fbpx

เจาะลึก 3 ฉากทัศน์ของอาชีวศึกษา – ว่าด้วยแนวทางการศึกษาสายอาชีพในโลกใหม่

ท่ามกลางกระแส digitalization และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า แรงงานไทยกำลังอยู่บนทางแพร่งของการตัดสินใจระหว่าง ‘จะไปต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’ ในอนาคตอันใกล้มีการคาดการณ์ว่า แรงงานไทยมีความเสี่ยงถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติและ AI ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้หลายคนต้องเปลี่ยนตำแหน่งงานหรือจำเป็นต้องย้ายสายงานใหม่ คนที่ ‘ไปต่อ’ คือคนที่สามารถพัฒนาทักษะและยกระดับรายได้ตัวเองได้ ส่วนคนที่ ‘พอแค่นี้’ คือคนที่เสียงาน หรือเปลี่ยนงานใหม่แล้วไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทักษะเดิมที่ตัวเองมีได้

ผลลัพธ์สุดท้ายคือ ปัญหาตลาดแรงงานสองขั้ว และความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานทักษะสูงและแรงงานทักษะต่ำ

ไม่ต้องเถียงกันมาก ทุกคนย่อมรู้ดีว่า ‘การพัฒนาทักษะแรงงานและยกระดับคุณภาพคน’ คือคำตอบสำหรับการเตรียมความพร้อมประเทศไทยและคนไทยในการรับมืออนาคต แต่คำถามที่น่าปวดหัวกว่านั้นคือ แล้วจะทำอย่างไร?

ในประเทศพัฒนาแล้ว หนึ่งวิธีการสำคัญในการเตรียมแรงงานให้พร้อมต่อการเผชิญโลกอันผันผวน คือการพัฒนาคนผ่านระบบอาชีวศึกษาและการศึกษาสายอาชีพ กระนั้นผู้กำหนดนโยบายต่างก็รู้ดีว่า วิธีคิดและการจัดการระบบอาชีวะแบบเดิมอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการ ‘คิดใหม่’ และ ‘ยกเครื่อง’ กันครั้งใหญ่

101 ชวนเจาะลึก 3 ฉากทัศน์ของอาชีวศึกษาในศตวรรษที่ 21 เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจความเป็นไปได้ของแนวทางการศึกษาสายอาชีพในโลกใหม่ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้มองเห็นว่าอะไรคือเงื่อนไขสำคัญที่จะเป็นจุด turning point ของอาชีวศึกษาในอนาคต

อาชีวศึกษากับการปะทะกันของ 2 เรื่องเล่า

ปัจจุบันการศึกษาสายอาชีพวางอยู่บนการปะทะกันของเรื่องเล่า (narrative) อย่างน้อย 2 ชุด

เรื่องเล่าแบบแรก – เป็นการมองอาชีวศึกษาในแง่ลบ (pessimistic) กล่าวคือ การศึกษาสายอาชีพจะกลายเป็นการศึกษาที่ผู้คนมองข้ามและเป็นตัวเลือกที่สองในการศึกษา ฐานคิดสำคัญของเรื่องเล่านี้คือ การศึกษาสายอาชีพไม่เพียงพอต่อการรับมือการดิสรัปต์ทางเทคโนโลยีและกระบวนการ digitization ในเศรษฐกิจ เมื่อตลาดแรงงานเกิดปรากฏการณ์ตลาดแรงงานสองขั้ว (job polarization) หรือปรากฏการณ์ที่แรงงานทักษะสูงและทักษะพื้นฐานมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่แรงงานทักษะระดับกลางหรือกลุ่มแรงงานฝีมือจะค่อยๆ หายไป คนที่จบอาชีวศึกษาส่วนใหญ่จะตกอยู่ในกลุ่มหลัง

