fbpx

‘อนาคตไทย พ.ศ. 2585’ มองฉากทัศน์ไทยในอีกสองทศวรรษกับ อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

ภายใต้บรรยากาศของความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยซึ่งทบทวีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในไม่กี่ปีที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญของการผลัดใบในทุกมิติ ไม่ว่าจะเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่กำลังกลายไปเป็นมิติใหม่ๆ ที่เราต่างไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จัก

เมื่อเราไม่อาจห้ามกระแสธารของการเปลี่ยนแปลง ในช่วงต้นปีเช่นนี้จึงชวนมองไปสู่อนาคตอีกสองทศวรรษภายหน้า ว่าถึงเวลานั้น ‘ฉากทัศน์’ ที่จะปรากฏขึ้นในประเทศไทยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างจากปัจจุบันนี้มากน้อยแค่ไหน และอนาคตแบบใดที่เราถวิลหา

101 ชวนสำรวจฉากทัศน์ไทยกับ รศ.ดร. อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยในโครงการ ‘อนาคตไทย พ.ศ. 2585’ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเดินทางไปสู่อนาคตที่พึงประสงค์ให้ดีที่สุด

โครงการศึกษาวิจัย ‘อนาคตไทย พ.ศ. 2585’ คืออะไร เหตุใดจึงต้องเป็นระยะเวลา 20 ปี

ตัวเลข 20 ปีนั้นเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากพอ จนแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่อาจแน่ใจได้และต้องถกเถียงกันว่าอนาคตของประเทศจะไปทางไหน ทั้งนี้ การคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์นี้ก็ไม่ได้ทำนายว่าใน 20 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะภาพอนาคตในระยะยาวนั้นมีความไม่แน่นอนสูงเสียจนผู้เชี่ยวชาญเองก็ให้ภาพที่ชัดเจนไม่ได้ ดังนั้น เราจึงตั้งเลข 20 ซึ่งเป็นตัวเลขกลมๆ และเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอ

และอีกมุมหนึ่งคือมันยังเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนรุ่นของประชากรด้วย หมายความว่าจะมีคนรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นซึ่งจะทำให้ภาพที่มองต่างไปจากปัจจุบันค่อนข้างมาก 

หากอยากศึกษาอนาคตไทยอีก 20 ปีข้างหน้า เราควรตั้งคำถามในไทยอย่างไร อาจารย์เห็นข้อค้นพบใดๆ จากงานวิจัยชิ้นนี้บ้าง

จริงๆ แล้วงานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยจากการประมวลผลงานวิจัยอื่นๆ ที่สำนักงานวิจัยแห่งชาติได้ให้ทีมงาน 9 ทีมในหน่วยงานต่างๆ ทำขึ้นมา โดยทีมผมมีอาจารย์มิ่งสรรพ์ ขาวสอาดเป็นหัวหน้าโครงการ ก็ประมวลประเด็นประชากร, เศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรมต่างๆ จากวิจัยของทั้ง 9 ทีมเพื่อดูว่ามีประเด็นใดบ้างที่ควรตั้งขึ้นมาเป็นหลักของการมองอนาคต

ทั้งนี้ เราคิดว่ากรอบคิดที่สำคัญที่ใช้ในการประเมินเรื่องนี้คือความเสี่ยง เราคิดว่าประเทศไทยในปัจจุบันมีความเสี่ยงในทุกแบบ ไม่ว่าจะการใช้ชีวิตประจำวันไปจนถึงความเสี่ยงเชิงระบบ แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่คาดฝันอย่างการเข้ามาของโควิด-19 ก็ทำให้เราต้องเผชิญความเสี่ยงที่ไม่เคยพบมาก่อน

การมองความเสี่ยงจึงต้องตั้งหลักที่ว่า หากเราเจอความเสี่ยงไปเรื่อยๆ เราจะจัดการความเสี่ยงนั้นอย่างไร มีวิธีลดหรือเลี่ยงความเสี่ยงนั้นไหม หรือหากจะต้องล้ม เราจะตั้งหลักและฟื้นฟูขึ้นมาอย่างไรให้เร็วที่สุด

ภาพประกอบจาก Dan Freeman

อาจารย์คิดว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่เราอาจจะได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

