fbpx

Exclusive เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ: คำตอบในสายลมแห่ง ‘หน้าที่’ ผู้ว่าแบงก์ชาติ กลางพายุมหาวิกฤต

ปกป้อง จันวิทย์, สมคิด พุทธศรี และวงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา เรื่อง

ธนาคารแห่งประเทศไทย ภาพถ่าย

พลันที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยลำดับที่ 23 ประกาศเจตนารมณ์ว่าไม่ประสงค์จะรับตำแหน่งต่อเมื่อครบวาระในเดือนกันยายน 2563 ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่วังบางขุนพรหม – ด้วยความวิตกกังวล

ในช่วงเวลานั้น แม้ประเทศไทยจะได้รับการชื่นชมว่าสามารถรับมือกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ระลอกแรกได้ดี หากวัดกันที่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต แต่ก็ต้องแลกมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหน่วงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ในสถานการณ์เช่นนี้ สังคมเศรษฐกิจไทยต้องการขุนพลเศรษฐกิจชั้นเยี่ยม – มือถึง

ชื่อของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของเมืองไทยอยู่ในใจของใครหลายคน

จากนักศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล เศรษฐพุฒิผ่านประสบการณ์ทำงานในหลากหลายแวดวง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ – ผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540, นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี., ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในช่วงวิกฤตซับไพรม์, ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา, กรรมการในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรรมการบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย และบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)

ต้นปี 2562 ทีม 101 สนทนากับเศรษฐพุฒิว่าด้วยโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจโลกและไทย ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้น เศรษฐพุฒิแซวตัวเองหลายครั้งว่าตัวจริงของเขาไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากเป็น ‘เนิร์ดเศรษฐศาสตร์’

เวลาผ่านไป 2 ปี เศรษฐกิจโลกและไทยสับสนผันผวนกว่าเดิมมาก 101 ชวน ‘เนิร์ดเศรษฐศาสตร์’ คนเดิมกลับมาพูดคุยอีกครั้ง คราวนี้มาในหมวกใบใหม่ที่ใหญ่และยากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว นั่นคือ ‘ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย’ – ใช่! ในที่สุด เขาตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการสรรหาหลังจากปราศจากชื่อของเขาลงสมัครในรอบแรก เป็นการยื่นใบสมัครในช่วง 10 นาทีสุดท้ายของวันสุดท้ายในรอบขยายเวลา

ตลอด 3 ชั่วโมงครึ่งของการสนทนาตามประสา ‘เนิร์ดเศรษฐศาสตร์’ ด้วยกัน เราพูดคุยตั้งแต่เบื้องหลังการตัดสินใจลงสนามชิงตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ เบื้องลึกการทำนโยบายในภาวะวิกฤต การเปลี่ยนวัฒนธรรมเทคโนแครตของ ธปท. เทรนด์ใหญ่ของธนาคารกลางทั่วโลก และการตั้งหลักใหม่ของประเทศไทยแห่งอนาคต

8 เดือนของ ดร.เศรษฐพุฒิในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ฟังดูเหมือนสั้น แต่กลับเข้มข้นยิ่ง

1.
สายลมแห่งชะตากรรม
จากนักเศรษฐศาสตร์ผู้ชื่นชอบหนังสือ ‘ทรราชย์เทคโนแครต’ สู่ ‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’

ในการสัมภาษณ์ครั้งก่อน เราปิดท้ายด้วยการชวนคุณแนะนำหนังสือน่าอ่านเพื่อรับมือกับโลกใหม่ จำได้ว่าคุณแนะนำหนังสือสองเล่ม คือ A Demon of Our Own Design ของ Richard Bookstaber และ The Tyranny of Experts (ทรราชย์เทคโนแครต: โลกการพัฒนาใต้เงาเผด็จการ) ของ William Easterly ผ่านไปสองปีกว่า โลกและไทยเปลี่ยนไปมหาศาลด้วยวิกฤตโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเมือง ถ้าวันนี้จะชวนให้คุณแนะนำหนังสืออีกสองเล่มให้เท่าทันโลก เราอ่านอะไรกันดี  

ผมยังชอบ The Tyranny of Experts นะ เนื้อหาของหนังสือยังคงสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นหนังสือใหม่ขอแนะนำ Antisocial: Online Extremists, Techno-Utopians and the Hijacking of the American Conversation ของ Andrew Marantz  หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยผลของโซเชียลมีเดียที่บิดเบือนความคิดของคน โดยใช้กลุ่มขวาจัดในสหรัฐอเมริกาเป็นกรณีศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นร่วมสมัยมาก เพราะปัญหาความไว้วางใจ (trust) กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย โลกออนไลน์ทำให้ความคิดและความเชื่อของผู้คนกระจัดกระจายแยกส่วน เข้าใจความจริงกันไปคนละทิศละทาง แตกต่างจากสมัยก่อนที่ทุกคนเสพสื่อหลัก สังคมมีความรู้และความเข้าใจพื้นฐานร่วมกัน แต่ตอนนี้คล้ายว่าแต่ละคนติดอยู่ในโลกคัดกรองของตัวเอง (filter bubble) ใครชอบอะไร อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียก็จะให้ดูแต่สิ่งที่ตัวเองชอบและเห็นด้วย ไม่ไว้วางใจคนคิดต่างนอกกลุ่มง่ายๆ

สภาพแบบนี้ส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะด้วย เพราะหากประชาชนไม่เชื่อมั่นว่านโยบายต่างๆ กำลังเดินไปถูกทาง พื้นที่ทางนโยบายจะถูกจำกัดมาก ความไว้วางใจต่อนโยบายมีความสำคัญสำหรับกระบวนการจัดทำนโยบายมากกว่าเรื่องเทคนิคอย่างอัตราดอกเบี้ยหรือหนี้สาธารณะเสียอีก

ส่วนอีกเล่มหนึ่ง… (นิ่งคิด)

ตอนนี้เราเจอวิกฤตที่ใหญ่มากและใหม่มาก คุณมองหาภูมิปัญญาและองค์ความรู้จากแหล่งไหนเพื่อรับมือวิกฤตที่เต็มไปด้วยความไม่รู้

ผมชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ค่อยเกี่ยวกับงานเท่าไหร่ เพราะจะได้ลืมงานที่ทำอยู่บ้าง (หัวเราะ) เรื่องราวในอดีตช่วยให้เกิดมุมมอง (perspective) และในมุมมองก็มีภูมิปัญญา (wisdom) เป็นองค์ประกอบอยู่

มุมมองเชิงประวัติศาสตร์ช่วยให้เราถอยกลับมามองภาพใหญ่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการตัดสินใจที่ยากและซับซ้อน อย่างวัฒนธรรมของ ธปท. เป็นวัฒนธรรมแบบวิชาการ เต็มไปด้วยประเด็นศึกษาวิเคราะห์ ตอนลงมือทำอะไรเลยเหมือนคนเขียนหนังสือแล้วนึกถึงเชิงอรรถตลอดเวลา ซึ่งหลายครั้งทำให้มองภาพใหญ่ไม่ชัดว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ 

ผมมักจะถามในที่ประชุมว่า “หน้าที่ของเราคืออะไร” หลักการตั้งต้นแบบนี้ช่วยให้มองเห็นชัดเจนขึ้นว่าพันธกิจและเป้าหมาย (missions and objectives) คืออะไร แล้วเราก็จะค่อยๆ แยกแยะได้ว่าอะไรควร-ไม่ควร อะไรสำคัญ-ไม่สำคัญ วิธีการทำงานของผมคือการมองภาพใหญ่และกลับไปสู่หลักการตั้งต้นเสมอ วิธีนี้ช่วยได้มากเวลาที่ต้องตัดสินใจ โดยเฉพาะการตัดสินใจที่อาจไม่ถูกใจคน

ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก การกลับไปหาหลักการตั้งต้นมีประโยชน์ก็จริง แต่สำหรับปัญหาที่ทั้งใหม่และซับซ้อนมากๆ หลักที่เรายึดควรต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ด้วยหรือไม่ อย่างไร

หลักการใหญ่-ไม่เปลี่ยน  ชื่อ ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ ก็ฟ้องอยู่แล้วว่าเราต้องดูแลประเทศและส่วนรวม ดังนั้น สำหรับการตัดสินใจเชิงนโยบายที่กระทบผู้คนจำนวนมาก มีทั้งคนได้ประโยชน์และคนเสียประโยชน์ เช่น มาตรการนั้นช่วยลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ มาตรการนี้ช่วยส่งออกหรือนำเข้า ฯลฯ การตัดสินใจในฐานะธนาคารกลางถึงอย่างไรก็ต้องยึดประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก

หรือถ้าเป็นเรื่องภายใน ธปท. การตัดสินใจก็ต้องดูว่าอะไรดีที่สุดสำหรับองค์กรในระยะยาว การตัดสินใจบางครั้งอาจไม่ถูกใจพนักงานทุกคน แต่หน้าที่ของเราคือต้องทำให้มั่นใจได้ว่าองค์กรจะแข็งแรงยั่งยืน ต้องตั้งหลักให้ได้ว่า ธปท. ยิ่งใหญ่กว่าเรา ผู้ว่าการฯ ผลัดกันมาแล้วก็ไปทุก 5 ปี พนักงานอยู่กัน 30-40 ปี ก็เกษียณ แต่ ธปท. ต้องอยู่ต่อไป

โดยธรรมชาติ ธนาคารกลางทั่วโลกไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อแสวงหาความนิยม ไม่ได้ทำงานเพื่อ popular vote ถ้าเมื่อไหร่เราวัดความสำเร็จจากเสียงชื่นชมยินดีเป็นหลัก หรือไม่กล้ารับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เลย เราจะเป๋ง่ายมาก ดังนั้น การทำงานต้องยึดหางเสือของเราให้แน่น ต้องถามตัวเองเสมอว่าได้ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมระยะยาวแล้วหรือไม่ หลักการเหล่านี้ไม่เปลี่ยน มิหนำซ้ำยังเป็นสิ่งที่ช่วยเตือนสติในยามที่เราต้องเจอกับอะไรใหม่ๆ แปลกๆ ยากๆ

คุณเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เจอทั้งวิกฤตโรคระบาด วิกฤตเศรษฐกิจ การเมืองก็ร้อนแรง ทุกวันนี้ทำงานในโหมดไหน – เครียด กังวล สนุก หรือท้าทาย

คุณลองเดาดูสิว่าจะสนุกไหม (หัวเราะเสียงดัง) … มันไม่ค่อยสนุกหรอก แต่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่างานไม่มีอะไรสนุกเลยนะ มี แต่ถ้าจะเลือกให้ตัวเองต้องสนุกอยู่ตลอดเวลา ก็คงมีงานอื่นที่ทำให้รู้สึกสนุกได้มากกว่านี้

ทุกวันนี้ตื่นมาตอนเช้า คำแรกที่คิดเลยคือ “เฮ้ย! มันคือหน้าที่ว่ะ” ผมมองหน้าตัวเองในกระจกและพูดกับตัวเองบ่อยๆ ว่า  “It’s not about me.” – “อย่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง” ผมไม่ได้เก่งเรื่องปฏิบัติธรรมเท่ากับผู้ว่าฯ วิรไท (สันติประภพ) หรือท่านอื่นๆ แต่แนวคิดนี้ช่วยในการทำงานได้เยอะมาก

ถึงตรงนี้ ผมนึกถึงหนังสือที่อยากแนะนำอีกเล่มหนึ่งออกแล้ว เป็นหนังสือเก่าแก่ชื่อ Meditations (เมื่อจักรพรรดิพินิจชีวิต) ของ Marcus Aurelius ซึ่งผมมักจะหยิบมาอ่านซ้ำอยู่บ่อยๆ Aurelius เป็นจักรพรรดิโรมัน เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อบันทึกเตือนตัวเองในแต่ละวัน เป็นแนวปรัชญาสโตอิก เขาถือว่าเป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในยุคสมัยนั้น เพราะโรมันเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่ที่สุด ผมขออ่านให้ฟังท่อนหนึ่ง (หยิบหนังสือ)

Say to yourself in the early morning: I shall meet today ungrateful, violent, treacherous, envious, uncharitable men. All of the ignorance of real good and ill … I can neither be harmed by any of them, for no man will involve me in wrong, nor can I be angry with my kinsman or hate him; for we have come into the world to work together …”

ผมอ่านแล้วชอบมาก มันละม้ายคล้ายคลึงกับธรรมะ แต่เป็นธรรมะของคนที่ต้องทำงานอยู่ในโลกอะไรแบบนี้ (หัวเราะ) 

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ทันทีที่ ดร.วิรไทประกาศอำลาแบงก์ชาติหลังหมดวาระ ในสถานการณ์วิกฤตที่ต้องการคน ‘มือถึง’ เข้ามาทำงาน หลายคนแอบลุ้นให้คุณมาทำหน้าที่ผู้ว่าการ ธปท. คนต่อไป แต่พอเปิดรับสมัครรอบแรกก็ยังไร้วี่แวว จนมีการขยายเวลา แล้วคุณก็มายื่นใบสมัครในที่สุด อยากรู้ว่าสายลมแห่งชะตากรรมแบบไหนพัดมา เป็นสายลมแห่ง ‘หน้าที่’ หรืออะไรอื่น

ทั้ง ‘หน้าที่’ และทั้ง ‘เสียง’ จากคนรอบข้าง

ผมไม่ได้เป็นคนดีเด่นอะไร ยังมีกิเลสเยอะมาก แต่การเข้ามารับตำแหน่งนี้เป็นเรื่องหน้าที่จริงๆ เรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งก็ช่วยให้ตัดสินใจง่ายขึ้น คือทำครบ 5 ปีแล้วจบ ตอนนี้ผมอายุ 56 ปี เมื่อครบวาระก็อายุ 60 ปีพอดี ต่ออายุไม่ได้ ถือว่าเกษียณแล้ว เงื่อนไขนี้ทำให้ไม่ต้องคิดมาก แค่ทำงานให้เต็มที่ หลังจากนั้นก็จบเลย ไม่ต้องมาสนใจว่าผลระยะยาวต่อตัวเองคืออะไร

ส่วนเรื่องการตัดสินใจสมัคร แน่นอนว่าต้องคุยกับภรรยาเป็นคนแรก ผมเป็นคนหงุดหงิดง่าย เลี่ยงไม่ได้ที่คนใกล้ชิดต้องมีส่วนร่วมแบกรับความเครียดในงานนี้ไปด้วย แต่ภรรยาก็ยังบอกว่า “ควรทำ” อีกคนที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจคือพี่สาว ซึ่งแปลกมาก เพราะเวลามีข่าวลือว่าผมจะไปรับตำแหน่งต่างๆ พี่สาวจะคอยบอกว่า “อย่านะ” “ห้ามนะ” (ยิ้ม) แต่รอบนี้มาคนละโหมด บอกว่า “ยูต้องทำนะ” ตอนแรกผมบอกว่า “ไม่เอา ปวดหัวตายเลย” โอ้โห โดนดุเลยว่า “เฮ้ย! นี่คิดแบบเห็นแก่ตัว” นอกจากนั้นก็มีคนในแวดวงเศรษฐศาสตร์หลายคนพยายามพูดโน้มน้าว ในที่สุดก็เลยตัดสินใจลงสมัคร

สุดท้ายจบที่ภรรยากับพี่สาว ไม่ใช่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

คนใกล้ตัวย่อมมีน้ำหนักมากกว่าอยู่แล้ว ผมปฏิเสธผู้ใหญ่มาบ่อยแล้ว (หัวเราะ)

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า ธปท. มีความโดดเด่นตรงที่ความเป็นเทคโนแครต มีความละเอียด เชี่ยวชาญ ลงลึก รู้จริง แต่อีกด้านหนึ่ง หนังสือในดวงใจของคุณอย่าง ‘ทรราชย์เทคโนแครต’ ก็วิพากษ์เทคโนแครตเสียไม่มีชิ้นดี พอต้องสวมหมวกเทคโนแครตเต็มตัว คุณออกแบบการทำงานของ ธปท. อย่างไรเพื่อไม่ให้เดินซ้ำรอยทรราชย์อย่างที่หนังสือวิพากษ์ไว้ 

สำหรับ ธปท. ผมเป็นคนกึ่งนอก-กึ่งใน เพราะเคยเป็นทั้งกรรมการนโยบายการเงิน กรรมการ ธปท. และกรรมการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ถือว่าคุ้นเคยในระดับหนึ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็มีแนวคิดแบบคนนอกที่มองเห็นว่า ธปท. มีสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยน

ปัญหาของวัฒนธรรมแบบเทคโนแครตคือการยึดติดกับดักการคิดและวิเคราะห์มากจนเกินไป หากต้องตัดสินใจอะไรก็จะกังวลว่าข้อมูลยังไม่พอ ต้องศึกษาเพิ่มเติม แต่ในภาวะวิกฤต สิ่งที่คนคาดหวังจากเราคือมาตรการที่ออกมาช่วยผู้คนได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น ผมจึงพยายามผลักดันวิธีคิดและวัฒนธรรมการทำงานให้ไม่ถึงกับต้องหมดจด 100% การทำให้ถูกต้องพอควรสัก 80% แต่เร็วทันการณ์อาจมีประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่า คล้ายกับที่จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เคยบอกไว้ว่า “It’s better to be roughly right than precisely wrong.” เพราะถ้ามัวแต่รอให้ถูกต้องเป๊ะๆ จะไม่ได้ทำอะไร ดังนั้น บางเรื่องต้องลองทำไปก่อน ถ้าไม่เวิร์กก็ค่อยไปปรับปรุง ดีกว่าไม่มีอะไรออกมาเลย

