fbpx
เมื่อถนนสร้าง ‘ประชาชน’

เมื่อถนนสร้าง ‘ประชาชน’

รชพร ชูช่วย เรื่อง

รชพร ชูช่วย, เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ไม้ไม่เคยคิดไปชุมนุมทางการเมืองเลย แม้ว่าการชุมนุมทางการเมืองไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับไม้ จะเรียกว่าไม้โตมากับสิ่งนี้ก็ว่าได้ เพราะตั้งแต่จำความได้ก็มีการชุมนุมทางการเมืองเรื่อยมา ทั้งที่มีประสบการณ์ตรงและเห็นจากข่าว

ระหว่างปิดเทอมขึ้น ม.5 มีการชุมนุมเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์ลามมาจนถึงแถวๆ สถานีรถไฟฟ้าสยาม ซึ่งไม่ไกลจากโรงเรียนของไม้นัก ช่วงนั้นไม้ต้องไปที่โรงเรียนอยู่บ้าง เมื่อมาถึงสถานีรถไฟฟ้าก็ต่อรถเมล์ไปไม่ได้ เพราะถนนถูกครอบครองโดยผู้ชุมนุมที่กางเต้นท์กินนอนกันอยู่ ไม้ต้องเดินทะลุพื้นที่ชุมนุมกว่าจะไปถึงโรงเรียน เลยได้เห็นว่ามีการหุงข้าว ตากผ้า ใช้ชีวิตกันบนถนนนั้น มองไปสุดลูกหูลูกตาก็มีคนที่ ‘อยู่’ กันบนถนนอย่างเกือบจะถาวร มียางรถยนต์ตั้งเป็นแผงกลางถนนที่มีไม้ไผ่ยาวๆ เสียบอยู่เหมือนเป็นบังเกอร์ ข้างๆ เป็นห้างร้านหรูสองฝั่งถนน

ไม้ไม่ได้สนใจอะไรมากนักเพราะคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวมาก ได้แต่รำคาญว่าทำไมต้องมาทำอะไรกันบนถนนนี้ด้วย ทำไมไม่ไปชุมนุมในที่ที่ไม่กวนคนอื่น ต้องมาเกะกะถนนรถวิ่งไม่ได้ ทำให้ไม้ต้องเดินตากแดดฝ่าเข้ามา ร้อนก็ร้อน คนที่มาชุมนุมก็ดูไม่ได้เป็นมิตรเท่าไหร่

 

การชุมนุมของคนเสื้อแดง

 

วันสุดท้ายที่มีการสลายการชุมนุม มีเคอร์ฟิวไม่ให้คนออกจากบ้าน คืนนั้นแถวบ้านเงียบมากตั้งแต่หัวค่ำ ไม่ได้ยินเสียงรถเลย พอตื่นเช้ามาดูข่าวก็พบว่าการชุมนุมสงบแล้วแต่มีไฟไหม้ที่เซ็นทรัลเวิร์ดและสยาม พ่อบอกว่าพวกเสื้อแดงเผาเมือง ไม้ยังคิดว่าดีที่การชุมนุมจบเสียที จะได้ไม่มีใครมาครอบครองถนน

เมื่อไม้อยู่มหาวิทยาลัยก็มีการชุมนุมอีก คราวนี้เป็นการชุมนุมของ กปปส. ปิดถนนตรงสี่แยกปทุมวันทั้งแถบอีกครั้ง ไม้ก็ต้องเดินผ่านบริเวณที่มีการชุมนุม (ด้วยความหงุดหงิดเช่นเดิม) เลยได้เห็นว่าการชุมนุมรอบนี้ต่างจากรอบที่แล้วมาก ไม่มีการติดไฟหุงข้าวตากผ้าเหมือนตอนชุมนุมเสื้อแดง แต่มีโรงครัวตั้งเป็นเต็นต์ใหญ่ทำกับข้าวกันกลางถนน เพื่อแจกอาหารแก่ผู้ชุมนุมสามมื้อ ตอนไม้เดินผ่านยังมีคนกวักมือเรียกให้ไปรับข้าวกล่องอยู่หลายครั้ง คนที่มานอนในการชุมนุมก็มีเต็นต์เหมือนมาตั้งแคมป์กลางป่าเขา

