fbpx
“เราต้องให้เด็กมีอำนาจด้วย” ครูสอญอ : การสอนแบบเท่าเทียมที่ ‘ม่วน’ ทั้งครูและเด็ก

“เราต้องให้เด็กมีอำนาจด้วย” ครูสอญอ : การสอนแบบเท่าเทียมที่ ‘ม่วน’ ทั้งครูและเด็ก

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่องและภาพ

ช่วงบ่ายแก่ เราสัญญาสนทนากับครูสัญญาที่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

เด็กนักเรียนสี่ห้าคนเล่นลูกบาสบนสนามซีเมนต์ แดดร้อนจ้าไม่ปราณี เสียงออดดังลั่นโรงเรียน นาฬิกาชี้ว่ากำลังเริ่มคาบสุดท้าย

บนห้องเรียนที่ไม่มีโต๊ะเรียน ป้ายชื่อครูสัญญา มัครินทร์ แขวนอยู่หน้าห้อง เขากำลังง่วนอยู่กับการแจกไพ่ – พูดให้ชัดกว่านั้น เขากำลังชวนเด็กเล่นบอร์ดเกมที่ชื่อ ‘วารีพินาศ’ จำลองเหตุการณ์น้ำท่วม โดยให้ผู้เล่นแบ่งบทบาทหน้าที่และฝึกมุมมองเรื่องจิตสาธารณะ

เด็กๆ ชั้นมัธยมต้นกว่าสิบชีวิตนั่งมองการ์ดและลูกเต๋าอย่างตั้งอกตั้งใจ หูฟังกติกาจากครู เมื่อเข้าใจดีแล้วก็เข้าสู่กระบวนการถกเถียงแลกเปลี่ยน โดยมีครูสัญญาเดินง่วนตอบคำถามทั่วห้อง

สัญญา มัครินทร์ หรือ ครูสอญอ เข้ามาฝึกสอนที่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2548 สนใจใฝ่รู้เรื่องการเรียนการสอน เขาใช้คำว่า ‘ส่อหล่อแส่แหล่’ ในการอธิบายความอยากรู้อยากเห็นและอยากมีส่วนร่วมในการทำงานของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง

หลังจากเรียนจบก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นครู เขาไปบวชค้นหาตัวเอง จนสุดท้ายค้นพบว่าสิ่งที่ทำแล้วถนัดและชอบที่สุดคือการสอน โอกาสครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อตอนที่เขากลับมาโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยอีกครั้งในปี 2551 หลังจากไปสอนที่อื่นมาแล้วระยะหนึ่ง ครูสอญอร่วมกับเพื่อนครูเข้ามาออกแบบรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ในระดับมัธยมต้น เพราะโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยเข้าร่วมโครงการพัฒนาการศึกษาของเทศบาลนครขอนแก่น การซ่อมสร้างหลักสูตรที่น่าตื่นเต้นจึงเริ่มต้นจากจุดนั้น

ในช่วงโควิดหนักๆ ครูสอญอผุดไอเดีย ‘ครูพุ่มพวง’ ที่ครูขับรถไปหานักเรียนถึงบ้านในช่วงล็อกดาวน์ มีทั้งทำกิจกรรมการเรียนรู้ และเอาอุปกรณ์การเรียนการสอนไปให้ เพราะมีเด็กจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการเรียนการสอนออนไลน์ โดยทำงานร่วมกับ เครือข่ายก่อการครู โครงการผู้นำแห่งอนาคต และคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โปรเจ็กต์นี้มีโรงเรียนในหลายจังหวัดเข้าร่วมด้วย

กว่า 12 ปีที่เขาทำงานขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา ทำงานกับเครือข่ายครูรุ่นใหม่ และเข้าร่วมเวิร์กช็อปที่เกี่ยวกับรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ จนผสมออกมาเป็นวิธีการสอนของเขาเอง ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในระบบการศึกษาไทย

ในยามบ่ายคล้อยไปถึงเย็นย่ำ เราคุยกันตั้งแต่เรื่องวิธีการสอน มุมมองต่อตัวเองและนักเรียน ลักษณะเฉพาะของชุมชน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และอำนาจในห้องเรียนที่เขายืนยันเสมอว่า “เราต้องให้เด็กมีอำนาจด้วย”

สัญญา มัครินทร์  ครูสอญอ

คุณมีวิธีการสอนอย่างไรที่คนสอนเองก็สนุก เด็กก็สนุกด้วย

ผมเป็นครูศิลปะที่มาสอนสังคม พอได้มาสอนมัธยมห้องแรกที่มีการออกแบบการเรียนรู้ใหม่ เลยต้องหาฟังก์ชันให้ตัวเองมีทักษะการสอนแบบบูรณาการ

ผมสนใจสังคมการเมืองอยู่แล้ว ถ้ามีทัศนคติที่ชอบ ก็เชื่อว่าจะนำพาเด็กได้ คิดง่ายๆ แค่นั้นเลย ดีตรงที่พอผมไม่ได้จบสังคมจริงๆ เลยเอาศิลปะกับสังคมมารวมกัน ไม่ติดคอนเทนต์ เช่น ตอนสอนวิชาพุทธศาสนา พาเด็กทำแมนดาลา ที่พระทิเบตฝนทรายเป็นวงกลมไล่ไปเรื่อยๆ เป็นมณฑลศิลปะ หัวใจของแมนดาลาคือการจดจ่อกับสมาธิ ทำเสร็จแล้วทำลายเพื่อให้เราเห็นใจตัวเอง

ถ้ามองเรื่องความงามนี่คือศิลปะ แต่ถ้ามองเรื่องปรัชญานี่คือการภาวนา ให้เด็กอยู่กับตัวเอง นิ่ง จดจ่อ ได้ทั้งศิลปะทั้งสังคม แต่หลักสูตรก็บังคับให้เราต้องมีเนื้อหา ในหลักสูตรพูดถึงอริยสัจ 4 พรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 ผมก็เชื่อมโยงแบบเนียนๆ ให้คุณค่ากับการทบทวน ถามนักเรียนว่า “ตอนทำ เธอเห็นใจตัวเองอย่างไรบ้าง แล้วทำไมเธอถึงทำสำเร็จ” ก็สอดคล้องกับการสอนพุทธศาสนาได้ ขึ้นอยู่กับครูจะแถอย่างไร

การสอนประวัติศาสตร์ก็สนุกมาก ให้เด็กวาดรูปตัวเอง ลองสำรวจตัวเองว่ามีแผลเป็นตรงไหนบ้าง จำได้ไหมว่าแผลนี้เกิดตอนไหน เกิดวันที่เท่าไหร่ เกิดจากอะไร นี่คือไทม์ไลน์ชีวิตดีๆ นี่เอง ผมก็ย้อนไปว่านี่คือหลักฐานชั้นต้น แล้วชวนเด็กไปดูประวัติศาสตร์นอกเหนือจากตัวเราที่ใหญ่กว่านี้ในพื้นที่ใกล้เคียง อะไรบ้างที่บ่งบอกประวัติศาสตร์ช่วงนั้น ค่อยๆ ไต่ระดับไป

มีการพาเด็กออกไปเจอปัญหาในชุมชน คุยกับปราชญ์ ให้ถ่ายรูป ทำคลิปวิดีโอแล้วสื่อสารออกมา เป็นเรื่องปฏิสัมพันธ์กับสังคมที่ผมเคยทำในมหาวิทยาลัย ก็พาเด็กทำเลย ยิ่งทำให้เด็กเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวอยู่เสมอ หลักๆ ผมอยากให้ทุกเรื่องเชื่อมโยงตัวเองก่อน แล้วค่อยๆ ขยาย ขนาดเรายังสนุก ถ้าครูสนุก เด็กก็จะสนุกด้วย

