fbpx
คืนถิ่นซัวเถา บ้านเก่าบรรพบุรุษ

คืนถิ่นซัวเถา บ้านเก่าบรรพบุรุษ

“เคยล่องน้ำดำ เคยกินน้ำขม ฝากความทุกข์เต็มอุระล่องไปกับสายน้ำ หวังจะได้เป็นเจ้าสัว กลับบ้านยังไม่ได้ สุดท้ายได้แต่ทิ้งร่างไว้ที่หงี่ซัว”

บทกลอนของชาวจีนแต้จิ๋วจากซัวเถาที่มาทิ้งร่างไว้ที่ป่าช้าศพไร้ญาติวัดดอน สะท้อนถึงความลำบากและความใฝ่ฝันของบรรพบุรุษชาวจีนที่อพยพมาแสวงโชคถึงเมืองไทย แต่ตกมาถึงยุคนี้ ลูกหลานชาวจีนที่อพยพจากซัวเถารุ่นที่สี่ที่ห้าก็แทบจะไม่หลงเหลือรากเหง้าที่เชื่อมโยงกับซัวเถาและเมืองแต้จิ๋วเสียแล้ว ในขณะเดียวกัน สายสัมพันธ์กับซัวเถาก็เปลี่ยนจากเมืองบ้านเกิดบรรพบุรุษ เป็นเมืองการค้าอุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วเข้าแทนที่

 

ซัวเถา หรือ ซานโถว 汕头 เป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลจีนตะวันออก ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง อันรวมอยู่ในเขตอารยธรรมจีนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า จีนแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นกลุ่มชาวจีนที่อพยพออกมาอยู่โพ้นทะเลจำนวนมาก โดยเฉพาะเป็นเชื้อสายจีนที่มีมากที่สุดในประเทศไทย

จีนแต้จิ๋วนี้มีชื่อเรียกตามเมืองเอกคือ เมืองแต้จิ๋ว หรือ เฉาโจว 潮州 เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จีนที่มีเอกลักษณ์ของตนเองทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม อาหารการกิน และลักษณะกายภาพที่สืบต่อโดยพันธุกรรม ลูกหลานแต้จิ๋วนอกจากจะมีก้นสีเขียวในวัยทารกเช่นเดียวกับเชื้อสายมองโกลอยด์แล้ว ยังปรากฏลักษณะเด่นพิเศษ คือมีเล็บที่หกงอกออกมาจากนิ้วก้อย เรียกว่า หลักกะฮวง (เล็บที่หกของคนเถื่อน) ซึ่งเชื่อกันว่าสืบทอดมาจากชาวหมิ่นหนานหรือไป๋เยว่ตั้งรกรากอยู่ก่อนและผสมกับชาวจีนฮั่น

ชาวแต้จิ๋วอพยพล่องเรือจากท่าเรือกลไฟที่ซัวเถาหลายระลอก โดยระลอกที่สำคัญเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2488-2492 เนื่องจากทุพภิกขภัยแห้งแล้งอดอยากต่อเนื่องทั่วทั้งมณฑล อีกทั้งประกอบกับภัยสงครามระหว่างจีนก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์ ประมาณการว่าครั้งนั้นชาวแต้จิ๋วกว่า 2 ล้านคน อพยพมายังประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ บรรพบุรุษทางแม่ของผู้เขียนก็อพยพมาในยุคนั้นเช่นกัน ก่อนจะมาขึ้นที่ท่าเรือราชวงศ์และแยกย้ายกันประกอบอาชีพตามแต่วาสนาชะตากำหนด บางคนค้าขายใหญ่โตร่ำรวยได้เป็นเจ้าสัว บางคนได้เงินพอกลับไปซัวเถาพาลูกเมียที่บ้านมาอยู่หากินเมืองไทย หรือไปทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์หลังปลดแอก แต่บางคนประสบความล้มเหลว ติดฝิ่น ชะตาไม่สมเคราะห์ ก็ต้องตายลงเป็นศพไร้ญาติถูกฝังที่ป่าช้าวัดดอนที่เรียกว่า หงี่ซัวเต็ง