อีกเรื่องที่พยายามให้ความสำคัญคือ ‘ความรู้สึกเร่งด่วน’ (sense of urgency) ในสมัยวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ธปท. ทำงานด้วยความรู้สึกเร่งด่วนค่อนข้างมาก เพราะวิกฤตครั้งนั้นเป็นวิกฤตการเงิน เกิดขึ้นที่นี่โดยตรง แต่รอบนี้ด้วยความที่ต้นตอของวิกฤตเป็นเรื่องระบบสาธารณสุข ความรู้สึกเร่งด่วนเลยอาจไม่ชัดเจนเท่า ทั้งๆ ที่ความร้ายแรงของวิกฤตไม่ได้ด้อยไปกว่าปี 2540 เลย

คุณเปลี่ยนและขับเคลื่อนสถาบันที่ได้ชื่อว่ามีคนเก่งอยู่เต็มไปหมดแบบ ธปท. อย่างไร 

ธปท. เป็นองค์กรมีพลังและศักยภาพสูงมาก เรามีทีมงานถึง 3,500 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคลากรชั้นยอดของประเทศ แต่เราไม่ได้ผนึกกำลังร่วมกันอย่างที่ควรจะเป็น ขอยกตัวอย่างหนึ่ง ในอดีต ธปท. มีตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPIs – Key Performance Indicators) ในแผนอยู่ 60-70 ตัว มีงาน 15 ด้าน ซึ่งทำให้ขาดโฟกัสและการให้ลำดับความสำคัญก่อนหลัง ดังนั้น ผมเลยนำหลักการบริหารโดยตั้งวัตถุประสงค์และผลลัพธ์หลัก (OKRs – Objectives and Key Results) มาใช้ ซึ่งทำให้ตัวชี้วัดน้อยลง ไม่ซับซ้อนมาก ช่วยให้คนจัดลำดับความสำคัญในการทำงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

OKRs ที่ตั้งเป้าไว้มีอยู่ 5 ตัว O1-O3 เป็นตัวแนวหน้า O1 คือการแก้วิกฤตอย่างยั่งยืน O2 คือการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน O3 คือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง ส่วน O4-O5 คือตัวเสริมให้เราทำงานได้ดีขึ้น O4 คือการสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่สาธารณชน และ O5 คือการทำให้องค์กรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

2.
Behind The Scenes:
เปิดเบื้องหลังนโยบายรับมือวิกฤตโควิด-19

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า โจทย์การทำงานของเทคโนแครตใน ธปท. คือ ‘ทำสิ่งที่ถูกต้องให้ถูกเวลา’ (getting the right things right) และทำนโยบายที่ใช้การได้จริง ในบริบทของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ คำตอบของ ธปท. คืออะไร

วิกฤตครั้งนี้กระทบผู้คนจำนวนมหาศาล ต่างจากปี 2540 ค่อนข้างมาก สมัยนั้นเป็นวิกฤตของธนาคารและธุรกิจรายใหญ่ แต่สมัยนี้เป็นวิกฤตที่กระทบประชาชนทั่วไป คนที่โดนหนักมากคือกลุ่มลูกหนี้โดยเฉพาะรายย่อย ธุรกิจเอสเอ็มอี และครัวเรือน ดังนั้น เป้าหมายหลักคือการเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากวิกฤต

แต่เราจะสามารถดูแลผู้คนที่เดือดร้อนและสนับสนุนให้พวกเขาฟื้นตัวเมื่อโรคระบาดหมดไปได้ ก็ต่อเมื่อมั่นใจว่าตลาดการเงินยังคงมีเสถียรภาพ ผมอยากย้ำว่า พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่า ธปท. ให้น้ำหนักเรื่องเสถียรภาพเสียจนไม่สนใจเป้าหมายอื่น แต่ถ้าเสถียรภาพหายไป วิกฤตจะกลายเป็นหายนะ

ผมระมัดระวังในการสื่อสารเรื่องนี้อย่างมาก เนื่องจาก ประการแรก เกรงว่าคนจะเข้าใจผิดว่าตอนนี้เรามีปัญหาด้านเสถียรภาพ ไม่ใช่อย่างนั้น เสถียรภาพยังดีอยู่ และ ธปท. มีหน้าที่ทำให้เสถียรภาพยังคงอยู่ต่อไป ประการที่สอง เวลาพูดถึงเสถียรภาพ ไม่ได้หมายความว่า ธปท. รักหรือห่วงเจ้าหนี้มากกว่า ย้ำว่าไม่ใช่ (เน้นเสียง) แต่เป็นเรื่องการเรียงลำดับในการทำนโยบาย เพราะเสถียรภาพเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น (necessary conditions) ในการทำนโยบาย เมื่อระบบการเงินมีเสถียรภาพ โจทย์ต่อไปก็คือ ต้องมั่นใจว่าระบบการเงินไม่ตึงตัวเกินไป นโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ย หรือสภาพคล่องในระบบต้องไม่เป็นอุปสรรคและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

จากการระบาดระลอกแรกในปีที่แล้วมาจนถึงระลอกใหม่ในปีนี้ คุณเข้าใจวิกฤตนี้มากขึ้นแค่ไหน มีโจทย์อะไรบ้างที่เปลี่ยนไปทั้งในแง่สถานการณ์และการรับมือกับปัญหา

เมื่อครั้งระบาดรอบแรกประเมินกันว่า วิกฤตจะสั้นและแรง มาตรการช่วยเหลือจึงมีลักษณะปูพรมและให้แบบจัดเต็ม เช่น มาตรการพักหนี้ 6 เดือน แต่ตอนนี้เราเรียนรู้แล้วว่าวิกฤตครั้งนี้ยาวนาน และที่สำคัญคือแต่ละภาคส่วนได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน (uneven) บางภาคเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว เช่น การส่งออกเริ่มกลับมาเท่าเดิม แต่ภาคบริการ โดยเฉพาะร้านอาหารและการท่องเที่ยวยังคงหนักหน่วง ในระดับครัวเรือน พนักงานออฟฟิศอาจจะไม่ค่อยเดือดร้อนมาก เพราะยังทำงานจากบ้านได้ ในขณะที่ลูกจ้างรายวันและแรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบหนักกว่ามาก ดังนั้นจึงไม่ควรใช้นโยบายแบบปูพรม

อีกเรื่องที่ค่อนข้างชัดคือ นโยบายการเงินการคลังเป็นแค่ตัวประกอบในวิกฤตครั้งนี้เท่านั้น ‘วัคซีน’ ต่างหากคือทางออกที่แท้จริง หากไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องวัคซีนได้ การระบาดก็จะกลับมาอีกไม่จบไม่สิ้น หลังการระบาดระลอกสามมีการปรับตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจอีกครั้งจากการเติบโต 3% เหลือแค่ 1.8% สภาพแบบนี้ต่อให้ภาครัฐอัดมาตรการการเงินการคลังเข้าไปเท่าไหร่ก็ไม่มีทางชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ 

อีกเรื่องที่อาจหวังได้คือนวัตกรรมการรักษาโรค เหมือนที่โลกรับมือ HIV ได้ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ประเด็นคือ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนหรือการรักษารูปแบบอื่นๆ หัวใจคือเราต้องหยุดวงจรการระบาดให้ได้ ซึ่งโยงกับเรื่องการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงและรวดเร็ว คุณภาพของวัคซีน และมาตรการเสริมด้านสุขภาพอื่นๆ  

ธปท. ตีโจทย์และออกแบบนโยบายการเงินเพื่อรับมือกับวิกฤตอย่างไร

การออกแบบนโยบายต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างรอบด้าน อย่างที่บอกแล้วว่า หนึ่ง วิกฤตครั้งนี้ไม่จบง่าย มีโอกาสที่จะเกิดระลอกใหม่อีก แน่นอนว่าการเยียวยาระยะสั้นเป็นเรื่องจำเป็น แต่ถึงที่สุดแล้ว การเยียวยาคงไม่สามารถทำได้ตลอดไป ดังนั้น การรักษาสมดุลระหว่างการเยียวยากับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวจึงสำคัญอย่างมาก สิ่งที่ ธปท. จะไม่ทำแน่ๆ คือนโยบายสไตล์ ‘ยิงพลุ’ มีสีสัน ดึงดูดให้คนสนใจได้ก็จริง แต่ไม่เวิร์กในระยะยาว

