fbpx
ทบทวนการเลือกตั้ง อบต. 64 กับหนทางต่อไปข้างหน้า

ทบทวนการเลือกตั้ง อบต. 64 กับหนทางต่อไปข้างหน้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้ง อบต. ที่ผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ถือเป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของประเทศ แม้ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2551 เคยได้ชื่อว่าเป็นปีแห่งการเลือกตั้งท้องถิ่นมาก่อน เพราะมี อปท. ครบวาระรวมกันถึง 3,827 แห่ง แต่ปีนั้นจัดกระจายไปตลอดทั้งปี และยังไม่มากเท่านี้ ซึ่งคราวนี้เกิดขึ้นในวันเดียว ยิ่งหากนับการเลือกตั้งเทศบาลเมื่อวันที่ 28 มีนาคมเข้าด้วยแล้ว ปีนี้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งสิ้น 7,772 แห่งเลยทีเดียว ยังไม่พูดถึงว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีขึ้นพร้อมกันทั้งผู้บริหารกับฝ่ายสภา ด้วยเพราะ คสช. สั่งไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นมาตั้งแต่กลางปี 2557

สถิติการเลือกตั้งที่ไม่มีแบบแผน

ในการเลือกตั้ง อบต. หนนี้ สถิติซึ่งผมให้ความสนใจพิเศษมีอยู่ด้วยกัน 2 เรื่อง หนึ่ง ยอดของผู้มาใช้สิทธิ และ สอง สัดส่วนระหว่างนายกฯ คนใหม่กับนายกฯ คนเก่า เพราะมั่นใจมากว่าตัวเลขจะต้องออกมาสูงกว่ากรณีการเลือกตั้ง อบจ. กับเทศบาลค่อนข้างแน่

ข้อมูลเรื่องแรกไม่เป็นปัญหา เพราะฝั่ง กกต. มีรายงานภาพรวมทั้งประเทศ และของแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว (ซึ่งมักเผยแพร่ผ่านสื่อสารมวชน ไม่ใช้ช่องทางที่เป็นทางการของตัวเอง ไม่ว่าเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ) แน่นอน ตัวเลขที่ออกสูงกว่ากรณีเทศบาลอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับภาพปรากฏการณ์ที่คนแห่กลับบ้านเพื่อไปเลือกตั้งหนนี้ จนรถป้ายทะเบียนต่างจังหวัดแน่นขนัดในหลายพื้นที่ไม่แพ้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่นเดียวกับที่ผมลองสอบถามนักศึกษาหลายๆ คนที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขต อบต. ก็ยืนยันว่าจะต้องกลับไปเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลคล้ายกัน เพราะมีญาติพี่น้องหรือผู้ที่สนิทชิดเชื้อกันลงสมัคร (หรือมีชื่ออยู่ในทีมบริหาร)

ประเภทจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ
นายก อบจ.7646,610,75929,016,53662.25
นายกเทศมนตรี2,47224,699,52016,426,47166.51
นายก อบต.5,30027,386,27220,424,60374.58
เปรียบเทียบการใช้สิทธิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 20 ธันวาคม 2563
การใช้สิทธิเลือกตั้งนายกเทศมนตรี 28 มีนาคม 2564
และการใช้สิทธิเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 28 พฤศจิกายน 2564

แม้สถิติภาพรวมในครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิน้อยกว่าช่วงตุลาคม 2556 ที่เลือกกันประมาณ 2,800 แห่ง ครั้งนั้นคือ 78.30% คราวนี้เลือก 5,300 แห่ง ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิอยู่ที่ 74.58% แต่ทั้งนี้ต้องมิลืมว่านี่คือการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด

หากดูรายจังหวัดกลายเป็นว่า ‘พัทลุง’ มีเปอร์เซ็นต์ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงที่สุด และสามารถครองแชมป์ได้ในทุกสนามติดต่อกัน ไล่ตั้งแต่ อบจ. 78.34% เทศบาล 83.43% มาจนถึง อบต. 84.97% เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ นักวิชาการแถวนั้นน่าลงไปศึกษาวิจัยดูว่าเพราะเหตุใด ไม่ใช่ ‘ลำพูน’ ที่มักตกเป็นข่าวมาตลอด

จากข้อมูลเท่าที่มีปรากฏ (ขาดอีก 30 กว่าจังหวัด) อบต. ที่มีจำนวนผู้ใช้สิทธิสูงสุดของทั้งประเทศคือ อบต.สระเยาว์ อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ มากถึง 99.15% ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 6,102 คน ออกไปใช้สิทธิกัน 6,050 คน

จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเปอร์เซ็นต์ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าภาคอื่นค่อนข้างเห็นได้ชัด ไม่ว่าพิจารณาสถิติทั้งจังหวัดหรือแยกดูรายแห่งแบบเร็วๆ สันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรของภาคอีสานที่มีลักษณะเป็น ‘ครัวเรือนแหว่งกลาง’ มากกว่าภาคอื่น นั่นคือ พ่อแม่ที่อยู่ในวัยทำงานมักจะอพยพไปทำงานต่างถิ่นแล้วฝากลูกไว้ให้ปู่ย่าตายายช่วยดูแล ไม่สะดวกและเป็นภาระที่จะกลับมาเพื่อเลือกตั้ง ขณะที่ภาคใต้มีสถิติต่ำที่สุด หมายถึงพ่อแม่เลี้ยงลูกเอง[1] ซึ่งใน 10 จังหวัดที่คนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบต. มากที่สุดอยู่ในภาคใต้เกินครึ่ง ได้แก่ พัทลุง ตรัง สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ และสตูล ส่วนภาคอีสานไม่ติดอันดับ[2] เมื่อดูรายแห่ง ยอดคนไปใช้สิทธิของ อบต. ส่วนใหญ่ในภาคอีสานอยู่ที่ราวๆ ร้อยละ 60-70 เท่านั้น ผิดกับภาคใต้ซึ่งมีมากกว่า 80% ขึ้นไป

สำหรับเรื่องหลังมีแต่ตัวเลขภาพใหญ่ (ซึ่งยังคงไม่สมบูรณ์[3]) ทว่าในระดับจังหวัดขึ้นอยู่กับ กกต. ของแต่จังหวัดว่าจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้หรือไม่ ส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่บอก ถึงกระนั้น แหล่งข้อมูลที่นำมาใช้ในที่นี้ไม่ได้มาจาก กกต. เพียงฝ่ายเดียว หากแต่อาศัยการรายงานข่าวของเพจดังของจังหวัดนั้นๆ ที่อ้างอิงข้อมูลจาก กกต. ของจังหวัดนั้นๆ มาใช้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะไม่เป็นทางการเอามากๆ เช่น ถ่ายรูปหรือแคปหน้าจอจากเอกสารที่เผยแพร่เป็นการภายในเอามาลง

สะท้อนว่า กกต. กลางไม่ได้กำหนดรูปแบบสำหรับการรายงานข้อมูลสถิติการเลือกตั้งให้กับ กกต. จังหวัดเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้เราไม่เห็นข้อมูลที่น่าสนใจของหลายจังหวัดบางประเด็นไปอย่างน่าเสียดาย เช่น สัดส่วนชาย/หญิง ช่วงอายุ การมีผู้สมัครเพียงรายเดียว จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแยกรายแห่ง คะแนนที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ชนะได้ ผลคะแนนเลือกตั้งในส่วนของสมาชิกสภา โดยเฉพาะกับเรื่องคนใหม่/คนเดิมซึ่งก่อนเลือกตั้งผมลุ้นให้ตัวเลขออกมาเกิน 70% ทุบสถิติของเทศบาลที่ได้นายกฯ คนใหม่มากถึงร้อยละ 67 เพราะทราบข้อมูลว่ามีนายก อบต. คนเดิมลงสมัครรับเลือกตั้ง 2,811 คน ต่อให้ชนะทุกคนได้เต็มที่ก็แค่ 53% เท่านั้น จากทั้งหมด 5,300 แห่ง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ถึงร้อยละ 67.19 และยังน้อยกว่าเทศบาลด้วยซ้ำ แต่ก็ใกล้เคียงกันจนอาจทึกทักว่าเป็นจุดร่วมของท้องถิ่นขนาดเล็กได้บ้าง

