fbpx
ผี เรื่องผี อดีต ความทรงจำและการหลอกหลอนในโรงเรียนผีดุ

ผี เรื่องผี อดีต ความทรงจำและการหลอกหลอนในโรงเรียนผีดุ

ความตั้งใจอย่างหนึ่งของผมสำหรับการเขียนถึงหนังสือหนังหาในปีนี้ คือผมพยายามจะหาอ่านวรรณกรรมหลากหลายแนวมากขึ้น โดยเฉพาะแนวที่ตัวเองไม่คุ้นเคยหรือมีประสบการณ์ในการอ่านน้อยมากๆ เพื่อศึกษาและหาความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมแนวต่างๆ ให้มากขึ้น ตัวผมเองนั้นยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าประสบการณ์ในการอ่านวรรณกรรมแนวอื่นๆ ที่ไม่ใช่แนวสังคม-การเมืองนั้นน้อยเหลือเกิน จนมาในระยะหลัง ผมพยายามจะค้นหาว่าวรรณกรรมไทยร่วมสมัยนั้นหน้าตาเป็นอย่างไรบ้างโดยเฉพาะวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมหรือกล่าวให้ละเอียดกว่านั้นคือวรรณกรรมไทยร่วมสมัยในวัฒนธรรมประชานิยม ผมพยายามอ่านวรรณกรรมแนวนี้แล้วเอามาคิดต่อว่ามันพาผมไปไหนได้บ้างในจักรวาลของวรรณกรรมอันไพศาลแห่งนี้

วรรณกรรมผีหรือแนวสยองขวัญเป็นอีกแนวที่ผมมีประสบการณ์ไม่มากนัก ผมไม่ค่อยได้อ่านวรรณกรรมแนวนี้ โดยมากมักจะดูภาพยนตร์หรือซีรีส์ในเน็ตฟลิกซ์มากกว่า ประกอบกับเหมือนผมจะเคยเห็นว่ามีมิตรสหายท่านหนึ่งของผมในเฟซบุ๊กเป็นนักเขียนที่เขียนเรื่องผีและมีผลงานรวมเล่มออกมาแล้ว ผมไม่รอช้าพยายามตามหาผลงานของเธอมาอ่านทันที 

‘โรงเรียนผีดุ’ ผลงานของ นทธี ศศิวิมล ผมเข้าใจว่าเล่มนี้เป็นรวมเรื่องสั้นชุดหลังต่อจาก ‘โรงเรียนผีหลอก’ ที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้และน่าจะเป็นชุดเรื่องสั้นผีเกี่ยวกับโรงเรียนของนทธีเองด้วย นทธีมีผลงานเกี่ยวกับเรื่องผีมากมาย หนึ่งผลงานที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือการ์ตูนความรู้วรรณกรรมเรื่องผีๆ ซึ่งเธอมีผลงานออกมาถึงสามเล่ม คือ ผีสี่ภาค ผีหลังห้อง ผีโรงแรม สำหรับนักวิชาการทางด้านวรรณกรรมที่สนใจวรรณกรรมผี ผมคิดว่างานของนทธี ศศิวิมลนั้นควรค่าแก่การศึกษาในเชิงวิชาการมากๆ ในฐานะของการจำแนกแยกแยะประเภทของผีในสังคมไทย 

โรงเรียนผีดุ : โครงสร้างและวิธีการ

ผมเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับเรื่องผี ไม่ว่าจะเป็นการฟังวิทยุ ดูรายการผี อ่านเรื่องผีตามนิตยสารผี อ่านวรรณกรรมผี หรือเบื้องต้นที่สุดก็คือการนั่งล้อมวงคุยเล่าเรื่องผี น่าสนใจว่าประสบการณ์เกี่ยววัฒนธรรมเรื่องผีของคนไทยนั้นล้วนแต่เป็นความทรงจำในวัยเด็กเกือบทั้งสิ้น ในแง่หนึ่งเราอาจเข้าใจได้ว่าเรื่องผีนั้นตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของวัยเด็กที่อยากหาคำตอบว่านอกจากโลกที่เรามีชีวิตอยู่นี้แล้ว ยังมีโลกแบบอื่นๆ ดำรงอยู่ด้วยหรือไม่ และดำรงอยู่อย่างไร

