fbpx
ปฏิวัติห้องเรียนใหม่ เมื่อการศึกษาแบบเดิมไม่ตอบโจทย์สมองมนุษย์อีกต่อไป

ปฏิวัติห้องเรียนใหม่ เมื่อการศึกษาแบบเดิมไม่ตอบโจทย์สมองมนุษย์อีกต่อไป

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

คงจะมีสักหนึ่งหรือสองครั้ง ในที่ขณะเรานั่งเหม่อมองออกไปนอกห้องเรียน ฟังเสียงครูสอนผ่านหู แล้วเราเกิดคำถามขึ้นในใจ

“เราเรียนไปเพื่ออะไร?”

ทุกวันนี้ งานวิจัยหลายสำนักระบุว่า ระบบการศึกษาส่วนใหญ่ต่างมุ่งตอบโจทย์ความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หากพูดอย่างเรียบง่ายที่สุดคือ เราเรียนไปเพื่อเป็นหนึ่งในกำลังแรงงาน เพื่อมีลู่ทางประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจ และเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศบนเวทีโลก

นี่ช่างฟังดูเป็นคำตอบที่จืดชืดแห้งแล้ง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจถ้าใครหลายคนจะรู้สึกว่าการเรียนเป็นหน้าที่ แม้ว่าจะไม่สนุก เราก็ต้องอดทนเรียนเพื่อจะได้ความรู้ หรือต่อให้บรรยากาศในห้องเรียนน่าเบื่อหน่าย หรือการแข่งขันทำให้เราวิตกกังวล เสี่ยงต่ออาการซึมเศร้าขนาดไหน เราก็ต้องอดทน..

แต่การศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนต้องทุกข์ทนจะถือว่าเป็นการศึกษาที่ดีได้หรือ?

ถ้าไม่ใช่ ลองมาเริ่มต้นคิดกันใหม่ดีกว่าว่าเราเรียนไปเพื่ออะไร

คำตอบของ ดร.นันทินี แชตเตอร์จี ซิงห์ นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาตมะคานธี องค์การยูเนสโก (The Mahatma Gandhi Institute of Education for Peace and Sustainable Development : MGIEP) ที่ถูกนำเสนอในงานเสวนา “การเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ในเชิงประสาทวิทยาศาสตร์: Game Changer เปลี่ยนโลกการศึกษา” เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 บอกไว้ว่า เราควรเรียนไปเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ถึงจุดสูงสุด สร้างตัวเราที่สมบูรณ์แบบที่สุด โดยแน่นอนว่าต้องเป็นตัวเราที่มีความสุข ที่ได้เอื้ออาทรแก่ผู้อื่นในสังคม

และการศึกษาที่สร้างคนสมบูรณ์แบบดังว่า มีสูตรสำเร็จง่ายๆ เพียงเริ่มต้นสร้างเสียงหัวเราะให้เกิดขึ้นในห้องเรียน

ไขความลับของสมอง ทำไมการเรียนให้สนุกจึงสำคัญ  

 

การค้นพบสูตรสำเร็จของการศึกษาของ ดร.นันทินี มีที่มาจากการศึกษาโครงสร้างการทำงานของสมองมนุษย์ในฐานะนักประสาทวิทยาศาสตร์ เธอเริ่มต้นเล่าให้ฟังง่ายๆ ว่า สมองส่วนที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งก็คือส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) ประกอบไปด้วยกลีบสมองย่อยอีก 4 ส่วน ส่วนหลังทำหน้าที่ควบคุมเรื่องการมองเห็น ด้านข้างควบคุมเรื่องการได้ยินและดมกลิ่น ขณะที่ส่วนบนรับหน้าที่ประมวลผลและคำนวณตัวเลข

อีกส่วนหนึ่งคือสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพตามธรรมชาติของมนุษย์ โดยเฉพาะเปลือกสมองหน้าสุดที่ชื่อว่า Prefrontal Cortex เป็นส่วนที่มีวิวัฒนาการมาก ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลชั้นสูง มีความสัมพันธ์กับทักษะด้านภาษา การวางแผน ตัดสินใจ ใช้เหตุผล ฯลฯ จนเรียกได้ว่าเป็นสมองส่วนการคิด (Thinking Brain)

