รชพร ชูช่วย เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพปก
เว็บไซต์สถาบันอาศรมศิลป์ ภาพประกอบ
เมื่อมีการประกวดแบบรัฐสภาใหม่ของประเทศไทยกว่าสิบปีที่แล้วนั้น กวงเพิ่งเรียนจบสถาปัตย์ฯ ได้ประมาณปีกว่าๆ เขารู้สึกตื่นเต้นมาก เรียกได้ว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญในชีวิตสำหรับสถาปนิกไทย เพราะในประเทศนี้ไม่ได้มีการประกวดแบบสถาปัตยกรรมงานอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ที่เปิดกว้างให้สถาปนิกใดๆ ก็ได้เข้าร่วมเช่นนี้บ่อยๆ ส่วนมากแล้วมักเป็นการประกวดแบบเฉพาะเจาะจง มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดแบบชัดเจน สถาปนิกเด็กๆ หรือบริษัทเล็กๆ ก็แทบจะไม่มีโอกาสได้ทำงานอาคารสาธารณะของราชการเท่าใดนัก ต่างกับในหลายประเทศที่การประกวดแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารสาธารณะถือได้ว่าเป็นเวทีหลักใน ‘การเกิด’ ของสถาปนิกรุ่นเยาว์เลยก็ว่าได้
สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงหลายปีก่อนหน้านั้น จนมาถึงวันที่มีการประกวดแบบผันผวนมาโดยตลอด มีเหตุการณ์ไม่สงบมากมาย ทั้งการชุมนุมทางการเมือง การลอบยิง การทำลายการประชุม ฯลฯ ทำให้การสร้างรัฐสภาใหม่ในตอนนั้นดูเป็นจังหวะที่แปลกประหลาดอยู่ไม่น้อย แต่อาจจะด้วยการเป็นโครงการของรัฐบาลเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องดำเนินต่อไป ไม่มีอะไรจะมาหยุดได้ โดยเฉพาะโครงการอภิมหาโปรเจกต์แบบนี้ที่ใครๆ ก็อยากให้เกิด
ตอนนั้นกวงทำงานในบริษัทสถาปนิกที่ไม่ใหญ่นัก พี่เจ้าของบริษัทไม่ค่อยอยากทำงานประกวดแบบนี้ เพราะงานส่วนมากของบริษัทก็เหมือนบริษัทขนาดเล็กทั่วไปที่เป็นโรงแรมเล็กๆ เก๋ๆ เจ้าของโครงการเป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ดังนั้นงานอย่างอาคารรัฐสภาไทยจึงไม่ค่อยเข้าทางนัก และพี่ๆ บอกว่าน่าจะมีตัวผู้ชนะอยู่แล้ว ตามประสางานราชการทั่วไปที่คนเข้าใจกัน สถาปนิกจำนวนมากไม่อยากทำงานราชการเพราะขั้นตอนยุ่งยาก ต้องมีการใช้เส้นสายซับซ้อน แม้ว่ากวงจะรู้ว่าโอกาสชนะมีน้อยมาก แต่ด้วยความอยากส่งประกวดงานนี้มากเลยชักชวนเพื่อนๆ ที่เรียนมาด้วยกัน ที่ทำงานอยู่ตามที่ต่างๆ มารวมทีมกันได้ร่วมสิบคนเพื่อทำงานประกวดนี้ โดยใช้เวลาหลังเลิกงานประจำและวันเสาร์อาทิตย์อยู่เป็นเดือน
หลังจากค้นคว้าหาข้อมูล พูดคุยถกเถียงกันอยู่นานถึงความเป็นรัฐสภาในการปกครองระบอบประชาธิปไตย กวงและเพื่อนๆ ก็เห็นพ้องต้องกันว่า รัฐสภาเป็นพื้นที่ของการประชุมเพื่อบริหารประเทศในองค์รวม โดยมีตัวแทนของประชาชนคือ ส.ส. และ ส.ว. ที่ได้รับเลือกจากประชาชนมาทำหน้าที่นี้ พื้นที่นี้จึงเป็นพื้นที่ของประชาชน ดังนั้นต้องแสดงถึงอำนาจของประชาชนทั้งประเทศที่มีต่อการบริหารจัดการบ้านเมือง
กรณีศึกษาอาคารรัฐสภาของโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่ ที่กวงและเพื่อนๆ เห็นว่าน่าสนใจมีหลายประเด็น เช่น แนวคิดเรื่องการให้ประชาชนเข้าถึงและมองเห็นการทำงานของห้องประชุมสภา เพื่อแสดงถึงความโปร่งใสตรวจสอบได้ของการทำงานของผู้แทนฯ เป็นหนึ่งในการแสดงถึงโครงสร้างการปกครองผ่านสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนที่สุดวิธีหนึ่ง (ก่อนมีเทคโนโลยีการถ่ายทอดการประชุมสภา)
