fbpx
การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย: Scandinavian Design

การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย: Scandinavian Design

ปรีดี หงษ์สต้น เรื่อง

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

 

นับว่าเป็นเรื่องน่าพิศวงอยู่พอดู เมื่อภาวะสมัยใหม่ได้กำเนิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเราแล้ว การเปลี่ยนยุคสมัยหนึ่งไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่งทำให้มนุษย์ย่อมมีชีวิตผ่านเวลาอันเข้าใจกันว่าเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า พร้อมๆ กับการถูกจำกัดด้วยอายุขัยของมนุษย์เอง ความอิหลักอิเหลื่อ คั่งค้าง ความรู้สึกกลับตัวก็ไม่ได้ จะไปข้างหน้าก็ไปไม่ถึง ฯลฯ เหล่านี้จึงได้รับอรรถาธิบายอย่างน่าจดจำว่า “ผลสุทธิของความสัมพันธ์ทางการผลิต [ภายใต้ภาวะสมัยใหม่] เหล่านี้ ประกอบขึ้นเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสังคม ซึ่งเป็นฐานอันแท้จริง ซึ่งจะรองรับกฎหมายและการเมืองซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนบน อันจะสอดรับกับรูปแบบของจิตสำนึกหนึ่งๆ ทางสังคม”

ด้วยสภาวะเช่นนี้ เมื่อเวลาเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมๆ การต้องมองย้อนกลับไปข้างหลังเสมอ นักสังเกตการณ์และผู้คนที่มองย้อนกลับไปสู่ยุคสมัย “รอยต่อ” ของประวัติศาสตร์ ก็จะถูกกำหนดด้วยเวลาของปัจจุบัน

 

วิลเฮล์ม แวนเชอร์ (Vilhelm Wanscher, 1875-1961)

 

วิลเฮล์ม แวนเชอร์ บุคคลสำคัญของการเคลื่อนไหวเข้าสู่ศิลปะสมัยใหม่ของเดนมาร์ก (ที่มาภาพ : wikimedia.org)

 

ในช่วงทศวรรษที่ 1900-1930 เกิดการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยในวงการนักออกแบบและสถาปนิกในสแกนดิเนเวีย อันจะปูทางมาสู่สิ่งที่โลกรู้จักว่า “Scandinavian Design” ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักในเดนมาร์ก ประเด็นนี้เราอาจจะเริ่มต้นผ่านงานของนักออกแบบและศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ศิลปะ วิลเฮล์ม แวนเชอร์ ซึ่งปีนี้ครบรอบ 60 ปี หลังจากที่เขาเสียชีวิตพอดี

ชื่อของแวนเชอร์ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าใดนัก แต่เขามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในความเคลื่อนไหวไปสู่ยุคสมัยใหม่นิยม (modernism) ในศิลปะและสถาปัตยกรรมของเดนมาร์ก โดยเฉพาะที่เขาเป็นผู้ที่เชื่อมเอาความเคลื่อนไหวทางความคิดของเยอรมนีเข้าไปในเดนมาร์ก จากการที่เขาไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่มหาวิทยาลัยฮุมโบลท์ เบอร์ลิน โดยเฉพาะความคิดของ ไฮน์ริค เวิล์ฟลิน (Heinrich Wölfflin, 1864-1945) และอโลอิส รีกึล (Alois Riegl, 1858-1905)

แวนเชอร์เป็นปัญญาชนอีกคนหนึ่งในยุคสมัยดังกล่าวที่จะต้องเผชิญกับความท้าท้ายเรื่องบทบาทของวิทยาศาสตร์ในมนุษย์ศาสตร์ โดยเฉพาะในเรื่องการออกแบบ รวมทั้งประเด็นเรื่องสุนทรียะ (aesthetic) และประโยชน์ใช้สอย (function) รวมทั้งการจัดการกับพื้นที่ (space) และมวล (mass) ในงานออกแบบ เขาเองเป็นผู้ทำให้มโนทัศน์ต่างๆ ในภาษาเยอรมันเดินทางเข้าไปในเดนมาร์ก ซึ่งทำให้ความเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบสมัยใหม่นิยมได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้น

แต่แวนเชอร์เป็นบุคคลที่อยู่ตรง “รอยต่อ” เพราะฉะนั้นบทบาทของเขาก็จะคลุมเครือ กล่าวคือแม้เขาเองจะสนับสนุนศิลปะและสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก (neoclassicism) แต่เขาเองก็วิพากษ์วิจารณ์ศิลปะคลาสสิกนิยม (classicism) อย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็เคลือบแคลงสถาปัตยกรรมประโยชน์นิยม (funtionalism) ของความเคลื่อนไหวสมัยใหม่นิยมเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้แล้ว เหตุผลสำคัญที่ทำให้ชื่อของแวนเชอร์หายไปในการรับรู้ของแวดวงประวัติศาสตร์ศิลปะในเดนมาร์กคือ เมื่อนาซียึดเดนมาร์กได้อย่างรวดเร็วในปี 1940 แวนเชอร์ยื่นข้อเสนอไปยังพรรคนาซีของเดนมาร์กเพื่อขอเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและศิลปะ หลังจากสงครามสิ้นสุดลง เขาถูกจับข้อหาสมรู้ร่วมคิดกับศัตรูและถูกคุมขัง

