fbpx

ยุคสมัยเทคโนโลยีก้าวไกล แต่ทำไมคนเบื่อเซ็กซ์?

สำหรับมนุษย์ปุถุชน เรื่องเซ็กซ์ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ เราอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของมนุษยชาติที่เทคโนโลยีการคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด หรือห่วงคุมกำเนิด ทำให้เรื่องเซ็กซ์มีอิสระเสรีมากขึ้นเป็นอย่างยิ่ง แอปช่วยหาคู่อย่างกรินเดอร์ (Grindr) และทินเดอร์ (Tinder) ก็เปิดโอกาสให้คนในวัฒนธรรมตะวันตกเจอคนถูกใจ ถูกสเปกง่ายมากขึ้น

แต่เรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ก็คือ มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มเรื่องที่ผู้คน ‘เบื่อหน่าย’ การมีเซ็กซ์มากขึ้น และมีกิจกรรมทางเพศลดลงมานับสิบๆ ปีแล้ว คนอเมริกันในทศวรรษ 2010 มีเพศสัมพันธ์ลดลงราว 15% หากเทียบกับคนในยุคทศวรรษ 1990 หรือนับเป็นจำนวนครั้งก็คือ ในหนึ่งปีลดลงจาก 62 ครั้งมาเหลือเพียง 53 ครั้งเท่านั้น!

เกิดอะไรขึ้นกันแน่?

ผลที่อ้างถึงข้างต้นมาจากงานวิจัยร่วมกันของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย 3 แห่งในอเมริกา และตีพิมพ์ในปี 2017 [1] โดยสำรวจในคนอเมริกัน 26,620 คนในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 1989–2014 โดยนักวิจัยพบว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่มีคนที่ไม่มีแฟนหรือมีคู่เพิ่มมากขึ้น

ข้อสรุปที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ การลดความถี่ลงนี้พบเหมือนกันหมดทุกเพศ ชาติพันธุ์ ศาสนา ถิ่นที่อยู่ ระดับการศึกษา และประเภทของอาชีพ โดยจะลดลงมากเป็นพิเศษในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป พวกที่มีลูกในวัยเรียน และพวกที่ไม่ดู ‘สื่อโป๊’ รูปแบบต่างๆ 

เทรนด์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในประเทศสหรัฐอเมริกานะครับ การสำรวจในอังกฤษที่เรียกว่า National Survey of Sexual Attitudes and Lifestyles ในปี 2013 ก็พบว่า คนอังกฤษอายุ 16–44 ปี มีเซ็กซ์กันเฉลี่ยแล้วน้อยลงจากที่เคยสำรวจไว้ในปี 2000 โดยในคราวก่อนโน้นพบว่าเฉลี่ยแล้วมีเซ็กซ์กันราว 6 ครั้งต่อเดือน 

แต่มาคราวใหม่นี้เหลือไม่ถึง 5 ครั้งดี (ค่าเฉลี่ยสถิตินะครับ ไม่ต้องเป็นตัวเลขเต็มจำนวน) [2]  

คนออสซี่ก็ไม่แตกต่างกันในเรื่องนี้ การสำรวจที่เรียกว่า Australian National Survey of Sexual Activity ในปี 2014 แสดงให้เห็นว่า คนเพศตรงกันข้ามมีเซ็กซ์กันเฉลี่ย 1.4 ครั้งต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 1.8 ครั้งต่อสัปดาห์จากการสำรวจเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านั้น [3]

แต่ในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน ประเทศที่อาการหนักสุด เห็นจะไม่มีใครเกินญี่ปุ่น เพราะข้อมูลจากการสำรวจของ Japan Family Planning Association ในปี 2012 ระบุว่า 46% ของผู้หญิง และ 25% ของผู้ชายอายุระหว่าง 16–25 ปี จากจำนวนที่ตอบแบบสำรวจราว 1,300 คน ถึงกับไม่ต้องการหรือไม่โหยหาการมีเพศสัมพันธ์เอาเสียเลย! [4]

สถานการณ์ดูจะหนักหนาไม่เลิกนะครับ การสำรวจอีกครั้งในปี 2014 ระบุว่า ผู้หญิงอายุ 16–19 ปี ที่ไม่มีความสนใจเรื่องการมีเซ็กซ์ หรือแม้แต่ไม่ชอบด้วยซ้ำไปมีมากถึง 65.8% ขณะที่ในกลุ่มอายุ 20–24 ปี มีคนที่รู้สึกแบบนี้อยู่ 39.2%  

