fbpx
โลกียชน Shoplifters

โลกียชน Shoplifters

‘นรา’ เรื่อง

โลกียชน Shoplifters

ในแวดวงหนังญี่ปุ่น ยกย่องกันว่า ผู้กำกับชั้นครูอย่างยาสึจิโร โอสุ มีความสันทัดจัดเจนและเก่งกาจอย่างยากจะหาใครเทียบเคียงเสมอเหมือน ในการทำหนังดรามาที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

ความโดดเด่นในหนังของโอสุ จำแนกกว้างๆ ได้ 2 ประการ อย่างแรกคือ ลีลาทางศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร และกลายเป็นต้นธารสำคัญที่ส่งอิทธิพลสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนทำหนังรุ่นหลังถัดมาทั่วโลกจำนวนมาก

หนังของโอสุ เต็มไปด้วยการประดิดประดอยปรุงแต่งอย่างพิถีพิถันในทุกรายละเอียด ตั้งแต่มุมกล้อง การเคลื่อนกล้อง การตัดต่อ การจัดองค์ประกอบภาพ การใช้ข้าวของประกอบฉาก รวมไปถึงวิธีการแสดง ทั้งหมดนี้ควบคุมจำกัดการแสดงออกแต่น้อย มีกลิ่นอายใกล้เคียงกับบทกวีไฮกุหรือการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น เปี่ยมด้วยความงามความสุนทรี แต่ที่น่าทึ่งก็คือ ผลลัพธ์โดยรวมที่ให้ความรู้สึกหนักแน่นสมจริง

ความยอดเยี่ยมต่อมา คือ การใช้พล็อตเรื่องเรียบง่าย (และคล้ายๆ กันแทบทุกเรื่อง) มีรายละเอียดที่สามารถพบเห็นได้จากชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวออกมาได้อย่างลึกซึ้ง จับใจ และมีแง่มุมที่หลากหลาย อีกทั้งยังสะท้อนภาพขนบจารีตและค่านิยมหลายๆ อย่างในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ซึ่งกำลังจะเลือนหายหรือถูกท้าทายสั่นคลอนโดยความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย (และการไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก)

หลังจากที่โอสุเสียชีวิตเมื่อปี 1963 ล่วงเลยจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่า ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ คือคนทำหนังที่ใกล้เคียงมากสุดในฐานะ ‘ทายาทผู้สืบทอด’ รับช่วงสานต่อจากโอสุ

งานของโคเรเอดะไม่ได้เป็น ‘สำเนาถูกต้อง’ ไปเสียทีเดียว มีการรับอิทธิพลแล้วนำมาต่อยอดคลี่คลายมากมาย จนเกิดความผิดแผกแตกต่างเด่นชัด แต่หลักใหญ่ใจความ ยังคงสามารถนับเนื่องว่าอยู่ใน ‘สกุลช่าง’ เดียวกัน นั่นคือ ลีลาทางศิลปะแบบแสดงออกแต่น้อย มุ่งหวังผลเรื่องความสมจริง และเนื้อหาประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัว (ท่ามกลางบรรยากาศฉากหลังทางสังคมร่วมสมัยที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น)

ข้อแตกต่างที่เด่นชัดอีกอย่างระหว่างโอสุกับโคเรเอดะก็คือ รายหลังมีความหลากหลายทางด้านพล็อตและแนวทางของหนังมากกว่า (ขณะที่งานเด่นๆ ส่วนใหญ่ของโอสุเกือบทั้งหมด เกือบจะเรียกได้ว่าเข้าข่าย ‘ร้อยทำนอง เนื้อเดียว’ คือมักจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับลูกสาวที่ถึงวัยต้องแต่งงานออกเรือน และเกิดเป็นความขัดแย้งในใจให้ตัวละครต้องแก้ไขคลี่คลายให้ลุล่วง)

งานของโคริเอดะอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ รสนุ่มละมุนและรสขมฝาด

กลุ่มแรกคือหนัง feel good ให้ความรู้สึกที่ดีแบบไม่ฟูมฟาย อย่างเช่น Maborosi (เรื่องของหญิงสาวที่สูญเสียสามี และการหลุดพ้นจากความทรงจำ ก้าวเดินใช้ชีวิตต่อ), After Life (เรื่องแฟนตาซีเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายและการเลือกเฟ้นความทรงจำที่ประทับใจ),  I Wish (การเดินทางไกลของเด็กกลุ่มหนึ่ง เพื่อทำให้คำอธิษฐานและความใฝ่ฝันกลายเป็นจริง), Like Father Like Sun (สองครอบครัวที่สลับลูกกันไปเลี้ยง จนหลายปีผ่านไปจึงทราบความจริง และต้องคลี่คลายหาทางออก), Our Little Sister (ความสัมพันธ์ระหว่างพี่สาวกับน้องสาวต่างแม่)

