fbpx

Scents of History เมื่อประวัติศาสตร์ถูกเล่าผ่านกลิ่น : จากกลิ่น ‘5 ตุลาฯ’ ถึงกลิ่นการกวาดล้างผู้เห็นต่างของโจเซฟ สตาลิน

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

เคยไหมที่เมื่อเดินผ่านร้านอาหารที่กินตอนเด็ก แล้วจู่ๆ ความทรงจำของวันเกิดตอนอายุ 6 ขวบก็แว่บขึ้นมา, เคยไหมที่ได้กลิ่นน้ำหอมของคนบนรถไฟฟ้า แล้วนึกถึงแฟนเก่าหรือเพื่อนบางคนได้ทันที, เคยไหมที่เวลาเปิดตู้เสื้อผ้าของอาม่าแล้วภาพวันเวลาเดิมๆ ตอนที่เราเคยอยู่บ้านหลังนี้ก็ชัดเจนขึ้นมาในหัว

นักเขียนชาวรัสเซีย Vladimir Nabokov เขียนไว้ว่า “Nothing revives the past so completely as a smell that was once associated with it. – ไม่มีสิ่งใดรื้อฟื้นอดีตได้หมดจดเท่ากับกลิ่นที่เคยเชื่อมโยงกับมัน”

แล้วเหตุใด ‘กลิ่น’ ถึงเชื่อมโยงเรากับ ‘ความทรงจำ’ ได้ดีนัก

หากอธิบายในเชิงประสาทวิทยาต้องบอกว่าเพราะสมองที่ทำงานสองเรื่องนี้ของเราอยู่ใกล้กัน – ป่องรับกลิ่น หรือ ‘Olfactory bulb’ ของมนุษย์นั้นเชื่อมโยงโดยตรงไปสู่ ระบบลิมบิก (Limbic System) อันเป็นที่อยู่ของสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์และความทรงจำ โดยไม่ต้องเดินทางไปผ่านศูนย์รวมกระแสประสาททาลามัส (Thalamus) ด้วยเหตุนี้เองกลิ่นจึงเป็นเหมือน ‘ทางลัด’ ไปสู่อารมณ์และเรื่องราวในอดีตของเรา นอกจากนั้น กลิ่นยังเป็นประสาทสัมผัสที่เราไม่สามารถ ‘ปิด’ ได้เหมือนกับการหลับตา เพราะมันเชื่อมโยงอยู่กับกิจกรรมสำคัญในการมีชีวิตอย่างการหายใจ สมองของเราจึงรับรู้และบันทึกกลิ่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

เมื่อพูดถึง ‘การออกแบบกลิ่น’ คนส่วนใหญ่คงนึกไปถึงเครื่องหอมหรือไม่ก็อาหาร ความหอมที่น่าพึงพอใจหรือผ่อนคลายคือฟังก์ชันของกลิ่นที่เราคุ้นเคย แต่ด้วยคุณสมบัติของกลิ่นที่ทำงานกับความทรงจำได้เป็นอย่างดี จะเป็นไปได้หรือไม่ หากเราจะออกแบบกลิ่นโดยไม่ได้โฟกัสที่เรื่องความหอม แต่เพื่อ ‘เล่าเรื่อง’ อะไรบางอย่าง

Third Eye View ฉบับนี้จะพาไปรู้จักกลิ่นที่สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ กลิ่นที่บันทึกวันเวลาในอดีต กลิ่นที่เป็นตัวแทนอัตลักษณ์ของเมือง ไปจนถึงกลิ่นที่ใช้เพื่อประท้วงและทวงคืนความยุติธรรมให้ผู้คน

กลิ่นเก่า เล่าเรื่อง

ในขณะที่น้ำหอมส่วนใหญ่ที่เราคุ้นเคยถูกคิดขึ้นจากคำถามที่ว่า “มันคือกลิ่นอะไร?” แต่น้ำหอมของ Christopher Brosius นักออกแบบกลิ่นและนักปรุงน้ำหอมเจ้าของแบรนด์ I Hate Perfume กลับตั้งต้นด้วยคำถามที่ว่า “มันบันทึกประสบการณ์อะไรเอาไว้?”