เรายึดหลักแนวคิดและวิธีที่เรียกว่าการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ (strategic foresight) เป็นกรอบที่บอกว่าไม่มีใครหยั่งรู้อนาคต โดยโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์แต่ละอย่างนั้นมีระดับแตกต่างกัน ทั้งยังมีผลกระทบที่ตามมาในระดับที่แตกต่างกันออกไปด้วย เราดำเนินกระบวนการที่เรียกกันว่า ‘การกวาดสัญญาณ’ ดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญความเสี่ยงด้านต่างๆ นับตั้งแต่ด้านสังคม, ประชากร, เทคโนโลยี, เศรษฐกิจ, สิ่งแวดล้อม, การเมืองไปจนถึงคุณค่าของคนในสังคม แล้วจากนั้นจึงดูอนาคตฐาน ว่าหากปัจจัยเหล่านี้ยังดำเนินเช่นนี้ต่อไป ในระยะสั้นหรือประมาณ 3-5 ปีนั้นจะส่งผลให้ประเทศไทยจะมีหน้าตาอย่างไร

แต่หลังจากนั้นเราจะเริ่มคาดการณ์ได้ยากขึ้น เพียงแต่มันทำให้เราเห็นทางแพร่งบางอย่างสำหรับระยะยาว เป็น scenario หรือ ‘ฉากทัศน์’ ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ว่าเราจะไปทางซ้ายหรือขวาของทางแพร่งนี้ แต่เรารู้ว่าถ้าเกิดเงื่อนไขแบบนี้ ประเทศไทยก็จะไปทางแพร่งหนึ่ง หรือหากมีเงื่อนไขอีกแบบ ประเทศไทยก็จะไปอีกทางแพร่งหนึ่ง 

เห็นฉากทัศน์อะไรในอนาคตประเทศไทยบ้าง

ภาพใหญ่ที่โครงการนี้เสนอคือ จะมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า นั่นคือปัจจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่เราเรียกว่า ‘การพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีน้ำตาล’ ซึ่งไม่ค่อยยั่งยืน หมายถึงการใช้ทรัพยากรอย่างปู้ยี่ปู้ยำและกอบโกย ซึ่งอีกขั้วหนึ่งของเศรษฐกิจสีน้ำตาลหรือเศรษฐกิจสีเขียวหรือคือการค่อยๆ ใช้ทรัพยากรที่มี ปัจจัยอีกด้านคืออำนาจเหนือทรัพยากร ซึ่งในอนาคต เราจะวัดกันว่าอำนาจเหนือทรัพยากรนั้นจะกระจายตัวหรือยังกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม 

ทั้งนี้ เมื่อเอาปัจจัยทั้งสองหรือแกนทั้งสองมาไขว้กัน นั่นคือแกนการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งมีด้านสีน้ำตาลกับด้านสีเขียว และแกนอำนาจเหนือทรัพยากรที่มีด้านกระจุกกับกระจายตัว เราก็จะได้ scenario หรือฉากทัศน์ออกมาสี่แบบ

ฉากแรกคือฉากที่เรายังเป็น ‘กิ้งกือในเขาวงกต’ หมายถึงเมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจยังเป็นสีน้ำตาล มีการใช้ทรัพยากรอย่างหนักหน่วงและขูดรีดแรงงาน พร้อมกันกับที่อำนาจเหนือทรัพยากรก็ยังกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และชนชั้นนำ

แต่ถ้าเกิดการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรโดยที่การพัฒนาเศรษฐกิจยังคงเป็นสีน้ำตาล เราก็จะเป็น ‘ปลาไหลพ้นโคลนตม’ ในทางกลับกัน ถ้าไม่เกิดการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรแต่การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสีเขียว มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยมีนายทุนเป็นเจ้าของทรัพยากร เราก็จะเป็น ‘ไก่ออร์แกนิกในเล้าไฮเทค’

แต่ถ้าเราข้ามพ้นสิ่งเหล่านี้ได้ โดยสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นสีเขียว สร้างสังคมที่เป็นธรรมและทำให้เกิดการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรให้ได้ เราจะเข้าสู่ฉากทัศน์ที่เรียกว่า ‘พิราบไร้พรมแดน’

ถ้าอย่างนั้น มองประเทศไทยวันนี้แล้วอาจารย์เห็นว่าเป็นอย่างไร มีโจทย์ใหญ่อะไรรออยู่

ประการแรก เรื่องประชากร ไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยซึ่งจะเป็นเรื่องใหญ่มากในอนาคต ขณะที่เรื่องเศรษฐกิจนั้นเชื่อว่าหลายคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่าเรามีแนวโน้มด้านเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะอัตราการเจริญเติบโตต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แม้แต่เพื่อนบ้าน เชื่อว่าอีกไม่นานที่เวียดนามจะแซงไทยไปเช่นเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์ ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยลดต่ำลง ขณะที่ด้านการเกษตรนั้นก็พบว่าเราสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ เช่นเดียวกับด้านอุตสาหกรรม