ความสัมพันธ์ระหว่างซัวเถากับเมืองไทยจึงผูกพันแน่นแฟ้น เศรษฐีคหบดีเชื้อสายจีนแต้จิ๋วในไทยและสิงคโปร์จำนวนมากกลับไปบริจาคเงินให้แก่วัดวาอาราม สร้างโรงงานการค้า ขึ้นในเขตแต้จิ๋ว-ซัวเถา และทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กำหนดให้ซัวเถาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษลำดับที่ 3 เพื่อพัฒนาการค้าและอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเล

เมืองใหญ่ของเขตวัฒนธรรมแต้จิ๋วประกอบด้วย เมืองแต้จิ๋ว (เฉาโจว) เมืองซัวเถา (ซานโถว) และเมืองกิ๊กเอี้ย (เจียหยาง) ซึ่งมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าขานตำนานความนับถือศรัทธาของชาวจีนแต้จิ๋วโพ้นทะเลอย่างยาวนาน

เมืองแต้จิ๋วนั้นเป็นเมืองเอกสำคัญและเป็นศูนย์กลางอารยธรรมแต้จิ๋ว ปัจจุบันยังมีกำแพงเมืองโบราณ (กู่เฉิง) ที่มีซุ้มประตูอยู่ให้เห็น ศาลเจ้าหั่งบุ๊งกง (หานเหวินกง) ผู้หยั่งรากฐานวัฒนธรรมจีนฮั่นให้กับเมืองแต้จิ๋ว และวัดข่ายง้วง (วัดไคหยวน) เป็นสถานที่สำคัญซึ่งชาวแต้จิ๋วเคารพนับถือมายาวนาน สะพานกว่างจี๋เกี้ย (เซี่ยงจื่อเฉียว) ซึ่งใช้เรือพาดต่อกันเป็นโบราณสถานสำคัญและแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงยาวนานตั้งแต่ยุคราชวงศ์ซ่ง-หยวน และถนนคนเดินไผฟางลู่ที่มีซุ้มประตูที่ระลึกของจอหงวนและขุนนางชาวแต้จิ๋วเรียงรายกันท่ามกลางอาคารโบราณกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของทั้งชาวจีนในประเทศและจีนโพ้นทะเล ทั้งเป็นจุดหมายของทัวร์ไทยที่พาชาวจีนกลับมาเยี่ยมเยือนถิ่นกำเนิดบรรพบุรุษ ร้านค้าทันสมัยและคาเฟ่ รวมถึงบูทีคโฮเทลซุกซ่อนอยู่ตามตรอกเก่าของแต้จิ๋วอย่างงดงาม

 

กำแพงเมืองโบราณ (กู่เฉิง)

 

วัดข่ายง้วง (วัดไคหยวน)

 

ถนนคนเดินไผฟางลู่ที่มีซุ้มประตูที่ระลึกของจอหงวนและขุนนางชาวแต้จิ๋วเรียงรายกันท่ามกลางอาคารโบราณ

 

เมืองซัวเถาได้รับการยกระดับให้เป็นเมืองท่าเรือขนาดใหญ่เพื่อส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ท่าเรือซัวเถาเดิมถูกปรับภูมิทัศน์ให้เป็นลานกว้างและสวนสาธารณะพักผ่อน เจ้าแม่ทับทิมหรือหม่าโจ๊วองค์ต้นกำเนิดประทับเด่นเป็นสง่าบนยอดเนินเขาส่องพระเนตรไปยังท้องทะเลเช่นเดียวกับที่เคยส่งบรรพบุรุษของชาวจีนโพ้นทะเลไปเสี่ยงโชคกลางสมุทรด้วยเรือสำเภาและเรือกลไฟ ในอีกด้าน ท่าเรือและอู่ต่อเรือทันสมัยส่องประกายไฟสว่างจ้าในยามค่ำคืนพร้อมกับห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารแฟรนไชส์จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวอลมาร์ท แม็คโดนัลด์ เคเอฟซี หรือสตาร์บัคส์ พร้อมสรรพ สองข้างทางถนนของซัวเถาปลูกต้นมะม่วงเรียงรายเป็นระเบียบทั่วเมือง และสถานีรถไฟซัวเถาก็เชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูงเฉาซานและสนามบินเจียหยางเฉาซานเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมไปทั่วประเทศ

 

เจ้าแม่ทับทิมหรือหม่าโจ๊ว

 

 

 

สองข้างทางถนนของซัวเถาปลูกต้นมะม่วงเรียงรายเป็นระเบียบทั่วเมือง

 

