fbpx

เปิดโรงเรียนได้ไหม ในวันที่โลกยังไม่หายดี

มีประโยคหนึ่งซึ่ง ‘เชย’ เสียยิ่งกว่าเชย คือจงเลือกปีศาจตนที่เลวร้ายน้อยกว่า (the lesser of two evils) ทว่าแม้จะเป็นคติพจน์ที่ฟังเหนือจริงอย่างไร ผู้คนก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องพูดประโยคนี้นับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่การเลือกสถานที่ทำงาน คอนโดมิเนียม จนถึงการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี และการตัดสินใจท่ามกลางการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ทำให้โลกทั้งใบเป็นอัมพาตก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

สถานการณ์ร้ายแรงถึงตายย่อมนำไปสู่การตัดสินใจชวนกระอักกระอ่วน และหนึ่งในโจทย์ยากระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ก็คือการตัดสินใจว่าจะเปิดโรงเรียนหรือไม่ขณะที่โรคร้ายไม่มีทีท่าว่าจะอ่อนกำลังลง ลำพังโรคระบาดยังสลัดไม่หลุด ผลลัพธ์ชวนพรั่นพรึงจากการปิดโรงเรียนยาวนานยังกระโจนออกมายืนจังก้าขวางทางรอด เหมือนหนีเสือสุดฝีเท้าแล้วต้องปะจระเข้ ทางเลือกเดียวคือต้องปะทะกับสัตว์ร้ายตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น

สำหรับบางคน การหันกลับไปเผชิญหน้าเสือที่คุ้นฝีเท้ากันดีอย่างเชื้อโควิด-19 ดูจะเป็นทางเลือกที่เย้ายวนกว่า

“ลูกๆ ของฉันทำได้ไม่ดีเลยในการเรียนออนไลน์” โอลกา เรเยส (Olga Reyes) แม่ลูกสองผู้ต้องออกจากงานเพื่อดูแลลูกๆ ที่บ้านสารภาพกับผู้สื่อข่าวของ CNN “พวกเขาเคยมีผลการเรียนดี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ดีเท่าไรแล้ว ลูกๆ ของฉันไม่มีกะจิตกะใจจะเรียนด้วยซ้ำ”

ปัจจุบัน ครอบครัวเล็กๆ นี้ต้องขออาหารจากโรงทานเพื่อประทังชีวิต และหากโอลกาไม่อาจกลับไปทำงานโดยอุ่นใจที่ลูกอยู่ในความดูแลของครู พวกเขาจะต้องสูญเสียบ้านไป โอลกาเสริมว่าเธอเข้าใจบรรดาผู้ปกครองที่เป็นกังวลเกินกว่าจะส่งลูกกลับไปที่โรงเรียน แต่เธอเชื่อว่าทุกครอบครัวควรมีทางเลือกว่าจะกลับไปหรือไม่โดยคำนึงถึงเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิต เพราะการเปิดโรงเรียนเพียงไม่กี่วันต่อสัปดาห์ไม่ได้ทำให้ภาระของเธอที่มีลูกสองคนเบาบางลง

ความกังวลของโอลกาไม่ใช่ความกังวลที่เลื่อนลอย รายงานของ Project Syndicate เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาระบุว่า การปิดโรงเรียนที่กินเวลานานเกือบสองปีไม่เพียงส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเรียนรู้และพัฒนาการทางสติปัญญาของเยาวชนเนื่องจากสภาพแวดล้อมการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ตอบโจทย์ และการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีของเด็กๆ กลุ่มเปราะบางทางสังคมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบชวนกังวลต่อสุขภาพกายและจิตของพวกเขาไม่น้อยด้วย

มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าอัตราการเป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และการทำร้ายตนเองของเยาวชนสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เด็กๆ ที่ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูต้องเผชิญความโดดเดี่ยว ความเครียด และความเหนื่อยล้าเพียงลำพัง หลายครั้งปัญหาเหล่านี้ให้กำเนิดโรคทางจิตเวช และ ‘อนาคตของชาติ’ จำนวนไม่น้อยก็ลงเอยด้วยการจบชีวิตก่อนถึงวันเติบใหญ่และแบ่งบาน นอกจากนี้ เด็กๆ ที่ต้องขลุกอยู่ในโลกออนไลน์ติดต่อกันหลายชั่วโมงยังสูญเสียความสามารถในการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรวดเร็ว

การปิดโรงเรียนยาวนานยังก่อผลกระทบอีกประการหนึ่งที่หลายคนมองข้าม นั่นคือการขาดการเคลื่อนไหวร่างกายรวมถึงการออกกำลังกาย นำไปสู่พฤติกรรมการนอนและการรับประทานอาหารที่ผิดปกติซึ่งจะส่งผลเสียในระยะยาว เด็กหลายคนพักผ่อนไม่เพียงพอ หลายคนเป็นโรคนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท และการใช้เวลาในโลกออนไลน์ตลอดวันยังทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ยิ่งกว่านั้น ยังไม่ใช่ผู้ปกครองทุกคนที่จะทุ่มเทดูแลลูกๆ เหมือนโอลกา เรเยส เด็กหลายคนกำลังถูกทอดทิ้งให้เผชิญการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และหากพวกเขาไม่มีโอกาสจากบ้านไปที่ใดเลย ใครเล่าจะสังเกตเห็นบาดแผลและความผิดปกติทางอารมณ์ของเด็กๆ เหล่านี้

ปัญหาดังกล่าวสอดคล้องกับที่ปรากฏในรายงานข่าวขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ซึ่งระบุว่าในหลายกรณีนั้น การขาดเรียนของเด็กๆ หมายถึงการทนทุกข์ด้วยความหิวโหยเพราะขาดแคลนอาหารกลางวัน ดังที่เฮนเรียตตา ฟอร์ (Henrietta Fore) กรรมการบริหารของยูนิเซฟ (UNICEF) ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาระหว่างประเทศและสุขภาวะสาธารณะกล่าวว่า “เด็กๆ กลุ่มที่เปราะบางที่สุดถูกปล่อยปละละเลยให้หิวโหย และเผชิญภาวะทุพโภชนาการ” ทั้งนี้ “พวกเขายังเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรงโดยสมาชิกครอบครัว การบังคับใช้แรงงานเด็ก และการถูกบังคับให้แต่งงาน” 

ด้วยเหตุนี้ สำหรับฟอร์ การปิดโรงเรียนจึงควรเป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นๆ หลงเหลือแล้วเท่านั้น (a measure of a last resort) โดยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่สุด คือเด็กที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ขาดแคลนอาหาร หรือมีผู้ปกครองเป็นบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งต้องเผชิญโรคโดยตรง ควรจะมาโรงเรียนได้ทันที และหากสถานการณ์การระบาดทุเลาลง โรงเรียนต้องเป็นสถานที่แรกๆ ที่กลับมาเปิดทำการพร้อมภารกิจเร่งด่วน คือการทบทวนองค์ความรู้และส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ที่ตกหล่นระหว่างการปิดโรงเรียนด้วย

“หากเด็กๆ ต้องเผชิญกับการปิดโรงเรียนต่อไปแม้เพียงปีเดียวละก็” เฮนเรียตตาบอกอย่างกังวล “ผลลัพธ์ของมันจะคงอยู่กับนักเรียนอีกหลายต่อหลายรุ่นหลังจากนี้”

