fbpx
สังขละบุรี : ชายแดน ชุมชน คน โควิด

สังขละบุรี : ชายแดน ชุมชน คน โควิด

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ช่วงสายของวันอากาศชื้นปลายเดือนมิถุนายน รถกระบะโฟร์วีลของศูนย์การเรียนรู้บ้านสายรุ้งชะลอความเร็วและจอดนิ่งตรงจุดตรวจบ้านต้นยาง ต.หนองลู อ.สังขละบุรี

ครูหนุ่มผู้ทำหน้าที่ขับรถ ลดกระจกข้างลงและอธิบายกับทหารพรานที่ยืนเฝ้าด่านอยู่ว่าจะไปรับเด็กนักเรียนที่ ‘ฮะล็อกคานี’ หมู่บ้านชาวมอญที่อยู่ติดกับชายแดนไทย

“ใส่หน้ากากอนามัยด้วยนะ” ทหารพรานย้ำเสียงเข้ม ครูหนุ่มเข้าเกียร์เคลื่อนรถเข้าไปตามทางลูกรังและลึกชัน

ระยะทางจากจุดตรวจจนถึงฮะล็อกคานี ระยะทางเพียงสิบกว่ากิโลเมตร แต่สภาพทางแบบออฟโรด ทำให้เราใช้เวลาไปร่วมชั่วโมงเศษ และถ้าเริ่มต้นจากสะพานมอญ กลางเมืองสังขละบุรี อาจต้องบวกเวลาเข้าไปอีกร่วมชั่วโมง

เด็กนักเรียนของศูนย์ฯ บ้านสายรุ้งส่วนใหญ่มาจากหมู่บ้านฮะล็อกคานี เพราะด้วยไฟสงครามระหว่างชาติพันธุ์ภายในพม่ายังไม่มอดดับ ทำให้เด็กๆ ไม่สามารถเรียนหนังสือที่ฝั่งบ้านเกิดของตัวเองได้ โชคดีที่พวกเขาได้รับโอกาสให้เข้ามากินอยู่หลับนอนและร่ำเรียนหนังสือในฝั่งไทย

เมื่อถึงเวลาปิดเทอม เด็กบางส่วนจะถูกส่งกลับบ้าน และพอเปิดเทอม พวกเขาก็จะกลับมาเป็นเด็กประจำที่โรงเรียน เวียนไปแบบนี้ทุกปี

เพียงแต่ครั้งนี้ต่างออกไป การเปิดเทอมในสถานการณ์ที่โลกยังไม่มีวัคซีนทำลายเชื้อโควิดได้ ทำให้ความเข้มงวดของเมืองชายแดนเข้มข้นขึ้น

ด่านชายแดนที่ถูกปิดไปตั้งแต่เดือนมีนาคมเพื่อรัดกุมปัจจัยจากภายนอกอาจลดความกังวลของฝ่ายปกครองลงได้ แต่ในฐานะคนที่ยังจำเป็นต้องทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะครูกับนักเรียน ในเงื่อนไขพิเศษแบบนี้ ย่อมต้องผ่อนปรนให้เป็นกรณีไป

ชายแดน ชุมชน และคนสังขละบุรี ปรับตัวตามสถานการณ์ที่ผ่านมาอย่างไร

อะไรคือที่เห็นและเป็นไปท่ามกลางวิถีชีวิตที่จำต้อง new normal

เด็กๆ หอบสัมภาระปีนขึ้นท้ายรถกระบะ ทุกคนหยิบหน้ากากอนามัยของตัวเองขึ้นมาสวม และทั้งหมดกำลังกลับเข้าฝั่งไทย เข้าไปในเมือง…

เด็กชาวมอญจากฝั่งพม่ากำลังข้ามชายแดนไทยเพื่อไปเรียนหนังสือ
เด็กชาวมอญจากฝั่งพม่ากำลังข้ามชายแดนไทยเพื่อไปเรียนหนังสือ

 

โรงเรียน

 

