fbpx
เพราะสถาปัตยกรรมคือภาระและภาษี

เพราะสถาปัตยกรรมคือภาระและภาษี

รชพร ชูช่วย เรื่อง

ภาพิมล หลอ่ตระกูล ภาพประกอบ

 

 1

 

ต้นจอดรถที่ลานจอดรถด้านหลังตึกที่มีต้นไม้พอให้ร่มเงาแม้วันนี้จะครึ้มฟ้าครึ้มฝน ตั้งใจว่าจะเดินเข้าตึกจากทางด้านหลังเลย เพราะจำได้ว่าตึกนี้มีทางเข้าหลายทาง แต่เมื่อเดินมาถึงพบว่าประตูกระจกที่เป็นทางเข้าด้านหลังถูกล็อคด้วยโซ่และคล้องกุญแจไว้ กระจกมีคราบสกปรกเหมือนไม่ได้ทำความสะอาดมาเป็นเดือนๆ มีป้ายกระดาษเอสี่ เขียนด้วยลายมืออ่านได้ว่า ‘ประตูปิด กรุณาเข้าประตูด้านหน้า’ ต้นจึงต้องเปลี่ยนใจเดินอ้อมกลับไปทางด้านหน้าตึก

ประมาน 4-5 ปีที่แล้ว ต้นมาตึกนี้เป็นครั้งแรก ตอนนั้นต้นยังเป็นพนักงานใหม่ในบริษัท ติดตามหัวหน้ามาประชุมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจในกลุ่มบริษัทที่ต้นทำงานอยู่ ต้นตื่นเต้นมากที่จะได้มาตึกนี้ที่เพิ่งเปิดไม่นานและได้รับความสนใจจากสื่อมากพอสมควร คงเป็นเพราะเป็นอาคารราชการที่มีหน้าตาทันสมัย มีมุมเท่ๆ ให้ถ่ายรูปมากมาย ไม่เหมือนอาคารราชการโดยทั่วๆ ไป หลังจากมาเห็นตึกนี้แล้ว ต้นยังเอารูปไปอวดเพื่อนร่วมงานหลายคนว่าอลังการกว่าตึกของบริษัทเราเสียอีก

ภาพหน้าตึกที่เห็นครั้งแรกนั้นน่าประทับใจมาก เพราะทางเดินเข้าสู่อาคารเป็นทางเดินผ่าไปกลางสระน้ำสีดำใหญ่ไม่ลึกนัก ทำให้ผิวน้ำสีเข้มสะท้อนภาพตึกเห็นเป็นภาพขยับนิดๆ ไปตามน้ำไหว นำไปสู่ทางเข้าที่มีผนังฉลุลวดลายวิจิตรใหญ่โตสูงสิบกว่าเมตร ประตูทางเข้าสูงมากน่าจะสี่เมตรเป็นอย่างน้อย เหมือนกันกับประตูโรงแรมหรูๆ ที่ต้นเคยเห็นเวลาไปงานแต่งงาน

แต่เมื่อต้นเดินวนมาหน้าตึกในวันนี้ ภาพที่เห็นทำให้ตกใจพอสมควร เพราะสระน้ำที่เคยมีน้ำอยู่นั้น ไม่มีน้ำอีกต่อไป กลายเป็นบ่อตื้นๆ เห็นพื้นกระหินสีดำแบบด่างๆ มีเศษใบไม้เกลื่อนอยู่ประปราย กรวดแม่น้ำสีขาวที่โรยไว้ข้างๆ บ่อกลายเป็นสีเทาๆ เลอะๆ เงยหน้าเห็นผนังหน้าอาคารที่เป็นทางเข้าสูงสิบกว่าเมตรมีลวดลายฉลุทึบโปร่งดูมอมแมม มีฝุ่นเกรอะกรัง บางซอกดูเหมือนจะมีนกไปทำรังอยู่ด้วยซ้ำ ประตูสูงที่เป็นทางเข้าใหญ่โตเปิดค้างไว้ มีโต๊ะไม้เก่าๆ มาตั้งไว้เป็นที่นั่งของ รปภ. เพื่อขอแลกบัตร