หลังจากที่ได้อ่าน ‘โรงเรียนผีดุ’ ของนทธี ผมมีความรู้สึกว่ากำลังย้อนเวลากลับไปในความทรงจำสมัยเรียนที่ผมและเพื่อนๆ ชอบล้อมวงนั่งเล่าเรื่องผีกัน ผมคิดว่าในวัยเรียนของใครหลายคน เรื่องผีเป็นสิ่งที่เล่ากันในทุกที่ ทุกเวลา เช่นครั้งหนึ่งสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมไปออกค่ายอาสา ก็ต้องนั่งล้อมวงคุยเล่าเรื่องผีอยู่ทุกๆ ปี และเรื่องก็จะซ้ำๆ วนไปอยู่ไม่กี่เรื่อง จนกลายเป็นโจ๊กที่พวกผมพูดกันเสมอคือ “สรุปว่า โรงเรียนที่เรามาสร้างห้องสมุดนั้นเป็นโรงเรียนร้าง ไม่มีนักเรียน ไม่มีครู ไม่มีชาวบ้าน เป็นหมู่บ้านร้าง เรามาอยู่กับผี” โครงเรื่องลักษณะนี้ดูจะเป็นที่นิยมเพราะใน ‘โรงเรียนผีดุ’ ก็มีเรื่องทำนองนี้อยู่ไม่น้อย

เรื่องสั้นแต่ละเรื่องในเล่มมีขนาดที่สั้นสมกับชื่อเรื่องสั้น (บางเรื่องมีแค่สามหน้า) ทุกๆ เรื่องต่างมีลักษณะเหมือนกับเป็นเรื่องเล่าแบบมุขปาฐะสั้นๆ ทำนองว่ากำลังนั่งล้อมวงเล่าเรื่องผีกันเหมือนกับในสมัยมัธยม เรื่องที่เล่าต้องไม่ยาวมาก มีความน่ากลัวจากทั้งผี บรรยากาศในเรื่อง และพยายามดึงอารมณ์ของความกลัวออกมาให้ได้มากที่สุดในช่วงเวลาที่สั้นที่สุด จนทำให้ผมนึกถึงเรื่องผีที่อยู่ในหนังสือขายหัวเราะ มหาสนุก หรือนิตยสารผีเรื่องลี้ลับ อะไรทำนองนั้น คือเรื่องต้องไม่ยาว เน้นผี เน้นน่ากลัว และสื่อสารให้ชัดๆ ไปเลยว่านี่คือเรื่องผี และเป็นผีแบบไหนบ้าง

ด้านโครงสร้างของแต่ละเรื่องมีรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจน คือมีตัวละครเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีประวัติคนตาย หรือมีเหตุให้ต้องเกี่ยวข้องกับคนที่ตายไปแล้ว จากนั้นก็จะเจอผี ก่อนที่เรื่องจะเฉลยว่าผีในแต่ละเรื่องนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร สำหรับวิธีการเล่า โดยมากจะให้ตัวละครเป็นผู้เล่าเอง ผู้อ่านจะได้รับรู้เรื่องไปพร้อมๆ กับตัวละคร และเมื่อเจอผีแล้วก็จะได้รับรู้ความเป็นมาของผีเช่นเดียวกัน แต่น้ำเสียงของการเล่านั้นดูให้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนมีเพื่อนที่เจอผีแล้วมานั่งเล่าให้เราฟังมากกว่า