หนึ่งในกรณีศึกษาคือรัฐสภาใหม่ของบังคลาเทศ ที่เกิดขึ้นตอนบังคลาเทศแยกตัวเป็นประเทศใหม่ออกจากปากีสถาน (เดิมเป็นปากีสถานตะวันออก) ที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของสถาปนิกอเมริกัน หลุยส์ ไอ. คาห์น (Louis I. Kahn) ก็ใช้วิธีการนี้อย่างชัดเจน ตัวอาคารสร้างบนพื้นที่เมืองใหม่ที่มีลานกว้างและบ่อน้ำขนาดใหญ่รายล้อม เพื่อเป็นพื้นที่ให้กิจกรรมประจำวันของประชาชน นอกจากรอบๆ บริเวณอาคารรัฐสภาแล้ว ประชาชนยังสามารถเข้าไปในพื้นที่ภายในอาคาร ที่เป็นทางเดินวงแหวนรอบห้องประชุมของสภาผู้แทน และมองเห็นการประชุมสภาได้จากมุมสูง อาคารมีรูปลักษณ์ทรงพลังแต่ก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีที่เรียบง่าย แม้ว่าสาเหตุหลักที่ปากีสถานแยกตัวจากอินเดียตั้งแต่แรกเริ่มนั้นเป็นเรื่องความแตกต่างทางศาสนา แต่เมื่อบังคลาเทศแยกตัวออกจากปากีสถานในเวลาต่อมาก็ไม่ได้ชูประเด็นของระบบสัญลักษณ์ทางศาสนาให้เป็นประเด็นหลักของการออกแบบรัฐสภาแต่อย่างใด พื้นที่มัสยิดที่อยู่ในอาคารรัฐสภาก็เป็นเพียงพื้นที่ส่วนหนึ่งที่หันหน้าไปทางนครเมกกะเท่านั้น
ส่วนรัฐสภาของเยอรมันที่ต้องสร้างใหม่ตอนมีการรวมประเทศระหว่างเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออก มีการเปิดประกวดแบบนานาชาติ โดยผู้ชนะเป็นสถาปนิกชาวอังกฤษระดับโลกอย่าง นอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) เป็นการสร้างโครงสร้างใหม่เข้าไปในอาคารเก่าที่สร้างมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 มีองค์ประกอบหลักเป็นโดมกระจกที่อยู่สูงสุดของอาคาร ที่นอกจากจะทำหน้าที่นำแสงสว่างเข้าสู่กลางอาคารที่เป็นห้องประชุมสภา และเก็บพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้ใช้งานแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถเข้าเยี่ยมชมอาคาร โดยเดินขึ้นไปถึงยอดและมองลงมาเห็นห้องประชุมของบรรดาผู้แทนราษฎรที่ทำงานให้ประชาชนอยู่เบื้องล่าง ไม่ต่างกับกับรัฐสภาของบังคลาเทศ
อาคารรัฐสภาของออสเตรเลียดูจะใกล้เคียงกับข้อกำหนดในการประกวดแบบรัฐสภาใหม่ของไทยมากที่สุด เพราะมีการแยกห้องประชุมออกเป็นสองห้องคือ สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา (ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะแยกทำไม เพราะห้องประชุมขนาดใหญ่ขนาดนี้ ไม่ได้ใช้ทุกวัน น่าจะสามารถสลับจัดตารางการใช้งานกันได้ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณค่าก่อสร้าง) ประเด็นที่น่าสนใจของรัฐสภาออสเตรเลียคือนอกจากจะเป็นอาคารที่พยายามจะถ่อมตน ทำตัวให้หายไปกับเนินดินรอบๆ แล้ว พื้นที่ระหว่างห้องประชุมใหญ่สองห้องเป็นโถงขนาดใหญ่ที่ให้ประชาชนเยี่ยมชมได้ และเป็นพื้นที่ใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ของประชาชน เช่น พิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัย งานแต่งงาน หรืออื่นๆ โดยมีนัยยะว่าสภาทั้งสองถูกโยงกันไว้ด้วยกิจกรรมของประชาชนที่อยู่ตรงกลาง
