ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
หากมีตั๋วหนึ่งใบให้คุณเที่ยวรอบโลก คุณจะไปที่ไหน ?
เป็นไปได้เราคงอยากเลือกไปในที่ที่ทำให้ใจผ่อนคลาย มองธรรมชาติที่จรรโลงโลกให้งดงาม ดื่มด่ำกับผู้คนและคุณภาพชีวิตที่ดีในเมืองที่เป็นระเบียบ แต่ในความจริง โลกของเราไม่ได้สวยงามไร้ที่ติแบบนั้น
บนโลกทรงกลมใบนี้ ยังมีความบิดเบี้ยวแทรกอยู่ทุกอณูของดาวเคราะห์ มนุษย์บางส่วนของโลกยังมีน้ำดื่มไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในบางมุมของโลก เด็กๆ ใช้ก้อนดินเหนียวเตะแทนฟุตบอล ใช้เท้าลุ่นๆ วิ่งบนพื้นหวดลูกกลมๆ ด้วยไม่รู้ว่าเท้าจะบาดเข้ากับอะไรบ้าง ตรงกันข้าม เด็กบางกลุ่มมีสนามหญ้าที่เล็มอย่างดีไว้รองรับ สวมสตั๊ดใหม่เอี่ยมหวดลูกบอลที่ตัดเย็บอย่างละเอียด
หากถอยมามองโลกผ่านภาพดาวเทียม เราจะเห็นแสงสว่างกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ขยับเข้าไปใกล้หน่อยจะเห็นป้ายโฆษณาตั้งตระหง่านตามรายทางส่องไฟจนแสบตา ตัดภาพไปที่ชาวบ้านที่หาปลาได้ไม่ตรงตามฤดูกาล เพราะเขื่อนที่ใช้ผลิตไฟฟ้าบุกรุกแม่น้ำของพวกเขา จนฤดูที่น้ำควรหลากกลับไม่หลาก
เราทุกคนบนโลกต่างเจอปัญหาของตัวเอง ไม่ว่าเราจะหลบลี้อยู่มุมไหน และแม้ว่ามนุษย์จะสร้างเทคโนโลยีจนเกือบแตะคำว่าพระเจ้าแล้ว แต่ก็อย่างที่เห็น ปัญหาไม่เคยหายไปจากมนุษย์ และยิ่งกับมนุษย์ที่โดนโครงสร้างทางสังคมกดทับครั้งแล้วครั้งเล่า จนไม่รู้จะยืนหยัดขึ้นมาได้อย่างไร ปัญหาก็ยิ่งเกาะติดราวกับไม่มีวันจะหายไป
101 รวบรวมสกู๊ปและสารคดีที่เผยแพร่ตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา ไล่เลาะไปตามพื้นที่ ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทะเลอันดามัน ไปจนถึงฮ่องกง ทุกพื้นที่ต่างประสบกับสถานการณ์เฉพาะที่ต้องแก้ไขกันไป
ว่ากันว่า อยู่ใต้ฟ้าอย่ากลัวฝน และเราต่างอยู่บนผืนดินเดียวกัน
ใครบ้างไม่อยากอยู่บ้าน ?
“ถ้าไม่ลำบากจริงๆ ใครเขาจะอยากมานอนให้ยุงกัดอยู่ที่นี่” คือหนึ่งในประโยคที่หล่นจากปากผู้ร่วมชุมนุมสมัชชาคนจน เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ในฤดูฝนที่พวกเขาควรจะอยู่บ้านอยู่ดูแลเรือกสวนไร่นา แต่พวกเขาต้องมานอนกลางปูน-กินกลางถนน เป็นเวลา 18 วันในเมืองหลวง เพื่อเรียกร้องสิทธิที่โดนพรากไปจากอก
ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ชาวบ้านจากหลายจังหวัดมาเพื่อเรียกร้องปัญหา 35 กรณี 5 ประเด็นหลัก ทั้งประเด็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ปัญหาที่ดิน ป่าไม้ การละเมิดสิทธิแรงงาน และราคาพืชผลผลิตตกต่ำ ในบางวันที่ฝนกระหน่ำตกใส่เต็นท์ พวกเขายังทนอยู่ เพื่อรอคำตอบจากภาครัฐว่าจะแก้ปัญหาเรื้อรังนี้อย่างไร
“ผมมาเรื่องเขื่อนราษีไศลกักเก็บน้ำไว้เยอะแล้วปล่อยลงมาใส่หมู่บ้าน ปล่อยมาวันเดียวท่วมหมด เกือบเอารถไถขึ้นไม่ทัน เขายกประตูลอย น้ำไหลมาตู้มทีเดียวเลย ก็อยู่ไม่ได้แล้ว เลยพากันมาเรียกร้องรัฐบาลว่า พวกคุณทำแบบนี้ พวกเรากระทบแล้ว พวกคุณต้องจ่ายค่าชดเชยให้พวกเรา”
“ถ้ารัฐจ่ายเงินชดเชย ก็เท่ากับเราขายนาให้เขานั่นแหละ ได้ค่าชดเชยไร่ละ 45,000 บาท เราก็ไปหาซื้อนาบนเนิน แต่นาบนเนินก็แพงกว่าเป็นเท่าตัว อยู่ที่เดิมมันทำกินไม่ได้แล้ว ถึงไม่ขาย น้ำก็ไหลลงมาเหมือนเดิม ทำอะไรไม่ได้” คือเสียงจาก บุญเกิด กะตะศิลา ชาวศรีสะเกษ ที่มาเรียกร้องประเด็นค่าชดเชย ‘เขื่อนหัวนา – เขื่อนราษีไศล’ ปล่อยน้ำท่วมที่นา
ไม่ใช่แค่ลุงบุญเกิดเท่านั้น แต่ยังมีชาวบ้านที่มาเรียกร้องประเด็นกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกิน ประเด็นกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เรื่องที่ดินทำกินในเขตอุทยาน และประเด็นเรื่องเขื่อนปากมูล ฯลฯ
แม้มาด้วยต่างกรรมต่างวาระ แต่ทุกคนมีจุดร่วมเดียวกันคือเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมที่ควรจะเป็นของพวกเขา และพวกเขายังย้ำคำเดิมว่า ไม่มีใครอยากทิ้งบ้านมาอยู่แบบนี้หรอก โชคดีที่แต่ละกระทรวงรับเรื่องเพื่อดำเนินการต่อ สมัชชาคนจนจึงเดินทางกลับบ้าน แม้ว่าข้อเรียกร้องจะยังไม่บรรลุผลร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม
ไม่ห่างจากริมคลองผดุงกรุงเกษม หลายสิบครอบครัวในชุมชนป้อมมหากาฬ ถูกบังคับให้ย้ายออกจากพื้นที่ที่อยู่กันมากว่า 6 ชั่วอายุคน พื้นที่ที่เคยเป็นบ้าน ถูกไล่รื้อแล้วเนรมิตให้กลายเป็นสวนสาธารณะ และย่อประวัติศาสตร์ทั้งหมดให้อยู่ในป้ายไร้ชีวิต ด้วยงบประมาณก่อสร้างถึง 69 ล้านบาท
ในสารคดี The Weeping Wall ฉายภาพให้เห็นเสียงบอกเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวบ้านกว่า 25 ปี แต่ในท้ายที่สุดพวกเขาก็มิอาจทัดทานอำนาจรัฐที่เลือกหยิบคนออกจากพื้นที่อย่างง่ายดาย
“ปัญหาเหล่านี้ถ้าใครไม่เจอกับตัวเอง ไม่เจอกับครอบครัว พื้นที่ของตัวเอง บอกได้เลยว่า มันเป็นชีวิตในเสี้ยวหนึ่งของการดำรงอยู่ แต่ถึงแม้คุณไม่เลือกที่จะจำ แต่มันเป็นเรื่องที่ติดอยู่ภายใต้ก้นบึ้งของหัวใจ” คือเสียงบอกเล่าหนักแน่นจากธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ
พวกเขาอยากอยู่บ้าน แต่กลับโดนไล่ให้ออกจากบ้านตัวเอง หรือนี่คือเรื่องที่เรายอมรับได้ ?
