fbpx
Sharing is Caring : เมื่อบริษัทเทคโนโลยีเปลี่ยนแนวคิดของปุ่มแชร์

Sharing is Caring : เมื่อบริษัทเทคโนโลยีเปลี่ยนแนวคิดของปุ่มแชร์

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ก่อนหน้านี้ ช่วงที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020 ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน ในตอนที่ไบเดนคะแนนนำอยู่มากโขและโอกาสที่เขาจะได้เป็นประธานาธิดีคนต่อไปก็เป็นไปได้สูง มีข่าวว่าประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งถ้าตัวเองไม่ชนะ ซึ่งถ้าดูจากแหล่งที่มาของข่าวอย่าง bbc ก็น่าจะเชื่อถือได้อยู่ว่ามีการกรองมาแล้วในระดับหนึ่ง แม้จะดูเป็นข่าวที่ดูแปลกจนน่าตั้งคำถามก็ตามแต่

นี่เป็นปัญหาอย่างหนึ่งในการติดตามข่าวสารบนโซเชียลมีเดียปัจจุบัน เพราะหลังจากที่อ่านแล้วต้องมานั่งกรองกันอีกทีว่าข่าวที่ได้รับนั้นเป็นมูลความจริงมากขนาดไหน ข่าวที่ว่ามาจากสื่อที่เชื่อใจได้เพียงใด ซึ่งปัญหาเรื่อง ‘misinformation’ หรือ ‘fake news’ นั้นยังคงเป็นเรื่องที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเอามือก่ายหน้าผาก พยายามแก้ไขกันตลอดเวลาที่ผ่านมา ซึ่งแนวโน้มของจำนวนข่าวปลอมและผลประทบของมันก็รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ล่าสุดถ้าใครใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ จะเห็นว่าพวกเขาได้ ‘เพิ่มขั้นตอน’ ในการกดแชร์ข่าวหรือมีมที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เพื่อให้คนที่กดแชร์เห็นว่าข้อมูลที่กำลังกดแชร์นั้นเริ่มโผล่ออนไลน์เมื่อไหร่ พูดอีกอย่างก็คือให้เห็นอายุของบทความว่าเก่าเกินไปรึยัง เป็นการคอนเฟิร์มอีกครั้งว่าจะแชร์ข้อมูลตรงนี้ต่อไปจริงๆ ใช่ไหม ซึ่งฟีเจอร์นี้มีชื่อเรียกเก๋ๆ ว่า ‘Informative Sharing’ โดยพวกเขาคาดหวังว่าการแนะนำหรือแสดงข้อมูลเหล่านี้ก่อนที่คนจะกดแชร์นั้น จะทำให้คนแชร์สนใจมากขึ้นว่าคอนเทนต์ที่ถูกแชร์ไปมีคุณภาพจริงๆ มากกว่าที่จะจ้างคนมานั่งคอยตรวจสอบข้อมูลบนแพลตฟอร์มทั้งหมด

Anita Joseph หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก ให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าคนกดแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่เกี่ยวข้อง หรือคอนเทนต์เก่า คนจะรู้สึกผิดและอายมากด้วย เรารู้ว่ามีโอกาสตรงนั้นที่จะใส่หน้าจอคั่นกลางและช่วยให้คนใช้งานไม่ต้องมีประสบการณ์แย่ๆ แบบนั้นอีก”

การเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เช่น การสร้างขั้นตอนเพิ่มก่อนจะกดแชร์เป็นสิ่งจำเป็น เพราะการเพิ่มสกรีนช่วยทำให้คนหยุดชะงักชั่วจังหวะหนึ่ง และวิเคราะห์ถึงข้อมูลที่ตัวเองกำลังจะแชร์ว่าถูกต้องหรือล้าหลังไปแล้วรึเปล่า (มีข้อยกเว้นอยู่ว่าถ้าเป็นคอนเทนต์ที่มาจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถืออย่าง WHO ก็จะไม่มีขั้นตอนนี้) ส่วนทวิตเตอร์ก็จะถามคนที่กดรีทวีตโพสต์ที่มีลิงก์แต่ยังไม่ได้คลิก เพราะพวกเขาเชื่อว่าอย่างน้อยๆ ก่อนจะรีทวีต ควรอ่านบทความก่อนค่อยตัดสินใจว่าจะแชร์เรื่องราวนั้นต่อหรือไม่ เฮดไลน์ไม่ได้บอกเรื่องราวทั้งหมด แถมส่วนใหญ่มักถูกเขียนเพื่อดึงดูดความสนใจ ไม่ได้บ่งบอกถึงคอนเทนต์ที่อยู่ด้านในด้วยซ้ำ

