fbpx

ScamTok – เมื่อ TikTok กลายเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับเหล่านักต้มตุ๋น

ฌอน วินเทอร์ฮอลเตอร์ (Sean Winterhalter) กำลังมองหาลู่วิ่งเครื่องใหม่สำหรับบ้านของเขา ด้วยตารางชีวิตและเวลาที่วุ่นวายหลังจากเจอผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เขาไม่สามารถเดินทางไปออกกำลังกายเหมือนแต่ก่อนได้แล้ว ระหว่างที่เขากำลังมองหาลู่วิ่งไฟฟ้าก็ไปเจอโพสต์หนึ่งบน TikTok ที่โฆษณาลู่วิ่งแบบที่เขากำลังตามหาชื่อว่า Treadly ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ช่วงแรกๆ เขาก็ดูแล้วก็เลื่อนผ่านไป จนกระทั่งมาถึงช่วงคริสต์มาสปลายปีก็เห็นอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขาคลิกเข้าไปดูและตัดสินใจโอนเงินผ่าน PayPal เรียบร้อย เพียงครู่เดียวเขาก็ได้ใบเสร็จเป็นภาษาที่เขาไม่คุ้นเคยเข้ามาในอีเมล ไม่รู้เลยว่าจ่ายเงินให้ใคร แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่บริษัทที่ชื่อว่า Treadly อย่างแน่นอน

ต่อมาไม่นานเขาก็ลงโพสต์วิดีโอบนบัญชี TikTok ของเขาเอง เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นและตามด้วยแฮชแท็ก ‘didigetscammed’ พร้อมถามคนดูว่า “ผมโดน TikTok หลอกหรือเปล่า?”

ถ้าให้ตอบคำถามของฌอนอย่างตรงๆ คือ TikTok ไม่ได้หลอก แต่มีใครสักคนหลอกเขาไปเรียบร้อยแล้ว

โจรยุคดิจิทัลเปลี่ยนแบบแผนและวิธีการไปเรื่อยๆ จากแพลตฟอร์มหนึ่งไปอีกแพลตฟอร์มหนึ่ง ตราบใดที่ยังทำให้คนหลงเชื่อและจ่ายเงิน พวกเขาก็จะทำต่อไป ตอนนี้เหล่าโจรดิจิทัลเริ่มย้ายบ้านมาอยู่บน TikTok เพราะมันเติบโตอย่างมาก จำนวนผู้ใช้งานแตะ 1 พันล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว เหล่าโจรที่เป็น scammer จะโพสต์วิดีโอเกี่ยวกับสินค้า (ส่วนใหญ่มาจากแบรนด์ชื่อดังที่มีจริงๆ) เสมือนว่าตัวเองเป็นแบรนด์หรือเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่กำลังขายสินค้าอย่างน่าเชื่อถือ กำลังลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ มอบดีลถล่มทลายเพื่อหลอกลวงผู้ใช้งานที่ไม่คิดว่า TikTok จะปล่อยให้วิดีโอเหล่านี้หลุดรอดมาอยู่บนแพลตฟอร์มได้

ซึ่งที่จริงเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มที่อยู่มานานแล้วก็เจอปัญหาที่คล้ายคลึงกัน คือโจรปลอมตัวเป็นคนอื่น สร้างความน่าเชื่อถือแล้วก็หลอกเอาเงินของผู้เคราะห์ร้ายที่ไม่ประสาไปอย่างลอยนวล และตอนนี้ก็ถึงตาน้องใหม่อย่าง TikTok บ้างแล้ว

ฌอนบอกว่า “ผมรู้สึกเหมือนคนแก่ที่โดนหลอกโดยอีเมลโจรที่ปลอมตัวว่าตัวเองเป็นเจ้าชายประเทศไนจีเรียเลย ผมคิดว่า TikTok ที่เป็นบริษัทระดับหลายพันล้านและเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จะภูมิใจในทุกอย่างที่พวกเขาดูแลและทุกอย่างที่พวกเขาโฆษณาเพื่อจะปกป้องผู้ใช้งานของพวกเขา แต่กลับปล่อยให้ทุกคนโดนหลอก”

