ร้อนรักในรอยทราย : ความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่กับเรื่องรักใคร่ในทะเลทราย

ข้อถกเถียงสุดคลาสสิคในแวดวงวรรณกรรมที่มักพบคือ คำถามว่างานเขียนแบบใดที่มีคุณค่าพอจะเรียกว่าเป็นวรรณกรรม เรื่องอ่านเล่นหรือเรื่องสะท้อนสังคมการเมือง การวัดคุณค่าของวรรณกรรมดูจากเกณฑ์ใด ศิลปะการประพันธ์ รางวัล หรือวัดกันที่ยอดจำหน่ายหรือผู้อ่าน คำถามเหล่านี้ยังคงวนเวียนอยู่ทั้งที่การอ่านวรรณกรรรมดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมที่ลดน้อยลงไปแล้ว

แต่ไม่ว่าคำถามจะมีคำตอบหรือไม่ หรือรูปแบบการอ่านจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร เรื่องแนวโรมานซ์ก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอมา ทั้งที่เป็นรูปเล่มหนังสือหรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเรื่องที่มุ่งนำเสนอความรักผ่านโครงเรื่องที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อนระหว่างตัวละครเอก เชิดชูความรักซึ่งเป็นอารมณ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ รับรู้และรู้สึกร่วมกันได้ง่าย เรื่องรักในนวนิยายโรมานซ์จึงมีแรงดึงดูดให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้งดื่มด่ำกันมากมาย

สังคมปัจจุบันนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสสตรีนิยมแบบเสรีนิยมที่มุ่งเน้นความสำคัญของบทบาทของสตรีในฐานะปัจเจกบุคคล ซึ่งมองตัวบุคคลมีอำนาจอิสระ พึ่งพาตนเองเป็นเอกเทศ ตระหนักรู้ และเชื่อมั่นต่อการแสดงออกซึ่งความปรารถนาทางเพศอย่างเสรี

ในด้านวรรณกรรม กระแสแนวคิดสตรีนิยมแบบเสรีนิยมสะท้อนผ่านการสร้างตัวละครหญิงที่มุ่งเน้นสถานภาพและบทบาทที่มีความเท่าเทียมหรือเหนือกว่าตัวละครชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอความปรารถนาทางเพศของตัวละครหญิงอย่างตรงไปตรงมามากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นความปรารถนาทางเพศของตัวละครหญิงยังมิได้จำกัดอยู่เฉพาะความสัมพันธ์กับตัวละครเอกชายเท่านั้น หากแต่นำเสนอผ่านความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกันด้วย

เราจึงมักพบการนำเสนอภาพของตัวละครเอกหญิงที่มีอำนาจ หัวก้าวหน้า และกล้าแสดงความปรารถนาของตนเองอย่างเปิดเผย ก่อให้เกิดกระแสวรรณกรรมร่วมสมัยที่นำเสนอการต่อสู้เพื่อปลดแอกตัวละครหญิงออกจากทัศนคติและความเชื่อเรื่องการรักนวลสงวนตัวและความเป็นกุลสตรีแบบไทย เนื่องจากชุดความคิดดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการควบคุมกำกับบทบาทของผู้หญิงให้กลับไปอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชาย ดังจะพบว่าวรรณกรรมร่วมสมัยมีแนวโน้มที่จะมุ่งไปสู่การปลดปล่อยอารมณ์และความปรารถนาทางเพศของตัวละครหญิงอย่างเสรีและหลากหลายมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ภาพภายนอกของตัวละครหญิงที่มีเสรีภาพทางเพศ กลับพบว่าไม่ได้ถูกนำเสนออย่างราบรื่น หากแต่มีลักษณะยอกย้อนและขัดแย้งในตัวตนและความปรารถนาของตัวละครหญิงเอง ดังที่ นพพร ประชากุล เน้นย้ำให้เห็นประเด็นดังกล่าวว่า เป็นเพราะเล่ห์กลของระบอบปิตาธิปไตยในสังคมสมัยใหม่ได้วางกับดักจนทำให้ตัวละครเอกหญิงไม่อาจสลัดพ้น จึงพบว่า แม้ตัวละครหญิงจะมีเสรีภาพในการเลือก แต่ท้ายที่สุดตัวละครหญิงกลับเลือกที่จะตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ ตัวละครหญิงในวรรณกรรมสมัยใหม่จึงมักเผชิญหน้ากับความแปลกแยกระหว่างความต้องการเป็นผู้หญิงที่ก้าวหน้าและมีเสรีภาพ ขณะเดียวกันก็โหยหาการกลับไปสู่บทบาทที่ตกเป็นรองตัวละครเอกชายไปด้วย

