fbpx
หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง รู้จักโครงการ ‘Sharp Eyes’ ของจีนที่ผู้สอดส่องคือคนข้างบ้าน

หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง รู้จักโครงการ ‘Sharp Eyes’ ของจีนที่ผู้สอดส่องคือคนข้างบ้าน

จากรายงานของหนังสือพิมพ์ New York Times ‘200 ล้านตัว’ คือจำนวนกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งในประเทศจีนเวลานี้ โปรเจ็กต์อย่าง Golden Shield Project, Safe Cities, SkyNet, Smart Cities และล่าสุดโครงการ ‘Sharp Eyes’ ที่อยู่ในแผนการพัฒนาประเทศ 5 ปีของจีนมาตั้งแต่ปี 2016 มีเป้าหมายว่าจะสามารถสอดส่องพื้นที่สาธารณะของประเทศได้ 100% เมื่อจบโครงการ

โครงการสอดแนมครั้งยิ่งใหญ่นี้เริ่มต้นขึ้นที่ Pingyi County ห่างจากเซี่ยงไฮ้ไปทางเหนือประมาณ 7 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้การติดตั้งกล้องวงจรปิดตามถนนหนทางทั่วเมืองหลายพันตัวตั้งแต่ปี 2013 และจำนวนของกล้องก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนมีราวๆ 28,500 ตัวในปี 2016 โดยนอกจากตำรวจและเจ้าหน้าที่จะสามารถเข้าถึงฟีดวิดีโอได้แบบเรียลไทม์และมีเทคโนโลยี Facial Recognition ที่ทันสมัยแล้ว มันยังสามารถเข้าถึงโดยบุคคลทั่วไปได้ง่ายๆ ผ่านตัวกล่องรับสัญญาณแบบพิเศษที่ติดตั้งกับทีวีของทุกบ้าน ถ้าเห็นอะไรที่ไม่ชอบมาพากลก็กดปุ่มเรียกตำรวจได้เลยทันที และถ้ายังไม่สาแก่ใจ อยากใช้สมาร์ตโฟนเพื่อดูฟีดวิดีโอก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

ในปี 2015 รัฐบาลของจีนประกาศว่าโครงการ ‘Xueliang Project’ หรือ ‘Sharp Eyes’ (ได้ชื่อมาจากคำกล่าวของ เหมา เจ๋อตุง ผู้นำคนก่อนที่บอกว่า “The people have sharp eyes” เมื่อสอดส่องดูแลคนในสังคมที่ไม่ทำตามแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์) นั้นจะเริ่มขยายไปทั่วประเทศ เริ่มจากพื้นที่ห่างไกลตัวเมืองก่อนและเมื่อรวมกับโครงการอื่นๆ แล้วจะครอบคลุมพื้นที่สาธารณะของประเทศได้ทั้งหมด (แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเป้าหมายนี้ไปถึงรึยัง)

Dahlia Peterson นักวิเคราะห์วิจัยที่มหาวิทยาลัย Georgetown University’s Center for Security and Emerging Technology บอกว่ารัฐบาลของจีนได้เริ่มใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสอดส่องความเป็นส่วนตัวของประชาชนตั้งปี 2003 ในโครงการ The Golden Shield Project ที่นอกจากจะมีการตรวจสอบใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนทั่วไปอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังมีการสร้างฐานข้อมูลของกว่า 96% ของประชากรของประเทศ รายชื่อของคนที่อยู่ในแต่ละครัวเรือน ประวัติการเดินทาง ประวัติอาชญากรรม ฯลฯ ซึ่งระบบฐานข้อมูลอันนี้เรียกว่า ‘Hukou’ ที่รัฐบาลใช้เพื่อควบคุมดูแลหลายๆอย่างรวมถึงการย้ายถิ่นฐานที่ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ถ้ารัฐบาลไม่อนุญาต แถมไม่พอถ้าเมื่อไหร่ที่อยู่ในฐานข้อมูลแล้วทำผิดขึ้นบัญชีดำขึ้นมา เวลาจะขึ้นรถโดยสารประจำทางอย่างรถไฟ รถบัส หรือซื้อตั๋วเครื่องบินก็จะไม่สามารถทำได้ เจ้าหน้าที่จะได้รับการแจ้งเตือนทันที