สอง แต่ละภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤตไม่เท่ากัน ดังนั้น นโยบายควรต้องออกแบบให้เหมาะกับแต่ละกลุ่ม พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ที่เพิ่งผลักดันออกมาจนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ก็พยายามตอบโจทย์เรื่องนี้ เช่น จากเดิม พ.ร.ก.ซอฟต์โลนให้สินเชื่อ 2 ปี ค้ำประกัน 2 ปี แต่ใน พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ มีการปรับจาก 2 ปีเป็น 5 ปี อายุค้ำประกันเพิ่มเป็น 10 ปี โดยนอกจากระยะเวลาจะยาวขึ้นแล้ว มาตรการยังเจาะลงไปตรงกลุ่มคนที่เดือดร้อนจริงมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างรูปธรรมคือ ตอนนี้ประเทศไทยเผชิญการระบาดระลอกที่สาม และมีความเสี่ยงที่จะเจอระลอกใหม่ได้ตลอด แต่ถ้ามองภาคการท่องเที่ยวจะเรียกว่าไม่มีระลอกใหม่ เพราะเจอระลอกแรกแล้วจมหายยาวไปเลย ดังนั้น เส้นแบ่งระหว่างระยะสั้นกับระยะยาว หรือการเยียวยากับการฟื้นฟู จะค่อนข้างเลือนราง เพราะในด้านหนึ่งมันมีความเป็นวัฏจักร การบริหารจัดการก็ต้องขึ้นอยู่กับวัฏจักร แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผลกระทบก็ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังพูดถึงใคร เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน ต้องคิดกันให้ละเอียดว่าจะควรจะช่วยใคร อย่างไร

คุณพูดหลายครั้งว่า หัวใจหลักของการรับมือวิกฤตคือต้องช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อน เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย หลักคิดในเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร

เรื่องสำคัญคือต้องดูแลปัญหาภาระหนี้ปัจจุบัน ต้องมั่นใจว่าผู้เดือดร้อนสามารถรับภาระตรงนี้ได้ ซึ่งจริงๆ ธปท. ทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนที่ผมเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการฯ แล้ว เช่น มาตรการพักหนี้ ยืด-ลดค่างวด หรือการเปลี่ยนวงเงินในบัตรเครดิตให้เป็นเงินกู้ เรียกว่าเป็นการช่วยเหลือแบบปูพรมเลย แต่เมื่อเราเห็นแล้วว่า วิกฤตรอบนี้ยาวแน่ก็ประเมินกันใหม่ว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะต่อให้พักหนี้ ดอกเบี้ยก็ยังวิ่งอยู่ และอาจบิดเบือนแรงจูงใจของลูกหนี้บางกลุ่มที่จริงๆ แล้วสามารถชำระหนี้ตามปกติได้ แต่กลับเลือกไม่จ่ายดีกว่า (ปัญหา moral hazard)

ธปท. พยายามเข้าไปดูแลปัญหาหนี้แบบครบวงจร สมมติว่ามีการยืด-ลดค่างวดแล้วยังเกิดปัญหาอยู่ เราก็สนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าเป็นไปได้ก็สนับสนุนให้มีการลดเงินต้น หรือถ้ามีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ก็เข้าไปกำกับดูแลค่าปรับและค่าธรรมเนียมต่างๆ

นอกจากนั้น ต้องทำให้สภาพคล่องไปอยู่ในที่ที่ถูกต้อง ให้คนที่ลำบากและต้องการสภาพคล่องมากที่สุดสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ยากกว่าข้ออื่นๆ

ตั้งแต่รับตำแหน่งมา 7-8 เดือน อะไรคือการตัดสินใจที่ยากที่สุด

(ถอนหายใจ) สารพัดเรื่องเลย ขอไม่เลือกอันใดอันหนึ่ง เพราะทุกการตัดสินใจมีทั้งคนได้และคนเสีย

ประชาชนมักไม่ค่อยรู้เบื้องหลังกระบวนการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจแต่ละครั้ง เช่น คนทำงานต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ อย่างไร ต้องเผชิญข้อจำกัดแบบไหน อยากให้คุณเล่าเบื้องหลังการทำงานท่ามกลางวิกฤตให้ฟังหน่อย

ผมชอบคำถามนี้มาก บางทีการเห็นเบื้องหลังวิธีคิดและการตัดสินใจจะช่วยสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ซึ่งตอบโจทย์ที่เราคุยกันในช่วงต้นเรื่องความไว้วางใจกับความสำเร็จของนโยบายได้ 

ขอยกเรื่อง พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ เป็นตัวอย่าง เมื่อผมเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ประเมินว่าน่าจะออกกฎหมายฉบับนี้ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 เพราะเราเห็นแล้วว่า พ.ร.ก.ซอฟต์โลนฯ ที่ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการระบาดรอบแรกมีข้อจำกัดมากเกินไป จนทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เลยอยากปลดล็อกข้อจำกัดเหล่านั้น แต่ด้วยความเป็นเทคโนแครตและระบบราชการ จึงขยับอะไรได้ยากกว่าที่คิด เรื่องไหนขึ้นอยู่กับ ธปท. ฝ่ายเดียว ก็ยังพอจัดการได้บ้าง แต่พอต้องทำงานข้ามหน่วยงานเมื่อไหร่ก็จะค่อนข้างใช้เวลา

กรณีของ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ สะท้อนประเด็นนี้ได้ดีมาก เพราะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง เราต้องคุยกับกระทรวงการคลัง เพราะมาตรการนี้ส่งผลกระทบถึงภาระการคลัง ต้องคุยกับ บสย. (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) เพราะมาตรการที่ออกมาต้องให้ บสย. มาค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งทาง บสย. ก็มีกรอบคิดและข้อกังวลในแบบของตัวเอง ต้องคุยกับสถาบันการเงิน เพราะเป็นกลไกหลักในการปล่อยสินเชื่อ ต้องทำความเข้าใจว่าเขามีข้อจำกัดอะไร ที่สำคัญต้องคุยกับกลุ่มลูกหนี้ด้วยว่าต้องการอะไร เพราะเป้าหมายทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่ออยากจะช่วยลูกหนี้ให้รอดมากที่สุด

ท่ามกลางผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายเช่นนี้ ความต้องการของแต่ละคนไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน ทุกประเด็นเป็นเรื่อง ‘ได้อย่าง-เสียอย่าง’ (trade-off) เช่น ถ้าอยากช่วยให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยไม่แพง สถาบันการเงินก็จะไม่ยอมปล่อยสินเชื่อเพราะไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ หรือเรื่องการค้ำประกันและชดเชยความเสียหาย ฝั่งคลังก็ไม่อยากให้สร้างภาระต่องบประมาณมากเกินไป แต่หากชดเชยต่ำ ก็จะมีเพียงแค่ลูกหนี้สีเขียว (ลูกหนี้ชั้นดี-ความเสี่ยงต่ำ) เท่านั้นที่มีโอกาสเข้าถึงมาตรการ ในขณะกลุ่มลูกหนี้สีเหลืองหรือสีส้มซึ่งความเสี่ยงสูงกว่า แต่เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงและต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ก็จะไม่สามารถเข้าถึงมาตรการได้

การแลกได้-แลกเสียแบบนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา ยิ่งมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายก็ยิ่งทำให้ต้องใช้พลังและทรัพยากรในการทำงานมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการที่ออกมาจะมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ระยะยาว และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

อยากชวนคุณถอดหมวกผู้ว่าแบงก์ชาติมาใส่หมวกนักเศรษฐศาสตร์การคลังสักครู่ ตลอดวิกฤตครั้งนี้ มาตรการด้านการคลังของเราทำได้ดีแค่ไหน

เท่าที่เห็น มาตรการทางการคลังเน้นไปที่การเยียวยาเป็นหลัก การลงทุนเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจไม่ยั่งยืน ตรงนี้ต้องปรับสมดุลกันใหม่ อย่างไรก็ตาม การบอกให้ลงทุนเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องพูดง่ายแต่ทำยาก เพราะในการออกแบบนโยบายต้องเลือกให้ถูกว่าควรจะลงทุนอะไร

โดยส่วนตัวมองว่า ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่เราน่าลงทุน ประเทศไทยเจอน้ำท่วมและน้ำแล้งตลอดเวลา ซึ่งสะท้อนว่าเรามีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่มาก อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ในภาพรวม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์อนาคตน่าจะเป็นกุญแจสำคัญของเรื่องนี้

3.
โจทย์แห่งอนาคตของธนาคารแห่งประเทศไทย
กองหลังแนวใหม่ในเกมเศรษฐกิจโลกใหม่

ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 มา คุณเห็นดีเบตอะไรใหม่ๆ ในโลกเศรษฐกิจบ้าง แล้วองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะต้องปรับตัวอย่างไร

โลกของดิจิทัลและโลกของข้อมูลก้าวขึ้นมา กระแสนี้ทำให้เส้นแบ่งต่างๆ ในเศรษฐศาสตร์เริ่มไม่ชัดเจน และการให้น้ำหนักกับตัวแปรต่างๆ ก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

ทุกวันนี้บริษัทเทคโนโลยีมีมูลค่าตลาดมหาศาล ล้ำหน้าบริษัทธุรกิจดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง ผู้ผลิตรถยนต์อย่างจีเอ็มผลิตรถปีหนึ่งมากกว่าเทสล่าตั้งไม่รู้กี่คัน แต่มูลค่าตลาดเทียบกับเทสล่าไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นมูลค่าที่คนให้กับแต่ละบริษัทเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ยิ่งถ้าดูงบดุลของบริษัทเหล่านี้จะพบความประหลาดมาก บริษัทมีมูลค่ามหาศาล แต่ทุนกายภาพ (physical capital) แทบจะไม่มีเลย เศรษฐศาสตร์แนวดั้งเดิมที่เราเรียนกันมาว่าต้นทุนต้องมีทั้ง K (Capital – ทุน) และ L (Labor – แรงงาน) ได้เปลี่ยนไปแล้ว