หากมองไปรอบเกาะรัตนโกสินทร์ที่มีอายุยาวนานกว่า 200 ปี ท่ามกลางวัดวังที่ส่องประกายทองต้องแดด แสงระยิบระยับของแม่น้ำเจ้าพระยาในยามค่ำคืน และเรือท่องเที่ยวที่เปิดเพลงลั่นท้องน้ำ เป็นเครื่องยืนยันว่า ‘กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง’ แห่งนี้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่ามาเยี่ยมชมสักครั้ง ขณะเดียวกัน หลังม่านความงดงามเหล่านั้น ยังมีวิถีชีวิตที่ต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจนับว่าเป็นคุณภาพชีวิตที่ดี
ที่ชุมชนบ้านปูน หมู่บ้านเชิงสะพานพระราม 8 ที่ผู้คนย้ายมาอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ต้องอยู่กับแม่น้ำคูคลองสีดำสนิท
ในสารคดี ชั่วชีวิตคนลุ่มน้ำบางกอก เมื่อเวลาไม่อยู่ข้างเรา ฉายภาพชีวิตคนในชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ยังเหลือแค่คนแก่เฒ่าอาศัยอยู่ ส่วนคนรุ่นใหม่ต่างแยกย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่กว้างขวางและมีคุณภาพชีวิตดีกว่านี้
“คุณไปดูสิ ตรงแม่น้ำทางสะพานพุทธก่อนจะมาถึงพวกผม น้ำใส ปลาสวาย ปลาดุก ว่ายเต็ม แต่ตรงบ้านปูน ไม่มีเลย จับไม่ได้ เพราะระบบนิเวศเสียไปหมดแล้ว” คุณฐาพัช ตัวแทนชุมชนบ้านปูนอธิบายให้เห็นภาพ แล้วพูดต่อว่า
“ยังไม่นับว่าถ้าทำทางเลียบแล้วจะไปบดบังทัศนียภาพ วัด วัง หมู่บ้าน ตลอดเส้นแม่น้ำที่มีมาตั้งนาน วิวแบบนี้กลายเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ไปแล้ว เราจะเอาอะไรไปบังทำไม” เขาพูดถึงผลกระทบหากมีการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมา
“เราอยู่กันมานาน แล้วอยู่กันแบบสงบ เราโชคดีที่ใกล้แม่น้ำ อากาศยังดีอยู่” เสียงของลุงฐาพัชฟังชัด ท่ามกลางเสียงผัดกะเพราดังฉ่า
ถัดจากปัญหาเรื่องการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา พวกเขาก็ยังมีปัญหาอื่น เพราะแม้พวกเขาจะยังได้อยู่บ้านของตัวเอง แต่เจ้าของที่ดินยังเป็นชื่อของตระกูลเก่าแก่ที่ไม่รู้ว่าจะมาเรียกคืนเอาตอนไหน ดูเหมือนว่าบ้านของเรา จะไม่ใช่บ้านของเราเสมอไป
ไม่ใช่แค่คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น แต่คนลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีก็เจอปัญหาไม่ต่างกัน ผิดแผกก็แค่พวกเขาโดนบุกรุกด้วยถนน ในนาม ‘มอเตอร์เวย์สายใต้’ ที่กำลังจะเข้ามาตัดผ่านสวนตาลและเรือกสวนไร่นาที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นอำแดง
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ เป็นหนึ่งในแผนการ ‘ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในระยะเร่งด่วนที่มีลำดับความสำคัญสูง’ มีระยะทาง 119 กิโลเมตร ใช้งบลงทุนกว่า 80,600 ล้านบาท ในแผนการสร้าง ถนนเส้นนี้จะเชื่อมจากนครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม ตัดผ่านเข้าจังหวัดเพชรบุรี ผ่านอำเภอเขาย้อย อำเภอเมือง อำเภอบ้านลาด สิ้นสุดที่อำเภอท่ายาง โดยตัวโครงการที่สมบูรณ์ตั้งใจจะเชื่อมถนนตั้งแต่นครปฐมไปจนถึงสงขลา จนมีอีกชื่อเรียกว่า ‘มอเตอร์เวย์สายใต้’
แม้จะดูเป็นเส้นเลือดใหญ่เชื่อมภูมิภาคที่น่าตื่นตา แต่ขณะเดียวกันถนนสายนครปฐม-ชะอำ ในช่วงหลักกิโลเมตรที่ 73 – 119 ของถนน ก็ตัดผ่านเส้นเลือดใหญ่ของคนเมืองเพชร คือสวนตาลและบ้านเรือนของพวกเขา เป็นระยะทางรวม 46 กิโลเมตร
มีภาพวิถีชีวิตของชาวเพชรบุรีที่ผูกพันกับสวนตาลในสารคดี ทางของฉัน ฝันของใคร : เมื่อสวนตาลต้องหลีกทางมอเตอร์เวย์ เขียนเล่าไว้ว่า
ไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องคมนาคมเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องน้ำท่วมที่นาด้วย เพราะเมื่อถนนตัดในพื้นที่สูงกว่าที่นาก็จะกลายเป็นเขื่อนขนาดย่อมที่กั้นทางเดินน้ำไว้ กลายเป็นน้ำขังไม่มีทางระบายตามธรรมชาติ ยิ่งเมื่อวิถีชีวิตผูกพันกับน้ำ ฟ้า อากาศ เรื่องเหล่านี้ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ชนิดคอขาดบาดตาย
ลุงเงิน ศรีแจ้ อายุ 83 ปีที่ทำนาและขึ้นตาลมาทั้งชีวิต บอกว่าถ้าหมดที่ทำกินเขาก็ไม่รู้จะไปทำอะไรต่อได้แล้ว