เรื่องประวัติศาสตร์หรือศาสนาในแบบเรียนไทย มักจะมีการกำหนดรูปแบบและชุดความรู้ไว้ตายตัว คุณสอนเด็กอย่างไรให้ไม่ติดกรอบ ไม่ยึดกับประวัติศาสตร์ด้านเดียว และให้นักเรียนรู้จักการคิดวิเคราะห์

ผมไม่เชื่อประวัติศาสตร์ในบทเรียน เพราะผมยังเชื่อมกับตัวเองไม่ได้ ลึกๆ ก็ไม่อินด้วย ซึ่งถ้าอิน เราก็จะกลายเป็นลำโพงที่สองที่เอาตำรามาสื่อสาร ถ้าครูพูดสนุกหน่อย ก็จะสนุก แต่ประเด็นคือถ้าครูไม่สนุก การเรียนการสอนก็จะแห้งๆ ผมก็พลิกเลย ให้เด็กเรียนประวัติศาสตร์ตัวเอง ประวัติศาสตร์โรงเรียน ประวัติศาสตร์พ่อแม่ ประวัติศาสตร์ขอนแก่น

การสอนแบบนี้อาจจะไม่ได้คอนเทนต์ในแบบเรียน แต่คอนเซ็ปต์ได้ แล้วเนื้อหาทำให้รู้จักบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน แต่ไม่สอดคล้องตัวชี้วัด ก็ต้องขอว่าเราทำถึงมาตรฐานนี้แล้ว แต่ตัวชี้วัดขอจัดการเองได้ไหม ซึ่งพอไม่มีการสอบโอเน็ตวิชาสังคมของ ม.ต้น ก็ปลดล็อกเลย อิสระขึ้นมาก

แต่ช่วงที่ยังมีสอบโอเน็ตก็ยังต้องมีติวอยู่ เพราะกระแสหลักยังให้คุณค่าเรื่องผลคะแนน เรายังอยู่ในระบบก็ต้องเล่นกับเขา ที่น่าสนใจคือ พอวิธีการเรียนเป็นแบบวิพากษ์ตั้งคำถาม คะแนนโอเน็ตก็เคยเกินคะแนนเฉลี่ยของประเทศ คนก็เซอร์ไพรซ์มาก ถ้าใจเด็กกับครูได้กันแล้ว ตอนช่วงจะติว ผมก็บอกว่าถ้าจะติวก็ต้องติวนะ แต่ช่วงไหนสนุกๆ ก็ชวนมาเล่นบอร์ดเกมกัน ถ้าใจมันได้ เด็กก็จะเข้าใจเจตนาว่าต้องผ่านด่านไหนไปด้วยกันบ้าง เขาก็จะช่วยเรา

ในสังคมมักมีคำปรามาสว่า เด็กโรงเรียนขนาดเล็กตามต่างจังหวัดไม่ค่อยมีความหวังในการพัฒนาหรอก พอมาสอนจริงๆ เป็นแบบนั้นไหม เราจะสอนเด็กต่างจังหวัดให้สู้กับเด็กชนชั้นกลางในโรงเรียนใหญ่ๆ ได้อย่างไร  

แน่นอน เขาสู้เด็กชนชั้นกลางไม่ได้ในแง่ของการเข้าถึงงานที่ดี โอกาสในการเรียนระดับสูง เด็กเราไม่ใช่ทางนั้น แต่เราต้องหาศักยภาพของเด็กเราให้เจอ เขาจบไปค้าขาย หรือมีครอบครัว ผมก็ปลูกฝังว่า ถ้าเธอจะเป็นพ่อค้าก๋วยเตี๋ยว ก็ต้องเป็นพ่อค้าก๋วยเตี๋ยวที่สร้างสรรค์ จะครีเอทอาหารอย่างไร เรา empower เขา เพราะส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าต้นทุนไม่เท่ากัน แต่ถ้าใครที่อยากเรียนมหาวิทยาลัย เราก็เชียร์ ดัน ก็มีหลายคนที่ไปถึง

