fbpx
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สืบ

สืบ นาคะเสถียร ข้าราชการผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับความอยุติธรรม

วันชัย  ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ปีนี้ครบรอบ 30 ปี การเสียชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533

หลายคนทราบดีว่า ท่านเป็นหนึ่งในตำนานของนักอนุรักษ์ ผู้ยอมอุทิศตัวเองเพื่อธรรมชาติอย่างถึงที่สุด แต่หลายคนคงไม่ทราบว่า ท่านเป็นข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ และไม่ยอมก้มหัวให้กับความไม่ถูกต้องทั้งหลายทั้งปวง แม้จะต้องขัดแย้ง ขัดคำสั่งผู้มีอำนาจ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในยุคสมัยที่บรรดาข้าราชการจำนวนมากทำงานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยไม่ใส่ใจว่าเป็นเรื่องถูกต้อง เป็นเรื่องสุจริต ยุติธรรมหรือไม่ และไม่กล้าแสดงความเห็นใดๆ

เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีโครงการจะสร้างเขื่อนน้ำโจน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี (ตอนนั้นเขตฯ ยังไม่ได้แบ่งเป็นเขตตะวันตก และตะวันออกเหมือนตอนนี้) ทำให้ป่าแห่งนี้ต้องจมน้ำไปประมาณ 140,000 ไร่ ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนชาวกาญจนบุรี นักวิชาการ นักอนุรักษ์จำนวนมาก

สืบ นาคะเสถียร ข้าราชการตัวเล็กๆ ในกรมป่าไม้ ผู้ทำการศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าผืนนั้น ได้ออกมาร่วมรณรงค์ประท้วงการสร้างเขื่อนน้ำโจนอย่างเด็ดเดี่ยว ร่วมกับประชาชนจำนวนมาก

ขณะที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมป่าไม้ แทนที่จะออกมาแสดงความเห็นไม่เห็นด้วย กลับสนับสนุนการสร้างเขื่อนชัดเจน เพราะความเป็นไปได้ของการสร้างเขื่อนสูงมาก เวลานั้น กฟผ.เสนอโครงการอะไรมา รัฐบาลมักจะไม่เคยปฏิเสธ

พี่สืบใช้บทเรียนความล้มเหลวจากการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นกรณีศึกษาสำคัญ สืบ ข้าราชการตัวเล็กๆ ได้แสดงความกล้าหาญประกาศตัวคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนเต็มตัว โดยไม่สนใจธรรมเนียมปฏิบัติของระบบราชการที่ไม่ควรออกมาคัดค้านหน่วยราชการด้วยกันเอง

แต่เมื่อเขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง เขากล้าออกมาพูดสิ่งที่ถูกต้อง

ในฐานะข้าราชการที่ทำงานดูแลธรรมชาติ เขาได้แสดงความเห็นในที่สาธารณะว่า เราจะสูญเสียสัตว์ป่ามหาศาลเพียงใด หากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน  สืบยึดถือข้อมูลที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัด และทนไม่ได้ที่จะมีใครมาบิดเบือนข้อเท็จจริงทางวิชาการ

ในที่ประชุม สืบเคยโต้เถียงกับอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนที่พูดทำนองว่า ปัญหาด้านสัตว์ป่าสามารถแก้ไขได้ อาทิ หากนกยูงต้องการหาดทรายเป็นพื้นที่อาศัย แม้ว่าน้ำจะท่วมหาดทราย เราก็สร้างหาดเทียมได้

สืบ ข้าราชการชั้นผู้น้อยได้กล่าวแย้งเจ้านายระดับอธิบดีอย่างไม่เกรงใจว่า

“ความคิดนี้เป็นความคิดของคนที่ไม่รู้เรื่องการจัดการด้านสัตว์ป่าเลย”

 

 