“ลุงแกบอกว่าจะทำตาลไปจนถึงอายุ 115 ปี” คุณลุงอีกคนพูดแทรกด้วยรอยยิ้ม
คำว่า ‘ชีวิต’ ไม่อาจอธิบายได้อย่างรวบรัด รายละเอียดของชีวิตคนไม่อาจตัดสินคุณค่าได้ด้วยตัวเลข ทุกวันนี้ วิถีชีวิตของคนเพชรบุรียังดำเนินไป ในบางวัน ค่ำคืนของรำวงเพชรบุรี ยังมีเสียงเพลงดังกังวานบนลานดินที่ดำรงมารุ่นต่อรุ่น ขณะเดียวกัน การพัฒนาก็ขีดเส้นเข้ามาหาพวกเขาอย่างยากที่จะปฏิเสธ ณ ตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการทำ EIA ใหม่ เพื่อดูว่าถนนเส้นนี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไรบ้าง
มหาสมุทรของความเหลื่อมล้ำ
หากแม่น้ำมีชีวิตของตัวเอง มหาสมุทรก็ท่วมไปด้วยความเคลื่อนไหวของมนุษย์ โดยเฉพาะที่หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ที่อยู่ของชาวมอแกนที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังเหตุการณ์ไฟไหม้หมู่บ้านที่อ่าวบอน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562
มี 61 ครอบครัวมอแกนที่ไร้ที่อยู่อาศัย ขาดปัจจัยต่างๆ ในการดำรงชีวิต จนได้บ้านหลังใหม่ที่ฝ่ายความมั่นคงรับอาสาสร้างให้
photo essay มอแกน ณ ชายแดนแห่งทะเล ของ ยศธร ไตรยศ พาเราไปเห็นชีวิตใหม่ของชาวมอแกน
นอกเหนือจากการเล่าเรื่องด้วยภาพถ่ายแล้ว เขายังเขียนเล่าเรื่องไว้อย่างเห็นภาพว่า
ผมลงพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์หลังจากการส่งมอบบ้านหลังใหม่ได้ไม่นาน เสียงของพวกเขาก็สะท้อนออกมาว่าบ้านหลังใหม่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต สวนทางกับคติความเชื่อดั้งเดิม ถูกกระชับพื้นที่ให้อยู่อย่างแออัด ไม่มีความเป็นส่วนตัว ทั้งที่ชาวมอแกนรักสันโดษและนิยมปลูกบ้านกระจายตัวกันอยู่แบบหลวมๆ มากกว่า
แต่เป็นความจริงที่ว่า หากพวกเขาจะอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติต่อไป ก็ต้องปรับตัวยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวให้ได้ โดยเฉพาะการหากินปลาไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่พวกเขาจับไปทำเมนูสำหรับครัวเรือนเท่านั้น
จากสายตาคนนอก การท่องเที่ยวดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่ดีของรายได้ มอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ส่วนใหญ่ผันตัวไปเป็นลูกจ้างให้กับอุทยานและลูกจ้างบริษัททัวร์ในพื้นที่ บางครอบครัวทำของที่ระลึกไว้ขายนักท่องเที่ยวที่แวะเข้าชมวิถีชีวิตในหมู่บ้านมอแกนด้วย นับเป็นวิธียังชีพอีกทางหนึ่งนอกเหนือไปจากการหาปลา
แต่ภาพนักท่องเที่ยวที่เดินขวักไขว่คึกคัก เข้าออกบ้านของชาวมอแกนราวกับเป็นพื้นที่สาธารณะ ความรู้สึกภายในของพวกเขากลับสวนทาง หนุ่มมอแกนบางคนบอกกับผมด้วยน้ำเสียงเบื่อหน่ายว่า “บางครั้งรู้สึกเหมือนว่าบ้านเป็นสวนสัตว์ให้คนมาเที่ยว”
ณ ปัจจุบันชาวมอแกนยังต้องทนอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม และในบางทีต้องแบกรับ ‘ความเป็นอื่น’ จากสายตาที่คนข้างนอกมองเข้ามา
ไม่ใช่เฉพาะชาวมอแกนเท่านั้น แต่ภาวะความเป็นอื่นก็ยังเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่คนยังมีภาพจำว่าเป็นผู้ก่อการร้าย จากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่มีมาหลายสิบปี
เมธิชัย เตียวนะ เข้าไปคุยกับหนุ่มสาวจากสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ขึ้นมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผ่านเหตุการณ์อันตื่นตระหนกและสะเทือนขวัญจาก ‘คดีน้ำบูดู’ มาเมื่อ 3 ปีก่อน จนออกมาเป็นสารคดี The Deep Sound หนึ่งในเหตุการณ์ที่สะท้อน ‘ความเป็นอื่น’ และภาพความเป็นผู้ร้ายได้อย่างดี แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้แล้วก็ตาม
ตุลาคม 2559 หน่วยคอมมานโด พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าไปในหอพักนักศึกษามุสลิมชายย่านรามคำแหง พร้อมจับกุมนักศึกษาไปหลายสิบคน เพราะหน่วยความมั่นคงระบุว่าจะมีการเตรียมการก่อเหตุวางระเบิดใน กทม.
หลังจากนั้น หลักฐานที่เจ้าหน้าที่ค้นพบและแจ้งว่าเป็นสารประกอบระเบิดคือ ‘น้ำบูดู’ ที่ใช้กินกับข้าวยำ !
