fbpx

หนังสือ ‘ฮาวทู’ มีประโยชน์จริงหรือ?

ในตลาดหนังสือช่วงนี้ ดูเหมือนหนังสือแนวความรู้จะเฟื่องฟูมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือในแนว ‘ฮาวทู (how to)’ หรือที่ฝรั่งมักเรียกว่า self-help books ทำให้เกิดภาพพจน์ว่า คนยุคนี้แสวงหาความรู้เพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะโดนเทคโนโลยีใหม่ๆ ดิสรัปต์กันแทบจะรายวัน 

แต่คำถามที่หลายคนอาจเคยสงสัย (หรือแม้แต่ยังสงสัยอยู่) คือ หนังสือฮาวทูช่วยให้เรารับมือ ทำสิ่งต่างๆ ปรับปรุงตัว และช่วยให้มีความสุขได้มากขึ้นจริงหรือ? 

นั่นสิครับ จริงแค่ไหนกัน?

เบรตต์ แม็กเคย์ (Brett MacKay) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Art of Manliness ชี้ว่า หนังสือฮาวทูในยุคศตวรรษที่ 19 เน้นไปที่การเสริมสร้างบุคลิกตัวตนให้ชัดเจนขึ้น แต่พอถึงศตวรรษที่ 20 หนังสือดังแห่งศตวรรษอย่าง ‘วิธีชนะมิตรและจูงใจคน (How to Win Friends & Influence People)’ ของเดล คาร์เนกี (Dale Carnegie) เน้นการให้คำแนะนำในการทำตัวให้เป็นที่รักของคนอื่น 

สำหรับช่วงสองทศวรรษมานี้ เริ่มมีหัวข้อหนังสือฮาวทูที่หลากหลายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ครอบคลุมทั้งเรื่องการสร้างอุปนิสัยที่เชื่อกันว่ามีประโยชน์ การทำตัวให้บรรลุเป้าหมาย การทำงานให้ได้ผลงานดีๆ และประสบความสำเร็จ การเอาชนะความกังวลใจและความกระวนกระวายใจ การลดน้ำหนัก รวมไปถึงคำแนะนำกว้างๆ รวมๆ ในการดำรงชีวิตให้มีความสุข 

จนอาจกล่าวได้ว่าหนังสือแนว ‘วรรณบำบัด (bibliotherapy)’ จำพวกนี้เติบโตอย่างพรวดพราดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยทำยอดขายเฉพาะในสหรัฐอเมริกมากถึง 18 ล้านเล่มต่อปี!

เชื่อว่าทุกท่านที่อ่านบทความนี้อยู่ ก็คงได้ผ่านตาหนังสือหมวดนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย 

อันที่จริงจะว่าไปก็ไม่น่าประหลาดใจมากนักนะครับ ชีวิตในทุกวันนี้มีความสับสนอลหม่าน เต็มไปด้วยอุปสรรคและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเชี่ยวกราก ชวนให้ผิดหวัง เหน็ดเหนื่อยหรือท้อใจ แม้ในใจแต่ละคนก็ยังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าตัวเองน่าจะมีศักยภาพมากพอและน่าจะมีโอกาสตั้งเนื้อตั้งตัวและประสบความสำเร็จได้

ผู้คนจึงมองหาคำแนะนำและมองหา ‘เข็มทิศนำทาง’ ไปสู่ความสำเร็จหรือการมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม 

หนังสือฮาวทูในท้องตลาด มีอยู่จำนวนมากที่เขียนโดยนักจิตวิทยาและนักวิชาการสาขาอื่นๆ แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ กลับมีงานวิจัยอยู่น้อยมากที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การอ่านหนังสือฮาวทูเหล่านี้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้จริงแค่ไหน 

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เปเปอร์ชื่อ Do Self-help Books Help? (หนังสือฮาวทูช่วยได้จริงหรือ?) [1] ของแอด เบิร์กส์มา (Ad Bergsma) นักสังคมวิทยาชาวดัตช์จากมหาวิทยาลัยเอราสมุสรอตเทอร์ดาม (Erasmus University Rotterdam) ในเนเธอร์แลนด์

เบิร์กส์มาวิเคราะห์หนังสือฮาวทูที่ขายดีที่สุดในเนเธอร์แลนด์จำนวน 57 เล่ม ประเด็นสำคัญที่เขาสรุปไว้คือ หนังสือพวกนี้ไม่ได้ช่วยลดอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติทางจิตวิทยาสักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่มันช่วยได้บ้างก็คือ เพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้อ่านแบบเป็นคนๆ ไป และในบางกรณีก็ช่วยให้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้นจริง 

