fbpx
'เยียวยาให้ทั่วถึง' โจทย์ใหม่ช่วยผู้บริโภคหลังโควิด สารี อ๋องสมหวัง

‘เยียวยาให้ทั่วถึง’ โจทย์ใหม่ช่วยผู้บริโภคหลังโควิด กับ สารี อ๋องสมหวัง

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

 

จากการระบาดของโควิด-19 นอกจากปัญหาในภาพใหญ่เรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นใกล้ตัวทุกคน คือประเด็นเรื่องสิทธิผู้บริโภค

เมื่อโรคระบาดเข้ามาทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนในฐานะผู้บริโภค ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงในสินค้าและบริการในภาคเอกชน จนถึงมาตรการของภาครัฐในด้านต่างๆ

ในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ เราจะยังสามารถเรียกร้องสิทธิในฐานะผู้บริโภคได้เหมือนเดิมหรือไม่ และจะมีช่องทางอย่างไร

101 ชวนสนทนากับ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทางรายการ 101 One-On-One Ep.150 : โจทย์ใหม่สิทธิผู้บริโภคยุค COVID-19 ว่าหากมองวิกฤตโรคระบาดในมุมมองสิทธิผู้บริโภคแล้ว มีโจทย์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง การตรวจสอบและเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และภาครัฐควรตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ อย่างไรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่ต้องคำนึงถึงมาตรการด้านสุขภาพด้วย

 

ช่วยประชาชนจากวิกฤต ต้องเยียวยาเป็นการทั่วไป

 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องบ้าน การเงิน หรือบริการสาธารณสุข แต่พอเกิดวิกฤตโควิด เรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา 3 อันดับแรก คือ 1. การซื้อขายออนไลน์ ตั้งแต่เรื่องหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ หรือปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซื้อแล้วไม่ได้สินค้าตามที่ตกลงหรือไม่มีคุณภาพ 2. ตั๋วเครื่องบิน ทั้งการซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านเอเจนซีบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และการซื้อตรงจากสายการบิน มีร้องเรียนเข้ามาเยอะมากจนมูลนิธิต้องไปทำงานร่วมกับองค์กรด้านคุ้มครองผู้บริโภค 3.หนี้ เช่น คนไม่รู้จะจัดการหนี้ได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีเรื่องผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ หลายคนไม่มีเงินสดก็ขายทรัพย์สิน เช่น ขายทองแล้วได้ราคาน้อยกว่าที่กำหนด

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดตอนนี้คือความยากลำบากของคนจนหรือคนเปราะบาง คนตกงาน ถูกให้ออกจากงาน ถูกลดรายได้ ไม่มีโอที ส่งผลถึงเรื่องไม่มีที่อยู่หรืออาหาร เป็นปัญหารุนแรงที่ผู้บริโภคประสบอยู่ในปัจจุบัน รัฐบาลอาจมุ่งไปที่การควบคุมโรค แต่มีจุดอ่อนมากเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย แทนที่จะเยียวยาเป็นการทั่วไป เช่น เยียวยาคนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดคือ 38.2 ล้านคน แล้วหักข้าราชการออกซึ่งมีประมาณ 5 ล้านคน และหักผู้ประกันตนที่อาจใช้กลไกประกันสังคมเยียวยา จะเหลือประมาณ 20 กว่าล้านคน ส่วนนักศึกษาจะเยียวยาหรือไม่ เพราะหลายคนก็หาเงินเรียนเอง ดิฉันอยากเห็นรัฐบาลเยียวยาเป็นการทั่วไป เพราะมีคนไม่น้อยที่ยากลำบากในเรื่องการทำงาน

