fbpx

“เราไม่สามารถชนะสงครามด้วยกวีนิพนธ์ แต่กวีเป็นประจักษ์พยานต่อสงครามได้” ‘เซอร์ฮี ซาดาน’ กวียูเครนผู้ต่อต้านจักรวรรดินิยมรัสเซีย

พวกเขาฝังลูกชายตั้งแต่ฤดูหนาวที่แล้ว

ดินฟ้าอาเพศในฤดูหนาว—ฝน ฟ้าร้อง

พวกเขาฝังเขาเงียบๆ—ไม่มีใครว่าง

เขาต่อสู้เพื่อใคร? ฉันถาม เราไม่รู้ พวกเขาพูด

เขาต่อสู้เพื่อใครสักคน พวกเขาพูด แต่ใครล่ะ—ใครจะรู้?

มันเปลี่ยนแปลงอะไรหรือ พวกเขาพูด ตอนนี้มีประโยชน์อะไรเล่า

ฉันควรจะถามตัวเขาเอง แต่ตอนนี้—ไม่จำเป็น

และเขาจะไม่ตอบ—เขาถูกฝังโดยไม่มีหัว

              (บางตอนจาก “They buried their son last winter” โดย เซอร์ฮี ซาดาน)

สมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศเยอรมนีได้มอบรางวัลสันติภาพของเยอรมันบรรณกิจ[1] ประจำปี 2022 แก่เซอร์ฮี ซาดาน นักประพันธ์และนักดนตรีชาวยูเครน “สำหรับงานศิลปะอันโดดเด่นของเขา ตลอดจนสำหรับทัศนคติอันชัดเจนของเขาด้านมนุษยธรรม ซึ่งจูงใจเขาให้เสี่ยงชีวิตของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม และด้วยเหตุนี้จึงเรียกร้องความสนใจมากยิ่งๆ ขึ้นมาสู่เคราะห์กรรมของเขาเหล่านั้น” ตามคำแถลงของคณะกรรมการ

“ในนวนิยาย ความเรียง บทกวีและบทเพลงของเขา ซาดานแนะนำเราสู่โลกที่ประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แม้กระนั้นก็ยังคงดำเนินชีวิตตามขนบดั้งเดิม เรื่องของเขาแสดงให้เห็นว่าสงครามและการทำลายล้างเข้ามาสู่โลกนี้และทำให้ชีวิตของผู้คนพลิกผันอย่างไร โดยผ่านผลงานรวม เขาใช้ภาษาอันมีลักษณะเฉพาะตนที่ทำให้เราเห็นภาพเหมือนอันชัดเจนและแตกต่างของความเป็นจริงที่เราหลายคนเลือกจะมองข้ามมานานเกินไป

“ด้วยความเที่ยงตรงของผู้ฟังที่จริงใจและใคร่ครวญ ด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวและมีชั้นเชิง ซาดานแสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวยูเครนท้าทายความรุนแรงรอบๆ ตัวอย่างไร และต่อสู้เพื่อให้มาซึ่งชีวิตอันเป็นไทที่หยั่งรากในสันติภาพและอิสรภาพ”

ในพิธีมอบรางวัลรางวัลสันติภาพของเยอรมันบรรณกิจประจำปี 2022 คาริน ชมิดท-ฟรีดเดอริช นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศเยอรมนี ได้กล่าวทักทายตอนหนึ่งว่า “เซอร์ฮี ซาดานยังแรงบันดาลใจแก่เรา —ด้วยการใช้ภาษาของเขา ด้วยหนังสือและบทกวีของเขา และด้วยดนตรีที่เขาสร้างสรรค์ ทุกวันนี้เขายังคงแสดงคอนเสิร์ตในสถานีรถไฟใต้ดิน ช่วยพลเรือนหลบหนีการยิงและการระเบิด อ่านกวีนิพนธ์ในห้องประชุมที่อัดแน่นด้วยผู้คน และแจกจ่ายความช่วยเหลือในเมือง ‘เราไม่ใช่ผู้สนับสนุนสงคราม’ ซาดานกล่าวถึงตัวเขาเองและเพื่อนร่วมชาติชาวยูเครน ‘เราปรารถนาความสงบสุขในชีวิต . . . น่าเสียดาย เราไม่สามารถชนะสงครามด้วยกวีนิพนธ์ แต่กวีเป็นประจักษ์พยานต่อสงครามได้’”

