ในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่นและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ คำถามแห่งยุคสมัยคือ งานในอนาคตจะเป็นอย่างไร อะไรคือทักษะที่จำเป็น คนไทยและสังคมเศรษฐกิจไทยต้องเตรียมรับมืออย่างไร
101 สนทนากับ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่าด้วยคำถามแห่งยุคสมัยและคำตอบใหม่ๆ ที่อยู่บนฐานงานวิจัยล่าสุด
:: ทักษะและงานในโลกยุคหลังโควิด ::

ปัจจุบันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งโลกหลังโควิดจะยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน พอเกิดโควิดก็มีอุตสาหกรรมบางอย่างที่ได้รับผลกระทบทางลบ เช่น งานแสดง ช่างภาพ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมโดยทั่วไป รวมถึงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น การที่คนอยู่บ้านทำให้อุตสาหกรรมเกมและซอฟต์แวร์เติบโตอย่างก้าวกระโดด
โลกใหม่หลังโควิดประกอบด้วย 3 โลก อันดับแรกคือ โลกเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิดแต่โรคระบาดทำให้คนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น อีกโลกที่เราเห็นคือ โลกเศรษฐกิจสีเขียว ผู้คนตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายคือ โลกเศรษฐกิจใส่ใจ คนใส่ใจทั้งสุขภาพกายและใจมากขึ้น
ตัวอย่างงานที่มีความต้องการสูงและรายได้ดีในเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ ตัวอย่างสำหรับเศรษฐกิจใส่ใจ เช่น นักสุขภาพจิต ผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด นักรังสีวิทยา และตัวอย่างสำหรับเศรษฐกิจสีเขียว เช่น นักเทคนิคด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ นักเทคนิคด้านพลังงานหมุนเวียนและนักการตลาดสีเขียว
พอเทรนด์ของโลกเปลี่ยนไปเช่นนี้ ความต้องการต่อทักษะแรงงานก็เปลี่ยนไป ซึ่งงานที่มีความต้องการสูงและรายได้ดี ก็ยิ่งต้องการทักษะที่หลากหลายและซับซ้อน ยกตัวอย่างอาชีพผู้เชี่ยวชาญความปลอดภัยไซเบอร์ ทักษะที่จะต้องมีคือความรู้ด้านความปลอดภัยไอที ความรู้เกี่ยวกับไอทีขั้นสูง และความรู้ด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ทักษะและงานในโลกใหม่เปลี่ยนแปลงไป มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ถ้าเราไม่ปรับตัวก็จะอยู่ไม่ได้
ใน 3 โลก มีโลกที่เราปรับตัวไม่ยากคือ โลกเศรษฐกิจใส่ใจ เพราะเป็นทักษะที่เรามีอยู่แล้ว แต่โลกสีเขียวและโลกเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นเรายังต้องปรับตัวอีกมาก
:: ความต้องการแรงงานที่เข้าใกล้ ‘ความเป็นเทพ’ มากขึ้น ::

แรงงานในโลกยุคใหม่ต้องมีทักษะที่หลากหลาย รู้ลึกอย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องรู้ลึกและรู้กว้างด้วย หรือต้องรู้ลึกหลายอย่างและสามารถเชื่อมโยงกันได้ หรือต้องมีความสามารถในการบูรณาการและสังเคราะห์ หรือจะต้องเก่งทั้งการวิเคราะห์และสังเคราะห์
ก่อนหน้านี้ที่งาน World Economic Forum ได้พูดถึงสิบอันดับแรกของทักษะที่เป็นที่ต้องการภายในปี 2025 จากการสัมภาษณ์ CEO จากทั่วโลกสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มทักษะ