สัปดาห์สุดท้ายก่อนการตัดสินใจของรัฐบาล สืบทำงานหนักมากจนสามารถตีพิมพ์รายงานทางวิชาการเรื่อง “การประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน” และรายงานชิ้นนี้มีส่วนสำคัญในการยุติการสร้างเขื่อนน้ำโจนได้สำเร็จ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาผลกระทบของการสร้างเขื่อนในประเทศ

ในวันตัดสิน สืบเข้าชี้แจงต่อกรรมการด้วยตัวเอง หลายฝ่ายสิ้นความสงสัยว่า สัตว์จำนวนมากต้องล้มตายลงหากมีการสร้างเขื่อนน้ำโจน

“เราชนะแล้ว” สืบพูดสั้นๆ ภายหลังออกมาจากห้องประชุมด้วยรอยยิ้ม

ภายหลังเมื่อรัฐบาลมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน กลุ่มนักอนุรักษ์ได้วิเคราะห์ว่า น่าจะมีมาตรการระยะยาวเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเสนอโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนในอนาคตอีก และในเวลานั้นประเทศไทยได้เป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก จึงเห็นว่าสืบน่าจะมีส่วนสำคัญในการเขียนรายงานทางวิชาการเพื่อนำเสนอต่อกรรมการให้พิจารณาว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเหมาะสมที่จะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

สืบสัมผัสกับป่าทุ่งใหญ่มากขึ้น เขาไม่ได้สนใจข้อมูลทางด้านธรรมชาติด้านเดียว แต่เขายังสนใจความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ชาวกะเหรี่ยงว่ามีวิถีชีวิตอย่างไร รักษาป่ากันอย่างไร ครั้งหนึ่งสืบลงไปเก็บข้อมูลด้านชุมชนที่หมู่บ้านแม่จันทะ เขาได้จดบันทึกเรื่องราวชีวิตของลุงเนียเต๊อะ ผู้เฒ่าที่ชาวกะเหรี่ยงนับถือมาก และล่องแพมาถึงป่าดงวี่ ระหว่างทางที่ค้างคืนในป่าสืบมักจะเปิดเทปฟังเพลงกะเหรี่ยงที่เขาอัดเสียงมาตอนที่อยู่ในหมู่บ้าน เขาเคยเล่าให้เพื่อนสนิทฟังว่า

“ฟังแล้วรู้สึกสงสารพวกเขา เพลงกะเหรี่ยงเป็นเพลงที่ฟังแล้วเศร้า เหมือนกำลังจะบอกให้พวกเราช่วยเขา…ถ้าไม่ลงมาที่นี่ ไม่ได้ศึกษาดูก็จะไม่รู้ว่าคนกะเหรี่ยงเป็นยังไง เขาอยู่กันอย่างไร”

 

 

นับแต่นั้นมา สืบได้พัฒนาความคิดจากการเป็นนักวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นนักอนุรักษ์ที่มีพื้นฐานทางวิชาการ สืบไม่เก็บตัวเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป เขาขึ้นไปพูดตามเวทีสาธารณะต่างๆ จนคนทั่วไปรู้จักสืบดี เพราะทุกครั้งสืบจะพูดออกมาจากหัวใจ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้”

ตุลาคม 2531 สืบได้ข่าวว่าพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จะถูกกรมป่าไม้ให้สัมปทานบริษัทไม้อัดไทย เพื่อตัดไม้ออกมาจำหน่ายได้ สืบและเพื่อนนักอนุรักษ์หลายคน ได้ทำการประท้วงในจังหวัดอุทัยธานี และบอกว่า คนที่อนุญาตก็คือกรมป่าไม้ที่มีหน้าที่รักษาป่า จนในที่สุดกรมป่าไม้ยอมถอยไม่อนุญาตการทำสัมปทาน

เป็นอีกครั้งหนี่งที่สืบ ข้าราชการตัวเล็กๆ กล้าออกมางัดกับกรมป่าไม้ เมื่อเห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