เมื่อก่อน วิชาเศรษฐศาสตร์สอนเรื่องต้นทุนส่วนเพิ่ม (marginal cost) และต้นทุนเฉลี่ย (average cost) แต่ตอนนี้ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เพราะบริษัทเทคโนโลยีมีต้นทุนส่วนเพิ่มแทบจะเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตาม หลักคิดบางอย่างก็ยังใช้ได้ เช่น บริษัทที่ต้นทุนเฉลี่ยระยะยาวต่ำมากๆ ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นผู้ผูกขาดโดยธรรมชาติ (natural monopoly) และด้วยผลกระทบภายนอกจากเครือข่าย (network externalities) มูลค่ามหาศาลของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ก็จะทำให้บริษัทที่ผูกขาดโดยธรรมชาติสามารถทำงานแบบข้ามพรมแดนได้อีกด้วย

นอกจากนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ก็ไม่มีความชัดเจนเหมือนเศรษฐกิจแบบเดิม เมื่อก่อนถ้ากิจกรรมเกิดที่ไหน มูลค่าก็อยู่ที่นั่น แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เช่น เวลาที่คุณเรียกรถหรือสั่งอาหารผ่าน Grab กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น แม้เกิดในประเทศไทย แต่ธุรกรรมและมูลค่ากลับเกี่ยวโยงกับต่างประเทศด้วย โดยแพลตฟอร์มเป็นผู้ได้มูลค่าเหล่านี้ไป นี่เป็นความท้าทายสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ว่าจะขบคิดเรื่องเหล่านี้อย่างไร

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีนัยทางเศรษฐศาสตร์มหาศาล เพราะเราสามารถมองว่าเป็นทุนที่มีสติปัญญา หรือมองว่าเป็นแรงงานก็ได้ มันเป็นเทคโนโลยีอเนกประสงค์เหมือนกับไฟฟ้าที่ประยุกต์ใช้ได้กับทุกอย่าง ความไม่ชัดเจนตรงนี้ทำให้เราประเมินผลกระทบของเอไอได้ยาก รู้แต่ว่ามีผลกระทบอย่างมหาศาลแน่นอน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ เมื่อก่อนวิชาเศรษฐศาสตร์จุลภาคพื้นฐานบอกว่า ความพึงพอใจ (preference) ของคนเป็นตัวแปรภายนอก (exogenous variable) แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีสามารถชี้นำ (manipulate) ความพึงพอใจได้  ดังนั้น ความพึงพอใจจึงกลายเป็นตัวแปรภายใน (endogenous variable) นี่ก็เป็นอีกความท้าทายของเศรษฐศาสตร์ว่าบทวิเคราะห์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

แล้วในด้านที่เกี่ยวพันกับนโยบายสาธารณะ โดยเฉพาะนโยบายการเงินการคลัง มีดีเบตใหม่ๆ หรือมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เราได้จากโลกยุคโควิดนี้ไหม เวลาคุณร่วมประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางทั่วโลก ทุกวันนี้เขาคุยวาระอะไรกันบ้าง

ในเวทีธนาคารกลางทั่วโลกมีสองธีมที่เด่นมาก ธีมแรกคือเรื่องดิจิทัล และธีมที่สองคือเรื่องความยั่งยืน (sustainability) โดยเฉพาะเรื่องหลังชัดมากในต่างประเทศ ยิ่งหลังจากที่โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกยิ่งมาแรง แต่สำหรับประเทศไทย ยังเห็นไม่ชัดเท่าไหร่นัก

ประเทศไทยตอบโจทย์ของทั้งสองธีมนี้อย่างไร เราควรต้องเดินไปทางไหน

ในเรื่องดิจิทัล โจทย์หลักของระบบการเงินไม่ได้เปลี่ยนไป แก่นหลักของระบบการเงินทั้งเรื่องเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ การเข้าถึง และความครอบคลุมทั่วถึง ยังคงอยู่ ประเด็นคือเราจะนำดิจิทัลเข้ามาตอบโจทย์เหล่านี้อย่างไร

สำหรับประเทศไทย เรื่องเสถียรภาพโดยรวมยังค่อนข้างดี เราไม่ใช่ประเทศที่เจอวิกฤตการเงินบ่อยนัก เรื่องประสิทธิภาพยังมีช่องว่างให้ปรับปรุงได้อีก เพราะค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ ยังสูงอยู่ ส่วนเรื่องการเข้าถึงและความครอบคลุมทั่วถึงก็ยังมีปัญหาอยู่ คนบางกลุ่มเข้าถึงระบบธนาคารได้ง่าย มีบัตรเครดิตหลายใบ มีหลายบัญชี แต่สำหรับคนที่เข้าไม่ถึงก็ไม่สามารถเข้ามาได้เลย สะท้อนให้เห็นชัดว่ามีช่องว่างที่ระบบการเงินยังแก้ไขได้อยู่

ที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยยกระดับเรื่องประสิทธิภาพค่อนข้างมาก เรามีตัวอย่างที่ทำได้ดีแล้ว อย่างเช่นระบบพร้อมเพย์ หรือ QR code ซึ่งช่วยลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ไปได้มาก และช่วยให้คนเข้าถึงบริการการเงินได้สะดวกขึ้น ส่วนพัฒนาการด้านการเข้าถึงและความครอบคลุมทั่วถึงที่ดีคือ การใช้มาตรการทางการคลังผ่าน QR Code เช่น โครงการในลักษณะคนละครึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ค้ารายย่อยเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น

เรื่องดิจิทัลดูเหมือนเราไปได้ค่อนข้างดี มีโจทย์ขั้นต่อไปไหมที่ควรต้องไปให้ถึง

มีอีกมาก เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ถ้าจะให้คะแนนประเทศไทย ผมคิดว่าฝั่งระบบการชำระเงินทำได้ดี ธุรกรรมข้ามพรมแดนก็ไปได้ดีด้วย ล่าสุดเรามีบริการโอนเงินและรับเงินระหว่างประเทศผ่านระบบพร้อมเพย์ของไทยและเพย์นาวของสิงคโปร์ เป็นการลิงก์กันของ fast payment สองประเทศครั้งแรกในโลก

อีกขาหนึ่งที่มาเร็วและแรงมากคือสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเราเตรียมความพร้อมเรื่องสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency – CBDC) มาอย่างต่อเนื่อง เราเริ่มต้นด้วยโครงการนำร่อง ‘อินทนนท์’ ที่เป็นธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) จากนั้นก็เริ่มทำ cross-border CBDC กับธนาคารกลางฮ่องกง และขั้นต่อไปที่เราจะทดสอบก็คือ retail CBDC สำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน

ธปท. จำเป็นต้องทำเรื่องนี้เพื่อเตรียมพร้อม เพราะสกุลเงินดิจิทัลมาเร็วและแรงมาก โดยเฉพาะสกุลเงินของเอกชน เราควรมีสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาครัฐอย่าง CBDC เป็นทางเลือกให้คนด้วย สิ่งที่แบงก์ชาติพยายามจะทำเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อกำไร ไม่ใช่การกีดกันไม่ให้สกุลเงินดิจิทัลของเอกชนได้เกิด แต่เราอยากเสนอทางเลือกสกุลเงินดิจิทัลที่ปลอดภัยและมั่นคงให้แก่ประชาชน

มาต่อที่โจทย์เรื่องความยั่งยืน เรื่องนี้เกี่ยวพันกับแบงก์ชาติและเศรษฐกิจไทยอย่างไร และมีอะไรที่จำเป็นต้องทำบ้าง

ในเรื่องความยั่งยืน เรายังช้ากว่าประเทศอื่นและมีอะไรต้องทำอีกเยอะมาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวพันกับความเสี่ยงของสถาบันการเงินโดยตรง เช่น ถ้าสถาบันการเงินถือสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับพลังงานฟอสซิล ในอนาคตสินทรัพย์นั้นจะด้อยค่าลง ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวแปรสำคัญที่สถาบันการเงินต้องนำมาพิจารณาในการทำธุรกิจในโลกใหม่ 

อีกตัวอย่างหนึ่งที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเสี่ยงโดยตรงคือ แรงงานไทยประมาณ 30% ยังอยู่ในภาคเกษตร สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรโดยตรง อุตสาหกรรมอาหารและการท่องเที่ยวล้วนได้รับผลกระทบแทบทั้งสิ้น ประเด็นนี้กระทบเรามหาศาล แต่ในบ้านเรายังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงเรื่องนี้เท่าที่ควร

ในภาพอนาคตทั้งหมดที่คุยกัน บทบาทของ ธปท. ในการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้คืออะไร