กลุ่มหลังได้แก่ Distance (เรื่องของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุก่อการร้ายปล่อยก๊าซพิษ), Nobody Knows (เรื่องของเด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งต้องใช้ชีวิตตามลำพังตามยถากรรม), Still Walking (เรื่องของลูกชายที่พาครอบครัวกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ วาระครบรอบวันตายของพี่ชาย และเผชิญกับแผลใจรอยบาดหมางที่ทุกคนไม่เคยลืมเลือน และไม่อาจสะสางหรือเยียวยาให้ดีขึ้น)

ข้างต้นนั้นผมแบ่งตามความรู้สึกส่วนตัว อาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากหลายเรื่องดูเมื่อนานมาแล้ว และเริ่มเลือนๆ ในรายละเอียด

Shoplifters เป็นผลงานล่าสุดของโคเรเอดะ หนังประสบความสำเร็จอย่างสูง ด้วยการคว้ารางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลหนังนานาชาติที่เมืองคานส์ และค่อนข้างจะคลับคล้ายใกล้เคียง หรือชวนให้นึกถึง Nobody Knows

โคเรเอดะ, รางวัลปาล์มทองคำ, เทศกาลหนังนานาชาติที่เมืองคานส์ม
เครดิตภาพ REUTERS/Stephane Mahe

เช่นเดียวกับผลงานที่ผ่านๆ มาของโคเรเอดะ Shoplifters ยังคงเป็นหนังที่ให้ความสำคัญกับเค้าโครงเรื่องน้อยกว่าการแสดงรายละเอียด

ควรต้องระบุกำกับไว้ด้วยนะครับว่า การแสดงรายละเอียดในหนังส่วนใหญ่ของโคเรเอดะ ยังมีลักษณะเด่นที่สำคัญอีกอย่าง นั่นคือ การบอกกล่าวให้ข้อมูลกับผู้ชมเฉพาะเท่าที่จำเป็น ไม่ได้เล่าครบรอบด้านจนถี่ถ้วนกระจ่างชัด แต่ละเว้นปล่อยให้เกิดช่องว่างตามที่ต่างๆ อยู่เต็มไปหมด

เทียบเคียงง่ายๆ ก็คล้ายสำนวนโวหารที่ว่า ‘เป็นการแสดงให้เห็นเฉพาะส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นผิวน้ำ’ ซึ่งยังคงมีพื้นที่ปริมาณมากมายกว่านั้นที่มองไม่เห็น แต่สามารถตระหนักรับรู้ได้ไม่ยาก ถึงการมีอยู่ซ่อนอยู่เบื้องล่าง

พล็อตของหนังเล่าถึงครอบครัวชิบาตะ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกหลากวัย อาศัยในบ้านซอมซ่อย่านแหล่งเสื่อมโทรมละแวกชานเมือง มีคุณย่าซึ่งยังชีพอยู่ด้วยเงินบำนาญ พ่อที่ทำงานแบบไม่น่าจะเต็มเวลาเป็นคนงานก่อสร้าง แม่ผู้เป็นคนงานในโรงซักรีด เด็กสาววัยรุ่นที่ทำงานขายบริการทางเพศ (แบบไม่มีเพศสัมพันธ์ถึงเนื้อถึงตัวกับลูกค้าโดยตรง) และเด็กชายที่ไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน แต่หาความรู้ผ่านการอ่านหนังสือด้วยตนเอง

ความรู้สึกหนึ่งซึ่งผู้ชมสามารถสัมผัสได้ไม่ยากก็คือ หนังเปิดฉากเริ่มเรื่องและบอกเล่า โดยปราศจากการแนะนำบรรดาตัวละครเหล่านี้ ว่าแต่ละคนในครอบครัวนั้น เกี่ยวดองสัมพันธ์กันอย่างไร รวมถึงสรรพนามคำเรียกขานที่มีต่อกัน ก็ยิ่งชวนให้นึกสงสัยถึงลำดับความสัมพันธ์ว่า ใครเป็นอะไรกับใคร?