สิ่งที่น่าสนใจคือสมองส่วนการคิดนี้เชื่อมโยงกับระบบลิมบิก (Limbic System) ซึ่งเป็นระบบประสาทที่ควบคุมพฤติกรรมอัตบาลหรือพฤติกรรมอัตโนมัติของร่างกายอย่างการเต้นของหัวใจ การย่อยอาหาร การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และที่สำคัญที่สุดคือการควบคุมกระบวนการทางอารมณ์

“เมื่อสมองส่วนการคิดเชื่อมโยงกับสมองส่วนอารมณ์ ทุกการตัดสินใจของคุณในชีวิตจึงเกี่ยวพันถึงอารมณ์ สังเกตง่ายๆ ว่าตอนที่โกรธจัดหรือมีความสุขจัดๆ คุณมีแนวโน้มจะตัดสินใจอะไรแบบสุดโต่ง นั่นเป็นเพราะสมองส่วนอารมณ์มีบทบาทถึงสมองที่กำลังประมวลผลตัดสินใจนั่นเอง” ดร.นันทินี อธิบาย “ดังนั้น ถ้าคุณไม่สามารถบริหารจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดี ก็มีส่วนที่จะทำให้การตัดสินใจเรื่องสำคัญผิดพลาดได้”

ยิ่งไปกว่านั้น อารมณ์ยังส่งผลต่อการเรียนรู้ ถ้าเรามองกระบวนการการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสมองตามหลักประสาทวิทยาศาสตร์ จะพบว่าเป็นผลมาจากความสามารถในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมอง ซึ่งเรียกว่า Neuroplasticity

“ในสมองมีเซลล์ประสาท (Neuron) จำนวนมาก แต่ละเซลล์จะถูกเชื่อมกันด้วยใยประสาท (axon) เมื่อเซลล์ประสาทเหล่านี้ถูกใช้งานในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งร่วมกัน มันจะสร้างเส้นใยประสาทเชื่อมโยงถึงกันทันที เกิดเป็นโครงสร้างใหม่ในสมอง – ลองนึกภาพว่า เมื่อคุณเจอเพื่อนใหม่ที่ทำงานเข้าขากันได้ดี คุณก็อยากสร้างสายสัมพันธ์กับเขา เซลล์ประสาทเองก็คิดเหมือนกัน การเรียนรู้ทั้งหมดจึงเกิดจากกระบวนการสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ๆ ระหว่างเซลล์ประสาทนี่เอง”

ดร.นันทินียังเสริมว่าสมองของเรามีการปรับโครงสร้างใหม่ตลอดเวลาและตลอดชีวิต แม้ในวัยผู้ใหญ่จะเริ่มเรียนรู้ได้ช้าลงกว่าวัยเด็ก แต่ก็ยังเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ได้เสมอ ดังนั้น.. “ไม่ว่าวันนี้คุณอยากจะเริ่มเรียนรู้อะไร มันไม่เคยมีคำว่าสายเกินไป”

“ประเด็นสำคัญคือ สมองทำงานเหมือนกล้ามเนื้อ ถ้าคุณออกกำลังกายบ่อยๆ กล้ามเนื้อย่อมแข็งแรง สมองเองถ้าเราใช้ทำกิจกรรมเดิมบ่อยๆ เซลล์ประสาทที่เชื่อมโยงกันจะยิ่งแนบแน่นยิ่งขึ้น กลับกัน ถ้าไม่ได้ทำกิจกรรมเลย สายสัมพันธ์ระหว่างเซลล์ประสาทจะอ่อนแอลงจนขาดหายไป”

เมื่อมองไปยังภาพของระบบการศึกษา เราอาจกล่าวได้ว่า ห้องเรียนเป็นสภาพแวดล้อมแบบหนึ่งที่จะทำให้เด็กได้ฝึก ‘ออกกำลังกาย’ สมอง และสร้างเส้นใยเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทจนเกิดเป็นทักษะที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน โจทย์จึงมีอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้ห้องเรียนเป็นสถานที่กระตุ้นเด็กให้ได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็น