หากเจาะจงดูเฉพาะในส่วนที่นายกคนเดิมลงแข่งขันพบว่าเปอร์เซ็นต์ชนะของนายกฯ คนเดิมยังมีสูง โดยมากสามารถรักษาเก้าอี้ตำแหน่งเอาไว้ได้กว่า 61% (1,716 คนจาก 2,811 คน)

สัดส่วนนายก อบจ. นายกเทศมนตรี และนายก อบต. ที่เป็นคนใหม่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่า ‘คนใหม่’ ในที่นี้หมายถึงแค่ว่าไม่ใช่อดีตนายกฯ คนล่าสุดที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไป นายกฯ ที่เคยเป็นมาตั้งแต่เมื่อสมัยก่อนหน้านั้น หากชนะได้คราวนี้ก็ถือเป็นนายกฯ คนใหม่แล้ว และแน่นอนย่อมไม่ใช่คนหน้าใหม่ที่ไม่ประสีประสาทางการเมืองมาก่อนเลย ยกตัวอย่างนายก อบต. หน้าใหม่ 3 คนที่ได้มีโอกาสพูดคุยออกรายการในเพจ The Reporters ถามกันไปถามกันมา ทุกคนล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์ทางการเมืองในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น[5]

ท่านแรก นายก อบต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี อายุเพิ่ง 35 ก็จริง แต่เคยเป็นเลขาฯ นายกฯ คนก่อนมา 5 ปี เพิ่งขอลาออกปีที่แล้ว ตัดสินใจลงสมัครโดยเอาชนะนายกฯ ที่ตั้งตัวเองเป็นเลขาฯ ได้

ท่านที่สอง นายก อบต.ท่าค้อ โด่งดังมากในฐานะผู้บริหารท้องถิ่นสตรีข้ามเพศคนแรกของประเทศ เคยเป็น อสม. มาร่วม 20 ปี แต่ 5 ปีหลังได้เป็นสารวัตรกำนัน สามารถชนะทีมอดีตนายกฯ ได้ ซึ่งแม้คนเดิมไม่ได้ลงเอง แต่ก็ให้การสนับสนุนอดีตรองนายกฯ ของตนอยู่เบื้องหลัง

ท่านที่สาม นายก อบต.แม่สามแลบ ที่มาจากสายงานภาคประชาสังคม 5-6 ปีก่อนเคยเป็นเลขานายกฯ 2-3 ปีต่อมาขยับขึ้นเป็นรองนายกฯ คนที่ 1 เพิ่งลาออกได้ปีกว่าเพื่อเตรียมลงเลือกตั้งหนนี้ลงแข่งกับรองนายกฯ คนที่ 2 โดยที่นายกฯ คนเก่าไม่ลง

หรือแม้แต่นายก อบต. 38 แห่งของคณะก้าวหน้าที่มีภาพความเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ยังเป็นผู้มีประสบการณ์การเมืองมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ 23 คน มีหน้าใหม่เลยจริงๆ 15 คน[6]

