fbpx

ทำไมซีรีส์เกาหลี เขาเขียนบทกันเก่งจัง

“ผมไม่น่ารอดไปถึงตอนที่ 16 ได้ แต่ซีรีส์นี้คือคำอธิบายความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร้ที่ติ ขอแสดงความยินดีกับบทที่ยอดเยี่ยม ผู้กำกับที่น่าทึ่งและนักแสดงที่เลือกมาอย่างดี” 

เปาโล โคเอลโญ่ พูดถึงซีรีส์เกาหลี My Mister

ผมไม่ได้เป็นแฟนซีรีส์เกาหลีขนาดคลั่งไคล้ แต่ก็ไม่ได้ห่างเหินเสียทีเดียว ซีรีส์เกาหลีกับผม เราเป็นเหมือนเพื่อนที่นานๆ เจอกันที แต่ก็ต่อติดทุกครั้ง

วิธีการดูของผมส่วนมากจะเลือกจากการลองดูสามตอนแรกของซีรีส์ก่อนว่า พอดูแล้วมีความรู้สึกว่า ‘อยากไปต่อหรือพอแค่นี้’ หากว่าความอยากรู้อยากเห็นมีมากกว่าความน่าเบื่อ ก็จะดูต่อ หรือถ้ายาวมากก็จะดูไปสักครึ่งทางแล้วเบรกก่อน ทิ้งไว้สักพัก ลองดูว่าเรื่องราวยังวนเวียนอยู่ในหัวไหม หากว่ามันยังไม่ไปไหนและความอยากรู้พุ่งถึงขีดสุด ก็จงกลับมาดูให้มันจบๆ ไป 

ซีรีส์เรื่องล่าสุดที่ดูและเป็นที่มาของการหาคำตอบว่าทำไมคนเขียนบทในเกาหลีใต้ เขาถึงเขียนบทกันดีจัง นั่นคือ My Liberation Notes และมันกลายเป็นหนึ่งซีรีส์ที่ดีที่สุดในรอบหลายปีที่ผมได้ดู จริงๆ ก็มีหลายเรื่องที่ชอบนะครับอย่าง Kingdom (2019) ก็ชอบไอเดียในการนำเสนอ หรืออย่าง Twenty-Five Twenty-One (2022) หรือ Move to Heaven (2021) ก็ชอบ แต่ My Liberation Notes มีความพิเศษมากกว่า

My Liberation Notes เขียนบทโดย พัคแฮยอง (Park Hae-Yeong) เนื้อหาเรียบง่าย (ผมขอไม่เล่านะครับ ใครสนใจหาอ่านเรื่องย่อได้ในอินเทอร์เน็ต) แต่ก็เอาคนดูได้อย่างอยู่หมัด เรื่องราวออกจะเรื่อยๆ เอื่อยๆ แต่ในความเอื่อยมีความลุ้นอยู่ตลอด หนังไม่ได้มีฉากหวือหวาใดๆ แต่ทั้งหมดผสมปนเปกันทั้งความสมจริงและเหนือจริงอยู่ในความธรรมดาๆ ของทุกอย่าง แต่ในโปรดักชันที่ดูธรรมดาๆ ซีรีส์เรื่องนี้ชนะใจคนดูที่บทและการแสดงจริงๆ

พอเข้าไปตามดูเรื่องรางของพัคแฮยอง ถึงได้รู้ว่าซีรีส์ที่เธอเคยเขียนบทก่อนหน้า มีหลายเรื่องที่ได้รับความนิยมและดังเป็นพลุแตกมาแล้ว เรื่องที่เธอประสบความสำเร็จที่สุดเรื่องหนี่งก่อนหน้า My Liberation Notes คือ My Mister (2018) ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลบทละครยอดเยี่ยมทางโทรทัศน์ (Best Screen Play-Television) จาก Baeksang Arts Awards ครั้งที่ 55 งานนี้เป็นเสมือนงานออสการ์ของเกาหลี ที่ให้รางวัลแก่ผลงานทางด้านภาพยนตร์ โทรทัศน์ และละครเวทีของเกาหลีใต้ My Mister ได้รับเรตติ้งใน IMDB สูงถึง 91% เปาโล โคเอลโญ่ นักเขียนระดับปรมาจารย์ของใครหลายคนถึงกับเอ่ยปากชมเรื่องนี้ว่าดีเหลือเกิน

ผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องนี้กับคุณซอฟแวร์-กรกมล ลีลาวัชรกุล ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารเว็บไซต์บันเทิงเกาหลี Korseries.com ถึงมุมมองของเธอต่อบทละครในซีรีส์เกาหลีว่า อะไรคือเงื่อนไขความสำเร็จ ในความเห็นของเธอ สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือบรรยากาศของความสร้างสรรค์ในประเทศเกาหลีใต้ที่ถูกพรวนดินมาหลายสิบปี กำลังเบ่งบานและมีโอกาสอีกมากในการงอกงาม

“หากใครเคยไปเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในกรุงโซลเองก็น่าจะพอเห็นภาพว่า สังคมเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับ creative economy มาก รัฐเองก็สนับสนุน คนรุ่นใหม่ที่นั่นก็เปิดรับและกล้าแสดงออก เราจะเห็นบรรยากาศของงานศิลปะอยู่ทุกที่ ตั้งแต่การแต่งตัว การแสดงดนตรีริมถนน การรวมกลุ่มกันแสดงออกทางศิลปะต่างๆ นั้นมีมากมาย

“เกาหลีเองก็มีมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องศิลปะโดยเฉพาะอยู่สองแห่ง งานเขียนก็เป็นอีกแขนงหนึ่ง คนที่อยากเป็นนักเขียนหรือการเขียนบทละคร ก็สามารถเรียนในระบบได้ หรือถ้าไม่มีโอกาส เขาก็ยังมีเวทีอีกหลายแห่งอย่าง เช่น Korean Scenario Writers Association ก็มีทั้งคอร์สการเรียนเขียนบท เรียนจบแล้วยังมีเวทีประกวดด้วยสำหรับใครที่อยากเข้าวงการนักเขียนบท มีความร่วมมือกันทั้งสถานีโทรทัศน์ สมาคมภาคประชาสังคมและภาคเอกชนผู้ผลิตซีรีส์ ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นโอกาสให้นักเขียนหน้าใหม่หรือเป็นนักเขียนผู้ช่วยได้มีโอกาสในการทำงาน”

การเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกาหลีใต้มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ สำหรับสื่อบันเทิงมากมาย ปัจจุบันเกาหลีใต้มีสถานทีโทรทัศน์ไม่น้อยกว่า 70 สถานี ทั้งที่เป็นของรัฐอย่าง KBS (Korean Boardcasting System) ยังมีสถานีโทรทัศน์ที่เป็นของเอกชน ช่องสาธารณะและช่องเคเบิลทีวี ยังไม่รวมกับแพลตฟอร์มบนออนไลน์อีก และทุกช่องทางแข่งขันกันสูงมากในการแย่งชิงเรตติ้ง และละครซีรีส์เป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดคนดูให้อยู่กับแพลตฟอร์มนั้นๆ ฉะนั้นการจัดหาบุคลากรหน้าใหม่ เลือดใหม่ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานแปลกใหม่ บทที่น่าสนใจย่อมเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ ด้วยการแข่งขันที่สูงมาก ทำให้การเกิดขึ้นของบทละครแบบ cross-hybrid ก็เริ่มเป็นที่นิยม เช่น เอาเรื่องแฟนตาซีมาผสมกับรักโรแมนติก เช่น My Love From The Star (2013) หรือหนังซอมบี้ผสมกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์อย่าง Kingdom (2019)

