fbpx
Global Seed Vault

แรงงานเศรปาบนเทือกเขาของนอร์เวย์

หลังจากกลายเป็นประเทศร่ำรวยมหาศาลจากการค้าน้ำมันมาตลอดหลายสิบปี นอร์เวย์ที่อยู่ชายขอบของมหาทวีปยูเรเชียได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจการรักษาสิ่งแวดล้อมและสันติภาพของโลกในสหัสวรรษใหม่


ประเทศคนดี


เส้นทางการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ มีฐานที่มาจากทั้งทางเศรษฐกิจและทางโครงสร้างส่วนบน งานศึกษาที่เพิ่งจะตีพิมพ์ในชื่อ The Power of the Periphery: How Norway Became an Environmental Pioneer for the World (Cambridge University Press, 2020) โดยพีเดอร์ อังเกอร์ (Peder Anker) อาจารย์จากนอร์เวย์ประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์กผู้ทำงานในสาขาประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้เล่าเรื่องราวของเส้นทางอันสูงชันนี้อย่างน่าสนใจยิ่งให้กับผู้อ่านในโลกแองโกล-อเมริกัน

หนังสือเริ่มด้วยงานเปิดตัวคลังเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชของโลก (Global Seed Vault) ณ หมู่เกาะสวาลบาร์ด (Svalbard) ใกล้ขั้วโลกเหนือในปี 2008 คลังนี้ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก สร้างขึ้นเพื่อจะเก็บรวบรวมอาหารของมนุษย์เอาไว้ให้รอดจากการสูญพันธุ์โดยสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง สงคราม หรือภัยภิบัติทางธรรมชาติใดๆ คลังนี้มุ่งหวังจะให้ทุกๆ ประเทศบนโลกนำเอามรดกทางพันธุกรรมของตนเองมาฝากเอาไว้ และนอร์เวย์จะเป็นผู้รักษามรดกพันธุกรรมนี้ไว้แก่มนุษยชาติ ในงานเปิดตัว เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) นายกรัฐมนตรีของนอร์เวย์ในเวลาดังกล่าว ประกาศว่าคลังนี้จะเป็นดั่ง “เรือโนอาห์ที่จะรักษาความหลากหลายทางชีววิทยาให้แก่คนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต”

คลังรวบรวมพันธุ์พืชของโลกที่สวาลบาร์ด (ที่มาภาพ: Subiet จากเว็บไซต์ wikimedia.org)

การที่ประเทศหนึ่งๆ จะประกาศตนสร้างเรือโนอาห์นับว่าเป็นพันธกิจอันสูงส่งยิ่ง แต่การจะเป็นได้จริงหรือไม่นั้นไม่ใช่ประเด็น หนังสือของอังเกอร์ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า เส้นทางประวัติศาสตร์ใด ที่ทำให้นอร์เวย์มองตนเองในฐานะประเทศคนดี มีความมั่นใจว่าความดีจะชนะความชั่วร้ายและหายนะทั้งมวล และสามารถประกาศนโยบายต่างประเทศว่าตนจะเป็น ‘มหาอำนาจทางมนุษยธรรม’ และเป็น ‘ชาติแห่งสันติภาพ’ และกระทำการนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพในแอฟริกา ตะวันออกกลาง หรือเอเชีย ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่นข้อตกลงออสโล (Oslo Accord) ระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลในปี 1995 รวมไปจนถึงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งสำหรับชาวนอร์เวย์สมัยใหม่แล้ว การเป็นคณะกรรมการของรางวัลนี้แทบจะถือเป็นเกียรติยศสูงสุด หรือผู้ที่ไม่ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการ ก็จะเข้าไปรับตำแหน่งสำคัญๆ ในองค์กรสันติภาพระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ องค์การนิรโทษกรรมสากล องค์กรกาชาดสากล ฮิวแมนไรตส์วอตช์ ฯลฯ