วรรณกรรมร่วมสมัยที่ปรากฏภาพของตัวละครหญิงที่มีความเป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้าและกล้าแสดงออกซึ่งความปรารถนาอย่างเสรี แต่สุดท้ายคุณลักษณะของผู้หญิงดังกล่าวกลับกลายเป็นสิ่งที่อันตราย ควรจะกำจัด และปราบปรามให้กลับไปสู่การควบคุม ดังที่ ชุติมา ประกาศวุฒิสาร ชี้ให้เห็นภาพของตัวละคร ‘หญิงร้าย’ ที่ปรากฏในวรรณกรรมไทยในช่วงที่สังคมกำลังพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่ ที่แม้จะมุ่งไปสู่ความก้าวหน้าและความเท่าเทียม แต่ในมิติของเพศวิถีกลับเผยว่าระบอบชายเป็นใหญ่ยังคงหวาดวิตกต่ออิสระและเสรีภาพของผู้หญิง จึงพบกลไกในการควบคุมเพศวิถีของผู้หญิงผ่านการกำราบตัวละครหญิงร้ายในวรรณกรรมอย่างแยบยล

เพศวิถีของผู้หญิงที่ปรากฏในวรรณกรรมร่วมสมัยจึงมีลักษณะลักลั่นในตัวเอง แม้ภายนอกตัวละครเอกหญิงจะถูกเชิดชูภาพของผู้หญิงที่มีสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางเพศ หากแต่ภายในระดับลึกกลับยังพบการควบคุมเพศวิถีของผู้หญิงอย่างสลับซับซ้อน บทบาทของตัวละครหญิงที่มีอิสรเสรีภาพและมีบทบาทเหนือกว่าตัวละครเอกชาย จึงปรากฏอีกด้านว่ายังคงหวนหาอารมณ์ปรารถนาทางเพศ ในขณะเดียวกันก็แบกรับเพศวิถีที่กลับไปสู่บทบาทของภรรยาและมารดาที่ดีตามขนบของกุลสตรี

ความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ซึ่งมีลักษณะขัดแย้งดังกล่าว พบอย่างเด่นชัดในวรรณกรรมแนวโรมานซ์แบบรักต่างเพศ ซึ่งนำเสนอเพศวิถีของผู้หญิงตามขนบที่ตกเป็นฝ่ายรองและยังถูกควบคุมให้อยู่ในบรรทัดฐานทางเพศแบบชายเป็นใหญ่ สวนทางกับกระแสความคิดเรื่องสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศที่แพร่หลายในสังคมปัจจุบัน

ทั้งนี้ แม้วรรณกรรมแนวโรมานซ์ร่วมสมัยหลายเรื่องจะพัฒนาคุณลักษณะของตัวละครหญิงด้วยรูปโฉมใหม่ โดยพยายามลบภาพของหญิงที่ด้อยอำนาจด้วยการสร้างตัวละครหญิงที่มีอำนาจเหนือกว่าตัวละครเอกชายหรือมีความหลากหลายทางเพศวิถีก็ตาม  แต่เมื่อสำรวจวรรณกรรมโรมานซ์ร่วมสมัยบางแนวเรื่อง โดยเฉพาะแนวเรื่องย่อยอย่างนวนิยายโรมานซ์ที่ใช้ฉากทะเลทรายกลับพบว่า แม้จะสร้างตัวละครเอกหญิงให้เข้าแบบผู้หญิงสมัยใหม่ ซึ่งมีความกล้าแสดงออก เชื่อมั่น และพึ่งพาตนเอง หากแต่ผลสุดท้ายยังรักษาความเป็นผู้หญิงตามขนบ ซึ่งกลับเข้าสู่บทบาทของภรรยาและมารดาที่ดีตามแบบกุลสตรีเอาไว้เช่นเดิม

หากพิจารณาในด้านรูปแบบ นวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายยังคงสูตรสำเร็จของเรื่องโรมานซ์ไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ คือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักซึ่งมีตัวละครเอกหญิงเป็นศูนย์กลางของเรื่อง มุ่งเน้นนำเสนอพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเอกหญิงกับตัวละครเอกชาย และจบลงด้วยความรักและมีความสุขตลอดกาล องค์ประกอบทั้งหมดนี้นับเป็นหัวใจหลักของขนบเรื่องโรมานซ์ที่หนุนเสริมเนื้อหาและคุณค่าความเป็นผู้หญิงตามขนบทั้งสิ้น

หากสำรวจนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายที่ผ่านมาตั้งแต่อดีต จะพบว่านวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายเป็นนวนิยายที่ดำรงขนบโรมานซ์มาโดยตลอด แม้ในปัจจุบันกระแสความนิยมนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายจะกลายเป็นกระแสรองไปแล้ว แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้อ่านเหนียวแน่น บ่งชี้ได้ว่าฉากทะเลทรายในดินแดนตะวันออกกลางยังอยู่ในความสนใจของผู้เขียนและผู้อ่านจนกระทั่งปัจจุบัน

King Solomon’s Mines ของเซอร์ ไรเดอร์ แฮกการ์ด (ที่มาภาพ)

หากพิจารณานวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายในอดีต มักพบว่าส่วนมากมาจากนักประพันธ์ชาย ซึ่งใช้วิธีการเล่าเรื่องที่ได้รับอิทธิพลจากนวนิยายตะวันตก เนื่องจากการไปศึกษายังต่างประเทศ ผ่านการแปลและดัดแปลง โดยเฉพาะแนวเรื่องผจญภัยโลดโผน ซึ่งโดยส่วนมากมักใช้ฉากเป็นป่าดงพงไพรและฉากลึกลับกลางทะเลทราย ดังเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือเรื่อง King Solomon’s Mines ของเซอร์ ไรเดอร์ แฮกการ์ด (Sir Rider Haggard) ที่ได้รับการแปลหลายสำนวน และยังนำมาใช้เป็นหนังสือในแบบเรียนการสอนภาษาอังกฤษของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนั้นยังนำเค้าโครงเรื่องการเดินทางผจญภัยในงานเขียนของแฮกการ์ดมาดัดแปลง โดยเปลี่ยนสถานที่และตัวละครให้ใกล้ชิดกับสังคมไทย แต่ก็ยังคงแนวเรื่องของการผจญภัยลี้ลับแบบนวนิยายโรมานซ์ตะวันตก ดังปรากฏในเรื่อง นางเนรมิต ของครูเหลี่ยม ที่ใช้ตัวละครเป็นชาวต่างชาติ เล่าเรื่องการเดินทางผจญภัยไปยังดินแดนทะเลทรายในตะวันออกกลางเพื่อขุดหากรุสมบัติ จนพบกับหญิงสาวมัมมี่พันปีที่ร่วมสมสู่กันในท้ายเรื่อง นวนิยายโรมานซ์ของไทยในช่วงแรกจึงเกิดจากค่านิยมทางวัฒนธรรมที่รับมาจากการแปลและดัดแปลงจากนวนิยายตะวันตก ซึ่งส่วนมากเป็นนักประพันธ์ชาย จึงมักสอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความปรารถนาทางเพศและแสดงถึงความต้องการทางเพศของผู้ชายเอาไว้ภายในเรื่องด้วย

วรรณกรรมแนวโรมานซ์ที่ใช้ฉากทะเลทรายได้รับความนิยมจากนักอ่านสตรี เมื่อมีนักประพันธ์หญิงได้ริเริ่มนำฉากในดินแดนทะเลทรายมาใช้ ดังเช่น ลักษณวดี หรืออีกนามปากกาของ ทมยันตี ได้นำดินแดนทะเลทรายมาเป็นฉากหลังอันเกิดจากความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับอารยธรรมตะวันออก แม้ผู้ประพันธ์ไม่เคยเดินทางไปดินแดนทะเลทราย แต่ก็สามารถเขียนขึ้นจากจินตนาการ ลักษณวดีให้ข้อสังเกตต่อการใช้ฉากดินแดนทะเลทรายว่ามีเสน่ห์น่าค้นหา เพราะมีทั้งความหรูหราร่ำรวยและลึกลับอันตราย ดังที่แสดงทัศนะต่อเจ้าชายชาวตะวันออกกลางว่า “พวกชีคที่มาประชุมนั่งรถเบนซ์ไม่ซ้ำสักคัน แต่งตัวกันหล่อมาก กระเป๋านี่ขาวขลิบทอง นาฬิกา ปากกานี่เป็นทองคำแท้ ใส่น้ำหอมชั้นเยี่ยม รวยกันจริงๆ” ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงตะวันออกกลางในอีกด้านว่า “ทุกวันนี้อาหรับก็ยังมีอะไรแปลกๆ ในความอ้างว้างของทะเลทราย มีคนเผ่าเร่ร่อนมากมายที่ยังมีชีวิตอยู่ในอารยธรรมแบบโบราณเป็นพันๆ ปี มีมากมายที่ผู้คนยังเดินทางเข้าไปไม่ถึงความเจริญ”

นอกจากลักษณวดีแล้ว นักประพันธ์ที่โดดเด่นด้านการเขียนแนวเรื่องโรมานซ์ทะเลทรายคือ โสภาค สุวรรณ เนื่องจากพื้นฐานชีวิตของโสภาค สุวรรณ เป็นลูกสาวนักการทูตและมีโอกาสทำงานในต่างประเทศ ทำให้มีวัตถุดิบในการเขียนวรรณกรรมต่างแดนเป็นจำนวนมาก โดยฉากในแต่ละประเทศครอบคลุมหลายทวีป ทั้งกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาใต้ หรือแม้แต่ในเอเชีย ในจำนวนฉากต่างประเทศทั้งหมด ฉากทะเลทรายกลับเป็นเอกลักษณ์ในงานเขียนของโสภาค สุวรรณมากที่สุด จนกลายเป็นแนวทางเฉพาะตนหรือที่เรียกว่า ‘ไพรัชนิยาย’ โสภาค สุวรรณจึงเป็นนักเขียนหญิงต้นแบบที่ทำให้การใช้ฉากในดินแดนทะเลทรายกลายเป็นที่นิยมอย่างสูง โดยชี้ให้เห็นหัวใจสำคัญของฉากทะเลทรายในตะวันออกกลางว่า “นิยายฉากอาหรับถ้าไม่มีกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ เจ้าหญิง เจ้าชาย เรื่องจะไม่หวาน ไม่นุ่มนวล ชวนให้จินตนาการ บุคคลเหล่านี้เหมือนความฝัน เป็นเทพนิยายในชีวิตจริงที่ไกลตัวมนุษย์ธรรมดาสามัญ เป็นอะไรหลายอย่างที่ผู้อ่านจะดื่มด่ำ มีความสุขร่วมฝันกับผู้เขียน”

