fbpx
Sexuality Pay Gap : ช่องว่างระหว่างเพศ

Sexuality Pay Gap : ช่องว่างระหว่างเพศ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

คุณคงเคยได้ยินคำว่า Gender Pay Gap

คำนี้หมายถึง ‘ช่องว่าง’ ระหว่างรายได้ของคนที่มีเพศ (และ / หรือ สีผิว) แตกต่างกัน ซึ่งพอเป็นคำว่า Gender นั้น โดยส่วนใหญ่ก็จะมองแค่สองเพศ คือระหว่างหญิงกับชายเท่านั้น

แต่เนื่องจากโลกไม่ได้มีแค่สองเพศ และความแตกต่างในเรื่องรายได้ของคน ‘เพศต่างๆ’ ก็ซับซ้อนกว่าที่เราคิดด้วย ในที่สุดจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Sexuality Pay Gap หรือ ‘ช่องว่าง’ ของรายได้ ระหว่างคนที่มีเพศที่แตกต่างหลากหลาย

คนที่ศึกษาเรื่องนี้มากๆ ก็คืออาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเสทส์-แอมเฮิร์สต์ ชื่อเอ็ม.วี. ลี แบดเจ็ตต์ (M.V. Lee Badgett) งานชิ้นสำคัญของเขาเกิดขึ้นในปี 1995 คือรายงานชื่อ The Wage Effects of Sexual Orientation Discrimination (ดูได้ที่นี่) หรือผลของค่าจ้างที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติเพราะความรักชอบทางเพศ

ผลการวิจัยนี้ ให้ข้อสรุปที่หลายคนอาจไม่ประหลาดใจเท่าไหร่ นั่นคือเขาบอกว่า คนที่เป็นเกย์และเป็นไบเซ็กชวล (ที่มีเพศกำเนิดเป็นชาย หรือเป็น Bisexual Male) ในสหรัฐอเมริกานั้น มีรายได้ในการทำงานน้อยกว่าคนที่เป็นรักต่างเพศ โดยเฉลี่ยแล้ว เกย์จะได้รับน้อยกว่า 11% และไบเซ็กชวลได้รับน้อยกว่า 27% โดยทั้งหมดนี้ได้ควบคุมตัวแปรต่างๆ ทั้งประสบการณ์ในการทำงาน การศึกษา สถานภาพการสมรส หรือภูมิภาคที่อยู่แล้ว

หลังจากนั้น แบ็ดเจ็ตต์ได้ศึกษาซ้ำอีกในช่วงต้นสหัสวรรษใหม่ (คือช่วงปี 2000s) แต่ก็ยังพบผลคล้ายๆ เดิม คือคนที่เป็นเกย์นั้น มีรายได้น้อยกว่าชายรักต่างเพศ 10-32% ซึ่งเป็น ‘ช่องว่าง’ ที่ไม่น้อยเลย

ที่จริง ปรากฏการณ์นี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Gay Men Wage Gap หรือช่องว่างทางรายได้ของคนที่เป็นเกย์ชาย คือมีเพศกำเนิดเป็นชาย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่มีการศึกษาในออสเตรเลียในปี 2015 ก็พบแนวโน้มเดียวกัน นั่นคือเกย์ (ชาย) จะมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าคู่แข่งที่เป็นผู้ชายรักต่างเพศถึง 13%

อีกการศึกษาหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐจอร์เจีย เมื่อปี 2009 ก็พบเช่นกันว่า เกย์ชายนั้นมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายรักต่างเพศ 8-10% โดยทั้งหมดนี้ได้ดูตัวแปรต่างๆ แล้ว เช่น การศึกษา เชื้อชาติ ประสบการณ์ในการทำงาน และอาชีพแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจของ National Transgender Discrimination Survey (ดูรายงานได้ที่นี่) บอกว่าคนที่เป็นทรานส์ในอเมริกา จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ ถึง 4 เท่า ที่จะมีรายได้น้อยกว่า 10,000 เหรียญต่อปี และมีโอกาสที่จะไม่ได้งานทำมากกว่าคนอื่นๆ สองเท่า เนื่องเพราะการเลือกปฏิบัติทางเพศ

แล้วถ้าเป็นเลสเบี้ยนหรือหญิงรักหญิงล่ะ?

