fbpx
สถาปัตยกรรมที่นับรวม : เมื่อมนุษย์ทุกคนต้องการที่กินข้าว

สถาปัตยกรรมที่นับรวม : เมื่อมนุษย์ทุกคนต้องการที่กินข้าว

คอลัมน์ Shaped by Architecture ว่าด้วยอำนาจของสถาปัตยกรรมที่มีต่อ ‘คน’ และ ‘เมือง’ เมื่อการออกแบบที่ดีส่งผลต่อชีวิตคนอย่างมหาศาล และสถาปัตยกรรมต้องนับรวมสังคมการเมืองเข้าไปเป็นหนึ่งในสมการออกแบบด้วย หาคำตอบและมองเรื่องรอบตัวด้วยสายตาสถาปนิก — เราทุกคนต่างเป็นนักออกแบบ

 

 รชพร ชูช่วย เรื่อง

ภาพิล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

บ้านของดิฉันอยู่ในซอยแยกของซอยสุขุมวิท 49 ตรงข้ามกับโรงพยาบาลชื่อดัง

ซอยย่อยนี้เป็นซอยตันสั้นๆ ที่เงียบสงบและร่มรื่น ฝั่งหนึ่งของซอยเป็นกำแพงบ้านสองหลังที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ อีกฝั่งเป็นตึกแถวอยู่ในซอยประมาณสิบหลังซึ่งใช้เป็นบ้านพักอาศัย เป็นร้านอาหาร ร้านขนม สปา สำนักงาน หรือปนๆ กันไปหลายกิจกรรมในตึกเดียว อย่างตึกที่ดิฉันอยู่เองนี้มีทั้งสำนักงานและที่อยู่อาศัยปนกันตามแบบแผนดั้งเดิมของตึกแถว อยู่กันแบบเงียบๆ เรียบๆ

พื้นที่บริเวณหน้าตึกแถวที่ลึกประมาณ 6-7 เมตร แรกเริ่มเดิมทีถูกเว้นไว้ตามกฎหมายให้เป็นที่จอดรถของแต่ละบ้าน แต่แทบทุกบ้านมักจะต่อเติมหลังคาออกมาและกั้นเป็นห้องเพื่อใช้เป็นพื้นที่ภายในอาคาร (แน่นอนว่าไม่ถูกกฎหมายเท่าไรนัก) หรือไม่ก็กั้นรั้วปิดมิดชิด ยกเว้นหน้าตึกของบ้านเราเท่านั้นที่คงไว้เป็นลานจอดรถได้สองคัน โดยร่นแนวรั้วเข้ามาอยู่ใต้ตึก ปลูกต้นไม้ใส่กระถางเป็นแนวยาวบริเวณริมกำแพง กลายเป็นพื้นที่เปิดโล่งเล็กๆ ที่ตอนบ่ายๆ ก็ร่มรื่นอยู่ไม่น้อย

 

พื้นที่ลานจอดรถเล็กๆ หน้าตึก ที่มีต้นไม้ปลูกเป็นแถวยาวขนาบกำแพง

 

หลังจากมาอยู่บ้านนี้ได้ปีกว่าๆ แม่บ้านผู้ดูแลตึกก็มาฟ้องว่ามีก้นบุหรี่ทิ้งเรี่ยราดอยู่ในกระถางต้นไม้ที่ขนาบผนังลานจอดรถนี้อยู่เป็นครั้งคราว แม่บ้านพยายามจะหาว่าใครเป็นตัวการ สอบถามจากทุกคนที่อยู่ในตึกก็ได้ความว่าไม่มีใครออกไปสูบบุหรี่ที่ลานจอดรถ เพราะในแต่ละชั้นบนตึกก็มีพื้นที่ให้ออกไปสูบบุหรี่ได้อยู่แล้ว หลายเดือนผ่านไปแม่บ้านก็ยังมาบ่นเรื่องนี้อยู่เนืองๆ