เมืองกิ๊กเอี้ย หรือเจียหยาง ได้รับการพัฒนาโดยโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม และเป็นที่ตั้งของสนามบินและสถานีรถไฟความเร็วสูง และยังเป็นที่ตั้งของปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเชื้อสายจีนเคารพนับถือ คือศาลหลวงพ่อไต้ฮงกง องค์ปฐมกำเนิดมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ซึ่งมีซุ้มประตูจารึกชื่อนายกสมาคมจีนโพ้นทะเลในไทย และเศรษฐีคหบดีที่มาบริจาคเงินบูรณะหลุมศพหลวงพ่อไต้ฮง รวมถึงวิหารบูชาใหญ่โตโอ่อ่า เป็นสถานที่ทัวร์ลงอีกแห่งหนึ่ง แต่ระหว่างทางจากซัวเถาไปกิ๊กเอี๊ยและเตี่ยเอี้ย (เฉาหยาง) มีเมืองร้างที่เกิดจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ไม่ประสบความสำเร็จดูวังเวงน่ากลัวใช่น้อย

 

ศาลหลวงพ่อไต้ฮงกง

 

นอกจากนี้ ยังมีสถานที่สำคัญที่เป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ไทย-จีน คือสุสานพระภูษาและพระมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทายาทแซ่แต้สร้างไว้ในสมัยราชวงศ์ชิง ตั้งอยู่ในตำบลเท้งไฮ้ หรือเฉิงไห่ อันเป็นตำบลกำเนิดของพระชนกในสมเด็จพระเจ้าตาก (สิน)

ที่เท้งไฮ้นี้ยังเป็นที่ตั้งของคฤหาสน์เฉินชื่อหง หรือบ้านหวั่งหลี ซึ่งเป็นบ้านโบราณของต้นตระกูลหวั่งหลีนายธนาคารและผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของไทย อันเป็นต้นแบบของล้ง 1919 ที่เพิ่งเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในกรุงเทพฯ โดยบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้เรียนรู้และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของจีน ที่ผ่านมามีบุคคลสำคัญของไทยเชื้อสายจีนมาเยี่ยมชมและให้ความสนใจอย่างมาก ในบ้านหวั่งหลีนี้ยังมีผังตระกูล รูปภาพวาดและภาพถ่ายบรรพบุรุษและบุคคลสำคัญของไทยที่มีเชื้อสายจีนติดประดับเรียงรายมากมายย้อนไปถึงยุคกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

 

นอกจากนี้ เท้งไฮ้ในปัจจุบัน ยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเบาประเภทของเล่นและเครื่องใช้พลาสติก โดยได้มีนิคมอุตสาหกรรมและศูนย์จัดแสดงสินค้านานาชาติขนาดใหญ่ในหมวดของเล่น ในชื่อ “ศูนย์แสดงสินค้าของเล่นเป่าอันเฉิงไห่” เป็นศูนย์แสดงสินค้าเฉพาะทางขนาดใหญ่ต่อจากศูนย์แสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเสิ่นเจิ้น และศูนย์แสดงสินค้าเสื้อผ้าสิ่งทอในกวางโจว หากจะหาของเล่นพลาสติก โมเดล ทั้งของแท้ของปลอมราคาย่อมเยาเพื่อขายปลีกขายส่ง เมืองเท้งไฮ่ก็เป็นจุดหมายปลายทางที่ควรมาติดต่อเจรจาธุรกิจ

 

ความเป็นแต้จิ๋วและซัวเถาในปัจจุบัน จึงแตกต่างจากหลายสิบปีก่อนที่เมื่อคนรุ่นอาป๊าอาม้า อากงอาม่ากลับไปเยี่ยมญาติแล้วพบกับความล้าหลังชนบทต้องส่งเงินไปช่วยเหลือสร้างงาน แต่กลายเป็นมหานครขนาดใหญ่ที่เจริญทันสมัยและร่ำรวยยิ่งไปกว่าประเทศไทยเสียแล้ว ภาพจำเดิมๆ ของเมืองจีนในรุ่นบรรพบุรุษจึงนับวันเลือนหายไปพร้อมกับสำนึกความเป็นจีนของลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีน และสำเนียงแต้จิ๋วที่ถูกกลืนหายไปกับการศึกษาแบบจีนกลาง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save