fbpx

กฎหมายห้ามมีเพศสัมพันธ์นอกสมรสในอินโดนีเซีย: ประวัติศาสตร์ ศาสนา การเมือง และเรื่องสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา มีรายงานในสื่อต่างประเทศและไทยว่าสภาของประเทศอินโดนีเซียผ่านร่างแก้ไขกฎหมายอาญาห้ามมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุดหนึ่งปี และกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ทั้งกับชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติ ข่าวดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามกับนโยบายของประเทศที่ได้รับการชื่นชมด้านการพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศอินโดนีเซีย และได้สร้างความตื่นตระหนกต่อชาวต่างชาติเป็นอันมาก เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา หลายคนถึงกับออกปากว่า ‘ลาแล้วบาหลี ไปเที่ยวที่ประเทศอื่นดีกว่า’

การที่สื่อต่างๆ หยิบยกประเด็นเรื่อง ‘ห้ามมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกสมรส’ มาเป็นหัวข้อของการนำเสนอข่าวนั้นนับว่าประสบความสำเร็จในการดึงดูดความสนใจของผู้รับสาร แต่เป็นการนำเสนอข่าวที่ไม่สมบูรณ์และอาจจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้ อนึ่ง แนวความคิดที่จะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามีความเป็นมายาวนานหลายสิบปีก่อนหน้านี้ ก่อนมีการประกาศกฎหมายฉบับใหม่นี้หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้อยู่นั้นไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของสังคมและมีความไม่ชัดเจนในหลายประการ

ความเป็นมาของประมวลกฎหมายอาญาของอินโดนีเซีย

ประมวลกฎหมายอาญาของอินโดนีเซียก่อนหน้าที่จะมีการแก้ไขนั้นเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม เมื่อเจ้าอาณานิคมเนเธอร์แลนด์ปกครองหมู่เกาะอินโดนีเซียได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาชื่อว่า Wetboek van Strafrecht voor Nederlandsch Indie เรียกย่อๆ ว่า WvSNI ซึ่งมีที่มาจากกฎหมายอาญา Wetboek van Strafrecht (WvS) ที่ใช้กันในประเทศเนเธอร์แลนด์ เจ้าอาณานิคมบังคับใช้ WvSNI โดยปรับให้เหมาะสมกับสภาพและภารกิจของอาณานิคมของคนตั้งแต่ปี 1918

หลังจากอินโดนีเซียประกาศเอกราชได้เปลี่ยนชื่อเรียกประมวลกฎหมายอาญาจาก WvSNI มาเป็นภาษาอินโดนีเซียว่า Kitab Undang-Undang Hukum Pidana หรือย่อเป็น KUHP ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1946 โดยในตอนแรกบังคับใช้แค่ในพื้นที่เกาะชวาและมาดูราเท่านั้น โดยต่อมาในวันที่ 20 กันยายน 1958 ได้ขยายเป็นบังคับใช้ทุกพื้นที่ของอินโดนีเซีย

ต่อมาในปี 1963 ในงานสัมมนากฎหมายแห่งชาติครั้งที่ 1 ได้มีข้อสรุปว่าจะมีการบัญญัติ KUHP แห่งชาติฉบับใหม่ในเวลาอันสั้น รัฐบาลได้เริ่มการร่างประมวลกฎหมายอาญาเพื่อที่จะแทนที่กำหมายฉบับเก่า คณะทำงานร่างกฎหมายประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ด้านกฎหมายอาญาของอินโดนีเซีย แต่เมื่อมีการส่งมอบร่างให้กับสภาผู้แทนประชาชน ร่างดังกล่าวถูกตีตกไป ไม่ได้ถูกนำมาใช้

ต่อมาปี 2004 มีคณะทำงานร่างกฎหมายใหม่นำโดยศาสตราจารย์ ดร.มูลาดี (Muladi) และส่งมอบร่างกฎหมายให้กับสภาผู้แทนประชาชน โดยเพิ่งจะมีการนำมาอภิปรายเป็นเวลาแปดปีหลังจากนั้นคือในปี 2012 สภาผู้แทนประชาชนวาระปี 2014-2019 ได้เห็นชอบร่างประมวลกฎหมายอาญาในเบื้องต้น แต่การตัดสินใจดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักจากประชาชน รวมถึงจากบรรดานักกฎหมายและนักศึกษาด้วย