รอบนอกเป็นแหล่งของความดี


ประเทศเล็กๆ ซึ่งมีประชากรไม่กี่ล้านคน ที่ตั้งอยู่ตรงชายขอบประเทศหนึ่ง จะสถาปนาตนเองขึ้นเป็นมหาอำนาจทางมนุษยธรรมได้อย่างไร คำตอบของอังเกอร์บางส่วนอยู่ตรงที่ว่า กระบวนการเหล่านี้มีที่มาทั้งทางความเคลื่อนไหวทางนโยบาย และทั้งทางปรัชญาที่เป็นฐานของการเคลื่อนไหวเหล่านี้นั่นเอง

สำหรับอังเกอร์แล้ว นักสิ่งแวดล้อมชาวนอร์เวย์จะเห็นธรรมชาติซึ่งตั้งอยู่ ‘รอบนอก’ หรือชายขอบ (periphery) ว่าสูงส่งและเป็นที่มาของความดี ดังนั้นจึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมการใช้เวลาว่างในเทือกเขาสูง ในธรรมชาติ ในป่า หรือการไปพักอยู่ในกระท่อมฤดูร้อน ที่ปฏิบัติกันอย่างเป็นบรรทัดฐานในนอร์เวย์ (และสวีเดน) ฉะนั้นแล้ว ความเป็นรอบนอกจึงเป็นสิ่งน่าถวิลหา รวมไปถึงความเห็นว่างานวิจัยซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอันงดงาม มีคุณค่ากว่างานวิจัยวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองของมหาวิทยาลัยศูนย์กลางทั้งหลาย ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือการแสดงให้เห็นภาพตัดกันของธรรมชาติรอบนอกอันสวยงามบริสุทธิ์ และสภาวะในศูนย์กลาง (เช่น เมือง) อันสกปรกและเลวร้าย

ในระดับประเทศ ภาพตัดกันนี้คือหมู่บ้านชาวประมงที่ยังมีวิถีชุมชนกับตึกรามระฟ้าเต็มไปด้วยมนุษย์เงินเดือน ในระดับโลก อังเกอร์เห็นว่านี่คือจินตนาการของชาวนอร์เวย์ต่อตนเองว่าเป็นชายขอบอันสวยงามและสันติ และที่อื่นของโลกซึ่งแปดเปื้อนและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง

และเป็นหน้าที่ (จากความรู้สึกผิด — guilt) ของชาวรอบนอกที่จะเข้าไปช่วยกำหนดทิศทางแห่งสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ


บทบาทของคนจากรอบนอก

           
ดังนั้นบทบาทของนักวิจัยเรื่องนิเวศวิทยาจึงสำคัญยิ่ง อังเกอร์ย้อนวงศาวิทยาว่า การให้เหตุผลทางนิเวศวิทยานั้นมาสถาปนาอยู่ในความรับรู้ของชาวนอร์เวย์จากหมุดหมายในปี 1956 เมื่อโครงการวิจัยของมหาวิทยาเคมบริดจ์ที่ลงพื้นที่ศึกษาหมู่บ้านอันห่างไกลของประเทศปากีสถานในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เวลานั้นผู้ลงพื้นที่ศึกษาคือนักมานุษยวิทยาหนุ่มเฟรดริก บาร์ธ (Fredrik Barth) ผู้เป็นลูกศิษย์ของเอ็ดมุนด์ ลีช (Edmund Leach) ต่อมาบาร์ธจะเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยเบอร์เกน และเป็นผู้สถาปนาการศึกษามานุษยวิทยาสังคมสำนักอังกฤษในนอร์เวย์  และเป็นผู้บุกเบิกวิชามานุษยวิทยาสมัยใหม่ของประเทศผ่านงานจำนวนมากในภาษานอร์เวย์ของเขา และรับตำแหน่งที่อาจจะเรียกเทียบเคียงได้ว่าเป็นราชบัณฑิต ซึ่งเป็นตำแหน่งตลอดชีวิตที่รัฐบาลนอร์เวย์มอบให้เขา

เฟรดริก บาร์ธ นักมานุษยวิทยาคนสำคัญของนอร์เวย์ ลูกศิษย์ของเอ็ดมุนด์ ลีช (ที่มาภาพ: wikimedia.org)

