fbpx

School of the Poetic City : ค่ายฤดูร้อนที่ชวนเด็กๆ เรียนรู้การเป็นเจ้าของเมืองที่เขาอยู่ 

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคนผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

ความทรงจำในปิดเทอมฤดูร้อนของคุณเป็นอย่างไร? เรียนพิเศษ ปั่นจักรยานกับแก๊งในซอย ไปอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัด เล่นเกมเดิมจนน็อคแล้วน็อคอีก อ่านการ์ตูนจบไปหลายต่อหลายเรื่อง ฯลฯ ถ้าใช่ ปิดเทอมฤดูร้อนของคุณคงคล้ายกับเด็กอีกหลายคน แต่ปิดเทอมฤดูร้อนของเด็กๆ ที่เมืองเดนเวอร์กลับต่างออกไป และไม่มากก็น้อย เราเชื่อว่ามันเป็นปิดเทอมฤดูร้อนที่หลายคนใฝ่ฝันอยากมี

‘School of the Poetic City’ คือชื่อค่ายฤดูร้อนเล็กๆ สำหรับเด็กอายุ 5-15 ปี ที่เมืองเดนเวอร์ สหรัฐอเมริกา จัดขึ้นโดย Anne และ Peter Thulson สองสามีภรรยาที่ด้านหนึ่งของชีวิตเป็นครูเด็กเล็ก และอีกด้านหนึ่งเป็นศิลปินควบคู่กันไป ทุกปีค่ายแห่งนี้จะรับสมัครเด็กหลากหลายวัยที่สมัครใจผละจากจอยสติ๊กเกมที่บ้านมาทำกิจกรรมร่วมกันในเมือง (ค่ายนี้นิยามตัวเองว่าเป็น Urban Camp) ด้วยโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้เด็กๆ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เห็นความสำคัญของตัวเองในฐานะพลเมือง และรู้จักเมืองเดนเวอร์ที่พวกเขาอยู่ในมุมที่ลึกซึ้งมากขึ้น มากกว่าแค่เรียกชื่อถนนถูก ท่องชื่อบุคคลสำคัญ หรือจำชื่อนายกเทศมนตรีคนปัจจุบันได้ ฟังดูเป็นโจทย์ที่ใหญ่และท้าทายโดยเฉพาะเมื่อกลุ่มเป้าหมายเป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจพอๆ กับเนื้อหาก็คือ ‘เครื่องมือ’ ที่เขามอบให้เด็กในค่ายใช้สำรวจ ตั้งคำถาม และเรียนรู้

เครื่องมือนั้นคือ ‘ศิลปะ’

ตลอดหนึ่งสัปดาห์กว่าๆ ของค่าย Anne และ Peter เริ่มด้วยการพาเด็กทัวร์พิพิธภัณฑ์และแกลอรีศิลปะประจำเมืองเพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจ จากนั้นต่อด้วยการเดินในย่านเมือง แต่ละวันพวกเขาจะเริ่มต้นด้วยหัวข้อเกี่ยวกับเมืองที่แตกต่างกันไป เช่น ความรู้สึกที่มีต่อเมือง, การเป็นส่วนหนึ่งของเมือง, การบันทึกเรื่องราวของเมือง, การพัฒนาเมือง ฯลฯ แต่ละหัวข้อดูหนักและยากสำหรับเด็กไม่เบา แต่ด้วยรูปแบบที่ใช้ศิลปะสร้างการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ โดยทุกวันเด็กแต่ละคนจะต้องทำงานศิลปะหนึ่งชิ้นเพื่อเรียนรู้ในหัวข้อนั้นๆ จากการเรียนที่ดูซีเรียสจึงเปลี่ยนกลายเป็นความสนุกสนาน