YouTube video
วิดีโอของยูนิเซฟที่ชี้ให้เห็นความจำเป็นของการเปิดโรงเรียน

กระนั้น ปัจจุบันหลายประเทศยังเลือกไม่เปิดโรงเรียน หรือเลือกจัดการเรียนรู้ออนไลน์เป็นหลัก แม้จะมีหลักฐานยืนยันว่าการผลักเด็กๆ ออกจากห้องเรียนส่งผลกระทบรุนแรงเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นปากคำของฟอร์ที่ระบุว่าเด็กๆ จำนวนกว่าหนึ่งในสามของโลกไม่อาจเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ รวมถึงคาดการณ์ว่าจะมีเด็กๆ กว่า 24 ล้านคนทั่วโลกต้องออกจากโรงเรียนและหลุดจากระบบการศึกษาถาวรหากสถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป หรือรายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank) ที่ย้ำว่าการปิดโรงเรียนต่อไปจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการหารายได้ตลอดชีวิตของนักเรียนรุ่นนี้ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา โดยรายได้ที่ลดลงนั้นคิดเป็น 1.25 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 ของจีดีพีของทุกประเทศในกลุ่มนี้รวมกัน ทั้งนี้ ทุกชาติจะต้องอัดฉีดงบประมาณเพิ่มเพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อความยั่งยืนในปี 2030 (The 2030 Sustainable Development Goal) ถึงร้อยละ 7 ซึ่งสูงจนดูอย่างไรก็เป็นไปไม่ได้ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นปัจจุบัน

“มีเด็กๆ ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 น้อยมากทั่วโลก …และเมื่อติดก็มีอาการไม่รุนแรงเท่ากับผู้ใหญ่ …ผลการศึกษาจากเกาหลีใต้ยังบ่งชี้ว่าเด็กๆ ผู้ติดเชื้อเหล่านี้มีโอกาสแพร่เชื้อน้อยกว่าด้วย” รายงานของ Project Syndicate เปิดเผยดังนี้ “คงไม่มีวันที่ความเสี่ยงจะเป็นศูนย์ แต่ทุกประเทศจัดการความเสี่ยงได้ด้วยมาตรการควบคุมโรคที่เข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล การใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี การเว้นระยะห่าง การะบายอากาศที่เพียงพอ การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวสัมผัส รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจนและสม่ำเสมอระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง” 

อย่างไรก็ตาม การหันกลับไปหาโรคร้ายที่ไล่ล่าหมายชีวิตตั้งแต่ปลายปี 2019 ไม่ใช่ทางเลือกที่น่าอภิรมย์สำหรับบางคน การแข็งใจกระโจนลงไปในน้ำและพยายามหลบเลี่ยงผลที่ติดตามมาจากการปิดโรงเรียนภายหลังเพื่อหนีเสือให้พ้นอย่างตลอดรอดฝั่งอาจ ‘ได้คุ้มเสีย’ มากกว่า แน่นอนว่าทางเลือกที่เหมือนจะเป็นกลางอย่างการกำหนดให้เด็กๆ ไปโรงเรียนน้อยวันลงไม่ดึงดูดใจคนเหล่านี้เช่นกัน 

ในรายงานข่าวเดียวกับที่โอลกา เรเยส ได้บอกเล่าความทุกข์ยากของครอบครัว แคธลีน โรเบิร์ตส์ (Kathleen Roberts) ครูประวัติศาสตร์ในเชนันโดอา (Shenandoah) รัฐเวอร์จิเนีย บอกอย่างอัดอั้นว่า เธอกังวลตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียน เพราะนักเรียนหลายคนในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของเธอ ซึ่งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อและเป็นพาหะของโรคพอๆ กับผู้ใหญ่ ต่างเป็นสมาชิกกลุ่ม ‘ปฏิเสธไม่สวมหน้ากากอนามัย’ (non-mask wearers) เพราะคิดว่าโรคระบาดนี้เป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดหรือโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีมูล

สำหรับโรเบิร์ตส์ที่สมาชิกครอบครัวติดเชื้อพร้อมกันถึงสามคนและหนึ่งในนั้นต้องจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ การถูกล้อเลียนและดูแคลนความกังวลในโรงเรียนนั้นเจ็บปวดอย่างยิ่ง 

ยิ่งกว่านั้น การอนุญาตให้นักเรียนมาโรงเรียน 2-3 วันต่อสัปดาห์ยังเป็นการเพิ่มภาระงานของครูอย่างมหาศาล โรเบิร์ตส์และเพื่อนร่วมอาชีพต้องเตรียมการจัดการเรียนรู้ทั้งสำหรับในโรงเรียนและห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะการเรียนรู้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้โรเบิร์ตส์จะเข้าใจว่าการกลับสู่ห้องเรียนจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนหลายคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่ยากจน เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี หรือประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เธอก็ยังต้องการการสนับสนุนที่เหมาะสมและทำให้อุ่นใจเพียงพอจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ  

แต่การสนับสนุนใดเล่าจะเพียงพอ เมื่อแนวทางเว้นระยะห่างที่หลายโรงเรียนนำไปปรับใช้ด้วยความหวังว่าจะเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัยได้กลับถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องว่า “ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง” และบ่อยครั้งก็เป็นอุปสรรคต่อการจัดการศึกษา 

รายงานของเคที โลโบสโก (Katie Lobosco) ใน CNN Politics ชี้ว่าการเว้นระยะห่างหกฟุตในโรงเรียนนั้นสร้างความลำบากอย่างยิ่งให้บุคลากร โดยเฉพาะในโรงเรียนที่ไม่มีพื้นที่เพียงพอหรือสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการบังคับใช้มาตรการนี้ นักเรียนหลายคนต้องอยู่ในห้องเรียนกลางแจ้งซึ่งไม่ใช่บรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ครูต้องปรับเปลี่ยนแผนการจัดการเรียนรู้กันจ้าละหวั่น และปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนก็แทบไม่เกิดขึ้น ในที่สุดหลายโรงเรียนจึงหันกลับไปหามาตรการลดวันเรียน ซึ่งเป็นทางเลือกที่หลายฝ่ายไม่พอใจ บางโรงเรียนปรับลดระยะห่างดังกล่าวเป็นสามฟุต ซึ่งก็ไม่สร้างความเชื่อมั่นให้ครูและผู้ปกครองเช่นกัน สหภาพครูหลายแห่งทั่วสหรัฐอเมริกาจึงปฏิเสธไม่จัดการเรียนการสอนจนกว่าทุกคนในชุมชนจะได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ

ความกังวลดังกล่าวแทบไม่คลี่คลายตลอดปี 2020 และแม้ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดในสหรัฐอเมริกาจะทุเลาลงจนแทบเป็นปกติ บทเรียนและข้อโต้แย้งเหล่านี้ก็ยังควรค่าแก่การศึกษาและปรับใช้ในไทย ซึ่งสถานการณ์การระบาดยังรุนแรง และยังไม่มีทีท่าว่าประชากรส่วนใหญ่จะได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพเร็วๆ นี้

หนึ่งในข้อโต้แย้งที่ควรแก่การพิจารณาคือข้อโต้แย้งอันเผ็ดร้อนของลีอานา เอส. เวน (Leana S. Wen) ใน The Washington Post ที่ว่า “ลองจินตนาการว่าคุณเป็นครูที่ต้องปฏิบัติการสอนในห้องเรียนซึ่งมีระบบระบายอากาศย่ำแย่หลายชั่วโมงต่อวัน การรักษาระยะห่างเป็นไปได้ยาก และยังมีแนวโน้มที่นักเรียนจะเป็นพาหะด้วย การบอกว่าโรงเรียนไม่ได้เป็นสถานที่แพร่เชื้อสำคัญไม่ทำให้คุณสบายใจขึ้นหรอกนะ เมื่อต้องเป็นผู้รับภาระนั้นเสียเอง”

เธอเสริมอย่างน่าสนใจว่ากว่าหนึ่งในสี่ของครูนั้นเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อโควิด-19 จากนักเรียนที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และหลายคนก็มีครอบครัวที่ประกอบด้วยผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อโรคมากที่สุด