ในเวลาเดียวกันก็มีงานศึกษาของนักเดินเรือ ธอร์ เฮเยอร์ดอห์ล (Thor Hayerdahl) นักโบราณคดี เฮลเก อิงสตาด (Helge Ingstad) และ แอนเน สตีเน อิงสตาด (Anne Stine Ingstad) ซึ่งขุดค้นพบการลงหลักปักฐานของชาวไวกิ้งในสหรัฐอเมริกา รวมไปจนถึงงานของนักปรัชญาอย่าง อาร์เน เนส (Arne Næss) และโยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) ซึ่งคนหลังมีความสำคัญยิ่งต่อสันติภาพศึกษาในหมู่นักมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ทั่วโลก

เหล่านี้เป็นตัวอย่างของกองทัพน้อยที่พีเดอร์ อังเกอร์ เกณฑ์มาเพื่อนำเสนอให้เห็นว่า มีเส้นทางเคลื่อนไหวทางความคิดที่ทำให้นอร์เวย์ปรากฏตัวในศตวรรษที่ 21 ในฐานะผู้บุกเบิกเรื่องสิ่งแวดล้อมและสันติภาพโลกจากดินแดนรอบนอก


รอบนอกของรอบนอก

           
แต่อังเกอร์ใช้สายตาวิพากษ์เพื่อเล่าให้เห็นว่า ความเป็นรอบนอกที่ว่านี้คงจะเป็นเรื่องสัมพัทธ์ นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมและเหล่านักวิชาการจากนอร์เวย์เหล่านี้มักจะใช้สมมติฐานว่าหลายสิ่งหลายอย่างมีลักษณะเป็นสากล สิ่งที่ใช้ในนอร์เวย์ได้ย่อม และควรจะถูกนำไปใช้ในที่ต่างๆ ของโลกได้ไม่ว่าจะมีความหลากหลายอย่างไรก็ตาม ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและสันติภาพย่อมจะสามารถแก้ได้หากเดินตามเส้นทางที่นอร์เวย์เดิน (กระบวนการนี้ไม่ได้กระทำโดยชาวนอร์เวย์เท่านั้น แต่มีผู้ที่ช่วยสร้างให้เข็มแข็งขึ้นด้วย เช่นชนชั้นกลางสแกนดิเนเวีย และชาวเดโมเครตในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น)

ดังนั้นดูเหมือนว่า นอร์เวย์ที่เรียกตนเองว่ารอบนอก คงจะไม่เป็นรอบนอกอีกต่อไป หากเราจะยกตัวอย่างชาวเศรปา (Sherpa) ที่มีที่ทางอยู่ในจินตนาการเรื่องธรรมชาติของชาวนอร์เวย์ ชาวเศรปาเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกในฐานะลูกหาบของทีมที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์

ในบทที่ 4 พีเดอร์ อังเกอร์เล่าว่า ปี 1971 นักนิเวศปรัชญาชาวนอร์เวย์ชายสามคน เดินทางไปยังดินแดนรอบนอกแห่งหนึ่งหลายครั้ง นั่นคือเทือกเขาอันห่างไกลในประเทศเนปาล พวกเขาตกตะลึงพรึงเพริดเมื่อได้พบกับชาวเศรปา ชาติพันธุ์พื้นเมืองที่ใช้ชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ พวกเขาเห็นว่านี่เป็นวิธีสูงสุดที่จะอยู่อาศัยอย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติ

เมื่อกลับถึงออสโลพวกเขาบันทึกความสุขที่ได้พบกับปรัชญานี้ และเห็นว่านอร์เวย์จะต้องนำวิถีแบบชาวเศรปามาใช้ได้กับสิ่งแวดล้อมของตนเอง สนับสนุนการใช้วัฒธรรมของชาวเศรปาเพื่อเคารพธรรมชาติ พวกเขาเขียนรายงานออกมาอีกจำนวนมากตลอดหลายปีต่อๆ มา ย้ำภาพของชาวเศรปาและปัญญาของโลกตะวันออกกับธรรมชาติ

แต่อันที่จริงแล้ว เบื้องหลังของการเดินทางครั้งนั้น ก็คือเงินสนับสนุนจากธุรกิจการล่าปลาวาฬและค้าน้ำมัน และกว่าพวกเขาจะเดินทางขึ้นไปสู่เทือกเขาสูงได้ ก็ต้องใช้ลูกหาบเศรปา 26 คน และเดินกันอยู่แปดวัน ชีวิตของชาวเศรปานั้นไม่ได้ต่างกันนักกับชาวประมงชนชั้นแรงงานของนอร์เวย์ผู้หาเช้ากินค่ำ