น้ำหอมในซีรีส์ ‘Secret History’ เป็นเสมือนอัลบั้มภาพถ่ายส่วนตัวของ Christopher ในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิต แต่ละกลิ่นทำหน้าที่เชื่อมโยงเขากลับไปในวันเวลานั้นๆ เช่น กลิ่น ‘At the Beach 1966’ ที่เชื่อมโยงเขากลับไปสู่ตอนบ่ายของฤดูร้อนในชายหาดแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกในวันที่เขาอายุ 4 ขวบ ซึ่งเป็นการผสมกันของกลิ่นทรายเปียก เปลือกหอย, ลมทะเลและกลิ่นครีมกันแดดในยุคสมัยนั้น, กลิ่น ‘Greenbriar 1968’ เป็นการผสมกันของกลิ่นขี้เลื่อย, กลิ่นถุงมือหนังเก่า, กลิ่นยาสูบในไปป์และกลิ่นดิน เชื่อมโยงเขาไปสู่ความทรงจำเกี่ยวกับคุณปู่ของเขาในบ้านหลังเก่า หรือกลิ่น ‘Winter 1972’ ที่เชื่อมโยงเขาไปสู่ความทรงจำของเดือนธันวาคม ความเงียบจนได้ยินเสียงหายใจ ดวงดาวบนฟ้า และกลิ่นต้นสนที่รายล้อมทุ่งกว้าง

ทุกครั้งที่น้ำหอมถูกฉีดจึงเหมือนกับอัลบั้มภาพส่วนตัวของ Christopher ได้เปิดออก ซึ่งเราในฐานะคนดูและคนดมได้กลิ่นแล้วอาจเชื่อมโยงได้หรืออาจไม่เข้าใจ แต่นั่นคงคล้ายกับความรู้สึกเวลาเราเปิดดูอัลบั้มภาพเก่าของใครสักคน ที่บางครั้งแม้เราจะไม่รู้จักผู้คนและสถานที่ในบ้าน แต่น่าแปลกที่เรากลับ ‘รู้สึก’ ไปกับมันไปได้

กลิ่นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

ในขณะที่ Christopher ปรุงกลิ่นเพื่อเล่าความทรงจำส่วนตัว ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย การออกแบบ ‘กล่องฟ้าสาง’ โปรเจกต์ล่าสุดของพวกเรา Eyedropper Fill ก็มีการใช้กลิ่นเพื่อกระตุ้นความทรงจำและเล่าเรื่องความทรงจำส่วนรวมอย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า นอกจากข้าวของที่มองเห็นและจับต้องได้ในกล่องฟ้าสาง มันยังซ่อนกลิ่นวันที่ ‘5 ตุลาฯ’ เอาไว้ด้วย!

นิทรรศการบรรจุกล่องเพื่อรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตั้งต้นจากไอเดียที่อยากเปลี่ยนมุมมองการเล่าเรื่อง จากเดิมที่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ถูกเล่าแต่ในมุมของความตายจนแอบซ้ำและแอบช้ำ คราวนี้เราเลือกจะเล่าเรื่องในมุมของ ‘การมีชีวิต’ ของผู้คนในช่วงเวลา 3 ปีก่อนเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาฯ และเมื่อพูดถึงชีวิต ข้อมูลจึงสำคัญเป็นรองความรู้สึก คนดูอาจไม่จำเป็นต้อง ‘รู้’ เรื่องราวทุกบรรทัด แต่ต้อง ‘รู้สึก’ ร่วมไปกับผู้คนและเหตุการณ์ราวกับหลุดเข้าไปในห้วงเวลานั้น

สิ่งที่บรรจุอยู่ในนิทรรศการรูปแบบกล่องนี้ นอกจากภาพถ่ายแล้วยังมีข้าวของหลายชิ้นที่อาจดูไม่สลักสำคัญแต่ช่วยดึงเราเข้าไปมีส่วนร่วมกับอดีตได้เป็นอย่างดี (เบสท์ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ในโปรเจกต์นี้ใช้คำว่า ‘unnecessary facts’) ตั้งแต่จดหมาย ห่อข้าว ชุดปฐมพยาบาล ใบปิด กาวแป้งเปียก ฯลฯ และด้วยความที่คนดูต้องได้สัมผัสกับของทุกชิ้นในกล่องในระยะ ‘Extreme Close-up’ หรือ ใกล้ระดับปลายจมูก ทำให้นอกจากการมองเห็นแล้ว ผัสสะอย่าง ‘กลิ่น’ ก็เป็นเรื่องสำคัญ

แล้วกลิ่นของ ‘5 ตุลาฯ’ ควรเป็นกลิ่นแบบไหน?