เป็นความจริงที่ว่าสถานการณ์โควิด นอกจากไวรัสที่แพร่ลามไปแล้ว มันยังแพร่กระจายความตื่นตระหนกไปทุกที่ด้วย แต่การขยับตัวรับมือกับความตื่นตระหนกนั้นอาจต่างกันออกไป

แม้ว่าครูปัณณพร นิลเขียว แห่งศูนย์การเรียนรู้บ้านสายรุ้ง จะเริ่มคิดตุนอาหารในช่วงแรกที่ข่าวการติดเชื้อเริ่มหนาหู แต่บรรดาลูกศิษย์ของเธอยังคงเล่นสนุกสนานตามประสาเด็ก

ช่วงที่โควิดระบาดแต่รัฐบาลยังไม่สั่งชัตดาวน์ประเทศ เธอบอกว่าทางโรงเรียนกำลังจะพาเด็กไปเข้าค่ายกิจกรรมในป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมปกติที่จัดทุกปี

“เวลาเข้าป่า เราจะมีเด็กญี่ปุ่นมาร่วมเข้าค่ายด้วย แต่พอมีข่าวว่าญี่ปุ่นมีคนติดเชื้อมาก บรรดาครูก็คุยกันว่าเราควรงดกิจกรรมไหม สรุปว่างด เพราะว่าจริงๆ เราไม่ได้กลัวแค่การแพร่เชื้อเท่านั้น แต่เรากลัวว่าหากเราเข้าป่าไป 5-6 วัน พอกลับออกมาโลกจะไม่เหมือนเดิม การอยู่ในป่าจะทำให้เราตกข่าวได้”

ก่อนหน้าที่วิกฤตโควิดจะมาเยือน โรงเรียนของครูปัณมีเสบียงบางส่วนที่เก็บเกี่ยวได้จากการเพาะปลูกกันเอง อาทิ ข้าว เห็ด และพืชผักบางชนิด รวมถึงการได้รับบริจาคบางส่วน แต่พอเมืองถูกปิด โรงเรียนทำการเช็คสต็อกตั้งแต่ข้าวสาร ของแห้ง และน้ำมัน

เด็กๆ จากศูนย์การเรียนรู้บ้านสายรุ้ง มีกิจกรรมทำนาและเข้าป่ากันเป็นปกติ
เด็กๆ จากศูนย์การเรียนรู้บ้านสายรุ้ง มีกิจกรรมทำนาและเข้าป่ากันเป็นปกติ

“เราคุยกันว่าถ้าถูกกักกันไปไหนไม่ได้สักครึ่งปี เราจะมีอาหารกินอยู่ได้นานแค่ไหน สุดท้ายโรงเรียนต้องไปซื้อข้าวมาตุนไว้ 100 กิโลฯ”

ถามว่าเด็กๆ เข้าใจสถานการณ์ไหมว่าโลกกำลังเกิดอะไรขึ้น ครูปัณบอกว่าปกติทุกเช้าโรงเรียนจะเปิดข่าวช่อง 3 และช่องบีบีซีให้เด็กดูประมาณ 20 นาที เป็นการฝึกภาษาอังกฤษไปด้วย พอช่วงโควิดระบาด ทั้งครูและนักเรียนก็ดูข่าวด้วยกัน เข้าใจสถานการณ์ไปพร้อมกัน

“ในมุมของเด็ก ประสบการณ์เกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วยหรือความตายย่อมน้อยกว่าผู้ใหญ่ บางครั้งเขาไม่ได้ซีเรียสเท่าพวกเรา และเอาจริงๆ ก็ไม่ได้อยากให้เขามากลัวแบบผู้ใหญ่ แต่เด็กที่โตหน่อยประมาณ ป.5-ป.6 เวลาที่เขารู้ว่ายอดคนตายมากขึ้น เราสังเกตได้ว่าเขากังวล ทำให้เราต้องสอนวิธีป้องกันตัวเอง ให้สังเกตอาการตัวเองเวลาเจ็บไข้ เราย้ำถึงการล้างมือและการรักษาความสะอาด ให้แยกแก้วกันใช้ และรักษาระยะห่างกับคนอื่น”