แบบที่ทีมกวงส่งประกวดนั้น แนวคิดหลักคือ ‘รัฐสภาเป็นพื้นที่ของประชาชน’ องค์ประกอบหลักคือ ‘ลานประชาชน’ ที่ประชาชนสามารถมาใช้งานได้อย่างอิสระ ไม่เหมือนสถานที่ราชการทั่วๆ ไป ทำเป็นลานยกสูงเพื่อเป็นหลังคาของพื้นที่ใช้สอยต่างๆ รวมทั้งห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีหลังคาเป็นกระจกบางส่วน สามารถให้ประชาชนมองเห็นการประชุมได้จากด้านบนที่เป็นลาน เป็นการสื่อถึงการให้อำนาจในการตรวจสอบและกำกับการทำงานของผู้แทนฯ อันมาจากประชาชน ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ
รอบๆ หลังคากระจกบนลานนี้ยังมีที่นั่งให้ประชาชนนั่งดูการประชุม หรือประชุมกันไปได้ในเวลาเดียวกัน บนลานนี้ยังมีอาคารสูงยาวซึ่งเป็นพื้นที่สำนักงานของส่วนสนับสนุนต่างๆ คร่อมอยู่บนห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกที โดยอาคารส่วนที่อยู่เหนือห้องประชุมนั้น ถูกเจาะให้เป็นพื้นที่โล่งรูปจั่วสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ เมื่อประชาชนมาดูการประชุมสภาบนลานเหนือห้องประชุมสภาใต้พื้นที่ที่เหมือนจั่วนี้ ประชาชนที่อยู่ใต้ ‘หลังคา’ เดียวกัน ก็จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เติมเต็มพื้นที่ของรัฐสภาแห่งนี้ทันที
กวงและเพื่อนภูมิใจในแบบที่ส่งประกวดมาก เพราะนอกจากจะได้ทำความเข้าใจระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง และพยายามถ่ายทอดประเด็นหลักของประชาธิไตยผ่านสถาปัตยกรรมแล้ว แบบที่นำเสนอก็ให้ยังความสำคัญกับประชาชนในการเป็นเจ้าของพื้นที่ได้อย่างที่สถาปัตยกรรมราชการไทยไม่เคยทำมาก่อน แม้ในที่สุดแบบนี้จะไม่ชนะ แต่กวงเชื่อว่าได้นำเสนอแนวคิดที่สถาปัตยกรรมรัฐสภาน่าจะต้องเป็นในทางหนึ่งให้กับสังคม
แบบที่ชนะเลิศในการประกวดแบบรัฐสภาที่นำมาก่อสร้างนั้นใช้ชื่อว่า ‘สัปปายะสภาสถาน’ โดยทีมชื่อ ‘สงบ 10151’ แนวคิดหลักคือคำว่า ‘สัปปายะ’ หมายถึงสิ่งแวดล้อมและปัจจัยที่เหมาะสม ที่เกื้อกูลในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย[i] ทีมสงบ 10151 เห็นว่าวิกฤตทางการเมืองที่มีความวุ่นวายตลอดระยะเวลาหลายปีก่อนที่จะมีการประกวดแบบรัฐสภานี้ เกิดจากวิกฤตทางศีลธรรมของประเทศที่เกิดจากนักการเมืองฉ้อฉล ทางแก้คือการกลับไปสู่หนทางแห่งความสงบสุขที่เคยมีมาแต่กาลก่อนของประเทศ รัฐสภาไทยที่เป็นพื้นที่ทำงานของนักการเมือง ต้องเป็นพื้นที่อันเหมาะสมที่จะทำให้คนประพฤติปฏิบัติตนอย่างถูกทำนองคลองธรรม นักการเมืองที่ดีต้องเป็นคนดี เชื่อว่าด้วยสถาปัตยกรรมที่มีความสามารถในการทำให้คนเป็นคนดีเช่นนี้ จะช่วยบรรเทาวิกฤตอันใหญ่หลวงของประเทศชาติได้