แต่คนไหนไปไม่ถึง ก็ให้ภูมิใจที่เธอเป็นเธอ เราให้คุณค่าเรื่องศักดิ์ศรีตัวเอง มั่นใจ เราต้องไม่มองแบบสิ้นหวังหรือมองไม่เห็นเพชรของเด็ก ต้องดูว่าเด็กมีทักษะอะไร ให้เขาเอาพลังงานตรงนั้นมาขยายแล้วภาคภูมิใจ

เคยมีเวลาศิษย์เก่ามารวมตัวกัน เขามาเล่าให้ผมฟังว่า “ครู หนูขายข้าวโพด หนูไปได้ข้าวโพดจากตรงนี้ เขาให้ราคานี้ หนูไปเจอที่ใหม่ เขาให้ราคาถูก เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกดีมาก” เล่าอย่างภาคภูมิใจ หรืออีกคนที่เปิดร้านซ่อมรถของตัวเอง บางคนเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ทุกคนเล่าด้วยมิติที่ไม่เหนียม พื้นที่ตรงนี้คุ้มค่าแล้วที่บทบาทครูจะทำได้ในศักยภาพที่เด็กมีและเป็น

ที่บอกว่าต้นทุนไม่เท่ากัน มีปัญหาในการเรียนการสอนไหม เช่น บางเนื้อหาในหลักสูตรแกนกลางอาจจะยากไปสำหรับเด็กบางกลุ่ม หรือไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงของพวกเขา

เป็นอุปสรรคใหญ่หลวงเลยถ้าเรายังสร้างคนแบบที่รัฐหรือสังคมต้องการ คนแบบที่สังคมต้องการนั้นอุดมคติมาก เราไม่จำเป็นต้องสร้างแบบนั้นก็ได้ แล้วก็ไม่ต้องเหนื่อยตัวเองและเด็กด้วย อย่างการสอบ เราก็รู้อยู่ว่าการสอบวัดได้จริงน้อยเปอร์เซ็นต์มากเลย เรามาทำอะไรที่เป็นจริงดีกว่าไหม

ที่ยากก็เพราะส่วนหนึ่งน่าจะอยากให้เป็นตามที่ใครก็ไม่รู้ต้องการ ซึ่งอาจจะไม่ตอบโจทย์เด็กจริงๆ ก็ได้ แต่ถ้าเรามองว่าตอบโจทย์ชีวิตเด็กแล้ว ได้เติมสิ่งที่เราเชื่อด้วย ครูก็เชื่อด้วย ก็น่าจะโอเคนะ ครูก็อาจจะต้องปรับวิธีคิดด้วยเหมือนกัน

เด็กที่ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ หนีโรงเรียนไปเกเรก็มีอยู่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับมุมมอง เราได้ฟังเด็กไหม ได้มองความจริงตรงนี้ไหม

บางครอบครัวอาจไม่ได้อยู่กันพร้อมหน้า เพราะบางคนพ่อแม่ต้องไปทำงานในเมืองใหญ่ ปล่อยให้ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ไหมของครูที่ต้องสอนเด็ก

ไม่ใหญ่ธรรมดา ใหญ่มากเลย ถ้าเริ่มต้นครอบครัวอบอุ่น ปากท้องครอบครัวพร้อม ครูจะได้ทำเรื่องปัญญาเด็กเลย เราอยากทำงานสร้างแล้วต่อยอด นี่คือภาพฝัน แต่ตอนนี้เราต้องทำงานซ่อมด้วย โดยเฉพาะโรงเรียนแบบเรา ทำงานซ่อมเยอะมาก ซ่อมไม่พอนะ บางคนไม่รู้ว่าตัวเองต้องซ่อม ก็ต้องไปทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้รู้ว่าลูกคุณมีปัญหานะ บางคนก็ปฏิเสธ เลยกลายเป็นงานอนุบาลเด็กและผู้ปกครอง

นอกจากงานซ่อมและสร้างแล้วยังมีงานเสริม หน้างานครูควรจะได้สร้างเสริม จะสนุกมาก แต่ความจริงไม่ใช่ เราทำงานหลายอย่าง รถพุ่มพวงก็เป็นตัวสะท้อนหนึ่ง เราไปทำงานกับสามชุมชน แต่ละชุมชนก็สะท้อนเด็กได้พอสมควร เช่น บางชุมชนเด็กมาบ้างไม่มาบ้าง บางชุมชนหาทุกอย่างมาให้ เด็กมาตรงเวลา พอเป็นแบบนี้ก็ได้ต่อปัญญา แลกเปลี่ยนประเด็นกัน

เรื่องพวกนี้หลายมิติ ทั้งปากท้อง ทั้งการเอาใจใส่ ครอบครัวสำคัญมาก

สัญญา มัครินทร์  ครูสอญอ

เรามองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ชวนคิดว่าถ้าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของเด็กในโรงเรียน ควรจะแก้อย่างไร

หนึ่ง ต้องยอมรับว่าคือความเหลื่อมล้ำจริงๆ และต้องเข้าใจว่าคนเราไม่เหมือนกัน รัฐบาลต้องมาดูแลเรื่องปากท้องเด็ก ครอบครัว และการเข้าถึงทรัพยากรด้านการศึกษามากกว่านี้

สอง ผมเชื่อเรื่องการกระจายอำนาจ ถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำ ก็ต้องลดอำนาจครู ลดอำนาจโรงเรียนด้วย แล้วให้อำนาจนักเรียนมากขึ้น ฟังเสียงเด็กดูซิ โจทย์ชีวิตของเด็กคืออะไร ที่เขาขาดเรียนเพราะต้องไปขายขยะ หรือไปซ่อมรถ เป็นไปได้ไหมที่เราจะจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์นักเรียน ซึ่งผมก็พยายามทำแล้วก็พิสูจน์ด้วยตัวอย่างที่เอาไปทำได้จริง แค่ฟังเด็ก รับรู้ปัญหา เข้าใจและยอมรับ

ถ้าจะช่วยเหลือเรื่องทุน ก็มีทุนหลายอย่าง เช่น ทุนของ กสศ. หรือทุนของเทศบาล แต่มันจะมีความเป็นสงเคราะห์หน่อย หลายครอบครัวก็รอคอย ซึ่งคุณครูน่าจะได้ทำวิธีการเสริมทักษะ เสริมปัญญาให้เด็กหาช่องทางพึ่งตัวเองอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องเป็นผู้รับฝ่ายเดียว

บทบาทครูน่าจะมาช่วยตรงนี้ มาค้นว่าเธอถนัดอะไร สิ่งที่เธอถนัดพอจะเป็นทักษะให้ตัวเองหาเงินได้ไหม ถ้าหาเงินได้ เดี๋ยวครูจะช่วยหาตลาด หาช่องทาง แน่นอนว่า ม.1-2 อาจจะยังทำได้ไม่เท่าไหร่ แต่อย่างน้อยๆ ครูให้ทางพวกเธอนะ ถ้าเธอเอาต่อ เดี๋ยวครูจะหาคอนเน็กชันช่วย พวกเราก็ทำประมาณนี้ที่ครูพอทำได้

และเรายังกระจายอำนาจให้เด็กเป็นเจ้าของบทเรียน เขามีอำนาจในการมีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนของครู มีอำนาจในการตัดสินใจอนาคตของตนเอง ออกแบบการเรียนรู้ให้ตัวเอง มีพลังมาก เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของความรู้นี้ เขาก็มีศักดิ์ศรี จะมั่นใจว่า เฮ้ย เราทำได้แล้ว พอเขาโตขึ้นเขาก็มั่นใจที่จะนำพาครอบครัว หรือธุรกิจของเขาไปได้ ก็จะค่อยๆ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงโอกาส ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทำจะค่อยๆ ขยาย อย่างน้อยก็เกิดกับเด็กที่เราทำงานด้วย

มีวิธีการสอนอย่างไรให้เด็กมีส่วนร่วมกับเรา และเพิ่มอำนาจให้เด็กได้ด้วย

ต้องมีวิธีการตะล่อม สอนให้เด็กสนุกด้วย ผมเรียกว่าวิธีการเร่งรัดแบบมีเงื่อนไข (หัวเราะ) เช่น ถ้าอยากให้เด็กแลกเปลี่ยนหรือฝึกเขียน ผมก็เปิดชั้นเรียนด้วยคำถามว่า “พวกเธออยากเขียนหรืออยากคุยกัน” เด็กก็ไม่อยากเขียนอยู่แล้ว ผมก็บอกว่า “ครูมีคลิปให้ดู แล้วคิดว่าจะชวนเขียนประมาณ 15 หน้า แต่ถ้าเขียนเยอะขนาดนั้นพวกเธอคงเมื่อยน่าดู เลยลดให้เขียนแค่ 15 บรรทัด แต่จะดีกว่านั้นคือเขียนแค่ 5 บรรทัด แต่ทุกคนต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน”

พอพูดแบบนี้ เด็กก็อยากแลกเปลี่ยน คิดอะไรไม่ออกลอกไอเดียเพื่อนมาพูดก่อนก็ได้ เขาก็จะค่อยๆ เปิด เราควรให้พื้นที่วัฒนธรรมแบบนี้ ถ้าทำเรื่อยๆ จะสนุก เด็กจะไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับ ช่วงแรกๆ ผมยังไม่มีลีลา ก็บังคับเหมือนกัน บังคับให้พูด กดดันเด็ก “เป็นเวทีฝึก ต้องฝึก!” ก็ไม่เกิดประโยชน์ พอเรียนรู้ก็เห็นว่ามีวิธีการสอนใหม่ๆ

ผมบอกเด็กว่าการเรียนแบบนี้สนุกตรงที่ครูได้มีโอกาสเรียนกับพวกเธอด้วย ครูก็โง่นะ ครูก็ไม่รู้เรื่อง ถือว่าเป็นผู้เรียนด้วยกัน สัญญะคือการนั่งเท่าเขา เป็นสัญลักษณ์ว่าเราเท่าเทียม และครูก็ต้องแลกเปลี่ยนด้วย เมื่อทำวัฒนธรรมแบบนี้เรื่อยๆ เลยเป็นธรรมชาติ เด็กก็จะเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงเราต้องให้เขาสะท้อนครูด้วย พูดตามที่เขาคิดจริงๆ

ตอนนี้ผมพยายามทำงานให้เด็กฝึกตั้งคำถาม เราไม่เคยลบออกเลย ‘start with why’ อยู่บนกระดานตลอด ถ้าถูกตั้งคำถามเรื่อยๆ เด็กจะค่อยๆ ฉุกคิด

การกระจายอำนาจต้องให้เด็กมีอำนาจตรวจสอบครูด้วย ครูเองก็ต้องกล้าขอโทษเด็ก บกพร่องตรงไหน คุยกับเด็กตรงๆ ก็เป็นการสอนให้เด็กกล้ารับผิดชอบและกล้าขอโทษด้วย เราเป็นผู้ใหญ่ที่มาก่อนเขา เขาไม่เคยเป็นผู้ใหญ่ เราจะเข้าใจเวลาเด็กหงุดหงิดรำคาญครู แต่เขาจะไม่เข้าใจมุมมองว่าผู้ใหญ่คิดอย่างไรกับเขา แต่เราเข้าใจ เพราะเราเคยเป็นแบบเขา เราก็ต้องอดทนที่จะสื่อสารกับเขาให้ได้

สัญญา มัครินทร์  ครูสอญอ

นอกจากรูปแบบการเรียนการสอนที่เราทำขึ้นมาเองแล้ว เรื่องความเท่าเทียมเชิงโครงสร้างก็สำคัญ มักมีการยกโมเดลประเทศที่สำเร็จเรื่องการศึกษามาอย่างฟินแลนด์ ที่ไม่ว่าเด็กอยู่ที่ไหนก็เข้าโรงเรียนใกล้บ้านได้เลย เมื่อมองกลับมาที่ไทย คุณคิดว่าเราจะมีทางเป็นแบบนั้นได้ไหม