เรื่องเล่าแบบที่สอง – เป็นการมองอาชีวศึกษาในแง่บวก (optimistic) กล่าวคือ การศึกษาสายอาชีพจะขยายขอบเขตการเรียนรู้มากกว่าที่เคย และไม่ได้จำกัดการเรียนรู้อยู่แค่วัยใดวัยหนึ่ง แต่ผู้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเรียนรู้ได้ โดยมีการปรับหลักสูตร รูปแบบ ตลอดจนสถานที่ในการเรียนรู้ให้มีความหลากหลายมากขึ้น หากมองในแง่นี้จะกล่าวได้ว่าการศึกษาสายอาชีพจะขึ้นมามีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะระบบการศึกษาที่ผลิตแรงงานระดับสูงที่มีประสิทธิภาพและศักยภาพที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานโดยเฉพาะแรงงานในภาคบริการ และสามารถลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ตลาดแรงงานสองขั้ว

เรื่องเล่าทั้งสองชุดต่างตอบโต้และถ่วงดุลกันเสมอมา มีหนึ่งองค์กรที่ศึกษา ติดตาม และวิเคราะห์ประเด็นนี้อย่างจริงจัง คือ Cedefop (European Centre for the Development of Vocational Training) หรือหน่วยงานของสหภาพยุโรปที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาและการฝึกอบรมระดับอาชีวศึกษาประจำสหภาพยุโรป โดย Cedefop ได้จัดทำรายงาน Vocational education and training in Europe 1995-2035 : Scenarios for European vocational education and training in the 21st century ที่ประมวลองค์ความรู้ที่ได้จากการติดตามความเป็นไปของระบบการศึกษาสายอาชีพในสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 1995 และการสัมภาษณ์เชิงลึกของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น หน่วยงานภาครัฐ กลุ่มนายจ้าง แรงงาน เป็นต้น เพื่อสร้างฉากทัศน์ (scenario) อาชีวศึกษาในศตวรรษที่ 21

วัตถุประสงค์หลักของการสร้างฉากทัศน์นี้ขึ้นมา คือเพื่อทำให้เห็นถึงภาพความเป็นไปได้และการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายซึ่งล้วนมีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากระบบอาชีวศึกษาเป็นการพัฒนาในลักษณะขึ้นกับเส้นทางในประวัติศาสตร์ (path dependent) อย่างมาก ฉะนั้นการจะปรับเปลี่ยนการศึกษาสายอาชีพให้ตอบโจทย์โลกที่มีความผันผวนสูงขึ้นอยู่กับนโยบายที่เลือกใช้ในวันนี้

Cedefop สร้างฉากทัศน์อาชีวศึกษาในศตวรรษที่ 21 ออกมา 3 ฉาก ซึ่งมีหลักและเนื้อหาที่ต่างกันออกไป ได้แก่ (1) Lifelong learning at the heart – Pluralist VET (2) Occupational and professional competence at heart – Distinctive VET และ (3) Job-oriented training at the heart – Special purpose and/or marginalised VET  

ฉากทัศน์ที่ 1 : อาชีวศึกษาแบบพหุนิยม โดยมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นศูนย์กลาง

สำหรับ ‘อาชีวศึกษาแบบพหุนิยม โดยมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นศูนย์กลาง’ (lifelong learning at the heart – pluralist VET) นั้นวางอยู่บนพื้นฐานของการขยายความเข้าใจ ความหมาย และแนวคิดของการศึกษาสายอาชีพเสียใหม่ โดยให้น้ำหนักกับการเรียนรู้ที่อิงกับตลาดแรงงาน นอกจากนี้การเรียนรู้ในระบบอาชีวศึกษาจะไม่ถูกจำกัดว่าจะต้องเรียนในสถาบันใดสถาบันหนึ่ง แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบบูรณาการ (integrated lifelong learning)