หน้าที่หลักของ ธปท. ก็เหมือนธนาคารกลางทุกแห่ง คือการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพของระดับราคา และเสถียรภาพของระบบการเงิน ดังที่เคยเป็นมา ทีนี้พอมีกระแสเรื่องบิทคอยน์ บางคนก็คิดว่าแบงก์ชาติทั่วโลกใกล้หมดบทบาทลงแล้ว แต่ผมคิดว่ายังอีกยาวไกล สถานการณ์เช่นนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้กับประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานย่ำแย่ หรือประชาชนไม่มั่นใจในระบบการเงินของประเทศ แต่ถ้าเป็นประเทศที่เสถียรภาพของระบบอยู่ในระดับปกติ ธนาคารกลางก็ยังคงมีบทบาทหลักอยู่ แต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทไปตามบริบทและความท้าทายใหม่ๆ เช่น แบงก์ชาติต้องคิดเรื่องระบบกำกับดูแลเรื่องใหม่ๆ เช่น สกุลเงินดิจิทัล รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์มข้ามชาติ

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นโจทย์สำคัญคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในช่วงห้าปีหลังมานี้ ธนาคารกลางทั่วโลกพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำในเวทีประชุมต่างๆ เยอะขึ้นมากเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน สมัยก่อนธนาคารกลางมักคิดว่าตนมีหน้าที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจมหภาค ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการกระจายทรัพยากรให้เป็นธรรมมากเท่ากับการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้เทรนด์กำลังเปลี่ยน เพราะเริ่มเห็นกันแล้วว่านโยบายต่างๆ ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำไม่มากก็น้อย เช่น ถ้าคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ยาก ก็จะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปเลย ปัญหาความเหลื่อมล้ำบั่นทอนประสิทธิภาพและการเติบโตอย่างยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจด้วย 

อันที่จริง โจทย์ระยะยาวหลายเรื่องอาจจะไม่ใช่งานของ ธปท. โดยตรง เรามีศัพท์ที่ใช้คุยกันภายใน ธปท. ว่า ‘ไข่ขาว-ไข่แดง’ ถ้าคนนอกฟังคนแบงก์ชาติคุยกันอาจจะงงว่าไข่ขาว-ไข่แดงคือรหัสลับอะไร (หัวเราะ) ไข่แดงก็คืองานหลักพื้นฐานของ ธปท. ส่วนไข่ขาวคือประเด็นที่สำคัญรอบๆ งานหลักเหล่านั้น เช่น งานดูแลเงินเฟ้อคือไข่แดง งานเรื่องความเหลื่อมล้ำอาจจะเป็นไข่ขาว

งานไข่ขาวมีหลายเรื่องที่เราทำอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ตลาดแรงงาน รวมถึงการช่วยกระทรวงแรงงานพัฒนาแพลตฟอร์มจับคู่ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือคนตกงานจำนวนมากในวิกฤตโควิด อีกประเด็นหนึ่งที่คุยกันมากก็คือเรื่องบำนาญผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาวอย่างชัดเจน เรื่องนี้ถือว่าเป็นไข่ขาวที่อยู่ใกล้ไข่แดงมาก

แต่ในบางบริบท ใจกลางของปัญหาอาจจะอยู่ที่ไข่ขาวหรือเปล่า ในโลกใหม่หรือในเศรษฐกิจช่วงวิกฤต ธปท. อาจจะต้องมานิยามไข่ขาว-ไข่แดงกันใหม่ด้วยไหมเพื่อตามสถานการณ์ให้ทัน

ใช่ ต้องย้อนกลับมาดูวิธีที่ใช้แบ่งว่างานไหนเป็นไข่ขาว-ไข่แดง แล้วงานไหนมีความสำคัญกับโจทย์ของประเทศ แม้บางทีงานไข่ขาวของเราเป็นไข่แดงของหน่วยงานอื่น แต่เราก็สามารถเข้าไปช่วยในบริบทที่เหมาะสมกับเราได้ เช่นให้ความช่วยเหลือด้านวิเคราะห์ข้อมูล ให้คำแนะนำ แต่ท้ายสุด มันก็มีเส้นแบ่งว่า เราทำแค่นี้เสร็จแล้ว จากนั้นต้องส่งต่อ

คุณเคยเปรียบเทียบว่า ในทีมฟุตบอล แบงก์ชาติเปรียบเหมือนกองหลัง มีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อมให้ประเทศลุยไปข้างหน้าได้

ใช่ ถึงกองหน้าจะเก่งแค่ไหน ถ้ากองหลังทำหน้าที่ไม่ดี ปล่อยให้เขายิงประตู เราก็แพ้ได้

ทีนี้เกมสมัยใหม่ก็เปลี่ยนไป เราอาจต้องการกองหลังแบบใหม่ที่เท่าทันยุคสมัยมากขึ้น แบงก์ชาติควรพัฒนาตัวเองให้เป็นกองหลังแนวไหนในโลกยุคใหม่

เวลาลงสนาม เราจัดทีมได้หลายแบบนะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และคู่แข่ง บางทีเล่นกองหลังสามตัวแล้วมีวิงแบ็ก บางครั้งจับกองหลังยืนสี่ตัว โดยรวมผมว่าเรามีกองหลังที่ค่อนข้างเหนียวนะ เล่นได้รัดกุมดี แต่ในแง่ความเป็นทีม ยังยิงประตูไม่ค่อยเก่ง สำหรับประเทศไทย การรักษาเสถียรภาพอยู่ในดีเอ็นเอของเราแล้ว โอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจดิ่งลงมีไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตดุลบัญชีชำระเงิน อัตราแลกเปลี่ยน หรือระบบธนาคาร แต่ปัญหาของเราคือฝั่งการเติบโตขาขึ้นมากกว่า เราโตช้า เหมือนหุ้นปันผลมากกว่าหุ้นเติบโตเร็ว 

กองหลังแบบแบงก์ชาติอาจจะต้องขึ้นไปทำเกมตรงกลางสนามบ้างบางจังหวะ เน้นช่วยให้ทีมเล่นเกมรุกได้ดีขึ้นมากกว่าจะคอยยืนป้องกันประตูอย่างเดียว แต่จะให้ถึงกับพลิกบทบาทไปยืนหน้าประตูฝั่งตรงข้าม ทำตัวเป็นกองหน้า ก็คงไม่ขนาดนั้น

4.
ตั้งหลักใหม่ประเทศไทย

คุณเคยทำงานทั้งในองค์กรระดับโลก ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ หน่วยงานรัฐ สถาบันวิจัย และล่าสุดเป็นผู้กำหนดนโยบายระดับท็อปของประเทศ มองเห็นนวัตกรรมเชิงนโยบายใหม่ๆ บ้างไหม

นโยบายที่ตอบโจทย์ทั้งระยะสั้นและยาวคือเรื่อง ‘ดิจิทัล’ อาจจะไม่ตอบทุกโจทย์ แต่ตอบหลายโจทย์

ในเรื่องของความครอบคลุมทั่วถึงทางการเงิน มาตรการของรัฐที่นำ QR Code มาใช้ เช่นโครงการคนละครึ่ง ไม่เพียงแต่ช่วยให้คนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนโยบายได้มากขึ้น แต่ยังช่วยให้การเยียวยาตรงเป้ามากขึ้น หรือธุรกรรมออนไลน์ก็ช่วยลดต้นทุนอย่างมหาศาล เป็นต้น

ในภาคการผลิต ดิจิทัลมีศักยภาพในการปลดล็อกจุดอ่อนของเราที่มีมานานได้หลายเรื่อง เช่น ความไร้สามารถในการยกระดับห่วงโซ่การผลิต (move up value chain) หรือการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ในอนาคต AI และระบบอัตโนมัติ (automation) น่าจะมีบทบาทในภาคการผลิตของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ

ภาคบริการก็มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ยกตัวอย่างเรื่องธุรกิจอาหาร ทุกวันนี้สามารถติดตามได้เลยว่าวัตถุดิบมาจากที่ไหน กระบวนการผลิตเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นำไปใช้ยกระดับธุรกิจได้ เช่น รับมือกับเทรนด์ที่คนหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจเรื่องความเป็นธรรม ซึ่งกำลังเติบโตมากขึ้น

โจทย์ในภาคท่องเที่ยวยิ่งชัด กว่าเราจะได้เห็นนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนกลับมา ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนไปดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการอยู่ยาว ซึ่งได้แก่กลุ่มคนที่พร้อมทำงานที่ไหนก็ได้ (work from anywhere) แต่การจะดึงดูดคนกลุ่มนี้ได้ก็จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ดี

อีกตัวอย่างในภาคบริการคือการแพทย์ทางไกล (telemedicine) ซึ่งมีศักยภาพสูงมากในการกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของไทย โดยเฉพาะในยุคหลังโรคระบาดที่คนจะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น และหน่วยบริการสาธารณสุขถูกบังคับให้ต้องปรับตัวขนานใหญ่