อีกส่วนหนึ่งเราคาดหวังว่าประกันสังคมน่าจะเป็นกลไกหลักในการเยียวยา แต่ก็มีความล่าช้ามาก คนเข้าถึงการเยียวยาได้ยากลำบาก มีคนที่ถูกลดการทำงานแต่ยังไม่ถึงกับถูกเลิกจ้าง เช่น อาชีพยามที่งานอาจลดลง แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยค่าโอที แต่เขาไม่มีสิทธิได้รับการเยียวยาอะไรเลย เมื่อมีการสร้างข้อจำกัดต่างๆ ที่ส่งผลต่อการจ้างงานและการทำงาน รัฐบาลจึงควรเยียวยาเป็นการทั่วไป

 

จุดฉุกคิดมาตรฐานรักษาพยาบาล

 

มีเรื่องร้องเรียนหนึ่งทำให้เรามีโอกาสทำงานเป็นอาสาสมัครรับเรื่องร้องเรียนของ 1422 ที่เป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนของกรมควบคุมโรค ช่วงแรกที่มีการระบาดมีคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งร้องเรียนกับมูลนิธิว่า มีคนในคอนโดติดเชื้อโควิดแล้วลูกบ้านจำนวนหนึ่งกลัวมาก ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เราบอกให้เขาโทรแจ้งสำนักงานเขตให้มาดูแลเรื่องการทำความสะอาด และดูกล้องวงจรปิดว่าผู้ติดเชื้ออยู่ใกล้ใครบ้าง เราโทรแจ้งกรมควบคุมโรคทาง 1422 ปรากฏว่าโทรอยู่ครึ่งวันก็ติดต่อไม่ได้ จึงปรึกษากระทรวงสาธารณสุขว่าเราจะเข้าไปช่วย ทำให้เราได้เห็นปัญหาเรื่องสุขภาพของคนที่โทรเข้ามา

ช่วงแรกที่เจอเยอะคือเรื่องการถูกเรียกเก็บเงินจากการตรวจโควิด การเข้าถึงการตรวจในระยะแรกไม่ง่าย แต่พอดำเนินการไปสักระยะหนึ่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประกาศว่าให้ตรวจฟรีได้ สถานการณ์ก็ดีขึ้น เรามีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมทำให้การรักษาโควิดมีมาตรฐานเดียวในการรักษาพยาบาล คล้ายกรณีฉุกเฉินที่เราสามารถไปได้ทุกโรงพยาบาล และมีการตรวจรักษาในมาตรฐานเดียวกัน นี่เป็นตัวอย่างการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เราอยากเห็นว่าเวลาไปโรงพยาบาลแล้วทุกคนต้องได้รับการบริการเหมือนกัน เป็นประเด็นที่ควรจะนำไปใช้ในคนที่เป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง โรคจากพฤติกรรมทั้งหลายอย่าง เบาหวาน ความดัน จะทำให้เกิดมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่เหมือนกันได้อย่างไร

มีประเด็นเช่นคนจะผ่าท้องคลอด แล้วโรงพยาบาลอยากตรวจโควิดเพื่อการป้องกัน เราก็ไม่ควรต้องจ่ายเงินค่าตรวจ เมื่อโรงพยาบาลมีต้นทุนมากขึ้นก็ควรเรียกเก็บจากระบบสุขภาพ โควิดอาจอยู่กับเรามากกว่าหนึ่งปี จึงต้องใช้มาตรการป้องกันไว้ก่อน

ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขปรับเกณฑ์ PUI ทำให้คนเข้าถึงการตรวจง่ายขึ้น มีโรงพยาบาลเอกชนไปให้บริการในชุมชนต่างๆ ก็จะพบอีกปัญหาตามมา เช่น ไปตรวจโดยไม่ประสานกับชุมชนหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฝ้าระวัง จัดพื้นที่ให้คนนั่งรอใกล้กันเกินไป ทำให้เกิดหลักเกณฑ์ว่า ก่อนไปตรวจต้องแจ้งหน่วยงานควบคุมโรค เพื่อประสานให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับการตรวจ หรือควรเลือกตรวจคนที่มีความเสี่ยงมากกว่า เช่น คนขับรถสาธารณะ