ทั้งนี้ เมื่อเรารู้ว่าอารมณ์มีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้เพราะสมองส่วนการคิดและอารมณ์เชื่อมโยงกัน ดร.นันทินีจึงเสนอว่า “เราต้องให้จัดการเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนมีอารมณ์ร่วมด้วย”

“เราต้องจัดการเรียนรู้ที่สนุกสนานหรือดึงดูดใจ เพื่อให้สมองส่วนอารมณ์มีส่วนร่วมไปกับการเรียน ยิ่งถ้าเป็นอารมณ์เชิงบวก เด็กก็จะเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น สังเกตง่ายๆ ว่า ถ้าเด็กๆ ได้เล่น แล้วเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการเล่น เขาจะจำมันได้แม่นและมีความสุขกับการเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ กลับกัน ถ้าการเรียนทำให้เขาอารมณ์ไม่ดี ไม่มีทางเลยที่เขาจะตั้งสมาธิในห้องเรียนได้ นี่คือสาเหตุสำคัญว่าทำไมการศึกษาจำเป็นต้องสนุก ต้องทำให้เขาอารมณ์ดีและมีสมาธิ เพราะมันคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้การเรียนสัมฤทธิ์ผล”

นอกจากความสนุก การสอนให้นักเรียนรู้จักบริหารจัดการอารมณ์ของตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ครูต้องใส่ใจ เพราะปกติแล้ว เมื่ออารมณ์ปั่นป่วน สมองก็จะยุ่งง่วนกับการจัดการอารมณ์ให้คงที่ จนไม่เหลือพลังงานหรือทรัพยากรความคิดให้เราใช้งานต่ออีก

“ลองนึกภาพว่า ตอนที่เด็กๆ กำลังทำข้อสอบ พวกเขาอาจทำไม่ได้จนเกิดความตื่นตระหนก วิตกกังวล นั่นยิ่งทำให้พวกเขาคิดอะไรไม่ออกเข้าไปกันใหญ่ เราจึงต้องสอนเด็กๆ ว่าถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ พวกเขาจะจัดการอารมณ์ตัวเองได้อย่างไร เพื่อให้สมองของพวกเขาดึงความรู้ที่ได้เรียนออกมาใช้ได้เต็มที่”

และถ้านักเรียนเรียนรู้ได้ดี สิ่งที่จะกระตุ้นให้พวกเขาเกิดความกระตือรือร้นและมีกำลังใจ อาจไม่ใช่รางวัลจับต้องได้อย่างขนม ของขวัญ หรือคะแนน แต่เป็นคำชมอย่างจริงใจ

“แทนที่จะบอกพวกเขาว่า ถ้าทำแบบนี้หรือเรียนได้ดี เราจะซื้อของขวัญให้หรือซื้อขนมให้ ลองเปลี่ยนมาบอกว่าพวกเธอเก่งมาก ขอให้ทำต่อไป หรือชมเขาด้วยคำพูดดีๆ เพราะรางวัลที่เป็นสิ่งของหรือคะแนนจะไม่อยู่ในใจหรือติดอยู่ในสมองของพวกเขานานนัก ผิดกับคำชมที่ส่งผลถึงอารมณ์ พวกเขาจะยินดีและจดจำไปอีกนาน” ดร.นันทินีกล่าว

ความพิเศษอีกเรื่องหนึ่งของสมองคือความสามารถด้านการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม – ราวกับจะยืนยันว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” ไม่ใช่คำกล่าวลอยๆ สมองของเรามีวิวัฒนาการการรับรู้เชิงสังคม (Social Cognition) ต่างไปจากสัตว์ ทำให้เข้าอกเข้าใจสถานะหรือความรู้สึกของคนอื่นๆ จนสามารถมีอารมณ์ร่วมตามไปด้วย แม้ตัวเองจะไม่ได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านั้นโดยตรง

“ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นคนหกล้ม เราจะรู้สึกแย่ เพราะเรารู้ว่าการหกล้มมันเจ็บ เราเห็นคนกินช็อกโกแลตหรือไอศกรีม ก็รู้สึกอิจฉา เพราะรู้ว่าการกินของเหล่านั้นทำให้รู้สึกดี ตอนที่เราเห็นเรื่องเหล่านี้ เราก็จะสร้างประสบการณ์ในสมองของเราเอง และจะสามารถเข้าใจ คาดคะเนความรู้สึกของพวกเขาได้ เพราะเรารู้สึกว่าเขาเองเป็นมนุษย์เหมือนกันกับเรา นี่คือคำอธิบายตามทฤษฎี Theory of Mind

“การที่เรารู้ว่าสมองของมนุษย์มีความสามารถนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก มันทำให้เราเข้าใจว่าทำไมมนุษย์จึงอยากทำสิ่งดีๆ แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นธรรมชาติที่ถ้าเราเห็นเพื่อนเจ็บปวดกับบางสิ่ง และเราเข้าใจความเจ็บปวดนั้น เราก็มีแนวโน้มจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อช่วยเหลือเขา” … ซึ่งถ้าทำให้ความเข้าใจดังกล่าวไม่จำกัดวงเฉพาะคนรู้จัก แต่มีต่อคนทุกคน ดร.นันทินีก็มองว่าจะทำให้สังคมมีความเอื้ออาทรต่อกันมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยังพบว่าการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเชื่อมโยงโดยตรงกับสมองส่วนอารมณ์ การมีความสัมพันธ์ที่ดีคือต้นกำเนิดของอารมณ์เชิงบวก ดังนั้น สำหรับเด็กๆ ที่จะมาเป็นกำลังสำคัญของสังคมในวันหน้า พวกเขาจึงควรเติบโตมาในห้องเรียนที่ได้ฝึกทั้งสติปัญญา อารมณ์ และทักษะทางสังคมไปพร้อมๆ กัน

นั่นเป็นที่มาว่าทำไมการศึกษาปัจจุบันจึงต้องหันมาเพิ่มมิติด้านอารมณ์และสังคมยิ่งกว่าเดิม

เปลี่ยนโลกการศึกษา ให้คุณค่ากับอารมณ์และสังคม

 

“เมื่อย้อนมองบริบทการศึกษาที่เรามีอยู่ตอนนี้ แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่เราจะเห็นได้ชัดว่าเนื้อหาการเรียนการสอนยังคงเหมือนเดิม ไม่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์เท่าไรนัก เรายังใช้ตำราเก่าๆ กรอบคิดเก่าๆ มากกว่านำหลักฐานหรืองานวิจัยใหม่ๆ มาสู่ห้องเรียน” ดร.นันทินีวิพากษ์

“ที่สำคัญคือเราใส่ใจเรื่องการเรียนรู้แค่สมองส่วนความคิด ไม่ได้นึกถึงการพัฒนาทักษะอารมณ์ของเด็กๆ เลย”

ผลที่ตามมาคือการเรียนกลายเป็นบ่อเกิดความเครียดของเด็กๆ นับล้านคน จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2017 ระบุว่าเยาวชนจำนวนกว่า 4.3 ล้านคนมีปัญหาสุขภาพจิตเพราะวิตกกังวล เครียด ไม่อยากไปเรียน นอกจากนี้ยังมีรายงานเพิ่มเติมอีกว่าเด็กจำนวนมากประสบภาวะนอนไม่หลับเนื่องด้วยความเครียดสะสม

“นั่นไม่ใช่สภาพที่เด็กควรจะเป็น” ดร.นันทินีกล่าว “เราควรเปลี่ยนการเรียนรู้ตั้งแต่ตอนนี้ นี่เป็นเรื่องที่ต้องทำทันที รอต่อไปไม่ได้อีกแล้ว”