ในโถงทางเข้าหลักที่ใหญ่โตและสูงนั้นไม่ได้ติดแอร์ เพราะมีการระบายอากาศด้วยผนังโปร่งสองด้าน มีม้านั่งยาวทำด้วยไม้ให้ผู้มาติดต่อนั่งพักรอ แต่ม้านั่งยาวเหล่านี้ดูค่อนข้างทรุดโทรม สีซีดจางจนต้นไม่กล้านั่ง คงเป็นเพราะแสงแดดที่มาจากหลังคาโปร่งแสงส่องลงมาให้ความสว่างกับโถงใหญ่โตนี้ทำให้ไม้ซีดเก่า แม้ว่าหลังคาจะไม่ใสสะอาดอีกต่อไป เห็นเป็นคราบฝุ่นจากชั้นล่างที่ต้นยืนอยู่ ผนังอีกสองข้างของโถงเป็นทางเดินหน้าห้องของพื้นที่สำนักงาน 4-5 ชั้น เคยมีต้นไม้ปลูกเลื้อยห้อยระย้าลงมาเป็นสายสวยงาม จำได้ว่ามีดอกประปรายพอชื่นใจ วันนี้ก็ยังมีต้นไม้อยู่ แต่น้อยและเฉาลงไปมากจนไม่ได้ให้ความรู้สึกสดชื่นใดๆ เกือบจะรู้สึกแห้งเหี่ยวเสียด้วยซ้ำ

พื้นที่ว่างตามทางเดินและโถงระหว่างห้อง มีเฟอร์นิเจอร์และกล่องกระดาษมากมายวางอยู่เป็นระยะๆ ระเกะระกะพอสมควร กลายเป็นพื้นที่เก็บของที่อยู่ภายนอกห้องเก็บของ มองออกไปที่ระเบียงในชั้น 3-4 ก็ดูรกร้าง มีของที่ไม่ได้ใช้มาวางทิ้งไว้เช่นกัน ใน 2-3 ห้องที่ต้นเข้าไปติดต่อและประชุมนั้น สภาพโดยรวมยังเหมือนเดิม แต่เฟอร์นิเจอร์หรือพื้นผิวของห้องทั้งพื้นผนังฝ้าที่อลังการไม่แพ้โรงแรมห้าดาวดูไม่ได้สะอาดสดใสอย่างที่ควรจะเป็น มือจับประตูโลหะมีรอยนิ้วมือ พรมมีรอยที่เหมือนกาแฟหกใส่ ไฟกิ่งที่ตกแต่งห้องสว่างบางดวงดับบางดวง

เมื่อประชุมเสร็จต้นลงลิฟต์กลับลงมาที่ชั้นล่าง ฝนก็เทลงมาห่าใหญ่พอดี ลมแรงมากพัดเอาฝนสาดเข้ามาในโถงสูงผ่านผนังฉลุ จนเกือบเหมือนอยู่นอกอาคาร ต้นต้องไปหลบฝนอยู่ข้างๆ โถงหน้าลิฟต์ รปภ. ที่แลกบัตรอยู่ทางเข้าพยายามจะปิดประตูสูงที่เป็นทางเข้าหลัก แต่ปิดไม่ได้เพราะดูเหมือนประตูจะฝืดด้วยความหนัก จึงเลิกล้มความตั้งใจแล้วเอาร่มออกมากางและนั่งอยู่ที่โต๊ะไม้ตัวเดิม ดูเป็นภาพที่ประหลาดอยู่ไม่น้อย

แม่บ้าน 4-5 คนสวมรองเท้าบูตพร้อมไม้ถูพื้นวิ่งกรูผ่านหน้าลิฟต์ที่ต้นยืนอยู่ ออกมาเช็ดพื้นโถงที่น้ำเริ่มจะนองเพราะฝนสาดเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ต้นได้แต่ยืนตะลึงดูการทำงานของแม่บ้านที่เช็ดพื้นกันอย่างแข็งขัน พอฝนซาแม่บ้านก็เช็ดน้ำออกไปจากพื้นหมดพอดี แต่ว่าตัวเปียกปอนกันหมดทุกคน ต้นอดไม่ได้ที่จะถามว่าต้องทำแบบนี้ทุกครั้งที่ฝนตกเลยหรือ ได้ความว่าเคยมีคนลื่นล้มหัวฟาดพื้นตอนฝนตก และเพราะพื้นเป็นหินขัดมันจึงต้องมีการถูพื้นทุกครั้งที่มีฝนสาดเข้ามา พอเห็นฝนตั้งเค้ามาแม่บ้านดูแลพื้นที่โถงก็ต้องเตรียมตัวทันที พร้อมกับบ่นว่าตึกนึ้ปัญหาเยอะ ดูแลยาก

 

2

 

สถาปัตยกรรมก็เหมือนสิ่งของต่างๆ ที่เราครอบครอง ต้องมีการจัดการให้ใช้งานได้ รวมไปถึงการดูแลบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์สวยงาม ใช้การได้ตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะในอาคารขนาดใหญ่ที่เป็นอาคารสาธารณะ กิจกรรมเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายตามมาจากการสร้างอาคารจำนวนไม่น้อย

การจัดการในอาคารสาธารณะให้ใช้งานได้ในแต่ละวันต้องการพนักงานมากมาย ตั้งแต่พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ต้องประจำอยู่ทางเข้าที่ต้องคอยดูแลรถเข้าออก บริเวณประตูทางเข้าสู่อาคารที่มีการแลกบัตรเพื่อเข้าไปในอาคาร ยิ่งมีประตูทางเข้าหลายทาง จำนวนพนักงานรักษาความปลอดภัยก็ยิ่งมากขึ้น

พนักงานทำความสะอาดเป็นตัวละครสำคัญมากในอาคาร ที่ทำให้อาคารอยู่ในสภาพพร้อมใช้การเสมอ จำนวนพนักงานทำความสะอาดในอาคารนอกจากจะขึ้นกับปริมาณพื้นที่ของอาคารแล้ว ความยากง่ายในการทำความสะอาดดูแลรักษาอาคารก็อาจจะทำให้ต้องใช้แรงงานมากมายในการทำความสะอาด ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการออกแบบอาคารโดยตรง เช่น การมีกระจกมากๆ ในอาคาร ตามมาด้วยการเช็ดกระจกให้สะอาดสดใสอยู่เสมอ เคาน์เตอร์หินสีเข้มในห้องน้ำต้องเช็ดน้ำบ่อยๆ มิฉะนั้นจะเกิดคราบขาว

ภาพโรงแรมห้าดาวที่ทุกอย่างสะอาดเหมือนใหม่อยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งห้องน้ำในโถงล็อบบี้ รีสอร์ตราคาแพงที่เป็นศาลาเปิดโล่งแต่ไม่มีฝุ่นแม้กระทั่งบนใบไม้หรือกรวดโรยพื้น หรือสวนในอาคารที่ต้นไม้งดงามสดใสดูไม่เหี่ยวเลยไม่ว่าจะเป็นเวลาใดนั้น เกิดจากแรงงานการทำความสะอาดและดูแลรักษาประจำวันอย่างมหาศาล และมักจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกมองข้ามไป

นอกจากการบำรุงรักษาทำความสะอาดประจำวันในส่วนต่างๆ ของอาคารแล้ว ยังต้องมีการซ่อมแซมตรวจสอบสภาพพื้นผิวและระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา การสื่อสาร ปรับอากาศ และสุขาภิบาลต่างๆ (ไม่ต่างจากการซ่อมบำรุงรถยนต์ที่ต้องทำกันตลอดเวลาทุกๆ ช่วงระยะทางที่ใช้รถ) ซึ่งแต่ละส่วนก็มีอายุต่างกันไป เช่นหลอดไฟมีอายุตามชั่วโมงการใช้งาน สีทาอาคารมีอายุประมาณ 5 ปี ไม้ต้องทาสีเคลือบทุกๆ ปี ลิฟต์ต้องการการตรวจสอบทุกเดือน  พื้นหินต้องเคลือบน้ำยาทุกๆ 6 เดือน เป็นต้น เมื่อถึงเวลาที่อายุวัสดุอุปกรณ์ในอาคารหมดลงก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันตามอายุขัย

สำหรับอาคารโดยทั่วไปนั้นสามารถประมาณการเบื้องต้นได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษาอาคารในรอบ 20 ปีเท่ากันกับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารตั้งแต่แรกเริ่ม (แต่ละปีมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรอบการบำรุงรักษาและเปลี่ยนชิ้นส่วนต่างๆ ของอาคาร) [i] แต่ถ้าอาคารต้องการดูแลรักษาที่ซับซ้อนกว่านี้ ก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นไปอีก