คนรุ่นผมเติบโตมากับยุคที่มีคำเรียกว่าความโชติช่วงชัชวาลย์ของประเทศไทย นั่นคือเป็นยุคอุตสาหกรรมที่เศรษฐกิจโตปีละ 10-20 เปอร์เซ็นต์ แต่ในเวลานี้เราไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้อีกแล้ว เพราะเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ ที่ผ่านมานั้นเรารอดตัวมาได้เพราะการท่องเที่ยวเป็นหลัก ปีก่อนที่โควิด-19 จะเข้ามาถือเป็นปีทองของการท่องเที่ยวไทยขณะที่ภาคที่การเกษตรและอุตสาหกรรมถดถอย และนี่เองที่ทำให้เรามีความเสี่ยงเชิงระบบมากขึ้นเพราะเราพึ่งการท่องเที่ยวอย่างหนัก ทั้งที่อันที่จริงเราควรพยายามกระจายความเสี่ยงไปในเศรษฐกิจด้านต่างๆ ด้วย แต่เมื่อเราไม่ได้กระจายความเสี่ยง เมื่อโรคระบาดเข้ามาก็กระทบการท่องเที่ยวโดยตรงจนส่งผลดังที่ทราบกัน

พร้อมกันนี้ โลกก็เปลี่ยนไปเยอะ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือด้านเทคโนโลยี ที่ผ่านมาประเทศไทยปรับตัวทางดิจิตัลค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราปรับตัวไม่ทันคือการบรรจบกันของอุตสาหกรรม (industry convergence) แต่เดิมใครจะไปคิดว่าธุรกิจส่งอาหาร ส่งของ ขนส่ง และทำแอพลิเคชั่นจะไปด้วยกันได้

ขณะเดียวกัน เรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกรวน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องของน้ำท่วม แต่ยังเป็นเรื่องภูมิอากาศและอุณหภูมิ ก็ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงเชิงระบบมากขึ้น

สุดท้ายคือเรื่องของการเมือง คิดว่าคงทราบกันแล้วว่าอย่างน้อยในระยะสั้นและระยะกลาง เราเห็นความเสี่ยงของไทยด้านการเมืองอยู่ในระดับสูงมาก ดังนั้น เมื่อประมวลผลทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้วก็จะพบว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงเชิงระบบใหญ่ๆ ในสองแนวคิดซึ่งเราเรียกว่า decoupling

อยากให้อาจารย์ขยายความว่าความเสี่ยงเชิงระบบดังกล่าวคืออะไร

ที่ผ่านมา ผมยังไม่ได้กล่าวถึงปัจจัยระดับโลกนั่นคือภูมิรัฐศาสตร์ หมายถึงการแข่งขันกันเรื่องการทหาร เทคโนโลยีและเศรษฐกิจระหว่างประเทศจีนกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยเองก็ต้องมียุทธศาสตร์ต้องรับมือกับการแข่งขันเหล่านี้เช่นกัน ส่วนในประเทศเราเอง ความเสี่ยงสำคัญของเราอยู่ที่ภาครัฐ ทั้งในความหมายของรัฐไทยที่เป็นต้นตอของความเสี่ยงเชิงระบบที่ใหญ่ที่สุด สำคัญที่สุด เป็นหัวใจของการพัฒนาหรือไม่พัฒนาไปในอนาคต นับเป็นความเสี่ยงภายใน

ขอจำแนกว่าในอนาคต ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ตรีศูลของความท้าทาย’ ประการแรกคือเรื่องโลกรวน เป็นปัจจัยที่ใหญ่มากๆ ซึ่งประเทศใดๆ ในโลกไม่มีทางหนีพ้น

ประการต่อมาคือความเครียดสะสม (chronic stress) กับ shock ยกตัวอย่างว่า โลกรวนจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมอันจะสร้างความเครียดสะสม นอกจากนี้ โลกรวนก็จะทำให้เกิดภาวะ shock ได้ด้วยเช่นกันจากกรณีน้ำท่วมใหญ่ฉับพลันหรือระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นต้น

ประการที่สามคือ เทคโนโลยีพลิกผัน (artificial intelligence reality) คือการใช้เทคโนโลยีในระดับฐานรากซึ่งจะส่งผลอย่างมากโดยเฉพาะในอนาคตที่อุตสาหกรรมจะบรรจบกันเร็วขึ้นจนเราตั้งตัวไม่ทัน ดังนั้น ความเสี่ยงจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ทั้งหมดนี้นับเป็นสามความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ตั้งแต่ก่อนครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน และน่าจะเป็นโจทย์สำคัญของอนาคตประเทศไทย