ในแบบสำรวจของอีกองค์กรหนึ่งคือ National Institute of Population and Social Security Research ซึ่งสำรวจผู้หญิง 4,276 คน ในจำนวนนี้มีอยู่ราว 3,400 คนที่อายุระหว่าง 18–34 ปี เมื่อถามถึงประสบการณ์การมีเพศสัมพันธ์ ในกลุ่มอายุ 18–19 ปี มี 68% ทีเดียวที่เขียนตอบว่า ยังไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย ขณะที่กลุ่มอายุ 20–24 ปี กับ 25–29 ปี และ 30–34 ปี ที่ตอบว่า เคยมีประสบการณ์แล้วมีอยู่ 40.1, 29.3 และ 23.8% ตามลำดับ   

พูดอีกอย่างคือ มีสาวๆ ญี่ปุ่นที่อายุถึง 34 ปีแล้วเกือบ 1 ใน 4 ที่ยังคงไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย แม้ว่าในกลุ่มที่อายุน้อยกว่ามีเซ็กซ์กันอย่างกว้างขวางกว่า 

นักวิจัยระบุว่าเรื่องที่แน่ใจได้อย่างหนึ่งคือ ผลลัพธ์แบบนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาแน่ๆ เพราะคนญี่ปุ่นไม่ได้เคร่งครัดทางศาสนาเท่าไหร่นัก 

โอ๊ย ช่างเหลือเชื่อมาก ตัวเลขพวกนี้ให้ภาพที่กลับกันกับความเชื่อทั่วๆ ไปเกี่ยวกับคนญี่ปุ่นมาก โดยเฉพาะเมื่อเห็นอุตสาหกรรม AV หรือหนังโป๊ผู้ใหญ่ของญี่ปุ่นที่ผลิตผลงานกันออกมามากมายอย่างไม่หยุดหย่อนด้วยแล้ว 

เอ๊ะ หรือเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องอะไรด้วยไหม?

เรื่องหนึ่งที่เราแน่ใจได้ก็คือ คำตอบสำหรับแต่ละประเทศอาจไม่เหมือนกันไปเสียทั้งหมดและน่าจะมีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย แต่ต้นเหตุที่พวกนักวิชาการชี้นิ้วกล่าวหาไปเป็นอันดับ 1 ก็คือ การเข้าถึงเทคโนโลยีกันได้มากขึ้นครับ 

โดยเฉพาะการได้รับความนิยมของโซเชียลมีเดียและสื่อโป๊เปลือยแบบออนไลน์ นักวิชาการบางคนถึงกับตั้งสมมุติฐานว่า ‘การเสพติดเซ็กซ์บนอินเทอร์เน็ต’ อาจจะกลายเป็น ‘ความผิดปกติ’ รูปแบบใหม่ที่ทำให้ความต้องการมีเพศสัมพันธ์กันจริงๆ ลดน้อยถอยลง ถึงกับเรียกว่าเกิด ‘ภาวะความเบื่อหน่ายเซ็กซ์ (sexual anorexia)’ แบบเดียวกับสาวๆ บางคนที่ป่วยเป็นอะนอเร็กเซีย (anorexia) ที่กินอาหารไม่ได้ หรือกินเข้าไปก็อ้วกออกมาหมด เพราะมีผลต่อจิตใจว่ากินแล้วจะอ้วน ร่างกายจึงปฏิเสธการกินอาหาร 

แต่อันนี้เป็นการเบื่อหน่ายเซ็กซ์!

มีงานวิจัยในอิตาลีที่ทำในคนราว 28,000 คน ในปี 2011 พบว่า คนที่ดูสื่อโป๊ประจำหรือเข้าเว็บโป๊บ่อยเกินไป อาจทำให้เกิดการชินชา โดยเฉพาะกับฉากความรุนแรงต่างๆ จนทำให้สูญเสียความตื่นเต้นเกี่ยวกับชีวิตเซ็กซ์ในชีวิตจริงไป [5]  

ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่เปิดเผยออกมาในปี 2014 [6]  ที่วิเคราะห์คนอายุ 18–35 ปีรวม 1,500 คน เพื่อหาความเกี่ยวข้องว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตเกี่ยวข้องกับชีวิตรักและเซ็กซ์ของพวกเขามากน้อยเพียงใด พบว่าในผู้ที่ติดอินเทอร์เน็ตมากจะมีอัตราการแต่งงานน้อย ในงานวิจัยนี้พบว่าผลดังกล่าวจะรุนแรงและเห็นได้ชัดมากขึ้นในกลุ่มที่ติดการดูสื่อโป๊เปลือยออนไลน์ 

จึงยืนยันสมมุติฐานข้างต้นว่าสำหรับคนกลุ่มนี้ การเสพเซ็กซ์ออนไลน์ได้เข้าไป ‘แทนที่’ ชีวิตเซ็กซ์ทางกายภาพกับเพศตรงข้ามไปเรียบร้อยแล้ว! 