Welcome to ScamTok

ที่จริงแล้วถ้าใครใช้ TikTok จะเห็นว่ามีวิดีโอที่เป็นโฆษณาสินค้าที่ดู…แปลกๆ ราคาถูกจนเกินไปอยู่เยอะพอสมควร อย่างแบรนด์เครื่องครัว Le Creuset ที่ลดราคาจาก $1,799.95 เหลือเพียง $79.99 ซึ่งลดมากกว่า 90% เสียอีก ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลย

ซาราห์ แบร์ด (Sarah Baird) รายงานเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับทางเว็บไซต์ Marketing Brew ว่า “สำหรับฉันมันดูดีเกินกว่าจะเป็นจริงได้ ไม่มีทางเลยที่จะได้ราคา $50 หรือ $60 หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในโฆษณา” เธอพยายามรายงานโฆษณานี้ให้กับ TikTok มาตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่มันก็วนกลับมาแสดงให้เธอเห็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วโฆษณาเหล่านี้จะไม่มีโปรไฟล์ และไม่เปิดให้คนมาคอมเมนต์ได้ (TikTok อนุญาตให้บริษัทที่ลงโฆษณาปิดคอมเมนต์ได้ ซึ่งที่จริงแล้วถ้ามีคอมเมนต์ก็อาจจะพอช่วยป้องกันไม่ให้มีเหยื่อเคราะห์ร้ายเกิดขึ้นอีกในอนาคต)

พอคลิกเข้าไปในโฆษณาเหล่านี้จะไปโผล่ที่เว็บไซต์หน้าตาคล้ายกับเว็บ e-commerce ทั่วไป อย่างในตัวอย่างของเซ็ตเครื่องครัวก็จะมีเครื่องครัวหน้าตาคล้ายของจริง ในราคาที่ต่ำมากๆ จนน่าเหลือเชื่อ และในเว็บไซต์ก็จะลิสต์ชื่อบริษัทที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ เมื่อโทรไปที่บริษัทก็จะเจอคนรับจริงๆ เพียงแต่ว่าบริษัทที่รับสายไม่มีส่วนรู้เห็นกับโฆษณานี้และเกือบ 100% ถูกแอบอ้างชื่อเพื่อเอามาหลอกคนอื่นเพียงเท่านั้น

แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไรกันล่ะ?

สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากระบบโฆษณาที่เปิดให้ทุกธุรกิจมาลงโฆษณาได้ตั้งแต่ปี 2020 โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายรายได้โฆษณาของบริษัทเติบโตให้โตขึ้นสามเท่าจาก 4,000 ล้านเหรียญกลายเป็น 12,000 ล้านเหรียญ แอชลีย์ นาช-ฮาน (Ashley Nash-Hahn) โฆษกของ TikTok ออกมากล่าวกับสื่อเรื่องนี้ว่า

“TikTok มีนโยบายเข้มงวดในการปกป้องผู้ใช้งานจากเนื้อหาปลอม หลอกลวง หรือทำให้เข้าใจผิด รวมถึงโฆษณาด้วย และเราจะลบเนื้อหาใดๆ ก็ตามที่ละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชน แนวทางการโฆษณา และข้อกำหนดในการให้บริการของเรา ในกรณีนี้ เราลบโฆษณาทั้งหมดที่คุณแจ้งให้เราทราบและระงับผู้โฆษณาอย่างถาวร”

แอชลีย์อธิบายต่อว่าโฆษณาเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจสอบก่อนจะไปโชว์บนแพลตฟอร์มได้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นโฆษณาที่มาจากระบบโฆษณาแบบเปิดที่ให้บริษัทสร้างโฆษณาเองรึเปล่า แต่จากรายงานของเธอบอกว่าช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2021 ถึง 30 กันยายน 2021 มีการลบโฆษณาไปแล้วกว่า 3,392,630 ชิ้นเลยทีเดียว