ที่สำคัญ เทคโนโลยีจะช่วยให้ภาครัฐมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ผมไม่ได้บอกว่ามีเทคโนโลยีแล้วจะแก้ไขทุกอย่างได้เลยทันที แต่จะดีขึ้น นโยบายที่ดำเนินการผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น การจ่ายเงินไปที่คนโดยตรง ทำให้เราตรวจสอบได้ว่าเงินถูกจ่ายไปที่ใคร ไปถึงคนที่เราต้องการที่จะช่วยไหม เป็นต้น  

โจทย์ใหญ่ของเศรษฐกิจไทยคือภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เราควรต้องตั้งหลักในเรื่องนี้อย่างไร

โจทย์นี้ยากมาก ภาคอุตสาหกรรมเคยเป็น engine of growth หรือพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เป็นหัวใจของการยกระดับผลิตภาพและค่าจ้างมาโดยตลอด แต่ตอนนี้สภาพน่าเป็นห่วงมาก พระเอกของอุตสาหกรรมมาจาก 3 เซ็คเตอร์ใหญ่คือ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี หากมองไปที่อนาคต ทั้งสามเซ็คเตอร์ได้รับผลกระทบจากกระแสสีเขียวทั้งหมดเลย จากรถยนต์ไฟฟ้า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนปิโตรเคมียิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะขัดกับกระแสโดยตรง แล้วถ้าลงไปดูในรายละเอียดจะเห็นว่าอุตสาหกรรมไทยกำลังถูกท้าทาย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เราผลิตได้มากที่สุดคือฮาร์ดไดรฟ์ แต่โลกกำลังหันไปใช้คลาวด์กันหมด เป็นต้น ในภาพใหญ่ ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเดินทวนกระแส ทำให้การปรับตัวค่อนข้างลำบาก

เพราะฉะนั้น โจทย์ของเราคือทำอย่างไรที่จะใช้กระแสใหม่นี้เป็นลมส่งท้าย (tailwind) แทนที่จะเป็นลมต้าน (headwind) ถ้าให้นึกเร็วๆ ทางออกคืออุตสาหกรรมไทยต้องเขียวกว่าเดิม เช่น ต้องขยับไปทำรถยนต์ไฟฟ้า หรือทำปิโตรเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในอนาคตประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของตลาดโลกเหมือนกับมาตรฐานแรงงานในวันนี้ ถ้าเราไม่ทำก็จะโดนกระแสต่อต้านอย่างหนักจนไม่สามารถส่งออกได้

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่มากคือ การลงทุน ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวโยงกับ ธปท. โดยอ้อมด้วย ตอนนี้เราเกินดุลบัญชีทุนค่อนข้างมาก ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากกว่าทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งและ ธปท. ต้องเข้าไปแทรกแซงอยู่เรื่อยๆ แต่ต้นตอหนึ่งของปัญหานี้คือการที่เราลงทุนน้อยเกินไป

เศรษฐกิจไทยเป็นแบบนี้มา 20 ปีกว่าแล้ว ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 พอจะมีวิธีกระตุ้นให้บริษัทไทยกล้าเสี่ยงลงทุนมากขึ้นบ้างไหม

เรื่องระดับความกล้าเสี่ยงคงยากที่จะไปปรับเปลี่ยนได้ทันที ถ้าไปถามบริษัทเอกชน คุณจะพบว่าเขาพร้อมลงทุน หากมองเห็นโอกาส แต่ที่เขาไม่ลงทุนก็เพราะเห็นว่าโอกาสในประเทศยังไม่ดีพอ ถ้าดูแนวโน้มตอนนี้บริษัทไทยจำนวนหนึ่งที่แข็งแรงพอก็เริ่มที่จะขยับไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโอกาสและผลตอบแทนในต่างประเทศสูงกว่าไทย 

ถ้าอยากให้เขากล้าเสี่ยงลงทุนมากกว่านี้ เราต้องการทั้งเรื่องเล่าว่าด้วยการเติบโตชุดใหม่และ engine of growth ตัวใหม่ เราขาดตรงนี้มานานมาก ย้อนไปช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเติบโตที่ชัดมาก นั่นคือ ‘การลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาผลิตเพื่อส่งออก’ แต่ปัจจุบันเรื่องเล่านี้กลายเป็นของเวียดนามไปแล้ว ที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวของไทยพอจะเป็น engine of growth ใหม่ได้ แต่ตอนนี้ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างสาหัส

อีกกระแสหนึ่งที่ต้องคิดคือการลงทุนโดยตรงของบริษัทไทยในต่างประเทศ หรือ TDI (Thai Direct Investment) นี่อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะอย่างไรเสียการลงทุนภายในประเทศก็สร้างงานได้มากกว่าและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่า แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย คำถามคือเราอาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองหรือไม่ จากการมุ่งเน้น GDP (Gross Domestic Product) หรือมูลค่าผลผลิตที่เกิดขึ้นภายในขอบเขตประเทศไทย มาเป็นการมุ่งเน้น GNP (Gross National Product) หรือมูลค่าผลผลิตที่เกิดขึ้นจากฝีมือของคนไทยไม่ว่าจะผลิตที่ประเทศไหนในโลก คือคนไทยโตแล้วก็ไปหากินที่อื่นแล้วส่งรายได้กลับมา ประเด็นนี้เป็นคำถามชวนคิดมากกว่าจะเป็นคำตอบ

คุณพอมองเห็นไหมว่าอะไรคือเรื่องเล่าชุดใหม่และ engine of growth ตัวใหม่

ผมตอบไม่ได้ และไม่คิดว่าจะมีข้าราชการหรือนักวิชาการคนไหนตอบได้ ตอนที่ภาคท่องเที่ยวของไทยเติบโต ก็ไม่ได้เกิดจากการออกแบบของใครเลยนะ จู่ๆ มันก็ค่อยๆ เกิดขึ้นมาเอง ตอนนั้นคงไม่มีใครคิดว่าคนจีนจะเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยมากมายขนาดนี้ แต่ประเด็นคือเมื่อเขามาแล้วเราพร้อม ประเทศไทยพร้อมเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด เรียกได้ว่าแทบไม่มีอุปสรรคเลย เราสามารถขี่กระแสได้ 

จริงๆ แล้ว ผมไม่ชอบคำว่า ‘engine of growth’ เลยนะ (หัวเราะ) เพราะคำนี้มักจะทำให้เราคิดว่าต้องมีสักภาคเศรษฐกิจหนึ่งเป็นคำตอบ แล้วก็พยายามมองหาว่าภาคไหนที่ใช่ แต่สิ่งที่ดีกว่าคือการสร้างระบบนิเวศที่เปิดโอกาสให้คนมากที่สุด แล้วใครจะแจ้งเกิดก็ให้เขาได้เกิด ใครจะล้มเหลวก็ไม่เป็นไร ขอให้มีโอกาสกลับมาทดลองใหม่ ยิ่งในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนเร็ว ยิ่งไม่มีใครรู้อนาคตเลย ทุกวันนี้ขนาดคนทำงานในซิลิคอนวัลเลย์ที่มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมและกำหนดเทรนด์ใหม่ ก็ยังทำไม่ได้เลย เขายังต้องเลือกลงทุนกระจายเต็มไปหมด

ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจแบบไหนที่ตอบโจทย์ของคุณ

อย่างแรกเลยคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งเราพูดไปบ้างแล้ว แต่อยากจะเสริมว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลไม่เหมือนกับการสร้างถนน เพราะการสร้างถนนเป็นการสร้างภายใต้ข้อจำกัดเชิงกายภาพ เราต้องรู้ว่าสร้างผ่านพื้นที่ไหน ส่งเสริมอะไร เป็นการพัฒนาที่ค่อนข้างเจาะจง แต่ดิจิทัลไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ คล้ายกับเราใส่ปุ๋ยลงไปในดิน แต่เราไม่รู้ว่าอะไรจะโผล่ขึ้นมา ซึ่งผลที่ได้ก็อาจเป็นของใหม่ที่คิดไม่ถึง

แต่อีกเรื่องที่สำคัญมากคือ สนามแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่ในแง่ของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำธุรกิจด้วย เรามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก แต่ยังไม่ค่อยโต เพราะแข่งกับบริษัทใหญ่ไม่ได้ ส่วนบริษัทใหญ่ก็มีแค่ไม่กี่เจ้า และไม่ค่อยเกิดการแข่งขัน

เอาเข้าจริง ปัญหาของไทยไม่ได้อยู่ที่การคิดนโยบาย เพราะคนคิดมีเยอะ เราเห็นนโยบายต่างๆ สารพัดอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งต้องประสานหลายฝ่าย และแต่ละฝ่ายต่างก็มีกรอบของตัวเองที่แตกต่างกัน บางทีก็ขัดกัน นี่เป็นอีกหนึ่งโครงสร้างที่ต้องแก้