เรื่องนี้มีการศึกษาในปี 2015 โดย มาเรียก้า คลาวิตเทอร์ (Marieka Klawitter) ซึ่งสอนด้านนโยบายสาธารณะและการปกครองอยู่ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เธอศึกษาทั้งเกย์และเลสเบี้ยน โดยวิเคราะห์เอกสารต่างๆ 31 ชิ้น ในช่วงปี 1995-2012 เธอพบว่าในเกย์ชายนั้นได้ผลคล้ายๆ แบ็ดเจ็ตต์ แต่ว่าถ้าเป็นเลสเบี้ยน กลับได้ผลออกมาว่าเลสเบี้ยนหรือหญิงรักหญิงในอเมริกานั้น มีรายได้มากกว่าผู้หญิงที่เป็นรักต่างเพศมากถึงราว 9% (การศึกษาของเธอชื่อ Meta-Analysis of the Effects of Sexual Orientation on Earnings ดูได้ที่นี่)

ฟังอย่างนี้แล้ว หลายคนอาจคิดว่า นี่คือชัยชนะของคนรักเพศเดียวกันที่มีเหนือคนรักต่างเพศใช่ไหมครับ เพราะหญิงรักหญิงมีรายได้มากกว่าหญิงรักต่างเพศ แต่ที่จริงแล้วต้องกลับไปดูรายงานของแบ็ดเจ็ตต์อีกรอบหนึ่ง เคยมีรายงานของแบ็ดเจ็ตต์ในปี 2009 เรื่อง Bias in the Workplace: Consistent Evidence of Sexual Orientation and Gender Identity Discrimination 1998-2008

รายงานนี้สรุปว่า แม้เลสเบี้ยนจะมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าผู้หญิงรักต่างเพศก็จริงอยู่ แต่ถ้าดูโดยภาพรวมแล้ว เลสเบี้ยนยังมีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่าผู้ชายและคนที่เป็นเกย์อยู่ดี

เคยมีคนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ผู้หญิง (ที่เป็นรักต่างเพศ) เป็นเพศที่ต้องใช้เวลาไปกับการทำงานต่างๆ ที่เป็น ‘งานไม่ได้เงิน’ หรือ Unpaid Work อย่างเช่น ทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน เปลี่ยนผ้าอ้อมลูก ฯลฯ เฉลี่ยถึงวันละ 4.5 ชั่วโมง ในขณะที่ผู้ชายใช้เวลาน้อยกว่านั้นราวครึ่งหนึ่ง

เฉพาะในอเมริกา พบว่าผู้หญิงต้องใช้เวลาทำงานบ้านเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง 12 นาที ส่วนผู้ชายใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 1 ชั่วโมง 21 นาที นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจของ National Women’s Law Center พบว่าคนที่เป็นแม่และทำงานเต็มเวลาในอเมริกา จะทำรายได้เฉลี่ยปีละ 40,000 เหรียญ ในขณะที่คนที่เป็นพ่อและทำงานเต็มเวลา จะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 56,999 เหรียญ ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่า สิ่งมีชีวิตที่เป็น ‘เพศหญิง’ ต้องแบ่งเวลาในการทำงานที่มีรายได้มาทำงานที่ไม่มีรายได้มากกว่าคนเพศอื่นๆ ผลลัพธ์ก็คือ ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้เฉลี่ยน้อยที่สุด

ที่น่าสนใจก็คือ เคยมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเนวาด้า ที่ใช้ข้อมูลระดับชาติตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ศึกษาผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยนและรักต่างเพศ พบว่าเลสเบี้ยนที่ ‘เคย’ อยู่กินกับผู้ชายหรือมีสามีมาก่อน เป็นเลสเบี้ยนกลุ่มที่ทำรายได้น้อยกว่าคนที่ไม่เคยอยู่กินกับผู้ชายเลยเฉลี่ยราว 9.5%

