ปรีดี หงษ์สต้น เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ศูนย์อำนาจของภูมิภาคสแกนดิเนเวียสองแห่งคือ โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก และ สตอกโฮล์ม สวีเดน ต่างเป็นเจ้าอาณานิคมมาก่อนทั้งสิ้น
เดนมาร์กถือว่าเป็นเจ้าอาณานิคมตามตัวแบบมาตรฐานก็ว่าได้ เพราะมีอาณานิคมของตนเป็นจุดๆ เรียงรายตามทวีปต่างๆ ตั้งแต่ โกลด์ โคสต์ ในทวีปแอฟริกาตะวันตก, (ปัจจุบันคือบริเวณประเทศกานา) ทรันคีบาร์ ศรีรัมปูร์ และหมู่เกาะนิโคบาร์ ในทวีปเอเชีย, เวสต์ อินดีส์ ในทวีปอเมริกา, ไปจนถึงประเทศกรีนแลนด์บนมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ฯลฯ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเดนมาร์กเป็นอำนาจขนาดกลางหนึ่งในหลายอำนาจยุโรปอื่นๆ ยุคอาณานิคม ภายใต้การขยายตัวของทุนนิยมโลกที่มียุโรปเหนือเป็นศูนย์กลางอย่างน้อยๆ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีบทบาทของการค้าบนทะเลบอลติกเป็นตัวหนุนอย่างสำคัญ
ส่วนสวีเดนนั้นมีฐานะเป็นชายขอบของภูมิภาคยุโรปกว่าเดนมาร์ก มีอาณานิคมอยู่จำนวนน้อยกว่า อาทิ นิวสวีเดน หรือ แซง บาร์โธโลมี ในทวีปอเมริกา เคป โคสต์ ในทวีปแอฟริกา ซึ่งสุดท้ายก็ต้องขายให้กับเจ้าอาณานิคมอื่นไป
อาณานิคมภายในของสวีเดน
กิจกรรมอาณานิคมของสวีเดนซึ่งมักจะไม่มีการอภิปรายถึงนัก คือการควบรวมเอาดินแดนทางเหนือของสแกนดิเนเวียที่เรียกว่าเฟนโนสแกนเดีย (Fennoscandia) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตน เขตดินแดนฟินโนสแกนเดียปัจจุบันเป็นพื้นที่ของหลายประเทศคือ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ รวมทั้งรัสเซียด้วย
ในดินแดนทางเหนือเลียบขั้วโลกนี้ เป็นดินแดนภูมิศาสตร์ซัปมี (Sápmi) เป็นแห่งที่อยู่ของชนพื้นเมืองซามี (Saami) ซึ่งเมื่อสวีเดนรวมเข้ามาก็จะเรียกพื้นที่เหล่านี้ว่าลัปลันด์ (Lapland)
กระบวนการเริ่มต้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 – 16 แล้ว โดยดินแดนทางเหนือของสวีเดนนี้ (นอร์เวย์และฟินแลนด์) แม้จะหนาวเหน็บ แต่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการค้าในตลาดโลก ยิ่งมีการขุดค้นพบแร่เงินในต้นศตวรรษที่ 17 ยิ่งทำให้ลัปลันด์เป็นบริเวณสำคัญต่อเศรษฐกิจของสตอกโฮล์มอย่างมาก เพราะฉะนั้นตั้งแต่ช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา ดินแดนของชาวซัปมีก็ถูกสำรวจ ตรวจวัด ทำแผนที่ แตกแยกแบ่งเป็นเขตแพริช (เขตวัด) จังหวัด และพื้นที่ตามทะเบียนภาษี ฯลฯ
แต่ปัญหาของเจ้าอาณานิคมคือ เมื่อจัดการกับดินแดนซัปมีแล้ว จะปกครองชาวซามีอย่างไรเล่า

คริสต์ศาสนาเป็นเครื่องมือการจัดการ