เบสท์ – วรรจธนภูมิ มองว่าความรู้สึกของการเปิดกล่องนี้จะต้องคล้ายกับความรู้สึกของการ ‘แอบเปิดลิ้นชักแม่’ ที่เราจะเจอข้าวของมากมายทั้งที่ปะติดปะต่อเรื่องราวได้ ไปจนถึงไม่รู้ว่าคืออะไร แต่เรารู้สึกร่วมไปกับมันได้ เสมือนกับความรู้สึกของคนรุ่นนี้ที่เปิดดูความทรงจำของคนเดือนตุลาเมื่อ 45 ปีก่อน โจทย์นี้จึงถูกมอบให้กับ โย – ฐานิสสร ท้าวพยุง จาก Rackscene Collective ผู้รับหน้าที่ออกแบบและประดิษฐ์สิ่งของภายในกล่องฟ้าสาง เพื่อนำไปออกแบบร่วมกับ ธนากร เกียรติธนากร นักออกแบบกลิ่น ผู้เคยเป็นเพื่อนในชั้นเรียนภาพยนตร์ของโยมาก่อน

กลิ่นไม้ของลิ้นชัก กลิ่นความอับชื้นของกระดาษและของเก่าเก็บ กลิ่นดอกไม้แห้งช้ำ และกลิ่นยาเส้น คือองค์ประกอบของกลิ่นที่ทั้งคู่ได้มาจากการลองกลับไปรื้อข้าวของในลิ้นชักคุณปู่ของสมาชิกในทีม

เมื่อได้กลิ่นที่ตามหา ก็เข้าสู่กระบวนการถัดไปอย่างกระบวนการสร้างกลิ่น โดยเริ่มจากนำส่วนผสมจากธรรมชาติมาผสมกันให้ได้ใกล้เคียงกับกลิ่นตั้งต้นเหล่านี้ที่สุด วัตถุดิบที่ใช้มีตั้งแต่วัตถุดิบจากธรรมชาติอย่าง น้ำมันจากไม้ซีด้า, Tobacco Tincture ที่สกัดจากยาเส้นจริงๆ ไปจนสารสังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติ เช่น กลิ่นแบบชะมดเช็ด และกลิ่น Indole ที่มักเกิดขึ้นเมื่อดอกไม้สีขาวเริ่มช้ำและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

ทั้งหมดนี้ ทีมงานทดลองผสมไปผสมมามากถึง 18 เวอร์ชัน กว่าจะได้กลิ่นที่ตรงใจและเข้ากับบรรยากาศในกล่อง หลังจากนั้นก็ใช้กระบวนการ Fixative หรือ ตรึงกลิ่น เพื่อทำให้กลิ่นอยู่ในกล่องไปนานๆ ย้อนกลับมาเปิดดูเมื่อไหร่กลิ่นก็ยังคงอยู่ และขั้นตอนสุดท้ายคือการฉีดกลิ่นลงในกล่อง ก่อนจะแพ็คและส่งกล่องไปยังคนที่สั่งจองเข้ามา สำหรับใครที่สั่งจองไม่ทันไม่มีโอกาสได้ดมกล่องและอยากรู้ว่ากลิ่น ‘5 ตุลาฯ’ เป็นอย่างไร โยอธิบายไว้ว่า “มันคือกลิ่นที่ให้บรรยากาศเก่าๆ แบบ Nostalgia แต่ขณะเดียวก็ให้บรรยากาศของความหวังในแบบที่ช่วงเวลา 3 ปีก่อน 6 ตุลาฯ กำลังบอกเล่า”

กลิ่นแห่งอัตลักษณ์

เวลาไปเที่ยวประเทศอื่นทุกครั้ง ผมมักสังเกตกลิ่นและพยายามเชื่อมโยงว่ากลิ่นของแต่ละที่มีที่มาจากไหน ในโตเกียวผมได้กลิ่นสะอาดๆ บวกกับกลิ่นซุปมิโสะ ที่สต็อกโฮล์มเป็นกลิ่นเขียวๆ ของใบไม้กับเครื่องเทศที่ไม่คุ้นเคย ส่วนที่ประเทศไทย ผมไม่ได้กลิ่นอะไรเป็นพิเศษ อาจเพราะความคุ้นชิน แต่จากการสอบถามเพื่อนต่างชาติเขาบอกว่าเป็นกลิ่นน้ำปลากับใบกะเพรา

เพราะกลิ่นแต่ละที่ในแผนที่ภูมิศาสตร์ล้วนแตกต่าง กลิ่นจึงสามารถบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน เมือง หรือประเทศนั้นๆ ได้ บางประเทศยกให้ ‘กลิ่น’ เป็นหนึ่งในอัตลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ต่างกับสถาปัตยกรรม เครื่องแต่งกาย หรืออาหารประจำชาติ ทำให้หลายครั้งจึงมีการสำรวจกลิ่นและบันทึกกลิ่นในแต่ละช่วงเวลาของเมืองเอาไว้เป็นจดหมายเหตุ ตัวอย่างเช่น โปรเจกต์ Smellmap โดยกราฟิกดีไซเนอร์และนักวิจัยที่สนใจเรื่องกลิ่นอย่าง Kate McLean ที่นำกระบวนการออกแบบเข้าไปสร้าง ‘แผนที่กลิ่น’ ให้เมืองต่างๆ ทั่วโลก