สำหรับอาคารที่สร้างขึ้นโดยมีเจ้าของเป็นเอกชน แน่นอนว่าเจ้าของอาคารก็ต้องรับภาระการดูแลรักษาไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในหลายกรณีที่เจ้าของโครงการตั้งต้นไม่ต้องจ่ายเงินดูแลบำรุงรักษาอาคาร เช่น คอนโดมีเนียมหรือบ้านจัดสรร ที่ใช้ค่าส่วนกลางมาดูแลพื้นที่และส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งหากพื้นที่เหล่านั้นได้รับการออกแบบเพื่อให้ดูแลรักษาได้ง่าย ค่าใช้จ่ายก็อาจจะไม่สูงนัก แต่ด้วยการแข่งขันของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน ทำให้มีการออกแบบพื้นที่ส่วนกลาง เช่น คลับเฮาส์หรือสระว่ายน้ำอย่างสวยงามอลังการไม่แพ้รีสอร์ตราคาแพงเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ ซึ่งการดูแลรักษาพื้นที่เหล่านี้จะกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้อาศัยในที่สุด

สำหรับอาคารราชการ ส่วนใหญ่เป็นอาคารที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในการนำมาบำรุงรักษาอาคารโดยตรง ค่าใช้จ่ายในการดูและบำรุงรักษาอาคารมาจากงบประมาณของรัฐ ที่แน่นอนว่าคือภาษีของประชาชน ในขณะเดียวกันเป้าหมายของการสร้างสถาปัตยกรรมราชการจำนวนหนึ่งคือสร้างภาพลักษณ์ สร้างความภาคภูมิใจ เป็นสัญลักษณ์ให้กับหน่วยงาน ให้กับมหาวิทยาลัย กระทรวง หรือประเทศ ซึ่งอาคารที่มีความตื่นตาตื่นใจเหล่านี้ มักจะมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและดูแลรักษาที่สูงกว่าอาคารทั่วไป

ในการประกวดแบบสนามกีฬาใหม่ในกรุงโตเกียวเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 ที่เพิ่งจะถูกเลื่อนออกไป แบบที่ชนะการประกวดนั้นเป็นสถาปัตยกรรมที่น่าตื่นเต้นมากในมุมของงานสร้างสรรค์ แต่กลับได้รับการคัดค้านจากสถาปนิกในประเทศญี่ปุ่นจำนวนมาก เพราะนอกจากค่าก่อสร้างที่สูงเกินกว่าที่คาดไว้มากแล้ว ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องการดูแลบำรุงรักษาอาคาร

สถาปัตยกรรมที่รองรับการแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่อย่างโอลิมปิกที่จุผู้ชมราวแปดหมื่นคนนั้น ยากที่จะใช้รองรับการแข่งขันกีฬาอื่นๆ ที่มีผู้ชมมากเท่านี้ได้ การหารายได้เพื่อใช้ในการดูแลอาคารน่าจะเป็นไปได้ยาก นอกจากการจัดคอนเสิร์ตเป็นครั้งคราว การสร้างสนามกีฬาที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามากมาย เป็นการทิ้งภาระภาษีไว้ให้กับคนรุ่นหลัง

ในขณะที่ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ จำนวนคนทำงานเสียภาษีก็จะน้อยลง ดังนั้นการสร้างสถาปัตยกรรมสาธารณะของประเทศจึงต้องทำให้เกิดภาระน้อยที่สุดต่อคนรุ่นหลัง ในที่สุดแบบที่ชนะประกวดในครั้งแรกก็ถูกยกเลิกไป มีการประกวดแบบใหม่ โดยแบบที่ชนะการประกวดครั้งหลังนี้เรียบง่ายแตกต่างจากครั้งแรกโดยสิ้นเชิง จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าเป็นสนามกีฬาโอลิมปิกที่น่าเบื่อมากที่สุดที่เคยสร้างมา

ในการก่อสร้างอาคารของราชการในบริบทของประเทศไทยนั้น มีการกำหนดกรอบงบประมาณก่อสร้างอย่างชัดเจน แต่ประเด็นของงบประมาณในการใช้งานรวมไปถึงการบำรุงดูแลรักษาอาคาร มักจะไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณาอย่างจริงจังในขั้นตอนการออกแบบ เพื่อประเมินถึงงบประมาณตลอดอายุการใช้งานของอาคาร ผู้ที่ต้องบริหารจัดการอาคารมักไม่ได้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบก่อสร้าง บางครั้งแม้ว่างบประมาณในการก่อสร้างจะเป็นการบริจาค เช่น อาคารของโรงพยาบาล โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย แต่ในที่สุดแล้วค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาก็ยังต้องมาจากงบประมาณของรัฐ