 

 ‘โทรคมนาคม-ไฟฟ้า’ มาตรการฝนตกไม่ทั่วฟ้า

 

มาตรการด้านโทรคมนาคมที่ออกมาเลวร้ายมาก เป็นการช่วยฝั่งผู้ประกอบการอย่างเดียวและไม่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค มาตรการแรกที่ออกมาแล้วถูกถล่ม คือ ให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี ให้เพิ่มการเข้าถึงโดยไม่ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้ ทำให้เกิดการใช้ที่เกินความจำเป็น และทำให้คนใช้อินเทอร์เน็ตปกติแทบจะใช้งานไม่ได้ จน กสทช. ก็ถอยมาเป็นให้ใช้โทรศัพท์ฟรี

ข้อเสนอขององค์กรเพื่อผู้บริโภคนั้นง่ายมาก เราเสนอเรื่องการช่วยเป็นการทั่วไป แทนที่ กสทช. จะจ่ายเงิน 100 บาทให้บริษัทโทรคมนาคม ก็เอาเงิน 100 บาทนั้นลดค่าบริการให้ผู้บริโภคเลย แต่ กสทช. กลับไปช่วยผู้ประกอบการแทน เป็นประเด็นที่เราไม่เห็นด้วยและผิดหวังมาก สุดท้าย กสทช. ยังเดินหน้าให้โทร 100 นาทีฟรี ทุกคนทราบดีว่าขณะนี้เราพึ่งการโทรศัพท์ในระบบปกติน้อยมาก ฉะนั้นมันไม่มีความหมาย นี่คือการจ่ายเงินให้บริษัทโทรคมนาคมโดยตรง แทนที่จะเลือกช่วยสนับสนุนผู้บริโภค เรื่องนี้เรารับไม่ได้เลย

ส่วนค่าไฟฟ้า รัฐบาลขอร้องให้เราอยู่บ้านเพื่อช่วยกันควบคุมโรค แต่พอคนอยู่บ้านก็ใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ปรากฏว่ามาตรการเรื่องลดค่าไฟฟ้าที่ออกมาก็แทบจะไม่ได้ช่วยเลย เป็นการช่วยคนรวยมากกว่าช่วยคนจน มาตรการนี้ไม่ครอบคลุมไปถึงนักศึกษาที่อยู่หอพักหรือคนจนที่เช่าบ้าน หรือมาตรการให้คนที่ใช้ไฟต่ำกว่า 150 หน่วยใช้ฟรี ซึ่งเป็นกลุ่มคนจน แต่เดือนนั้นร้อนมาก เขาใช้ไฟ 151 หน่วยก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว

ข้อเสนอคือให้ช่วยเป็นการทั่วไปเลย เช่น ลดค่าไฟ 500 หรือ 1,000 บาทต่อครัวเรือน มาตรการที่ออกมาเป็นการช่วยคนที่ใช้ไฟฟ้ามากอยู่แล้ว ก็จะได้ส่วนลดมาก เช่น คนใช้ไฟ 3,000 บาท อาจได้ลด 1,000 บาท แต่คนใช้ไฟ 155 หน่วย คือประมาณ 700 กว่าบาท ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้ใช้ฟรี และอาจได้ส่วนลดไม่มาก สะท้อนว่าการช่วยเหลือไม่เป็นธรรมกับคนจนเลย เราเสนอให้ช่วยเป็นเพดานเท่าเทียมกันทุกคน จะทำให้คนจนได้รับการช่วยเหลือแน่นอน การช่วยแบบขั้นบันไดอย่างกรณีค่าไฟทำให้เห็นว่าคนจนอาจเข้าไม่ถึง เพราะเขาอาจเช่าบ้านไม่มีมิเตอร์ของตัวเอง

สิ่งสำคัญคือปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบพลังงาน ขณะนี้เราจ่ายค่าไฟที่ไม่ได้ใช้ คือระบบสำรองไฟที่มีมากจนเกินไป สูงถึง 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทั้งที่เราควรสำรองสัก 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค เรามีค่าความพร้อมจ่าย ทำสัญญาซื้อก๊าซ ไม่ว่าใช้หรือไม่ เราต้องจ่าย เรื่องค่าไฟฟ้าในอนาคตมีเรื่องต้องปฏิรูปมาก และเราควรให้มีพลังงานหมุนเวียนเข้ามาสนับสนุนในระบบมากขึ้น

 

‘แพลตฟอร์มออนไลน์’ ความท้าทายการคุ้มครองผู้บริโภค

 

ขณะนี้เรามีคนที่ถูกโกงจากการซื้อของบนเฟซบุ๊ก ผู้บริโภคก็ไปรีพอร์ต แต่เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ได้เรื่อยๆ เราทดลองใช้อาสาสมัครผู้บริโภคจำนวนกว่าร้อยคนไปรีพอร์ตกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกถอนทะเบียน แต่พบว่ามันจะหายไปเฉพาะในกลุ่มคนที่รีพอร์ต นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เชื่อว่าจะต้องมีความร่วมมือขององค์กรผู้บริโภคกับแพลตฟอร์มเหล่านี้

ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคในแพลตฟอร์มเดลิเวอรี ต้องมีการกำกับดูแล มีการทำข้อตกลงและเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างแพลตฟอร์มได้ ถ้าไม่แข่งขันเขาอาจร่วมมือกันเอาเปรียบผู้บริโภค สิ่งที่คนเรียกร้องอยากเห็นคือการกำกับราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคและร้านค้า เพราะเราก็เห็นว่าแพลตฟอร์มเป็นประโยชน์กับคนเล็กๆ เช่น กลุ่มคนปลูกผักอินทรีย์ ทำอาหารที่บ้านแล้วอยากแบ่งปัน ทำให้เกิดธุรกิจแบบนี้ขึ้นมา แต่พอแพลตฟอร์มคิดราคาสูงเกินไปทำให้โอกาสการสนับสนุนคนเล็กคนน้อยถูกจำกัด ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถลดราคาได้ จำกัดทางเลือกของผู้บริโภคที่จะสนับสนุนคนเล็กคนน้อย

ล่าสุดคนที่ใช้ iOS ได้รับข้อความเชิญชวนการพนันออนไลน์ ถ้าเผลอกดเข้าไปก็อาจส่งผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรจะมีความร่วมมือให้เกิดการกำกับและดูแลสิทธิผู้บริโภคมากกว่านี้

จุดยืนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือ เราไม่เห็นด้วยเรื่องการเลื่อนการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เราคิดว่าควรบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เลย เพราะมีระยะเวลาในการเตรียมการมาระยะหนึ่งแล้ว และจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์แล้วไม่เกิดการจัดการ หรือแม้กระทั่งแอปฯ ไทยชนะเอง ขณะนี้มีความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลเหล่านี้ ถ้าไม่มีระบบประกันการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อาจทำให้เกิดภัยการเงินออนไลน์กับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

 

ผู้บริโภคอยู่ตรงไหนในวิกฤตการบินไทย

 

เรื่องตั๋วเดินทางที่ผู้บริโภคจ่ายเงินซื้อไปแล้ว ทั้งจากสายการบินหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ในเดือนมิถุนายนดิฉันต้องไปประชุมต่างประเทศเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเกิดโควิดก็สามารถขอค่าที่พักคืนได้เต็มจำนวน เราก็คาดหวังว่าจะได้รับการคุ้มครองแบบนี้ในไทย ทุกคนมีกติการ่วมกันว่าถ้าจองก่อน 28 ก.พ. ควรได้เงินคืนเต็มจำนวน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่ได้ง่าย ผู้บริโภคใช้สิทธิขอคืนเงินแล้วก็ยังไม่ได้เงินคืน ต้องไปร้องเรียนเอา มาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเรายังต่ำ หรือให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคน้อย