มีความหวังนะ ผมเคยไปเวิร์กช็อปกับทางฟินแลนด์ 4 วัน พูดจริงนะสิ่งที่เขาพูดเราทำมาหมดเลย แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับฟินแลนด์คือเขาให้คุณค่าเรื่องการเล่น แลก และถอดรหัส มีทฤษฎีทางวิชาการมารองรับ เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งเรามีประเด็นหลังนี้น้อยมาก เราให้เด็กทำกิจกรรม แต่เราไม่ค่อยให้คุณค่ากับการถอดรหัส หรือจัดการความรู้เป็นระบบ

อย่างผมพาเด็กเล่นบอร์ดเกม แล้วล้อมวงนั่งชวนเด็กคุยว่าหลักการคืออะไร ที่ทำไปมีเหตุผลอะไร แล้วเราก็เห็นการมีส่วนร่วมของเด็ก ดูว่าเด็กเขาเห็นอกเห็นใจคนอื่น หรือเอาแต่ตัวเอง ซึ่งฟินแลนด์จะมีวิธีเก็บข้อมูล เป็นรูปแบบชัดเจน มีทฤษฎีรองรับ แต่ของเรา อะไรดีก็เอามา ขาดการวิเคราะห์ หรือปรับให้สอดคล้องเหมาะกับบริบทของเรา ขาดงานวิจัยหรือหลักการรองรับ อาจจะเข้าใจวิธีคิดเบื้องหลัง แต่ไม่ลึก

เราทำกิจกรรมเพื่อให้ได้ทำกิจกรรม แต่ฟินแลนด์ทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็ก ครู และวัฒนธรรม เขาคิดประณีต ละเอียดอ่อน ให้คุณค่าของการเล่นและการแลกเปลี่ยน ซึ่งเด็ดจริง

แล้วเรื่องโรงเรียนใกล้บ้านล่ะ เราทำได้ดีแค่ไหน

โรงเรียนใกล้บ้าน ผมก็ฝันนะ ถ้ามีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า มีนโยบายพัฒนาครูจริงจังเป็นรูปธรรม ไม่เอาเรื่องงบประมาณรายหัวเป็นตัวตั้ง จะช่วยในการไม่ต้องดึงครูเก่งๆ ไปกองกันที่โรงเรียนเดียว หรือจะได้ไม่ต้องให้คุณค่าต่อสิ่งเดียวกัน เช่น ตอนนี้ทุกคนอยากเข้าโรงเรียนใหญ่ๆ ประจำจังหวัด เพราะมีชื่อเสียง และทำคะแนนโอเน็ตได้ดี พอใช้ตัวชี้วัดสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้ง เด็กโรงเรียนเล็กๆ ที่ใกล้บ้านสู้ได้เหรอ ในเมื่อบริบทต่างกัน

เราก็กลับมาที่กระจายอำนาจ ถ้ารัฐไว้ใจชุมชน ไว้ใจพื้นที่ ให้เขาเป็นเขา อาจจะมีกฎหมายควบคุมให้รับนักเรียนได้เท่าไหร่ ถ้าจะให้ครู 1 คน ต่อเด็ก 20 คน ก็ควรจะยึดตามนั้น แต่พอยึดงบประมาณรายหัว โรงเรียนประจำจังหวัดมีนักเรียน 4,000 คน งบประมาณก็ไปลงตรงนั้น รายหัวเพิ่มมหาศาล ก็เหลื่อมล้ำอยู่แล้ว

วิธีคิดของคนก็ต้องเชื่อว่าจะมีส่วนร่วมทำอะไรเพื่อชุมชน กล้าตั้งคำถามกับรัฐด้วย ส่วนใหญ่เรามักจะมองว่า รัฐว่าอะไรดี เราก็เอาด้วย แต่การศึกษาควรจะเริ่มต้นให้เรามีส่วนร่วมกับรัฐ ตั้งคำถาม ตรวจสอบ ควรจะปลูกฝังว่าการเมืองเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องใหญ่เกินเรา ถ้ามีส่วนร่วมในการตั้งคำถาม เราก็จะค่อยๆ หาทางแก้ปัญหาที่ดีกว่าปล่อยปละละเลยไป