ถนนพระราม 1 ช่วงสถานีรถไฟฟ้าสยามถูกจับจองด้วยแผงลอยจำนวนมาก เป็นเหมือนตลาดนัดคนรักชาติ เพราะมีสินค้าที่มีลวดลายธงชาติมากมายมาขายกันเต็มไปหมด คนจำนวนมากก็มาเพื่อเดินช้อปปิ้งสินค้าเหล่านี้มากกว่ามาร่วมชุมนุมเสียอีก แม่ยังฝากไม้ซื้อมือตบและนกหวีดเป็นที่ระลึกแม้ว่าจะไม่ได้มาชุมนุม ไม้งงว่านี่คือปิดถนนกลายเป็นถนนคนเดินให้ขายของหรือชุมนุมทางการเมืองกันแน่ บางมุมถนนถูกดัดแปลงให้กลายเป็นบริการนวดเท้า โดยเอาเก้าอี้เตี้ยๆ มาตั้งนวดกันตรงนั้นเลย บางทีก็มีการแสดงดนตรี คนที่มาชุมนุมดูสนุกสนาน

ไม้หยุดยืนฟังการปราศรัยอยู่สองสามครั้ง ได้เห็นผู้คนที่เข้าร่วมชุมนุมนั่งกันเนืองแน่นบนพื้นถนนสุดลูกหูลูกตา แต่ละคนมีท่าทีฮึกเหิมตาเป็นประกาย เอามือตบมาตบเชียร์พร้อมกันเป็นระยะๆ บางทีก็เป่านกหวีด รู้สึกได้ถึงพลังแห่ง ‘มวลมหาประชาชน’ อันเกิดจากการได้เห็นผู้คนจำนวนมากบนถนนที่มีความนึกคิดและเชื่อในสิ่งเดียวกันกับตัวเองมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ไม่ต่างอะไรนักกับเวลาไปดูคอนเสิร์ตหรือการแข่งขันกีฬาสนุกๆ ไม้เริ่มเข้าใจแล้วว่าการชุมนุมบนท้องถนนนั้นทำให้คนฮึกเหิมได้จริงๆ แต่ก็ยังไม่พอใจที่มาขัดขวางการจราจร ทำให้คนอย่างไม้ที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมต้องลำบาก เพื่อนๆ หลายคนก็บ่นแบบไม้

 

การชุมนุมของ กปปส.

 

การชุมนุมดำเนินไปเป็นเดือนๆ จนไม้เริ่มชินกับสถานการณ์และคิดไปว่ามันจะอยู่ไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง ถนนก็กลับมาเป็นถนนที่ไม้อยากให้เป็นอีกครั้ง เพราะการชุมนุมก็จบลงด้วยการทำรัฐประหาร ที่ทำให้ไม้หันมาสนใจการเมือง

ตั้งแต่มีรัฐบาล คสช. เพื่อนๆ ที่คณะ ก็คุยกันเรื่องการเมืองมากขึ้น หลายคนแชร์หนังสือ แชร์ข่าวสารให้อ่านกัน ได้รู้เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ ที่ไม่เคยเรียนในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ใดๆ ไม้เพิ่งรู้เรื่องเหตุการณ์เดือนตุลา พฤษภา 35 พอมาต่อกันกับการชุมนุมเสื้อแดง การชุมนุม กปปส. ที่ไม้มีประสบการณ์ร่วมอยู่บ้าง ก็พอจะเห็นความต่อเนื่องลางๆ ไปพร้อมกับภาพการลงถนนชุมนุมทางการเมืองว่าเป็นเรื่องอันตราย

การโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญที่ห้ามมีการวิพากษ์วิจารณ์ ตามด้วยการเลือกตั้งที่มึนๆ งงๆ การเลือกนายกฯ คนนอกที่ได้คนเดิมที่รัฐประหารเข้ามา การยุบพรรคการเมืองที่เป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ การบริหารงานที่ล้มเหลวมากมายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยกติกาที่ไม่ชัดเจน และนายกฯ ที่ทวงบุญคุณประชาชนทุกครั้งที่มีการถามถึงความไม่โปร่งใส ต่อด้วยด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในโลก ยิ่งมองไปข้างหน้าในอนาคต ไม้ก็เห็นแต่ความไม่ชัดเจน ความอยุติธรรม ไม่เป็นตามกติกา การละเมิดกฎเป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่มีอำนาจและมีเงินเสมอ เมื่อเป็นคนทำงานแล้วไม้ยิ่งเข้าใจถึงกติกาที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ได้ดีขึ้น ความโกรธในใจมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อสองเดือนที่แล้ว ไม้ได้ออกไปร่วมชุมนุมทางการเมืองเป็นครั้งแรก หลังจากมีการชุมนุมเกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายหน จนลามไปถึงเด็กมัธยมที่มีการรวมตัวกันต่อต้านอำนาจนิยมในโรงเรียนและในประเทศ

ไม้เห็นถนนราชดำเนินเต็มไปด้วยผู้คนสุดลูกหูลูกตาที่กางร่มนั่งกันอยู่แทบจะไหลชนไหล่ ขนลุกด้วยความตื่นเต้น เพราะแม้จะรู้ว่ามีคนที่เห็นด้วยกับสิ่งที่ไม้คิดอยู่ไม่น้อยจากการแลกเปลี่ยนสนทนากันในสื่อต่างๆ แต่การได้มาเห็นคนตัวเป็นๆ แสดงความคิดเหล่านี้พร้อมๆ กันในที่เดียวกัน ในพื้นที่ที่ใครๆ ก็มองเห็น ได้เห็นแววตาของคนหลายคนที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ไม้ก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้นว่าไม้ไม่ได้เป็นคนเดียวที่เห็นถึงความอยุติธรรมเหล่านี้

เมื่อไม้นั่งลงบนพื้นถนน สิ่งแรกที่รู้สึกคือความร้อนบนพื้นถนนที่สัมผัสก้นทันทีที่นั่งลง แม้ว่าจะบ่ายคล้อยแล้ว เสียงปราศรัยได้ยินไม่ชัดเจนนักเพราะอยู่ไกลเวทีต้องพยายามตั้งใจฟัง ความร้อนอบอ้าวเพิ่มขึ้นอีกเมื่อคนมากขึ้นและไม่มีลมพัด ไม้ไม่รู้สึกลำบากหรืออยากกลับบ้าน เพราะไม้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของพละกำลังอันใหญ่โตที่ได้ครอบครองพื้นที่ท้องถนนสาธารณะ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจในความเป็นไปของสังคมที่ไม้อยู่ และเชื่อว่าการเรียกร้องจะทำให้อนาคตข้างหน้าของไม้เองดีขึ้นด้วยพื้นที่บนถนน ในวันนี้ไม้ได้กลายเป็นผู้ครอบครองถนนที่ไม้เคยหงุดหงิดมาก่อนหน้านี้อย่างสมบูรณ์

 

การชุมนุมประท้วง 2563 มีการชูนกเป็นสัญลักษณ์

 

การเกิดขึ้นของถนนขนาดใหญ่ในเมืองของโลกสมัยใหม่นั้น นอกจากต้องการรองรับยานพาหนะจำนวนมากที่เคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว โดยแยกพื้นที่ระหว่างคนกับยานพาหนะอย่างชัดเจนเพื่อความปลอดภัยแล้ว ถนนขนาดใหญ่ยังเป็นพื้นที่เปิดโล่ง (open space) ที่สำคัญของเมืองสมัยใหม่ ที่ทำให้อากาศถ่ายเท แสงแดดส่องถึงอาคารที่อยู่เรียงรายสองข้างถนน