โคเรเอดะ, รางวัลปาล์มทองคำ, เทศกาลหนังนานาชาติที่เมืองคานส์ม, Shoplifters

เรื่องหรือเหตุการณ์ที่อาจนับได้ว่าเป็นพล็อต มีอยู่เพียงน้อยนิดเบาบางเหลือเกิน คือ ในค่ำคืนหนึ่ง ขณะที่ผู้เป็นพ่อกับเด็กชาย กำลังเดินกลับบ้าน ทั้งคู่พบเด็กหญิงตัวน้อย นั่งเหน็บหนาวอยู่ตามลำพังที่ระเบียงบ้าน จึงชักชวนให้เธอกินอาหารที่ทั้งสองซื้อมา แล้วจากนั้นก็พาเด็กหญิงมาที่บ้าน พบร่องรอยตามเนื้อตัวของหนูน้อย ว่าเธอถูกทำร้ายร่างกาย (อาจจะโดยพ่อแม่ของเธอ) ทุกคนในครอบครัวจึงชวนให้อยู่ด้วยกัน

ตามสูตรหรือครรลองอันควรจะเป็นของหนังปกติทั่วไป เรื่องราวน่าจะดำเนินไปในทิศทางที่ว่า เด็กหญิงค่อยๆ ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ และค่อยๆ สร้างความผูกพันกับครอบครัวใหม่ ก่อนจะเผยให้เห็นถึงปัญหาหรือบาดแผลในอดีตที่เกิดจากครอบครัวเดิม แล้วนำไปสู่ความขัดแย้งในท้ายที่สุด เมื่อต้องเลือกตัดสินใจว่า บ้านไหนกันแน่ คือครอบครัวที่แท้จริงของเธอ

หนังมีทีท่าคล้ายๆ จะเป็นเช่นนั้น แต่รายละเอียดและการเล่าเรื่อง กลับไม่มีอะไรเฉียดใกล้เลยสักนิด ที่เด่นชัดสุดคือ ปฏิกิริยาท่าทีของทุกคนต่อการที่เด็กหญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา พวกเขา (รวมทั้งตัวเด็กด้วย) ยังคงใช้ชีวิตเหมือนที่เคยเป็นมา ไม่มีอะไรแปลกใหม่ชวนตื่นเต้น

เรื่องราวที่เหลือต่อมาถัดจากนั้น ยิ่งราบเรียบธรรมดาสามัญ เต็มไปด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน กินข้าว อาบน้ำ ไปทำงาน อยู่กันพร้อมหน้าพูดคุยกันเรื่องสัพเพเหระทั่วไป เข้านอน ฯลฯ

แกล้งๆ พูดให้ติดลบ แต่ละฉากเหตุการณ์ในหนัง นอกจากจะไม่ได้เล่าในสิ่งที่ผู้ชมอยากรู้หรือคาดหวังแล้ว ยังเต็มไปด้วยฉากที่มีลักษณะเป็นเศษเสี้ยว ไม่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน

โคเรเอดะ, รางวัลปาล์มทองคำ, เทศกาลหนังนานาชาติที่เมืองคานส์ม, Shoplifters

อย่างไรก็ตาม ความยอดเยี่ยมของหนัง เริ่มต้นขึ้นจากการเกริ่นนำปูพื้นที่ผิดขนบทั้งหลายประดามีข้างต้น ท่ามกลางเปลือกนอกที่ดูเหมือนการเล่าเรื่องอย่างสะเปะสะปะไร้ทิศทาง ละเว้นการให้ข้อมูลความกระจ่าง เนื้อแท้ของหนังกลับเต็มไปด้วยฝีมือชั้นเชิงและการเขียนบทที่น่าทึ่ง

ขั้นต้นเลยก็คือ หนังไม่ได้ให้น้ำหนักกับการเล่าเหตุการณ์ แต่มุ่งเป้าหมายไปที่การแจกแจงให้เห็นถึงพฤติกรรมของตัวละครหลักๆ แต่ละคน ค่อยๆ เผยให้เห็นร่องรอยไม่ชอบมาพากลในการใช้ชีวิต การกระทำหลายๆ อย่างที่ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม การฉ้อโกง ลักขโมย ขายบริการทางเพศ (และอาจรวมถึงการชักชวนให้เด็กหญิงมาอยู่ด้วย ซึ่งเข้าข่ายลักพาตัว)

ลำดับต่อมา คือ การเล่าแสดงให้เห็นถึงปัญหาของบรรดาตัวละคร ทุกคนต่างล้วนมีแผลบาดเจ็บจากอดีตกันทั่วหน้า และเป็นปัญหาส่วนตัว มีปมขัดแย้งในใจที่ไม่ข้องเกี่ยวกัน

ปัญหาของตัวละครบางคนก็เล่าไว้ชัด บางคนก็เพียงแค่แสดงให้ผลลัพธ์ว่าคืออะไร ขณะที่ต้นตอสาเหตุยังคงคลุมเครือ