ประมาณปลายปี พ.ศ. 2532 ผู้เขียนได้รับโทรศัพท์จากพี่สืบ นัดให้มากินข้าวด้วยกัน มีเรื่องจะปรึกษา สืบเล่าให้ฟังว่า เขากำลังตัดสินในเรื่องสำคัญในชีวิต คือพี่สืบกำลังจะได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ในขณะเดียวกับที่ทางผู้ใหญ่สั่งให้ไปดำรงตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

คนส่วนใหญ่หากได้รับโอกาสนี้ คงจะเลือกการไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีโอกาสไต่ขึ้นถึงระดับอธิบดี แต่สืบตัดสินใจเลือกไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่ตอนนั้นแทบไม่มีใครรู้จัก

แกรู้ว่าป่าที่นั่นคือหัวใจของป่าด้านตะวันตกในเมืองไทย สืบ นาคะเสถียรเลือกไปอยู่แนวหน้าเพื่อปกป้องป่าและสัตว์ป่าแทนพวกเราทุกคน

ธันวาคม 2532 สืบ นาคะเสถียร เดินทางเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตฯ ด้วยความมุ่งมั่นและใจเต็มร้อยที่จะรักษาผืนป่าที่นี่ให้ดีที่สุด

ห้วยขาแข้งเป็นป่าที่มีพื้นที่ขนาด 1 ล้าน 6 แสนกว่าไร่ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งเดียวที่ไม่มีราษฎรบุกรุกอาศัยอยู่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าที่หายากจำนวนมาก เช่น กระทิง วัวแดง ควายป่า นกยูงไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง เสือดาว ช้างป่า ฯลฯ

 

 

วันแรกที่เขาเข้ารับตำแหน่ง เขาก็ออกจับไม้เถื่อน ไปดูพื้นที่ในป่าประดู่ที่ถูกโค่นกว่า 200 ต้นเพื่อแปรรูปในป่า สืบไม่พูดอะไร เดินก้าวยาวๆ ออกมาดูท่อนไม้ตามทางในป่าโดยไม่สนใจว่าใครจะตามมาทันหรือไม่ ไม่กลัวหลงป่า ไม่กลัวถูกลอบทำร้าย แล้ววิทยุติดต่อเจ้าหน้าที่สั่งการให้รายงานเป็นระยะๆ

แล้วสืบก็พบว่า ป่าที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานคร อยู่ในความรับผิดชอบของข้าราชการ 12 คน เจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า 30 คน และลูกจ้างชั่วคราว 120 คน แบ่งไปประจำหน่วยพิทักษ์ป่า 12 หน่วย แต่ละหน่วยจะต้องรับผิดชอบพื้นที่ป่าถึงหน่วยละ 1 แสนกว่าไร่

และที่น่าตลกคือ งบประมาณในการดูแลป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งนี้ ได้เพียงไร่ละ 80 สตางค์ต่อปี ในขณะที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกจนเสื่อมสภาพแล้วรัฐให้เงินถึงไร่ละ 1,000 บาทต่อปี

“จะให้ผมไปรักษาอะไร มาเคี่ยวเข็ญให้ผมรักษาป่า แถมยังต้องมาชี้แจงอีกว่ารักษาอย่างไร” สืบเคยพูดอย่างเหลืออด

“ผมพูดได้เลย มันมีการยิงกันทุกวัน ไปตามก็เจอแต่กองไฟ เจอซากที่ชำแหละไว้เรียบร้อย จับมันได้ครั้งหนึ่ง มันพร้อมจะล่าสิบครั้งกว่าจะโดนจับ ถูกปรับแค่ 500 บาท คุกก็ไม่ติด กว่าเราจะจับมันได้ ต้องไปอดหลับอดนอน แบกข้าวสารไปกินในป่า มันหนีเราแต่เราต้องตามจับ อย่างเมษายนปีที่แล้ว ลูกน้องผมถูกนายพรานยิงตายสองคน เจ้าหน้าที่ยิงก่อนก็ไม่ได้ ถือว่าเกินกว่าเหตุ ผู้ต้องหามันเห็นหน้าเรา มันยิงใส่เราแล้วเราก็ตาย เรามีค่าเหรอ ตายไปอย่างดีก็เอาชื่อมาติดที่อนุสาวรีย์หน้ากรมป่าไม้”