ในแง่หนึ่งโรงเรียนถูกเซ็ตให้ผู้ปกครอง ครู ผู้ประกอบการ หรือนักการเมืองมีส่วนร่วมอยู่แล้ว อาจจะต้องมาคุยกันจริงจังว่าชุมชนเราอยากได้อะไร เราอยากเห็นลูกหลานเป็นแบบไหน ที่สำคัญลองฟังเสียงเด็กไหมว่าเขาอยากเป็นแบบไหน หลักสูตรก็จะออกมาตามสไตล์ที่คุยกัน การสนับสนุนงบประมาณก็ควรตอบโจทย์ชุมชนหรือนักเรียน เช่น ที่โนนชัยเขาสนใจเรื่องคนจนเมือง เด็กก็รู้จักชุมชนตัวเอง เรียนรู้อีกแบบหนึ่ง กลายเป็นว่างบประมาณแปลงตามโปรเจ็กต์หรือทรัพยากรอื่นๆ แทน

แต่แน่นอนว่ารัฐควรจะดูแลพื้นฐานเด็ก เรื่องอาหารต้องได้ ปากท้องสำคัญมาก แม้กระทั่งอินเทอร์เน็ต ขอให้ฟังก์ชันจริงๆ เถอะ ให้เน็ตเด็กทุกหลังเลย ตอนนี้ยังมีเด็กบางคนบอกว่าทำการบ้านที่ครูให้ไปดูคลิปไม่ได้ เพราะไม่ได้เติมเงินโทรศัพท์ ไม่มีเน็ต พอมาที่โรงเรียนมีจุดปล่อยไวไฟอยู่ แต่เข้าเกินสิบคนก็ช้าแล้ว หรือห้องคอมพ์ฯ ก็ต้องจองเป็นวิชาสอนไป นี่คือความจริง ต่อให้มีเน็ตก็ไม่แรง นี่คือความเหลื่อมล้ำ

จากที่ทำมาทั้งหมด คาดหวังว่าเด็กที่เราสอนจะต้องเติบโตเป็นคนอย่างไร

แล้วแต่คนนะ บางคนก็ปั้นได้ บางคนปั้นไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็คาดหวังว่าเขาจะรักตัวเอง มีศักดิ์ศรี มั่นใจในตัวเอง ผมเชื่อว่าความมั่นใจจะทำให้เขาทำเพื่อตัวเอง และอยากทำเพื่อคนอื่น ถ้าความมั่นใจถูกเติมไปด้วยการเห็นอกเห็นใจคนอื่น การแคร์คนอื่นด้วย ก็จะเป็นการมั่นใจอย่างมีศักดิ์ศรี ยังอยู่กับเพื่อนมนุษย์ได้อย่างมีความสุข

บางคนดูถูกตัวเอง หนูทำไม่ได้หรอก หนูพูดไม่เป็น นั่นแสดงว่ายังไม่มั่นใจ แต่ถ้าเขากล้าพูด เราก็ต้องชื่นชมเขา แสดงว่ามีพื้นที่ มั่นใจแล้ว หลังจากนั้นเขาจะกล้าตั้งคำถาม กล้าเห็นต่างจากเพื่อน และกล้าเห็นต่างจากครูด้วย พอกล้าเห็นต่างแล้ว เขาจะกลายเป็นพลเมืองที่สร้างสรรค์นะ ผมเชื่ออย่างนั้น เขาจะตั้งคำถามกับสังคม แล้วไม่ตั้งคำถามอย่างเดียว แต่จะมองว่าตัวเองมีส่วนร่วมอะไรได้ไหม อย่างมากที่สุดเขาก็เป็นคนสร้างสรรค์เลย นี่คือปลายทางที่อยากเห็น

สัญญา มัครินทร์  ครูสอญอ

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save