นอกจากนี้ ยังพบว่า เมื่อมีการควบคุมตัวแปรเรื่องการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงานแล้ว ผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยนและอยู่กินกับผู้หญิงด้วยกัน จะมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าผู้หญิงรักต่างเพศที่อยู่กินกับผู้ชาย 6.6% แต่ถ้าเป็นเลสเบี้ยนที่ในอดีตเคยมีสามีเป็นผู้ชายมาก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนใจมามีความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง ตัวเลขนี้จะตกลงไปอยู่ที่ 5.2%

ที่จริงแล้วเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เลสเบี้ยนมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าหญิงรักต่างเพศ แบ็ดเจ็ตต์อธิบายว่าเรื่องนี้เกิดจาก ‘อคติ’ ทางเพศที่มองโลกแบบชายหญิง เช่น โดยทั่วไปเลสเบี้ยนมักจะชอบทำงานประเภทที่ถูกมองว่าอยู่ในพื้นที่ของผู้ชาย (เช่นงานประเภทโรงงาน วิศวกร การก่อสร้าง ฯลฯ) นั่นทำให้คนที่เป็นเลสเบี้ยนมีโอกาสได้รับเงินเดือนสูงกว่าผู้หญิง เพราะเหมือน ‘บุก’ เข้าไปในพื้นที่ของผู้ชายได้มากกว่า ตัวเลขเฉลี่ยจึงสูงขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ไม่มีทางมีรายได้สูงเท่าผู้ชาย

ที่น่่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ มีการศึกษาในปี 2008 พบว่าคนที่เป็นเลสเบี้ยนมักจะทำงานเต็มเวลาและไม่ค่อยออกจากตลาดแรงงานเหมือนผู้หญิงที่เป็นรักต่างเพศ การศึกษานี้บอกว่า เป็นไปได้ที่ผู้หญิงรักต่างเพศจะออกจากตลาดแรงงานเพราะมีลูก

จากผลการศึกษาทั้งหลายแหล่ เราน่าจะพอสรุปออกมาเป็นสมการแบบหยาบๆ ได้ว่า รายได้ของคนเพศต่างๆ เป็นดังนี้

 

ชายรักต่างเพศ > ชายรักเพศเดียวกัน > หญิงรักเพศเดียวกัน > หญิงรักต่างเพศ

 

สมการนี้บอกเราว่า ‘ผู้ชาย’ คือสิ่งมีชีวิตที่ได้รายได้สูงสุด และหลายคนก็เชื่อว่านอกจากจะเป็นอย่างนั้นมานานแล้ว ก็ยังน่าจะเป็นอย่างนั้นต่อไปอีกเรื่อยๆ แน่ๆ

แต่ก็ไม่แน่นะครับ ในปี 2017 มีการศึกษาของคริสโตเฟอร์ คาร์เพนเทอร์ และ ซามูเอล เอพพิงค์ ชื่อ Does it Get Better? Recent Estimates of Sexual Orientation and Earnings in the United States (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) ซึ่งเป็นการศึกษาในปี 2013-2015 พบว่าในระยะหลัง ผู้ชายที่เป็นเกย์กลับหันมามีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าผู้ชายที่เป็นรักต่างเพศเป็นครั้งแรก

การศึกษานี้พบว่า กลุ่มคนที่ทำรายได้เฉลี่ยมากที่สุด คือคนที่เป็นเกย์ (59,600 เหรียญต่อปี) ตามมาด้วยชายรักต่างเพศ (57,000 เหรียญต่อปี) ชายที่เป็นไบเซ็กชวล (49,800 เหรียญต่อปี) เกย์หญิงหรือเลสเบี้ยน (47,000 เหรียญต่อปี) หญิงรักต่างเพศ (39,900 เหรียญต่อปี) และสุดท้ายคือผู้หญิงที่เป็นไบเซ็กชวล (38,800 เหรียญต่อปี)