“การศึกษาที่ผ่านมามักมองแค่ผลเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากเด็กๆ ไม่ใช่ความสุขของพวกเขา ดังนั้นเราควรกลับมาตั้งต้นเป้าหมายของการศึกษาใหม่ ให้เป็นเรื่องของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้มนุษย์คนหนึ่งงอกงาม เป็น ‘Best Version’ ของพวกเขา โดยไม่ได้วัดจากการทำเงินได้ รวมถึงไม่ใช่แค่การเรียนที่สร้างความฉลาดทางปัญญา แต่มีความฉลาดทางอารมณ์และสังคมด้วย”

ยิ่งโลกกำลังเผชิญวิกฤตที่ไม่มีใครคาดถึงอย่างโควิด-19 ก็ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการเรียนว่าต้องมอบทักษะชีวิต อย่างน้อยๆ ก็เรื่องการรับมือกับความล้มเหลว ความยืดหยุ่น และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้แก่เด็ก เพื่อให้พวกเขาเติบโตในโลกอันผันผวนได้อย่างมีคุณภาพ

“หัวใจสำคัญของการศึกษา ณ ตอนนี้จึงเป็นการเรียนรู้ด้านสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional Learning : SEL) ไม่ใช่คณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ ถึงองค์ความรู้สองวิชาหลังจะสำคัญ แต่ในสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ตอนนี้ การเรียนแบบ SEL อาจเรียกได้ว่าเป็น Game Changer ของระบบการศึกษา นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราพยายามผลักดันให้กลายเป็นการศึกษากระแสหลักในระบบ”

ดร.นันทินีให้นิยามการเรียนรู้ด้านสังคมและอารมณ์อย่างง่ายๆ ว่าเป็นการเรียนที่สร้างแรงกระตุ้นแก่ผู้เรียน ทำให้เด็กๆ สามารถจดจ่อกับบทเรียน และได้ฝึกฝนทักษะการบริหารจัดการอารมณ์ หลักฐานทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์มากมายที่เธอได้เล่าให้เราฟังก่อนหน้านี้ ก็นำมาสู่เป้าหมายการเรียนรู้แบบ SEL คือสร้างทักษะ EMC2 ได้แก่ Empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) Mindfulness (ความมีสติ) Compassion (ความมีน้ำใจ) และ Critical Inquiry (การตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ)

“ในด้าน ‘Empathy’ หลักฐานทางประสาทวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า โดยปกติ เราจะมีความเห็นอกเห็นใจกับคนรู้จัก ครอบครัว เพื่อนกันอยู่แล้ว โจทย์ก็คือ เราจะสร้างความเห็นอกเห็นใจในตัวเด็กที่มีต่อคนแปลกหน้าได้อย่างไร เด็กไทยจะมีความเห็นอกเห็นใจเด็กอินเดีย เด็กแอฟริกา หรือคนที่มาจากต่างชาติต่างเชื้อได้อย่างไร” เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานของการสร้างความตระหนักในฐานะพลเมืองโลก (Global Citizenship) แก่เด็กรุ่นใหม่ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงของสังคมโลก และเกิดความร่วมมือใหม่ๆ ในอนาคต

ถัดมา ‘Mindfulness’ เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่านักเรียนมีสมาธิต่อการเรียนหรือกิจกรรมที่ทำอยู่มากน้อยเพียงใด ถ้าครูปล่อยให้นักเรียนนั่งใจลอย เด็กๆ คงไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นครูจึงต้องคอยสังเกตบรรยากาศในห้องเรียน และดึงความสนใจของผู้เรียนกลับมาอยู่เสมอ

“เราสามารถทำได้โดยหยุดเรียนชั่วคราวและมาฝึกสมาธิพร้อมกันทุกๆ 40 นาที ให้เด็กหลับตาลง นับจังหวะลมหายใจ ฟังเสียงรอบตัว เสียงในใจ หรือครูอาจจะเปิดเพลงให้พวกเขาฟัง เพื่อทำให้ผ่อนคลาย ใจเย็นลง มีสมาธิมากขึ้น” ดร.นันทินีเสริมว่า การทดลองที่ผ่านๆมาพบว่า หลังจากที่เด็กๆ ทำสมาธิแล้ว พวกเขามีแนวโน้ที่จะจดจ่อกับบทเรียนและมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น