เรื่องผีกับวัฒนธรรมประชานิยม

เรื่องผีเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน แรกเริ่มนั้นผีปรากฏตัวในฐานะศาสนาหนึ่งของผู้คน ไม่เพียงเฉพาะในสังคมไทยแต่ยังครอบคลุมไปทั่วกลุ่มชนในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สุจิตต์ วงษ์เทศ มักใช้คำว่า ‘อุษาคเนย์’ ) จากนั้นเรื่องผีก็ถูกพัฒนากลายเป็นเรื่องเล่าและมีหน้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งเครื่องมือกำกับสังคมผ่านความเชื่อ เรื่องเล่าที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ฟัง จนกระทั่งวัฒนธรรมลายลักษณ์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสังคมไทย ด้วยเหตุนี้การเขียนวรรณกรรมเรื่องผีจึงเริ่มแพร่หลายมากขึ้น 

ในปัจจุบันเรื่องผีอยู่ในกระแสวัฒนธรรมป็อบหรือวัฒนธรรมประชานิยม อยู่ในสื่อทุกประเภทและอยู่ในทุกกระแส และได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมไทย เหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจไม่ใช่เพียงเพราะคนต้องการเสพความกลัวหรือเห็นความกลัวเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่ง แต่เรื่องผีสามารถอธิบายได้ถึงเรื่องการดำรงอยู่ของโลกอีกแบบหนึ่งที่คู่ขนานไปกับโลกที่เรามีชีวิตอยู่นี้ โลกลี้ลับที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ 

ในเรื่อง ‘รัตติกาลหน้าผี’ รัตติกาลคือเด็กหญิงที่หน้าตาสวยงามมากคนหนึ่งแต่ถูกสาดด้วยน้ำมันเบนซินและจุดไฟเผา ด้วยความเครียดเธอจึงฆ่าตัวตาย แต่วิญญาณของรัตติกาลยังคงวนเวียนอยู่ในโรงเรียนผ่านการสิงสู่อยู่ในกระจกทุกบาน เด็กหญิงคนไหนหน้าตาสวย เธอจะพยายามทำให้เด็กสาวเหล่านั้นเรียกชื่อเป็นทำนองว่า “รัตติ…รัตติกาล…รัตติกาลคนดี รัตติ…รัตติกาล…รัตติกาลหน้าผี” (หน้า 160) จากนั้นรัตติกาลก็จะปรากฏใบหน้าเหวอะหวะขึ้นมาในกระจกและเอาชีวิตผู้ที่ได้เห็นไปอยู่ด้วยกันในอีกภพ

อย่างไรก็ตาม รัตติกาลก็กลายเป็นวัฒนธรรมป็อบ เมื่อมีคนทำหน้ากากรัตติกาลมาใส่ในวันฮาโลวีน เพียงอรกังวลในเรื่องนี้มากๆ เพราะเธอกลัวว่าจะพูดคำสาปนี้ออกไป ด้วยความอยากเอาชนะความกลัวของตัวเอง เพียงอรจึงพูดออกมา หลังจากนั้น เพียงอรก็สลับร่างกับรัตติกาลและไปอยู่ในกระจกแทนรัตติกาลตลอดไป

ประเด็นที่ผมสนใจคือการทำหน้ากากผีรัตติกาลมาใส่ในวันฮาโลวีน นี่คือการทำให้เรื่องผีที่เป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่าสยองขวัญกลายเป็นเรื่องป็อบหรือเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ เหมือนกับตำนานเรื่องแม่นาคที่ถูกผลิตซ้ำในฐานะวัฒนธรรมมวลชนมาหลายครั้งในหลายสื่อ ซึ่งแต่ละครั้งก็มีความแตกต่างกันไป ในแง่หนึ่งผมคิดว่าเรื่องผีในลักษณะนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวเพื่อทำให้เรื่องราวยังคงอยู่ได้ มีการพูดถึงและถูกยอมรับในแต่ละช่วงเวลาที่อาจแตกต่างกันจนส่งผลต่อการตีความ 

เรื่องผีและเทคโนโลยีสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม เรื่องผีก็มีพัฒนาการในตัวเองอยู่ตลอดเวลา แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือมีเทคโนโลยีและพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์สูงเพียงใด ผีก็ยังคงเป็นสิ่งที่ไหลลื่นและกลมกลืนไปกับเทคโนโลยีเหล่านั้นได้อย่างไม่ขัดเขิน ดังจะเห็นได้ว่า ในสังคมไทยเรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีที่มาพร้อมกับอุปกรณ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่มากมาย เช่น ผีช่องแอร์ ผีฉายหนัง ผีที่สามารถส่งข้อความทางมือถือได้ หรือแม้กระทั่งผีที่อยู่ในคณะวิทยาศาสตร์

เรื่องผีในสังคมไทยจึงไม่เคยแปลกแยกไปจากพัฒนาการของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเลย

ในบางเรื่อง เช่น  ‘ผีตึกเก่า’, ‘รับจ้างพิสูจน์ผี’ ‘เสียงสยอง’ เราจะเห็นการปรากฏตัวของผีในเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเช่นปรากฏอยู่ในกล้องวงจรปิด (ผีตึกเก่า, รับจ้างพิสูจน์ผี) และอยู่ในแอปพลิเคชั่นนิยายออนไลน์ในมือถือ (เสียงสยอง) แม้ว่าโลกของผีกับโลกของเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์จะดูขัดแย้งกันเพียงใด แต่เรื่องผีของนทธีได้แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นที่ทั้งสองโลกจะต้องขัดแย้งกัน ในทางตรงกันข้ามยังช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันอีกด้วย กล่าวคือเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยทำให้การปรากฏตัวของผีมีความชัดเจนและปรากฏตัวได้ง่ายขึ้น

ผู้หญิงกับผีและประวัติศาสตร์สังคม

อีกประเด็นที่ผมสนใจเกี่ยวกับเรื่องผีๆ คือประเด็นผู้หญิงกับผีไทย ในขนบของการเล่าเรื่องผีไทยนั้น ผมคิดว่าเราเจอผีผู้ชายน้อยมากๆ เมื่อเปรียบเทียบกัน ผีโดยมากมักจะเป็น ‘ผู้หญิง’ และต้องเป็น ‘ผู้หญิงผมยาว’ อีกด้วย ยังไม่นับว่ามักจะมาในชุดไทยบ้าง ชุดขาวบ้าง คำถามที่สำคัญคือ ทำไมผีในเรื่องเล่ามักจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย? 

ในเบื้องต้นที่สุด ผมสันนิษฐานว่าเป็นเพราะสังคมไทยมีพื้นฐานมาจากศาสนาผีมากกว่าพุทธ ศาสนาผีนั้นให้ความสำคัญกับผู้หญิงมาก พื้นฐานทางสังคมก่อนหน้าที่จะรับเอาอิทธิพลศาสนาพราหมณ์และพุทธเข้ามาก็สืบสายสกุลทางผู้หญิงทั้งสิ้น สถานะของผู้หญิงจึงสูงกว่าผู้ชายในยุคที่ศาสนาผีมีความสำคัญในสังคม นอกจากนี้ศาสนาผียังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติกับผู้หญิงมีคุณลักษณะบางอย่างที่เหมือนกัน คือสถานะของการเป็นผู้ให้กำเนิด

ผู้หญิง ผี และธรรมชาติ จึงเป็นสามสิ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมายาวนาน ก่อนอิทธิพลจากศาสนาอื่นๆ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคม

ในเรื่องสั้นทั้งหมด 35 เรื่องของ ‘โรงเรียนผีดุ’ ผีที่ปรากฏส่วนใหญ่ก็เป็นผีผู้หญิงเช่นกัน มีเพียงไม่กี่เรื่องที่เป็นผีผู้ชาย เช่น ‘ผีต้นมะขามที่ระเบียงหลังห้อง’ ที่เป็นผีเด็กผู้ชายปีนต้นมะขามจะเข้ามาขโมยของในโรงเรียน แต่พลัดตกลงมาก่อนและวิญญาณติดอยู่ที่ต้นมะขามแห่งนั้นไปไหนไม่ได้, ‘เสียงกระพรวนกับรอยเท้าในห้องสมุด’ เป็นผีกุมารทอง, ‘เพื่อนรักสุดหลอน’ เป็นผีผู้ชายที่เป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งโดดตึกตาย อีกคนหนึ่งไม่รู้ว่าเพื่อนตายไปแล้วและยังไม่รู้อีกด้วยว่าตนเองก็ตายเหมือนกัน

ประเด็นที่น่าขบคิดต่อ คือบรรดาผีผู้หญิงเกือบทั้งหมดนั้น ตัวเรื่องให้ข้อมูลว่า ก่อนตายพวกเธอล้วนแต่ประสบเหตุที่ไม่ดีทั้งสิ้น ซึ่งผมคิดว่าการปรากฏตัวของผีคือการปรากฏตัวของอดีตอันขมขื่นหรือเป็นบาดแผล (trauma) ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงแต่ละคน การดำรงอยู่ของผีผู้หญิงจึงอาจหมายถึงการดำรงอยู่ของสิ่งที่ตกค้างจากอดีตและไม่มีทางที่จะก้าวข้ามไปได้ ต้องวนเวียนอยู่เหตุการณ์และสถานที่นั้นๆ อยู่ร่ำไป 

ผี อดีต ความทรงจำ และการหลอกหลอนจากอดีต

นอกจากนี้หากพิจารณาถึงการปรากฏตัวของผี เราอาจกล่าวได้ว่า ผีคือสิ่งที่ปรากฏในการไม่ปรากฏ (presence in absence) เพราะผีคือการดำรงอยู่ของสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่จริงบนโลก (อย่างน้อยก็ในความคิดแบบวิทยาศาสตร์)

ในโลกทางกายภาพ เราไม่อาจเห็นผีเหมือนกับเห็นมนุษย์ทั่วไป ผีในเรื่องเล่าปรากฏตัวในบางครั้งบางคราวเท่านั้น และไม่ได้ดำรงอยู่อย่างถาวร ดังนั้น การดำรงอยู่ของผีคือการรบกวนการรับรู้เรื่องการดำรงอยู่ของมนุษย์ คือสิ่งที่ผิดปกติในชีวิตและที่สำคัญ มันสามารถขับเคลื่อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม 

การปรากฏตัวของผีในปัจจุบันย่อมมาพร้อมกับการปรากฏตัวของอดีต เหตุการณ์ในอดีต และสถานที่ทางกายภาพ ทั้งหมดถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกันผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘ความทรงจำ’ ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีแต่ผีเท่านั้นที่ยังวนเวียนและผูกพันอยู่กับอดีตในขณะที่คนซึ่งอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของอดีตหรือเหตุการณ์ในอดีตได้ เนื่องจากไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับอดีต เมื่อคนต้องเข้าไปในสถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำในอดีต การปรากฏตัวของผีคือการทำให้ความทรงจำในอดีตนั้นปรากฏตัวขึ้นมาด้วยเช่นกัน 

สถานที่บางแห่งเคยเกิดโศกนาฏกรรม แต่ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นถูกลบทิ้งไปด้วยหลายเหตุผล การปรากฏตัวของผีจึงหมายถึงการกระตุ้นเตือนผู้คนในปัจจุบันไม่ให้หลงลืมเรื่องราวในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในบริเวณนั้นๆ หรือในบางครั้งยังเป็นสิ่งที่รบเร้าให้คนในปัจจุบันเร่งหาความจริงว่าเคยเกิดอะไรขึ้นในอดีต ณ สถานที่แห่งนี้ 