กลุ่มทักษะแรกคือทักษะการแก้ปัญหา เราต้องสามารถคิดวิเคราะห์ สร้างนวัตกรรมได้ มีการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน มีความคิดเชิงวิพากษ์ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีการใช้เหตุผล โดยทักษะที่มาแรงมากคือทักษะการคิดวิเคราะห์และการสร้างนวัตกรรม กลุ่มทักษะที่สองคือความสามารถในการจัดการตัวเอง เราต้องรู้จักเรียนรู้ด้วยตัวเอง พอล้มแล้วสามารถลุกขึ้นได้อย่างรวดเร็ว สามารถรับมือกับความกดดันและมีความยืดหยุ่น ทักษะกลุ่มที่สามคือความเป็นผู้นำ โดยสามารถที่จะสร้างอิทธิพลทางสังคมได้ และทักษะกลุ่มสุดท้ายคือการใช้เทคโนโลยี เราต้องสามารถใช้เทคโนโลยี ติดตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและมีความรู้ด้านการออกแบบและโปรแกรมมิ่ง
สำหรับประเทศไทย ทักษะที่นายจ้างต้องการ จากการเก็บข้อมูลเวลามีการประกาศรับสมัครงานในบิ๊กดาต้า (big data) ได้แก่ ทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะดิจิทัล และทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) นอกเหนือจากทักษะเหล่านี้แล้วก็จะมีซอฟต์สกิล (soft skill) ต่างๆ ที่นายจ้างพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถในการสื่อสาร การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การทำงานเป็นทีม การมีความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นมืออาชีพ และความสามารถในการปรับตัว
จะเห็นได้ว่า นายจ้างต้องการความเป๊ะของแรงงานมากขึ้น ทั้งที่จ่ายเงินเท่าเดิม และพอช่วงโควิด ธุรกิจจำนวนมากต้องการลดจำนวนแรงงานลง ในขณะที่ต้องการให้แรงงานมีทักษะที่หลากหลายมากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าโลกเปลี่ยนไป
:: การเรียนรู้ตลอดชีวิต : กุญแจสู่การพัฒนาทักษะให้เท่าทันโลกอันผันผวน ::

ถ้าถามว่าแรงงานไทยมีทักษะเพียงพอสำหรับโลกใหม่แล้วหรือยัง ถ้าเป็นคำว่า ‘พอ’ ก็คงยังไม่พอ ไม่ว่าชาติไหนก็ไม่พอ เพราะความรู้เปลี่ยนแปลงเร็ว สิ่งที่เราต้องมีคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต
จากการสำรวจข้อสอบ PISA ของ OECD ที่มีการตั้งคำถามต่อเยาวชนว่า สติปัญญาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ถ้าหากเขามองว่า สติปัญญาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ก็สะท้อนให้เห็นถึงการมี growth mindset ซึ่งทำให้เขารู้สึกว่า ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แต่มีเด็กไทยเพียง 40% เท่านั้นที่ตอบว่าสติปัญญาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ต่างจากเด็กชาวญี่ปุ่นที่เกือบ 70% ตอบว่าสติปัญญาสามารถเปลี่ยนแปลงได้
ขณะเดียวกัน จากผลการศึกษาของ Sea Group ที่ได้ร่วมมือกับ World Economic Forum (WEF) แสดงให้เห็นว่า 30% ของคนหนุ่มสาวชาวไทยเชื่อว่า ทักษะที่ตัวเองมีอยู่แล้วสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ถ้าเราไปดูสิงคโปร์และเวียดนามจะมีเพียง 10% เท่านั้นที่ตอบแบบนี้ อันนี้น่ากังวลเป็นอย่างมาก เพราะถ้ามีคนจำนวนมากเชื่อว่าทักษะของเราสามารถใช้ได้ตลอดชีวิต เขาจะไม่ปรับตัวรับทักษะใหม่ แล้วสุดท้ายจะทำให้พวกเขาอยู่ยากขึ้น หางานยากขึ้น และหางานที่รายได้ดีได้ยากยิ่งขึ้น