ชีวิตของคนหนุ่มสาวที่นั่นดำเนินต่อไปอย่างไร ห้วงรู้สึกภายในของพวกเขาส่งเสียงอะไร
ถ้อยความข้างต้นคือคำอธิบายสารคดีเรื่องนี้ ก่อนเรื่องราวจะพาเราดำดิ่งลงไปในความหมายของมนุษย์ คุณค่าความเป็นคน และแววตาของคนหนุ่มสาวที่ใคร่รู้ว่าเหตุใดพวกเขาจึงต้องโดนแบ่งแยก
ไม่ใช่แค่คนหนุ่มสาวที่ออกมาอยู่นอกพื้นที่เท่านั้นที่โดนแบ่งแยก แต่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เองก็มีประเด็นปัญหาของตัวเองเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง ที่ดูเหมือนว่ายังรอการแก้ไขอยู่หลายจุด
ในสกู๊ป จากชายแดนใต้ถึงเราทุกคน “ความรุนแรงต่อผู้หญิงจะต้องยุติ” ของศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เขียนถึงภาวะความรุนแรงต่อผู้หญิงไว้ว่า ที่สามจังหวัดชายแดนใต้ สถานที่ที่ผู้คนเลือกมองความรุนแรงในพื้นที่เป็นภาพหลัก แต่อีกความรุนแรงที่ดำเนินไปควบคู่กันคือความรุนแรงต่อผู้หญิง บริบทของพื้นที่นี้มีทั้งความไม่สงบที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนสูญเสียครอบครัว ปัญหายาเสพติดเรื้อรังในพื้นที่ส่งผลให้คู่ชีวิตของพวกเธอเลือกลงไม้ลงมือต่อกัน รวมถึงหลักการทางศาสนาที่ทำให้การเดินออกจากความรุนแรงไม่เคยง่าย
ในจังหวัดนราธิวาสมีความพยายามจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยแต่เดิมสถานที่ที่คอยรับเรื่องร้องเรียนคือ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาสซึ่งมีแต่เจ้าหน้าที่ผู้ชาย แต่ในปัจจุบันเกิดมุมเล็กๆ ของผู้หญิงที่คอยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ในนาม ‘ศูนย์บริการให้คำปรึกษาเสริมพลังสตรี’
ศุภาวรรณเขียนเขียนอธิบายโมเดลการเข้าไปช่วยเหลือของศูนย์บริการฯ ในนราธิวาส ว่า
ในพื้นที่ปลอดภัยนี้ เราจะได้พบกับซารีนา เจ๊ะเลาะ ประธานชมรมมุสลีมะห์นราธิวาส อีกหนึ่งอาสาสมัครและผู้ผลักดันศูนย์ให้คำปรึกษา เธอเล่าว่าก่อนมีศูนย์ฯ เคยมีผู้หญิงมาทุบประตูบ้านของเธอยามดึก เพราะทะเลาะกับสามีและโดนตบตี เมื่อไม่มีที่ไปจึงมาหาอิหม่ามที่เป็นสามีของซารีนา เธอเองในฐานะผู้หญิงก็ทำหน้าที่รับฟังเป็นอย่างดี สถานการณ์เช่นนี้ตอกย้ำว่าสถานที่ที่คอยรองรับผู้หญิงเหล่านี้ เป็นเรื่องจำเป็น
“พอเปิดประตูมาเจอหน้าเราคือร้องไห้กอดกันเลย คืนนั้นก็ต้องให้ผู้หญิงนอนที่บ้าน เช้ามาก็ไปเรียกสามีมาคุย แต่หลังจากมีศูนย์ให้คำปรึกษา ก็เป็นหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีที่ไปหากเจอเหตุการณ์ความรุนแรง
“ศาสนามีหลักการซอร์บา คือผู้หญิงต้องอดทน แต่ความอดทนก็มีขอบเขตของมัน ไม่ใช่ว่าสามีจะทุบตีขนาดไหนก็ต้องทน ไม่ใช่ ต้องออกมาบอกใครซักคน”
เมื่อนราธิวาสทำสำเร็จ ดูเหมือนว่าจังหวัดในสามชายแดนใต้ก็ให้ความสนใจประเด็นนี้เช่นเดียวกัน ในสกู๊ป นับแต่นี้สตรีจะส่งเสียง : สำรวจชีวิตท่ามกลางความรุนแรงของผู้หญิงชายแดนใต้ ศุภาวรรณลงพื้นที่ปัตตานีในงานรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงในผู้หญิง ก็พบว่าสถานการณ์เรื่องความรุนแรงก็ไม่ได้แตกต่างจากนราธิวาสเท่าไรนัก
ผู้หญิงมักจะเลือกเก็บเงียบไว้ เพราะในสังคมอิสลามจะมองความรุนแรงเหล่านี้เป็นปัญหาภายในครอบครัว เป็นหน้าที่ที่คู่สมรสต้องประคับประครองครอบครัวให้ดี และแม้พวกเธอจะต้องการเลิกหรือหย่า หนทางก็ไม่ง่ายนัก วีดะ อิแม เจ้าหน้าที่การเงิน วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตา กล่าวว่า
“ตามหลักศาสนา ถ้าผู้ชายเป็นฝ่ายบอกเลิกครบสามครั้ง จึงจะถือว่าเลิกกัน หย่ากันได้ แต่ผู้หญิงไม่ใช่ ต่อให้พูดสักร้อยครั้งก็ไม่มีผล…”
ภาพการถูกกดทับของผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขกันต่อไป ทั้งนี้ ในปัจจุบันปัตตานียังไม่มีศูนย์บริการให้คำปรึกษาสตรี ส่วนยะลามีความพยายามในการตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาฯ โดยยึดโมเดลจากนราธิวาส ด้วยการผลักดันของผู้หญิงในพื้นที่เอง
ยอดเขาความยุติธรรม
ถัดจากลุ่มแม่น้ำและทะเล พื้นที่บนภูเขาและที่ราบสูงก็ต้องเผชิญปัญหาอยู่ไม่ต่างกัน
สกู๊ป เสียงสะท้อนจาก ‘บ้านแม่หมี’ : พื้นที่ทับซ้อนบนวิถีปกาเกอะญอ โดย พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล พาไปสำรวจปัญหาเรื่อง ‘คนกับป่า’ ที่เรื้อรังมานานกว่า 40 ปี เรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่ลงหลักปักฐานในหุบเขามาไม่ต่ำกว่า 400 ปี ในนามของชุมชนบ้านแม่หมี ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
แต่เดิมพวกเขาทำไร่หมุนเวียนตามฤดูกาล วัฒนธรรมและวิถีชีวิตล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานการเคารพธรรมชาติ จนกระทั่งรัฐเข้ามามีบทบาทในการกำหนดกฎเกณฑ์การอยู่อาศัย ขีดเส้นแบ่งเพื่อจัดสรรและควบคุมดูแลพื้นที่ ป่าซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งกับที่ทำกินและอยู่อาศัย ค่อยๆ ถูกแยกออกจากกันด้วยตัวบทกฎหมาย ภายใต้นโยบายต่างๆ นานาว่าด้วยการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โจทย์สำคัญในปัญหา ‘คนกับป่า’ นี้ คือการหาจุดสมดุลระหว่างสิทธิของชาวบ้านในที่ทำกินและที่อยู่อาศัย กับการใช้กลไกรัฐในการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ
ชัยธวัช จอมติ ตัวแทนจากชุมชนหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ชี้ให้เห็นต้นตอปัญหาว่า เกิดจากระบบการบริหารประเทศที่เกี่ยวข้องกับป่า เช่นการประกาศเขตอุทยาน หรือการประกาศเขตป่าสงวนทับที่ชาวบ้านโดยไม่สำรวจก่อน เป็นผลให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุก ผู้ผิดกฎหมาย
“สิ่งที่ชาวบ้านออกมาตอบโต้ ก็คือเขาต้องการรักษาผืนป่า ผืนน้ำ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมของเขา ซึ่งแทนที่รัฐจะให้การสนับสนุน ให้การยอมรับหรือคุ้มครอง แต่กลับสร้างปัญหาเพิ่มเติมคือการอพยพคนออกจากป่า”
ทั้งนี้ ประเด็นที่ชาวบ้านกังวลคือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีการกำหนดโทษสำหรับผู้ที่เข้าไปอยู่อาศัยและหาของป่าในแนวเขตอุทยาน สิ่งที่ชาวบ้านกังวลใจคือ จะสามารถใช้ทรัพยากร เก็บของป่า กระทั่งเลี้ยงสัตว์ได้ในขอบเขตแค่ไหนอย่างไรโดยไม่กลายเป็นผู้บุกรุก ส่วนในฝั่งของเจ้าหน้าที่ ก็มีประเด็นว่าหากไม่ดำเนินการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็จะมีบทลงโทษหนักเช่นกัน
สำหรับชุมชนบ้านแม่หมี ประกอบด้วย 3 หมู่บ้านย่อย กินพื้นที่ในเขตอุทยานประมาณหนึ่งหมื่นกว่าไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ทำกินและเพาะปลูก 1,170 ไร่ สิ่งที่ชาวบ้านเสนอคือ พวกเขาไม่ปฏิเสธหากเจ้าหน้าที่จะเข้ามาช่วยดูแลทรัพยากร ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ต้องการกรรมสิทธิ์ในเขตอุทยานแต่อย่างใด เพียงแต่ขอให้มีการสำรวจและขีดแนวเขตอุทยานให้ชัด โดยละเว้นพื้นที่ทำกินของชาวบ้านไว้ ส่วนพื้นที่ป่าซึ่งอยู่ในเขตอุทยาน ชาวบ้านยืนยันว่าพวกเขาสามารถช่วยกันดูแลรักษา ร่วมเป็นหูเป็นตากับเจ้าหน้าที่รัฐได้ เพราะนั่นคือสิ่งที่ชาวบ้านทำกันมาแล้วเนิ่นนาน อย่างเป็นระบบ จากการกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไว้อย่างชัดเจน
ปัจจุบันปัญหาเรื่อง ‘คนกับป่า’ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีทางออก
ไม่ใกล้ไม่ไกล ที่น่านก็มีประเด็นเรื่อง ‘ไม้เศรษฐกิจ’ ที่กำลังมีการพัฒนามาตรฐานการปลูกไม้เชิงเศรษฐกิจ เพื่อให้ธุรกิจไม้ของไทยดีขึ้น และถ้าหากระบบนี้ทำได้จริง เราจะสามารถส่งไม้ออกขายทั่วโลกได้อย่างมีคุณภาพ ในสกู๊ป เพิ่มสีเขียวให้ผืนดินน่าน ด้วยการปลูกไม้เศรษฐกิจบนพื้นที่รัฐ ของวจนา วรรลยางกูร อธิบายถึงโครงการที่ช่วยเพิ่มมาตรฐานให้คนในพื้นที่ปลูกไม้ได้ดีขึ้น ในนามโครงการนำร่องการจัดทำระบบควบคุมห่วงโซ่อุปทานไม้กับศูนย์วนศาสตร์เพื่อคนกับป่า (รีคอฟ) โดยได้ฝึกให้ชาวบ้านเก็บข้อมูลต้นไม้ ติดแท็ก คำนวณปริมาตรไม้ และมีการให้ความรู้เรื่องสิทธิที่ดินและการทำเอกสารยืนยันข้อมูลต้นไม้ที่ตนเองครอบครอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่คนปลูกต้นไม้เพื่อขายจะต้องทราบ
การปลูกไม้เศรษฐกิจยังมีปัญหามากในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน เมื่อที่ดินส่วนใหญ่ที่เกษตรกรรายย่อยครอบครองเป็นที่ดินของรัฐที่มีความยุ่งยากในการหาเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของ
แต่การปลูกไม้เศรษฐกิจบนที่ดินรัฐมีส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ตามเป้าหมายภาครัฐ จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องสนับสนุนและทำให้ขั้นตอนสะดวกขึ้น
…น่านมีพื้นที่ป่าไม้ถึง 87.2% แต่เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมถึง 45% ทางภาครัฐจึงมีแนวทางเพื่อแก้ปัญหาป่าเสื่อมโทรมและลดปัญหาบุกรุกป่าด้วยนโยบายทวงคืนผืนป่า การจัดที่ดินทำกินตามนโยบาย คทช. โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ครอบคลุมทั่วจังหวัดน่าน
เกษตรกรที่ปลูกไม้สักในจังหวัดน่านส่วนใหญ่ทำในที่ดินของรัฐคือ ที่ดิน คทช. และ ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 แต่ก็พบปัญหาเรื่องข้อกฎหมายและการกดราคาเนื่องจากเกษตรกรไม่มีความเข้าใจ
หากทำสำเร็จ การเชื่อมโยงวิถีชาวบ้านที่มีแต่เดิมให้ยึดโยงกับทั้งธรรมชาติและสังคมโลกได้อย่างมีคุณภาพ ก็เป็นหนึ่งในหนทางที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้คนได้
ขยับลงมาบริเวณที่ราบสูง ก็มีการคัดค้านของชาวบ้านในกรณีเหมืองหินที่ดงมะไฟ จังหวัดหนองบัวลำภู ในสกู๊ป ชาวบ้านต้องเสียสละ? ข้ออ้างการพัฒนากับเสียงคัดค้านอันแผ่วเบาของ ‘ดงมะไฟ’ ของวจนา วรรลยางกูร เขียนเล่าถึงความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านได้รับว่า