สืบรู้ดีว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานด้วยความยากลำบากยิ่งนักในป่าเปลี่ยวที่พร้อมจะโดนยิงเมื่อไรก็ได้ โดยไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งสิ้นให้แก่ครอบครัวและตัวเขา นอกจากเงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวไม่เกินคนละ 1,500 บาทต่อเดือน ไม่มีสวัสดิการ หรือประกันชีวิตใดๆ ทั้งสิ้น และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ พวกเขาขาดวิทยุสื่อสารที่จะติดต่อกันได้ในพื้นที่มหาศาล และรถก็ไม่เพียงพอ แม้กระทั่งอาวุธประจำกายก็มีเพียงปืนลูกซอง ขณะที่นักล่าสัตว์มีปืนเอ็ม 16 เป็นอาวุธล่าสัตว์

ด้านตะวันออกของป่าห้วยขาแข้งอยู่ติดกับหมู่บ้านหลายแห่ง ชาวบ้านเองมักจะลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ หรือเป็นคนนำทางให้แก่พรานในเมือง บางครั้งก็มีใบสั่งจากกลุ่มอิทธิพลว่าต้องการสัตว์ป่าประเภทไหน เขากระทิงจะมีราคาประมาณ 4,000-5,000 บาท ถ้าเป็นเขาควายป่าอาจจะมีราคาสูงเป็นหมื่นบาทขึ้นไป ร้านอาหารสัตว์ป่ารอบห้วยขาแข้งก็มีอาหารสัตว์ป่าไว้บริการลูกค้าได้ตลอดปี

ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของห้วยขาแข้งส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานในหมู่บ้านเช่นกัน การจับกุมพี่น้องกันเองก็เป็นเรื่องสะเทือนใจ เมื่อลูกน้องมารายงานว่าพบซากสัตว์ พบกระทิงถูกตัดหัว พบซากวัวแดง เขาจะนิ่งเงียบและเจ็บปวดอยู่ในใจ จับนักล่าไม่ได้แต่สัตว์ตายตลอด แต่พอจับคนล่าได้ คนเหล่านี้ก็ล้วนเป็นคนยากคนจน ไม่สามารถลากคอผู้บงการ หรือเจ้าของร้านอาหารสัตว์ป่ามาลงโทษได้สักครั้ง

“ลำพังชาวบ้านอย่างเดียวมันไม่หนักหนาหรอก ถ้าหากไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง เดี๋ยวนี้ชาวบ้านจะขนไม้เถื่อนหรือล่าสัตว์ ก็มักจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมด้วย มันก็เลยกลายเป็นว่า ถ้าเราอยากจะทำหน้าที่ของเรา อยากจะรักษาป่า รักษาสัตว์ป่า เราต้องขัดแย้งกับทั้งฝ่ายภาครัฐและฝ่ายประชาชนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน”

 

 

สืบเริ่มตระหนักว่า ปัญหาในป่าห้วยขาแข้งดูจะยิ่งใหญ่และสลับซับซ้อนมากกว่าที่เขาประเมินไว้แต่แรก สืบพยายามขอความร่วมมือจากหน่วยราชการนอกป่าห้วยขาแข้ง ในการช่วยกันป้องกันการทำลายป่าและการล่าสัตว์ โดยเฉพาะบริเวณป่าสงวนรอบๆ ป่าห้วยขาแข้งซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของเขา เขาพยายามเดินเข้าหาผู้ใหญ่ ไปพูดคุยกับทุกคน แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง กรมป่าไม้เองก็ไม่สนับสนุนสิ่งใด