เดือนกันยายนปี 2019 ประธานาธิบดี โจโก วีโดโด (Joko Widodo) ตัดสินใจเลื่อนการประกาศบังคับใช้และให้คณะทำงานร่างกฎหมายกลับไปทบทวนมาตราที่เป็นปัญหา คณะทำงานจึงได้นำร่างประมวลกฎหมายอาญาไปศึกษากันใหม่อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนปี 2020 กฎหมายอาญาที่เพิ่งผ่านสภาไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมาไม่ได้มีความแตกต่างในเนื้อหาที่สำคัญๆ จากร่างในปี 2019 มากนัก ในตอนแรกสภาผู้แทนประชาชนต้องการจะผ่านร่างกฎหมายอาญาในเดือนสิงหาคมปี 2022 แต่ก็ยกเลิกไปเพราะว่ารัฐบาลต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็น จนในที่สุดก็ผ่านร่างในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน พร้อมกันนั้น การประท้วงของมวลชนหลังจากผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวก็เกิดขึ้นแทบจะทันทีทันใด

A woman is whipped with 100 lashes in public by a member of the Sharia police after being charged with having pre-marital sex in Lhokseumawe, Aceh – the only region in the world’s biggest Muslim-majority nation that imposes Islamic law – on June 28, 2021. (Photo by Azwar Ipank / AFP)

ประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่: pro and contra

ประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาอินโดนีเซียมีทั้งสิ้น 627 มาตรา ตังอย่างมาตราที่ครอบคลุมการกระทำความผิดและบทลงโทษที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมีดังนี้

  1. การมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกสมรส มีโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี หรือปรับ 10 ล้านรูเปียห์
  2. การอยู่กินฉันท์สามี-ภรรยาโดยไม่แต่งงาน มีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือปรับ 10 ล้านรูเปียห์
  3. การชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้า มีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือปรับ 10 ล้านรูเปียห์
  4. ดูหมิ่นประธานาธิบดี, รัฐบาล และสถาบันหลักของชาติ มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับ 200 ล้านรูเปียห์
  5. เผยแพร่แนวความคิดต่อต้านรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการเพยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ มีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับ 200 ล้านรูเปียห์
  6. อาชญากรรมทางศาสนา มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับ 75 ล้านรูเปียห์

โดยกฎหมายดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในอีกสามปีข้างหน้า หลังจากมีประกาศจากสภาผู้แทนประชาชนว่าผ่านร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว ชาวอินโดนีเซียที่ไม่เห็นด้วยได้ออกมาชุมนุมประท้วงกฎหมายดังกล่าว ข้อที่ประชาชนอินโดนีเซียโดยเฉพาะนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวเห็นว่าเป็นปัญหาคือการห้ามการชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าและการห้ามดูหมิ่นประธานาธิบดี และสถาบันหลักของชาติ ซึ่งเท่ากับเป็นการเสื่อมถอยของการการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ ตลอดจนบทบัญญัติอื่นๆ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าคลุมเครือ กำกวม และจะนำไปสู่การตีความตามอำเภอใจของผู้บังคับใช้กฎหมายได้

นอกจากนี้ยังมีความกังวลของประชาชนอินโดนีเซียและนักสิทธิมนุษยชนว่าบทบัญญัติในกฎหมายนี้อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติต่อคนบางกลุ่มภายใต้กฎหมายที่มีความโน้มเอียงไปทางคำสอนของศาสนาอิสลาม และอาจสร้างความเสี่ยงต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ได้ บรรดาผู้ต่อต้านได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายดังกล่าวและเพิกถอนบางบทบัญญัติออกจากประมวลกฎหมาย

อย่างไรก็ตามมีผู้ชี้ว่ากฎหมายประมวลอาญาฉบับใหม่นี้ไม่ได้ระบุว่าการเป็นกลุ่มเพศหลากหลายเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มองค์กรที่ต้องการให้มีการบัญญัติกฎหมายว่าการรักเพศเดียวกันหรือเป็นกลุ่มเพศหลากหลายเป็นความผิดทางอาญา ทั้งนี้ แม้จะไม่ได้ระบุว่าการเป็น LBGTQ+ ผิดกฎหมายแต่การห้ามมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกสมรสเท่ากับเป็นการปิดประตูการดำเนินชีวิตของคู่รักเพศเดียวกัน เนื่องจากว่าการสมรสของคนเพศเดียวกันไม่ได้รับการยอมรับโดยกฎหมายของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเท่ากับว่าพวกเขาไม่มีสิทธิใช้ชีวิตปกติเฉกเช่นคู่รักต่างเพศ และความสัมพันธ์ทางเพศซึ่งเป็นเรื่องปกติของคู่รักต่างเพศ (ที่ต้องแต่งงานจึงจะถูกต้องตามกฎหมายอาญา) ก็จะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายทันทีหากเกิดกับคู่รักเพศเดียวกัน (ที่แต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ได้)