พวกเขาอยู่กันอย่างเรียบง่ายเช่นชาวชนบทอีสานในพื้นที่อื่นๆ ทำไร่ทำนา เลี้ยงสัตว์ เก็บของป่า หากินอยู่กับธรรมชาติ แต่เมื่อมีการยื่นขอสัมปทานเหมืองหินเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ชีวิตชาวดงมะไฟก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ชาวดงมะไฟมองป่าในฐานะแหล่งอาหาร ยามที่ไม่มีงานในไร่นาก็เข้าป่า ‘ช้อปปิ้ง’ พืชผัก สมุนไพร สัตว์ป่า แล้วจ่ายด้วยแรงกาย อันเป็นวัฒนธรรมทางอาหารที่ชาวบ้านคุ้นชิน การอยู่กับป่าแบบนี้ต้องมีความชำนาญและความรู้ อันหมายถึงการรู้จักพืชผักรอบตัวว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ ไปตรงไหนจะอันตราย ซึ่งมาจากการรู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี
การมีแหล่งอาหารตามธรรมชาติใกล้บ้านเป็นหลักประกันว่าพวกเขาจะมีอะไรกิน แม้ในวันที่หาเงินไม่ได้เลย
จนเมื่อปี 2536 มีบริษัทเอกชนยื่นขอสัมปทานเหมืองหินที่ภูผายา ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู สร้างความหวาดหวั่นให้ชาวบ้านจนออกมาคัดค้านนับพัน เพราะบนเขานั้นมีสำนักสงฆ์และภาพเขียนสีโบราณที่ตอนหลังกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณคดี โดยมีทนายทองใบ ทองเปาด์มาให้ความรู้เรื่องกฎหมายกับชาวบ้าน
ปีต่อมาบริษัทเอกชนย้ายมาขอสัมปทานทำหินปูนที่ภูผาฮวกซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้ชาวบ้านคัดค้านอย่างหนัก และมีคนถูกลอบยิงเสียชีวิต 2 คน จนถึงปัจจุบันก็ยังจับผู้ก่อเหตุไม่ได้
คนดงมะไฟยังคงเดินหน้าคัดค้านต่อเนื่องหลายปี จน 2542 กำนันซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านในการต่อสู้ถูกลอบยิงเสียชีวิต 2 คน ชาวบ้านแห่ศพไปประท้วงถึงตัวจังหวัด แต่ต่อมาก็มีการอนุญาตประทานบัตรเหมืองหินระยะเวลา 10 ปี ชาวบ้านที่ไม่พอใจจึงประท้วงปิดถนนเข้าเหมืองและถูกสลายการชุมนุม
เอกชัย ศรีพุทธา เป็นหนึ่งในแกนนำประท้วงปิดเหมืองในวันนั้น ทั้งที่ชาวบ้านมีมติร่วมกันแล้วว่าจะไม่เข้าไปแตะข้าวของในเขตเหมือง แต่จู่ๆ ก็เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นตรงที่พักคนงานและโรงเก็บอุปกรณ์ของเหมือง ขณะที่เอกชัยจับไมค์คุยกับชาวบ้านอยู่
สุดท้ายผู้ชุมนุม 12 คนถูกดำเนินคดีข้อหาวางเพลิง เอกชัยเล่าว่าชาวบ้านที่ต้องขึ้นศาลเป็นผู้สูงอายุเกือบทั้งหมด เขาและเพื่อนอีกคนหนึ่งจึงยอมรับผิดในคดี ทำให้ศาลตัดสินจำคุกพวกเขาและยกฟ้องอีก 10 คนที่เหลือ
“ตอนเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ผมสบายใจว่าสิ่งที่ทำลงไป เราไม่ได้ทรยศพื้นที่ เรารักผืนป่า รักธรรมชาติ ภูมิใจที่ได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ”
เอกชัยพูดอย่างเรียบง่ายพร้อมแววตาที่ไม่หวั่นกลัวใดๆ หลังอยู่ในเรือนจำ 6 เดือนเขาก็ออกมาร่วมต่อสู้กับทุกคน จนถึงปัจจุบันเสียงคัดค้านของพวกเขาก็ยังคงไปไม่ถึงผู้มีอำนาจ
แผ่นดินนี้ไม่ใช่ของเรา ?
ไม่ใช่แค่ที่ดงมะไฟเท่านั้นที่เสียงคัดค้านไปไม่ถึงผู้มีอำนาจ แต่ชีวิตคนลุ่มน้ำโขงก็ประสบปัญหาไม่ต่างกัน ในบทความเรื่อง ไม่มีใครควรเป็นเจ้าของแม่น้ำเพียงผู้เดียว : เขื่อนไซยะบุรี หายนะของแม่น้ำโขง ? ฉายภาพให้เห็นว่า แม้เราจะอยู่ผืนดินหรือแม่น้ำมานานเพียงใด บางทีเราก็ไม่อาจป้องกันการคุกคามจากการลงทุนได้ ยิ่งโดยเฉพาะกับแม่น้ำโขง แม่น้ำจากเทือกเขาหิมาลัย ความยาวกว่า 4,900 กิโลเมตรที่ตัดผ่าน 6 ประเทศ โอบอุ้มการวางไข่ของปลาอพยพกว่า 400 สายพันธุ์ มีประชากรกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำโขง ทั้งเรื่องประมง น้ำ และข้าว ที่มีการลงทุนพัฒนาตลอดหลายสิบปี
เมื่อไม่นานมานี้ การปรากฏตัวของเขื่อนไซยะบุรีสร้างผลกระทบไปทั่วแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการใช้ชีวิต นับเป็นเขื่อนแรกจาก 11 เขื่อนในโครงการของแม่น้ำโขงตอนล่าง ยังไม่นับว่า 11 เขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนบนของจีนที่สร้างผลกระทบต่อคนลุ่มแม่น้ำอย่างมหาศาลมาก่อนหน้านี้แล้ว
ในเชิงภูมิศาสตร์ 25% ของลุ่มน้ำโขงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีความสำคัญอย่างมากในเชิงนิเวศ เพราะเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งวางไข่ของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่สำคัญในการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ริมพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านั้น พื้นที่ชายแดนระหว่างกัมพูชากับลาว ที่อยู่ใต้พื้นที่สี่พันดอนลงไป นับเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก (Ramsar Site) รวมถึงเป็นพื้นที่ทำประมงที่สำคัญมากในทางเศรษฐกิจ
มีเสียงจากชาวบ้านที่อยู่กับแม่น้ำโขงมากว่า 60 ปี เล่าให้ฟังถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนไว้อย่างสะเทือนใจว่า
“ผมอยู่กับโขงมาทั้งชีวิต ไม่เคยเห็นโขงเป็นแบบนี้” ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงกล่าว