อันที่จริงในยุคที่คนติดโทรทัศน์มากกว่านี้ เพราะอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ก็เคยมีงานวิจัยที่ชี้ว่าการมีโทรทัศน์ในห้องนอนลดกิจกรรมทางเพศของหนุ่มสาวลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ปรากฏการณ์ติดอินเทอร์เน็ตส่งผลในลักษณะคล้ายคลึงกันด้วย 

แต่เรื่องนี้ยังฟันธงไม่ได้เสียทีเดียวนักนะครับ เพราะก็มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การได้ดูอะไรวับๆ แวมๆ บ้างสามารถกระตุ้นให้ชีวิตเซ็กซ์ดีขึ้นได้เช่นกัน โดยพบว่าหากได้ช่วยกันดูอะไรทำนองนี้สักอาทิตย์ละ 2 หน หนละอย่างน้อย 40 นาที ช่วยกระตุ้นให้เพิ่มอารมณ์เสน่หาและทำให้เกิดความรัญจวนใจมากขึ้น แต่การทดลองทำในคนกลุ่มไม่ใหญ่นักนะครับ คือทำในผู้ชาย 280 คน [7]

ถ้าเทคโนโลยีอาจไม่ใช่ตัวปัญหาหลัก อะไรอย่างอื่นน่าจะเป็นสาเหตุได้บ้าง?

อีกสาเหตุหนึ่งที่คาดเดากันก็คือ ความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน แต่ผลยังมีออกมาทั้งสองทางนะครับ คือบ้างก็พบว่าในทางสถิติ การทำงานหนักขึ้นไม่ส่งผลให้ลดการมีเซ็กซ์ลง [8] แต่งานวิจัยนี้ทำเปรียบเทียบระหว่างแม่บ้านกับสาวออฟฟิศและพวกที่ทำงานนอกบ้านนะครับ

ในทางตรงกันข้าม งานวิจัยส่วนใหญ่บอกว่าความเหนื่อยล้าจากจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น เป็นอุปสรรคต่อชีวิตคู่และลดการมีเซ็กซ์ลง แถมไม่ได้ลดแค่จำนวน แต่ยังลด ‘คุณภาพ’ ลงอีกด้วย เพราะความเครียดมันสะสมแบบสลัดไม่ออก เช่น งานวิจัยในนักศึกษาสาว 103 คนในสวิสเซอร์แลนด์ [9]     

มีอีกหลายปัจจัยที่ยังไม่ได้กล่าวถึง และไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องมากหรือน้อยกับผลลัพธ์การหน่ายเซ็กซ์ที่เล่าไปทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาชนิดต่างๆ รวมไปถึงไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองที่เผชิญปัญหาต่างๆ ของการอยู่ในเมือง จนเกิดความเครียด เก็บกด และซึมเศร้าในคนจำนวนมาก 

พูดง่ายๆ คือ คนสมัยนี้ที่แม้ชีวิตจะดูเหมือนสะดวกสบายมากขึ้น แต่มีความสุขกายสบายใจโดยรวมลดลง เรื่องนี้อาจมีความสัมพันธ์กับความสุขโดยเฉลี่ยที่ลดลง จนนำไปสู่ผลข้างเคียงคือ การลดลงของชีวิตเซ็กซ์…ก็เป็นไปได้ด้วยเช่นกัน 

อาการหน่ายเซ็กซ์จึงอาจเป็น ‘ตัวชี้วัด’ ความไร้สุขของคนยุคนี้ก็เป็นได้

References
1 DOI 10.1007/s10508-017-0953-1
2 https://www.theguardian.com/society/2013/nov/26/britons-having-less-sex-recession-link-survey
3 https://theconversation.com/australians-are-having-sex-less-often-than-a-decade-ago-33935
4 https://www.politifact.com/factchecks/2015/jun/23/aziz-ansari/startling-stat-checks-out-46-percent-young-women-j/
5 https://www.ansa.it/web/notizie/rubriche/english/2011/02/24/visualizza_new.html_1583160579.html
6 https://www.researchgate.net/publication/269763975_Viewing_Sexual_Stimuli_Associated_with_Greater_Sexual_Responsiveness_Not_Erectile_Dysfunction
7 https://www.researchgate.net/publication/269763975_Viewing_Sexual_Stimuli_Associated_with_Greater_Sexual_Responsiveness_Not_Erectile_Dysfunction
8 https://doi.org/10.1037/0893-3200.12.3.354
9 DOI: 10.1037/a0019365

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save