ธุวตารา โดย ลักษณวดี (ที่มาภาพ)

อย่างไรก็ตามด้วยสภาพสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เน้นการบริโภคในปัจจุบัน ทำให้ดินแดนในประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศไม่เป็นพื้นที่ลึกลับอีกต่อไป อีกทั้งยังเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้าไปท่องเที่ยว แม้นวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายร่วมสมัยจะมีปริมาณน้อยกว่ากลุ่มนวนิยายโรมานซ์แนวเรื่องอื่น แต่ฉากทะเลทรายก็ยังอยู่ในความนิยมของคนอ่านกลุ่มหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากยอดการอ่านหนังสือประเภทนี้ในเว็บไซต์อย่าง Dek-d.com ที่จัดหมวดเฉพาะนวนิยายแนวทะเลทรายหรือนวนิยายชีคไว้โดยเฉพาะ ซึ่งมียอดคนอ่านหลายหมื่นครั้งหรือบางเรื่องหลายแสนครั้ง ดังเช่นเรื่อง ฤทธิ์รักในรอยทราย ของ กานต์มณี ที่มียอดผู้อ่านถึงสามแสนกว่าครั้ง นอกจากนั้น ในแอปพลิเคชันอีบุ๊กยอดนิยมอย่าง meb ได้จัดอันดับนวนิยายขายดีและมีการให้คะแนนสูงสุดล้วนมาจากนวนิยายโรมานซ์ทะเลทราย แม้ว่าเนื้อหาของเรื่องจะปรากฏองค์ประกอบซ้ำเดิม แต่ด้วยการเลือกสรรองค์ประกอบหลัก คือ ตัวละครเอกชายชาวอาหรับและฉากทะเลทรายซึ่งนำมาใช้เพื่อสร้างสีสันของบรรยากาศและเพิ่มอรรถรสทางเพศ ทำให้นวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายกลายเป็นแนวเรื่องที่แตกต่างจากโรมานซ์แนวอื่นและมีผู้อ่านเฉพาะกลุ่ม

อิทธิพลของสื่อและการท่องเที่ยวยังส่งผลต่อการนำเสนอภาพดินแดนทะเลทรายที่แตกต่างออกไปจากอดีต โดยเพิ่มภาพของทะเลทรายในด้านความทันสมัย มั่งคั่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวก และความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมตะวันตก แต่ก็มีนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายร่วมสมัยบางเรื่องที่ยังคงนำเสนอฉากของดินแดนทะเลทรายในด้านของดินแดนลึกลับเอาไว้ เพื่อสร้างบรรยากาศให้ตื่นเต้นและเร้าความรู้สึก โดยลดทอนความสมจริงในเชิงข้อมูลประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศในทวีปตะวันออกกลางออกไป และสร้างชื่อให้เป็นประเทศสมมติแทน จนทำให้ดินแดนทะเลทรายกลายเป็นโลกในดินแดนแฟนตาซี ในด้านของโครงเรื่อง ยังคงมุ่งเน้นพัฒนาการความรักระหว่างตัวละครเอกชายซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองประเทศในตะวันออกกลาง หรือที่เรียกว่า ‘ชีค’ กับตัวละครเอกหญิงคนไทยที่เดินทางเข้าไปยังดินแดนทะเลทราย

องค์ประกอบสำคัญที่นวนิยายโรมานซ์ร่วมสมัยแตกต่างจากในอดีตคือ การมุ่งเน้นถึงฉากร่วมรักหรือฉากสังวาสในปริมาณที่มากขึ้น มีพระเอกชีคและดินแดนทะเลทรายกลายเป็นจุดขายที่สร้างอรรถรสให้แปลกใหม่กว่านวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายในอดีต นอกจากนั้น ภาพหน้าปกหนังสือยังสร้างแรงดึงดูดใจต่อกลุ่มคนอ่าน ซึ่งมักเป็นภาพวาดหรือภาพถ่ายชายหนุ่มชาวตะวันออกกลางในชุดพื้นเมืองหรือชุดเจ้าชายกับนางเอกคนไทย

สูตรสำเร็จที่มักพบในนวนิยายโรมานซ์ร่วมสมัย คือ เรื่องเล่าของตัวละครเอกหญิงคนไทยในแบบผู้หญิงสมัยใหม่เดินทางเข้าไปยังประเทศสมมติในทวีปตะวันออกกลาง ตัวละครเอกหญิงในแต่ละเรื่องมีจุดมุ่งหมายในการเดินทางแตกต่างกันออกไป เช่น การเดินทางไปท่องเที่ยวในวันหยุดพักผ่อน การไปตามหาญาติพี่น้องที่หายตัวไป การไปค้าขายเครื่องประดับ หรือแม้แต่การเดินทางไปทำงานโดยแฝงตัวไปเพื่อสืบหาข้อมูล เป็นต้น แม้ความตั้งใจแรกเริ่มก่อนเดินทางจะมิได้นำเสนอด้านความปรารถนาทางเพศ หากแต่เมื่อตัวละครเอกหญิงเข้าไปยังดินแดนทะเลทรายแล้ว จุดประสงค์ในการเดินทางของตัวละครเอกหญิงกลับเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับชีคและพื้นที่ทะเลทราย ทำให้ตัวละครเอกหญิงตระหนักรู้ถึงอารมณ์ปรารถนาทางเพศของตนเอง ตัวละครเอกหญิงจึงตกอยู่ในห้วงรักและตกลงปลงใจครองคู่กับชีค