ในแบบของทีมที่ชนะเลิศนี้ ประเด็นที่เป็นหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือการที่อำนาจในการปกครองมาจากประชาชน ผู้แทนถูกเลือกโดยประชาชน เพื่อบริหารประเทศเพื่อประชาชน โดยการทำงานของผู้แทนเหล่านี้ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ หรือต้องมีการลงโทษที่เข้มแข็งหากมีการกระทำผิด ไม่ได้ถูกหยิบยกมาอ้างถึงสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นแต่อย่างใด วิกฤตทางการเมืองของประเทศที่เกิดจากการแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยด้วยการทำรัฐประหารซ้ำๆ โดยไม่เปิดโอกาสให้ระบอบประชาธิปไตยหาทางออกกันอย่างสันติด้วยตนเองนั้น ก็ไม่ได้อยู่ในกรอบความคิดของประชาธิปไตยที่แสดงในแนวคิดหลักของสถาปัตยกรรมสัปปายะสภาสถาน แต่ความเป็น ‘คนดี’ ถูกใช้เป็นอุดมคติสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยไม่ได้อ้างถึงการปกครองที่มาจากอำนาจของประชาชนแต่อย่างใด
รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ถูกหยิบยกมาตอบโจทย์สัปปายะสถานอันเป็นสถานที่พึงทำกรรมดีนั้น เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้ผังภูมิจักรวาลตามคติพุทธศาสนาที่มาจากภูมิจักรวาลของฮินดู มีเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลางเป็นจุดสูงสุด รายล้อมไปด้วยทวีปทั้งสี่ตามแนวแกนของทิศทั้งสี่ คือ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ผังตามคตินี้เป็นผังที่ใช้ทั่วไปในศาสนสถานของฮินดูและพุทธในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ปรัมบานัน (Prambanan Temple) บุโรพุทโธ (Borobudur) ที่ประเทศอินโดนีเซีย หรือ นครวัด (Angkor Wat) และปราสาทหินต่างๆ มากมายในประเทศกัมพูชา จะเห็นได้ว่ามียอดสถูปเป็นจุดสูงสุดตรงกลาง รายล้อมไปด้วยอาคารหรือสถูปที่ลดหลั่นความสูงและความสำคัญลงมาทั้งสี่ทิศ
ในประเทศไทย ผังเช่นนี้มีการใช้อยู่บ้างในศาสนสถาน สร้างขึ้นโดยอิทธิพลของอาณาจักรขอม เช่น ปราสาทหิน หรือเมืองโบราณต่างๆ ในวัดพุทธมีการใช้อยู่บ้าง แต่ไม่ชัดเจนสมบูรณ์หรือใหญ่โตเท่ากับในอินโดนีเซียหรือกัมพูชา นอกจากนี้ศาสนสถานเหล่านี้ มิได้สร้างเพื่อให้คนทั่วไปอยู่อาศัยแต่อย่างใด หากแต่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาช่วงเวลาสั้นๆ ในบางกรณีคนทั่วไปไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เหล่านี้ได้ด้วยซ้ำ กิจกรรมของผู้คนทั่วไปหรือฆราวาสมักจะถูกกันออกนอกพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ ให้อยู่รอบนอกมากกว่า
การจะใช้ผังภูมิจักรวาลพุทธฮินดูมาโยงกับความเป็นสัปปายะสถานนั้น เป็นการเชื่อมโยงที่อาจจะไม่ชัดเจนหนักแน่นนัก เพราะความเป็นสถานที่แห่งสัปปายะนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นผังแบบภูมิจักรวาลนี้แต่อย่างใด พื้นที่ที่ใช้ในการบำเพ็ญเพียรของนักบวชใดๆ ที่มีความเป็นสัปปายะ อาจจะไม่ได้อยู่ในอาคารเสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่นพระธุดงค์ที่ใช้พื้นที่ในธรรมชาติเป็นสัปปายะสถานได้อย่างดี