ในการเล่ารายละเอียดต่างๆ แบบ ‘เนื้อเรื่องไม่คืบหน้า’ นี้เอง หนังก็ค่อยๆ นำไปสู่การคลี่คลายข้อสงสัยสำคัญ นั่นคือ ความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเอาเข้าจริงแล้ว ไม่มีใครผูกพันกันโดยสายเลือดเลย ต่างคนต่างที่มา และชะตาชีวิตก็นำพาให้ทั้งหมดมาเจอะเจอกัน อยู่ร่วมกัน จนผูกพันกันกลายเป็น ‘ครอบครัวประหลาด’ ไปในท้ายที่สุด

ประเด็นแก่นเรื่องของหนังนั้นนำเสนอไว้เด่นชัด นั่นคือ การตั้งคำถามว่าความเป็นครอบครัวที่แท้จริงคืออะไร? และคำถามต่อมาที่ว่า ถ้าหากเราสามารถเลือกครอบครัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีสายใยจากเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกันมาเกี่ยวข้อง อะไรเป็นสิ่งที่ดีกว่ากัน (ระหว่างครอบครัวแท้ๆ ที่บางครั้งอาจกระทำเลวร้ายต่อกัน กับครอบครัวหลอกๆ ที่อาจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นราบรื่น)

หนังไม่ได้ให้บทสรุปหรือคำตอบใดๆ กับผู้ชมนะครับ ทิ้งเป็นการบ้านไว้ให้คิดต่อกันตามอัธยาศัย และเป็นคำถามที่ยากจะชี้ขาดฟันธงไปทางหนึ่งทางใด

โคเรเอดะ, รางวัลปาล์มทองคำ, เทศกาลหนังนานาชาติที่เมืองคานส์ม, Shoplifters

สิ่งที่เล่าต่อเพิ่มเติมได้อีกก็คือ ครอบครัวชิบาตะในหนัง มีด้านที่ขัดแย้งในตัวเองอยู่หลายๆ แง่มุม ทั้งหมดรวมตัวกันเป็นครอบครัว โดยพื้นฐานเบื้องต้นคือ การพึ่งพาอาศัยใช้ประโยชน์จากคนอื่นๆ ไม่อาจดำรงอยู่ตามลำพัง แต่พร้อมๆ กันนั้นก็รู้ซึ้งถึงคุณค่าในการใช้ชีวิตร่วมกัน ทุกคนมีพฤติกรรมด้านลบเด่นชัด จนยากที่จะนับว่าเป็นคนดี เป็นมิจฉาชีพเต็มตัว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ยากไร้ด้อยโอกาส ปราศจากทางเลือกที่ดีในการยังชีพให้อยู่รอด

ที่สำคัญคือ ท่ามกลางคุณสมบัติและพฤติกรรมติดลบสารพัดสารพัน ในรายละเอียดสะท้อนภาพชีวิตประจำวันของครอบครัวนี้ ก็สะท้อนให้เห็นอีกแง่มุมตรงกันข้าม นั่นคือ ความเป็นมนุษย์ ความมีน้ำจิตน้ำใจใยดีต่อกันอันงดงาม

ความเก่งกาจของหนัง อยู่ตรงที่เล่าให้เห็นทั้งด้านขาวและดำนี้อย่างรอบด้าน เล่าอย่างเป็นธรรมชาติ แนบเนียน และไม่ชี้นำ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ยิ่งผู้ชมรับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครมากยิ่งขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกผูกพันเอาใจช่วยตัวละครเหล่านี้ไปทีละน้อยโดยไม่ทันรู้ตัว

ในระหว่างขณะดูหรือหลังจากเพิ่งดูจบ ผมไม่ได้นึกถึงนิยายเรื่อง Tortilla Flat ของจอห์น สไตน์เบ็คเลยนะครับ แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งนึกถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผมคิดว่าทั้ง Shoplifters และ Tortilla Flat มีแก่นเรื่องตรงกัน (หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกันมาก) พูดถึงตัวละครที่เป็นมนุษย์ปุถุชน มิตรภาพและการรวมตัวอยู่ร่วมกันที่น่าประทับใจ ความเป็นคนนอกหรือเบี้ยล่างในสังคม พฤติกรรมที่มีทั้งด้านขัดต่อศีลธรรมอันดีงามและด้านที่ชวนให้รู้สึกจับอกจับใจ