จากทั้ง 57 เล่ม เขาพบว่าแบ่งออกเป็นหมวดๆ ได้หลายแนว หนังสือบางเล่มก็มีธีมทำให้ชุบชูจิตใจ บ้างก็เน้นไปที่การสร้างสัมพันธภาพกับผู้คน การเอาชนะความเครียด และการเป็นตัวของตัวเอง เป็นต้น 

มีเสียงวิพากษ์หนังสือแนวนี้อยู่ไม่น้อย เช่น บ้างก็ว่าทำให้เกิดความหวังหรือความฝันลมๆ แล้งๆ หรือแม้แต่ทำร้ายจิตใจมากกว่าจะช่วย กระนั้นก็ตาม จุดแข็งของหนังสือแนวนี้ที่ชัดเจนคือ สามารถส่งสารทำให้ผู้อ่านเกิดความสุขได้มากขึ้น และบางเล่มก็ช่วยแนะนำแนวทางการรับมือปัญหาต่างๆ ที่ใช้งานได้จริง 

อันที่จริงสำหรับผู้มีปัญหาทางจิตใจบางอย่าง หนังสือแนวนี้ก็ช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน แต่แน่นอนว่าไม่อาจใช้แทนการปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่ศึกษาหลักการทางจิตวิทยามาโดยตรง

ข้อสังเกตอื่นๆ ที่เบิร์กส์มาค้นพบคือ คนที่อ่านนิตยสารจิตวิทยาเป็นผู้หญิงมากกว่า หรือประมาณ 3/4 ของทั้งหมด โดยมีอยู่ราว 3/4 ของทั้งหมดที่มีอายุช่วง 20–49 ปี และยิ่งมีการศึกษาสูงก็ยิ่งนิยมอ่านมากกว่า 

หนังสือเล่มหนึ่งที่วิเคราะห์เกี่ยวกับหนังสือฮาวทูไว้อย่างน่าสนใจในปี 1989 [2] เขียนโดยสตีเวน สตาร์กเกอร์ (Steven Starker) เขาทดลองให้อาสาสมัครบุคลากรการแพทย์อายุ 27–86 ปี จำนวน 67 คนช่วยประเมินหนังสือแนวนี้ว่า มีประโยชน์กับผู้อ่านเพียงใด 

ปรากฏว่าหนังสือจิตวิทยาบางเล่มก็ได้รับการยืนยันว่ามีประโยชน์และอยากให้อ่านกัน เช่น Tuesdays with Morrie (ฉบับแปลไทยใช้ชื่อว่า วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี), Finding Flow (ฉบับแปลไทยใช้ชื่อว่า ภาวะลื่นไหล) และ In the Meantime (น่าจะยังไม่มีฉบับภาษาไทย) 

ขณะที่มีเล่มที่ไม่แนะนำให้อ่านด้วย เช่น How to Win Friends and Influence People (วิธีชนะมิตรและจูงใจคน) และ Pulling Your Own Strings (ฉบับแปลไทยใช้ชื่อว่า อย่ายอมเป็นเหยื่อ) และที่ไม่แนะนำ ‘เป็นอย่างยิ่ง’ คือ Mars and Venus in the Bedroom โดย จอห์น เกรย์ (John Gray) ผู้เขียน Men Are from Mars, Women Are from Venus (ผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์)

คำแนะนำของเบิร์กส์มาในการเลือกหาหนังสือฮาวทูมาอ่านก็คือ 

ข้อแรก ให้เลือกเล่มที่ตอบโจทย์ปัญหาที่ชัดเจน (problem-focused) เช่น แก้ปัญหาการนอนไม่หลับ มีความเครียด ติดสิ่งเสพติด มีความกระวนกระวายใจ หรือซึมเศร้า ฯลฯ มีผลการศึกษาแบบเป็นรูปธรรมที่ชี้ว่า หนังสือแนวนี้ค่อนข้างตอบโจทย์จำพวกนี้

ในทางกลับกัน หนังสืออีกหมวดหนึ่งคือ พวกที่นำทางชีวิตทำให้มีจิตใจเบิกบานและเติบใหญ่  (growth-oriented) ที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องความสุข การหาเป้าหมายชีวิต การตั้งเป้าหมายและการพัฒนาเส้นทางอาชีพ รวมไปถึงการปรับปรุงความสัมพันธ์ หลักฐานจากงานวิจัยเชิงวิชาการระบุว่า ผลกระทบจริงจากหนังสือในหมวดนี้ยังไม่หนักแน่นเท่าไหร่ 

แน่นอนว่านี่ไม่ได้เป็นการระบุว่า ‘ใช้การไม่ได้’ อย่างสิ้นเชิง เพียงแต่ว่าผลกระทบทางบวกในหัวข้อเหล่านี้ยังเห็นได้ไม่ค่อยชัดเจนนักในทางวิชาการ