กิจกรรมเปิดค่ายดูจะท้าทายที่สุด เพราะต้องทำให้เด็กทั้งรู้จักกันเอง รู้จักเมืองในมุมใหม่ และรู้จักศิลปะไปพร้อมๆ กัน สำหรับกิจกรรมแรกอย่าง ‘Your Hidden Name’ ครูทั้งสองให้เด็กๆ เริ่มต้นด้วยเรื่องใกล้ตัวอย่าง ชื่อของตัวเอง โดยให้ทุกคนออกไปสำรวจว่าตัวอักษรในชื่อของเรานั้นซ่อนอยู่ตรงไหนของเมืองบ้าง เจ้าหนูที่ชื่อ Landon อาจเจอตัว L บนป้ายหน้าสำนักงานเขต ตัว A จากป้ายร้านเบเกอรี่ และตัว D จากตัวอักษรบนฝาท่อระบายน้ำ จากนั้นใช้กระดาษทาบและนำสีเทียนไปฝนเพื่อลอกลายตัวอักษรในชื่อให้ครบทุกตัว 

กิจกรรมนี้นอกจากทำให้เด็กๆ ได้กลับมามองเมืองที่คุ้นเคยด้วยสายตาช่างสังเกตมากขึ้นแล้ว ยังได้รู้จักวิธีการพื้นฐานที่สุดของศิลปะอย่างการสร้างร่องรอย

กิจกรรมต่อมาอย่าง ‘Art That Disappear’ ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปินสตรีทอาร์ต Ellis Gallagher ที่สร้างงานศิลปะด้วยการวาดเงาของสิ่งต่างๆ Anne และ Peter จึงให้เด็กๆ สร้างสตรีทอาร์ตของตัวเองบ้าง โดยพากันถือสีชอล์กออกไประบายรูปทรงของเงาที่ตัวเองสนใจ นอกจากได้สังเกตเมืองมากขึ้นและลองสร้างสรรค์งานศิลปะลงบนเมืองในรูปแบบที่ลบออกได้แล้ว เด็กๆ ยังได้เรียนรู้อีกว่า จริงๆ แล้วโลกใบนี้หมุนเร็วและทำให้ทิศทางของแดดเปลี่ยนไวกว่าที่เราคิด

ครูผู้นำค่ายพาเด็กๆ สังเกตเมืองในระดับที่เล็กและลึกลงไปอีกผ่านกิจกรรม ‘Make a Tiny World’ ด้วยการเดินออกไปสำรวจซอกหลืบเล็กๆ ในเมืองพร้อมตุ๊กตาคนตัวจิ๋ว ถ้าเห็นมุมไหนน่าสนใจ ก็ลองสร้างมันให้กลายเป็นโลกใบจิ๋วด้วยการเอาคนจิ๋วไปวาง พร้อมถ่ายรูปโลกในแบบของตัวเองมาแชร์กัน

หลังจากให้ศิลปะเป็นตัวกลางพาเด็กๆ ไปสังเกตและทำความรู้จักเมืองกันใหม่ ก็ต่อด้วยกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อให้พวกเขาใช้ศิลปะเรียนรู้การเป็นส่วนหนึ่งและสิทธิความเป็นเจ้าของเมือง โดยบางกิจกรรมก็ต่อยอดมาจากเรื่องที่เด็กๆ ได้เรียนรู้จากในพิพิธภัณฑ์ เช่น ประวัติศาสตร์ของกลุ่ม Situationist ในฝรั่งเศสช่วงปี 1957 ที่ไม่พอใจชีวิตในเมืองภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมซึ่งพยายามจะออกคำสั่งหรือบีบบังคับให้คนในเมืองต้องทำตาม ตั้งแต่สัญญาณจราจรที่กำหนดให้เราเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา หรือหยุด, ป้ายต่างๆ ที่บอกว่าเราต้องทำอะไร ไปจนถึงโฆษณาเชียร์ให้เราต้องซื้อสินค้า กลุ่มคนเหล่านี้จึงปลดแอกตัวเองด้วยการเดินออกไปในเมืองและทำสิ่งต่างๆ โดยไม่ตามกฎและไม่มีเหตุผล เช่น อยู่ดีๆ อาจจะลงไปนั่ง หรือกินอาหารในร้านแล้วจู่ๆ ก็ลงไปนอน