ถัดจาก The Golden Shield Project ก็มี Safe Cities ที่เปิดตัวในปี 2003 โฟกัสไปที่การแจ้งเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ จัดการการจราจรบนท้องถนน และความปลอดภัยโดยรวมของประชากรในพื้นที่สาธารณะ ตามมาติดๆ กับ SkyNet ที่เน้นเรื่องเทคโนโลยี Facial Recognition ในกล้องวงจรปิดที่มีรายงานว่าสามารถสแกนใบหน้าของคนจีนทั้งประเทศได้ภายในเวลาหนึ่งวินาทีและแม่นยำกว่า 99.8% แต่ Peterson ก็บอกเหมือนกันว่าตัวเลขนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนรายงาน เพราะฉะนั้นอาจจะไม่ได้แม่นยำขนาดนี้ก็ได้

อย่างไรก็ตามทั้ง Golden Shield, Safe Cities และ SkyNet ที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันก็โฟกัสไปที่เมืองหลวงหรือเมืองหลักเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเทคโนโลยี AI ที่ใช้อยู่เบื้องหลังก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ตลอดสิบกว่าปี ความเชี่ยวชาญและข้อมูลจำนวนมหาศาลที่พวกเขาถืออยู่เป็นประโยชน์อย่างมาก ทำให้การตรวจเช็กหรือควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับ Sharp Eyes นั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่ในพื้นที่ห่างไกล บริเวณที่กำลังของตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อจำนวนประชากรนั้นค่อนข้างต่ำ (บางแห่ง 1 ล้านคนต่อตำรวจ 300 นาย) ทำให้หลายๆ อย่างอาจจะเล็ดลอดสายตาและการมองเห็นไป เลยกลายเป็นโปรเจ็กต์ Sharp Eyes ที่ให้ประชาชนเป็นคนสอดส่องและรายงานเรื่องต่างๆ ในพื้นที่ที่ตัวเองอยู่แทน

การทำงานของ Sharp Eyes โดยทั่วไปแล้ว แต่ละเมืองจะถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่เล็กๆ เรียกว่า ‘grid’ มารวมตัวกัน ซึ่งแต่ละ grid ก็จะดูแลกันเอง (อารมณ์เหมือนพื้นที่หมู่บ้าน) ประชาชนที่อยู่ใน grid นั้นก็จะคอยดูกล้องวงจรปิดในพื้นที่ของตัวเอง ถ้าเห็นอะไรที่ไม่ชอบมาพากล ก็สามารถรายงานกับเจ้าหน้าที่ได้ทันที ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องที่รายงานอาจจะมีตั้งแต่เหตุการณ์ผิดกฎหมายไปจนถึงเรื่องทั่วไปอย่างท่อน้ำแตกหรือพื้นผิวถนนเสียหาย

นอกจากนั้นแต่ละเมืองก็สามารถนำเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาเสริมได้ อย่างเมือง Harbin ที่ใช้ Predictive Policing Technology เข้ามาช่วยตรวจสอบข้อมูลการฝากถอนเงินจากธนาคารของประชาชน สถานที่ที่เคยไป และเครือข่ายของคนที่รู้จัก เพื่อคาดการณ์ว่ามีใครที่เป็นผู้ก่อการร้ายแฝงตัวอยู่ในเมืองหรือจะมีการก่อจลาจลรึเปล่าด้วย ซึ่งจากรายงานบอกว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์นั้นใช้งบประมาณจำนวนมาก เทียบเท่ากับงบประมาณทางด้านการศึกษา และเป็นสองเท่าของงบประมาณด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว แม้งบประมาณเหล่านี้จะได้รับมาจากส่วนกลาง แต่ในหลายๆ ครั้งคนในชุมชนเองก็ร่วมกันบริจาค (คล้ายกับ crowdfunding) ให้สร้างระบบเครือข่ายกล้องวงจรปิดกันขึ้นมาเองด้วยอย่างในเมือง Linyi ที่ระดมทุนได้กว่า 13 ล้านหยวน (61 ล้านบาท) เพื่อสร้างระบบกล้องวงจรปิดของเมืองขึ้นมา

