fbpx
แซนวิชชีสบนเครื่อง KLM บอกอะไรกับเรา

แซนวิชชีสบนเครื่อง KLM บอกอะไรกับเรา

[et_pb_section admin_label=”section”][et_pb_row admin_label=”row”][et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text admin_label=”Text” background_layout=”light” text_orientation=”left” use_border_color=”off” border_color=”#ffffff” border_style=”solid”]

เมื่อจุดหมายปลายทางของเราอยู่ห่างไปไกลกว่าครึ่งโลก คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางที่สมเหตุสมผลที่สุดในปัจจุบันยังคงเป็นทางอากาศ เทคโนโลยีการบินและการขยายตัวของสายการบินต่างๆ ทำให้เราสามารถประหยัดเวลาในการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากที่ต้องใช้เวลาแรมเดือนเหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมง การเดินทางโดยเครื่องบินทำให้โลกของเราเล็กลง ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าคุณจะเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ หรือเยี่ยมเยือนญาติมิตร

 

การเดินทางโดยเครื่องบินช่วยเพิ่มความสะดวกสบายได้มากก็จริง แต่ธุรกิจการบินดูจะเป็นอุตสาหกรรมที่สวนทางกับความยั่งยืนในทุกๆ ด้าน เพราะนอกจากจะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจำนวนมหาศาล ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมโหฬาร การบินยังกระตุ้นให้เกิดการบริโภคข้ามโลกแบบไม่บันยะบันยัง

KLM หรือ รอยัลดัทช์แอร์ไลน์ เป็นสายการบินประจำชาติเนเธอร์แลนด์ที่เป็นแบรนด์สายการบินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีเส้นทางการบินครอบคลุมไปทั่วโลก และมีเป้าหมายเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างชัดเจนเมื่อเทียบกับสายการบินอื่น KLM เลือกที่จะบอกเล่าแง่มุมเรื่องความยั่งยืนได้อย่างน่าสนใจผ่านแซนวิชชีสที่เสิร์ฟเป็นอาหารว่างบนเครื่องบิน

แซนวิชชีสสองชิ้นขนาดกะทัดรัดถูกบรรจุมาในกล่องกระดาษ เรียบง่ายสื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นดัตช์อย่างชัดเจนด้วยลวดลายสีฟ้าขาว มีรูปดอกทิวลิปและรองเท้าไม้ พร้อมชื่อยี่ห้อ Tasty Blue ด้านข้างโฆษณาอย่างเว่อร์วังว่า “ที่ KLM เราเสิร์ฟอาหารที่ได้รับการเตรียมอย่างพิถีพิถัน ซึ่งหมายความว่าเราเลือกใช้วัตถุดิบและส่วนผสมต่างๆ อย่างรับผิดชอบ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะรับประทานแซนวิชของเราอย่างเอร็ดอร่อยด้วยรอยยิ้ม”

 

 

 

พลิกกลับมาอีกด้านก็ระบุเอาไว้ตัวโตๆ ว่าขนมปังออร์แกนิคที่ใช้ทำแซนวิชชิ้นนี้อบโดย Carl Seigert ซึ่งเป็นแบรนด์ขนมปังเก่าแก่ของเนเธอร์แลนด์มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ 1891 พอหยิบแซนวิชออกมาหนึ่งชิ้น ก็ได้อ่านถึงที่มาของชีสไว้อย่างน่าสนใจ

 

 

“ชีสบีมสเตอร์นี้มาจากที่ที่พิเศษสุดในโลก นั่นคือมาจากบีมสเตอร์พื้นที่ที่ปิดล้อมด้วยคูคลอง (Polder) อันโด่งดังที่สุดในเนเธอร์แลนด์ บีมสเตอร์ตั้งอยู่ทางตอนเหนือมีประวัติย้อนกลับไปถึงปี ค.ศ. 1612 ที่พื้นที่ทะเลสาบถูกระบายน้ำออกและจัดการน้ำด้วยคูคลองรอบนอก เป็นระยะเวลากว่า 400 ปีมาแล้วที่พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ชั้นยอดให้กับวัวที่ผลิตนมคุณภาพดีที่สุดในประเทศ นมคุณภาพเยี่ยมนี้เองที่ใช้ทำชีสบีมสเตอร์ พื้นที่บีมสเตอร์ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี ค.ศ. 1999”

 

 

ด้านในอีกด้านของกล่องยังเสริมด้วยว่า วัวที่มีความสุขจะให้นมคุณภาพดีกว่า โดยเน้นว่าเกษตรกรโคนมแห่งบีมสเตอร์ดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์ขนาดเล็กซึ่งปล่อยให้วัวออกหากินอย่างอิสระ ส่วนวิธีการผลิตชีสก็ยังเป็นวิธีดั้งเดิมที่แทบจะเป็นงานฝีมือของชาวบีมสเตอร์มากว่าหนึ่งศตวรรษ

 

 

