fbpx

โอกาสจะมีชีวิตอีกหนของคนเคยทำผิด: ชวนดู 3 หนังสั้นว่าด้วยอดีตนักโทษกับการตีตราในสังคม

การลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการจำคุกเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้นนับเป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้กันในหลายๆ สังคม

แม้เราจะมีคำเปรยๆ กันว่า “เราล้วนเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้” แต่เอาเข้าจริง หลายกรณีก็ดูไม่ง่ายดายเช่นนั้น โดยเฉพาะชีวิตของอดีตผู้ต้องขังหลังได้รับการปล่อยตัวและกลับเข้าสู่สังคม ที่ไม่เพียงแต่ต้องรับมือกับการปรับตัวต่อโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง แต่อาจยังต้องเผชิญหน้ากับการ ‘ประทับตรา’ ที่สังคมมีต่ออดีตผู้ต้องขัง จนโลกนอกเรือนจำนั้นก็อาจเป็นเรื่องหนักหนาไม่แพ้โลกข้างในเรือนจำสำหรับหลายๆ คน

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายคนอาจจะจำ The Shawshank Redemption (1994) กับฉากดัง ‘Brooks was here’ เมื่อตัวละครที่อยู่ในเรือนจำมานานปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ไม่ได้ หรือสารคดีมินิซีรีส์จากสหราชอาณาจักร Life After Lock-Up (2019) ที่สำรวจอุปสรรคต่างๆ ของเหล่าอดีตนักโทษหลังได้รับการปล่อยตัว

ภาพจำที่สังคมมีต่ออดีตผู้ต้องขังนั้นจึงเป็นเสมือนกำแพงใหญ่ที่หลายคนต้องเผชิญหลังได้รับการปล่อยตัว จนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ -ไม่ว่าจะในมิติของการหางาน หรือใช้ชีวิตอย่างปกติชนทั่วไป- กลายเป็นเรื่องยากลำบากเมื่อสังคมยังมีภาวะหวาดระแวงต่ออดีตผู้ต้องขัง และประเด็นนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนมุมมองของสังคม ไปจนถึงเปิดใจเพื่อให้โอกาสอีกฝ่ายได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ อันเป็นที่มาของโครงการ The Ex-prisoners’ Lives Projects ซึ่งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้เหล่านักศึกษาเรียนรู้กระบวนการทำหนังสั้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของอดีตผู้ต้องขังที่พยายามหวนกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง

และสามเรื่องจากนี้ คือบทหนังสั้นที่ได้รับคัดเลือกจากกรรมการ ให้ได้รับทุนในการทำเป็นหนังสั้นของโครงการ

สามีของฉัน (เคย) เป็นฆาตรกร : ภัทรานิษฐ์ อัครปริยงหิรัญ กำกับ

หญิงสาวเพิ่งเข้าพิธีแต่งงานกับคนรัก หนังฉายให้เห็นว่าเธอใช้ชีวิตอย่างเปี่ยมสุขอยู่กับชายหนุ่มและวาดฝันจะสร้างอนาคตด้วยกัน กระทั่งเมื่อเพื่อนสาวในที่ทำงานไปค้นพบความลับอันชวนตกตะลึงว่า ชายหนุ่มเคยต้องโทษจากคดีฆาตกรรมคนรักเก่า ก่อให้เกิดเป็นมวลความหวาดระแวงขึ้นมาในบ้าน เมื่อเธอไม่อาจไว้วางใจเขาได้อีกต่อไป และในทางกลับกัน ชายหนุ่มก็เศร้าสลดที่เห็นว่าภรรยารักทำตัวเหินห่างและหวาดระแวงเขา จนนำไปสู่บทสนทนาที่ว่าด้วยบาดแผลใหญ่ในชีวิต

ความโดดเด่นของหนังคือ แม้พล็อตเรื่องซึ่งว่าด้วยธีม ‘ถ้าเราต้องอยู่ชายคนเดียวกันคนที่เคยติดคุกมาก่อนจะเป็นอย่างไร’ จะเรียบง่ายมาก หากแต่มันก็เป็นความเรียบง่ายที่พาคนดูไปสำรวจภาวะความหวาดระแวงที่คนในสังคม (หญิงสาวและเพื่อนของเธอ) มีแต่อดีตผู้ต้องขังได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อมองว่าหนังเล่าเรื่องในระยะเวลาที่จำกัดเพียง 12 นาที ผ่านบทสนทนาของหญิงสาวที่ความคิดกระเจิดกระเจิงว่าวันหนึ่งเธออาจตกเป็นเหยื่อของชายหนุ่มได้ โดยเฉพาะการตั้งคำถามว่าหากอีกฝ่ายกลับไปทำผิดแบบเดิมอีก พร้อมกันนี้ หนังก็สะท้อนแง่มุมของอดีตนักโทษที่มีต่อประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อตัวละครซึ่งได้รับโทษจากเรือนจำแล้ว ยังต้องทุกข์ทนต่อสายตาคนรอบข้างจนการเอ่ยถึงอดีตกลายเป็นเรื่องที่เขาหวาดระแวงและไม่อยากหวนกลับไปแตะต้องความทรงจำนั้นอีก

สิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนแก่นของ ‘สามีของฉัน (เคย) เป็นฆาตรกร’ คือการยืนหยัดต่อความคิดที่ว่า คนเรานั้นเปลี่ยนแปลงกันได้ โดยสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญคือการมอบ ‘โอกาส’ ให้อีกฝ่ายได้ ‘เปลี่ยนแปลง’ เสียก่อน อย่างที่เขาได้มีโอกาสในการใช้ชีวิตใหม่อีกครั้งหลังได้คบหาและแต่งงานกับเธอ

Look at me : โกวิท อัครสมบูรณ์ กำกับ

ในบรรดาหนังสั้นทั้งสามเรื่อง Look at me ของ โกวิท อัครสมบูรณ์ ดูจะเป็นเพียงเรื่องเดียวที่เน้นการเล่าเรื่องผ่านคอนเซปต์เป็นหลัก หนังจับจ้องไปยังรัตติพงษ์ ชายหนุ่มที่เคยติดคุกจากความผิดในอดีตที่เขาก่อ และแม้จะผ่านการชดใช้โทษจากการใช้ชีวิตในเรือนจำมาแล้ว แต่ดูเหมือนสังคมยังลงทัณฑ์เขาซ้ำ -ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่- ด้วยการไม่เปิดโอกาสให้รัตติพงษ์ได้มีหนทางในการใช้ชีวิตตามครรลองของกฎหมายได้เลย

ตลอดทั้งเรื่อง หนังติดตามชะตากรรมชายหนุ่มที่เข้าไปสมัครงานแห่งแล้วแห่งเล่าแต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะทุกคนล้วนตัดสินเขาจากประวัติอาชญากรรมในอดีต รวมทั้งฉากเปิดซึ่งกล้องจับนิ่งไปยังสีหน้าของตัวละครรัตติพงษ์ ได้ยินแค่เสียงผู้สัมภาษณ์งานที่แข็งกระด้าง เย็นชา ชวนให้ตั้งคำถามว่าอีกฝ่ายถามด้วยน้ำเสียงเช่นนั้นจริง หรือเป็นสังคมผ่านสายตาของรัตติพงษ์ซึ่งหวาดระแวงต่อการถูกตัดสิน มิหนำซ้ำ ทุกคนยังเบือนหน้าหนี ไม่ยอมสบตากับเขา ซึ่งนี่เองที่ทำให้หนังน่าสนใจอย่างมากเมื่อมันสะท้อนถึงภาวะที่สังคมไม่ยอมรับตัวตนของอดีตผู้ต้องขัง ทั้งหนังยังทะเยอทะยานด้วยการถ่ายลากเลื้อยตามตัวละครเป็นลองเทคเกือบ 1 นาที ในหนังยาว 10 นาทีนี้อีก

นอกจากนี้ หนังยังพาสำรวจภาวะที่ ‘เหมือนจะมีโอกาส’ ของอดีตผู้ต้องขัง เมื่อรัตติพงษ์อุตส่าห์ได้ไปสัมภาษณ์งานในบริษัทที่โฆษณาตัวเองว่ายินดีต้อนรับอดีตคนทำความผิดมาเข้าทำงาน และเป็นครั้งแรกที่คนดูได้เห็นรัตติพงษ์มีสีหน้ามั่นใจ กระตือรือร้น (จากฉากแรกที่เขานั่งสั่น เกร็งไปทั้งตัว) ด้วยความเชื่อมั่นว่าในที่สุดแล้วก็มีคนพร้อมจะโอบรับเขาสักที ทั้งยังเป็นครั้งแรกที่คนดูได้เห็นว่ามีคน ‘สบตา’ กับเขาโดยตรง กระทั่งเมื่อรัตติพงษ์ค่อยๆ พบความจริงที่ว่า แท้จริงแล้วทุกสิ่งล้วนเป็นเรื่องหลอกลวง ไม่มีใครพร้อมให้เขาเข้าทำงานทั้งนั้น แม้เขาจะมีฝีมือหรือมีคุณสมบัติตามที่บริษัทต้องการมากแค่ไหน

สังคมที่ปิดโอกาสเช่นนี้ บีบให้รัตติพงษ์เผชิญหน้ากับทางแยกของชีวิตอย่างการลังเลว่าจะหวนกลับไปทำงานผิดกฎหมาย -ที่แม้จะเสี่ยงทำให้เขากลับไปติดคุกอีกครั้ง แต่มันก็เป็นหนทางเดียวที่เขาจะหาเงินมายังชีพได้- อีกหรือไม่ ซึ่งหนังผลักตัวละครไปจนถึงปลายทางด้วยการที่ถึงที่สุดแล้ว อดีตผู้ต้องขังอย่างเขาก็ไม่อาจยอมรับและสบตากับตัวเองในกระจกได้หากเลือกย้อนกลับไปเดินทางเดิม เขาจึงมีแต่ต้องกัดฟันสู้ยิบตาเพื่อจะได้กลับมายืนอยู่ในสังคมได้อย่างชอบธรรมอีกครั้ง