จะแตกต่างก็เพียงน้ำเสียงท่าทีในการเล่า บรรยากาศตามท้องเรื่อง และอารมณ์หลักๆ โดยรวม ซึ่งนิยายของสไตน์เบ็คเล่าด้วยลีลาประชดประชันในทีเล่น รื่นรมย์ มีอารมณ์ขันแพรวพราว ขณะที่หนังของโคเรเอดะมาทางทีจริง เรียบง่าย และแฝงพ่วงด้วยประเด็นสะท้อนภาพมุมหม่นของปัญหาสังคมร่วมสมัยในญี่ปุ่น

บทสรุปในช่วงท้ายๆ เกี่ยวกับความเป็นไปของครอบครัวชิบาตะ เป็นความลับทางภาพยนตร์ ซึ่งไม่ควรเล่าสู่กันฟังให้เสียอรรถรสสำหรับคนที่ยังไม่ได้ดู แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นสิ่งที่ผู้ชมสามารถคาดเดาได้ไม่ยาก ว่าหนังจะพาไปสู่บทสรุปเช่นไร?

สิ่งสำคัญและเร่งเร้าใจความสนใจต่อการติดตามชมก็คือ หนังจะพาคนดูไปสู่บทสรุปนั้นด้วยวิธีและรายละเอียดเช่นไร? มากกว่า

บทวิจารณ์ของต่างประเทศหลายๆ ชิ้น สรุปความตรงกันว่า Shoplifters เป็นหนังที่ ‘ขโมยหัวใจ’ ของผู้ชมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

โคเรเอดะ, รางวัลปาล์มทองคำ, เทศกาลหนังนานาชาติที่เมืองคานส์ม, Shoplifters

ปฏิกิริยาอาการของผู้ชมหลังจากดู Shoplifters จบ แน่นอนว่าย่อมผิดแผกแตกต่างกันไปได้ต่างๆ นานา บางท่านอาจเสียน้ำตาเนืองนอง บางท่านอาจไม่ปรากฏอาการภายนอก แต่สิ่งหนึ่งซึ่งผมสามารถยืนยันได้ด้วยความมั่นใจก็คือ ระดับความรุนแรงในการสั่นสะเทือนอารมณ์ของผู้ชมนั้น สุดขีดเต็มเหนี่ยว และมีประสิทธิภาพส่งผลกับคนดูทุกประเภทอย่างทั่วถึง (ไม่ว่าจะเป็นคนที่ชอบดูหนังรางวี่รางวัล หรือคนที่ชอบดูหนังบันเทิงในกระแสหลัก)

ผมดู Shoplifters จบลง ด้วยความรู้สึกเจ็บจุกในอกและร้าวรานใจสลายย่อยยับเลยนะครับ

อานุภาพในการสร้างความสะเทือนใจ คือ ความยอดเยี่ยมประการสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีตรงไหนตอนใดบีบคั้นเร้าอารมณ์อย่างโจ่งแจ้งจริงจังเลยสักนิด ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบเรียบ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังสามารถ ‘เอาตาย’ ในทางอารมณ์ความรู้สึก ผมคิดว่า อยู่ที่ลีลาของหนัง ซึ่งใช้วิธีเล่าแต่น้อย ตัดทอนรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่จำเป็นออกไป กำหนดสถานะให้ผู้ชมมีหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์แบบวางระยะห่างพอประมาณ และทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในหนัง เกิดผลรวมเป็นความหนักแน่นสมจริงน่าเชื่อถือ ประกอบกับฝีมือการแสดงอันยอดเยี่ยมเป็นหมู่คณะ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และบทสนทนาที่มีชีวิตชีวาเปี่ยมสีสันดึงดูด

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ผู้ชม เชื่อสนิทใจต่อเรื่องราวความเป็นไปต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นกับตัวละคร เกิดความผูกพันและเอาใจช่วยอย่างแนบเนียนค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว เมื่อเรื่องราวคืบเคลื่อนมาถึงบทสุดท้าย น้ำหนักความสะเทือนใจที่เกิดขึ้นจึงไปถึงขั้นสุด

อีกอย่างที่น่าทึ่งก็คือ เป็นหนังทางเรียบ นิ่ง สะท้อนประเด็นเนื้อหาจริงจัง ที่ปลอดพ้นจากความน่าเบื่อ ชวนอึดอัด หรือดูยาก อย่างหมดจดใสสะอาด และมีเสน่ห์ชวนติดตาม มีฉากดีๆ อยู่ตามรายทางเต็มไปหมด

แถวบ้านผม เรียกวิธีการเล่าเรื่องและเร้าอารมณ์เช่นนี้ว่า ชั้นเชิงทางศิลปะระดับเทพ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save