เมื่อไล่ดูสถิติรายจังหวัด ผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างกัน ในบรรดาจังหวัดที่มีข้อมูลในประเด็นนี้ 33 จังหวัด มีนายก อบต. คนเดิมที่ลงเลือกตั้งสมัยนี้ และได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาในสัดส่วนดังนี้ กระบี่ 30% กำแพงเพชร 55% ขอนแก่น 21% ชลบุรี 49% เชียงราย 24% ตรัง 37% นครปฐม 39% นครราชสีมา 35% นครศรีธรรมราช 41% นราธิวาส 49% น่าน 17% ปทุมธานี 46% ประจวบคีรีขันธ์ 32% ปัตตานี 37% พังงา 44% เพชรบูรณ์ 38% พะเยา 30% มุกดาหาร 21% ยะลา 28% ร้อยเอ็ด 23% ระยอง 43% ราชบุรี 34% ลพบุรี 44% ลำพูน 35% ศรีสะเกษ 22% สงขลา 40% สตูล 32% สมุทรปราการ 54% สมุทรสาคร 50% สุพรรณบุรี 46% อุดรธานี 17% อุทัยธานี 39% อุบลราชธานี 32%

ข้อสังเกตคร่าวๆ คือ (1) จังหวัดภาคกลางและภาคใต้ สัดส่วนของการได้นายก อบต. คนเดิมสูงกว่าจังหวัดภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่อนข้างชัดเจน มากที่สุดคือ กำแพงเพชร น้อยที่สุดคือ น่านกับอุดรธานี (2) จังหวัดที่คณะก้าวหน้าประสบความสำเร็จมักเป็นจังหวัดที่มีนายก อบต. คนใหม่ในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ ร้อยเอ็ด และอุดรธานี

การรายงานผลการเลือกตั้งของบางจังหวัดทำได้ดีแล้ว เช่น อุทัยธานี ช่วยให้รู้ว่ามีคนเดิมลงสมัครทั้งหมดกี่คน (27 คน) ได้กี่คน (19 คน) แพ้กี่คน (8 คน) บ่งชี้ว่านายกฯ คนเก่าย่อมมีภาษีดีกว่าคู่แข่งที่เป็นคนใหม่, เชียงราย รายงานได้รวดเร็ว มีรายละเอียดค่อนข้างครบถ้วน ทั้งคะแนนที่ผู้ชนะได้รับ คนเดิม/คนใหม่ (17/53 คน) และร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ, นราธิวาส นอกจากประเด็นเรื่องคนเดิม/คนใหม่ (35/37 คน) แล้ว ได้เพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิ บัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่เลือกฯ แยกเป็นรายอำเภอ จนเห็นว่า อ.สุไหงปาดี ได้นายกคนเก่าทั้งหมด 6 แห่ง ถ้าทุกจังหวัดทำละเอียดเช่นนี้ก็คงจะดี (อย่างน้อยๆ เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ)

ขณะที่ระบบศูนย์ข้อมูลเลือกตั้งผู้บริหาร สมาชิกสภาท้องถิ่น และทะเบียน อปท.ของกองการเลือกตั้งท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่สามารถแยกดูแต่ละ อบต. เป็นรายแห่งได้ ส่วนใหญ่คะแนนยังคงเป็นศูนย์ หลายแห่งแม้ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย ทว่าก็ยังไม่มีข้อมูลให้ดู บางแห่งตัวเลขก็ไม่ตรงกัน (กับที่ทาง กกต. รายงานไปก่อนหน้า)

การผลิตซ้ำในสื่อหลัก

ประเด็นที่สื่อส่วนใหญ่เอาใจจดจ่อไม่พ้นเรื่องความพ่ายแพ้ของคนในนามสกุลการเมืองดังกับชัยชนะของนักการเมืองท้องถิ่นผู้ตกเป็นข่าวในทางลบ แต่ยังได้รับความไว้วางใจจากประชาชนกลับเข้ามาเป็นอีก