อาชีวศึกษาแบบพหุนิยมเป็นการนิยามความหมายของการศึกษาสายอาชีพใหม่ จากเดิมที่อาชีวศึกษาจะเป็นการเรียนการสอนที่แยกย่อยไปตามทักษะเฉพาะ เช่น ช่างยนต์ ช่างกล ช่างก่อสร้าง ฯลฯ ในฉากทัศน์นี้รูปแบบการศึกษาดังกล่าวจะพบเห็นได้น้อยลง ในทางกลับกันจะเห็นรูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะเชื่อมโยงและผสมผสานมากขึ้น เนื่องจากทักษะการรู้รอบกลายเป็นเรื่องสำคัญในโลกยุค VUCA (volatility หรือความผันผวน, uncertainty หรือความไม่แน่นอน, complexity หรือความซับซ้อน และ ambiguity หรือความคลุมเครือ)

ในฉากทัศน์อาชีวศึกษาแบบพหุนิยม ขอบเขตระหว่างการศึกษาสายอาชีพและสายสามัญจะพร่าเลือนและทับซ้อนกันมากขึ้น ไม่ได้แบ่งแยกกันอย่างชัดเจนเหมือนที่ผ่านมา และยังเน้นย้ำความจำเป็นในการผสมผสานทักษะอาชีวศึกษาและวิชาทั่วไปเข้าด้วยกัน โดยจะโฟกัสที่การพัฒนาทักษะและความสามารถโดยรวม

สำหรับอาชีวศึกษาในฉากทัศน์นี้ยังต้องการการวางทิศทางการศึกษาใหม่ จากที่แต่ก่อนเมื่อจบการศึกษามาก็จะได้วุฒิการศึกษาตามทักษะที่เรียนเพื่อเอาไปใช้ต่อสำหรับการทำงานในสายอาชีพนั้นๆ แต่อาชีวศึกษาแบบพหุนิยมจะเปิดให้วุฒิการศึกษาครอบคลุมทักษะที่กว้างมากขึ้น สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของทักษะและความสามารถเฉพาะทาง ตลอดจนความจำเป็นที่ผู้เรียนต้องมีการปรับปรุงและเรียนรู้ทักษะใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคผันผวน

ขณะที่กลุ่มเป้าหมายของการเรียนอาชีวศึกษาก็เปลี่ยนไปเช่นกัน กลุ่มเป้าหมายจะเกิดการขยายกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด โดยเน้นที่ความต้องการของผู้เรียนทุกวัย ซึ่งสอดคล้องกับระบบหลักสูตรที่จะเน้นไปที่การออกแบบหลักสูตรให้เหมาะกับแต่ละบุคคล การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (problem-based learning) และการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน (project-based learning) จะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายและผสมผสานรูปแบบการเรียนรู้ ตลอดจนรูปแบบการสอนให้หลากหลายที่สุด

และหากมองต่อไปยังเส้นทางความก้าวหน้าของอาชีวศึกษาในฉากทัศน์อาชีวศึกษาแบบพหุนิยมก็อิงอยู่กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีความโปร่งใสในทุกระดับ เพื่อลดกำแพงที่จะกั้นการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าในอาชีพ ขณะเดียวกันด้วยการคาดการณ์ว่าอาชีวศึกษาจะขยับไปในทางที่โฟกัสทักษะที่ครอบคลุม กลยุทธ์การพัฒนาสมรรถนะ และการเรียนรู้โดยการทำงานจริง ทั้งหมดส่งผลต่อการกำกับดูแลการศึกษาสายอาชีพ ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนหรือกลุ่มทุน เช่น การกำหนดทิศทางหลักสูตร การเปิดรับผู้เรียนเข้าฝึกงาน หรือการสนับสนุนเงินทุนและทรัพยากร เป็นต้น

ด้านบทบาทของภาครัฐเอง แม้จะไม่ได้ถึงขั้นเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในระดับโครงสร้างและเนื้อของระบบอาชีวศึกษา แต่ภาครัฐก็จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดนโยบายและกลไกการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับทิศทางการศึกษาที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในฉากทัศน์นี้ที่การศึกษาสายอาชีพมีเส้นทางการเติบโตที่ยืดหยุ่นและผู้เรียนมีทักษะที่กว้างขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกการกำกับดูแลและการร่วมมือระหว่างภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง ไม่เช่นนั้นหากกลไกที่ว่านี้อ่อนแอลง ฉากทัศน์อาชีวศึกษาแบบพหุนิยมมีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดการกระจัดกระจาย (fragmentation) และความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 2 : อาชีวศึกษาแบบเฉพาะเจาะจง โดยเน้นทักษะด้านวิชาชีพเป็นศูนย์กลาง

สำหรับ ‘อาชีวศึกษาแบบเฉพาะเจาะจง โดยเน้นทักษะด้านวิชาชีพเป็นศูนย์กลาง’ (occupational and professional competence at heart – distinctive VET) มีความพยายามที่จะเสริมย้ำจุดโดดเด่นของอาชีวศึกษา อย่างการศึกษาวิชาชีพที่จะนำไปประกอบอาชีพ โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้

อาชีวศึกษาในฉากทัศน์นี้จะถูกจัดระเบียบตามข้อกำหนดและเอกลักษณ์ของอาชีพหรือวิชาชีพนั้นๆ โดยมีการกำหนดรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มั่นใจได้ว่าผู้เรียนจะมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับตลาดแรงงาน แต่ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงการรักษาสมดุลระหว่างการเรียนภาคทฤษฎีในโรงเรียนกับการฝึกอบรมในสถานประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักคือเยาวชนที่ศึกษาในสายอาชีพ นอกจากนี้ภารกิจหลักของอาชีวศึกษาก็คือการช่วยให้เยาวชนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นอย่างมืออาชีพ ชำนาญการในทักษะเฉพาะของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมเปิดรับต่อนวัตกรรมใหม่ๆ

ด้านแนวทางการเรียนรู้จะเน้นที่การจัดการเรียนรู้แบบฝึกปฏิบัติเป็นฐาน (practice-based learning) และการเรียนรู้โดยการใช้การทำงานเป็นฐาน (work-based learning) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการฝึกงานให้ทันสมัยและการเรียนรู้ภาคปฏิบัติเป็นพิเศษ โดยการส่งเสริมการเรียนรู้เชิงรุกผ่านการฝึกงานจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงที่ผ่านมา และหากพิจารณาถึงเป้าหมายของอาชีวศึกษาพบว่า มุ่งเน้นที่จะสร้างการเรียนรู้โดยการใช้การทำงานเป็นฐานเป็นมาตรฐานหลักครอบคลุมทุกสายงานและทุกระดับชั้น

นอกจากนี้ในเชิงนโยบายจากภาครัฐอาจมีการสนับสนุนโมเดลการศึกษาแบบเฉพาะทางด้วยการทำ MOU ส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดน การบัญญัติข้อตกลงเกี่ยวกับอาชีพและภาคส่วนต่างๆ เช่น การกำหนดมาตรฐานร่วมกัน เป็นต้น

แต่กระนั้น ฉากทัศน์อาชีวศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงก็มีความเสี่ยงที่ผู้เรียนอาจตามเทคโนโลยีและตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ทัน ประเด็นเรื่องบทบาทของแรงงานทักษะระดับกลางและความมั่นคงในระยะยาวของอาชีพก็ยังคงเป็นเรื่องที่สังคมต้องตั้งคำถาม

ฉากทัศน์ที่ 3 : อาชีวศึกษาแบบวัตถุประสงค์พิเศษ โดยมีการฝึกฝนที่เน้นอาชีพเป็นศูนย์กลาง