เวนเสนออีกเหตุผลหนึ่งของการปิดโรงเรียนที่หลายคนปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือสมมติฐานที่ว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ใช่สถานที่แพร่เชื้อจะ เป็นจริง เฉพาะในโรงเรียนที่ร่ำรวย มีพื้นที่และทรัพยากรเพียงพอจะบังคับใช้มาตรการควบคุมโรค เช่น ปรับปรุงระบบระบายอากาศ จัดหาอ่างล้างมือ สร้างสื่อการเรียนรู้ทางไกลที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ เท่านั้น ขณะที่มาตรการเหล่านี้ไม่อาจบังคับใช้ได้จริงในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีทรัพยากรน้อยกว่า และหากโรงเรียนที่ขาดแคลนเหล่านั้นเป็นสถานที่แพร่เชื้อ ก็เป็นไปได้ที่เชื้อจะแพร่กระจายในชุมชนผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำซึ่งยากจะดำเนินมาตรการควบคุมโรค และจะส่งผลเสียต่อสังคมโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น ตราบที่ไม่สามารถตรวจหาเชื้ออย่างทั่วถึง สม่ำเสมอ และปราศจากค่าใช้จ่าย เวนจึงไม่สนับสนุนให้เปิดโรงเรียน “อาจจะมีการติดเชื้อในโรงเรียนมากกว่าที่พวกเราเห็นก็ได้” เธอกล่าว ซึ่งสมเหตุสมผลไม่น้อย เพราะหลายพื้นที่นับจำนวนผู้ติดเชื้อเฉพาะเมื่อตรวจพบเท่านั้น ไม่มีใครยืนยันได้ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเท่าที่ปรากฏในรายงานข่าวหรือแถลงการณ์ของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ ที่มาของโรคยังซับซ้อนและสืบสาวได้ยาก กระทั่งการติดตามความเคลื่อนไหวย้อนหลังของผู้ติดเชื้อไม่ใช่แนวทางควบคุมโรคที่หลายประเทศเชื่อถืออีกต่อไป ไม่มีใครรับรองได้ว่าผู้ป่วยในสถานที่อื่นๆ ไม่ได้ติดเชื้อจากบุคลากรของโรงเรียนหรือนักเรียนโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง 

ที่น่าตกใจกว่านั้นคือการเปิดเผยว่า ด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง การตีตราของสังคม และมาตรการควบคุมโรคที่จะติดตามมาหลังตรวจพบเชื้อ ทำให้ผู้ปกครองหลายคนเลือกจะไม่พาบุตรหลานไปตรวจหาเชื้อ เพราะไม่ต้องการหยุดงานเพื่อกักเชื้อ หรือเพื่อดูแลเด็กๆ ที่ไปโรงเรียนไม่ได้ ดังนั้น หากหลายคนยังเข้าไม่ถึงวัคซีนที่มีคุณภาพและการตรวจหาเชื้ออย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการต้องกักเชื้อ เวนเห็นว่ามีเพียงนักเรียนที่ประสบปัญหารุนแรงเท่านั้นที่ควรได้รับอนุญาตให้ไปโรงเรียน เพราะความสูญเสียอันเป็นผลจากการดันทุรังเปิดโรงเรียนเป็นความเจ็บปวดที่มองข้ามไม่ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีนักเรียนบางกลุ่มที่เปิดเผยว่าการเรียนรู้ทางไกลและออนไลน์ตอบโจทย์การเรียนรู้ของพวกเขามากกว่าห้องเรียน พวกเขาตื่นตัว มีความรับผิดชอบ และควบคุมการเรียนรู้ของตนได้มากกว่า ซึ่งชี้ให้เห็นปัญหาที่อยู่ลึกลงไปในการจัดการศึกษา นั่นคือตลอดเวลาที่ผ่านมา โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดโอกาสให้บุคลิกภาพและแนวทางการเรียนรู้ที่หลากหลายได้แบ่งบาน จึงกล่าวได้ว่าปัญหานี้เรียกร้องการยกเครื่องระบบการศึกษาทั่วโลกแม้หลังจากการระบาดสิ้นสุดลงอย่างถาวรแล้ว เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป 