ด้วยสูตรสำเร็จของนวนิยายโรมานซ์เชิงอีโรติกที่มุ่งเน้นเรื่องเพศซึ่งมีตัวละครเอกหญิงเป็นศูนย์กลางของเรื่อง ทำให้นักวิชาการหรือนักวิจารณ์วรรณกรรมมีทัศนะต่ออารมณ์ปรารถนาทางเพศของตัวละครหญิง มีความขัดแย้งแตกต่างกันในสองด้าน อันเกิดจากกรอบคิดหรือจุดยืนที่แตกต่างออกเป็นสองขั้วตรงข้าม คือ ด้านหนึ่งมองนวนิยายโรมานซ์ด้วยความรู้สึกวิตกกังวลและหวาดระแวง โดยมุ่งพิจารณานวนิยายโรมานซ์ในเชิงความสัมพันธ์โของอำนาจหรือวาทกรรม ขณะที่อีกด้าน มองพลิกกลับกันว่านวนิยายโรมานซ์ต่างหากที่นำมาซึ่งความรื่นรมย์ยินดีให้แก่ผู้หญิง โดยมุ่งเน้นพิจารณาตัวละครหญิงในฐานะผู้กระทำการ[1]

การมองจากกรอบคิดทั้งสองด้านดังกล่าว มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดในตัวเอง

ทั้งนี้ หากพิจารณาความสัมพันธ์รักระหว่างชายหญิงภายในเรื่องด้วยการตีความเชิงโครงสร้างจะช่วยทำให้เห็นอำนาจเชิงวาทกรรมที่ผู้หญิงถูกกดขี่จากผู้ชายผ่านตัวบท ทว่าข้อจำกัดของมุมมองนี้กลับไปลดทอนตัวตนและการกระทำของผู้หญิงลงให้เป็นเพียงผู้ที่ไร้อำนาจต้านทาน ขณะที่การพิจารณาจากจุดยืนของผู้กระทำการโดยให้ความสำคัญกับตัวตนของผู้หญิงจะช่วยเผยให้เห็นผู้หญิงในฐานะผู้ที่มีอำนาจในการต่อรองหรือแม้แต่ต่อต้าน ทว่าในอีกด้านก็อาจทำให้ละเลยหรือมองไม่เห็นความซับซ้อนของอำนาจในเชิงโครงสร้างที่อาจจะเป็นฝ่ายอนุญาตให้ผู้หญิงกระทำการนั้นเสียเอง ดังนั้นการมองนวนิยายโรมานซ์ด้วยแนวทางใดแนวทางหนึ่ง หรือมองจากขั้วใดขั้วหนึ่งจึงไม่เพียงพอ เนื่องจากนวนิยายโรมานซ์ร่วมสมัย อย่างน้อยก็ในนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายนั้นอาจมีทั้งลักษณะการกดทับและเปิดเผยความปรารถนาทางเพศของผู้หญิงไปในขณะเดียวกัน

หากลองได้อ่านนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายร่วมสมัยหลายเรื่อง จะพบว่าแกนหลักของนวนิยายโรมานซ์ทะเลทราย คือการนำเสนออารมณ์ปรารถนาทางเพศของตัวละครเอกหญิง ซึ่งเกิดจากการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับตัวละครเอกชีค ในสภาวะแวดล้อมหรือบรรยากาศทะเลทรายที่ถูกสร้างให้มีลักษณะของแรงดึงดูดทางเพศ ซึ่งมีส่วนเหนี่ยวนำให้ตัวละครเอกหญิงเกิดอารมณ์ความรู้สึกจนนำไปสู่การมีความสัมพันธ์ทางเพศ ในแง่นี้จึงหมายถึงตัวละครหญิงถูกกระทำเป็นผู้กระทำไปพร้อมกัน

เราจึงมักพบว่า แม้ตัวบทจะนำเสนอตัวละครเอกหญิงตกอยู่ในสถานะไร้อำนาจต้านทานหรือขัดขืน แต่อารมณ์ทางเพศที่ถูกปลุกเร้าขึ้นกลับเป็นหนทางที่ตัวละครเอกหญิงสามารถหลบเลี่ยงกรอบเกณฑ์ทางเพศวิถีและร่วมรู้สึกรื่นรมย์ไปพร้อมกันด้วย เหตุการณ์ในช่วงเวลาของพัฒนาการความรักและฉากเชิงสังวาส จึงแสดงให้เห็นว่าตัวละครเอกหญิงตกอยู่ในสถานะก้ำกึ่งระหว่างการต่อต้านขัดขืนกับการสมยอมต่ออารมณ์ทางเพศของตนเอง