โดยปกติแล้ว เมื่อเราเข้าไปในศาสนสถานที่ใช้ผังเป็นระบบภูมิจักรวาลที่อ้างข้างต้นนั้น เราจะได้รับความสงบทางจิตใจ เนื่องด้วยบรรยากาศและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องในศาสนสถานนั้นๆ เช่น การบูชา การสวด เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสงบ รูปแบบสถาปัตยกรรมก็เอื้อให้เกิดการประกอบกิจกรรมนั้นๆ เป็นไปอย่างเหมาะสม แต่หากเราทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การทำงาน ประชุมสัมมนาที่ต้องมีการถกเถียงหาข้อยุติในเรื่องที่ซับซ้อน (เช่นในรัฐสภา) พื้นที่ที่เลียนแบบระบบพื้นที่ของอาคารศาสนสถานเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้สึกสงบร่มเย็นและเป็นผู้กระทำดีอย่างที่อ้างไว้ได้อย่างไร เพราะสถาปัตยกรรมเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์เท่านั้น ไม่ได้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่จะสามารถเปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็น ‘คนดี’ ได้อย่างง่ายๆ เช่นนั้น การเหมาเอาว่าอาคารที่มีระบบผังภูมิจักรวาลจะเป็นสัปปายะสถานสำหรับกิจกรรมการทำงานเพื่อการปกครองประเทศนั้นเป็นสมมติฐานที่ยังเลื่อนลอย
นอกจากการใช้ผังแบบภูมิจักรวาลพุทธฮินดูแล้ว การใช้รูปแบบของสถาปัตยกรรมทางศาสนาพุทธคือเจดีย์ที่เป็นยอดสูงสุดในอาคารในสัปปายะสภาสถานนั้น เป็นการนำเอาความศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนามาปะปนกับการปกครองแบบประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาแต่อย่างใด ด้วยรูปแบบ (type) ของเจดีย์ที่เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนที่นับถือศาสนาพุทธให้ความเคารพโดยอัตโนมัติ สัปปายะสภาสถานนี้จึงแสร้งทำตัวเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการโหนระบบสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา พยายามถีบตัวสูงขึ้นออกห่างจากประชาชนผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญของประเทศให้เสรีภาพกับประชาชนในการนับถือศาสนาใดๆ การใช้ระบบสัญลักษณ์ของพุทธศาสนาเป็นหลักสำคัญในอาคารจึงเป็นการแสดงถึงการไม่นับรวมผู้คนที่มีความเชื่อทางศาสนาอื่นๆ เข้าไว้ในการปกครอง
การสร้างอาคารที่ทำการรัฐสภาขนาดใหญ่มหาศาลถึง 450,000 ตารางเมตร ในโลกศตวรรษที่ 21 ที่ประเด็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองจนทำให้เกิดวิกฤตสภาพแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญของมวลมนุษยชาติ โดยไม่ได้คำนึงถึงประเด็นของความยั่งยืนทั้งในการเลือกใช้วัสดุ กระบวนการก่อสร้าง และการบำรุงรักษาดูแลอาคารในระยะยาว ถือได้ว่าเป็นความเพิกเฉยต่อวิกฤตนี้ และยังเป็นการใช้ภาษีของประชาชนอย่างสิ้นเปลืองทั้งในปัจจุบันและจะลามยาวกลายเป็นภาระของประเทศในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปลูกต้นไม้บนลานกว้างหรือบนหลังคา เป็นเพียงการแต่งหน้าทาปากอาคารให้เกิดความเขียวแบบฉาบฉวย ที่ไม่ต่างจากการใช้เจดีย์เป็นสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกถึงความดี
เมื่อเวลาผ่านไปกว่าสิบปีหลังจากการประกวดแบบ สัปปายะสภาสถานก็ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ด้วยปัญหาอุปสรรคนานาประการ จนต้องเปิดให้ใช้อาคารไปในสภาพไซต์ก่อสร้าง และยังไม่ได้มีการตรวจรับงานอย่างสมบูรณ์ ชิ้นส่วนต่างๆ ของอาคารเริ่มเกิดความเสียหาย ทั้งจากการใช้งานและการก่อสร้างที่ไม่เรียบร้อย