เรามีความท้าทายในเชิงยุทธศาสตร์อยู่สองประเด็น นั่นคือการแยกออกจากกันของสองอย่าง (decoupling) หรือก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการใช้ทรัพยากร เพราะที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจล้วนแล้วแต่มาจากการใช้ทรัพยากรอย่างปู้ยี่ปู้ยำ โจทย์สำคัญของโลกต่อจากนี้คือจะ decoupling อย่างไรระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการใช้ทรัพยากร หรือจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจยังโตได้โดยใช้ทรัพยากรน้อยลง 

การ decoupling ประการต่อมาคือ ในอนาคต ผลิตภาพจะสูงขึ้นเพราะมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เราจึงต้องตั้งคำถามต่อผลิตภาพกับค่าจ้างแรงงานด้วย คิดว่าถ้าเรายังใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในประเทศไทยไปเรื่อยๆ เราน่าจะสร้างผลิตภาพได้มากขึ้น แต่ค่าจ้างแรงงานจะไม่เพิ่มตาม แปลว่าความท้าทายเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจะยังเพิ่มมากขึ้นแน่นอน ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือ เราจึงต้องทำให้เศรษฐกิจโตได้โดยใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่หากเราจะใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยก็อาจทำให้ค่าจ้างไม่เพิ่มขึ้น ถือเป็นภาวะ dilemma เลยก็ว่าได้ 

นัยหนึ่ง การจะเปลี่ยนแปลงการเติบโตทางเศรษฐกิจสีน้ำตาลแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว จึงต้องเป็นการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ เป็นการเปลี่ยนด้านการผลิต การบริโภคและการขนส่งด้วย ทั้งนี้ อนาคต ไทยต้องรับมือกับภาวะโลกรวน เราต้องเริ่มการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้แล้วเพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องเปลี่ยนตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน

ปัญหาคือการเปลี่ยนนั้นต้องพึ่งกำลังภายในของภาครัฐพอสมควร เพราะการเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อยอาจไม่ทัน และการเปลี่ยนครั้งใหญ่มักมีลักษณะเป็น top down และพึ่งทุน แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องการความเป็นธรรมด้วย กล่าวได้ว่าเราต้องทำใหญ่ ทำเร็วแต่ก็ต้องเน้นความเป็นธรรม ต้องให้คนมีส่วนร่วม ถือเป็น dilemma  และเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก 

หมายความว่า เราต้องผสมผสาน decoupling ทั้งสองประเด็นกับภาวะ dilemma เหล่านี้ให้ได้  

มองว่าความเสี่ยงไหนที่สำคัญและเป็นอันตรายต่อประเทศไทยในปัจจุบันที่สุด

ถ้าเทียบภาพในปัจจุบันหนีไม่พ้นเรื่องการเมือง เพราะการเมืองเป็นสิ่งที่กำหนดความสามารถของรัฐที่จะนำทางประเทศไทยให้ไปสู่ทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแต่ก็ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมด้วย รัฐคือตัวกลางของการขับเคลื่อนไทยให้ไปสู่ภาพอุดมคติในฉากทัศน์ที่เราตั้งไว้ 

แต่ตอนนี้การเมืองกับรัฐเป็นเสมือนหัวใจที่ไม่รู้จะลงตัวอย่างไร เมื่อรัฐกับการเมืองไม่แน่นอนในด้านใดด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดความเสี่ยงในเชิงระบบ หากมองในระยะสั้น ผมเชื่อว่าสิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่สำคัญในประเทศไทยคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ตอนนี้เราเป็นเหมือนกบที่ทะเลาะกันอยู่โดยที่สภาพอากาศของโลกก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเราทะเลาะกันใกล้จะเสร็จก็ปรากฏโลกแย่เกินกว่าที่เราจะจัดการได้ แต่ถึงอย่างไร เราก็ต้องลดและเลี่ยงความเสี่ยง หรือหากว่าเกิดผลกระทบ เราจะฟื้นฟูอย่างไร ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความเสี่ยงระยะยาวและน่ากลัวอย่างยิ่งในภายภาคหน้า

ก่อนหน้าการเข้ามาของโควิด-19 ประเทศไทยก็เผชิญกับความเสี่ยงอยู่แล้ว อาจารย์คิดว่าโรคระบาดซ้ำเติมหรือเปิดแผลความเสี่ยงใหม่ๆ ในไทยมากแค่ไหน

ในเชิงการวิเคราะห์ เราเรียกโควิด-19 ว่าเป็น shock ส่วนปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมอยู่ในประเทศมานานนั้นเป็น chronic stress เมื่อมาประสบกันก็ทำให้ทุกอย่างที่ถูกซุกไว้ใต้พรมนั้นเผยตัวออกมา