เมื่อตัวละครเอกหญิงเข้าไปเผชิญหน้ากับตัวละครเอกชายและบรรยากาศแวดล้อมในพื้นที่ทะเลทราย ซึ่งทั้งสองปัจจัยอาจเกิดจากการถูกปลุกเร้าการถูกขืนใจบังคับ หรือการสร้างภาพฝันทางเพศขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง จนนำไปสู่อารมณ์ทางเพศของตัวละครเอกหญิงในที่สุด ที่สำคัญคือเหตุการณ์ในช่วงนี้ยังนำพาให้ตัวละครเอกหญิงเข้าไปเผชิญหน้ากับชุดคุณค่าความเป็นผู้หญิงและศีลธรรมทางเพศที่บีบรัดตัวละครเอกหญิงไม่ให้แสดงออกซึ่งความปรารถนาทางเพศด้วย

ดังนั้นในห้วงเวลาของฉากเชิงสังวาสจึงทำให้ตัวละครเอกหญิงเกิดความรู้สึกต่อต้านขัดขืนไปพร้อมกับแสดงความสุขสมทางเพศ ซึ่งมักแสดงออกมาด้วยความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ (emotional ambivalence) อันเกิดจากความรู้สึกผิดต่ออารมณ์ปรารถนาทางเพศที่เกิดขึ้น ในช่วงพัฒนาความสัมพันธ์รักนี้จึงมีความซับซ้อน คาบเกี่ยว ลักลั่น ซึ่งไม่อาจอธิบายได้ว่าเกิดจากอำนาจเชิงโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม หรือมาจากตัวตนของตัวละครเอกหญิงในฐานะผู้กระทำการ หากแต่ทั้งสองด้านมีปฏิสัมพันธ์ทางอารมณ์ระหว่างกัน

นวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายร่วมสมัยจำนวนหนึ่งจึงอาจไม่ใช่เรื่องที่แบนราบหรือไร้สาระอย่างที่หลายคนอาจมองข้าม แม้ด้านหนึ่ง การคงเรื่องเล่าตามขนบของโรมานซ์จะหมายถึงการคงไว้ซึ่งค่านิยมและทัศนคติในการกดทับผู้หญิง แต่อีกด้านนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายก็มีส่วนปลดปล่อยอารมณ์ปรารถนาทางเพศของผู้หญิงเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นการนำเสนอความปรารถนาทางเพศผ่านมุมมองของตัวละครเอกหญิงซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่อง ก็สะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการทางเพศของผู้หญิงด้วย (อย่างน้อยก็ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบอ่านนวนิยายแนวนี้)

เราจึงไม่อาจกล่าวอย่างรวบรัดหรือเหมารวมทั้งหมดได้ว่า ตัวบทผลิตสร้างความหมายเชิงอำนาจที่กระทำแก่ผู้หญิงแต่เพียงด้านเดียวได้ ขณะเดียวกันก็ไม่อาจให้ความสำคัญแก่ผู้หญิงในการโต้ตอบอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จเช่นกัน หากลองอ่านระหว่างบรรทัดให้ดีแล้ว จะพบว่านวนิยายโรมานซ์ร่วมสมัยนำเสนอความซับซ้อนและย้อนแย้งของอำนาจระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำอย่างยากจะตัดสินในเชิงคู่ตรงข้าม เพราะภายใต้สูตรสำเร็จของนวนิยายโรมานซ์ที่ตัวบทสร้างเงื่อนไขมานั้น กลับพบว่าตัวละครเอกหญิงช่วงชิงและรับมือกับอำนาจในสถานการณ์ช่วงขณะหนึ่งไปพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงพัฒนาการของความรักและฉากเชิงสังวาสอันเป็นหัวใจหลักของขนบโรมานซ์ ตลอดจนการนำเสนอฉากทะเลทรายราวกับดินแดนในฝันอันมีมนต์เสน่ห์ คือองค์ประกอบสำคัญที่จะเผยให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่นำเสนอผ่านความปรารถนาทางเพศของตัวละครเอกหญิง

เป็นที่น่าสังเกตว่าท่ามกลางกระแสความคิดแบบสตรีนิยมแนวเสรีนิยม ยังกลับพบภาพของตัวละครเอกหญิงในนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายร่วมสมัยที่คงแบบฉบับไว้ ผ่านการสร้างภาพฝันถึงความรักและเรื่องเพศในอุดมคติ และจบลงด้วยการหวนกลับเข้าไปอยู่ภายใต้ความเป็นผู้หญิงตามขนบ ซึ่งมุ่งให้สถานะและคุณค่าของสตรีตกเป็นรองฝ่ายชาย จนไม่อาจเลี่ยงที่จะถูกตีตราว่านวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายเป็นวรรณกรรมน้ำเน่า วรรณกรรมพาฝัน หรือแม้แต่เป็นเรื่องลามกอนาจาร เพราะทำให้ผู้หญิงยินยอมต่ออำนาจชายเป็นใหญ่ผ่านเรื่องรักและกามารมณ์

แต่คำถามคือ แม้นวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายจะสวนทางกับค่านิยมสิทธิเสรีภาพของสตรี แต่ยังมีมนต์เสน่ห์ที่กระทบใจผู้อ่านเพศหญิงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งติดเนื้อต้องใจติดตามอ่านอยู่เสมอได้อย่างไรกัน

จากที่ได้สำรวจเบื้องต้นในกลุ่มผู้อ่านนวนิยายโดยไม่ได้จำกัดแนวเรื่องจากบุคคลทั่วไป พบว่ากลุ่มผู้อ่านตัวอย่างนิยมอ่านนวนิยายแนวโรมานซ์เป็นอันดับหนึ่ง ในจำนวนนี้ปรากฏว่าเป็นนักอ่านเพศหญิงมากที่สุด ขณะที่นักอ่านเพศชายและไม่ต้องการระบุเพศมีจำนวนน้อยกว่าและมีอัตราส่วนใกล้เคียงกัน นอกจากนั้น กลุ่มผู้อ่านนวนิยายโรมานซ์ยังคงเลือกอ่านนวนิยายที่มีตัวละครเอกหญิงเป็นผู้หญิงคนไทยมากที่สุด ขณะที่องค์ประกอบในนวนิยายโรมานซ์ที่กลุ่มผู้อ่านตัวอย่างเห็นว่าสำคัญและชวนให้ผู้อ่านติดตามมากที่สุด คือพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครเอกหญิงและชาย ขณะที่องค์ประกอบที่สำคัญรองลงมาคือ ลักษณะนิสัยของตัวละครเอกหญิงและชาย การพรรณนาฉากรักและการร่วมรัก และจบลงอย่างมีความสุขตามลำดับ การสำรวจกลุ่มผู้อ่านจึงพบว่า ผู้อ่านเพศหญิงกลุ่มหนึ่งยังนิยมชมชอบการอ่านนวนิยายโรมานซ์ทะเลทราย มีส่วนยืนยันในระดับหนึ่งว่านวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายส่งผลกระทบทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านเพศหญิง

เหตุใดผู้อ่านกลุ่มนี้ยังคงติดตามอ่านนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายอย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่อง ทั้งที่นวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายที่มุ่งเน้นนำเสนอเรื่องรักและฉากเชิงสังวาส โดยที่ยังคงผลิตซ้ำเรื่องรักและกามารมณ์ตามสูตรสำเร็จ จนมักถูกมองจากสังคมสมัยใหม่ว่าผู้หญิงที่อ่านนวนิยายแนวนี้ คือผู้หญิงที่ยอมรับค่านิยมความเหลื่อมล้ำทางเพศที่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชาย ปรากฏการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าอิทธิพลของเรื่องรักและเรื่องกามารมณ์ยังคงมีประสิทธิภาพ แม้จะอยู่ในท่ามกลางกระแสสตรีนิยมแบบเสรีนิยมก็ตาม

นวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายมีพลังในการสร้างอารมณ์ความปรารถนาทางเพศให้แก่ผู้อ่านเพศหญิงได้อย่างไร

การที่จะตอบคำถามนี้ได้ จึงไม่อาจวิเคราะห์แค่จากตัวบทเท่านั้น แต่ต้องอาศัยวิธีการศึกษาการอ่านของผู้อ่านเพศหญิงที่อ่านนวนิยายแนวนี้ร่วมด้วย เพราะการอ่านคือพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างโลกในนวนิยายกับโลกความจริง อันเกิดจากผู้อ่านมีปฏิสัมพันธ์กับตัวบทผ่านการตีความ จะนำไปสู่การช่วยทำให้เห็นว่าโลกในนวนิยายโรมานซ์เข้าไปมีอิทธิพลในชีวิตประจำวันของผู้อ่านได้อย่างไร

การวิเคราะห์ตัวบทหรือการให้คุณค่าเฉพาะภายในตัวบทจึงมีข้อจำกัด และอาจหมิ่นเหม่ต่อการตัดสินหรือพิพากษาผู้อ่านนวนิยายแนวนี้ว่าเบาปัญญาหรือเพียงแต่หาความบันเทิงเท่านั้น ในทางกลับกันการเข้าไปทำความเข้าใจถึงเหตุผลในการอ่านของผู้อ่านคนหนึ่ง กลับน่าจะช่วยชี้ให้เห็นคำตอบในอีกมิติหนึ่งก็ได้ว่า ตัวบทเข้าไปมีอำนาจและกระทำความรุนแรงในระดับลึกผ่านอารมณ์ความรู้สึกและความปรารถนา ขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยมิติด้านตัวตนของผู้อ่านเพศหญิงที่อาจไม่ได้เชื่องเชื่อต่ออำนาจจากตัวบทก็ได้ เพราะผู้อ่านอาจมีกลวิธีในการอ่านและตีความในแต่ละบุคคลด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วผลของการเพ่งเล็งหรือวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะตัวบทนวนิยายโรมานซ์ จะยิ่งทำให้ผู้อ่านเพศหญิงกลายเป็น ‘ผู้ไร้เสียง’ คือนอกจากจะถูกกลบทับจากตัวบทแล้ว ยังถูกกลบทับซ้ำจากการวิเคราะห์ของผู้รู้ทางวรรณกรรมไปอีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้นการจะทำความเข้าใจเพศวิถีของผู้หญิงสมัยใหม่ (หรือแม้แต่เพศใดก็ตาม) ผ่านวรรณกรรม อาจไม่ใช่เพียงการทำความเข้าใจเพื่อสร้างความรู้ (หรือความบันเทิงทางปัญญาของผู้รู้) เท่านั้น เพราะการพิจารณาเฉพาะแต่ตัวบทจะนำไปสู่การตัดสินคุณค่าของ ‘วรรณกรรม’ ที่แยกขาดจาก ‘ชีวิต’