นอกจากเรื่อง growth mindset แล้ว ส่วนหนึ่งที่เป็นเหตุให้คนไทยมีโอกาสได้เรียนหรือได้รับการฝึกอบรมน้อยเป็นเพราะฐานะทางครอบครัวที่ไม่เอื้ออำนวย ปัญหานี้กำลังบอกเราว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของตัวเอง แต่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องให้โอกาสคนไทยสามารถยกระดับทักษะเพื่อให้มีงานที่มีรายได้ดีได้
บางทีการที่เราบอกว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้เรียน แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่แม้เข้าไปเรียนแล้วก็ออกกลางคัน เราจะเห็นได้ว่าคนที่เรียนในระดับปริญญาตรีมีตัวเลขการออกจากการศึกษากลางคันถึง 16-17% แม้จะมีเหตุผลที่หลากหลาย แต่เหตุผลสำคัญคือปัญหาครอบครัว ซึ่งสะท้อนไปถึงเรื่องความไม่พร้อมในการส่งลูกเรียนหนังสือ แม้ประเทศไทยจะบอกว่าเราให้เด็กเรียนฟรี 15 ปี จนกระทั่งจบ ปวช. แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าเขาจะสามารถเรียนได้ฟรี แต่หากสถานะทางบ้านยากจน สุดท้ายเขาก็ต้องออกไปทำงาน มันสะท้อนให้เห็นว่า รัฐต้องคิดแล้วว่าการให้เรียนหนังสือฟรี 15 ปี อาจจะไม่ตอบโจทย์ ตราบใดที่ประเทศไทยยังมีคนยากจนอยู่มาก แม้ให้เขาได้เรียนฟรี เขาก็ยังไม่มีโอกาส
:: ความเกี่ยวโยงระหว่างสถานศึกษาและตลาดแรงงาน ::

สาเหตุที่บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมีรายได้มัธยฐานค่อนข้างต่ำกว่ามหาวิทยาลัยประเภทอื่นประมาณ 1,000-2,000 บาทมีหลายสาเหตุ บางทีเป็นเรื่องความไม่พร้อมของหลักสูตร ความไม่พร้อมของผู้สอน หรือความไม่พร้อมของผู้เรียน
แต่ถ้าเราตัดปัจจัยอื่นแล้วดูเฉพาะในส่วนสถาบันการศึกษา หากเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยราชภัฏสองแห่งที่อยู่ใกล้เคียงกันในสาขาการบริหารธุรกิจและการตลาด มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งที่หนึ่ง บัณฑิตจบมาแล้วได้เงินเดือน 15,000 บาท แต่มหาลัยวิทยาลัยราชภัฏแห่งที่สอง บัณฑิตจบออกมาแล้วได้เงินเดือน 12,000 บาท ซึ่งเราพบว่าสาเหตุของความต่างนี้เกิดจากการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งที่หนึ่งมีความเข้มข้นของการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและมีการเปิดสอนวิชาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งที่สอง รวมถึงมีการสอนโดยอาจารย์ที่จบตรงสาย นี่คือสิ่งที่บอกว่า ถ้าเราตัดตัวแปรอื่นเพื่อมองเฉพาะหลักสูตรแล้ว สถาบันการศึกษาเองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเหมือนกัน
หัวใจสำคัญในการปรับตัวของสถานศึกษาคือต้องมีการสอนทักษะที่ตลาดต้องการ เพื่อให้นักศึกษามีทักษะเหล่านี้แล้วสามารถได้งานที่ดี จริงๆ แล้วสถาบันการศึกษาในไทยก็พยายามปรับตัว เช่น เรามี Thailand Massive Open Online Course Platform หรือ Thai MOOC ระบบจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่สนับสนุนให้คนไทยได้ศึกษาหาความรู้ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิต แต่หลักสูตรดังกล่าวก็ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องความรับผิดรับชอบ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด
นอกจากนี้ก็มีธนาคารหน่วยกิต (credit bank) ซึ่งเปิดให้นักศึกษาสามารถสะสมหน่วยกิตได้ ข้อดีคือไม่จำเป็นต้องเรียนให้จบภายใน 4 ปี แต่สามารถสะสมหน่วยกิตไปได้เรื่อยๆ แม้ว่าข้อดีคือให้ความยืดหยุ่นกับผู้เรียน แต่ปัญหาคือ ยังไม่ตอบโจทย์การมีหลักสูตรที่ตรงตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากสาขาที่ความรู้เปลี่ยนเร็ว เช่น ไอที การให้สะสมหน่วยกิตไปเรื่อยๆ ยาวๆ อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีนัก
ส่วนตัวอย่างที่ตอบโจทย์เรื่องของทักษะได้ดีคือสิ่งที่เรียกว่า work-integrated learning (WIL) หรือการเรียนในสถาบันการศึกษาควบคู่ไปกับการทำงานจริงในสถานประกอบการ ตรงนี้คือสิ่งดีที่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการทำงานจริงและทำให้ผู้เรียนมีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาด แต่ปัญหาคือประเทศไทยยังมีโครงการแบบนี้น้อย
:: การสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่ไม่เพียงพอของภาครัฐ ::

หากถามว่านโยบายของภาครัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของคนไทยเพียงพอหรือยัง อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่ายังไม่เพียงพอ เพราะเราต้องเรียนรู้ทักษะใหม่อยู่ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายของเรายังมีลักษณะเฉพาะหน้ามาก ไม่ได้มองในระยะยาว ยกตัวอย่างการให้เงินช่วยเหลือในสภาวะที่ผู้คนที่ทำงานไม่ได้ เช่น นักร้องศิลปิน นักดนตรีหรือคนที่ทำงานในผับ เป็นต้น ซึ่งการช่วยเหลือในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นเท่านั้น
จริงๆ แล้วรัฐควรสนับสนุนให้ประชาชนฝึกทักษะ แต่เรายังไม่ได้ทำส่วนนี้มากนัก เราทำแค่แจกเงินเฉพาะหน้า ทั้งที่โลกใหม่หลังโควิดทั้ง 3 โลก ได้แก่ โลกเศรษฐกิจดิจิทัล โลกเศรษฐกิจใส่ใจ และโลกเศรษฐกิจสีเขียว เป็นโลกที่ทักษะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหลากหลาย ภาครัฐก็ต้องปรับตัวให้เร็วและหลากหลายด้วย แต่เรายังเห็นว่ารัฐยังทำได้ไม่ดีพอ
ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย อันดับแรกที่ควรทำคือ สถาบันฝึกอบรมจะต้องสอนให้ดี เพื่อแก้ปัญหาการไม่มีความรับผิดชอบของสถานศึกษาที่มีหลักสูตรไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ในขณะเดียวกันก็สามารถนำโมเดลของประเทศอื่นมาปรับใช้ได้ เช่น ในสิงคโปร์ ผู้ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปจะได้รับคูปองมูลค่า 500 ดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อนำไปเลือกเรียนทักษะอะไรก็ได้ที่ทำให้เขามีรายได้ดี
นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มพูนทักษะให้คนไทยด้วย ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งพยาบาลที่มีความต้องการสูงมาก แต่กลับมีข้อบังคับของสภาการพยาบาลว่า หากจะเปิดวิทยาลัยพยาบาลแห่งใหม่ต้องมีการจับคู่กับสถาบันพี่เลี้ยงหนึ่งแห่งเพื่อควบคุมคุณภาพ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ไม่มีใครอยากให้มีคนมาเป็นคู่แข่งเพิ่มหรอก ข้อบังคับนี้จึงเป็นการกีดกันการจัดตั้งวิทยาลัยพยาบาลแห่งใหม่ แต่จริงๆ มีวิธีอื่นที่สามารถควบคุมคุณภาพได้โดยไม่ต้องมีข้อบังคับในลักษณะนี้ เพราะฉะนั้น กฎระเบียบของภาครัฐก็จำต้องมีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน