช่วยกันตั้งคำถามเมื่อมีการประกาศใช้มาตรการด้านภาษี หรือมาตรการการคลัง เพราะนี่คือเงินของพวกเราทุกคน

 

ข้อสงสัย #1 เศรษฐกิจเราต้องการกระตุ้นหรือไม่?

 

เราเริ่มเห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาในทิศทางที่ดีขึ้น หลายสำนักปรับตัวเลขเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ยังมีประเด็น “แข็งนอก อ่อนใน” “แข็งบน อ่อนล่าง” หรือความรู้สึก “เคยแข็งกว่านี้” อย่างที่ผมเคยเขียนถึงมาแล้ว แต่ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า มาตรการช็อปช่วยชาติยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เป็นการส่งสัญญาณที่ถูกต้องหรือไม่ และมีผลช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มคนที่ต้องการได้รับการกระตุ้นจริงหรือไม่

 

ข้อสงสัย #2 มาตรการนี้กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่?

 

ถ้าจุดมุ่งหมายของมาตรการคือการคืนภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ตัวชี้วัดที่ควรนำมาพิจารณาความสำเร็จของมาตรการคือ มูลค่าการจับจ่ายใช้สอยที่สร้าง “มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” ที่จะไม่เกิดขึ้นเลย หากไม่มีมาตรการนี้

น่าเสียดายที่แทบจะไม่มีการพูดถึงตัวเลขนี้เลย ได้ยินแต่การพูดถึงว่า “ยอดขายหรือการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเวลานี้เป็นเท่าไร” ซึ่งเป็นการนับซ้ำ และไม่ได้บ่งบอกถึงผลของมาตรการ ด้วยเหตุผลสามประการ

หนึ่ง ถ้ามาตรการนี้ไม่ได้กระตุ้นให้คนใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่คนนำค่าใช้จ่ายที่ใช้เป็นปกติอยู่แล้ว นำมาหักลดหย่อนตามสิทธิ์ ก็เท่ากับว่าเป็นการแจกเงินออกไปฟรีๆ การนับยอดขายที่เกิดขึ้นไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการใช้จ่ายปกติ หรือเป็นการใช้จ่ายที่ได้รับการกระตุ้นจากมาตรการ

สอง บางคนอาจ “ขอยืม” การใช้จ่ายในอนาคตมาใช้ก่อนในปัจจุบัน เพื่อรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี เช่น บางคนอยากจะเปลี่ยนโทรศัพท์อยู่แล้ว พอมีมาตรการก็ถือโอกาสซื้อในช่วงเวลาโปรโมชั่น แม้มาตรการจะเป็นการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ก็อาจส่งผลได้เพียงระยะสั้น และอาจจะเห็นการใช้จ่ายหดตัวลงในช่วงเวลาถัดไป

สาม ผลต่อเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับสัดส่วนมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่เกิดขึ้นในประเทศด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าการใช้จ่ายคือการซื้อสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศน้อยมาก (เช่น อาจทำให้ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายได้กำไรเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้น) แม้มาตรการจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยขึ้นจริงๆ และสร้างกำไรให้ผู้ขายจริง แต่ผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมอาจเกิดขึ้นน้อยมาก

นอกจากนี้ อาจจะมีประเด็นว่า การนำมาตรการนี้มาใช้กันทุกปี หรือออกข่าวล่วงหน้านานๆ จะทำให้คนชะลอการใช้จ่าย เพื่อรอโปรโมชั่นในช่วงปลายปีหรือไม่

 

ข้อสงสัย #3  มาตรการนี้คุ้มค่าหรือไม่?

 

อย่างที่กล่าวมาแล้ว การวัดความคุ้มค่าของมาตรการนี้ควรพิจารณาถึง “ต้นทุน” ของภาษีที่หายไป เปรียบเทียบกับ “ผลประโยชน์” ซึ่งก็คือ มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ เสียดายที่เราไม่มีข้อมูลเชิงลึกในการวิเคราะห์ทั้งผลประโยชน์ของมาตรการและต้นทุนที่เกิดขึ้น ทำให้การออกแบบนโยบายไม่สามารถทำได้อย่างตรงเป้าหมาย

บางคนอาจจะบอกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นจากการที่คนขอใบกำกับภาษีเพิ่มขึ้น ก็คุ้มกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่หายไปแล้ว ก็อาจจะต้องพิจารณาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วยนะครับ เห็นต้องรอใบกำกับภาษี “เต็มรูปแบบ” กันทีเป็นวันๆ (แต่ในอนาคตถ้าระบบภาษีและการใช้จ่ายไร้เงินสดพัฒนาขึ้น ต้นทุนส่วนนี้ก็อาจจะลดลง)

หรือบางคนอาจจะบอกว่าบรรยากาศที่ดีขึ้น ทำให้คนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกิน 15,000 บาทเสียอีก ก็เช่นเดียวกันครับ ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะจะช่วยให้การถกเถียงเรื่องต่างๆ เหล่านี้ทำได้อย่างมีเหตุผลด้วยหลักฐานข้อมูล

 

ข้อสงสัย #4 มาตรการนี้เป็นมาตรการที่เท่าเทียมหรือไม่?

 

เนื่องจาก “ช็อปช่วยชาติ” เป็นการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการในมูลค่าเท่ากัน คนที่มีฐานภาษีสูงจะได้รับภาษีคืนในจำนวนที่มากกว่า

ตัวอย่างเช่น คนที่มีรายได้สุทธิหลังหักค่าลดหย่อนเกิน 5 ล้านบาทต่อปี มีอัตราภาษีสูงสุดร้อยละ 35 ถ้าใช้จ่าย 15,000 บาท จะได้รับภาษีคืน 5,250 บาท ในขณะที่คนที่มีรายได้สุทธิ 150,000 บาทต่อปี ต้องจ่ายภาษีที่อัตราร้อยละ 5 ถ้าไปใช้จ่าย 15,000 บาทเท่ากัน และนำไปหักลดหย่อนตามมาตรการจะได้รับเงินคืนเพียง 750 บาท

ส่วนคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้เลย แม้จะถูกกระตุ้นให้ออกไปใช้จ่ายตามเขาด้วย

สรุปว่า คนที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ต้องเป็นคนที่มีรายได้พอยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และยิ่งมีรายได้มาก ยิ่งได้รับเงินคืนมาก ถ้าดูจากสถิติการยื่นแบบในอดีต พบว่าคนที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้นับเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนทั้งประเทศ

 

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมักเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ก็แทบจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้เลย มาตรการนี้อาจจะทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น และคนอาจจะนำผลประโยชน์ทางภาษีมาใช้จ่ายเพิ่ม แต่เราก็ไม่อาจทราบได้จริงๆ ว่าผลรอบสองนี้มีมากแค่ไหน อย่างไร

จึงน่าสงสัยว่ามาตรการนี้ให้ผลที่เท่าเทียมต่อทั้งฝั่งคนจับจ่ายและฝั่งคนขายหรือไม่?

 

ข้อมูลสำคัญมากต่อการวิเคราะห์ผลของนโยบาย

 

อย่างที่คุยกันมาครับ ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมากในการวิเคราะห์นโยบายและมาตรการต่างๆ ถ้าเราไม่มีข้อมูล การวิเคราะห์นโยบายและมาตรการของรัฐก็ทำได้เพียงการคาดเดา ไม่สามารถหักล้างกันได้ด้วยเหตุผล และคงถกเถียงกันได้เพียงแค่ตัวอย่างที่เห็นมา หรือการคำนวณแบบเดาสุ่ม

หวังว่าการถกเถียงเรื่องนโยบายของไทยในอนาคต จะมีการนำข้อมูลที่เรามีอยู่อย่างมหาศาล นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจว่า มาตรการใดควรทำ มาตรการใดไม่ควรทำ

เผื่อว่า ประเทศชาติจะมีเงินเหลือเยอะขึ้น พี่ตูนจะได้ไม่ต้องเหนื่อยวิ่งไกลมากนัก

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018