เราจึงพบเห็นอาคารราชการจำนวนหนึ่งออกแบบมาสำหรับการติดเครื่องปรับอากาศมากมาย แต่มีความยากลำบากในการหางบประมาณมาจ่ายค่าไฟที่สูงลิ่ว จนต้องคิดหารายได้ด้วยการให้เช่าจัดงานแต่งงาน อย่างอาคารรัฐสภาใหม่ [ii] อาคารที่มีสระน้ำสร้างบรรยากาศใหญ่โต มีสวนบนหลังคาที่ต้องใช้คนดูแลหลายสิบคนต่อวันและงบประมาณมหาศาลในการทำสวนให้อยู่ในสภาพน่ารื่นรมย์ จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อเวลาผ่านไปอาคารราชการบางอาคารจึงอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ทรุดโทรม พิกลพิการ ใช้งานได้ไม่เต็มที่ (อย่างที่ต้นได้ไปเห็น) เพราะความยากลำบากในการดูแลรักษาและงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ซึ่งก็เป็นการสูญเปล่าของงบประมาณการก่อสร้างในอีกทางหนึ่ง

แม้ว่าจะมีการจัดสรรงบประมาณดูแลอาคารราชการเหล่านี้ให้เพียงพอ คำถามก็คือ เราควรจะนำงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน มาใช้กับการดูแลรักษาอาคารเหล่านี้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร นอกจากสถาปนิกและหน่วยงานราชการเจ้าของโครงการที่ควรจะตระหนักถึงประเด็นการดูแลรักษาอาคารราชการตั้งแต่เริ่มกระบวนการออกแบบ การพิจารณางบประมาณการดูแลรักษาอาคารควรจะต้องเป็นประเด็นสำคัญในขั้นตอนการพิจารณารูปแบบของอาคารด้วย

สถาปัตยกรรมสามารถอยู่ยืนยาวได้มากกว่าอายุของเราทุกคน จึงเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมความนึกคิดและวิทยาการจากช่วงเวลาหนึ่งไปสู่ช่วงเวลาหนึ่งได้อย่างมหัศจรรย์ พีระมิดเป็นเหมือนเครื่องย้อนเวลาที่เล่าเรื่องราวเมื่อ 4,000 ปีที่แล้วอย่างจับต้องได้ แต่สิ่งที่ตามมาคือภาระในการดูแลรักษาให้อยู่ยืนยาว

การสร้างอาคารของรัฐถึงแม้จะเป็นการสร้างสัญลักษณ์ศูนย์รวมจิตใจ สร้างความภาคภูมิใจ และเก็บเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของปัจจุบันสื่อสารไปยังอนาคตได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งต่อภาระให้คนรุ่นหลังที่ต้องดูแลรักษาต่อไป อาจจะเป็นการใช้ภาษีของคนที่ยังไม่เกิดเสียด้วยซ้ำ

ในวันที่ทรัพยากรของโลกร่อยหรอลงไปมาก ปัญหาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ภัยพิบัติต่างๆ เร่งเร้าหลายด้านจนเข้าขั้นวิกฤต รัฐในแต่ละประเทศมีหน้าที่จัดสรรทรัพยากรที่จำกัดลงทุกทีให้ประชากรอยู่รอดปลอดภัย การสร้างสถาปัตยกรรมของรัฐจึงควรมีความรอบคอบฉลาดเฉลียวหลายด้าน สถาปัตยกรรมที่เป็นสัญลักษณ์แต่เพียงอย่างเดียวด้วยรูปลักษณ์ แต่ไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งานและดำรงอยู่ ก็อาจจะถูกทิ้งร้างลืมเลือนไปในเวลาอันใกล้ เมื่อลูกหลานไม่สามารถดูแลได้อีกต่อไป

เพราะสถาปัตยกรรมคือภาระและภาษี (ที่มีจำกัด)

 

[i] ข้อมูลอ้างอิงจาก ศ.ดร.เสริชย์ โชติพานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการอาคาร อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

[ii] เล็งใช้สภารับจัดงานเลี้ยง-งานแต่ง หารายได้เพิ่มจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟรัฐสภา​ 425 ล้าน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save