 

พอล เฮนนิงเซน (Poul Henningsen, 1894-1967)

 

ดังนั้น แวนเชอร์จึงไม่ได้เป็นที่รู้จักเท่ากับนักออกแบบและสถาปนิกที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของเดนมาร์กและของโลก พอล เฮนนิงเซน (Poul Henningsen, 1894-1967) ผู้ที่แม้จะยอมรับถึงอิทธิพลของแวนเชอร์ แต่ก็วิพากษ์วิจารณ์เขาอย่างหนักว่ามุ่งเน้นแต่ด้านที่เป็นสุนทรียะ และไม่ให้ความสำคัญ-ความรับผิดชอบทางสังคมของสถาปนิก เช่นเรื่องการออกแบบที่อยู่อาศัยของประชาชน เป็นต้น

เฮนนิงแซนผู้เป็นหัวหอกในกลุ่มเคลื่อนไหวศิลปะถึงราก (Kulturradikalismen) เป็นผู้ผลักวงการสถาปัตยกรรมและการออกแบบของเดนมาร์กและสแกนดิเนเวียไปข้างหน้า จึงเป็นผู้ที่ถูกจดจำ และเป็นที่นิยมของโลกที่จะมุ่งสู่การเมืองเสรีประชาธิปไตยที่ทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ เขามีผลงานจำนวนมากทั้งที่เป็นงานออกแบบอันโด่งดัง เป็นที่คุ้นเคยตามบ้านเรือนของชาวเดนมาร์ก และงานบทความ ผ่านนิตยสารความเคลื่อนไหวสมัยใหม่นิยมและอาวอง-การ์ด เช่น Klingen (1917-1920) และ Kritisk Revy (1926-1928) เป็นต้น

 

โคมไฟแขวนอันลือลั่นของพอล เฮนนิงเซน นักออกแบบเดนมาร์ก (ที่มาภาพ : wikimedia.org)

 

นิตยสาร Klingen เป็นดังการประกาศของการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่นิยมในเดนมาร์ก (ที่มาภาพ : http://runeberg.org/)

ออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวีย

 

ทั้งหมดนี้เป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค และเป็นในช่วงเวลานี้เองที่การออกแบบต่างๆ นั้นมาตกผลึกกันและทำให้นักออกแบบจากภูมิภาคสแกนดิเนเวียถูกเรียกโดยลักษณะเฉพาะตัว อันเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

การออกแบบที่เน้นความเรียบง่าย การใช้วัสดุธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ใช้งานได้อย่างเต็มที่ ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงของการเคลื่อนไปข้างหน้าของประวัติศาสตร์

ยุคทศวรรษที่ 1930 คือยุคที่เฟอร์นิเจอร์ เซรามิก เครื่องแก้ว เครื่องเหล็ก เครื่องใช้ในบ้าน หลอดไฟ โคมไฟ และเสื้อผ้าที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์จากสแกนดิเนเวียเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ตัวอย่างเล็กๆ เช่น ในวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ คาร์ล มาล์มสเตน (Carl Malmsten, 1888-1972) จากสวีเดน คาเร่ คลินท์ (Kaare Klint, 1888-1954) จากเดนมาร์ก และเฮอร์มัน คาส (Herman Munthe-Kaas, 1890-1977) จากนอร์เวย์ ต่างเป็นชื่อที่โลกออกแบบรู้จักเป็นอย่างดี

ยังมีนักออกแบบอีกหลายต่อหลายคนที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคสแกนดิเนเวียสู่ยุคสมัยใหม่

และยังมีหลายต่อหลายคนที่ไม่ได้ถูกจดจำมากนัก นับเป็นความพิศวงที่คงจะแสดงถึง “รูปแบบของจิตสำนึกหนึ่งๆ ทางสังคม” นั่นเอง

 

เก้าอี้ของคาร์ล มาล์มสเตน ที่จับเอาวิญญานของชาวสวีเดนสมัยใหม่เอาไว้ และมีไว้กันเกือบทุกบ้าน (ที่มาภาพ : wikimedia.org)

 

เก้าอี้ของคาร์ล มาล์มสเตน ที่จับเอาวิญญานของชาวสวีเดนสมัยใหม่เอาไว้ และมีไว้กันเกือบทุกบ้าน (ที่มาภาพ : www.nasjonalmuseet.no)

 

อ้างอิง

– Anders V. Munch, Translating Space and Mass into Danish: On Vilhelm Wanscher, Nordic Journal of Architecture, no. 2, 2012, pp. 98-105.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save