ภาพนี้คือแผนที่กลิ่นของเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอแลนด์ในช่วงปี 2013-2014 ที่ Kate ทำขึ้น โดยการสร้างแผนที่กลิ่น เริ่มต้นจากกิจกรรมชื่อ Smellwalks หรือ ‘เดินดมเมือง’ เมื่อ Kate ชวนชาวเมือง 44 คนเดินดมกลิ่นในเมืองไปด้วยกันเป็นเวลา 4 วัน และระหว่างเดินให้แต่ละคนบันทึกกลิ่นที่ได้ในแต่ละเขต แต่ละย่าน แต่ละเส้นทางเอาไว้ ช่วงเวลาของการเดินดมทำให้ Kate ได้กลิ่นมาถึง 650 กลิ่น ก่อนจะนำมาจำแนกให้เหลือเฉพาะกลิ่นเด่นๆ 11 กลิ่น และนำมาร่างลงในแผนที่ภูมิศาสตร์ของเมือง

กลิ่นของเมืองอัมเตอร์ดัมประกอบด้วยกลิ่นที่เป็นแบคกราวน์ของทั้งเมืองอย่างกลิ่นของคลอง, กลิ่นที่ระบุฉากหรือช่วงเวลา เช่น กลิ่นกระชังปลาเฮอร์ริง, กลิ่นใบไม้หลังฝนตก, กลิ่นความอบอุ่นและเครื่องเทศ ฯลฯ และกลิ่นที่เจาะจงสถานที่ เช่น กลิ่นร้านซักรีด จากนั้น Kate แบ่งแต่ละกลิ่นออกเป็นสีและลากเส้นลงไปบนย่านต่างๆ ใช้จุดสีเพื่อปักหมุดแหล่งกำเนิดกลิ่นและ ‘วงกลม’ เพื่อระบุบริเวณที่กลิ่นกระจายตัวหนาแน่น

Kate มองว่าแผนที่กลิ่นทำให้ประสบการณ์ของเมืองที่ไม่เคยมีใครมองเห็นอย่าง ‘กลิ่น’ ถูกเห็นเป็นภาพ กลิ่นคือเครื่องนำทางคนในเมืองไปสู่ประสบการณ์ต่างๆ กลิ่นอาหารนำทางไปสู่ความอิ่มอร่อย กลิ่นบ้านเรือนนำทางไปสู่ความปลอดภัย หรือกลิ่นของแลนด์สเคปที่โรแมนติกของเมืองนำทางไปสู่การสร้างความสัมพันธ์กันของคนในเมือง กลิ่นเป็นมรดกที่ช่วยเล่าเรื่องให้คนภายนอกฟังว่าเมืองนั้นมีอัตลักษณ์เป็นอย่างไร และนอกจากนั้นกลิ่นของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปยังเป็นสัญญาณบอกนัยยะสำคัญบางอย่างที่เกิดขึ้นกับเมือง

เพราะในประวัติศาสตร์ เราพบว่าเคยมีการใช้ ‘กลิ่น’ เพื่อลบอัตลักษณ์ ไปจนถึงล้างประวัติศาสตร์!

กลบกลิ่น ล้างความจำ

ย้อนกลับไประหว่างปี 1937-1938 ณ อาคารเลขที่ 23 บนถนน Nikolskaya ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ครั้งหนึ่งอาคารแห่งนี้เคยเป็นสถานที่ตัดสินประหารประชาชนกว่า 31,456 คน ในระหว่างการกวาดล้างครั้งใหญ่ของ โจเซฟ สตาลิน ที่ต้องการกำจัดผู้เห็นต่าง ชนกลุ่มน้อย พรรคคอมมิวนิสต์ ข้างราชการ ตลอดจนบุคคลที่ถูกสงสัยว่าเป็นผู้ต่อต้าน คนเหล่านั้นถูกนำมาที่ศูนย์บัญชาการแห่งนี้เพื่อสังหารด้วยการยิง จนคนท้องถิ่นเรียกอาคารแห่งนี้ว่า ‘The Shooting House’ หรือ ‘The House of Executions’