ในขณะที่ปัญหาการตัดไม้ ล่าสัตว์ป่า เมื่อสาวไปถึงตัวการแล้ว มักจะรอดทุกที เพราะเป็นบุคคลในเครื่องแบบ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จับได้ทีไรก็หลุดหมด

เบลินดา สจ๊วต ค็อกซ์ เพื่อนสนิทชาวอังกฤษได้เล่าให้ผมฟังเมื่อไม่นานมานี้ว่า

“เขาพบว่านายทหารหลายคนอยู่เบื้องหลังการล่าสัตว์ สืบจึงไม่ยอมให้ทหารมาฝึกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และนายตำรวจหลายคนอยู่เบื้องหลังการตัดไม้ทำลายป่า แต่ไม่มีใครทำอะไรได้ หลายครั้งที่สืบจับคนเหล่านี้ได้ ก็ถูกสั่งให้ปล่อย”

สืบเคยพูดด้วยความคับแค้นว่า

“มันมีการยิงกันทุกวัน เราเจอแต่ซาก…ลูกน้องผมเดินป่าลาดตระเวนถูกนายพรานยิงตายไปสองคน ตอนนั้นพวกเราต้องแบกศพออกมาจากป่าลึก คนตายเป็นแค่ลูกจ้างกรมป่าไม้ ไม่มีสวัสดิการใดๆ เงินช่วยเหลือก็แทบจะไม่มี”

ดร.อลัน ราบิโนวิทซ์ เพื่อนสนิทคนหนึ่งเคยบอกกับสืบว่า

“คุณไม่จำเป็นต้องกังวลกับการที่มีใครตาย เพราะการตายไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของคุณ พวกเขาทำงานของเขา คุณไม่ต้องไปรับผิดชอบพวกเขาถึง 100 เปอร์เซ็นต์หรอก”

แต่สืบตอบกลับทันทีด้วยความเด็ดเดี่ยวว่า

“จะไม่มีใครต้องตายในเขตห้วยขาแข้ง ถ้ามีก็ต้องเป็นผม”

 

 

พฤษภาคม 2533 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ และได้รับการบอกเล่าจากบริษัทตัดไม้ว่า มีการลักลอบตัดไม้ในป่าห้วยขาแข้ง สืบรู้ดีว่ามีความพยายามใส่ร้ายเขา เขาถูกเรียกตัวเข้าพบรัฐมนตรีด่วน สืบชี้แจงว่า เป็นการตัดไม้นอกป่าห้วยขาแข้ง โดยมีผู้มีอิทธิพลหนุนหลัง แต่เขาถูกรัฐมนตรีตัดบทและโยนแฟ้มรายงานใส่หน้า พร้อมกับคำตะคอกว่า “คุณต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม”

สืบโกรธมากและตอบกลับไปว่า “ผมทำงานหนักกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว และผมไม่อาจบอกคนของผมให้ทำงานหนักกว่านี้ได้อีกแล้ว อาทิตย์ที่ผ่านมา พวกเขาแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย”

สืบกลับออกมาด้วยความรู้สึกหนักอึ้ง เหตุการณ์ครั้งนี้ช่วยตอกย้ำว่า สิ่งที่ทำมาแทบเป็นแทบตาย ไม่ได้รับการตอบสนองจากใคร เขารู้สึกสิ้นหวังกับระบบราชการ เขาไม่ได้ภูมิใจกับการเป็นข้าราชการอีกต่อไป

“ทีนี้ผมแน่ใจแล้วว่า ผมกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ผมไม่อาจจะคาดหวังจากใครได้อีกต่อไป”