แน่นอน ผมคิดว่าโควิด-19 เป็นสิ่งที่แย่มากๆ มันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมาก แต่ในอีกมุมมันก็ทำให้เราตระหนักรู้ว่าประเทศไทยจะเป็นแบบเดิมต่อไปไม่ได้แล้ว เราต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง เราจะเอาทุกอย่างซุกไว้ใต้พรมแล้วค่อยๆ แก้ไปเรื่อยๆ ทีละจุดไม่ได้แล้ว อย่างน้อยในเชิงกระบวนทัศน์ ความคิดคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็เห็นแล้วว่าประเทศไทยไปต่อไม่ได้ถ้ายังปล่อยให้ปัญหาหมักหมม คือถ้าจะใช้อะไรสักอย่างจากสถานการณ์โควิด-19 ก็คือการยอมรับว่าประเทศนี้ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในที่สุด

หากเราอยากแก้ไขปัญหาเชิงระบบทั้งหมดโดยเป็นธรรม จะแก้ปัญหาความเสี่ยงเชิงระบบอย่างไรได้บ้าง

ประเด็นนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการคิดภาพอนาคต เราพยายามมองอนาคตให้ไกลๆ และพยายามดูว่าอะไรเป็นปัจจัยโครงสร้างเชิงพื้นฐานที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบหรือโครงสร้างที่ช่วยลดความเสี่ยงไปด้วยในตัว

เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว เราคิดว่า เราต้องก้าวข้ามรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำตาลที่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีเขียวให้ได้ แน่นอนว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีเขียวนั้นมีได้หลายแบบ แต่อย่างน้อยในเชิงทรัพยากรก็ต้องมีการใช้เศรษฐกิจเชิงหมุนเวียนและเป็นธรรมมากขึ้น ดังนั้น การลดความเสี่ยงเชิงระบบของไทยมีเพียงแค่การเข้าไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบสีเขียว ในความหมายกว้างๆ คือการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

แต่ลำพังด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวนั้นไม่พอ เพราะเราเชื่อว่าการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบสีเขียวก็อาจไม่เป็นธรรมก็ได้ เพราะอำนาจยังเป็นของชนชั้นนำและนายทุนอยู่ซึ่งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอันจะนำไปสู่ความเสี่ยงในเชิงระบบได้อีก เราจึงเชื่อว่าต้องมีการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากร ไม่ให้กระจุกอยู่แค่กลุ่มคนไม่กี่กลุ่มคนหรือไม่กี่กลุ่มทุนหรือเฉพาะในมหานครอย่างกรุงเทพฯ ด้วย

ความท้าทายคือ เราจะพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างไรโดยที่มีการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรให้เป็นธรรม เพราะทรัพยากรในที่นี้ไม่ใช่แค่ดิน น้ำหรือปลา แต่ยังเป็นเรื่องของความรู้ ข้อมูลด้วย เพราะอนาคต ข้อมูลจะเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะเป็นแหล่งของความมั่งคั่งในอนาคตด้วย และเวลานี้ข้อมูลก็อยู่บนแพล็ตฟอร์มไม่กี่เจ้า แปลว่าพื้นฐานความมั่งคั่งในอนาคตตกอยู่ในมือกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม

อาจารย์มองว่าเราใกล้เคียงกับการเข้าใกล้ฉากทัศน์แบบไหนมากที่สุด หากประเทศไทยยังเป็นเช่นนี้ต่อไป 

แน่นอนว่าอนาคตเป็นอนันต์ มีความเป็นไปได้มากมาย แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ เราต้องลดให้อยู่ในจำนวนที่พอจะคิดได้ ซึ่งก็คือฉากทัศน์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

ฉากทัศน์ที่น่าจะใกล้กับปัจจุบันมากที่สุดคือการพัฒนาของไทยที่ยังมีลักษณะของการบริโภคและผลิตอย่างสิ้นเปลือง ขณะเดียวกันเราก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องอำนาจเหนือทรัพยากร มีไม่กี่คนในสังคมที่เปลี่ยนมือการถือครองอำนาจนั้นโดยที่อำนาจก็ยังกระจุกตัวแค่ในกรุงเทพฯ ด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ฉากทัศน์ของเราออกมาเป็น ‘กิ้งกือในเขาวงกต’ คือเราไปไม่พ้นเสียที

หากเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งเศรษฐกิจกระจุกตัว ยังใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ขณะที่ก็มีสภาวะโลกรวน เราคงหนีไม่พ้นสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘โศกนาฏกรรมไทย’ นั่นคือประเทศไม่อาจพัฒนาไปต่อได้จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งจากสภาพปัจจุบัน แต่ยังมีความขัดแย้งจากปัญหาโลกรวนที่จะยิ่งทำให้ปัญหาด้านการเมืองที่หมักหมมมานานยิ่งแย่เข้าไปอีก ถือว่าเป็นฉากทัศน์ที่แย่ยิ่งกว่ากิ้งกือในเขาวงกต ดังนั้น ชนชั้นนำไทยจึงต้องเจรจาต่อรองเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปต่อได้

สมมติว่าระยะสั้นเราสามารถต่อรอง ตกลงกันได้ในระดับหนึ่ง เราจะไปถึงฉากทัศน์ ‘ปลาไหลพ้นโคลนตม’ คือเรายังเป็นปลาไหลที่อยู่ในตมแต่ก็เริ่มพ้นมากแล้ว แม้จะยังอยู่ในโคลนตมซึ่งก็คือเศรษฐกิจที่ยังเป็นสีน้ำตาล ขณะที่ในเชิงอำนาจเหนือทรัพยากรมันเริ่มกระจายตัว มีการกระจายอำนาจจากกลุ่มชนชั้นนำ กลุ่มทุนในกรุงเทพฯ ทำให้ภูมิภาคเริ่มโตขึ้น เรียกว่าเป็นเส้นทางกระจายอำนาจก่อนไปสู่รูปแบบเศรษฐกิจสีเขียว ทั้งนี้ การกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเดียวไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เราไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ มันเพียงแต่ทำให้เราพ้นโคลนตมขึ้นมาเท่านั้น

อีกฉากทัศน์หนึ่งคือ ‘ไก่ออร์แกนิกในเล้าไฮเทค’ ความออร์แกนิกก็เป็นสีเขียวอยู่บ้าง ใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่ว่ายังอยู่ในเล้า ไม่ได้เป็นไก่อิสระและยังต้องถูกเชือดอยู่ดี แปลว่าประเทศไทยมีโอกาสเข้าไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นด้วยเพราะกลุ่มทุนเริ่มเห็นแล้วว่าความมั่งคั่งอยู่ที่ธุรกิจสีเขียวในอนาคต

อย่างเวลานี้เราจะเริ่มเห็นแล้วว่าชนชั้นนำ ชนชั้นกลางบริโภคของออร์แกนิกเพราะทุกคนเชื่อว่าเป็นสิ่งดี การบริโภคที่ยั่งยืน สะอาด จะนำไปสู่การผลิตสิ่งเหล่านี้ ยังไม่นับว่ามีแรงกดดันจากการค้าระดับโลกทั้งสหภาพยุโรป (European Union-EU) อเมริกา ญี่ปุ่นหรือจีนเองก็ตาม ทำให้กลุ่มทุนไทยจำเป็นต้องเคลื่อนตัวเองไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้ได้ แต่ในฉากทัศน์นี้ คนไทยก็ยังเป็นไก่ในเล้าที่กลุ่มทุนใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกอบโกยจากเศรษฐกิจอยู่ดี 

ทั้งสองฉากทัศน์นับเป็นทางสองแพร่งที่มีความเสี่ยงและความเหลื่อมล้ำสูง ฝั่ง ‘ปลาไหลพ้นโคลนตม’ มีความเสี่ยงเชิงระบบจากการเมืองน้อยลงเพราะมีการกระจายอำนาจ คนเริ่มเข้าถึงอำนาจเชิงเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกรวนและเศรษฐกิจจะยังไม่เติบโตมากนักเพราะเป็นเศรษฐกิจแบบเดิมๆ

ในทางกลับกัน ฉากทัศน์ ‘ไก่ออร์แกนิกในเล้าไฮเทค’ ก็จะทำให้เรารวยขึ้น GDP ของประเทศก็คงโตเพราะบริษัทใหญ่ๆ ใช้เทคโนโลยีทันสมัยพาประเทศไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวได้ แต่ก็จะมีแต่มีความเสี่ยงในเชิงระบบ เพราะมันจะไปสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นน้ำและชนชั้นอื่นๆ ที่ไม่ได้ผลประโยชน์จากระบบเหล่านี้ ผมเรียกว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนเศรษฐกิจสีเขียวกับกลุ่มคนเศรษฐกิจสีน้ำตาล นำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบอีกแบบคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น จะเห็นว่าทั้งสองฉากทัศน์นี้ยังมีความเสี่ยงเชิงระบบอยู่แม้จะมีแหล่งของความเสี่ยงต่างกันก็ตาม