เรื่องความเป็นส่วนตัวอาจเป็นประเด็นที่มองข้ามไปได้ เพราะนี่คือประเทศจีนที่ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้มาก (หรือไม่ได้เลย)​ การที่รัฐบาลจีนสร้างเทคโนโลยีตรงนี้ขึ้นมาก็เพื่อตรวจสอบและตรวจจับคนที่ฝ่าฝืนระเบียบที่ถูกวางเอาไว้ แต่ปัญหาก็อยู่ตรงนี้แหละว่ากฎหมายที่สร้างขึ้นมานั้นก็มาจากรัฐบาลเองที่เป็นคนกำหนดว่าอะไรถูกอะไรผิด และกลายเป็นว่ามีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่นด้วย

รายงานจาก LA Times บอกว่าซอฟแวร์ที่ผลิตโดยบริษัท Dahua ของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น สามารถที่จะสแกนและแยกผู้คนออกจากกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงขั้นที่สามารถแยกชาวอุยกูร์ออกมาแล้วแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เลย รายงานอีกอันของจาก IPVM ก็บอกว่าบริษัท Huawei และ Megvii ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเทคโนโลยี Facial Recognition เพื่อตรวจจับชาวอุยกูร์โดยเฉพาะมาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว

แผนการพัฒนาประเทศอีก 5 ปีข้างหน้าของจีนระบุเอาไว้ถึงการเน้นย้ำในการกระจายอำนาจให้แต่ละพื้นที่ดูแลจัดการกันเองมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการใช้ระบบ grid ในการสร้างความแข็งแกร่งและพึ่งพาประชาชนให้สอดส่องช่วยกันดูแลและรายงาน เพราะฉะนั้นเราอาจจะได้เห็นโครงการที่มีความคล้ายคลึงกับ Sharp Eyes ตามมาในอนาคตอันใกล้ เพื่อคอยป้องกันไม่ให้มีใครที่คิดออกนอกลู่นอกทาง ทำอะไรที่แตกต่างไปจากคนอื่น มีแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับที่ท่านผู้นำอยากให้เป็น

มีรายงานข่าวมากมายที่ออกมาบอกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เทคโนโลยี Facial Recognition และกล้องวงจรปิดจับผู้ที่ทำผิดกฎหมายได้ ซึ่งยิ่งมีข่าวมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้รู้สึกว่าระบบน่าจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยิ่งทำให้เกิดความกลัวที่จะกระทำผิดออกนอกลู่นอกทาง เหมือนมีใครสักคนคอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของเราอยู่ตลอดเวลา ขนาดในเมืองหลวงอัตราการเดินข้ามถนนโดยผิดกฎหมาย (Jaywalking) ก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากที่โครงการเหล่านี้ถูกปล่อยออกไป

ที่เมือง Zhengzhou ตำรวจสถานีรถไฟรายหนึ่งจับโจรค้าเฮโรอีนได้ ระหว่างที่ทำการสอบสวนอยู่ ตำรวจรายนั้นก็ดึงแว่นตาออกมาใส่ (ซึ่งเป็นแว่นตาธรรมดาๆ นี่แหละ) แล้วบอกว่าสิ่งที่โจรคนนั้นพูดไม่ว่าอะไรก็ตามก็ไม่สามารถหลอกลวงพวกเขาได้เพราะตำรวจสามารถมองเห็นข้อมูลทุกอย่างผ่านแว่นตาอันนี้

ด้วยความกลัว สุดท้ายโจรค้ายาคนนั้นจึงยอมรับผิดและบอกว่าเขาซ่อนเฮโรอีนเอาไว้กว่า 60 ถุงโดยการกลืนเข้าไปในท้อง

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไม่รู้ว่าเราถูกมองอยู่รึเปล่า เมื่อหน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง เรามักจะเลือกเชื่อฟังและทำตามกฎที่วางเอาไว้เสมอ อาจจะไม่ใช่เพราะอยากทำ แต่เป็นเพราะความกลัวต่อชีวิตตัวเองเสียมากกว่า



อ้างอิง

China: The Public Security Bureau (PSB) Golden Shield Project, including implementation and effectiveness; Policenet, including areas of operation; level and effectiveness of information sharing by the authorities (2010-February 2014)

(Authorized Release) Proposal of the Central Committee of the Chinese Communist Party on Drawing Up
the 14th Five-Year Plan for National Economic and Social Development and Long-Range Objectives for
2030

China’s ‘Sharp Eyes’ Program Aims to Surveil 100% of Public Space

https://archive.li/7gpbm

อุยกูร์คือใคร อยู่อย่างไรในประเทศจีน? มองปัญหาสิทธิมนุษยชนในซินเจียงอุยกูร์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save