YouTube video
ครูในชิคาโกประท้วงไม่กลับไปปฏิบัติการสอน หากไม่ได้รับวัคซีน

ดูเหมือนจะไม่มีหนทางต่อกรกับทั้งเสือและจระเข้ที่แน่นอน แต่ละคนและแต่ละประเทศมีแต่ต้องเลือกทางที่สอดคล้องกับเงื่อนไขและความต้องการของตนมากที่สุด กระนั้น ข้อถกเถียงที่จะเป็นมติเอกฉันท์ในสังคมหนึ่งๆ ได้ย่อมอาศัยการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อรวบรวมข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรการควบคุมโรค ตลอดจนการใช้ข้อมูลเหล่านั้นอย่างระมัดระวัง พร้อมให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมและทันท่วงที เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการดังกล่าวดำเนินไปอย่างราบรื่น และบรรลุเป้าหมายที่พึงเป็น 

การเรียนรู้ที่ตกหล่น ภาวะทุพโภชนาการ และสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ของเด็กๆ เป็นแนวโน้มน่าพรั่นพรึงที่ทำให้หลายประเทศไม่อาจปิดโรงเรียนต่อไปได้ ในทางกลับกัน สถานการณ์การระบาดที่รุนแรง การต้องพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก และความเสียหายระยะยาวต่อระบบสาธารณสุขก็เป็นความเสี่ยงที่ต้องแบกรับหากตัดสินใจเปิดโรงเรียนโดยปราศจากมาตรการเยียวยาที่สมเหตุสมผล เพื่อประคับประคองสถานการณ์การระบาดพร้อมกับที่ทำนุบำรุงพัฒนาการของเยาวชน 

หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ผลพวงของการตัดสินใจเปิดหรือปิดโรงเรียนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการระบาดที่ทวีความรุนแรงด้วยมาตรการผ่อนคลายที่ไร้แนวปฏิบัติและทรัพยากรเพื่อการควบคุมโรค หรือปัญหาการเรียนรู้และพัฒนาการบกพร่องจากความพยายามควบคุมโรคที่ไร้แนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งยังขาดการอัดฉีดงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด โรงเรียนจึงไม่อาจถูกละเลยให้เป็นผู้เผชิญปัญหา รับมือกับความขุ่นเคืองและสับสนของผู้ปกครอง โอบอุ้มและช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หรือจัดหาสาธารณูปโภคเพื่อการควบคุมโรคเพียงลำพัง 

ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบังคับใช้มาตรการโดยประสานความร่วมมือกับสถานศึกษา เพื่อแบ่งเบาภาระที่โรงเรียนเหล่านั้นไม่อาจแบกรับได้ด้วยตนเอง เพื่อให้การตัดสินใจนั้นๆ เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ สอดส่องความเป็นอยู่ของเด็กๆ และให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม สนับสนุนครูให้สามารถจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงสาธารณูปโภคเพื่อส่งเสริมสุขอนามัย ตรวจหาเชื้ออย่างสม่ำเสมอ รวมถึงจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพและปราศจากค่าใช้จ่าย เพราะการถูกทอดทิ้งให้หาหนทางมีชีวิตรอดในสถานการณ์เช่นนี้เพียงลำพังไม่เคยนำไปสู่ชัยชนะอันยั่งยืนในการควบคุมโรค จุดอ่อนเพียงจุดเดียวก็เพียงพอให้โรคอุบัติใหม่ที่ติดต่อระหว่างคนสู่คนได้ง่ายลุกลามเป็นวงกว้าง

ไม่ว่าจะเลือกปีศาจตนใด เสือหรืออสุรกายใต้น้ำ ไม่มีใครฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปได้โดยเดียวดาย และโดยไร้อาวุธที่จะใช้ต่อกร

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save