ในเรื่อง ‘ผีลากขา’ ผีในเรื่องเป็นผีผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรม โดยถูกถีบตกมอเตอร์ไซค์ทิ้งข้างทาง ก่อนจะฆ่าข่มขืนแล้วอำพรางศพด้วยการลากศพไว้กลางถนนให้รถเหยียบทับศพไป และ ‘เรื่องนี้ผีเล่า’ ตัวละครเป็นนักเรียนที่เขียนนิยายออนไลน์ โดยเรื่องที่กำลังเขียนอยู่เป็นเรื่องสยองขวัญที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความฝัน เขาฝันว่ามีผีผู้หญิงคนหนึ่งมาแสดงเหตุการณ์ให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอ นั่นคือการที่เธอท้องแล้วถูกนำไปกรีดท้องควักลูกออกมาบีบคอตาย ต่อมาครูที่โรงเรียนของเขาอย่าง “ครูพิสิฐ” ได้อ่านแล้วบอกเขาว่าไปลบเรื่องเถอะ มันสยองเกินไป ไม่ดี จนกระทั่งมีคนทักมาหานักเขียนว่าเหตุการณ์นี้เหมือนกับเหตุการณ์ฆาตกรรมที่เคยเกิดขึ้น แถมชื่อตัวละครในเรื่องก็เป็นชื่อเดียวกันกับคนที่โดนฆ่า หลังจากนั้นเขาก็ฝันอีกและในรอบนี้ก็เห็นหน้าคนที่ฆ่าผู้หญิงอย่างชัดเจน ซึ่งก็คือครูพิสิฐที่มีข่าวว่าหลอกรุ่นน้องไปล่วงละเมิดนั่นเอง เขาสะดุ้งตื่นและพยายามจะหลับต่อ แต่กลับเห็นร่างเด็กสาวท้องโตในฝันยืนอยู่ปลายเตียง เธอชี้มือไปที่คอมพิวเตอร์ เขาจึงจำเป็นต้องเขียนเรื่องนั้นต่อ หลังจากนิยายจบมีคนพยายามตามหาความจริงและในขณะเดียวกันครูพิสิฐก็หายตัวไปจากโรงเรียน

เมื่อพิจารณาว่าสถานที่กับความทรงจำนั้นเปิดเผยให้เห็นเหตุการณ์ที่ถูกลบเลือนออกไปผ่านการปรากฏตัวของผี เราจะเห็นได้อย่างหนึ่งว่า เหตุการณ์นั้นมักจะเป็นเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความโศกเศร้า เป็นอารมณ์ในทางลบ ดังนั้นเราอาจเข้าใจได้ว่าผีคือประวัติศาสตร์ของความโศกเศร้าที่ตกค้างอยู่ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ที่รอการถูกค้นพบและสอบสวนเพื่อทำให้ความจริงปรากฏ

ต่อประเด็นนี้ ผมอยากเสนอว่าการปรากฏตัวของผีคือการตามหลอกหลอนของประวัติศาสตร์ที่มีต่อปัจจุบัน มันอาจเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด รุนแรง น่ากลัว แต่นั่นคืออารมณ์ความรู้สึกที่หลงเหลือ ตกค้างและถูกกักขังเอาไว้ ในท้ายที่สุดความไม่ถูกต้องในอดีตจึงดำรงอยู่เสมอและอาจเป็นนิรันดร์หากไม่ได้รับการแก้ไข

การทำบุญให้ผีในฐานะการ ‘ไถ่ถอน’

ในเรื่องผีไทยยังมีขนบอย่างหนึ่งของเรื่องเล่า คือการทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ผี การทำบุญดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น เพื่อให้ผีได้ไปผุดไปเกิดจากส่วนบุญที่คนเป็นทำให้ หรือเพื่อให้ผีได้รับส่วนบุญและเชื่อว่าจะได้บรรเทาความ ‘เฮี้ยน’ ลงไปบ้าง เพราะบางครั้งผีก็ปรากฏตัวเพื่อ ‘ทวง’ หรือ ‘ขอ’ ส่วนบุญ

หน้าที่ของการทำบุญในเรื่องผีไทย แง่หนึ่งคือการ ‘ไถ่ถอน’ (redemption) สิ่งที่สูญเสียไป ในที่นี้คือความพยายามจะทดแทนการสูญเสียของผี ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ความทรงจำ และอดีตของผี การไถ่ถอนในกรณีนี้มุ่งให้เกิดความปกติในชีวิตประจำวัน เพราะในสถานที่บางแห่งที่เคยมีคนตาย นอกจากผีแล้ว สิ่งที่หลงเหลือตกค้างและไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้คืออารมณ์และความทรงจำอันเจ็บปวดของการสูญเสีย

การไถ่ถอนด้วยการทำบุญจึงเป็นเสมือนความพยายามที่จะทดแทนความสูญเสียนั้นเพื่อบรรเทาให้ความเจ็บปวดของผู้วายชนม์ทุเลาลงไปได้ แต่ในบางกรณีการทำบุญก็อาจไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะสิ่งที่ผีต้องการอาจหมายถึงการเปิดโปงความจริงในช่วงเวลาก่อนที่เขาจะตาย ดังที่ปรากฏในเรื่อง ‘ผีลากขา’

“ทำบุญกี่ครั้งผู้หญิงคนนั้นก็ยังไม่ยอมไปไหน…หลังจากนั้น พอพวกเรากลับมาจากที่นั่น แล้วก็พากันไปทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เธอ ผมรู้ดีว่าเท่านี้ก็อาจจะยังไม่พอ ถ้าเป็นผม สิ่งที่ผมต้องการคือการเรียกร้องความเป็นธรรมและพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏ วิญญาณอาฆาตแค้นแบบนี้คงไม่ยอมไปผุดไปเกิดง่ายๆ แน่ เราก็ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งเธอคงได้รับความยุติธรรมในแบบที่เธอต้องการถึงแม้ว่าความหวังจะเลือนรางเต็มที” (หน้า 139)

ผมคิดว่ามีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจจากการอ่าน ‘โรงเรียนผีดุ’ ซึ่งอาจจะอธิบายได้ไม่เพียงพอในบทความชิ้นนี้ แต่ผมอยากจะส่งท้ายด้วยประเด็นที่ว่า สิ่งที่นทธี ศศิวิมลได้แสดงให้เห็นในเรื่องสั้นผีชุด ‘โรงเรียนผีดุ’ คือการทำให้เรื่องผีของไทยสามารถเข้ากับกระแสทางสังคมต่างๆ ได้อย่างกลมกลืน ดังเช่นบางเรื่องที่ได้กล่าวไว้ด้านบน นอกจากวัฒนธรรมประชานิยมแล้ว กระแสซีรีส์แบบเกาหลีก็ถูกนทธีฉวยเอามาใช้ได้อย่างน่าสนใจ ดังที่ปรากฏในเรื่อง ‘ผีบาริสต้า’ ดังนั้นผมอยากจะชื่นชมงานของนทธีในประเด็นที่ว่า เธอได้ทำให้เรื่องผีมีพลวัต ไม่ใช่ทำให้เรื่องนั้นน่ากลัวอย่างเดียว แต่มีมิติของกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในการอ่านวรรณกรรมผีอย่างจริงจังของผมในครั้งนี้ได้ทำให้ผมรู้สึกรื่นรมย์และสนใจอยากจะตามหาวรรณกรรมแนวนี้มาอ่านอีก ที่สำคัญยังช่วยย้ำประเด็นสำคัญของการเป็นวรรณกรรมให้กับผมว่ามันควรจะให้ความสำเริงอารมณ์เสียก่อน…น่ะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save