เซอร์ฮี ซาดาน (Serhiy Zhadan, 1974–) เป็นเสียงสำคัญที่สุดคนหนึ่ง ผู้ซึ่งริเริ่มสิ่งใหม่ๆ และเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงวรรณกรรมยูเครนร่วมสมัย งานวรรณกรรมของเขาประกอบด้วยบทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย ความเรียงและรายงาน ตลอดจนบทเพลง ซึ่งให้ความสำคัญกับยุคสมัยตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตถึงสงครามที่ซัดกระหน่ำยูเครนมาตั้งแต่ปี 2014 เขาสืบทอดขนบของเผ่าพันธุ์กวีผู้มีบทบาทแข็งขันในวัฒนธรรมยูเครน —ประเทศที่มีวัฒนธรรมเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการเมืองมายาวนาน “ผู้นำของเราไม่ใช่กษัตริย์หรือราชินีมานานแล้ว แต่เป็นกวี” เขากล่าว มีอนุสาวรีย์สำคัญๆ หลายแห่งในยูเครนอุทิศแก่กวี ตาราส เชฟเชนโก ในศตวรรษที่ 19 ผู้ซึ่งเกิดมาเป็นทาสติดที่ดิน (serf) และได้ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยยูเครนทางการเมือง จนได้ชื่อว่า ‘บิดาแห่งชาติยูเครนสมัยใหม่’ นักเขียนยังมีบทบาทสำคัญในการได้รับเอกราชของยูเครนในปี 1991

ซาดานพัวพันกับการเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และมีส่วนร่วมในทุกๆ การปฏิวัติในยูเครนหลังได้รับเอกราช ในปี 2004 เขาก่อตั้งเมืองกระโจมในคาร์คีฟช่วงการปฏิวัติสีส้ม —การประท้วงที่คัดค้านการฉ้อฉลและการแทรกแซงของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และระหว่างการปฏิวัติไมดานปี 2014 ซึ่งได้โค่นล้มประธานาธิบดีวิคเตอร์ ยานูโควิชที่ได้รับการหนุนหลังจากเครมลิน—เขาเป็นผู้นำสำคัญคนหนึ่งในการประท้วงในคาร์คีฟ เมื่อผู้เดินขบวนสนับสนุนรัสเซียพบเขาในอาคารรัฐบาลที่ถูกยึดครอง ก็ลากเขาออกมา ผลักเขาให้คุกเข่า และสั่งให้เขาจูบธงชาติรัสเซีย เขาปฏิเสธและถูกทุบตีบาดเจ็บสาหัสจนต้องเข้าโรงพยาบาล

ซาดานเกิดและเติบโตที่สตาโรบิลสก์ ภูมิภาคลูฮานสก์ ในทศวรรษ 1990 ครั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนยังคงเป็นอาณานิคมของรัสเซีย เขามาศึกษาวรรณกรรม ยูเครนศึกษาและเยอรมันศึกษาที่มหาวิทยาลัยในคาร์คีฟ เมืองใหญ่อันดับสองของยูเครน ซึ่งเขาถือว่าเป็นบ้านเกิดเมืองนอน เขาได้เห็นสองฉากของเมืองนี้ ฉากแรก มันเป็นแหล่งกำเนิดของชาตินิยมยูเครน—คาร์คีฟเคยเป็นศูนย์กลางในอุดมคติมาก่อน เป็นบ้านของกวี นักปรัชญาและนักวิชาการผู้ซึ่งกระตือรือร้นในการพัฒนาชาติยูเครนในศตวรรษที่ 19 อีกฉาก คาร์คีฟเป็นเมืองที่มีประชากรพูดภาษารัสเซียเป็นส่วนใหญ่ อยู่ห่างจากพรมแดนรัสเซียแค่ 30 ไมล์ และเป็นอดีตเมืองหลวงของโซเวียตยูเครน ซึ่งรัสเซียใช้เป็นข้ออ้างว่าคาร์คีฟก็เป็นของรัสเซียเช่นกัน

ซาดานอ้างถึงรัสเซียในฐานะ ‘จักรวรรดิ‘ เสมอ ซึ่งเป็นศัพท์แสงที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการล่าเมืองขึ้นของรัสเซียที่มีต่อยูเครน สำหรับชาวรัสเซีย “ยูเครนเป็นเพียงภาคผนวก ส่วนหนึ่งของรัสเซีย เพราะอะไรก็ไม่รู้ คนพวกเดียวกันนี้ยังทำลายอย่างต่อเนื่อง และชาวยูเครนไม่มีสิทธิในเอกราชของตัวเอง” เขากล่าว “แต่ชาวยูเครนเห็นประวัติศาสตร์ที่พวกเขาเป็นประชาชนของตัวเอง เป็นชาติเอกราช ผู้ซึ่งต่อต้านจักรวรรดิเสมอมา”