กระนั้น เรื่องราวเบื้องหลังเหล่านี้ไม่เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนนอร์เวย์แน่ สิ่งที่ยังตกทอดเหลืออยู่ ก็คือจินตภาพที่ว่าวิถีชีวิตของชาวเศรปานั้นผูกพันอยู่กับเทือกเขาสูง มาย้ำเสริมให้กับสมมติฐานที่มีอยู่แล้ว นั่นคือความคิดเรื่องธรรมชาติและสันติภาพของนอร์เวย์

การทำงานของชาวเศรปาผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจากสายตาของชาวนอร์เวย์


แรงงานชั่วคราว

           
เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นอร์เวย์เป็นประเทศหนึ่งที่นักเดินทางแนวธรรมชาติใฝ่ฝันถึง นอกจากการล่องเรือสำราญในทะเลเหนือและการรับชมแสงเหนือแล้ว นักเดินทางจำนวนมากอยากเดินชมทิวทัศน์บนภูเขาสูง จึงมีความจำเป็นอยู่ที่หน่วยงานด้านอุทยานแห่งชาติจะต้องจัดทำทางเดินให้กับนักท่องเที่ยวที่พิสมัยการปีนเขาและเดินป่า

ชาวเศรปาจึงถูกนำเข้าไปเป็นแรงงานชั่วคราวบนเทือกเขาของนอร์เวย์ ในช่วงเวลาเป็นสิบๆ ปีพวกเขาขนหินขึ้นไปเรียงเป็นเส้นทางเดินตามไหล่เขาต่างๆ กว่า 200 เส้นทาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของนอร์เวย์หลายแห่ง เช่น ภูเขาดีเกอร์ทอปเปน (Digertoppen) เมืองโมลเด (Molde) ซึ่งสูงกว่าน้ำทะเลกว่าครึ่งกิโลเมตร หรือภูเขาสูงชันที่เมืองทรอมเซอ (Tromsø) ทางเหนือ ฯลฯ

เว็บไซต์ท่องเที่ยวของนอร์เวย์ยกย่องว่าชาวเศรปา “เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดกลุ่มหนึ่ง พวกเขามีความอดทนอย่างวิเศษและทำอย่างอย่างแรงไม่ตกเป็นเดือนๆ…พวกเขาทำงานโดยไม่แสดงให้เห็นความเหน็ดเหนื่อย” แถมยังให้รางวัลแพะภูเขา (fjellgeit) แห่งปี 2017 เป็นเกียรติยศกับพวกเขาอีกต่างหาก

ทั้งหมดนี้ ป่าวประกาศไปพร้อมๆ ข้อเท็จจริงที่ว่า ดินแดนรอบนอกที่ชาวเศรปาเดินทางมาทำงาน เช่นประเทศเนปาลนั้น เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก หรืออัตราโรคซึมเศร้าในผู้หญิงชาวเศรปานั้นสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หรือชาวเศรปานั้นเป็นกลุ่มคนที่ถูกขูดรีดค่าแรงอย่างไรในธุรกิจการปีนเขาเอเวอเรสต์ ไม่กี่ปีก่อนหน้าชาวเศรปาในนอร์เวย์จะได้รับรางวัลแพะภูเขา มีชาวเศรปา 16 คนตายจากหิมะถล่ม ฯลฯ

ในสายตาของพระผู้เป็นเจ้า นี่คงจะเป็นข้อท้าทายของผู้ที่จะสร้างเรือโนอาห์ให้แก่มนุษยชาติเป็นแน่     

เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เวลานี้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO)



อ้างอิง

– Peder Anker, The Power of the Periphery: How Norway Became an Environmental Pioneer for the (2020)

– https://www.visitnorway.no/aktiviteter-og-attraksjoner/naturlige-hoydepunkter/fjell/norske-fjellstier-bygges-av-sherpaer-fra-nepal/

– https://www.wupr.org/2015/02/09/exploiting-the-sherpas/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save