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 สวีเดนเริ่มพุ่งเป้าไปที่โจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรจะให้ชาวซามีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการปกครอง เพราะชาวซามีมีระบบวัฒนธรรมและความเชื่อเป็นของตนเอง เช่น การมีหมอผีและคนทรงเจ้า ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเป็นภัยต่อเสถียรภาพ จึงจัดการศึกษาสำหรับเด็กชาวซามีโดยมีคริสต์ศาสนาเป็นแก่นแกนการจัดทำหลักสูตร
ล่วงเข้าศตวรรษต่อมา การจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กชาวซามีก็แทบจะเรียบร้อยสมบูรณ์ การเรียนการสอนมุ่งเน้นไปที่การขัดเกลาให้เด็กชาวซามีหันมานับถือพระเจ้า มุ่งสำรวจเข้าไปในภายในจิตวิญญาณของตนเองว่าได้กระทำบาปใดๆ หรือไม่แม้แต่น้อยนิด ปรัชญาศาสนาและปรัชญาการศึกษารวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
นักเรียนจะได้รับการดูแล (หรือถูกจับตาดู) อย่างใกล้ชิด พวกเขาจะถูกจับแยกกันเพื่อให้มีเวลาสำรวจตรวจตราเข้าไปในความคิดและวิญญาณของตนเองว่า ได้ผิดออกไปจากเส้นทางของพระเจ้าแม้แต่น้อยหรือไม่
การเรียนการสอนจะเน้นบ่มเพาะนักเรียนให้ขยัน ว่านอนสอนง่าย โดยหลีกเลี่ยงการใช้ไม้เรียวในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่น่าพึงประสงค์ และนักเรียนจะรักษากิจวัตรในการสวดมนต์และอุทิศชีวิตให้กับศาสนาอย่างเคร่งครัด

นี่คือคริสต์ศาสนาแบบไพอาทิสม์ (Pietsim) ของนิกายลูเธอแรนซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเยอรมนี และแพร่ขยายไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศกลุ่มบอลติก ประเทศสแกนดิเนเวีย (รวมทั้งไปถึงสหรัฐอเมริกาผ่านกลุ่มผู้อพยพจากดินแดนเหล่านี้ ซึ่งไปก่อตั้งคริสต์ศาสนานิกายอีวันเจลิคอล ซึ่งนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก)
นี่เป็นการเปลี่ยนให้ชาวซามีกลายมาเป็นชาวสวีเดนลูเธอแรนอย่างถึงจิตวิญญาณ

การต่อต้านผ่านสุภาษิต
แต่กระบวนการนี้ไม่ได้เป็นไปในทางเดียว หรือไม่ได้สำเร็จสมบูรณ์เสมอไป แม้เราจะไม่ได้เห็นการต่อต้านในลักษณะก่อการลุกฮือเสียทีเดียว (ซึ่งมีอยู่ แต่ไม่มาก) แต่เราจะเห็นการต่อต้านด้วยวิธีแบบ ‘อาวุธของคนยาก’ (weapons of the weak) อยู่มากมายไปหมด เช่น นักเรียนซามีบางแห่งก็ทำทีว่าตนเองนั้นซาบซึ้งและหลงใหลไปกับการนับถือคริสต์ศาสนา หรือการยืนยันจะปฏิบัติตามประเพณีของชาวซามีต่อไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง เช่นการยืนยันจะตีกลองพื้นเมืองของตนต่อไป แม้จะอยู่ภายใต้สายตาอันเคลือบแคลงสงสัยของรัฐ เป็นต้น

หากแต่สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นการต่อต้านแบบอาวุธของคนยาก ปรากฏอยู่ในสุภาษิตของชาวซามีหลายสุภาษิตด้วยกัน ซึ่งปราชญ์ชาวบ้านได้รวบรวมเอาไว้ ในที่นี้ขอยกมาสักสามสี่สุภาษิต
Once a Norwegian, always a Norwegian – ขึ้นชื่อว่าเป็นพวกนอร์เวย์แล้ว อย่างไรก็เป็นพวกนอร์เวย์อยู่วันยังค่ำ
สุภาษิตนี้ชาวซามีใช้กับทั้งชาวนอร์เวย์ ชาวสวีเดน และชาวฟินน์จากส่วนกลาง (เปลี่ยนกรรมไปตามที่อยู่ของชาวซามีว่าอยู่ในเขตประเทศอะไร) เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้อย่างไรก็ไม่เข้าใจว่าชาวซามีคิดหรือเห็นโลกอย่างไร
A Sami heart never warms up to that of a Norwegian – ชาวซามีไม่เคยใจอ่อนให้กับพวกนอร์เวย์
เช่นเดียวกันกับสุภาษิตข้างต้น สุภาษิตนี้แสดงให้เห็นว่าชาวซามีแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับพวกสแกนดิเนเวียที่มาล่าอาณานิคม มาขูดรีดเอาทรัพยากรของพวกเขาไป
A wolf crosses nine valleys in one evening – หมาป่าข้ามเก้าหุบเขาได้ในเย็นวันเดียว
สุภาษิตนี้มีนัยถึงคริสต์ศาสนา โดยในเรื่องเล่าของชาวซามีนั้น เมื่อพระเยซูเดินทางเข้าไปในดินแดนของชาวซามี เขาต้องการเรือเพื่อเดินทางข้ามแม่น้ำ จึงขอความช่วยเหลือจากหมาป่า แต่หมาป่ากลับปฏิเสธ บอกว่าตนต้องออกไปหาอาหาร พระเยซูจึงโกรธและลงโทษหมาป่าว่า ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไปหมาป่าจะต้องข้ามหุบเขาถึงเก้าหุบเขากว่าจะได้เจออาหารที่ตนต้องการ ต่อจากนั้นพระเยซูขอความช่วยเหลือจากหมี ซึ่งหมีก็ช่วยอย่างว่านอนสอนง่าย พระเยซูจึงให้รางวัลโดยบัญชาว่า ต่อแต่นั้นเป็นต้นไปในทุกหน้าหนาว หมีไม่ต้องออกไปหาอาหารอีกเลย สามารถนอนจำศีลได้ตลอดฤดู สุภาษิตนี้แสดงให้เห็นว่าชาวซามีเคารพหมาป่าผู้ต่อต้านบัญชาจากสวรรค์ แม้จะต้องถูกสาปให้เหน็ดเหนื่อย แต่พวกเขาก็ไม่อินังขังขอบ
I am not a grass in your boots – กูไม่ใช่หญ้าในรองเท้ามึง!
ปกติแล้วชาวซามีจะนำหญ้าแห้งใส่ไว้ในรองเท้าสำหรับทำงาน สำหรับฤดูอันหนาวเหน็บ และใช้หญ้าปรับเข้ากับขนาดเท้าของผู้สวมใส่ หญ้าจึงเป็นของต่ำเท่านั้น ชาวซามีอาจจะใช้สุภาษิตนี้เปล่งกับเหล่าชาวสแกนดิเนเวียคริสต์ลูเธอแรนผู้มาล่าอาณานิคมดินแดนซัปมีของพวกเขา เหล่าคนยากในที่ใดๆ ก็ตามสามารถเปล่งสุภาษิตนี้ต่อผู้ที่มากดขี่พวกเขาเช่นกัน
สุภาษิตในความหมายแบบนี้ตรงไปตรงมา แถมยังมีให้เห็นอยู่ทั่วโลก
อ้างอิง
Daniel Lindmark, “Colonial Encounter in Early Modern Sápmi” in Magdalena Naum and Jonas M. Nordin (eds.), Scandinavian Colonialism and the Rise of Modernity (New York: Springer, 2013), 131-146.
กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์, “แนวคิดทางการเมืองเรื่องการขัดขืนต่อต้าน (Resistance)”
Harald Gaski (ed.), Time is a Ship that Never Anchor: Sami Proverbs (Karasjok: ČálliidLágádus, 2017)