เช่นที่ลำปาง อบต.นาแส่ง อ.เกาะคา นายชวนิตย์ จันทร์สุรินทร์ อดีตนายกฯ 2 สมัย ลูกชายคนโตนายพินิจ จันทร์สุรินทร์ อดีต ส.ส.ลําปาง หลายสมัย และอดีต รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องเป็นฝ่ายแพ้ให้กับอดีตกํานันตำบลนาแส่งที่ลงแข่ง[7] ที่พิจิตร อบต.คลองคะเชนทร์ อ.เมือง นางอุมาพร แก้วทอง ภรรยานายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายกฯ เก่า แพ้ต่อนายศุภกิจ กันภัย เลขานุการส่วนตัวนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง[8] หรือในกรณีของ อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี ที่สมุทรปราการ นายทรงชัย นกขมิ้น แชมป์เก่าเอาชนะชุติกาญจน์ ตัวแทนคณะก้าวหน้าไปได้ ทั้งที่กำลังถูกสังคมตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรี[9]

นำเสนอพาดหัวด้วยคีย์เวิร์ด ‘บ้านใหญ่-ช็อก-พลิกล็อก-ล้มช้าง-คว่ำแชมป์เก่า’ เหล่านี้แง่หนึ่งทำให้คนมองการเลือกตั้งท้องถิ่นว่าเป็นเรื่องยาก หลาย อบต.จึงมีผู้ลงสมัครเพียงคนเดียวที่มักเป็นคนเดิม หาคนลงแข่งสู้ด้วยไม่ได้ ประกอบกับมีภาพจำเรื่องความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่นที่มีมาช้านานเป็นทุนเดิม

อย่างไรก็ดี พูดได้เลยว่าความรุนแรงจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในปัจจุบันลดน้อยถอยลงไปมาก ตลอดทั้งปีนี้พบทั้งสิ้น 4 ราย (ไม่รวมเทศบาลซึ่งมีเพียงเหตุการณ์เดียวเกิดขึ้นที่เทศบาลตำบลดอนทราย จ.ราชบุรี[10])

  1. นายก อบต.บงตัน อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เมื่อ 6 พฤษภาคม 2564 (ไม่เสียชีวิต)
  2. ว่าที่ผู้สมัครนายก อบต.โคกพระเจดีย์ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อ 27 กันยายน 2564 (ไม่เสียชีวิต)
  3. ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภา อบต.บางจาก อ.เมือง จ.เพชรบุรี 27 กันยายน 2564 (เสียชีวิต)
  4. ผู้สมัครนายก อบต.ควนชุม อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช 25 พฤศจิกายน 2564 (ไม่เสียชีวิต)

ต่อให้นับรวมกรณีการยิงข่มขู่ที่ไม่ประสงค์ถึงขั้นเอาชีวิต เช่น ยิงรถ ยิงวัว ยิงบ้าน อย่างไรเสียก็ไม่ถึง 10 ราย ผิดกับข้อมูลที่ผมเคยเก็บรวบรวมในปี 2552 รวมทั้งปี 29 ราย เฉพาะ อบต. 20 ราย เสียชีวิตรวม 18 ราย ต่อมาปี 2556 ทั้งปีนั้นมี 12 ราย เฉพาะ อบต. 9 ราย เสียชีวิตรวม 10 ราย เรื่องนี้จึงเป็นสัญญาณเชิงบวกที่สื่ออาจยังมองไม่เห็น

ผลเลือกตั้งปรากฏว่าผู้สมัครในลำดับที่ 1 และ 4 ทั้งคู่เป็นอดีตนายกฯ ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไปสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งเดิมได้อีกสมัย คนแรกแม้ไร้คู่แข่งแต่ก็ได้คะแนนขาดลอย 2,188 จาก 3,933 เสียง (55%) เกินขั้นต่ำ 20% และมากกว่าบัตรไม่ประสงค์เลือกใครที่มี 413 ใบ (13%) คนหลังถูกลอบยิงก่อนการเลือกตั้งแค่ไม่กี่วันจนออกหาเสียงไม่ได้ได้ไป 2,681 คะแนน เอาชนะผู้สมัครอีกคนไปได้ 383 คะแนน ขณะที่ผู้สมัครในลำดับที่ 2 ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ฉิวเฉียดคือได้ 1,287 คะแนน แพ้ไป 168 คะแนน