นิวัฒน์เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนแรกในจีนช่วงปี 2539-40 จนถึงปัจจุบันที่เขื่อนไล่ลงมาที่แม่น้ำโขงตอนล่าง เขาใช้คำว่า แม่น้ำโขงเกิดการผันผวน น้ำไม่ขึ้นลงตามฤดูกาล
“เขื่อนจีนจะกักน้ำในฤดูน้ำหลาก แล้วปล่อยน้ำในฤดูแล้ง นี่คือหลักการของจีน จีนบอกว่าเขื่อนจีนให้ประโยชน์กับคนท้ายน้ำ คือไม่ให้น้ำท่วมคนท้ายน้ำ ในฤดูน้ำหลากกักน้ำไว้ แล้วไม่ให้น้ำแล้งในฤดูแล้ง โดยการปล่อยน้ำมา แต่ในมุมมองชาวบ้านอย่างพวกเรา คนที่ใช้แม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต ในวิถีวัฒนธรรมของเรา แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“ฤดูน้ำหลาก น้ำต้องหลาก หลากเข้าไปในแม่น้ำสาขา ปลาจะขึ้นวางไข่ สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติก็มีวงจรของมัน แต่คุณไม่ปล่อยน้ำมา คุณกักน้ำไว้ น้ำไม่หลากนั่นคือเรื่องใหญ่แล้ว หน้าฝนไม่ใช่ฝนแล้ว ส่วนในฤดูแล้ง น้ำสมควรแห้ง หาดดอนที่เคยเกิดขึ้นในฤดูแล้งโผล่ขึ้นมาเพื่อเป็นที่วางไข่ของนก มีพืชหลายพันธุ์ที่ได้ประโยชน์ เป็นที่อยู่อาศัยของปลาเล็กปลาน้อยที่อยู่น้ำตื้น พอปล่อยน้ำท่วมหมดก็ไม่มีสิ่งเหล่านี้
“ที่เรามองก็คือคุณกักน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า คุณปล่อยน้ำในฤดูแล้งก็เพื่อเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ของคุณ แต่สิ่งที่คุณทำ ขัดกับวิถีชีวิต ขัดกับความเป็นธรรมชาติของแม่น้ำ นั่นคือแม่น้ำโขงผันผวน สิ่งมีชีวิตต่างๆ ส่งผลกระทบหมด ตั้งแต่สัตว์มาถึงคน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น” นิวัฒน์กล่าว
มีคำกล่าวติดตลกว่า ‘อาเซียนร่วมใจ’ อาจไม่ใช่แค่การร่วมมือทางเศรษฐกิจ แต่หมายรวมไปถึงปัญหาการเมือง สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการของภาครัฐที่ยังเป็นปัญหาคล้ายๆ กันของกลุ่มอาเซียน เสมือนร่วมใจเกิดปัญหาเดียวกัน
นอกจากปัญหาในแม่น้ำโขงบริเวณลาว-ไทยแล้ว ข้ามไปที่ทวาย ประเทศพม่า ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ต้องรองรับเม็ดเงินลงทุนสะพัดที่เข้ามาในรูปแบบของ ‘เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย’ ซึ่งหากสร้างเสร็จจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าตอนนี้ตัวโครงการที่ใหญ่กว่า 196.5 ตารางกิโลเมตร และถนนตัดเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษความยาว 138 กิโลเมตรที่เรียกว่า Road Link จะยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่การดำเนินการ ‘เคลียร์’ พื้นที่กว่า 10 ปี ที่ดำเนินการโดยบริษัทอิตาเลียนไทย โดยมีรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมาร์สนับสนุน ก็สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านหลายหมื่นคน
ในสารคดี ในม่านหมอกเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เล่าชีวิตที่ชาวทวายต้องเผชิญไว้ว่า มีชาวบ้านในพื้นที่กว่า 12-13 หมู่บ้าน ถูกยึดที่ดินเพื่อนำไปสร้างถนนทางเข้าออกชั่วคราว คาดการณ์ว่าประชากรกว่า 9,000 คนจะได้รับผลกระทบจากการสร้างถนนนี้ หมู่บ้านเหล่านี้ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่สูง มีแหล่งรายได้และอาหารจากการทำเกษตรและหาของป่า การตัดถนนเข้าไปในพื้นที่ชาวบ้านจึงกระทบทั้งแหล่งน้ำและสวนของชาวบ้าน ซึ่งนั่นหมายถึงชีวิตของพวกเขา
หลายหมู่บ้านในบริเวณนาบูเล่ ซึ่งเป็นส่วนหลักของพื้นที่โครงการ ต้องย้ายบ้านจากชายหาดออกไปอยู่ที่อื่น ดูเหมือนว่าหากสิ่งไหนไม่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ สิ่งนั้นก็ต้องถูกหยิบออกจากแผนที่ แม้ว่าจะเป็นวิถีชาวเลที่ดำรงมานานกว่าร้อยปีก็ตาม
แต่เดิมพื้นที่แถวชายหาด มีหมู่บ้านชาวเลที่อาศัยการออกเรือหาปลาเพื่อเลี้ยงชีพ ณ ตอนนี้พวกเขาต้องย้ายบ้านไปอยู่ที่อื่น บางครอบครัวแตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่กับญาติ บางครอบครัวก็ยกกันไปอยู่หมู่บ้านที่ทางอิตาเลียนไทยจัดสรรไว้ให้สำหรับผู้ที่โดนผลกระทบจากโครงการ
รถตู้ขับออกจากกิโลเมตรที่ศูนย์ไปไม่ไกล เลาะผ่านหมู่บ้านที่ส่วนมากสร้างด้วยไม้ จนเข้ามาสู่หมู่บ้านที่สร้างด้วยปูน แต่ละหลังเรียงติดกันเหมือนบ้านจัดสรร ที่นี่มีชื่อเรียกว่า Relocation site 1 Bawah ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบาวาห์
บ้านปูนจัดสรรเหล่านี้เหมือนบ้านพักข้าราชการที่ไม่มีคนอยู่มานานมากแล้ว แต่ละหลังมีหญ้าขึ้นสูงล้อมบ้าน ใต้ถุนเต็มไปด้วยใบไม้เกลื่อนกลาด บันไดแทบมองไม่เห็นสีที่แท้จริง เพราะหนาเข้มไปด้วยฝุ่น ต้นไม้รอบๆ ก็กลายเป็นสีเขียวผสมสีน้ำตาลจากฝุ่นดิน แทบไม่ต้องเดาว่ามีคนมารดน้ำครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่
บ้านปูนสองชั้น เปิดใต้ถุนโล่ง มีตัวหนังสือ S อยู่ตรงเสาเพื่อบอกขนาดของบ้าน จากที่ในหมู่บ้านมีขนาด S M L ต่างกันไป คุณป้ามะ เล บอกว่า น้ำไม่ไหลและไฟไม่ติดมาหลายเดือนแล้ว นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ครอบครัวอื่นๆ ย้ายออกไป