ในวันที่เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องนี้ Anne และ Peter ก็ต่อยอดมาเป็นกิจกรรมที่ชื่อ ‘Situate Yourself in the City’ ให้เด็กๆ ลองไปเดินเล่นในเมือง แล้วเมื่อไหร่ที่รู้สึกอยากทำอะไร หรือเอาตัวเองไปไว้ตรงไหน ก็ทำ! ไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ต้องมีคำอธิบาย หรือจะคิดซะว่าสร้าง Performance art ในแบบของตัวเองก็ได้ ขอแค่ไม่เจ็บตัวและไม่รบกวนคนอื่นเป็นพอ ใครทำแล้วอยากถ่ายรูปเก็บไว้ก็ตามใจ 

ผลลัพธ์คือเด็กๆ เอารูปกลับมาฝากมากมาย มีทั้งเอาตัวเองไปยัดอยู่ในซอกตึกด้วยท่าตลกๆ, ขึ้นไปแพลงก์บนป้าย, ลงนอนใต้กระถางต้นไม้ หรือทำท่าเลียนแบบงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ใต้ความโปกฮาของกิจกรรมคือเรื่องสิทธิเสรีภาพในฐานะพลเมือง พวกหนูทุกคนสามารถทำอะไรก็ได้ในเมือง ตราบใดที่ไม่เดือดร้อนชาวบ้าน

‘เด็กคือวัยที่ถูกประเมินซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่สอบเข้าจนถึงการตัดเกรดและให้คะแนนจิตพิสัยปลายเทอม จะเป็นอย่างไรถ้าพวกเขาได้มีโอกาสเป็นผู้ประเมินสิ่งต่างๆ รอบตัวบ้าง’ คือโจทย์ในกิจกรรม ‘Assessing the city’ Anne และ Peter เปิดโอกาสให้เด็กได้มอบรางวัลให้กับสิ่งต่างๆ ในเมืองและสร้างสรรค์ป้ายรางวัลไปแปะให้สิ่งนั้น มีทั้งรางวัลยอดเยี่ยมอย่าง ‘รางวัลเนินเขาที่เย็นสบายเป็นอันดับหนึ่ง’ หรือรางวัลยอดแย่อย่าง ‘ถังขยะที่เหม็นที่สุด’, ‘ทางม้าลายที่รอนานได้โล่’ ไปจนถึงรางวัลที่ไม่แน่ใจว่าดีหรือแย่ เช่น ‘(ตึก) เสาเยอะที่สุด’ หรือ ‘อนุสาวรีย์เศร้าที่หนึ่ง’

นอกจากการออกความคิดเห็นที่มีต่อเมือง สิทธิในการออกไอเดียเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเมืองให้ดีขึ้นก็เป็นพื้นฐานสำคัญที่เด็กๆ ควรเรียนรู้และเข้าใจ กิจกรรมที่ต่อเนื่องกันอย่าง ‘Reimaging a Place’ ออกแบบมาเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่า “เธอน่ะ สามารถจินตนาการถึงเมืองที่ดีกว่านี้ได้นะ” ด้วยการให้เด็กเลือกจุดของเมืองที่ตัวเองอยากทำอะไรบางอย่างกับมัน ครูจะถ่ายรูปและนำไปปรินท์ให้ จากนั้นก็ให้หนูๆ ละเลงสร้างสรรค์ได้ตามใจ อยากเปลี่ยนสีตึก อยากเพิ่มต้นไม้ อยากให้มีสวน หรืออยากเห็นเมืองเป็นแบบไหนก็ลองวาดมันออกมา ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะนำภาพกลับไป ณ สถานที่ตั้งต้นเพื่อแชร์จินตนาการของแต่ละคน

กิจกรรมช่วงท้ายอย่าง ‘Leave Me a Message’ พวกเขาให้เด็กๆ ออกแบบป้ายพร้อมข้อความที่อยากฝากให้ใครบางคนในเมือง หรือแม้กระทั่งฝากให้เมืองที่ตัวเองอยู่ และนำไปแขวนไว้ในที่ที่เหมาะสม ข้อความมีทั้งแบบซื่อๆ และน่ารัก เช่น “อย่าเปิด, ขอบคุณ” แขวนที่ประตูตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าและระบบประปาสาธารณะ หรือข้อความที่น่าจะซึ้งกินใจคนที่ผ่านมาอ่าน อย่าง “ฉันขอให้คุณมีชีวิตที่มีความสุขและยาวนาน” , “จงเมตตา เป็นอิสระ และมีความรัก”