สำหรับ ‘อาชีวศึกษาแบบวัตถุประสงค์พิเศษ โดยมีการฝึกฝนที่เน้นอาชีพเป็นศูนย์กลาง’ (job-oriented training at the heart – special purpose and/or marginalised VET) เป็นฉากทัศน์ที่ตีความความเข้าใจ ความหมาย และแนวคิดของการศึกษาสายอาชีพให้แคบลง โดยจะโฟกัสที่การฝึกฝนสำหรับการประกอบอาชีพ ตลอดจนการเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็น (reskilling) และการพัฒนาทักษะ (upskilling) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานระยะสั้นและระยะกลาง

หากมองในแง่ตำแหน่งแห่งที่ของอาชีวศึกษาในระบบการศึกษาโดยรวมพบว่า เน้นไปที่การให้ผู้เรียนได้ฝึกงานในตลาดแรงงานและสนับสนุนให้ผู้เรียนได้มีทักษะพื้นฐานเพื่อการจ้างงาน (employability skills) ซึ่งหากมองต่อไปในเรื่องคุณค่าของแรงงาน (employability) ในความหมายแคบ ก็เพื่อให้แรงงานกลุ่มเสี่ยงที่จะตกงานได้มีทักษะใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และหากมองในความหมายที่กว้างขึ้นมา ก็เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะที่เน้นการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด (lifelong learning) แต่ถึงอย่างนั้นการศึกษาสายอาชีพในฉากทัศน์นี้ก็ยังไม่อาจทัดเทียมกับการศึกษาสายสามัญได้

นอกจากนี้ กลุ่มเป้าหมายของอาชีวศึกษาก็หดตัวลงเช่นกัน โดยกลุ่มผู้เรียนหลักคือกลุ่มแรงงานผู้ใหญ่ที่ต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ที่จำเป็นและการพัฒนาทักษะเดิมแบบทันท่วงที หรือกลุ่มแรงงานที่เสี่ยงต่อการตกงานในโลกยุคใหม่ ไม่เพียงแต่กลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ตัวหลักสูตรเองก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน

หลักสูตรของการศึกษาสายอาชีพในฉากทัศน์นี้จะมีคอร์สการฝึกอบรมที่สั้นลง โดยเปิดสอนผ่านแหล่งการเรียนรู้ทางการศึกษาระบบเปิด (open educational resources) ซึ่งทิศทางการสอนในลักษณะนี้จะกลายมาเป็นทิศทางหลักในการเรียนการสอนของอาชีวศึกษา ไม่ใช่แค่นั้น การสอนเพื่อพัฒนาทักษะรายบุคคลตามความถนัดยังเป็นอีกเทรนด์ของการสอน เนื่องจากผู้เรียนมีความใกล้ชิดกับตัวงานผ่านการฝึกฝนในขณะที่ทำงานจริง (on-the-job training)

ในแง่ของเส้นทางและโอกาสในการก้าวหน้าของแรงงาน อาชีวศึกษาภายใต้ฉากทัศน์นี้ต้องการการจัดฝึกอบรมที่โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อให้กลุ่มแรงงานผู้ใหญ่สามารถเข้าถึงหลักสูตรและโปรแกรมการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการของเขาได้ง่ายขึ้น

ด้วยหลักสูตรที่เน้นให้ผู้เรียนได้สัมผัสวิชาชีพนั้นๆ ผ่านการลงมือทำงานจริง แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมส่งผลต่อความสำคัญของสถาบันการอาชีวศึกษา พบว่าในฉากทัศน์นี้สถาบันการอาชีวศึกษามีความสำคัญน้อยลง เมื่อเทียบกับความสำคัญของภาคเอกชน ที่จะขึ้นมามีบทบาทหลักในการกำกับดูแลการศึกษาสายอาชีพแทน เนื่องจากเป็นผู้สนับสนุนทั้งในแง่ของความรู้ สถานที่ทำงาน ตลอดจนแหล่งทุนนั่นเอง