จนบ่ายวันหนึ่งเมื่อดิฉันกลับมาถึงหน้าบ้าน ก็เห็นพนักงานหญิงชายสามสี่คน (เดาได้เพราะทุกคนใส่เสื้อโปโลเหมือนกัน) ยืนบ้าง นั่งพื้นบ้าง คุยเล่นและสูบบุหรี่กันอยู่ตรงลานจอดรถเล็กๆ ที่ร่มรื่นนี้

เมื่อเห็นว่าดิฉันกำลังจะเดินเข้าไปเปิดกุญแจเข้าตึก ทุกคนก็มีทีท่าตกใจนิดหน่อยแต่หันมายิ้มให้ ดิฉันจึงบอกไปว่า “นั่งเล่นได้ตามสบายนะคะ ไม่ต้องเกรงใจ แต่อย่าทิ้งก้นบุหรี่ในกระถางต้นไม้เลยค่ะ” น้องผู้หญิงคนหนึ่งในกลุ่มนี้ก็ขอโทษขอโพย และสัญญาว่าจะไม่ทิ้งก้นบุหรี่อีก จึงเกิดการคุยกันจนสอบถามได้ความว่าทุกคนเป็นพนักงานของบริษัทหนึ่งในละแวกนี้ แต่ในบริษัทไม่มีห้องสำหรับการพักผ่อนหรือสูบบุหรี่ เมื่อถึงเวลาพัก หากอยากออกนอกพื้นที่ทำงาน ก็ต้องไปนั่งร้านกาแฟในละแวกนี้ที่ต้องจ่ายค่ากาแฟเกือบๆ ร้อยบาท และทุกที่เป็นที่สาธารณะที่ห้ามสูบบุหรี่ทั้งสิ้น ไม่มีพื้นที่ภายนอกอาคารให้ใช้ได้เลย นอกจากทางเท้าข้างถนนที่มีรถจอแจ เมื่อมาเจอพื้นที่โล่งที่ไม่ได้อยู่ติดถนนอย่างลานจอดรถหน้าบ้านนี้ ก็เลยมาแอบใช้เป็นที่สูบบุหรี่พักผ่อนตอนบ่ายสักสิบนาที

หลังจากวันนั้นดิฉันก็เอาที่เขี่ยบุหรี่เล็กๆ มาวางไว้ข้างๆ กระถางต้นไม้ แม่บ้านไม่ได้บ่นเรื่องก้นบุหรี่ในกระถางต้นไม้อีกต่อไป

ในชีวิตประจำวันของเราอาจจะพบเห็นเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันกับกรณีก้นบุหรี่ในกระถางต้นไม้หน้าบ้านนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่อาจจะไม่ทันสังเกต ไม่ทันได้คิดว่าจริงๆ แล้วที่มาที่ไปคืออะไร สภาพแวดล้อมทางกายภาพหรือสถาปัตยกรรมแบบไหนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้

 

ไม่ใช่แค่สถานการณ์นี้เท่านั้น แต่ยังมีสถานการณ์อื่นที่คล้ายคลึงกับแบบนี้อีกมาก

ตรงทางเดินไปห้องน้ำของ community mall เล็กๆ ใจกลางเมืองแห่งหนึ่ง มีบันไดหนีไฟแบบเปิดโล่ง ช่วงบ่ายๆ จะมีคนนั่งตามขั้นบันไดอยู่สี่ห้าคน แบบหลบๆ ไว้ไม่ขวางทางขึ้นลง ทุกคนก้มหน้าก้มตาจ้องโทรศัพท์ของตัวเองอย่างจดจ่อ

เมื่อสังเกตจากการแต่งตัวก็เห็นได้ว่าคนที่นั่งอยู่บนบันไดน่าจะเป็นพนักงานของร้านอาหารต่างๆ ที่อยู่ใน community mall แห่งนี้เอง ช่วงบ่ายเช่นนี้คงเป็นเวลาพักของพนักงาน จึงออกจากร้านมาใช้บันไดหนีไฟที่ไม่ค่อยมีคนขึ้นลงผ่านไปมาเป็นพื้นที่หลบมุมใช้เวลาส่วนตัวได้ แม้ว่าบันไดหนีไฟจะเป็นพื้นที่อับ มืด ไม่มีอากาศถ่ายเทเท่าที่ควร แต่ก็อาจจะยังดีกว่าการนั่งพักผ่อนเล่นโทรศัพท์อยู่ในครัว หรือสูดควันท่อไอเสียรถตรงริมถนน เพราะอย่างนี้ บันไดหนีไฟมืดๆ ที่อยู่ในซอกนี้อาจจะเป็นพื้นที่ดีที่สุดในอาคารที่พนักงานตัวเล็กๆ พอจะใช้ได้โดยไม่เกะกะใคร ไม่ได้ขัดขวางกิจกรรมการขายใดๆ