คำแนะนำที่สองคือ เลือกหนังสือที่ทันสมัยและใหม่สักหน่อย บางเรื่องแม้จะยอมรับกันกว้างขวาง เพราะตีพิมพ์มานานแล้ว ก็อาจจะมีเนื้อหาผิดและมีข้อมูลใหม่กว่ามาหักล้างไปแล้วก็ได้ เบิร์กส์มายกตัวอย่าง ‘วิธีการฟังอย่างตั้งใจ (active listening)’ ที่แนะนำกันว่า สำคัญยิ่งต่อความสัมพันธ์ที่ดี แต่งานวิจัยใหม่ๆ กลับชี้ว่าคู่สมรสที่รักใคร่กันดี ไม่ได้ทำอะไรพวกนั้นเท่าไหร่ ทั้งสองฝ่ายยังคงเถียงกัน เอาเหตุผลมาหักล้างสู้กัน 

แต่ด้วยวิธีการและคำพูดคำจาแบบละมุนละไมและด้วย ‘ความหวังดีต่อกัน’ มากกว่า

คำแนะนำที่สามคือ ไม่มีเส้นทางลัดที่นำไปสู่ความสุขที่ใช้ได้กับทุกคน 

ไม่พบหลักฐานชัดเจนว่า หนังสือที่อ่านแล้วชุบชูใจ ทำให้มีความสุขมากกว่าอย่างชัดเจน แต่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างชัดเจนว่า อุปนิสัยบางอย่างและการตั้งเป้าว่าจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น หากได้รับการสนับสนุนจากการอ่านหนังสือแนวนี้บางเล่ม ทำให้มีแนวโน้มจะทำได้สำเร็จมากขึ้นจริง

หนังสือที่แนะนำว่าให้หารายได้มากขึ้น จะได้มีความสุขมากขึ้น ก็ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน เพราะมีหลักฐานชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ความสุขมีความสัมพันธ์น้อยมากกับจำนวนเงินที่หาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหาได้เพียงพอหรือมากกว่าที่ใช้สำหรับปัจจัย 4 แล้ว แย่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สำหรับหลายคนเมื่อผ่านจุดหนึ่งไปแล้ว การมีเงินเพิ่มขึ้นอีกกลับทำให้ลดความสุขลงอย่างเห็นได้ชัด  

ในทางตรงกันข้าม หนังสือที่แนะนำเรื่องการปรับความสัมพันธ์ให้ราบรื่นมากขึ้น จะช่วยให้มีความสุขมากขึ้น ถือเป็นคำแนะนำที่มีแนวโน้มจะถูกต้องและควรทดลองทำดู

ประเด็นที่สี่คือ หนังสือฮาวทูที่ดีจะต้องไม่พูดถึงแต่การฝันหวานถึงความสำเร็จ แต่ต้องกล่าวถึงอุปสรรคที่จะต้องพบเจออีกด้วยเสมอ ตัวหนังสือต้องช่วยสนับสนุนและประคับประคองให้ผู้อ่านดิ้นรนจนถึงจุดหมายที่ตั้งเป้าไว้ได้ ไม่หมดหวังไปเสียก่อน มีงานวิจัยที่แสดงผลว่าคนที่โดนหนังสือฮาวทูจูงใจถึงความสำเร็จแบบฝันกลางวันมากเกินไป มักจะล้มเหลวและพ่ายแพ้ต่ออุปสรรคไปเสียก่อน 

ประเด็นสำคัญสุดท้าย นอกจากหนังสือจะต้องเน้นไปที่โจทย์ปัญหาให้ชัดเจนแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ทำให้ผู้อ่านวางเป้าหมายได้ชัดเจน และเกิดแรงจูงใจกับความกระตือรือร้น ต้องการจะไปถึงจุดหมายให้ได้ หนังสือฮาวทูจึงใช้การได้ดีกับคนที่มีแรงจูงใจในตัวเองสูง และเป็นคนมองโลกในแง่บวกอยู่แล้วเป็นเบื้องต้น 

แต่เรื่องที่สำคัญเหนืออื่นใดก็คือ หนังสือฮาวทูที่ดีต้องเร้าให้ผู้อ่านอยากลงมือทำในทันทีที่อ่านจบ ไม่ว่าคำแนะนำจะดีเพียงใด ถ้าอ่านแล้วไม่ลงมือทำ ไม่ว่าหนังสือฮาวทูเล่มไหนๆ ดีสุดๆ เพียงใดก็คงช่วยไม่ได้    

References
1 Bergsma, A. J Happiness Stud (2008) 9:341–360. DOI 10.1007/s10902-006-9041-2
2 Starker, S. (1989/2002). Oracle at the supermarket; The American preoccupation with self-help books. New Brunswick: Transaction Publishers.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save