ตัวอย่างที่สำคัญคือมหานครปารีส ที่เติบโตมาจากการเป็นเมืองในยุคกลางที่ถนนเล็ก มีซอกมุมอับ มีระบบสาธารณูปโภคที่ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อประชากรหนาแน่นมากขึ้นก็นำมาซึ่งปัญหาด้านสุขอนามัย มีโรคระบาดหลายครั้งหลายหน กลางศตวรรษที่ 19 จึงเกิดการผ่าตัดใหญ่ของเมืองด้วยถนนขนาดกว้าง ที่ตัดพาดผ่านไปในย่านต่างๆ ถนนนี้เป็นถนนที่มีประสิทธิภาพสำหรับยานพาหนะที่มีความหนาแน่นสูง (คือรถม้าในเวลานั้น) และเปิดพื้นที่ให้การอยู่อาศัยที่เป็นระบบระเบียบมากขึ้น มีแนวต้นไม้เป็นพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง โดยชั้นล่างสุดของอาคารที่เรียงรายตามสองฝั่งถนนนั้นถูกกำหนดเป็นพื้นที่พาณิชยกรรม เพื่อให้มีกิจกรรมที่ทำให้ถนนมีชีวิตชีวามาพร้อมกับฟุตบาทขนาดกว้างให้ผู้คนเดินกันขวักไขว่[i] รูปแบบถนนเช่นนี้ถูกนำไปใช้ทั่วโลก กลายเป็นวิธีและสัญลักษณ์สำคัญของการพัฒนาเมืองสมัยใหม่

สิ่งที่มาพร้อมๆ กับถนนขนาดใหญ่นี้ คือความเป็นสาธารณะอย่างแท้จริง ที่ใครๆ ก็มาปรากฏตัวบนถนนนี้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด (ต่างจากถนนเล็กๆ ที่มีความเป็นย่าน ยิ่งเล็กยิ่งมีเจ้าของพื้นที่โดยพฤตินัยค่อนข้างชัดเจน แม้จริงๆ แล้วพื้นที่นั้นอาจจะเป็นพื้นที่สาธารณะ) บนถนนขนาดใหญ่ที่มีทางเท้ากว้างขวางจึงเป็นที่รวมของผู้คนหลากหลาย ที่ทุกคนล้วนอยู่ในสภาวะคนแปลกหน้าต่อกันได้ เช่น ลูกค้าของร้านค้าที่อยู่เรียงราย ผู้คนที่เดินผ่านไปมา หรือแม้กระทั่งคนไร้บ้านที่เหลือเพียงถนน อันเป็นพื้นที่ที่ครอบครองได้โดยไม่มีใครมาไล่ เป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีสิทธิ์ในการดำรงอยู่ในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียมอย่างสมบูรณ์ในสังคมประชาธิปไตยของโลกสมัยใหม่

เมื่อถนนขนาดใหญ่เช่นนี้สามารถเปิดเผยความหลากหลายของผู้คนในสังคม พื้นที่ถนน โดยเฉพาะริมถนนทางเท้า ก็เป็นพื้นที่ทางการเมืองไปโดยปริยาย แต่ละคนในสังคมสามารถมองเห็นและพิจารณาถึงความเป็นไป ไม่ว่าจะเป็นความสงบร่มเย็น ความยุติธรรม หรือ ความขัดแย้ง ปัญหา และความไม่สมดุลในประเด็นต่างๆ ของสังคมนั้นๆ

เมื่อเกิดความไม่พอใจในสังคมของคนจำนวนหนึ่งแต่เป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน การมารวมตัวกัน ‘บนถนน’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ลงถนน’ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจนั้นๆ จึงเป็นธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย เพราะถนนเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้ว่าการใช้พื้นที่แบบนี้จะไม่ใช่เป้าหมายตั้งต้นของการสร้างถนนขนาดใหญ่เหล่านี้ก็ตาม

การครอบครองพื้นที่บนถนน ที่ทำให้เกิดความขัดข้องในจราจรทำอาจจะทำให้คนอื่นๆ เดือดร้อนนั้น ยังทำให้คนในสังคมที่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามต่อประเด็นในการเรียกร้องนั้นๆ ได้หยุด ฉุกคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ท้ายสุดแล้วอาจจะหันมาสนับสนุนเข้าร่วมการรวมตัวกันครอบครองพื้นที่ถนน หรือต่อต้าน ก็เป็นไปตามวิถีของประชาธิปไตย ตราบเท่าที่ไม่มีการใช้กำลังหรือความรุนแรง

ในวินาทีที่คนแปลกหน้าที่มีความคับข้องใจต่อสังคมอย่างโดดเดี่ยวหลายๆ คน รวมตัวกันเพื่อแสดงความคิดต่อสังคมบนพื้นผิวถนน จนกลายเป็นฝูงชนแออัดสุดลูกหูลูกตาแทนที่ยานพาหนะ เวลานั้นถนนได้สร้าง ‘ประชาชน’ แสดงให้เห็นถึงความเป็นประชาชนที่มีมวลมหาพละกำลังอย่างเป็นรูปธรรม ถนนกลายเป็นพื้นที่ของประชาชนอย่างแท้จริง เมืองถูกควบคุมโดยประชาชน (แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ) [ii]