ที่จริงแล้วมันง่ายมากเลยที่จะปลอมตัวเป็นแบรนด์อื่นๆ ถ้าดูน่าเชื่อถือ มันก็จะผ่านเข้ามาอยู่ในระบบได้ สิ่งที่ผู้ใช้งานควรเช็กคือเครื่องหมาย  ‘verified’ สีฟ้าที่เช็กว่าเป็นบัญชีที่ตรวจสอบแล้ว อย่างที่บอกว่าปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มอื่นมาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นกับ TikTok เพียงเท่านั้น และจากรายงานของคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (FTC – Federal Trade Commission) บอกว่าในปี 2021 การฉ้อโกงผ่านโซเชียลมีเดียคิดเป็นความเสียหายกว่า 770 ล้านเหรียญซึ่งคิดเป็น 25% รายงานการถูกโกงทั้งหมดของประเทศ และเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า (จาก 258 ล้านเหรียญ) ในปีก่อน

เป็นเรื่องง่ายที่ผู้ใช้งานอย่างฌอน หรือใครก็ตามที่โดนหลอกจะโทษ TikTok ว่าหละหลวมและไม่ตรวจตราอย่างถี่ถ้วน จึงทำให้เกิดความเสียหายแบบนี้ขึ้นมาได้ แต่เราเห็นปัญหานี้กันเยอะมาก เฟซบุ๊กเองก็เจอกลุ่มโจรที่หลอกเอาเงินคนอื่นโดยโพสต์ขายสินค้าแบรนด์เนมออนไลน์ปลอมกันเยอะมาก หลายหมื่นหลายแสนบัญชีทั่วโลก

Meta (บริษัทแม่ของ Facebook) พยายามสร้างเครื่องมือใหม่ที่ให้แบรนด์สามารถค้นหาโจรที่เอาสินค้าของตัวเองไปขาย (แบบไม่ได้รับอนุญาต) แล้วรายงานได้ง่ายขึ้น ทุกแพลตฟอร์มและทุกพื้นที่จะมีส่วนที่ไม่สวยงามอยู่เสมอ เมื่อมีคนอยู่ในนั้นเป็นพันล้านคน ก็ต้องมีอะไรที่หลุดรอดสายตาไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแพลตฟอร์มปล่อยเลยตามเลยได้ เพราะจะยิ่งทำลายความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นในฐานะผู้ใช้งาน เมื่อเห็นอะไรผิดปกติ ให้รายงานให้ทางแพลตฟอร์มทราบ และถ้าเป็นไปได้ก็เสิร์ชกูเกิลและเปรียบเทียบราคาจริงๆ ก่อน ถ้าให้ชัวร์คือซื้อจากเว็บไซต์ของแบรนด์เลยจะปลอดภัยที่สุด หรือถ้าจะซื้อจาก e-commerce อย่าง Lazada หรือ Shopee ก็มีของปลอมเช่นเดียวกัน ก็ต้องเช็กให้ดีว่าเป็นร้านที่มีความน่าเชื่อถือ อย่างน้อยๆ ร้านเหล่านี้ก็ยังมีคอมเมนต์ให้อ่านได้ (แต่คอมเมนต์เหล่านี้ก็ปลอมได้อีกนั่นแหละ)

บทเรียนของเรื่องนี้คือ ‘อะไรก็ตามที่ดูดีเกินจริง ก็คงไม่เป็นความจริง’ นั่นแหละครับ


https://www.morningbrew.com/marketing/stories/2022/02/24/tiktok-is-full-of-alleged-scam-artists-pretending-to-be-real-advertisers

https://adage.com/article/digital-marketing-ad-tech-news/consumers-lost-770-million-social-media-scams-2021/2395876

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save