กอบกิจ (โด่ง) น้องชายของสืบเคยบอกผม ในวันที่สืบแวะมาเยี่ยมบ้านที่กรุงเทพฯ

“ตั้งแต่วันนั้นที่เข้าพบรัฐมนตรีแกเสียใจมาก กำลังใจไม่ค่อยมี ดูแกเครียดมาก ผอมลงไปเยอะ มีครั้งหนึ่งแกเอามีดทิ่มทะลุโต๊ะเสียงดัง แล้วตะโกนว่า ทำอะไรมันไม่ได้ โด่ง พี่ทนไม่ไหวแล้ว…”

 

 

สืบเริ่มเข้าใจแล้วว่า หนทางเดียวที่จะรักษาป่าห้วยขาแข้งให้ได้ คือการผลักดันให้ผืนป่าแห่งนี้ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกร่วมกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งมีพื้นที่ติดกัน รวมพื้นที่ 11.7 ล้านไร่ ทุกเย็นหลังอาหาร สืบจะทุ่มเวลาเขียนรายงานทางวิชาการเกี่ยวกับคุณค่าของผืนป่าแห่งนี้ แม้ไฟจะดับลงตอนสี่ทุ่ม แกจะใช้แสงสว่างจากเทียนไขเพื่อเขียนรายงานให้เสร็จจนดึกดื่นแข่งกับเวลาอันน้อยลงเรื่อยๆ

จนในเวลาต่อมา รายงานชิ้นนี้เป็นเอกสารสำคัญที่สนับสนุนให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการคัดเลือกจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่แนวความคิดนี้อยู่นอกเหนือพื้นที่ของห้วยขาแข้ง เป็นเรื่องของป่าไม้เขต ป่าไม้จังหวัด กระทรวงมหาดไทย ทหาร ตำรวจ และข้าราชการท้องถิ่นที่จะมีอำนาจในการจัดการดังกล่าว แต่สืบก็พยายามอย่างหนัก วิ่งหาผู้ใหญ่ วิ่งหาข้าราชการที่เกี่ยวข้องคนนั้นคนนี้ตลอดเวลา ชี้แจงให้ทุกคนเห็นความสำคัญของแนวความคิดนี้เพื่อรักษาป่าที่ดีที่สุดผืนนี้ให้ได้

แต่ดูเหมือนจะมีเพียงความนิ่งเงียบในระบบราชการไทย ทุกครั้งผู้ใหญ่ในกรมป่าไม้ได้แต่พูดว่า “เอาเลยสืบ คุณทำโครงการมา” แล้วทุกอย่างก็หายเงียบ

หนึ่งอาทิตย์ก่อนเกิดเหตุ ลูกน้องคนหนึ่งออกไปลาดตระเวนตามคำสั่งของเขา ถูกลอบยิงในป่า สืบเปิดดูแผลที่โดนยิง เขาโมโหหน้าแดงกล่ำ และตะโกนก้องออกไป เจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์วันนั้นจำได้แม่นว่า

“ทำไมมึงไม่มายิงกู แน่จริงมายิงกูดีกว่า ลูกน้องกูต้องไม่ตาย ถ้ากูยังเป็นหัวหน้าอยู่ ถ้าต้องมีคนตาย จะต้องเป็นกู”

เช้าวันที่ 31 สิงหาคม สืบ นาคะเสถียร อยู่ในชุดกางเกงสีครีม สวมเสื้อสีส้มอ่อนๆ เดินขึ้นไปบนสำนักงาน เขียนหนังสือและครุ่นคิดอะไรบางอย่าง จนกระทั่งตกบ่าย สืบเริ่มเอาสิ่งของที่เคยยืมมาไปคืนเจ้าของ ประมาณห้าโมงเย็นสืบเดินมาชวนลูกน้องคนสนิทสองสามคนนั่งกินเหล้า หนึ่งในนั้นคือจิตประพันธ์ กฤตาคม หรือหม่อม ซึ่งเป็นคนสุดท้ายที่ได้คุยกับสืบ หม่อมถ่ายทอดบรรยากาศขณะนั้นให้ฟังว่า

“มาถึงแกก็บอกว่าเอาเหล้ามากินกัน กินไปคุยไปจนประมาณสองทุ่มแกบอกให้พี่ยงยุทธ วิทยุไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าจะไม่ไปแล้ว จะส่งวิดีโอไปให้แทน จนประมาณห้าทุ่มผมก็ขอแยกตัวไปเข้าเวร สักประมาณครึ่งชั่วโมง พี่สืบก็เดินตามออกมาขอบุหรี่สูบ แกก็บอกว่า เดี๋ยวพี่กลับไปบ้าน ผมอาสาจะไปส่ง แกบอกไม่ต้อง แกเดินไปซักสี่ห้าก้าวและแกก็หันมาโบกมือ บอกว่า หม่อมพี่ไปแล้วนะ และยิ้มให้ผม เป็นรอยยิ้มที่ผมยังจำได้ถึงทุกวันนี้ “

 

 

ประมาณตีสี่ของวันที่ 1 กันยายน 2533 ยามในห้วยขาแข้งได้ยินเสียงปืนนัดหนึ่ง แต่ไม่ได้คิดอะไร ในป่าแห่งนี้เสียงปืนเป็นเรื่องธรรมดา จนประมาณสิบโมงเช้า เจ้าหน้าที่เริ่มแปลกใจว่าหัวหน้าสืบยังไม่ลงมากินข้าว หม่องจึงอาสาเดินไปตาม  เมื่อไขกุญแจบ้านเข้าไป เขาพบร่างที่ไร้ลมหายใจของหัวหน้าสืบอยู่บนเตียง มีแผ่นกระดาษแผ่นหนึ่งเขียนข้อความไว้ว่า

 

“ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”

ลงชื่อ  สืบ นาคะเสถียร  ผู้ตาย

(นายสืบ นาคะเสถียร)

 

สองอาทิตย์ต่อมา เมื่อสื่อมวลชนทุกฉบับพากันพาดหัวข่าวความสะเทือนใจครั้งนี้ ห่างจากบริเวณที่เกิดเสียงปืนดังไม่กี่สิบเมตร ข้าราชการระดับสูงจากกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองนับร้อยคน พร้อมใจกันมาประชุมปรึกษาหารือในการป้องกันการทำลายป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างแข็งขัน

สืบ นาคะเสถียร รอวันนี้มาตั้งแต่วันแรกที่เขามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง  เขาทำงานอย่างหนักจนร่างกายซูบผอม ทำหน้าที่ข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ของแผ่นดินที่ได้รับมอบหมายมาให้ปกป้องผืนป่าแห่งนี้ เขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อบอกให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหันมาสนใจปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและลักลอบล่าสัตว์อย่างจริงจัง

แต่ดูเหมือนจะมีเพียงความนิ่งเงียบของระบบราชการไทย

หากไม่มีเสียงปืนในราวป่านัดนั้น การประชุมครั้งนั้นก็คงไม่เกิดขึ้น

 

เบลินดา สจ๊วต ค็อกซ์  ได้เปิดเผยความรู้สึกเป็นครั้งแรกว่า สืบตายเพราะอะไร

“ดิฉันคิดว่า เหตุผลสำคัญคือแกผิดหวังกรมป่าไม้ และระบบราชการอย่างรุนแรง สืบถอดแบบมาจากพ่อของเขา คือเป็นข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ แต่ก่อนตายเขารู้สึกอับอายที่เป็นข้าราชการ แต่ทำงานไม่สำเร็จ เขาเคยบอกดิฉันก่อนหน้าหนึ่งเดือนที่จะยิงตัวตายว่า เขาอับอายในการเป็นคนไทย เพราะปัญหาคอร์รัปชันมากเหลือเกิน