เมื่อถามว่า ถ้าไฟไม่ติดแล้วอยู่กันอย่างไร ป้าตอบด้วยท่าทีสบายๆ เหมือนเป็นเรื่องปรกติอย่างที่สุดว่า “ก็จุดตะเกียง”
ในสายตาคนเมือง แค่ไฟดับ 2 นาทีก็นับเป็นเรื่องใหญ่แล้ว แต่ป้ามะ เล ทลายทุกกฎด้วยการบอกว่าชีวิตเป็นอยู่สบายดี น้ำไม่ไหลก็เดินไปตักที่บ่อ หาปลาไม่ได้ก็เปลี่ยนมาปลูกผักแล้วเดินไปขายที่ตลาด — ก็อยู่ได้
นอกจากชีวิตของป้ามะ เล แล้ว ยังมีตลาดปลาริมชายหาดที่เคยเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตกลางแจ้ง ต้องได้รับผลกระทบทันทีหากมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก เพราะระบบนิเวศในทะเลจะเสียหาย และวิถีชีวิตอื่นๆ ของชาวบ้านในอีกหลายแห่งจะถูกทำลายไปพร้อมๆ ธรรมชาติ เพียงเพราะการพัฒนาที่ถาโถมเข้ามาอย่างไร้สมดุล
ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ประเด็นการเมืองก็ยังเป็นเรื่องร้อนในหลายพื้นที่ ยิ่งโดยเฉพาะประเด็นการเรียกร้องเสรีภาพที่ประชาชนออกมาส่งเสียงต่อรัฐ และหนึ่งในเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ที่ทั้งโลกจับตามองคือการประท้วงที่ฮ่องกง
สาเหตุจากความขัดแย้งที่ฝังรากลึกมานานระหว่างฮ่องกงกับจีน ตั้งแต่เริ่มนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ มาได้ 22 ปี ก่อนหน้านี้ก็มีการประท้วงปฏิวัติร่มเหลืองในปี 2014 เริ่มต้นจากการคัดค้านเรื่องการบรรจุหลักสูตรการศึกษาพลเมืองจีนเข้าสู่ระบบการศึกษาของฮ่องกง ก่อนจะพัฒนาข้อเรียกร้องมาเป็นการเลือกตั้งและเรียกร้องให้มีประชาธิปไตย
ก่อนที่ฟางเส้นสุดท้ายจะขาดผึง เมื่อจีนมีความพยายามจะผ่านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างฮ่องกงกับจีน โดยอ้างคดีฆาตกรรมของคู่รักฮ่องกงที่เกิดขึ้นในไต้หวัน จนนำมาสู่การประท้วงครั้งใหญ่และยาวนานของคนฮ่องกง มีคนออกมารวมตัวกันกว่า 1.7 ล้านคนในครั้งเดียว และมีการชุมนุมแยกในหลายรูปแบบไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วเกาะ โดยมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ดังนี้
- ถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไม่ใช่แค่พักการพิจารณา
- ยกเลิกข้อหาก่อจลาจล
- นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว
- สอบสวนการใช้อำนาจในทางที่ผิดของตำรวจอย่างละเอียด
- การเมืองเป็นสากล คนฮ่องกงมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงในการเลือกผู้แทน และผู้ว่าการสูงสุดต้องมาจากการเลือกตั้ง
จากการลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ม็อบฮ่องกง พร้อมทั้งพูดคุยกับคนฮ่องกงเอง ส่วนมากพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขาต้องการเสรีภาพ
ฉากหนึ่งในสารคดี ฮ่องกงปิดปรับปรุง : จนกว่าเสรีภาพจะมาถึง ? เขียนเล่าเอาไว้ว่า
“ตอนที่ผมตายไปแล้ว ประชาธิปไตยในฮ่องกงอาจจะเพิ่งเดินมาถึงครึ่งทางก็ได้” ช่างภาพหนุ่มคนหนึ่งบอกฉัน ที่จริงแล้วพวกเขาไม่ได้ต้องการจะแบ่งประเทศ เพียงแต่ต้องการเสรีภาพในการเลือกตั้งและกฎหมายที่เป็นธรรมเท่านั้น
“พวกเราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเสรี เรามีวิถีชีวิตในแบบของคนฮ่องกง นั่นทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่เหมือนจีน” ช่างภาพคนเดิมพูดย้ำในประเด็นเรื่องความเป็นจีนกับฮ่องกง
ไม่ใช่แค่ช่างภาพคนนี้เท่านั้น แต่พนักงานบริษัทอีกคนก็บอกกับฉันว่า ไม่เห็นด้วยซะทีเดียวกับประโยค ‘ฮ่องกงคือจีน’
“ในอนาคต ผมหวังว่ากระบวนการทางประชาธิปไตยของฮ่องกงจะดีขึ้น และหวังว่าจีนจะไม่ควบคุมเสรีภาพ ทางเลือก ระบบยุติธรรม และความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเรา ถ้าพวกเขายังต้องการให้ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนในทางภูมิศาสตร์ ผมต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง”
ปัจจุบันการประท้วงฮ่องกงยังคงดำเนินต่อไป และทางการจีนก็ขยายระดับการปราบปรามรุนแรงขึ้นทุกที แม้ความหวังจะส่องประกายขึ้นมาในบางที แต่ดูเหมือนว่าแสงสว่างปลายอุโมงค์จะยังอีกห่างไกล
บทสนทนาหนึ่งในสารคดีการประท้วงฮ่องกงชิ้นนี้ ฉายให้เห็นความหวังของผู้ประท้วงไว้อย่างแตะใจว่า
“คิดว่าข้อเรียกร้องของคุณจะเป็นไปได้มั้ย การประท้วงครั้งนี้จะสำเร็จหรือ” ฉันถาม
“ไม่รู้หรอก แต่อย่างน้อยเราก็ได้แสดงออกสิ่งที่เรารู้สึก ได้บอกสิ่งที่เราต้องการ”
ท่ามกลางฝนชุ่มฉ่ำ และเสียงตะโกน “Free Hong Kong” ดังลั่นตลอดทาง ประโยคถัดจากนี้ขออนุญาตไม่พากย์ไทย ฉันถามต่อไปว่า “You want freedom for Hong Kong, right?”
หญิงสาวตอบสั้นกระชับว่า “Not me, but we.”
หากมองย้อนไปตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลงทะเลอันดามัน ขึ้นดอยสูง ล่องทวาย มาจนถึงเกาะฮ่องกง
ใช่, เราทุกคนควรมีเสรีภาพและความชอบธรรมที่จะมีชีวิตที่ดี