นอกจากกิจกรรมศิลปะเพื่อเรียนรู้เมืองและเรียนรู้ตัวเองเหล่านี้ ตลอดช่วงเวลาของค่าย เด็กทุกคนจะได้รับมอบหมายให้จดบันทึกประจำวันในรูปแบบของการวาดหรือเขียน เพื่อที่พวกเขาจะได้มีช่องทางในการปฏิสัมพันธ์และสำรวจเมืองมากไปกว่าแค่ใช้ตามอง และในตอนสุดท้าย ทุกคนจะได้มีโอกาสตั้งโจทย์ของตัวเองและทำงานศิลปะตามโจทย์นั้นเป็นอันจบท้าย

ผมรู้จักค่ายศิลปะของ Anne และ Peter Thulson เป็นครั้งแรกจากหนังสือ Wicked Arts Assignments: Practising Creativity in Contemporary Arts Education หลังอ่านจบพบว่า การจะออกแบบห้องเรียนที่สนุกขนาดนี้ได้ มีแค่ไอเดียดีอย่างเดียวไม่พอ แต่เมืองเองต้องเอื้อด้วย หมายความว่ามันต้องเป็นเมืองที่ผู้คนเป็นเจ้าของจริงๆ มีพื้นที่สาธารณะ ประชาชนมีอิสระที่จะเล่นสนุกกับเมืองได้

ลองนึกภาพว่าค่ายศิลปะนี้มาจัดในเมืองที่เต็มไปด้วยห้างทุกตารางนิ้วแปะชื่อมีเจ้าของ และมีพื้นที่สาธารณะอย่างสวนอยู่แค่กระจึ๋งเดียวอย่างบ้านเรา มันคงไม่สนุกแบบนี้ หรือไม่ก็อาจจะท้าทายไปอีกแบบ สำหรับบ้านเรา ‘ม็อบ’ อาจจะเป็นแบบฝึกหัดในการเรียนรู้การเป็นส่วนหนึ่งและความเป็นเจ้าของเมืองที่ดีไม่น้อย ทุกครั้งที่มีม็อบเชื่อว่าทุกคนจะได้เรียนรู้ว่าเราทำอะไรต่อมิอะไรกับเมืองได้หลายอย่างมากกว่าที่เคยคิด จะผิดหรือถูกบ้างในบางที แต่ขึ้นชื่อว่าแบบฝึกหัด ทั้งหมดล้วนเป็นการเรียนรู้ร่วมกันในระยะยาว เพราะโรงเรียนของเราก็ไม่เคยสอนเรื่องนี้เสียด้วย

ฤดูร้อนในเดนเวอร์พ้นผ่าน สีชอล์กที่เด็กแต่งแต้มเมืองคงค่อยๆ เลือนหาย ป้ายรางวัลที่พวกเขามอบให้ตึกราม ถนนหนทางและถังขยะคงหลุดไปแล้ว จินตนาการที่ต่อเติมภาพเมืองเป็นเพียงของที่ระลึกให้พวกเขาเก็บกลับบ้าน ข้อความที่ตัวจิ๋วฝากไว้กับเมืองคงถูกใครบางคนอ่านและหายไปตามกาลเวลา ค่ายฤดูร้อนแห่งนี้ไม่ได้ฝากอะไรไว้กับเมือง มันเพียงฝากความเป็นพลเมืองและความรู้สึกเป็นเจ้าของไว้ในตัวเด็กที่จะกลายเป็นอนาคตของเมืองแห่งนี้ และสิ่งนี้จะติดตัวพวกเขาตลอดไป ไม่ว่าฤดูร้อนจะเวียนกลับมาและผ่านไปอีกกี่ครั้งก็ตาม

อ้างอิง :

Wicked Arts Assignments: Practising Creativity in Contemporary Arts Education

ANNE THULSON – SCHOOL OF THE POETIC CITY

School of the Poetic City – NO CAMPS THIS YEAR

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save