ศูนย์การเรียนรู้บ้านสายรุ้ง
ศูนย์การเรียนรู้บ้านสายรุ้ง

คำว่า social distancing ในมุมของครูปัณเป็นคำที่พูดเหมือนง่าย แต่เอาเข้าจริงแล้วยากแสนยาก

“ตามหลักการแล้วก็ควรทำ แต่ในทางปฏิบัติโรงเรียนทำไม่ได้ เพราะพื้นที่มีจำกัด เด็กๆ ต้องนอนห้องเดียวกันเฉลี่ยห้องละ 6 คน ส่วนจะให้เรียนออนไลน์ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเด็กไม่มีอุปกรณ์ หรือต่อให้มีอุปกรณ์ สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ฝั่งบ้านเขาก็ไม่ดี ในเงื่อนไขแบบนี้มันเป็นโจทย์ที่เราแก้ไม่ได้

“ตามมีตามเกิดไป?”

“คำนั้นแหละ เราดีลกับปัญหาวันต่อวัน พูดแบบนี้เหมือนคนไม่ระวัง แต่เงื่อนไขแบบที่เป็น เราพยายามทำให้ดีที่สุด อย่างน้อยครูทุกคนก็ขอลดเงินเดือนตัวเองลงครึ่งหนึ่งในช่วงปิดเทอมสองเดือนที่ผ่านมา”

ครูปัณอธิบายการตัดสินใจนี้ว่าเมื่อโรงเรียนประกาศงดต้อนรับคนภายนอกที่จะเดินทางมาเยี่ยมชมโรงเรียนและบริจาคเงิน ทำให้ทุนรอนที่จะเลี้ยงดูเด็กๆ ในระยะยาวย่อมต้องรัดกุมขึ้น

“บางกลุ่มที่ดื้อว่ายังไงก็จะมาให้ได้ เราก็ดื้อกลับไปว่าไม่ได้จริงๆ เพราะความกลัวเชื้อจะมาถึงโรงเรียน เราก็บอกเขาตรงๆ ว่าเราขอโทษ ไม่อยากเสี่ยง

“ปลายปีที่แล้ว (2019) เรามีเคสไข้เลือดออกระบาดในโรงเรียน หมดเงินไปเกือบแสน เด็กไม่มีอะไรคุ้มครอง ไม่มี 30 บาทรักษาทุกโรค ระบบประกันสุขภาพไม่ได้ครอบคลุมคนไร้สัญชาติ เพราะฉะนั้นเวลาหาหมอเราต้องจ่ายเต็ม”

ไม่ว่าสถานการณ์จะ new normal ไปอย่างไร ประเด็นที่ครูปัณเล่ากลับสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง

ถ้าถามว่าทำไมโรงเรียนไม่รับแขกจากภายนอก เราต้องบอกว่าโรงเรียนไม่พร้อมรับภาระแบบนี้ได้ทุกปี เราได้แต่หวังให้สถานการณ์มันดีขึ้นและกลับสู่ความปกติให้เร็ววัน”

 

ตลาด

แม้จะเป็นฤดูฝนและชุ่มฉ่ำมาตลอดสัปดาห์ แต่เช้าวันแรกที่ตลาดนัดบ้านห้วยมาลัย เมื่อได้รับอนุญาตให้กลับมาค้าขายได้ตามปกติ หลังปิดตายไปร่วมสามเดือน วันนี้ฟ้าฝนเป็นใจ เหมือนรู้ว่าหนึ่งในเรื่องใหญ่ที่สุดของคนคือการทำมาหากิน

ลานวัดห้วยมาลัยเต็มไปด้วยรถกระบะร่วมครึ่งร้อยคันที่แปรสภาพเป็นแผงค้าขายชั่วคราว ทั้งของคาว ของหวาน ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ของเล่นเด็ก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ถูกขนมาจากทั้งคนในชุมชนและพ่อค้าแม่ค้าต่างถิ่น

ถนนหน้าวัดเต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์ อปพร.วัยฉกรรจ์ทำหน้าที่โบกรถที่ตั้งใจมาตลาดให้จอดอย่างเรียบร้อย และอีกบางส่วนถือโทรโข่งประกาศให้ชาวบ้านสวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนเข้าตลาด

“พยายามเดินห่างๆ กันไว้นะพ่อแม่พี่น้อง” เสียงจากโทรโข่งกังวานซ้ำแล้วซ้ำอีก

ตลาดนัดบ้านห้วยมาลัย
ตลาดนัดบ้านห้วยมาลัย

ตลาดนัดบ้านห้วยมาลัย

ตำบลหนองลูมี 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเวียคะดี้ บ้านใหม่พัฒนา บ้านห้วยกบ บ้านหม่องสะเทอ และบ้านห้วยมาลัย

ไกวัล กระต่าย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยมาลัย บอกเราว่าบ้านห้วยมาลัยเป็นเหมือนชุมชนที่อยู่ตรงไข่แดง เป็นศูนย์กลางของตำบลหนองลู และคึกคักเป็นอันดับสองรองจากตลาดด่านเจดีย์สามองค์ที่ติดชายแดนพอดี

เขาเล่าถึงสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมาว่า พอตลาดถูกสั่งปิด พวกพ่อค้าแม่ค้าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และทำให้ชุมชนใกล้เคียงได้รับผลกระทบตามไปด้วย เพราะทุกวันพฤหัส ชาวบ้านจะมาจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดบ้านห้วยมาลัย

“บางคนที่เลี้ยงหมู เขาจะเชือดเอามาขายที่นี่ บางคนเก็บผักกูดได้จากริมลำธารในป่ามาขายเป็นอาชีพหลัก แต่พอไม่มีตลาด พวกเขาก็ขาดรายได้ไป

“กิจกรรมทำบุญอย่างวันพระใหญ่ ปกติชาวบ้านจะเข้าไปใส่บาตรที่วัดกันเต็มศาลา แต่วันนี้ทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว เปลี่ยนมาเป็นให้ชาวบ้านฝากอาหารให้คนของวัดไปส่งให้พระแทน ชาวบ้านขึ้นศาลาไม่ได้ โบสถ์ห้ามเข้า

“ช่วงที่รัฐสั่งปิดเมือง ผมก็ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ตั้งด่านคอยตรวจคนที่กลับมาจากภูมิลำเนาอื่น และประกาศเสียงตามสายว่าถ้าใครมาจากที่อื่นขอให้มารายงานตัวหรือให้มีการกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อดูอาการ

“มีประมาณ 30 คนที่กลับมาจากที่อื่น เราก็แนะนำให้เขารักตัวเองและรักคนอื่นด้วย พยายามล้างมือบ่อยๆ มีบางคนไม่ค่อยให้ความร่วมมือบ้าง แต่เราก็พยายามไกล่เกลี่ยขอความร่วมมือ เพราะชุมชนของเราติดชายแดน มีความเสี่ยงหลายด้าน เราต้องมีวินัยและรอบคอบ

ไกวัลยอมรับว่าตั้งแต่โควิดทำให้คนเริ่มรักษาระยะห่างกัน เส้นพรมแดนไทย-พม่าก็เหมือนจะหนาและชัดขึ้น ความหวาดระแวงราวกับไฟสุมขอนอ่อนๆ ที่ไม่มีใครคลี่คลายได้

“บางทีก็มีคนเดินทางมาจากต่างที่ต่างถิ่น บางทีเป็นคนมาจากศูนย์อพยพ หรือมาจากหมู่บ้านที่อยู่ตามแนวชายแดนเพื่อมาที่ตลาด บางคนไม่คุ้นหน้ากัน เขาไม่เข้าใจว่าเรามีมาตรการอะไร ชาวบ้านดั้งเดิมก็จะระแวงเป็นพิเศษ” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านห้วยมาลัยอธิบาย

ช่องทางเชื่อมชายแดนฝั่งไทย-พม่าฝั่งตะวันตกนั้นมีลักษณะพิเศษตรงที่ยังมีช่องทางธรรมชาติจำนวนมากให้คนที่อาศัยอยู่แนวชายแดนข้ามไปข้ามมาได้อย่างปกติ

เฉพาะจังหวัดกาญจนบุรีก็มีกว่า 40 ช่องทางแล้ว ส่วนที่อำเภอสังขละบุรีนั้นมีถึง 13 ช่องทาง ที่ใกล้ชุมชนห้วยมาลัยที่สุดคือช่องทางบ้านต้นยาง ถ้าให้รถกระบะโฟร์วีลวิ่งจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งก็ใช้เวลาเพียงชั่วโมงเศษเท่านั้นในการข้ามพรมแดน

แต่ประเด็นน่าอึดอัดใจของไกวัลไม่ได้อยู่ที่ใครจะไปใครจะมา แต่อยู่ที่คำสั่งรัฐกับวิถีชีวิตคนนั้นดูจะไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่ เขามองด้วยสายตาชาวบ้านปกติว่ามันยากที่การเปิดตลาดแล้วจะให้คนเดินไม่เบียดกัน หรือร้านอาหารที่แบ่งโต๊ะไว้ให้นั่งได้ไม่เกินสองคน

“จากที่เคยนั่งได้โต๊ะละสี่คน ก็ให้นั่งแค่สองคน มันไม่เมกเซนส์สำหรับคนที่มากันเป็นครอบครัว เพราะว่าตอนมาก็นั่งรถคันเดียวกันมาอยู่แล้ว อยู่บ้านก็อยู่ด้วยกัน พอมากินข้าวกลับต้องนั่งแยกกัน”

แต่พอต้องทำหน้าที่ออกคำสั่งขอความร่วมมือ ไกวัลยอมรับว่าอึดอัดใจ “บางทีผมก็เกรงใจชาวบ้าน บางสถานการณ์เคร่งครัดเกินไปก็ไม่เกิดประโยชน์ จะยิ่งทำให้คนบาดหมางกันโดยใช่เหตุ”

ชุมชน

ยาโคบ วนาพิทักษ์กุล และครอบครัวเป็นชาวกะเหรี่ยงคริสต์ และบ้านของเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่มีทั้งกะเหรี่ยงพุทธ รวมถึงชาวมอญ พื้นที่เชื่อมกันสองหมู่บ้านคือบ้านห้วยมาลัยและเวียคะดี้ พักหลังธุรกิจสวนยางพาราเริ่มฮิต ทำให้มีคนอีสานและคนใต้ย้ายมาทำมาหากินในสังขละบุรีมากขึ้น

ความที่บ้านของยาโคบเปิดเป็นร้านกาแฟ ทำให้เขารับฟังเรื่องราวและความเป็นไปของชุมชนตลอดช่วงทั้งก่อนและหลังสถานการณ์โควิด

คำถามคือโควิดเข้ามาเปลี่ยนอะไรที่นี่

“เอาเข้าจริงมันไม่มีหรอกพรมแดนที่กั้นคนเราไว้ ด้วยความเป็นพี่เป็นน้อง เราไม่ได้มองว่ามีเขตประเทศมาแบ่งอะไร เพราะเราไปมาหาสู่กันตลอด แม่ของผมก็มีญาติพี่น้องอยู่ในพม่า คนโบราณเขาเปรียบเหมือนช้างฝูงหนึ่งหากินไปได้ทุกที่ ไม่ได้มองว่ากล้วยต้องมากินที่ไทยหรืออ้อยต้องไปกินที่พม่า”

ช่องทางชายแดนเข้าไปในพม่าต้องผ่านหมู่บ้านชาวมอญชื่อว่า 'ฮะล็อกคานี'
ช่องทางชายแดนเข้าไปในพม่าต้องผ่านหมู่บ้านชาวมอญชื่อว่า ‘ฮะล็อกคานี’

ยาโคบเข้าประเด็นโดยที่เราไม่จำเป็นต้องซักถามไปเรื่อย เขามองเห็นว่าโควิดทำให้เมืองชายแดนถูกจับตาเป็นพิเศษ ถูกจับตาจากศูนย์กลางอำนาจในเมืองหลวง กังวลว่าไวรัสร้ายจะเข้ามาทางประเทศเพื่อนบ้าน ติดตัวมากับคนชายขอบ