“คนดูเองก็ชอบนะคะ เพราะได้ลองดูอะไรใหม่ๆ” คุณซอฟแวร์ให้ความเห็นเมื่อเราพูดถึงกระแสใหม่ของการเขียนบทซีรีส์ในเกาหลี การได้บทที่น่าสนใจ บวกกับผู้กำกับที่มีชื่อย่อมดึงดูดให้นักแสดงดังๆ มากฝีมืออยากร่วมงานด้วย นักแสดงในเกาหลีใต้ไม่ได้สังกัดสถานีโทรทัศน์แต่สังกัดกับสตูดิโอ หรือเอเจนซี ฉะนั้นหากต้องการนักแสดงดีๆ มาร่วมแสดง ทั้งผู้ผลิต ทั้งสถานีโทรทัศน์ (และปัจจุบันรวมถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิง) ต้องทำงานกันอย่างหนักหน่วงเพื่อให้ได้มาซึ่งทีมนักแสดงที่ดีที่สุด ฉะนั้นบทละครจึงมีส่วนสำคัญเป็นอันดับแรกก่อนการทำโปรดักชั่นอื่นๆ

ในขั้นตอนการเขียนการทำงาน นักเขียนบทจะมีทีมผู้ช่วยที่คอยทำหน้าที่ในการจัดหาข้อมูล ทำวิจัย หรือการเขียนบทส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นรายละเอียด ที่ผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์สั่งลงมา เช่น การทำบทเพื่อรองรับ product placement ในซีรีส์

ซีรีส์เกาหลีให้ความสำคัญมากและเป็นช่องทางหนึ่งในการหารายได้ให้ผู้ผลิต ในทีมผู้ผลิตละคร ถึงกับมีตำแหน่ง marketing producer ทำหน้าที่ในการติดต่อกับแบรนด์ต่างๆ ที่สนใจจะทำ product placement มีตั้งแต่ไทอินเครื่องแต่งกาย เครื่องดื่ม รถยนต์ ไปจนกระทั่งถึงรัฐบาลท้องถิ่นของร่วมแจม หากต้องการโปรโมตของดีของจังหวัดตัวเองหรือต้องการให้ซีรีส์เรื่องนั้นๆ ไปถ่ายทำที่โลเคชันในจังหวัดนั้น คุณซอฟแวร์บอกกับผมเพิ่มเติมว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องถูกกฎหมายในเกาหลี มีการสนับสนุนจากรัฐให้สามารถทำได้  ทีมเขียนบทนี้ก็จะทำหน้าที่ในการ ‘เซอร์วิส’ สร้างสรรค์บทละครให้สปอนเซอร์

ผมเคยอ่านเจอเรื่องนี้เช่นกัน ในสื่อเกาหลีซึ่งเคยไปสัมภาษณ์พี่น้องฮง (ฮง จุง อุน และ ฮง มี รัน) คู่พี่น้องนักเขียนบทที่โด่งดังมาจาก Delightful Girl Choon Hyang (2005) และ My Girl (2005-2006) ถึงเรื่องการทำ product placement ในซีรีส์ เธอให้ความเห็นไว้ว่าในการทำงาน (ละครซีรีส์) ที่มีงบประมาณจำกัด การได้แบรนด์ต่างๆ เข้ามาช่วยแบ่งเบาต้นทุนนั้นช่วยให้ทีมงานทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้คุณภาพในการทำงานนั้นดีขึ้น

“ตราบเท่าที่เรา (นักเขียนบท) สามารถหาทางใส่สินค้าเข้าไปได้โดยไม่กระทบกับเนื้อเรื่องหลัก เราก็ยินดี” 

เพราะเอาเข้าจริงๆ นักเขียนบทหน้าใหม่หรือทีมเขียนบท รายได้ก็ไม่ได้สูงมากนัก ซึ่งนั่นก็อาจเป็นสิ่งชวนสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ทำไมวงการนักเขียนบทเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง มือต้นๆ ของนักเขียนบทในเกาหลีใต้ทั้งหมดเป็นผู้หญิง ผมถามความเห็นคุณซอฟแวร์ต่อเรื่องนี้ ผู้ซึ่งติดตามซีรีส์เกาหลีมาอย่างยาวนานและเป็นแฟนของนักเขียนบทซีรีส์หลายต่อหลายคน เธอตั้งข้อสังเกตว่าอาชีพนี้ไม่ได้เป็นอาชีพที่เติบโตเร็ว นักเขียนหน้าใหม่อาจได้ค่าเขียนเพียงตอนละหนึ่งหมื่นบาทเท่านั้น