แม้ยังไม่แน่ชัดว่าสาเหตุเป็นเพราะอะไร แต่เจ้าของงานวิจัยบอกว่า เป็นไปได้ที่คนกล้าออกมาประกาศตัวเป็นเกย์กันมากขึ้น รายได้เฉลี่ยที่เคยอยู่ในฝั่งของชายรักต่างเพศ จึงเหวี่ยงมาอยู่ฝั่งคนที่เป็นเกย์มากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็ไม่ได้แปลว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงของ Pay Gap หรือช่องว่างรายได้แต่อย่างใด ทว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นเนื่องจากคนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง ‘ปกติ’ กันมากขึ้น ซึ่งถ้าแนวโน้มเป็นแบบนี้ต่อไป สมการก็จะเปลี่ยนไปเป็น

 

ชายรักเพศเดียวกัน > ชายรักต่างเพศ > หญิงรักเพศเดียวกัน > หญิงรักต่างเพศ

 

ซึ่งก็ยังเห็นได้ชัดอยู่ดีว่า ช่องว่างเรื่องรายได้ของคนที่มีเพศกำเนิดเป็นชายและหญิงนั้น ยังอาจเหมือนเมื่อพันปีที่แล้วก็ได้ นั่นคือผู้หญิงเป็นเพศที่ถูก ‘ให้คุณค่า’ (ผ่านรายได้) น้อยกว่าผู้ชายมาก

แต่ไม่ว่าจะเป็น Gender Pay Gap, Sexuality Pay Gap หรือแม้กระทั่ง Racial Pay Gap (คือช่องว่างเรื่องรายได้ของคนที่ีสีผิวแตกต่างกัน) ในปัจจุบันนี้แทบเป็นเอกฉันท์แล้วว่า จะต้องจัดการให้ช่องว่างเหล่านี้หายไปให้ได้ จึงเกิดวันที่เรียกว่า Equal Pay Day หรือวันที่ส่งเสริมการจ่ายค่าแรงต่างๆ ให้เท่าเทียมเสมอภาคกันขึ้นมา วันนี้ในแต่ละปีและในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป อย่างเช่น Equal Pay Day ในปี 2018 ในสหรัฐอเมริกา คือวันที่ 10 เมษายน หรือในเยอรมนีของปี 2016 จะเป้นวันที่ 19 มีนาคม เป็นต้น

หลักการของความ ‘เท่าเทียม’ ในการจ่ายเงินค่าจ้าง เรียกว่า Equal Pay for Equal Work คือถ้าทำงานเท่ากันก็ต้องได้รับค่าจ้างเท่ากัน ไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นเพศไหน ซึ่งที่จริงแล้ว ในบางประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา การจ่ายค่าแรงให้เท่าเทียมกันนั้นเป็นกฎหมายที่มีมายาวนานแล้ว เช่นกฎหมาย Equal Pay Act ของปี 1963 ที่เกิดขึ้นในยุคของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ เป็นต้น

ความซับซ้อนทั้งหมดนี้บอกเราว่า เพศวิถีนั้นสัมพันธ์กับรายได้ในแบบที่เราอาจคิดไม่ถึง ที่สำคัญก็คือ มันอยู่กับมนุษยชาติมายาวนาน และแม้จะมีความพยายามแก้ไขเรื่องนี้หลายครั้ง ทว่าปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ ไม่สูญหายไปไหน

ผมไม่รู้ว่ามีการศึกษาอะไรทำนองนี้ในสังคมไทยบ้างไหม แต่คิดว่าถ้ามีจะเป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว เพราะมันจะช่วยตอบคำถามเก่าๆ ได้บางคำถาม และชวนให้เราตั้งคำถามใหม่ๆ ได้อีกหลายคำถามทีเดียว

 

อ่านต่อ

https://www.washingtonpost.com/news/wonk/wp/2016/02/25/the-surprising-reason-why-lesbians-get-paid-more-than-straight-women/?noredirect=on&utm_term=.275dcfa20a1f

https://qz.com/881303/eight-million-americans-are-affected-by-a-pay-gap-that-no-one-talks-about/

https://work.qz.com/1147659/gay-men-now-earn-more-than-straight-men-in-the-us-according-to-a-vanderbilt-study/

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save