นั่นอาจจะเป็นความกังวลที่ถูกเพียงเสี้ยวเดียว เพราะความจริงก็อย่างที่ทราบกัน ไวรัสกลับระบาดใหญ่กันเองในหมู่คนเมือง ไม่ได้ระบาดในพื้นที่ป่าดิบชื้นอย่างชายแดนสังขละบุรี

“ความเป็นชายแดนก่อนหน้านี้มันไม่ชัดเท่าไหร่ แม้จะมีทหารเฝ้าอยู่ แต่การเข้าออกยังเป็นปกติ คุณขับรถไปก็ทักทายทหารบอกว่าจะไปไหน ไปกี่วัน สะดวกมาก คนจากฝั่งพม่าเอาของมาขายที่ตลาดเป็นปกติ โดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุข เขายังต้องพึ่งพาบ้านเราเพราะมีระบบที่ดีกว่าและเดินทางสะดวกกว่า

“ผมเคยเข้าไปฝั่งบ้านเขา เข้าไปลึกเป็นวัน เจอทั้งกองกำลังมอญ กองกำลังกะเหรี่ยง ผมยังไม่เจอเมืองเลย พื้นที่เป็นป่าลึกมาก เวลาเขาเป็นมาลาเรียหรือวัณโรคระบาด เขาก็จะมารักษาที่สังขละฯ คนไทยอาจมองว่าโรงพยาบาลประจำตำบลไม่ได้เรื่อง แต่สำหรับคนที่ข้ามมาจากฝั่งพม่าเขารู้สึกดีมาก”

แต่ก็อีกนั่นแหละ ร่วมสามเดือนที่ด่านปิด ย่อมไม่มีทางรู้ว่าใครจะเจ็บป่วยล้มตายบ้าง จากเส้นพรมแดนที่ไม่มีอยู่จริง ยาโคบมองว่าเส้นเริ่มถูกขีดชัดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ป้อมทหารพรานที่ด่านชายแดนติดพม่า
ป้อมทหารพรานที่ด่านชายแดนติดพม่า

แต่การเปลี่ยนแปลงไม่เฉพาะเพียงเส้นพรมแดนที่ชัดขึ้นเท่านั้น ระหว่างคนในชุมชนกันเองก็คล้ายจะมีกำแพงบางๆ ก่อตัวขึ้น

ยาโคบเล่าถึงช่วงที่เจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจแรกๆ ที่มีคำสั่งเคอร์ฟิวจากส่วนกลางบังคับใช้ไปทั่วประเทศ หลายคนยังไม่ชินกับการใส่หน้ากากอนามัยก็จะถูกทางการสั่งให้ใส่ทุกคน

“จุดตรวจมีทั้งกำนัน ทหารพราน อสม. ชาวบ้านที่ไม่ชินแรกๆ ก็จะเกร็ง เพราะเอาเข้าจริงทุกคนก็ล้วนเป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้น พอคนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐต้องเข้มงวด ก็อาจทำให้ชาวบ้านบางคนรู้สึกเหมือนถูกบังคับ

“ผมเองก็เคยเจอกับตัว พี่ผมคนหนึ่งเป็น อสม. ปกติก็ทักทายกันเฮฮาตามประสาพี่น้อง แต่พอแกต้องทำตามคำสั่ง แกว่า “เฮ้ย ใส่หน้ากากด้วย” สั่งห้วนๆ เหมือนคนไม่รู้จักกัน ซึ่งผมเข้าใจว่ามันเป็นหน้าที่” ยาโคบฉายภาพ

ทั้งสิ้นทั้งปวงเหมือนไม่มีอะไร แต่มีอะไร

บางอย่างที่ยังไม่มีใครตั้งคำถาม

อนาคตเขยิบใกล้เข้ามา บุคลิกและนิสัยใจคอของสังขละบุรีปรากฏกายออกมาหลายมิติ รวมถึงอิสรภาพอันจำกัดก็อาจกำลังกลายเป็น new normal

ป้อมทหารพรานที่ด่านชายแดนติดพม่า

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save