ขั้นตอนเหล่านี้ที่เพิ่มเข้ามาจะช่วยทำให้การกดแชร์เป็นเรื่องที่กลั่นกรองผ่านความคิดมาแล้ว (แม้เพียงในระดับหนึ่งก็ยังดี) เพราะว่าก่อนหน้านี้คนมักไม่ค่อยคิดถึงผลที่จะตามมาภายหลังจากการแชร์แบบทันที ซึ่งส่วนใหญ่แล้วโพสต์ที่ถูกแชร์ต่อไปก็จะเป็นประเด็นเอนเอียงที่ยืนยันความคิดที่พวกเขามีอยู่แล้ว (confirmation bias) ถ้าเราหยุดคิดก่อนที่จะแชร์ข้อมูลต่อไป จะช่วยลดโอกาสในการเผยแพร่ข่าวปลอมหรือข้อมูลเท็จสู่วงกว้างด้วย

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเก็บข้อมูลภายในบริษัทเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้งาน และพบว่าเมื่อมีการแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบนโซเชียลมีเดีย ผู้ใช้งานก็จะรู้สึกผิดและอายด้วย เพราะฉะนั้นวิธีที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ตรงจุดก็คือการแก้ไขที่ปุ่มแชร์โดยตรง โดยใช้หน้าจอกั้นสำหรับคอนเทนต์ก่อนที่จะให้กดแชร์ต่อได้

John Hegeman รองประธานฝ่าย Feed and Stories ของเฟซบุ๊ก กล่าวว่า “ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา งานวิจัยภายในบริษัทพบว่าช่วงเวลาของบทความนั้นเป็นข้อมูลที่สำคัญมาก ในบริบทที่ช่วยให้คนตัดสินใจว่าจะอ่าน เชื่อถือ หรือแชร์ต่อรึเปล่า”

เฟซบุ๊กเลยทำการทดลองโดยการใช้หน้าจอคั่น เมื่อบทความที่จะแชร์นั้นมีอายุมากกว่าสามเดือนขึ้นไป เพราะส่ิงที่พบก็คือถึงแม้ว่าข้อมูลที่แชร์ไม่ได้เป็นข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอม แต่การแชร์ข่าวเก่าๆ (เช่นเหตุการณ์ที่จบไปแล้ว คดีความต่างๆ) เหมือนว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นก็จะทำให้คนที่รับข่าวสารเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นได้

ในส่วนของทวิตเตอร์เองก็มีการปรับเปลี่ยนเรื่องการรีทวีตในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยนอกจากจะถามว่าต้องการรีทวีตลิงก์ที่ยังไม่ได้เปิดจริงๆ รึเปล่า พวกเขาก็ทำการคั่นกลางให้เป็น quote tweet ก่อนที่จะรีทวีตออกไปอีกด้วย ซึ่งพวกเขาก็เชื่อว่าวิธีการเหล่านี้จะทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจภาพรวมของคอนเทนต์ก่อนที่จะส่งต่อให้คนอื่นๆ ด้วย

ทั้งสองแพลตฟอร์มเป็นพื้นที่ช่วยให้คนถ่ายทอดข้อมูลและแชร์คอนเทนต์ต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน มันสร้างผลกระทบในวงกว้างเมื่อข้อมูลที่แพร่กระจายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กล่าวร้าย หรือโจมตีคนอื่นๆ เราเห็นอันตรายของมันชัดเจนมากขึ้นในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ข้อมูลเท็จสามารถสร้างความเสียหายต่อตัวผู้รับข่าวสารจนถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว การคัดกรองโดยเพิ่มขั้นตอนให้ผู้ใช้งานตระหนักรู้ก่อนที่จะส่งต่อข้อมูลนั้นเป็นการปรับเปลี่ยนที่จำเป็น เป็นการเดินหน้าไปในทางที่ถูกต้อง และน่าจะทำให้ข้อมูลเท็จในระบบนิเวศน์นั้นลดลงไปด้วย

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาข่าวปลอมจะหายไปจากระบบทั้งหมด ทุกครั้งที่อ่านบทความหรือหาข้อมูล ก็เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเราเองด้วยที่จะตรวจสอบแหล่งข้อมูลอย่างชัดเจน เปรียบเทียบกับที่อื่นๆ ก่อนจะปักใจเชื่อ ไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ตาม

เรากดแชร์ข้อมูลเพราะอยากให้คนอื่นๆ ได้รับฟัง ได้อ่าน ได้เห็น เพราะเราคิดว่าเป็นสิ่งที่จะมีประโยชน์ต่อคนอื่นๆ, เราแชร์เพราะเราแคร์

 

อ้างอิง

Facebook adds speed bump to slow down Covid-19 post virality

Fake news about Covid-19 can be as dangerous as the virus

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save