ปัญหาเรื่องตั๋วการบินไทย ขณะนี้หลายคนมีข้อเสนอว่าควรมีตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปเจรจาหนี้ของการบินไทย แม้ว่าจำนวนเงินค่าตั๋วของผู้โดยสารแต่ละคนอาจไม่มาก แต่ในเชิงปริมาณแล้วผู้บริโภคที่ซื้อตั๋วจากการบินไทยมีไม่น้อย จึงควรมีตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปด้วย และเราไม่อยากเห็นรัฐทำแทน

ดิฉันเห็นใจว่าขณะนี้คนเดินทางน้อย และการสร้างระยะห่างระหว่างผู้โดยสารทำให้จำนวนที่นั่งต่อลำหายไป 30 เปอร์เซ็นต์ แต่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กลับอนุญาตให้สายการบินขึ้นราคาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้อ้างว่าเป็นเพดานราคาเดิมที่ให้บริษัทขายได้ไม่เกินนี้ แต่เมื่อที่นั่งหายไป 30 เปอร์เซ็นต์ ก็ควรให้บริษัทขึ้นราคาไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็ไปแข่งขันกัน ความเป็นตัวแทนของรัฐมีข้อจำกัดแบบนี้ เราจึงอยากได้ตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปเรียกร้องผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ไม่อย่างนั้นหน่วยงานรัฐจะเกรงใจทุนหรือบริษัทมากกว่าจะเกรงใจผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องเสียสละอยู่ตลอดเวลา

อย่างเรื่องการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี CPTPP เป็นตัวอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลรับฟังตัวแทนภาคธุรกิจ แต่แทบไม่มีเวทีรับฟังเรื่องความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภาคประชาสังคม หรือแทบไม่ได้นำข้อมูลจากการศึกษาของภาคประชาสังคมไปใช้ในการกำหนดนโยบาย มุมมองเหล่านี้สะท้อนในการต่อสัญญาทางด่วนของรัฐบาล (BEM) ที่กำหนดให้เราต่อสัญญา 15 ปี 8 เดือน โดยไม่ฟังความเห็นผู้บริโภคเลย องค์กรผู้บริโภคมีหน้าที่ไปฟ้องร้องซึ่งคือปลายทาง

เราอยากเห็นตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปรักษาผลประโยชน์ผู้บริโภคในทุกกิจการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงินการธนาคาร การกำหนดดอกเบี้ย ต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากที่สุด ที่ผ่านมาผู้บริโภคไม่เคยมีตัวแทนที่เป็นทางการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และจะเป็นตัวแทนจากหน่วยงานรัฐก็ไม่ได้ เพราะข้าราชการอาจกลัวรัฐมนตรี กลัวปลัดกระทรวง สุดท้ายไม่ได้รักษาผลประโยชน์ให้ผู้บริโภค

ขณะนี้เรามีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค มีองค์กรผู้บริโภคที่ขึ้นทะเบียน 70-80 องค์กร ซึ่งสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนได้

เรามีเครือข่ายที่ทำหน้าที่ในทางนโยบายขององค์กรผู้บริโภค คือ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ที่มีผู้เชี่ยวชาญ 7 สาขาและผู้แทนองค์กรผู้บริโภคระดับเขต 8 เขต เราเชื่อว่าองค์กรเพื่อผู้บริโภคและ คอบช. จะทำหน้าที่แทนผู้บริโภคได้ ซึ่งก็สามารถไปตรวจสอบได้ว่าเขาทำหน้าที่เป็นอย่างไร เช่น กรณีการบินไทย ความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้บริโภค แต่เราไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ เช่น แบงก์หรือสถาบันการเงินที่จะได้รับการเยียวยาก่อน ถ้าไม่มีพื้นที่ให้ผู้บริโภคเข้าไปพิทักษ์สิทธิตัวเอง ดีไม่ดีผู้บริโภคอาจไม่ได้อะไรเลย เราจึงควรดูตั้งแต่แผนฟื้นฟูว่าควรออกแบบจัดสรรส่วนต่างๆ ตามสัดส่วนอย่างไร