ซาดานเชื่อว่านักเขียนมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับท่าทีอาณานิคมของรัสเซีย โดยการสร้างอัตลักษณ์ของประเทศผ่านศิลปะ ในฐานะผู้เป็นสื่อ นักเขียนจะดูดายไม่ได้ในยุคสมัยเช่นนี้ “เราเป็นสังคมที่เป็นการเมืองอย่างสูง ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้เพราะเราเป็นสังคมหลังอาณานิคม และเราพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองเพื่อหลบเลี่ยงอิทธิพลของจักรวรรดิรัสเซีย”

ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงพยายามทำลายวรรณกรรมยูเครนครั้งแล้วครั้งเล่า นักเขียนยูเครนต้องชดใช้อย่างหนักเพื่อปกป้องภาษาของตนในยุค ‘การดับแสงแห่งปัญญา’ ซึ่งเป็นการประหารปัญญาชนยูเครนอย่างเป็นระบบ โดยโจเซฟ สตาลิน เผด็จการแห่งโซเวียตในช่วงทศวรรษที่ 1930-1940

ในช่วงต้นทศวรรษ 1920 ศิลปินและนักเขียนยูเครนลงหลักปักฐานในคาร์คีฟ ทำให้คาร์คีฟกลายเป็นศูนย์กลางแห่งความล้ำยุค แต่ไม่ช้านาน สตาลินก็ปราบปรามปัญญาชนยูเครนที่คุกคามความฝันในการรวมศูนย์วัฒนธรรมโซเวียตของจอมเผด็จการ กวีและนักเขียนจำนวนมากอาศัยอยู่ในตึก ‘สโลโว’ กลางเมืองคาร์คีฟ อาคารสหกรณ์ที่สร้างขึ้นตอนปลายทศวรรษ 1920 เพื่อเป็นที่พักอาศัยของบุคคลสำคัญด้านวัฒนธรรม ครั้นเห็นเป็นภัยคุกคาม โทรศัพท์ก็ถูกดักฟังและมีคำสั่งให้จับกุมครั้งใหญ่ และในวันที่ 7 มีนาคม 2022 อาคารหลังนี้ก็ถูกโจมตีอีกครั้ง —คราวนี้เสียหายด้วยการถล่มระเบิดของรัสเซีย

การรณรงค์ขุดรากถอนโคนปัญญาชนยูเครนถึงจุดสูงสุดในช่วงการกวาดล้างครั้งใหญ่ในปี 1938 ของสตาลิน ซึ่งมีนักเขียน 223 คนถูกคุมขังหรือไม่ก็ถูกประหาร ตามการประเมิน ปัญญาชนยูเครนเกือบ 30,000 คนถูกบีบคั้นในการกวาดล้างครั้งนี้ ในปี 1930 งานของนักเขียนยูเครน 259 คนได้รับการตีพิมพ์ แต่ถึงปี 1938 เหลือแค่ 36 คน—นอกนั้นถูกประหาร ถูกเนรเทศ สูญหาย หรือไม่ก็ฆ่าตัวตาย

ซาดานสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 1996 โดยทำวิทยานิพนธ์ว่าด้วยอนาคตของยูเครน หลังจากนั้น เขาทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ต่อมาเริ่มเป็นนักเขียนอิสระและเขียนในภาษายูเครน ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เขาพิมพ์บทกวีชิ้นแรกๆ และเริ่มจัดเทศกาลวรรณกรรมและดนตรี ซึ่งมีอิทธิพลต่อแวดวงวัฒนธรรมของคาร์คีฟ

ในงานวรรณกรรมของซาดาน เขามักจะใช้่คาร์คีฟและยูเครนตะวันออกเป็นฉากหลัง เช่น นวนิยายเรื่องแรกของเขา Depeche Mode (2004) เขาสำรวจการแปรผันของชาติและผู้คนยุคหลังโซเวียตและฉายภาพความพยายามของชาวยูเครนที่จะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ นวนิยายเรื่องที่สามของเขา Voroshillovgrad (2010) ซึ่งเป็นชื่อเมืองลูฮานสก์ในยุคโซเวียต ผู้ประพันธ์หยิบยืมกลวิธีเหนือจริงและพลังของกวีนิพนธ์มาใช้เล่าเรื่องในลักษณะ ‘นิยายสัญจร’ (road novel) ถึงภาวะสับสนอลหม่านในภูมิภาคดอนบาสอันเป็นเขตอุตสาหกรรม ตัวละครเอกในเรื่องออกแสวงหาอะไรสักอย่างที่เรียกได้ว่าเป็นบ้านในโลกที่พรมแดนมลายหายไปยิ่งๆ ขึ้น ในปี 2014 BBC ยูเครนได้คัดเลือกหนังสือเล่มนี้เป็น ‘หนังสือแห่งทศวรรษ’ และได้รับรางวัลยาน มิชาลสกี (Jan Michalski Prize) ซึ่งเป็นรางวัลวรรณกรรมของสวิสที่มอบให้แก่นักเขียนทั่วโลก ในปีเดียวกัน