เดาได้ไม่ยากนักว่า ในอาคารนี้คงไม่มี ‘พื้นที่’ อย่างเป็นที่เป็นทางให้พนักงานได้ใช้เวลาพัก

 

อาคารที่ไม่มี 'พื้นที่' อย่างเป็นที่เป็นทางให้พนักงานได้ใช้เวลาพัก

 

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือลานวัดกลางเมือง

วัดนี้รอบล้อมด้วยย่านธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ ในวัดมีบริเวณลานจอดรถใต้ต้นไม้ใหญ่ ช่วงกลางวันมักมีพนักงานห้างสรรพสินค้าในละแวกนั้นเดินถือถุงเข้ามาเป็นระยะๆ คนเหล่านี้ไม่ได้เข้าวัดเพื่อมางานบุญหรือปฏิบัติธรรมใดๆ แต่มาใช้พื้นที่ใต้ต้นไม้เป็นที่นั่งกินอาหารกลางวัน

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมพนักงานเหล่านี้ไม่ไปกินในร้านอาหาร ทั้งๆ ที่ก็มีร้านอาหารข้างถนนอยู่ไม่น้อย หากสังเกตอย่างใกล้ชิดจะพบว่า พนักงานที่มาใช้ลานวัดนี้น่าจะเป็นพนักงานระดับที่ไม่น่าจะมีรายได้มากนัก เช่นพนักงานทำความสะอาด พนักงานรักษาความปลอดภัย การมาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่กลางเมืองนั้นมีค่าครองชีพสูง เดาว่าถ้าต้องกินอาหารกลางวันในร้านข้างถนนอาจจะแพงเกินไปเมื่อเทียบรายได้ที่ได้รับ หากเปลี่ยนจากการกินอาหารในร้านเป็นการซื้ออาหารจากรถเข็น ราคาค่าอาหารก็จะถูกลงไปถึงครึ่ง หรือหากนำอาหารมากินเองจากบ้านก็จะประหยัดค่าอาหารไปได้มากกว่านั้นอีก

แต่ในอาคารที่พนักงานรายได้น้อยเหล่านี้ทำงานอยู่ น่าจะไม่มีพื้นที่ใดๆ ที่ใช้ทานอาหารกลางวันได้อย่างเป็นที่เป็นทาง งานที่ทำอาจจะไม่ได้มีพื้นที่ส่วนตัวแบบโต๊ะนั่ง จึงต้องออกมาใช้พื้นที่ลานวัด คิดต่อไปว่าหากฝนตก การกินข้าวเที่ยงคงจะทุลักทุเลไม่น้อย

ไม่แปลกใจที่บางครั้งเราพบกับคนตัวเล็กๆ เหล่านี้ นั่งกินข้าวตามซอกอาคารจอดรถ หลังป้ายชื่อตึกใหญ่ๆ หรือแม้แต่ในห้องเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดในห้องน้ำ

เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องเดียวกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ คือเป็นเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามหาพื้นที่ใช้ทำกิจกรรมพื้นฐานในการดำรงชีวิตของพวกเขา ในซอกมุมต่างๆ ของอาคาร หรือในพื้นที่ว่างของเมืองที่ไปจับจองได้ชั่วคราว

 

ไร้พื้นที่ว่างของเมืองให้ผู้คน

 