ปัจจุบันย่านแห่งนี้เปลี่ยนสภาพจากตึกสังหารกลายเป็นถนนช็อปปิ้งแสนเก๋ ที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คนและร้านรวงที่ขายของราคาแพง เจ้าของอาคารจึงมีไอเดียว่าจะรีโนเวทอาคารแห่งนี้ให้กลายเป็นร้านขายน้ำหอมและแฟชั่นสุดหรู ทำให้คนมอสโกมากมายลุกขึ้นมาประท้วงแสดงความไม่พอใจ เพราะนั่นถือเป็นการลบล้างประวัติศาสตร์แห่งความอยุติธรรมที่ควรถูกจดจำ และการสร้างห้างร้านหรูหราทับลงบนสถานที่ที่เคยมีผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่านับหมื่นยังดูเป็นการไม่ให้เกียรติผู้คนในท้องถิ่น โดยเฉพาะลูกหลานของผู้เสียชีวิต การประท้วงด้วยกลิ่นจึงเริ่มต้นขึ้น!

เอเจนซี Action Marketing ร่วมกับนักออกแบบกลิ่น Alena Tsischevskaya ปรุงน้ำหอมกลิ่นที่ชื่อว่า N23 (มาจากเลขที่บ้านและชื่อถนนที่เกิดเหตุ) ก่อนจะแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนและผู้นำทางความคิดของคนรุ่นใหม่ รวมถึงแจกจ่ายและ ‘ฉีด’ ให้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณตึกได้ดม

น้ำหอมขวดนี้ประกอบด้วยกลิ่นของหมึกและกระดาษเก่า ที่ชวนให้นึกถึงป้ายประกาศโทษประหารและกระดาษที่ใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ กลิ่นอับชื้นของชั้นใต้ดินอันเป็นพื้นที่สังหาร กลิ่นของดินปืนและขี้เถ้าที่เชื่อมโยงกับความตาย ด้านตัวกล่องเองก็มีกิมมิคที่น่าสนใจ แม้ภายนอกกล่องจะดูหรูหรา ทว่าภายในกลับบรรจุขวดน้ำหอมที่ทำจากปลอกกระสุนของโซเวียต ซึ่งหล่นอยู่บนดินจริงๆ โดยนำมาจากเขตที่ใช้เป็นสุสานของผู้เสียชีวิต

Nikita Petrusyov ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแคมเปญบอกว่า “หีบห่อที่ดูหรูหราแต่ภายในคือความตาย” คือสัญลักษณ์ที่ใช้บอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอาคารแห่งนี้ และกลิ่นน้ำหอมในขวดยังทำให้กลิ่นของประวัติศาสตร์ที่ควรถูกจดจำยังคงอบอวลและไม่จางหายไปจากใจของผู้คน

หลังกลิ่นน้ำหอม N23 ได้ฟุ้งกระจายไปทั่วกรุงมอสโกก็สร้างความสนใจในประเด็นนี้ในหมู่คนทั่วไป และถูกพูดถึงในหน้าสื่อมากมาย จนรวบรวมคนที่ไม่เห็นด้วยมากกว่า 46,000 คน และสามารถหยุดการสร้างร้านน้ำหอมได้ในที่สุด

ถึงตรงนี้ เราอยากให้ทุกคนลองหลับตา หายใจเข้าอย่างเป็นธรรมชาติ ให้เวลากับจมูกในการรับรู้กลิ่นที่อยู่รอบตัว รอบตัวคุณรายล้อมไปด้วยกลิ่นของอะไร กลิ่นไหนที่เพิ่งเกิดขึ้น และกลิ่นไหนที่เคยมีอยู่ แต่หายไปจากจมูกของเราในปัจจุบัน

และถ้าจะให้นิยาม ‘กลิ่นของรุ่นเรา’ คุณคิดว่าประกอบด้วยกลิ่นของอะไรบ้าง

มองผ่านแว่นของการออกแบบการสื่อสาร ทุกวันนี้ ‘กลิ่น’ ยังคงถูกพูดถึงและใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารน้อยมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับภาพและเสียงด้วยแล้ว แต่จากโปรเจกต์ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นว่า นอกจากความหอม กลิ่นยังสามารถเป็นเครื่องบันทึกเรื่องราว ทำให้คนเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และความทรงจำของยุคสมัย บอกเล่าอัตลักษณ์ของเมือง ไปจนถึงเป็นสื่อในการประท้วงได้!

น่าสนใจมากว่า ในอนาคตกลิ่นจะกลายเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องรูปแบบไหนอีก และอานุภาพของกลิ่นจะมีอิทธิพลในโลกของการสื่อสารอย่างไรต่อไป

อ้างอิง :

หนังสือ The Senses: Design Beyond Vision โดย Ellen Lupton

CB I HATE PERFUME

Activists make ‘scent of fear’ to protest perfumery at Soviet purge site

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save