นอกจากนี้.. “การสังเกตอารมณ์ของเด็กๆ เองก็สำคัญสำหรับครู เพราะการอยู่ในห้วงอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธจัด เศร้าจัด หรือมีความสุขจัด อาจทำให้เด็กทำผิดพลาดได้ง่าย ครูจึงควรสังเกตและรับมือให้ถูก อย่าให้เด็กต้องทำอะไรใหม่ๆ ในระหว่างนั้น ปล่อยให้พวกเขาได้ผ่อนคลายให้ใจเย็นลงก่อน แล้วค่อยว่ากันใหม่”

ต่อมา ‘Compassion’ “เป็นความเอื้อเฟื้อแก่คนรอบตัว แม้ว่าจะไม่มีใครมอบรางวัลหรือชมเชยก็ตาม สมมติว่า ถ้ามีใครคนหนึ่งลืมนำอุปกรณ์การเรียนมา เราควรสอนให้เด็กๆ พร้อมที่จะเปิดกล่องดินสอให้ยืมของแก่กัน เพราะเรามีความเห็นอกเห็นใจกัน มีความเข้าใจว่าการไม่มีอุปกรณ์การเรียนเป็นปัญหาอย่างไร โดยที่ไม่ได้คิดว่าครั้งต่อไปตนเองต้องได้รับสิ่งตอบแทนในความเอื้อเฟื้อที่ตัวเองให้คนอื่น” ดร.นันทินีแจกแจง พร้อมกล่าวว่าวัฒนธรรมการมีน้ำใจนี้จะช่วยให้การแข่งขันในห้องเรียนหมดไป ทำลายความกดดันในห้องเรียน และจะทำให้เด็กๆ ออกไปอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมขนาดใหญ่ได้อย่างสงบสุข

สุดท้าย ‘Critical Inquiry’ เป็นทักษะที่จะต้องเติมให้แก่เด็ก โดยเฉพาะในยุคที่ทุกคนต่างเข้าถึงสื่อได้หลากหลาย และมีข่าวปลอม (Fake news) เกิดขึ้นมากมาย เด็กๆ จะต้องหัดตั้งคำถามว่าอะไรจริง อะไรเท็จ โดยมีทักษะประเมินข้อมูลได้ด้วยตนเอง ไม่หลงเชื่อข่าวลือที่จะทำร้ายจิตใจคนฟัง

ทั้งนี้ ดร.นันทินียกตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการห้องเรียนที่เป็นผลดีต่ออารมณ์และทักษะทางสังคมของนักเรียนมานำเสนอแก่คุณครูเพิ่มเติม โดยมีทั้งการพูดคุยกับเด็กที่มีปัญหาเป็นการส่วนตัวแทนการลงโทษหรือต่อว่า ซึ่งทำให้เด็กๆ ในห้องเรียนเคารพครูมากกว่าเดิม ทั้งเทคนิค ‘Two by Ten’ หรือครูใช้เวลา 2 นาทีคุยกับเด็กจอมป่วนในห้องเรียนเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งมีผลวิจัยยืนยันว่า วิธีนี้ช่วยทำให้เด็กเหล่านั้นพฤติกรรมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงการทำ ‘The Gratitude Practice’ หรือการให้เด็กๆ มานั่งรวมกันก่อนเริ่มต้นการเรียนและหลังจบการเรียนตลอดวัน เพื่อสะท้อนความรู้สึกว่าวันนี้พวกเขารู้สึกชอบอะไรบ้าง นั่นก็ทำให้สมองของเด็กได้พัฒนาและรู้สึกดี

แม้การเรียนการสอนในโรงเรียนมักมีครูเป็นคนขับเคลื่อนหลัก แต่ดร.นันทินีก็ได้ทิ้งท้ายว่าการพัฒนาระบบการศึกษาแบบ SEL นั้นเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นครู นักจัดการศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้กำหนดนโยบาย หรือแม้กระทั่งนักเรียน เพราะอีกหนึ่งปัญหาที่ผ่านมาคือ ผู้ใหญ่ปฏิบัติต่อเด็กเสมือนว่าทุกคนมีสมองแบบเดียวกันและมองข้ามความแตกต่างด้านศักยภาพ ฉะนั้น หากต้องการสร้างระบบการศึกษาที่ดีในยุคใหม่ ผู้ใหญ่ควรฟังเสียงของผู้เรียน และออกแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างหลากหลายเพื่อให้ตรงความต้องการของนักเรียนมากที่สุด

ไทยพร้อมหรือยัง กับการปฏิวัติห้องเรียน

 

อันที่จริงแล้ว แนวคิดการศึกษาด้านสังคมและอารมณ์อาจไม่นับว่าเป็นแนวคิดใหม่แกะกล่องเสียทีเดียว แต่ ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร นักประสาทวิทยาศาสตร์การศึกษาปฐมวัย วินัยเชิงบวก ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศักยภาพองค์รวมเด็กปฐมวัยวินัยเชิงบวก 101 Educare Center มองว่า ที่ผ่านมา แนวคิดดังกล่าวมักถูกมองข้าม ถูกละเลยความสำคัญ กระทั่งไม่ได้รับการทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในประเทศไทย

เธอหยิบยกงานวิจัยของตนสองชิ้นในปี 2552 และ 2561 ที่สอบถามครูกลุ่มหนึ่งเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจเรื่องการศึกษาแบบ SEL มาเล่า งานดังกล่าวเริ่มต้นด้วยคำถามว่า ครูรู้จักการศึกษาแบบ SEL หรือไม่ ทั้งหมดตอบว่ารู้จัก และส่วนใหญ่ตอบว่าให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ด้านสังคมและอารมณ์พอๆ กับเนื้อหาวิชาการ

ต่อมาเป็นคำถามว่า ครูได้จัดสรรเวลาที่เพียงพอต่อให้นักเรียนได้เรียนรู้จนเกิดทักษะทางสังคมและอารมณ์หรือไม่ แนวโน้มของคำตอบ ‘ใช่’ ในงานวิจัยปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2552 อยู่มาก

อย่างไรก็ตาม “เมื่อเราถามต่อว่า แนวทางในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ทักษะทางสังคมและอารมณ์ที่ครูใช้คืออะไร โดยให้ข้อนี้เป็นคำถามปลายเปิด เพราะอยากรู้ว่าครูเข้าใจจริงไหม ให้เวลาจริงหรือเปล่า แล้วรู้ได้อย่างไรว่าได้สร้างกระบวนการที่ทำให้เกิดทักษะจริง ผลออกมาปรากฏว่ากระบวนการส่วนใหญ่ที่ครูใช้คือการลงโทษ หรือการสร้างวินัยเชิงลบ ตั้งแต่ทำให้เจ็บปวดทางร่างกาย ไปจนถึงทำให้เจ็บปวดทางจิตใจ ผ่านคำพูด หรือการสั่งคัดลายมือ เป็นต้น และกระบวนการที่ครูใช้กันมากในลำดับต่อมาคือการสอนระเบียบวินัย เช่น การที่ครูบอกว่าสอนให้เด็กเคารพกฎกติกาของสังคมในช่วงเข้าแถวตอนเช้า”

“ถัดมาคือการให้รางวัล เช่น ใครไม่คุยกันระหว่างเรียน หรือใครทำงานเสร็จก่อน ก็จะได้รางวัลไป ไม่ว่าจะเป็นการให้คะแนนเพิ่ม ให้ดาวเพิ่ม ให้ขนมหรือสิ่งของต่างๆ และสุดท้ายก็คือการนั่งสมาธิ ซึ่งอาจฟังดูดี แต่ครูส่วนใหญ่กลับบอกว่า ถ้าเด็กดูไม่นิ่ง พวกเขาก็จะบอกให้ไปนั่งสมาธิอยู่เฉยๆ และเมื่อเราถามว่าจะแน่ใจได้อย่างไรว่า มันเป็นกระบวนการที่ทำให้เด็กเกิดทักษะทางสังคมและอารมณ์ เขาก็บอกว่าระหว่างที่เด็กนั่งสมาธิ พวกเขาก็จะพูดให้เด็กใจเย็นๆ และมีสติ”

ดร.ปิยวลีกล่าวต่อว่า “เราสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาประมวลว่า ในห้องเรียนของเด็กปฐมวัยในไทย คุณครูใช้เวลาปฏิสัมพันธ์กับเด็กอย่างไรบ้าง ซึ่งผลก็จำแนกออกมาได้ว่า ส่วนใหญ่เป็น ‘Negative Discipline’ หรือระเบียบวินัยเชิงลบ โดยวิธีที่คุณครูนิยมใช้กันมากที่สุดก็คือ การพูดคำว่า “ห้าม” “ไม่” “อย่า” หรือ “หยุด” ตามด้วย การประชด-ล้อเลียนเด็กๆ การไม่สนใจ-ไม่พูดกับเด็ก การใช้เวลาสอนหนังสือเด็ก และลำดับสุดท้ายถึงจะเป็นการพูดคุยและเล่นกับเด็ก นอกจากนี้ เรายังพบว่า ภายในเวลาเพียง 20 นาที เด็กอาจได้ยินคำพูดเชิง Negative Discipline อย่างน้อย 7 ครั้ง และมากที่สุดถึง 47 ครั้ง”

“ข้อมูลตรงนี้ทำให้เราสรุปได้ว่า คุณครูหรือระบบการศึกษาไทยยังไม่ได้เข้าใจการศึกษาด้านสังคมและอารมณ์ของอย่างถ่องแท้ มักแปลคำว่าทักษะอารมณ์และสังคมว่า ขอแค่มีการแบ่งกลุ่มเด็กให้ทำงานด้วยกันก็พอแล้ว หรือสอนเด็กๆ ผ่านรูปภาพว่า อารมณ์แบบไหนมีลักษณะหน้าตาอย่างไรก็พอแล้ว อีกทั้งคาบวิชาที่สอนเรื่องเหล่านี้ก็มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาหนึ่งปีการศึกษา”

แน่นอนว่า ถ้าเราต้องการนำแนวคิดการศึกษาด้านสังคมและอารมณ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาไทย บุคลากรของเราก็จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานเสียก่อน ดร.ปิยวลีเสนอว่า นอกจากเป้าหมาย EMC2 ของดร.นันทินีที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ครูผู้สอนต้องไม่ลืมพื้นฐานว่าการศึกษาแบบ SEL ควรทำให้เด็กมี ‘Self-Awareness’ ซึ่งก็คือการระลึกตนได้ รู้ว่าตนเป็นคนอย่างไร รู้สึกอย่างไร และทำอะไรอยู่ จากนั้น เมื่อเด็กๆ รู้จักตนเองแล้ว ก็ต้องมีทักษะ ‘Self-Management’ ซึ่งก็คือความสามารถในการจัดการอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง ถัดมาคือ ‘Social Awareness’ หรือการตระหนักได้ว่าสังคมที่ตนอยู่เป็นสังคมแบบไหน และมีวัฒนธรรมอย่างไร ตามด้วย ‘Healthy Relationship’ คือการมีทักษะในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และ ‘Responsible Decision’ คือความสามารถในการตัดสินใจและรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง

“สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องใช้เงินทุน แต่สามารถพัฒนาประชากรของเราได้ ดังนั้นเราควรเสริมการศึกษาแบบ SEL เข้าไปบูรณาการทั้งหลักสูตร ทั้งระบบ โดยอาจเริ่มต้นจากการใส่เข้าไปในหลักสูตรครุศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อผลิตครูที่มีความเข้าอกเข้าใจออกมา และนอกจากครูแล้ว ครอบครัว สหวิชาชีพ และเด็ก ก็ต้องมีความเข้าใจและสามารถร่วมมือพัฒนาไปด้วยกัน”

เพื่อสร้างการศึกษาที่ดี สนุก ไม่เป็นทุกข์ และไม่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save