ในการออกแบบสถาปัตยกรรม มีประเด็นเรื่อง Universal Design (การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล) หมายถึงการออกแบบทางกายภาพสำหรับผู้ที่มีความสามารถทางร่างกายไม่เต็มร้อย ต้องนั่งรถเข็น เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ จึงมีการเตรียมพื้นที่พิเศษไว้เพื่อรองรับ เช่น ที่จอดรถเฉพาะไม่ไกลจากทางเข้าหลัก มีทางลาดเมื่อมีการเปลี่ยนระดับพื้น หรือมีลิฟต์เมื่อต้องเปลี่ยนระดับในแต่ละชั้น นอกจากนี้ยังต้องมีห้องน้ำขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ให้กลับรถเข็น มีราวจับ และอ่างล้างหน้าพิเศษที่ให้รถเข็นเลื่อนเข้าไปได้ เป็นต้น องค์ประกอบเบื้องต้นเหล่านี้กลายเป็นกฎหมายบังคับใช้กับอาคารสาธารณะทั่วไปแล้ว

นอกจากนี้ยังมีแนวคิด Inclusive Design (การออกแบบที่นับรวม) ที่มากไปกว่า Universal Design อีก โดยยกประเด็นของการออกแบบสำหรับผู้ใช้งานที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุหรือคนพิการ แต่เป็นการใช้งานที่รองรับได้กับคนในวงกว้าง หลากความต้องการ หลากอายุ หลากรสนิยม และวิธีการใช้ชีวิต มักใช้ได้ง่ายกับงานออกแบบที่ไม่เป็นงานกายภาพนัก เช่นการออกแบบหน้าจอของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการใช้งานของแต่ละบุคคล เช่นปรับให้ตัวหนังสือใหญ่ขึ้นได้หลายระดับ ให้ความสว่างเหมาะกับสายตาของแต่ละคน หรือปรับปุ่มสัมผัสการตอบสนองที่ต่างกัน ใช้เสียงสั่งได้แทนการสัมผัสสำหรับผู้มีสมรรถภาพทางสายตาไม่สู้ดี เป็นต้น

มีการนำแนวคิดของการออกแบบที่นับรวมนี้มาใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมเช่นกัน โดยคำนึงถึงกลุ่มบุคคลผู้ใช้อาคารที่มีวิธีการใช้พื้นที่ต่างกันไป ตัวอย่างเช่นห้องน้ำในอาคารสาธารณะ นอกจากห้องสำหรับผู้นั่งรถเข็นตามมาตรฐานการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลแล้ว ยังสามารถแยกย่อยไปได้ถึงห้องน้ำสำหรับแม่และเด็กที่มีพื้นที่สำหรับวางเด็กเล็กอย่างปลอดภัยเพื่อให้แม่เข้าห้องน้ำได้สะดวก ห้องน้ำสำหรับครอบครัวที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีโถส้วมขนาดเล็กสำหรับเด็ก มีที่อาบน้ำสำหรับเด็ก ห้องน้ำหญิงที่มีพื้นที่แต่งหน้าขนาดใหญ่ หรือห้องน้ำไม่ระบุเพศสำหรับคนที่ไม่สะดวกใจในการเข้าห้องน้ำหญิงหรือห้องน้ำชาย

แต่ประเด็นของการออกแบบที่นับรวมในสถาปัตยกรรมที่พยายามครอบคลุมไปถึงผู้คนที่หลากหลายนี้ เป็นการออกแบบที่มีพื้นฐานอยู่บนผู้ใช้งานที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจในระดับเดียวกันเท่านั้น มักจะรวมไปไม่ถึงผู้มีรายได้น้อยกว่าซึ่งมีข้อจำกัดทางการเงินมากมาย แต่จำเป็นต้องใช้ชีวิตในพื้นที่เดียวกันกับคนที่มีรายได้ที่สูงกว่า การทำกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันอย่างการกินน้ำ กินข้าว พักผ่อน ในพื้นที่ที่มีค่าใช้จ่ายเท่าๆ กันกับคนที่มีรายได้มากกว่า สร้างความลำบากให้กับพวกเขามากกว่าการต้องเข้าห้องน้ำที่ไม่เหมาะกับสภาพทางกายภาพและพฤติกรรมมากนัก เจ้าของอาคารและผู้ออกแบบอาคารที่เป็นผู้มีรายได้สูงกว่าอาจจะคิดไปไม่ถึงความลำบากในการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้