 

ปิดจุดเปราะบางด้วยระบบสวัสดิการ

 

อยากให้รัฐยกเลิกวิธีคิดว่าต้องช่วยเฉพาะคนจน เพราะเมื่อรัฐคิดแบบนั้นกลับทำให้คนจนเข้าไม่ถึงและผูกคอตาย อยากเห็นระบบช่วยเหลือแบบถ้วนหน้า หลังโควิดคาดหวังว่าเงินที่จะนำมาเยียวยาภาคประชาชนต้องไปให้ถึงคนในชุมชนได้มากที่สุด โดยมี 3 เรื่องที่สำคัญ คือ ความมั่นคงด้านอาหาร ระบบสวัสดิการ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในชุมชน

กลุ่มคนทำงานเรื่องรัฐสวัสดิการเห็นว่าควรทำบำนาญประชาชนหรือบำนาญแห่งชาติโดยเร็ว ที่มาของเงินอาจเอามาจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปีละประมาณ 7 หมื่นล้านบาท รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งน่าเสียดายว่ารัฐบาลประกาศว่าจะบังคับใช้แต่ลดลง 90 เปอร์เซ็นต์ อีกส่วนคือภาษีบีโอไอทั้งหลายควรถูกยกเลิก จะได้เงินสัก 2 แสนล้านบาท และต้องมีการคุมเข้มเรื่องภาษีธุรกิจขนาดใหญ่

ขณะนี้เราใช้เงิน 6.4 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้สูงอายุ 8 ล้านคน แต่เราให้สิทธิข้าราชการ 6-7 แสนคนใช้เงิน 1.91 แสนล้านบาท เราจะทำยังไงให้คนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนหรือคนตกงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราต้องมีระบบ safety net เช่นหากลูกที่อยู่กรุงเทพฯ ตกงาน กลับบ้านไปถ้าพ่อแม่มีเงินบำนาญสัก 3 พันบาท เขาอาจช่วยดูแลลูกได้บ้าง นี่เป็นโอกาสให้คนมาช่วยกันคิดช่วยกันทำในช่วงที่ผู้บริโภคจำนวนมากจนลง ตกงาน ไม่มีอาหาร ไม่มีที่อยู่

เราควรมีวิธีทำงานแบบใหม่สำหรับเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เดิมเราใช้กองทุน SIF (The Social Investment Fund) และกองทุนหมู่บ้าน เราอาจใช้ทั้งสองโมเดลนี้ในการทำให้เกิดโครงการต่างๆ ที่จะช่วยไปถึงหมู่บ้าน สิ่งที่เป็นจุดแข็งมากตอนควบคุมโรคคือแต่ละจังหวัดแข่งกันลดจำนวนผู้ป่วย ทำให้เห็นว่าการจัดการในจังหวัดสามารถทำได้ เราจึงอยากเห็นการกระจายอำนาจเรื่องการฟื้นฟูเศษฐกิจให้มีการคิดมาจากข้างล่าง ต้องทำให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชนจริงๆ มีระบบการใช้งบประมาณที่คล่องตัว เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนจริงๆ ไม่ใช่มีโมเดลขุดบ่อน้ำ 500 ล้านบาทแบบคราวที่แล้ว หรือขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขินตลอดเวลา

อยากเห็นว่ารัฐตรงกลางไปยุ่งน้อยที่สุด ให้เป็นการริเริ่มจากคนในชุมชนหรือระดับตำบล แล้วเราน่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save