ในนวนิยายเรื่อง Mesopotamien (2014) ซาดานใช้ร้อยแก้วผสมผสานกับกวีนิพนธ์เขียนภาพเหมือนของเมืองคาร์คีฟอันเป็นมาตุภูมิของเขา ซึ่งถูกบรรยายในฐานะบาบิโลนสมัยใหม่ น้ำสองสายแบ่งแยก ‘ดินแดนแห่งสองแม่น้ำ’ เป็นเมืองบนกับเมืองล่าง ในขณะที่สงครามและความรุนแรงซัดกระหน่ำ ผู้คนของเมืองต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ผู้ซึ่งถูกผลักดันโดยความปรารถนาซึ่งความรัก และใช้ความอ่อนไหวท้าทายความสิ้นหวังและความตาย

ในปี 2018 The Orphanage (2017) นวนิยายของเขาได้รับรางวัลเทศกาลหนังสือไลป์ซิกสำหรับฉบับภาษาเยอรมัน ซาดานนำผู้อ่านไปสู่สงครามในดอนบาสที่เริ่มขึ้นปี 2014 ซึ่งผู้คนในภูมิภาคนั้นมักถูกบังคับให้เลือกข้างระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ตัวละครเอกเป็นครูซึ่งต้องเดินทางผ่านเขตสงครามไปรับหลานชายจากโรงเรียนประจำ การเดินทางนำเขาผ่านฉากแห่งการทำลายล้าง และในหมอกหนาทึบ เขาติดอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างเส้นพรมแดน ที่เขาเผชิญกับคำถามว่าบุคคลจะยังคงเป็นกลางในยุคสมัยแห่งสงครามได้หรือไม่

ในบทกวีและเรื่องสั้นของเขา ซาดานแสดงความหลากหลายของเสียงและความผูกพันระหว่างกับโลกดนตรี ซึ่งเป็นที่ที่พังค์ได้พบกับกวีนิพนธ์ แต่เขาให้ความสำคัญกับผู้คนเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกเรียกว่าคนเบี้ยล่าง นักวิจารณ์ชื่นชมรูปแบบอันเป็นรูปธรรมและชัดเจนในการแสดงออกของเขาพอๆ กับน้ำเสียงเสียดสีในบางครั้ง และความถูกต้องเหมือนสารคดี

นอกจากผลงานในฐานะนักเขียนแล้ว ซาดานยังแปลกวีนิพนธ์จากภาษาเยอรมัน อังกฤษ เบลารุส และรัสเซียเป็นภาษายูเครน เช่น บทกวีของปอล เซลานและของชาร์ลส์ บูคาวสกี เขายังเขียนบทเพลงให้กับวงร็อคต่างๆ รวมทั้งวง Sobaki v kosmosi (หมาในอวกาศ) ซึ่งเขาเป็นนักร้องนำมาตั้งแต่ปี 2007

หลังการรุกรานยูเครนอย่างก้าวร้าวโดยรัสเซียเมื่อต้นปี 2022 ซาดานยังคงทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมและจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เขายังอยู่ในคาร์คีฟ เมืองที่ถูกรุมล้อมด้วยความรุนแรงและการคุกคาม ในทุกๆ วัน เขาโพสต์เศษเสี้ยวแห่งประสบการณ์ของตนต่อผู้ติดตามนับหมื่นทางโซเชียลมีเดีย เขาจะไม่มีวันยอมให้เสียงของยูเครนเงียบหาย

“ถ้ายูเครนชนะ ก็พอมีอนาคตสำหรับพวกเรา” เขาให้สัมภาษณ์กับ Kyiv Independent “ถ้ารัสเซียชนะ ก็จะไม่มีวรรณกรรม ไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีอะไรเลย”


[1] Peace Prize of the German Book Trade ซึ่งมีนัยทางการเมืองและให้มาตั้งแต่ปี 1950 แก่บุคคลทางวัฒนธรรม การเมือง และวิทยาศาสตร์ ผู้ที่ได้ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อส่งเสริมสันติภาพ ซึ่งมีพิธีมอบรางวัลวันที่ 23 ตุลาคม 2022 ในโบสถ์เพาสเคียร์ช เมืองแฟรงค์เฟิร์ต

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save