ในการสร้างสถาปัตยกรรมที่มีการลงทุนเพื่อแสวงหาผลกำไรในพื้นที่กลางเมืองราคาสูงลิ่วนั้น เป็นเรื่องปกติที่ผู้ลงทุนสร้างจะพยายามใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วเพื่อเป็นประโยชน์ทางธุรกิจให้มากที่สุด (พื้นที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใดๆ เช่น พื้นที่เปิดโล่งในที่ดิน พื้นที่สีเขียวในและนอกอาคาร พื้นที่ทางสัญจรในอาคาร ห้องน้ำ บันไดหนีไฟ ล้วนเป็นพื้นที่ถูกกฎหมายและเทศบัญญัติควบคุมอาคารกำหนดไว้ว่าต้องมีเป็นขั้นต่ำเพื่อสวัสดิภาพของผู้ใช้อาคารโดยรวม) พื้นที่กลางเมืองที่ที่ดินมีราคาสูงนี้ สินค้าและบริการใดๆ ก็ราคาสูงตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การใช้ชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในย่านนี้ก็ยากขึ้นไปอีกหลายเท่า คนเหล่านี้จึงต้องการสถาปัตยกรรมที่มีการออกแบบโดย ‘นับรวมเอาความด้อยอำนาจทางเศรษฐกิจ’ ของพวกเขาไว้ในอาคาร  คือพื้นที่ใช้ทำกิจกรรมพื้นฐานได้โดยเหมาะสมกับความสามารถในการจ่ายเงินของตน

ลองนึกไปว่าในตึกใหญ่โตโอ่อ่ากลางเมืองเหล่านี้ สามารถจัดสรรพื้นที่ไม่ใหญ่นัก ใหัพนักงานตัวเล็กๆ ได้นั่งพักผ่อน สูบบุหรี่ ดื่มกาแฟราคาถูกได้ มีห้องหับเป็นสัดส่วนที่สามารถใช้นั่งกินข้าวเที่ยงอย่างสง่าผ่าเผย โดยพกเอาข้าวและน้ำมาจากบ้านได้ ไม่ต้องไปซื้อหาจากร้านค้าราคาสูงในละแวก ไม่ต้องไปเที่ยวหาซอกมุมตึกบุกรุกมุมเมืองในแต่ละวัน คุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของคนทำงานเหล่านี้คงดีขึ้นแน่ๆ และในวันหนึ่งๆ คงประหยัดเงินได้ไม่น้อย

ยิ่งไปกว่านั้นการที่พนักงานตัวเล็กๆ มีที่อยู่เป็นที่ทาง ถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเล็กๆ ของอาคาร คือการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับตัวตนของคนทำงานเหล่านี้ว่ามีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันกับคนอื่นๆ ในสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

มีกลไกมากมายที่จะทำให้เกิดพื้นที่ที่นับรวมคนเหล่านี้ แต่ก่อนอื่นคงต้องเริ่มจากการที่คนในสังคมตระหนักว่าพื้นที่นี้ขาดหายไป และการมีอยู่ของพื้นที่นี้จะทำให้สังคมนี้ดีขึ้นได้อย่างไร

แน่นอนว่าสถาปัตยกรรมเปลี่ยนโลก ลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้ในทันทีทันใด

แต่ถ้าเรามี ‘สถาปัตยกรรมที่นับรวม’ คนที่มีความแตกต่างเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมให้อยู่ร่วมกัน แบบที่แต่ละคนได้มีที่ยืนยืดอกอย่างภูมิใจ การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าก็น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันไกลและใกล้

สถาปัตยกรรมนี้อาจจะไม่ได้เป็นนวัตกรรมใหม่ ไม่เป็นข่าวโฉ่งฉ่าง ไม่ได้รับรางวัลระดับชาติหรือนานาชาติใดๆ แต่จะเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้ทำหน้าที่อย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมอย่างเต็มที่

คือการสร้างสังคมในอุดมคติให้เห็นเป็นรูปธรรม

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save