fbpx

กองกำลังสแกนดิเนเวียในอัฟกานิสถาน

การที่ประเทศสมาชิกหรือพันธมิตรขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) จะเข้าร่วมปฏิบัติการทางการทหารในอัฟกานิสถานในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา คงจะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้อยู่

แต่การที่ประเทศสมาชิกหรือพันธมิตรเล็กๆ ที่ประกาศตนเองว่าเป็น ‘ชาติแห่งสันติภาพ’ เป็นชาติแห่ง ‘คนทำดี’ และในขณะเดียวกันก็ส่งกองกำลังของตนเข้าไปในอัฟกานิสถานด้วย ทำให้เกิดคำถามที่ว่า พวกเขาทำความเข้าใจตนเองอย่างไร ความเข้าใจของชาติที่ว่า ตนเป็นผู้รักษาสันติภาพของโลกและเป็นกลางในความขัดแย้งทั้งหลายในช่วงสงครามเย็นนั้น ประสานเข้ากับความเป็นจริงที่ว่าชาติของตนส่งกองกำลังของตนเองเข้าไปในจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งได้อย่างไร? หรือ ทำไมรัฐเล็กเข้าร่วมสงครามใหญ่? – คำถามเหล่านี้ถูกถามโดยนักวิชาการด้านความมั่นคงศึกษาในสวีเดนและนอร์เวย์

กองทัพสวีเดนในอัฟกานิสถาน (ที่มาภาพ)

เข้าร่วม

หนึ่งปีหลังจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรยกกองกำลังบุกอัฟกานิสถานในปลายปี 2001 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดตั้งกองกำลังช่วยเหลือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ (International Security Assistance Force – ISAF) ขึ้น กองกำลัง ISAF นี้ประกอบไปด้วยชาติที่ส่งกองกำลังเข้าร่วม 51 ชาติ ถือเป็นปฏิบัติการพหุภาคีทางทหารที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง และตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา นักสังเกตการณ์ด้านความมั่นคงเห็นว่า NATO เริ่มกลายร่างมาเป็นองค์การทำสงครามกับกลุ่มตาลีบันไปเสียแล้ว

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ ประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมปฏิบัติการทางการทหารในอัฟกานิสถานอย่างแข็งขันคือสวีเดน ซึ่งถือเป็นประเทศขนาดเล็กทั้งจำนวนประชากร ทั้งกองกำลังและยุทโธปกรณ์ และทั้งอิทธิพลในเวทีระหว่างประเทศ ในช่วงเวลาดังกล่าว กองกำลังจากสวีเดนเข้าร่วมปฏิบัติการรบระดับปกติ หากกล่าวในหมู่ประเทศสมาชิก NATO ขนาดเล็ก เช่น นอร์เวย์และเดนมาร์ก หรือประเทศขนาดเล็กที่ประกาศตนไม่ร่วมฝ่ายใด อย่าง ออสเตรีย ไอร์แลนด์ และฟินแลนด์ การเข้าร่วมสงครามในอัฟกานิสถานของสวีเดนนั้นเด่นชัดมาก

เป็นกลาง

สวีเดนเข้าร่วม ISAF ตั้งแต่ในปีแรกที่มีการก่อตั้งกองกำลังนี้ รวมทั้งยังเสนอรับผิดชอบทีมฟื้นฟูจังหวัด (Provincial Reconstruction Team – PRT) ในอัฟกานิสถาน รวมทั้งยกระดับการเข้าร่วมทั้งทางการทหารและทางพลเรือนด้วย การที่ประเทศที่ประกาศตนไม่ร่วมฝ่ายใดอย่างสวีเดน จะระดมทรัพยากรในสงครามอัฟกานิสถานในระดับนี้ ย่อมเป็นที่ประหลาดใจแก่ผู้สังเกตการณ์ทางความมั่นคงอย่างมาก

วันที่ 12 ธันวาคม 2001 กองกำลังพหุภาคีนานาชาติที่นำโดยอังกฤษชักชวนสวีเดนเข้าร่วมการบุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน รัฐบาลสวีเดนของพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย นำโดยเยอรัน แพร์สัน (Göran Persson) สั่งการให้กองทัพเตรียมตัวทันที และในสภาก็มีการประกาศอย่างแข็งขัน ทั้งการทำโพลก็มีผลปรากฏออกมาว่าคนสวีเดนจำนวนถึงร้อยละ 70 มีความเห็นสนับสนุนให้เข้าร่วมสงครามในครั้งนี้ภายใต้ UN เมื่อสงครามดำเนินไป รัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยประเมินผลงานของตนในอัฟกานิสถานเมื่อปี 2005 และสรุปว่าเป็นผลงานที่ดีมาก และจะทำให้สวีเดนเป็นผู้เล่นในเวทีนานาชาติที่สำคัญ

ในช่วง 2001-2006 รัฐบาลสวีเดนก็หาเสียงสนับสนุนในสภาเพื่อเพิ่มการเข้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการทั้งทางการทหารและพลเรือนในอัฟกานิสถาน และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลไปสู่ขั้วพรรคอนุรักษนิยม-เสรีนิยมในปี 2006 สวีเดนก็ขยับเพดานการเข้าร่วมทางการทหารของตนขึ้นไปอีกถึงจำนวน 600 นาย

กองทัพนอร์เวย์ฉลองวันชาติในอัฟกานิสถาน (ที่มาภาพ)

สันติภาพ

ส่วนทางนอร์เวย์เองในฐานะสมาชิก NATO เมื่อสหรัฐฯ ส่งคำขออย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2001 รัฐบาลปีกอนุรักษนิยมที่เพิ่งชนะเลือกตั้งนำโดย เคล แมกเน บุนเดวิก (Kjell Magne Bondevik) ก็สนับสนุนสหรัฐฯ ในปฏิบัติการผสม Operation Enduring Freedom (OEF) ด้วยการส่งเครื่องบินรบ เครื่องบินขนส่ง และกองกำลังทหาร ในรัฐสภาของนอร์เวย์ มีเสียงสนับสนุนให้นอร์เวย์ร่วมรบกับสหรัฐฯ จากทุกพรรค (ยกเว้นพรรคซ้ายสังคมนิยม)

จากนั้นมารัฐบาลของนอร์เวย์จะต้องใช้เหตุผลเรื่องการแทรกแซงทางมนุษยธรรม (humanitarian intervention) เสมอในการหาความชอบธรรมจากประชาชนในการที่นอร์เวย์เข้าร่วมสงครามในอัฟกานิสถาน

แต่ในปี 2005 เมื่อรัฐบาลผสมใหม่ซึ่งเป็นปีกฝ่ายพรรคแรงงาน พรรคสายกลาง และพรรคซ้ายสังคมนิยมจัดตั้งรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้ง ประเด็นเรื่องกองกำลังนอร์เวย์ในอัฟกานิสถานเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันอย่างมากทั้งในและนอกรัฐสภา และในปี 2007 นอร์เวย์ก็ตัดสินใจไม่ยินยอมส่งทหารเข้าไปทางใต้ของอัฟกานิสถานตามคำขอของ NATO แต่ยังส่งกองกำลังพิเศษเพิ่ม 150 นายไปสู่บริเวณเมืองหลวงคาบูลแทน

สองเรื่องเดียวกัน: เรื่องเล่าว่าด้วยความเป็นชาติเป็นกลางและสันติ

นักวิชาการด้านความมั่นคงศึกษากลุ่มหนึ่งพยายามเสนอแนวทางในการทำความเข้าใจรัฐเล็กสองรัฐนี้ว่าด้วยสงครามในอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา แทนที่จะไปดูว่าประเทศเล็กๆ ย่อมมีนโยบายในการเอาตัวรอดเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะตอบคำถามเรื่องนโยบายการเข้าร่วมสงครามในอัฟกานิสถานของสวีเดนและนอร์เวย์ไม่ได้ดีที่สุด จึงเห็นกันว่าอาจมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนการเข้าถึงปัญหา ย้ายไปดูที่เรื่องการเข้าใจตนเองของประเทศที่ศึกษาเป็นการเฉพาะ ดูวาทกรรมที่เป็นสิ่งกำหนดความเข้าใจของตนเองเหล่านั้น (ดู แรงงานเศรปาบนเทือกเขาของนอร์เวย์) และเสนอว่ามีเรื่องเล่าสองเรื่องเดียวกันที่ดำเนินไป ในด้านหนึ่งคือเรื่องเล่าว่าด้วยความเป็นชาติเป็นกลางและสันติ และอีกด้านหนึ่งคือเรื่องเล่ายุทธาภิวัฒน์

ในกรณีนอร์เวย์ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา มีบทบาทในการเป็นตัวกลางให้แก่การเจรจาสันติภาพต่างๆ รัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่าต่างเห็นว่า UN ถือเป็นผู้รักษาสันติภาพนานาชาติ และนอร์เวย์ย่อมจะต้องเป็นผู้เล่นสำคัญในกระบวนการนี้ ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลของการส่งกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน และเน้นย้ำอยู่เสมอเรื่องการปฏิบัติการใดๆ ก็ตามซึ่งอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นหลักการพื้นฐานของการเข้าสู่สงครามจึงมาจากอาณัติ (mandate) ของ UN ในขณะที่เรื่องความสัมพันธ์กับ NATO ย่อมจะต้องถูกทำให้เป็นเรื่องรองลงไปในพื้นที่สาธารณะ

ส่วนในกรณีสวีเดนก็เช่นกัน แม้จะไม่ได้เป็นประเทศสมาชิก NATO โดยตรง แต่บทบาทของสวีเดนในการสนับสนุนองค์กรโลกบาลทั้งหลายก็มีมาอย่างชัดเจนตั้งแต่สมัยสันนิบาตชาติ (League of Nations) มาจนถึง UN เป็นเรื่องเล่าของความเป็นกลางที่ก่อตัวขึ้นเป็นความเข้าใจตนเองแห่งชาติ

แต่บทบาทความเป็นกลางของสวีเดนจบสิ้นไปตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง นโยบายต่างประเทศขยับเคลื่อนไปสู่แนวทางการทหารแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (military non-alignment) การที่สวีเดนเข้าไปมีบทบาทในสงครามทั้งในบอสเนีย ในโคโซโว รวมทั้งในอัฟกานิสถานนั้น เป็นการต้องการยกระดับสถานะของตนในเวทีนานาชาติ เป็นเรื่องเล่าที่เปลี่ยนมาจากสมัยสงครามเย็น

เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการ NATO ชาวนอร์เวย์ในอัฟกานิสถาน (ที่มาภาพ)

สองเรื่องเดียวกัน: เรื่องเล่ายุทธาภิวัฒน์

ในขณะเดียวกันก็มีอีกเรื่องเล่าหนึ่งซึ่งดำเนินคู่ขนานกันไปกับเรื่องเล่าข้างต้น คือเรื่องเล่าว่าด้วยยุทธาภิวัฒน์ (ดู ยุทธาภิวัฒน์ในสแกนดิเนเวีย) กล่าวคือการเข้าร่วมปฏิบัติการในอัฟกานิสถานของสวีเดนและนอร์เวย์เป็นกระบวนการสองทาง คือสงครามในอัฟกานิสถานเองก็ส่งผลกลับมาสู่การทหารของประเทศเหล่านี้ด้วย

ในนอร์เวย์ มีการตั้งคณะกรรมาธิการอิสระในการรายงานผลของการเข้าร่วมปฏิบัติการในอัฟกานิสถาน และตามรายงานได้ระบุว่า การที่นอร์เวย์เข้านำทีม PRT ในจังหวัดหนึ่ง “ส่งผลให้เกิดการกลายเป็นทหารอาชีพของกองทัพนอร์เวย์ ปฏิบัติการครั้งนั้นถือเป็นเป็นประสบการณ์ฝึกภาคสนามทั้งในทางเทคโนโลยีและยุทธวิธี” และทำให้กองทัพนอร์เวย์เข็มแข็งขึ้น ประสบการณ์ในอัฟกานิสถานถือเป็นการรบเข้มข้นที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และสิ่งเหล่านี้ส่งผลแก่ความเข้มแข็งที่ว่านั้น

ในสวีเดนก็เช่นกัน มีการรายงานประเมินว่า การเข้านำ PRT ในอีกจังหวัดหนึ่งก็ช่วยส่งผลขัดเกลาศักยภาพของกองกำลังทหาร สงครามอันยาวนานในอัฟกานิสถานได้ผลิตความคิดเห็นประการหนึ่งขึ้นมา คือการใช้กองกำลังในอัฟกานิสถานดูจะไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติมากขึ้นในสายตาของกองทัพหรือทหารผู้เข้าร่วมสงครามจากสวีเดน และการรับมือของสงครามก็เป็นไปในแนวทางต่อต้านการก่อการร้ายมากขึ้น ดังเช่นที่สหรัฐฯ กระทำ

20 ปีถัดมา ดูเหมือนว่าทั้งสองเรื่องเล่านี้คงจะต่อสู้กันในพื้นที่สาธารณะของสองประเทศเล็ก แต่เป็นสองเรื่องเล่าที่นักวิชาการทางความมั่นคงศึกษาเน้นให้เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องรับรู้และทำความเข้าใจ


อ้างอิง

– Roxanna Sjöstedt,  Erik Noreen, and Jan Ångström, “Why small states join big wars: the case of Sweden in Afghanistan 2002–2014”, International Relations, 2017, 31(2): 145-168.

– Roxanna Sjöstedt and Erik Noreen, “When peace nations go to war: Examining the narrative transformation of Sweden and Norway in Afghanistan”, European Journal of International Security, 2021, 6: 318-337.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save