แม้ว่าอาคารจะเปิดใช้ประชุมสภาไปแล้วเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ดูเหมือนว่าพลังแห่งสถาปัตยกรรมเพื่อประกอบความดีของสัปปายะสภาสถานนั้นจะไม่สามารถสู้กับวิกฤตศีลธรรมอย่างที่ตั้งใจไว้ได้ เพราะการคอร์รัปชันฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด แต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์[ii] กรณีอื้อฉาวต่างๆ ของการบริหารประเทศดูจะไม่ได้ลดลง แต่เหมือนจะเพิ่มขึ้น เพียงเท่านี้ก็น่าจะพอพิสูจน์ได้แล้วว่า การปกครองที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องมาจากกระบวนการทางประชาธิปไตยที่เข้มแข็งโปร่งใส ไม่สามารถหวังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาจากสถาปัตยกรรมอันปั้นแต่งขึ้นมาจากร่องรอยของอดีตที่ถูกสร้างขึ้นว่า ‘สงบสุขดีงาม’ ได้
เมื่อกวงดูข่าวว่าผู้ชุมนุมถูกกันไม่ให้เข้าไปในบริเวณรัฐสภาในการชุมนุมครั้งหนึ่งไม่นานนี้ กวงหลับตานึกถึงแบบประกวดรัฐสภาของทีมตัวเองที่ได้เข้ารอบ ถ้ามีการชุมนุมของประชาชนที่รัฐสภาตามกวงและเพื่อนๆ ได้ออกแบบไว้ ประชาชนคงสามารถหลั่งไหลเข้าสู่บริเวณลานกว้างได้จากหลายทาง กระจายตัวกันไปรอบๆ บริเวณได้อย่างไม่ถูกกีดกัน เพื่อสร้างกระแสกดดันการทำงานของนักการเมืองที่ถูกเลือกมาจากเสียงของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามระบอบประชาธิปไตย ด้วยความเป็นเจ้าของพื้นที่อย่างแท้จริง
อ้างอิง
[i]พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ อธิบายว่า สัปปายะ 7 (สิ่งที่เหมาะกัน สิ่งที่เกื้อกูล ช่วยสนับสนุนในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย — suitable things; things favorable to mental development)
- อาวาสสัปปายะ (ที่อยู่ซึ่งเหมาะกัน เช่น ไม่พลุกพล่านจอแจ — suitable abode)
- โคจรสัปปายะ (ที่หาอาหาร ที่เที่ยวบิณฑบาตที่เหมาะดี เช่น มีหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีอาหารบริบูรณ์อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป — suitable resort)
- ภัสสสัปปายะ (การพูดคุยที่เหมาะกัน เช่น พูดคุยเล่าขานกันแต่ในกถาวัตถุ 10 และพูดแต่พอประมาณ — suitable speech)
- ปุคคลสัปปายะ (บุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน เช่น มีท่านผู้ทรงคุณธรรม ทรงภูมิปัญญาเป็นที่ปรึกษาเหมาะใจ — suitable person)
- โภชนสัปปายะ (อาหารที่เหมาะกัน เช่น ถูกกับร่างกาย เกื้อกูลต่อสุขภาพ ฉันไม่ยาก — suitable food)
- อุตุสัปปายะ (ดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะกัน เช่น ไม่หนาวเกินไป ไม่ร้อนเกินไป เป็นต้น — suitable climate)7. อิริยาปถสัปปายะ (อิริยาบถที่เหมาะกัน เช่น บางคนถูกกับจงกรม บางคนถูกกับนั่ง ตลอดจนมีการเคลื่อนไหวที่พอดี — suitable posture)
[ii]ป.ป.ช. ยอมรับ ยุค “คสช.-ประยุทธ์” เงินแผ่นดินรั่วไหลเฉียด 3 แสนล้าน