ก่อนหน้านี้ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนและนักศึกษาทั่วทั้งอินโดนีเซียในช่วงปี 2019 ซึ่งในตอนนั้นการต่อต้านยุติลงชั่วคราวจากการที่ประธานาธิบดีโจโก วีโดโดยับยั้งการพิจารณาผ่านกฎหมายและให้คณะทำงานนำกลับไปศึกษาใหม่ และในช่วงกลางปีนี้ก่อนจะมีการผ่านร่างกฎหมายโดยสภา บรรดาผู้คัดค้านร่างกฎหมายก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ผู้นำนักศึกษาได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวในบทบัญญัติที่ห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งล่วงหน้าเป็นการละเมิดต่อกฎหมายเลขที่ 9 ปี 1998 เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นผลผลิตของยุคปฏิรูปและการพัฒนาประชาธิปไตย

การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้มาจากภายในประเทศเท่านั้นแต่มาจากนอกประเทศด้วย นอกจากบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติจะงุนงงตกอกตกใจกับกฎหมายฉบับใหม่นี้แล้ว องค์การสหประชาชาติได้ออกมากล่าวว่ากฎหมายอาญาฉบับใหม่ของอินโดนีเซียนี้ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนและเป็นการเลือกปฏิบัติ นอกจากนั้นบรรดานักลงทุนก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงกฎหมายใหม่ฉบับนี้และต้องการให้รัฐบาลอินโดนีเซียแถลงให้ชัดเจนว่ากฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมหรือส่งผลต่อคนต่างชาติ นักท่องเที่ยวและนักลงทุนในอินโดนีเซียอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตามโฆษกกระทรวงยุติธรรมอินโดนีเซียได้แถลงว่า กฎหมายใหม่นี้มีจุดประสงค์เพื่อรักษาศีลธรรมอันดีงาม เพื่อปกป้องสถาบันครอบครัว การแต่งงานและคุณค่าของชาวอินโดนีเซีย โดยผู้ที่จะแจ้งความเอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้นั้น ต้องเป็นผู้ปกครอง บิดา มารดา ภรรยา หรือบุตรของผู้ที่กระทำความผิดนั้นๆ เท่านั้น ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็สามารถแจ้งความได้ และหลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และประท้วงอย่างหนักจากทั้งในและต่างประเทศ คณะทำงานประชาสัมพันธ์ประมวลกฎหมายอาญาฉบับบนี้ได้ออกมากล่าวว่าบทบัญญัติเรื่องห้ามมีความสัมพันธ์ทางเพศนอกสมรสจะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างชาติ และความเป็นส่วนตัวของประชาชน นักท่องเที่ยวและชุมชนยังคงได้รับการเคารพและคุ้มครองโดยกฎหมาย

เหตุผลของผู้ที่สนับสนุนกฎหมายอาญาฉบับใหม่นี้คือ 1. การปลดแอกกฎหมายของประเทศอินโดนีเซียจากมรดกจากยุคอาณานิคม กฎหมายฉบับนี้สะท้อนถึงความเป็นอินโดนีเซียที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคม 2. ศีลธรรมอันดีงามของประชาชน กฎหมายฉบับนี้จะช่วยธำรงรักษาสถาบันครอบครัวและจริยธรรมอันดีในหมู่ประชาชน บรรดาผู้ที่สนับสนุนกฎหมายอาญาฉบับใหม่นี้ส่วนมากคือกลุ่มผู้ที่เคร่งครัดและยึดมั่นในศาสนาอิสลาม

อิทธิพลของศาสนาอิสลามในการเมืองอินโดนีเซีย

การผ่านร่างกฎหมายอาญาโดยสภาผู้แทนประชาชนสะท้อนถึงอิทธิพลของศาสนาอิสลามที่เพิ่มมากขึ้น (ดังจะเห็นได้จากกลิ่นอายของกฎหมายที่มีแนวโน้มไปทางศาสนาค่อนข้างมาก) ในอินโดนีเซียหลังจาการการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่เมื่อปี 1998 และอาจจะนับได้ว่าเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ ‘โลกหันขวา’ ที่หลายประเทศทั่วโลกประสบในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อันที่จริงแล้วศาสนาอิสลามมีอิทธิพลทางการเมืองในอินโดนีเซียมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม องค์กรและขบวนการชาตินิยมที่มีพื้นฐานทางศาสนาอิสลามมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อเอกราชและการสร้างชาติอินโดนีเซีย พรรคการเมืองอิสลามเคยเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอับดับสองและสามในการเลือกตั้งครั้งแรกของอินโดนีเซียในปี 1955