ขณะที่การตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างนวนิยายกับผู้อ่านจะทำให้เห็นแง่มุมที่น่าสนใจว่า นวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายที่ไม่อยู่ในสายตาของคนใน ‘แวดวงวรรณกรรม’ ส่งผลต่อจินตนาการทางเพศและกระทบทางอารมณ์ความปรารถนาทางเพศต่อผู้หญิงสมัยใหม่ในสังคมไทยได้อย่างไร และเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

รายการอ้างอิง

Catherine Roach. M. (2016). Happily Ever After: The Romance Story in Popular Culture. Indiana University Press.

Janice Radway. (1991). Reading the Romance: Women, Partriarchy, and Poppular Literature. The University of North Carolina Press.

กานต์มณี. (2561). ฤทธิ์รักในรอยทราย. จาก https://writer.dek-d.com/yiumarin/story/view.php?id=1700019.

ชุติมา ประกาศวุฒิสาร. (2562). การเมืองกับการสร้างโลกแฟนตาซีของความสุขในสังคมไทย. ใน  ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (บ.ก.), การสร้างการรับรู้ในสังคมไทย เล่ม 2: อารมณ์ ความรู้สึก นึกคิด แอฟเฟ็คท์ (น. 3-56). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2558, น. 99-100)

นพพร ประชากุล. (2548). คำนำเสนอ. ใน ผู้หญิงกับสังคมในวรรณกรรมยุคฟองสบู่ (น. (8)-(16)).  มติชน.

นัทธนัย ประสานนาม. (2555). น้ำโขง ดงดิบ หญิงร้าย และชายชาตรี: เจ้าแม่จามรี ในฐานะนวนิยายโรมานซ์แนวจักรวรรดินิยม. วารสารลุ่มน้ำโขง 8(2).

วิลเลียม เลอเกอ. (2552). โซไรดา นางพญาทะเลทราย (แปลโดย เสฐียรโกเศศ). ศยาม.

สรณัฐ ไตลังคะ. (2557). เพศวิถีและอารมณ์ปรารถนา: ครูเหลี่ยมกับนวนิยายอีโรติกของไทย. ใน สรณัฐ ไตลังคะ และ นัทธนัย ประสานนาม (บ.ก.), จะเก็บเกี่ยวข้าวงามในทุ่งใหม่ ประวัติวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในมุมมองร่วมสมัย. ภาควิชาวรรณคดี และคณะกรรมการฝ่ายวิจัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม.

สัมฤทธิ์ ทองสิมา. (2536). อาหรับในนวนิยายของลักษณวดี โสภาค สุวรรณ และประภัสสร เสวิกุล. [วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต]. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุรางค์ ปิ่นทอง. (2539). การวิเคราะห์นวนิยายต่างแดนของโสภาค สุวรรณ. [วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

เสนาะ เจริญพร. (2548). ผู้หญิงกับสังคมในวรรณกรรมไทยยุคฟองสบู่. มติชน.

โสภาค สุวรรณ. (2555). บาลาไลก้า. คลังวิทยา.


* บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกในประเด็นเรื่องความปรารถนาทางเพศของผู้หญิงจากนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายร่วมสมัย โดยมองนวนิยายโรมานซ์ทะเลทรายในฐานะที่เป็นหนังสือเร้ากามารมณ์ (pornography) อีกแนวหนึ่งของผู้หญิง  

[1] ฉากร่วมรักในนวนิยายโรมานซ์เป็นสิ่งที่ผู้หญิงเต็มใจอ่านและยืนยันว่าจำเป็นต้องใส่ฉากอีโรติกไว้ในเรื่อง เนื่องจากฉากเหล่านี้คือการบ่งชี้ถึงความพึงพอใจทางเพศที่ผู้หญิงต้องการ โดยยืนยันว่าฉากอีโรติกและฉากร่วมรักในนวนิยายโรมานซ์เป็นเรื่องที่นักอ่านผู้หญิงควรมองในแง่บวก บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิต และนำมาซึ่งพลังอำนาจในการสร้างสรรค์มากกว่าจะอ่านด้วยความอายหรือรู้สึกผิด นักสตรีนิยมบางกระแสมักพยายามเปลี่ยนคำว่าลามกหรือเรื่องโป๊ (porn) เป็นเรื่องอีโรติก (erotic) เพื่อให้นวนิยายโรมานซ์ฟังดูเป็นมิตรหรือเป็นเรื่องความรัก ชวนให้นึกถึงมิติทางสุนทรียรสมากกว่าเรื่องโป๊ที่ดูรุนแรง หยาบคาย หรือลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิง ซึ่งการพยายามนิยามเช่นนั้นเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นและยอมรับความหมายในแง่ลบของฉากโป๊

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save