หลังจากได้เห็นทิศทางอนาคตของอาชีวศึกษาแบบวัตถุประสงค์พิเศษแล้ว ประเด็นถัดมาคงไม่พ้นคำถามที่ว่านโยบายจากภาครัฐควรมีหน้าตาอย่างไรเพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะของตนเองได้เต็มศักยภาพตามแผนการศึกษาที่วางไว้ ซึ่งนโยบายที่สำคัญคงหนีไม่พ้นนโยบายด้านความโปร่งใสเพื่อป้องกันการที่แรงงานจะถูกเอาเปรียบ หรือระบบเอื้อให้แรงงานหรือกลุ่มทุนใดมากจนเกินไป ซึ่งหากพิจารณาในแง่นี้แล้ว นโยบายที่ดูจะเกี่ยวข้องน่าจะเป็นนโยบายทางตลาดแรงงานมากกว่านโยบายที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นอกเหนือไปจากเรื่องนโยบายของภาครัฐ  ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือเรื่องความเสี่ยงที่จะต้องระวังในอาชีวศึกษาในฉากทัศน์นี้ พบว่าการศึกษาสายอาชีพมีการประเมินทักษะพื้นฐานและทักษะการข้ามสายงานหรือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st century skills, transversal skills) ที่ต่ำเกินไป ซึ่งประเด็นนี้อาจกลายมาเป็นผลเสียต่อแรงงานในอนาคตได้

สังคมต้องเป็น ‘ผู้กำหนดอนาคต’ ของ ‘อาชีวะ’

การศึกษาฉากทัศน์ไม่เพียงทำให้เราพอมองเห็นว่า การศึกษาสายอาชีพในยุคอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่ยังทำให้เรารู้ด้วยว่า สังคมใดจะมุ่งไปสู่ฉากทัศน์แบบไหนขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นมองเห็นการเปลี่ยนแปลงและเลือกที่จะลงทุนเชิงนโยบายเพื่อวางรากฐานให้กับระบบอาชีวะหรือไม่ เพราะการออกแบบระบบอาชีวศึกษานั้นยึดโยงอยู่กับการออกนโยบายทางการเมือง นโยบายทางการศึกษา ตลอดจนนโยบายทางเศรษฐกิจ

การมีวิสัยทัศน์มองเห็นโอกาสและความท้าทายในโลกที่ผันผวน มองเห็นศักยภาพของระบบอาชีวะและสายอาชีพ และเข้าใจความเหลื่อมล้ำที่เป็นคอขวดสำคัญของการพัฒนามาอย่างยาวนาน หากปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐและผู้กำหนดนโยบายเพียงภาคส่วนเดียวคงจะเป็นเรื่องยากเกินไป ภาคเอกชนเองมีส่วนอย่างมากในการกำหนดทิศทางของอาชีวศึกษา ผ่านการร่วมออกแบบหลักสูตรการฝึกทักษะเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ตลอดจนร่วมสนับสนุนทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทุนความรู้ ทุนมนุษย์ หรือทุนทรัพย์ เป็นต้น

เหนืออื่นใดคือทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อการศึกษาสายอาชีพ หากสังคมยังคงมองว่าอาชีวศึกษาเป็นเพียงแหล่งรองรับนักเรียนที่ไร้ความสามารถและมีคุณค่าไม่เทียบเท่ากับการศึกษาสายสามัญ ก็คงเป็นการยากที่อาชีวะจะสามารถขึ้นมาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนประเทศ เพราะแม้นโยบายจะดึงดูงใจมากเพียงใด แต่หากค่านิยมเช่นนี้ยังคงถูกผลิตซ้ำออกมาในสังคม คงไม่มีประชาชนคนใดจะคิดและเชื่อว่าการศึกษาสายอาชีพจะสร้างชีวิตใหม่ให้พวกเราได้จริงๆ

นี่จึงเป็นอีกโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนจะมองข้ามไม่ได้


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

ที่มาภาพ: Jeswin Thomas

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save