This image has an empty alt attribute; its file name is Governor_9.jpg

ความเหลื่อมล้ำเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ทั้งในระดับโลกและในเมืองไทย คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

(นิ่งคิด) วิกฤตโควิด-19 ต่อให้หนักแค่ไหน กินเวลายาวนานเท่าไหร่ สุดท้ายเศรษฐกิจไทยก็จะกลับมาเติบโตจนได้ มากน้อยก็ว่ากันไป แต่สิ่งที่น่ากังวลจากวิกฤตครั้งนี้คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะคนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดจากวิกฤตรอบนี้คือคนรายได้น้อย ลูกจ้างรายวัน และแรงงานในภาคบริการ ซึ่งภาระความรับผิดชอบเดิมมากอยู่แล้ว ผมมีโอกาสพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญหลายคน ทุกคนกังวลในเรื่องนี้ และเป็นความจริงที่น่าเศร้าว่า เรายังคิดกันไม่ออกว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไรดี  

ในประเทศไทย เมื่อพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ต้องพูดเรื่องความยากจนด้วย ซึ่งเป็นคนละปัญหาแต่เกี่ยวพันกัน ที่ผ่านมา ประเทศไทยแก้ไขปัญหาความยากจนได้ดี ถ้ายึดจากเส้นความยากจนเป็นหลัก จะเห็นเลยว่าจำนวนคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริง กลุ่มคนที่เกือบจนในประเทศไทยมีความเปราะบางมาก ในทางสถิติอยู่เหนือความยากจนก็จริง แต่พอเจอช็อกนิดหน่อยก็ลำบากทันที พร้อมกลายเป็นคนจนได้เสมอ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนเยอะมาก เนื่องจากตาข่ายทางสังคมของประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร หนทางแก้ไขแบบทางลัดคือการเพิ่มสวัสดิการสังคมให้มากขึ้น และในระยะยาวก็ต้องเน้นนโยบายที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้คน เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม สำหรับโจทย์เรื่องความยากจนและกลุ่มคนเปราะบาง ผมคิดว่าเรายังพอมีเครื่องมือเชิงนโยบายและศักยภาพที่จะจัดการได้บ้าง

ทีนี้เมื่อหันกลับมาดูโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำ พอเห็นแสงสว่างบ้างไหม

นี่เป็นปัญหาโลกแตก ผมยังไม่นึกไม่ออกว่ามีประเทศไหนที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้สำเร็จอย่างจริงจัง เพราะนโยบายแก้ไขความเหลื่อมล้ำจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตั้งต้นของประเทศนั้นเองค่อนข้างมาก ประเทศที่ความเหลื่อมล้ำต่ำมักจะเป็นประเทศที่มีพื้นฐานค่อนข้างดีมาตั้งแต่ต้น อย่างประเทศแถบสแกนดิเนเวียหรือเอเชียตะวันออก แต่ถ้าเป็นประเทศที่เริ่มด้วยความเหลื่อมล้ำสูงแล้วกลับมาต่ำนั้นไม่มีเลย ยกเว้นแต่จะเจอช็อกขนาดใหญ่ เช่น สงคราม หลายคนเสนอให้แก้ด้วยมาตรการทางการคลัง เช่น ภาษี แต่ในทางปฏิบัติจริงทำได้ยาก คือทำได้ก็ดีนะ แต่จะให้คาดหวังผลสำเร็จสมบูรณ์คงยาก

สิ่งหนึ่งที่ผมหวังว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ก็คือการสร้าง ‘ความเท่าเทียมทางโอกาส’ (equality of opportunity) คล้ายกับเวลาวิ่งแข่ง ถ้าสตาร์ตจากจุดเดียวกัน แล้วคุณแพ้ คุณก็คงรับได้ว่าคนนั้นวิ่งเร็วกว่า แต่ถ้าจุดเริ่มต้นไม่เท่ากัน การแพ้ชนะที่เกิดขึ้นก็ไม่แฟร์ แล้วที่ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่คือ การที่กฎกติกาอาจจะไม่ให้คุณมีสิทธิวิ่งเลย พูดอีกแบบคือ เราอาจจำเป็นต้องแยกแยะลักษณะของความเหลื่อมล้ำ ถ้าเป็นความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ (inequality of outcomes) ก็อาจยอมรับได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเป็นความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสก็ต้องแก้ไข เพราะความรู้สึกไม่เป็นธรรมจะรุนแรง

เราเพิ่งคุยกันเรื่อง engine of growth ตัวใหม่ใช่ไหม การสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสน่าจะเป็นวิธีสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีและยั่งยืนที่สุด เพราะมันช่วยปลดปล่อยศักยภาพของคนตัวเล็กๆ ที่รวมกันแล้วจะมีพลังมหาศาล นักเศรษฐศาสตร์สมัยก่อนชอบคิดว่าการเติบโตกับความไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องที่ต้องแลกกัน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว

เรามีจุดคานงัดหรือจุดพลิกที่จะจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสอย่างเป็นรูปธรรมไหม

กฎหมายและกติกาต่างๆ ต้องถูกบังคับใช้กับทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน แล้วประชาชนจะมีความหวัง ต้องทำให้คนเห็นว่า ความเป็นธรรมเกิดขึ้นได้จริง ประเทศไทยชอบเสนอกฎหมายในเชิงเทคนิคเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือภาษีมรดก แต่ตราบที่คุณไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับทุกคนอย่างเสมอหน้าจริงก็ไม่เวิร์กหรอก

การสร้างความเท่าเทียมด้านโอกาสยังเป็นทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การหาฉันทมติใหม่ (new consensus) ในสังคมได้ด้วย เพราะเป็นทางเลือกที่ทุกคนได้ประโยชน์ (win-win solution) ต่างจากโจทย์เรื่องการกระจายทรัพยากรใหม่ เช่น การกระจายรายได้หรือความมั่งคั่ง ซึ่งยากกว่า เพราะมีบางคนได้ประโยชน์และบางคนเสียประโยชน์

คุณเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 คือ เราปฏิรูปเชิงสถาบันน้อยเกินไป ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย กระบวนการกำหนดนโยบาย รวมไปถึงระบบราชการ ถ้าต้องตั้งหลักใหม่ประเทศไทยจากวิกฤตโควิด-19 ควรต้องปฏิรูปเชิงสถาบันอย่างไร เพื่อที่ว่าในอนาคตจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายกันอีก

สิ่งที่อยากเห็นคือการปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะลักษณะของระบบราชการที่มีความเป็นไซโล แยกส่วน ไม่เป็นเอกภาพ ทุกวันนี้ออกนโยบายครั้งหนึ่งอาจต้องประสานหน่วยงานนับสิบแห่ง ซึ่งต่างก็มีกรอบและความต้องการของตัวเอง ส่วนเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ยังมีความซ้ำซ้อนกันอยู่มาก ทำให้การนำนโยบายไปขับเคลื่อนและใช้จริงทำได้ยากมาก ดังนั้นต้องมีการปฏิรูปกฎหมายให้เท่าทันยุคสมัย เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศด้วย

ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปมีผู้เสนอไว้มากมาย แต่การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ยากมากตราบที่สังคมไม่มีความไว้วางใจต่อกัน โดยธรรมชาตินั้น การปฏิรูปเป็นของยากอยู่แล้ว เป็นงานที่ทำแล้วไม่ได้คะแนนนิยม ทางหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือหาประเด็นร่วมที่คนเห็นพ้องต้องกันจำนวนมาก ตอบโจทย์หลายฝ่าย สามารถดึงแนวร่วมเข้ามาช่วยกันทำได้ เมื่อทางออกเป็นแบบนี้ หลายเรื่องทำในระดับประเทศอาจจะลำบาก เพราะฉะนั้นอาจจะลองขยับในระดับท้องถิ่นดูก่อน แสวงหาฉันทมติในระดับที่เล็กย่อยลงมา เพราะคนที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีแนวคิดและค่านิยมต่างๆ ใกล้เคียงกัน อาจมีโอกาสที่จะหาฉันทมติร่วมกันได้ง่ายกว่ามาก การปฏิรูปจึงผูกโยงกับการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจ ทรัพยากร และโอกาสด้านต่างๆ ออกไปจากกรุงเทพฯ ที่ผูกขาดรวมศูนย์ทุกอย่างไว้


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Projects

16 Nov 2021

‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ 4 หนังสั้นคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากให้ผู้ใหญ่พูดแทน

ถ้าเรามองว่า School Town King คือสารคดีที่เคยเล่าเรื่องราวของของเยาวชน การศึกษาและความเหลื่อมล้ำผ่านสายตาของผู้ใหญ่ เรื่องสั้นจาก ‘เติมนักเรียนในช่องว่าง’ ก็ไม่ต่างกันนัก เพียงแต่มันสื่อสารโดยตรงมาจากกลุ่ม ‘นักเรียน’ ผู้เป็นคำตอบของหลายๆ ช่องว่างในสังคมนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Nov 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save