ความลักลั่นที่ควรต้องถูกแก้ไข

ทั้งจากสกู๊ปข่าวที่ออกมา ตลอดจนสถิติการเลือกตั้งที่ปรากฏในห้วงการเลือกตั้งหนนี้ ทำให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่าง อบต.ในท้องที่ต่างๆ

ในเชิงขนาด บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ เกาะเล็กๆ กลางแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่เพียง 16 ตารางกิโลเมตร แต่มีถึง 6 อบต. ตั้งอยู่ ตรงกันข้ามกับที่บ่อเกลือ จ.น่าน ทั้งอำเภอมีเนื้อที่ 838 ตารางกิโลเมตร กลับมีแค่ 3 อบต. ดูแล (กับอีก 1 เทศบาล)

ด้านงบประมาณ อบต. ที่มีรายได้มากที่สุดของประเทศในปีงบประมาณที่ผ่านมาคือ อบต.บางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ มีรายได้ถึง 638 ล้านบาท ขณะที่ อบต. ที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศคือ อบต.แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช มีรายได้เพียง 15.91 ล้านบาท

หมู่บ้านในเขตพื้นที่ (อีกนัยหนึ่งหมายถึงสมาชิกสภา อบต.) อบต.หนองหว้า จ.สระแก้ว มี 28 หมู่บ้าน อบต.วาวี จ.เชียงราย มี 25 หมู่บ้าน ขณะที่ อบต.ปูยู จ.สตูล มี 3 หมู่บ้าน เช่นเดียวกับ อบต.คลองประเวศ จ.ฉะเชิงเทรา

จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง บาง อบต. มีผู้สิทธิเลือกตั้งไม่ถึงพัน เช่น อบต.เกาะพระทอง จ.พังงา จำนวน 611 คน แต่บางก็ อบต.ก็มีมากมายหลายหมื่น เช่น อบต.คลองสาม จ.ปทุมธานีมีถึง 66,354 คน อบต.พันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาครมี 27,769 คน

เกิดคำถามตามมา อบต. หลายแห่งที่มีความพร้อมเป็นเทศบาลได้ ทั้งในแง่ประชากรและงบประมาณ ทำไมจึงไม่อยากยกฐานะ ในทัศนะผมเห็นว่าปัจจัยที่ อบต. จะใช้ตัดสินใจยกฐานะเป็นเทศบาลหรือไม่ต่อไปอยู่ที่ฐานจำนวนที่นั่งในฝ่ายสภา สมมติตอนนี้ถ้ามี ส.อบต. 8 หมู่บ้าน 8 คน แนวโน้มว่าในสมัยหน้าจะมีการยกฐานะ เพราะจะได้สมาชิกเพิ่มเป็น 12 คน แต่ถ้ามี 26 หมู่บ้าน 26 คน คงยากมากที่ใครจะยอมให้ ส.อบต.หายไปทีเดียว 14 ที่นั่ง เรื่องอำนาจภารกิจ งบประมาณ การขยายโครงสร้างส่วนงาน และบุคลากรที่มีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ปัจจัยหลักเท่ากับประเด็นทางการเมือง

ผลเลือกตั้งใน อบต. บางแห่งยิ่งชวนให้ต้องคิดต่อ

นายก อบต.เกาะคอเขา จ.พังงา น่าจะเป็นผู้ชนะที่มีคะแนนน้อยที่สุดแล้วที่ได้เป็นนายกฯ ด้วยคะแนน 287 คะแนน ส่วน ส.อบต.คำใหญ่ หมู่ 8 จ.กาฬสินธุ์ ก็น่าจะเป็นผู้ได้คะแนนน้อยสุดของประเทศเช่นกัน คือได้เพียง 9 คะแนนแล้วได้เป็นสมาชิก อบต.