ท้ายที่สุด เราอยากไปให้ถึงฉากทัศน์ ‘พิราบไร้พรมแดน’ เราหวังว่าถ้าเราพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีเขียวพร้อมกับที่มีการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรทุกรูปแบบ ก็จะเป็นภาพอุดมคติของไทยที่ทำให้ความเสี่ยงเชิงระบบน้อยลงทั้งเชิงเศรษฐกิจและเชิงการเมือง

กล่าวโดยสรุป การจะไปถึงฉากทัศน์ที่ผมกล่าวไปเบื้องต้นได้นั้นมีเส้นทางของกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรก่อนที่จะให้เศรษฐกิจเป็นสีเขียว หรือก็คือการกระจายอำนาจไปยังเทศบาล ค่อยๆ พยายามเปลี่ยนเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น จังหวัด ชุมชนให้เข้าไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวให้ได้ โดยมีเงื่อนไขคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 

อีกด้านหนึ่งคือ ให้เศรษฐกิจเป็นสีเขียวก่อนแล้วค่อยกระจายอำนาจเหนือทรัพยากร คือให้กลุ่มทุนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ก่อน เพราะเราจำเป็นต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานก่อน เรียกว่าเป็น The Green New Deal ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ จะเกิดได้ก็ต้องผ่านการลงทุนระดับล้านล้านบาทขึ้นไป 

ไม่ว่าเราจะไปทางไหน ย่อมหนีไม่พ้นการลดการผูกขาดกลุ่มทุนด้วยพลังผู้บริโภคและกฎหมาย ไม่เช่นนั้นเราคงติดกับดักเศรษฐกิจสีเขียวที่ผูกขาดแบบเดิม

จากฉากทัศน์ต่างๆ อาจารย์มองว่าฉากทัศน์แบบใดจะเกิดในไทยเป็นอันดับแรก

ผมเชื่อเรื่องการกระจายอำนาจนะ แต่ไม่ได้เชื่อในความหมายของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเดียว ตอนนี้อำนาจเหนือทรัพยากรมันกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และในมือกลุ่มทุน กลุ่มคนไม่กี่คนเท่านั้น ขั้นแรก เราจึงต้องกระจายอำนาจ (decentralized) แต่สิ่งที่เราคาดหวังคือ เราหวังว่าเราจะไปมากกว่าระบบอำนาจแบบแยกศูนย์ คือไม่ใช่กระจายอำนาจไปที่ อปท. แล้วต้องพึ่ง อปท. อย่างเดียว เพราะควรจะให้เกิดการเกื้อหนุนกันระหว่างระบบชุมชนกับระบบรัฐด้วย

แล้วเราไม่ควรกระจายแค่อำนาจในเชิงการปกครองอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรด้วย เพราะฉากทัศน์ไก่ออร์แกนิกในเล้าไฮเทคก็น่าห่วง มันแปลว่าถึงที่สุดกลุ่มทุนไม่น่ายอมให้เราไปสู่ภาพในอุดมคติได้ คงมีการล็อบบี้ มีวิธีการต่างๆ ที่ทำให้เราเข้าไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวภายใต้การครอบงำของกลุ่มทุนเดิม ดังนั้น หากให้เลือก ก็อยากให้ไปในเส้นทางของการกระจายอำนาจมากกว่า

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการกระจุกตัวของอำนาจในประเทศไทย หากมองในเชิงเศรษฐกิจจะพบว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากระจุกตัวที่กรุงเทพฯ เกือบหมด ดังนั้น เราจึงควรไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ต่างจังหวัดให้ได้ด้วย ไม่เพียงแค่เรื่องน้ำประปา ไฟฟ้า ถนนหาทาง แต่รวมถึงเรื่องความรู้ ดิจิตัลต่างๆ ซึ่งเป็นการลงทุนจากเอกชนส่วนใหญ่ ดังนั้น ในด้านการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านความมั่งคงในประเทศไทยในอนาคตก็ยังถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนในกรุงเทพฯ อยู่ดี

ดังนั้น ผมคิดว่าเป็นไปได้มากว่า เราจะไปสู่ฉากทัศน์ที่เป็นเศรษฐกิจสีเขียวก่อนการกระจายอำนาจเหนือทรัพยากร จะเห็นได้จากการที่เวลานี้คนรวยจำนวนมากลงทุนในเรื่องพลังงานทดแทน 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ มีประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการบ้าง และเราจะร่วมผลักดันประเทศไทยไปสู่อนาคตในอุดมคติอย่างไร

อาจต้องเริ่มจากการด่าก่อนมั้ง (หัวเราะ) แต่คงไม่จบแค่นั้นหรอก 

ประเทศไทยจำเป็นต้องรื้อสร้างโครงสร้างพื้นฐานก่อน ผมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองนะ แต่คิดว่าการไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวนั้นจำเป็นต้องเกิดการรื้อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในไทยอยู่มาก ที่ผ่านมาเราเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่โดยไม่รื้อสร้างระบบเก่า เราไปข้างหน้าโดยไม่จัดการปัญหาข้างหลังและทำให้ทุกอย่างมันหมักหมมไปหมด

ผมคิดว่ามันต้องมีเวทีที่เราสามารถต่อรองกันได้ โดยเป็นการต่อรองทั้งในเชิงสาระและเชิงกติกาด้วย ผมคิดว่าสิ่งที่ยังขาดไปคือการเมืองในชีวิตประจำวัน การต่อรองกับเพื่อนบ้าน กับคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กับคนขายของข้างทาง การต่อรองต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นเรื่องพื้นฐานมาก และเป็นการต่อรองที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนพรรคการเมืองในสภาด้วย มันคือเวทีการต่อรองในชีวิตประจำวันต่างๆ เราต้องรู้และปกป้องสิทธิของตัวเองในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ให้ปัญหาหมักหมมไปแล้วปล่อยไป และเมื่อเราส่งเสียงพิทักษ์สิทธิตัวเองแล้ว รัฐก็ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยโดยจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ

มองในภาพกว้าง เราควรวางยุทธศาสตร์นโยบายสาธารณะอย่างไร

เราแบ่งออกเป็นสี่เรื่อง ได้แก่เรื่องของการต่อรองของคนในสังคมหรือกระบวนการสานเสวนา เป็นกติกาประชาคมที่ไม่ใช่แค่เรื่องประชาพิจารณ์ สองคือเรื่องดิจิตัล ที่ผ่านมาไทยก็ทำนโยบายดิจิตัล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันมีการ digitalization ที่ไม่นำไปสู่การฟื้นฟูและตั้งหลักใหม่ของคนด้อยโอกาสในสังคม ผมว่านโยบายรัฐในปัจจุบันยังเน้นสิ่งสำคัญที่สุดก่อนแล้วค่อยๆ ให้มันไหลไปสู่คนด้อยโอกาส ซึ่งต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ตรงนี้เพราะเรามี digitalization ที่ทำให้กลุ่มทุนสร้างรายได้ได้เยอะ แต่เราละเลยแรงงาน ละเลยคนชนบท 

ลำดับสามคือการกระจายอำนาจ หมายถึงการกระจายอำนาจไปสู่เครือข่าย ผมอยากเห็นการอภิบาลด้วยเครือข่ายไม่ใช่การอภิบาลด้วย อปท. และลำดับสุดท้ายคือการรื้อสร้างและประกอบใหม่ของประเทศไทย ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันไปจนถึงเรือรบ นั่นคือเราต้องคิดกันได้แล้วว่าเราควรจะซื้อเรือรบเมื่อไหร่

อาจารย์มองแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลอย่างไร เพราะน่าจะเป็นเวลาไล่เลี่ยกับระยะเวลาในโครงการพอดี

หากอ่านจริงๆ ยุทธศาสตร์ชาติในเชิงสาระไม่ใช่ไม่ดี มันมีไอเดียที่ดูใช้ได้ แต่ปัญหาของยุทธศาสตร์ชาติคือกระบวนการที่ได้มาของยุทธศาสตร์มากกว่า สิ่งที่อยู่ในยุทธศาสตร์อาจเป็นสาระที่ไทยควรจะทำ แต่ไม่ได้เป็นยุทธศาสตร์ในเชิง strategic เพราะเซนส์ของยุทธศาสตร์คือเราต้องมุ่งบางเรื่องและลืมบางเรื่อง แต่ยุทธศาสตร์ชาตินั้นคือการให้เราทำสิ่งที่คิดว่าดีบนโลกในทุกเรื่อง เราจึงไม่รู้ว่าเราจะไปทางไหนกันแน่ มันจึงไม่ได้แสดงถึงทิศทางในลักษณะของฉากทัศน์ และอาจไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องความไม่แน่นอน 

คือเราไม่ได้เสนอทางออกให้ประเทศไทย เราเพียงแต่เสนอทางเลือกและทิศทางที่มาจากการพูดคุยและต่อรองของคนในประเทศนี้ แต่ยุทธศาสตร์ชาติเขาเลือกมาให้เราแล้ว มันจึงมีลักษณะของการที่ไม่ได้คิดถึงความไม่แน่นอนในอนาคตเลย

*หมายเหตุ บทสัมภาษณ์เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.252 ‘อนาคตไทย 2585’ กับ อภิวัฒน์ รัตนวราหะ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save