“แต่สาเหตุใหญ่สุดคือ เมื่ออธิบดีกรมป่าไม้สมัยนั้นพบว่า ทหาร ตำรวจเป็นคนตัดไม้ล่าสัตว์ตัวจริง และเขาต้องการคนซื่อสัตย์และอุทิศตัวจริงจังไปจัดการ ดังนั้นใครจะเหมาะสมเท่าสืบ อธิบดีคนนี้จึงสนับสนุนให้สืบไปเป็นหัวหน้าป่าห้วยขาแข้ง แต่เมื่อสืบลุยงานจริงจัง และรายงานให้ฟังถึงปัญหาในพื้นที่ว่าใครอยู่เบื้องหลังการตัดไม้ ล่าสัตว์ อธิบดีกลับไม่ช่วยเหลือหรือปกป้องสืบแต่อย่างใด ทำให้เขารู้สึกผิดหวังและเสียใจมาก คือผู้ใหญ่ส่งให้สืบไปออกรบแนวหน้า แต่ไม่ช่วยเหลืออะไรเลย เขารู้สึกโดดเดี่ยวมาก เขารู้สึกว่า เขาไม่อาจทำให้ป่าห้วยขาแข้งลดปัญหาการตัดไม้และล่าสัตว์ได้”

สืบ สูญสิ้นความหวังและสูญสิ้นศรัทธาต่อตัวเอง ต่ออาชีพข้าราชการ และกรมป่าไม้ เขารู้สึกเจ็บปวดต่อคนที่ชักชวนเขามาทำงานที่นี่ แต่กลับทรยศเขา เขารู้สึกหดหู่ หมดหวัง และอ้างว้างเกินกว่าที่จะมีคนเข้าใจได้

แกสิ้นหวังกับระบบราชการไทย สิ้นหวังกับผู้ใหญ่ที่ไม่สนใจ

สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งเขาอาจจะถูกยิงตายจากการบงการของผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย

สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งลูกน้องของเขาซึ่งเขาเป็นคนส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่ ต้องถูกยิงตายอย่างไร้ค่าเพราะไม่มีใครสนใจ สืบไม่ใช่คนกลัวตาย แต่ทนไม่ได้ที่ลูกน้องเขาต้องตายไปต่อหน้า โดยที่เขาไม่อาจทำอะไรได้

สืบมีความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้สัตว์ป่าและป่าไม้ในป่าห้วยขาแข้งอยู่รอด

เมื่อความมุ่งมั่นของเขาที่มีต่อห้วยขาแข้งถูกทำลายลงอย่างย่อยยับจากระบบราชการ และผู้มีอำนาจในเมืองไทย ที่ไม่เคยสนใจปัญหาการทำลายธรรมชาติอย่างจริงจัง

เขาเคยปรึกษาแม่ว่าจะลาออกและไปบวช แต่เขาก็ไม่ลาออก การลาออกเป็นการทรยศต่อตัวเอง ทรยศต่อห้วยขาแข้ง และทรยศต่อลูกทีมของเขา

แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่สามารถทำให้ความมุ่งมั่น ความเชื่อของเขาเป็นจริงได้ มีแต่ความเจ็บปวดภายใน

สืบ นาคะเสถียร เป็นคนไม่เคยทรยศต่อหลักการ และความมุ่งมั่นของตัวเอง

มีคนเคยกล่าวว่า “ความตายเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาเพื่อให้หลุดพ้นจากความเจ็บปวด ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความเจ็บปวดทางร่างกาย อาจเป็นความรู้สึกภายในใจ แล้วเราก็หยิบสิ่งที่ธรรมชาติให้มาดำเนินการหยุดยั้งความเจ็บปวดนั้น”

บางทีการตั้งใจฆ่าตัวตายอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่ทำให้สืบหลุดพ้นจากความเจ็บปวด

เสียงปืนในราวป่าห้วยขาแข้งเมื่อสามสิบปีก่อน ยังคงดังกึกก้องมาจนถึงบัดนี้

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save