ในภาพกว้าง ข้อมูลจากหลายจังหวัดบ่งชี้ว่ามีสมาชิกสภา อบต. ที่ได้รับคะแนนเพียงหลักสิบ แต่ชนะการเลือกตั้งได้มีอยู่พอสมควร ส่วนหนึ่งเนื่องด้วยจำนวนผู้มีสิทธิในระดับหมู่บ้านน้อยคือไม่ถึงร้อยคน ขณะที่บางจังหวัดมีนายก อบต. กว่าครึ่งที่ได้รับคะแนนไม่ถึงหลักพัน บางคนได้เพียง 3-4 ร้อยคะแนนก็ได้เป็นแล้ว

การอ้างอิงเขตตามลักษณะการปกครองท้องที่ (หมู่บ้าน) มาใช้แบ่งเขตการเลือกตั้งท้องถิ่น (อบต.) จึงเป็นเรื่องต้องทบทวน เช่นเดียวกับการถกเถียงเรื่องการควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก (เทศบาล+อบต.) ที่คงจะเพิกเฉยไม่ได้อีกต่อไป


[1] “สสส.สถิติฯ: ปู่ย่าตายายฟูมฟักหลานอีสาน พ่อแม่เลี้ยงเด็กใต้เอง,” ไทยโพสต์ (11 มกราคม 2563), จาก https://www.thaipost.net/main/detail/54263

[2] “กกต.แจ้ง 10 จังหวัดใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบต.มากที่สุด ภาคใต้เกินครึ่ง,” ไทยรัฐออนไลน์ (3 ธันวาคม 2564), จาก  https://www.thairath.co.th/news/politic/2256787

[3] ยังขาดอีก 23 คนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ (หรือคิดเป็นร้อยละ 0.43) จากข้อมูล ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2564

[4] ที่มาของข้อมูล: https://www.facebook.com/746982355669237/photos/a.747022688998537/1552924985074966/

[5] “ล้อมวงคุย! นายก อบต. หน้าใหม่ ความหวังการเมืองท้องถิ่น?,” The Reporters (6 ธันวาคม 2564), จาก https://www.facebook.com/watch/live/?ref=search&v=875893699764563

[6] “เปิด 17 จว. “ก้าวหน้า” ชนะนายก อบต. 38 ที่นั่ง “ธนาธร” ปักธง “นายกฯพัทยา” ต่อ,” กรุงเทพธุรกิจ (29 พฤศจิกายน 2564), จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/974600?fbclid=IwAR1vR0eFZBfU8QtkK6wNuiTGLy5PkCiItJbs–goJUTz4Ec_oSeTiPs6Wvs

[7] “อดีตนายกฯนามสกุลดัง สอบตกหลายราย,” ลานนาโพสต์ (29 พฤศจิกายน 2564), จาก https://www.lannapost.com/content/61a4880c1ff6dcd1dd90737c?fbclid=IwAR1CN_m5PlmaPjo0tz68V9K3uv2uR76EB6Z25ZsQ5gpRhmKxW1QHb5JwJ_g

[8] “ใครบ้าง? แชมป์เก่าตก-หน้าใหม่คว้าชัย สีสันเลือกอบต.64,” Thai PBS (29 พฤศจิกายน 2564), จาก https://news.thaipbs.or.th/content/310207

[9] “เสาไฟกินรีชนะ “ทรงชัย นกขมิ้น” ดับฝันธนาธร ยึด อบต.ราชาเทวะ,” คมชัดลึก (29 พฤศจิกายน 2564), จาก https://www.komchadluek.net/scoop/494748

[10] อ่านกรณีนี้ได้จากหัวข้อความรุนแรงแพ้พ่ายใน “ข้อสังเกตบางประการต่อการเลือกตั้งเทศบาล ’64,” The 101.World (7 พฤษภาคม 2564), จาก https://www.the101.world/thailand-s-2021-municipal-election/

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save