Look at me จึงเป็นหนังสั้นที่ชวนสังคมตระหนักว่า ความสำคัญของการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่เคยทำความผิดนั้นสำคัญแค่ไหน เพราะปลายทางที่รุนแรงที่สุดของสังคมที่ไม่มอบโอกาสคือการผลักอีกฝ่ายให้กลับเข้าไปในวังวนของการทำความผิดอีกครั้งนั่นเอง

Chance Hero : บูรณา จันทร์ผง กำกับ

หากจะมีสักเรื่องที่ดูแล้วเชื่อว่า ผู้กำกับและทีมงานคงสนุกสนานระหว่างกระบวนการถ่ายทำอยู่ไม่น้อยคือ Chance Hero เพราะหนังมาในธีมแสนจะเถิดเทิงอย่างซูเปอร์ฮีโรและสัตว์ประหลาด! เล่าเรื่องของเด็กชายที่ตื่นตระหนกเมื่อเห็นฝุ่นคลุ้งไปทั่งเมือง เขาจึงแก้ปัญหาด้วยการโทรศัพท์เรียกยอดมนุษย์ Chance Hero ซึ่งก็แปลงร่างปรากฏตัวเป็นผู้พิทักษ์ชุดสีส้มแสบตา ก่อนจะพบว่า ต้นธารของฝุ่นที่คลุ้งตลบไปทั้งเมืองนั้น มาจากเจ้าสัตว์ประหลาด (ที่ทำมาจากตุ๊กตาและก้อนโฟมทาสีฟ้า) ผู้กำลังขะมักเขม้นกวาดพื้นถนนอยู่

เด็กชายอธิบายยอดมนุษย์ว่า การที่มีสัตว์ประหลาดปรากฏตัวอย่างนี้ ทั้งยังมีฝุ่นมากมายไปหมด น่าจะเป็นสัญญาณอันตรายว่าเจ้ายักษ์ใหญ่กำลังจะบุกทำลายเมือง! เพราะในสายตาของเขานั้น สัตว์ประหลาดย่อมหมายถึงภัยอันตรายและการคุกคาม เขาจึงต้องเรียกให้ยอดมนุษย์ออกมาปกป้องทุกคน แต่การณ์กลับเป็นว่า ‘สัตว์ประหลาด’ ในสายตาของทุกคนนั้นเป็นเพียงอดีตผู้ต้องขังที่พยายามกลับมาใช้ชีวิตในสังคมด้วยการกวาดถนนเท่านั้น และท้ายที่สุด ซูเปอร์ฮีโรก็มอบพลังสำคัญให้แก่ชุมชน นั่นคือพลังของการให้โอกาสผู้กระทำความผิดได้กลับมาอยู่ในสังคมอีกหน

แม้ Chance Hero จะเป็นหนังสั้นที่ดูฉูดฉาดและสนุกสนาน แต่เนื้อหาถูกถ่ายทอดผ่านไดอะล็อกของนักแสดงเกือบทั้งหมด ส่วนตัวจึงมองว่าหากผู้เขียนบทลองเล่าผ่านวิธีอื่น หนังสั้นเรื่องนี้อาจมีความน่าสนใจมากขึ้น

Chance Hero จึงเล่าถึงภาวะที่สังคมล้วนตัดสินอดีตผู้กระทำความผิดไปก่อน และชวนให้ทุกคนเล็งเห็นว่า แท้จริงแล้วพวกเราล้วนมีพลังในการจะเปลี่ยนแปลงชีวิตใครคนหนึ่งที่เคยพลาดมาก่อน ด้วยการให้โอกาสเขาอีกหนในการจะกลับมาร่วมมือกันจรรโลงสังคมด้วยกันอีกครั้ง

ส่งท้าย

ถึงที่สุด หนึ่งในกลไกที่จะช่วยให้อดีตผู้ต้องขังได้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมตามครรลองอีกครั้งนั้น คือการที่สังคมเปิดใจและโอกาสให้พวกเขาได้กลับมาสู่พื้นที่ของการอยู่ร่วมกัน เพราะเมื่อผู้คนเหล่านี้กลับมาใช้ชีวิตและปรับตัวได้มากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสที่พวกเขาจะกลับไปก่อความผิดแบบก่อนก็ลดน้อยลงมากเท่านั้น

เพราะเราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า สังคมที่ผลักไสให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ไม่ได้นั้น ปลายทางย่อมหนีไม่พ้นความรุนแรงและโศกนาฏกรรม


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save