อย่างไรก็ตามภายใต้ยุคระเบียบใหม่ (ค.ศ. 1967-1998) ของ ซูฮาร์โต (Suharto) อิสลามถูกเบียดขับออกจากการเมือง พรรคการเมืองอิสลามถูกยุบรวมกันให้เหลือเพียงพรรคเดียว ทำให้อิสลามหมดบทบาทในทางการเมืองแบบทางการ และเมื่อเข้าสู่ยุคปฏิรูปมีการแก้ไขกฎหมายการก่อตั้งพรรคการเมือง เกิดพรรคการเมืองต่างๆ ขึ้นมากมาย รวมถึงพรรคอิสลาม แต่ทว่าพรรคการเมืองอิสลามไม่เคยได้รับคะแนนเสียงค่อนข้างมากในการเลือกตั้งอีกเลย แต่เราจะเห็นบทบาทเคลื่อนไหวของกลุ่มอิสลามตามท้องถนนที่ออกไปประท้วงเรียกร้องหรือแสดงจุดยืนในเรื่องต่างๆ เคยมีนักวิชาการวิเคราะห์ว่าที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากกลุ่มอิสลามไม่มีพื้นที่ในสภา ดังนั้น ‘ถนน’ หรือ ‘การชุมนุม’ จึงเป็นเวทีสำหรับพวกเขาที่จะส่งเสียงไปยังผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีมานี้ อิทธิพลของกลุ่มอิสลามมีเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการประสานประโยชน์ของกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมือง รองประธานาธิบดีของโจโก วีโดโดในสมัยที่สอง เป็นอดีตผู้นำสภาอูลามา (ผู้นำศาสนาอิสลาม) แห่งชาติและผู้นำองค์กรอิสลามใหญ่ของอินโดนีเซีย เป็นที่น่าติดตามและจับตาดูว่าประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก (และมีความหลากหลายของประชากรทั้งทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาและความเชื่อ) แต่ไม่ได้เป็นรัฐอิสลาม และยังได้รับการยกย่องในเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตยหลังอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมาอย่างยาวนานกว่าสามทศวรรษจะเดินไปในทิศทางใด


ข้อมูลประกอบการเขียน

Azka, Rinaldi Mohammad. “Tim Sosialisasi KUHP Nasional: Pasal Perzinahan di KUHP Baru Tak Bakal Ganggu Pariwisata dan Investasi.” Bisnis.com, 11 December 2022, https://kabar24.bisnis.com/read/20221211/15/1607335/tim-sosialisasi-kuhp-nasional-pasal-perzinahan-di-kuhp-baru-tak-bakal-ganggu-pariwisata-dan-investasi

Chayani, Helmalia, Firdaus, Intan Nurul, Sitanggang, Julia Elisabeth and Irawan, Ferry. “Kebijakan Pasal-Pasal Kontroversial dalam RUU KUHP Ditinjau dari Perspektif Dinamik Sosial Kultur Masyarakat Indonesia.” Journal of Law, Administration, and Social Science, Volume 2 No. 2, 2022: 81-90.

Damarjati, Danu. “Ada Pasal Paham Terlarang di RKUHP, YLBHI: Sangat Karet, Bahaya Sekali!.” DetikNews, 3 December 2022, https://news.detik.com/berita/d-6441323/ada-pasal-paham-terlarang-di-rkuhp-ylbhi-sangat-karet-bahaya-sekali

Hanifah, Syifa. “Ini Sejarah KUHP, Produk Hukum Peninggalan Belanda yang Digunakan Indonesia.” Merdeka, 24 September 2019, https://www.merdeka.com/peristiwa/ini-sejarah-kuhp-produk-hukum-peninggalan-belanda-yang-digunakan-indonesia.html

Harruma, Issha. “Sejarah KUHP dan Perjalanan Menuju KUHP Baru.” Kompas, 5 July 2022, https://nasional.kompas.com/read/2022/07/05/01500051/sejarah-kuhp-dan-perjalanan-menuju-kuhp-baru

Humas dan Protokol BPHN. “RUU KUHP Disahkan menjadi Undang-undang,” 6 December 2022, Badan Pembinaan Hukum Nasional, Kementerian Hukum & HAM R.I, https://bphn.go.id/publikasi/berita/202212061210189/ruu-kuhp-disahkan-menjadi-undang-undang

Ramadhan, Ardito. “Mengenal Pasal Demonstrasi Tanpa Pemberitahuan di RKUHP yang Jadi Kontroversi.” Kompas, 6 July 2022, https://nasional.kompas.com/read/2022/07/06/06300011/mengenal-pasal-demonstrasi-tanpa-pemberitahuan-di-rkuhp-yang-jadi

Sandi, Ferry. “RI Ditegur Keras PBB Heboh KUHP, Pengusaha Ngomong Begini.” CNBC Indonesia, 9 December 2022, https://www.cnbcindonesia.com/news/20221209140622-4-395378/ri-ditegur-keras-pbb-heboh-kuhp-pengusaha-ngomong-begini

Saputra, Andi, “LGBT di RKUHP Bukan Tidak Pidana.” DetikNews, 30 November 2022, https://news.detik.com/berita/d-6434563/lgbt-di-rkuhp-bukan-tindak-pidana

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save