“การเป็นผู้ช่วยนักเขียนและอาจต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6-10 ปี กว่าจะมีโอกาสขึ้นเป็นนักเขียนหลัก หรืออาจนานกว่านั้นหากคุณไม่ได้มีผลงานโดดเด่นจริงๆ ด้วยระยะเวลานานขนาดนี้ มันอาจไม่ใช่เป็นอาชีพที่เติบโตเร็วสำหรับผู้ชายเกาหลี” ผู้ชายที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพนักเขียนบทจะมีเส้นทางที่แตกต่างจากนักเขียนบทผู้หญิงอยู่มาก นั่นคืออาจเป็นทั้งผู้กำกับและคนเขียนบทอยู่ในตัวคนเดียวกัน เช่น Squid Game (2021) ของผู้กำกับและนักเขียนบท ฮวาง ดอง ฮยุค (Hwang Dong-hyuk) แต่สำหรับนักเขียนบทผู้หญิง บทบาทของพวกเธอมักอยู่เบื้องหลัง หากคุณไม่ได้เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ที่ขนาดเอ่ยชื่อแล้วมีคนรู้จัก หรือสามารถเรียก ‘ค่าตัว’ จากงานเขียนได้สูงลิ่ว บางคนก็แทบไม่มีใครเคยเห็นหน้าพวกเธอ

นักเขียนบทละครที่ประสบความสำเร็จก็ไม่แตกต่างจากแม่เหล็กดึงดูดเรตติ้ง ยกตัวอย่างเช่น คินอึนซุก ผู้เขียน Goblin (2016) ที่ทำให้กงยูดังเป็นพลุแตก ชื่อของเธอขายได้ ปัจจุบันคาดการณ์ว่าเธอมีรายได้จากการเขียนบทละครซีรีส์เรื่องหนึ่งไม่น้อยกว่า 16 ล้านบาท (เฉลี่ยตอนละ 1 ล้านบาท)

แต่กว่านักเขียนจะประสบความสำเร็จ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นักเขียนเองก็เหมือนอีกหลายอาชีพที่ไม่สามารถหยุดพัฒนาตัวเอง เพราะปัจจุบันตลาดของคนดูไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงคนเกาหลีอีกต่อไป แต่มีอยู่ทั่วโลก บทละครเกาหลีปัจจุบันจึงต้องปรับเปลี่ยนและเพิ่มเติมประเด็นที่เป็นสากลมากขึ้น ควบคู่กับการขายวัฒนธรรมเกาหลี ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อตลาดมีความต้องการ ‘สินค้า’ จากเกาหลี เพราะมีความเชื่อว่าดี อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีก็เริ่มทำซีรีส์บางประเภทเพื่อ ‘ส่งออก’ เพียงอย่างเดียว เช่นซีรีส์วายหรือ หรือ Boy Love คุณซอฟแวร์บอกว่า ปัจจุบันซีรีส์เหล่านี้ผลิตเพื่อส่งออกไปฉายในญี่ปุ่นและจีน แต่ไม่อนุญาตให้ฉายในเกาหลี แม้คุณภาพของซีรีส์วายอาจยังไม่เท่ากับซีรีส์ประเภทอื่นๆ แต่ก็มีแนวโน้มเติบโต ซึ่งก็ไม่แน่ว่าเร็วๆ นี้เราอาจได้เห็นซีรีส์วายจากเกาหลีใต้มาลงในแพลตฟอร์มสตรีมมิงแข่งกับซีรีส์วายของไทยด้วยแน่ๆ 