บนถนนของเมืองใหญ่ในโลกที่มีถนนเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่นั้น ล้วนผ่านเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนมาแล้วไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นที่ ปารีส เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เบอร์ลิน บาร์เซโลนา บูดาเปส และเมืองอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน

ในประเทศไทย ถนนขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกคือถนนราชดำเนิน โดยใช้รูปแบบเดียวกันกับถนนขนาดใหญ่ที่ปารีส (แม้ว่าในเวลานั้นกรุงเทพฯ ไม่มีปัญหาความหนาแน่นของเมืองเหมือนกับปารีส ถนนราชดำเนินสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่แทบจะเป็นพื้นที่ว่างเปล่า เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ไม่มีรถหรือคนมาใช้งานแต่อย่างใด เพราะในขณะนั้นมีรถยนต์เพียงไม่กี่คันในกรุงเทพฯ) การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนินในเวลาต่อมา ยังเป็นการเพิ่มระบบสัญลักษณ์ให้ถนนว่าเป็นพื้นที่แห่งประชาธิปไตย จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองใดๆ พื้นที่ถนนราชดำเนินมักจะเป็นพื้นที่แรกๆ ที่ถูกใช้เป็นพื้นที่แห่งการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นขั้วการเมืองฝ่ายใด เนื่องด้วยถนนขนาดใหญ่นั้นเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชนเสมอ

เมื่อเมืองขยายตัวมากขึ้น เกิดศูนย์กลางของเมืองที่มากกว่าหนึ่งแห่ง การชุมนุมทางการเมืองจึงมีการยึดครองพื้นที่ที่แปรผันไปตามสถานการณ์ จากถนนราชดำเนิน ไปยังแยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียง และถนนอื่นๆ ในปัจจุบัน แต่ถนนขนาดใหญ่ยังเป็นองค์ประกอบพื้นที่หลักที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันของบุคคลที่กลายเป็นเป็นประชาชนเสมอมา

ไม้เริ่มชินกับการเข้าร่วมการชุมนุมเป็นระยะเวลาสั้นๆ จนกลายเป็นเหมือนชีวิตประจำวัน บางครั้งไม้ก็ไปแค่ไม่ถึงชั่วโมงด้วยซ้ำ เพราะต้องทำงาน แม้ว่าจะมีการจับแกนนำทั้งผู้ใหญ่และเด็ก หรือว่าจะมีการปิดการขนส่งสาธารณะเพื่อให้เข้าถึงการชุมนุมยากขึ้น ไม้ก็ยังอยากจะไปร่วมชุมนุม ยิ่งได้เห็นเด็กมัธยม เด็กช่างกล และนิสิตนักศึกษา ที่ออกมารวมตัวกันบนถนนอย่างพร้อมเพรียงด้วยความสงบ ไม้ก็ยิ่งเห็นว่าอนาคตของสังคมที่ไม้อยากให้เป็นนั้น ไม่ได้เป็นความต้องการของไม้เพียงคนเดียว แต่มีผู้คนมากมายที่อยู่ร่วมกัน ‘บนถนน’ นี้ เห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำร่วมกัน

 

 

[i] ระหว่างปี คศ. 1853-1870 จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 มีนโยบายปรับปรุงเมืองปารีสครั้งใหญ่ โดยการนำของ Georges-Eugene Haussmann มีการรื้อถอนชุมชนที่เกิดขึ้นในยุคกลางที่หนาแน่นและไม่ถูกสุขลักษณะ สร้างสวนสาธารณะ ลานโล่ง ระบบสุขาภิบาล ระบบชลประทาน และขยายเมืองออกไปในพื้นชานเมือง รวมไปถึงการตัดถนนขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า Haussmann Boulevard ไปพร้อมๆ กันกับการสร้างอาคารเรียงรายสองฝั่งถนน

[ii] Berman, Marshall  All That is Solid Melts Into Air: The Experience of Modernity. New York: Penguin Books, 1988, pp. 164

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save