จากรายงานของเวิลด์แบงค์ เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียที่มีอัตราการรู้หนังสือสูง และเชื่อมโยงกับมโนคติวิทยาของสังคมได้ดี เห็นได้จากอัตราส่วนของงบประมาณของประเทศที่ทุ่มเทให้กับการพัฒนานวัตกรรม ทั้งนวัตกรรมทางสังคมและนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่สูงถึง 4.5% ของ GDP ในโลกนี้จะเป็นรองก็แค่อิสราเอล (4.9% ของ GDP)

รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2050 เกาหลีใต้จะต้องเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรม (Most Innovatives Nations) มากที่สุดในโลก ซึ่งหากไปดูการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยคอร์แนล เกาหลีใต้อยู่ที่อันดับ 11 จากทั้งหมด 129 ประเทศ ตลอด 70 ปีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีใต้ใช้งบประมาณของประเทศเกือบ 20% ไปกับการพัฒนาระบบการศึกษา คนเกาหลีใต้เฉลี่ยใช้เวลาอยู่กับการเรียนราว 17 ปี และมีอัตราส่วนของคนที่จบการศึกษาระดับวิชาชีพชั้นสูงมากถึง 82.8% แต่ไม่ใช่เพียงการศึกษาในระบบเท่านั้นที่เป็นตัวกระตุ้นให้คนเกาหลีแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ความได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งของเกาหลีใต้ก็คือผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ดี เนื่องจากสมาร์ตโฟนเป็นที่แพร่หลาย อินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานเข้าถึงเกือบทุกพื้นที่ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือกลไกของ ‘แชโบล’ (อย่างเช่นซัมซุง) ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการเสริมสร้างวงจรของการเรียน ทำงาน หาเงิน และสร้างสิ่งใหม่ เนื่องจากภาคเอกชนที่แข็งแรงมากจนเกื้อหนุนรัฐได้อีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ต่อยอดได้มากขึ้น หากไปดูเบื้องหลังของการให้เงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาต่างๆ ของแชโบล เช่นซัมซุง จะพบว่าแค่ซัมซุงบริษัทเดียวก็แทบจะให้เงินสนับสนุนสำหรับการคว้าตัวนักศึกษาหัวกะทิทุกแขนงมาไว้ในเครือข่าย

แชโบลอย่างซัมซุงมีบริษัทในเครืออย่าง CJ Group ซึ่งทำธุรกิจทั้งขนส่ง ค้าปลีก และอุตสาหกรรมบันเทิงเกือบทุกแขนง เป็นเจ้าของหนึ่งในสตูดิโอที่ผลิตซีรีส์ที่มาแรงที่สุดในเกาหลีใต้ตอนนี้อย่าง Studio Dragon (ผู้ผลิต Kingdom: Ashin of The North (2021), Hometowm Cha-Cha-Cha (2021) และ Twenty-Five Twenty-One (2021) อีกด้วย 

ฉะนั้นโดยภาพรวม ผมคิดว่าเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการพัฒนา soft power/creative economy ของตัวเองได้ดี ทุกฝ่ายทำงานสอดรับกัน ทลายข้อจำกัดในของทำงานน้อยลง เพราะสังคมมีความเข้าใจต่อธุรกิจบันเทิงในแง่บวก ตอนนี้เกาหลีใต้ก็เป็นเหมือนห้องครัวขนาดใหญ่ มีวัตถุดิบอยู่มากมายที่พ่อครัวสามารถหยิบจับอะไรก็ได้มาลองปรุง ลองทำเมนูใหม่ๆ พอได้สูตรอาหารใหม่ เริ่มขายได้สักพัก ก็ลองเปลี่ยนเมนูใหม่หาคนมาช่วยทำ พ่อครัวคนนี้ก็พร้อมลงทุนสูงเพราะรู้ว่าทุกวันนี้เขาไม่ได้ขายแค่คนที่เดินเข้ามาในร้าน แต่คือคนทั้งโลก

หากมีสักเมนูที่ถูกปาก ลูกค้าเหล่านี้พร้อมโดนตก กลายเป็นติ่งเป็นด้อมได้ทุกเมื่อ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save