นั่นเป็นเพียงบทเริ่มต้นที่เล่าเรื่องที่มาของแซนวิชชีสได้อย่างน่าทึ่ง ที่พยายามส่งเสริมอาหารแนวสโลว์ฟู้ด ที่ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ปลอดสารเคมี และใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม

ด้านในของกล่องยังมีสัญลักษณ์ Green Palm Sustainability ซึ่งหมายความว่าอาหารที่เสิร์ฟบนเที่ยวบิน KLM เรียกร้องให้คู่ค้าหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันปาล์มในผลิตภัณฑ์ (เพราะเป็นหนึ่งในสาเหตุการทำลายป่าเขตร้อนอย่างกว้างขวางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) หรือในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ ก็ให้ใช้น้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO

เมื่ออ่านเพิ่มเติมก็พบว่าในกรณีของถั่วเหลืองที่เป็นส่วนประกอบก็เช่นเดียวกัน ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตอย่างรับผิดชอบ ขณะที่ปลาในอาหารจานหลักก็ต้องได้รับมาตรฐานความยั่งยืนไม่ว่าจะเป็น MSC ASC หรือจะต้องเป็นชนิดที่อยู่ในรายการ Green list ชนิดที่แนะนำให้บริโภค ใน seafood guide ของ WWF

นอกจากนี้ KLM ยังเป็นสายการบินแรกของยุโรปที่ยกเลิกการใช้เนื้อไก่และไข่ที่ผลิตจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในปี 2015 KLM ได้รับรางวัล Good Egg Award จากการที่บริษัทกำหนดให้ใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์ไข่ที่ได้รับการรับรองว่าผลิตอย่างยั่งยืนในทุกเที่ยวบินที่ออกจากอัมสเตอร์ดัม

เหตุที่บริษัทสามารถดำเนินมาตรการนี้กับเที่ยวบินทุกเที่ยวที่ออกจากสนามบิน Schiphol เมืองอัมสเตอร์ดัมได้ เนื่องจากมีการสร้างความร่วมมือและสานสายสัมพันธ์อันดีกับคู่ค้าที่ใส่ใจจากเนเธอร์แลนด์ แม้จะมีข้อจำกัดในการจัดหาวัตถุดิบเมื่อเที่ยวบินต้องเดินทางออกจากภูมิภาคอื่น แต่ KLM พยายามใช้ผลิตภัณฑ์ที่จัดหามาอย่างรับผิดชอบเช่นกัน

สำหรับของหวานที่ได้รับความนิยมอย่างช็อคโกแลต รวมถึงกาแฟ ที่ให้บริการบนเที่ยวบินของ KLM ได้รับการรับรอง UTZ หรือ ได้มาตรฐานสินค้าเพื่อการค้าที่เป็นธรรม (fairtrade)

หันกลับมาพลิกก้นกล่องกระดาษใส่แซนวิชก็ยังได้พบสัญลักษณ์ FSC ซึ่งเป็นมาตรฐานรับรองว่ากระดาษที่เป็นวัตถุดิบในการทำบรรจุภัณฑ์ได้มาจากการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน เรียกว่าครบถ้วนกระบวนความยั่งยืนตั้งแต่วัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต บรรจุภัณฑ์ และการสื่อสารกับผู้บริโภค ภายใต้ชื่อ Conscious catering หรือการบริการอาหารอย่างรอบคอบ

 

[/et_pb_text][et_pb_text admin_label=”box” background_layout=”light” text_orientation=”left” background_color=”#eaeaea” use_border_color=”off” border_color=”#969696″ border_style=”solid” custom_margin=”|10px||10px” custom_padding=”10px|10px|10px|10px”]

FYI คำศัพท์ต่างๆ

RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ป็นมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อชุมชน โดยเงื่อนไขจะได้มาซึ่งการรับรองรวมถึงรักษาสภาพแวดล้อมและต้องไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า ตลอดจนรับผิดชอบต่อลูกจ้างและชุมชน

MSC (Marine Stewardship Council) เป็นมาตรฐานรับรองสัตว์น้ำว่ามาจากการทำประมงที่มีการจัดการที่ดีและรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนและประชากรสัตว์น้ำในอนาคต และรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล กรอบการประเมินมาตรฐานของ MSC ประกอบด้วย 3 หลักการ คือ ความยั่งยืนของประชากรสัตว์น้ำเป้าหมาย (Sustainable target fish stocks) ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการประมง (Environmental impact of fishing) และการจัดการประมงที่มีประสิทธิภาพ (Effective management)

ASC (Aquaculture Stewardship Council) เป็นมาตรฐานรับรองสัตว์น้ำว่ามาจากการเพาะเลี้ยงที่มีการจัดการที่ดีและรับผิดชอบ โดยเฉพาะการจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากสถานประกอบการ รวมถึงมีมาตรการแสดงความรับผิดชอบต่อแรงงานและชุมชน Farm standards

FSC (Forest Stewardship Council) เป็นมาตรฐานขององค์การพิทักษ์ป่าไม้ ซึ่งรับรองไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ว่าผลิตมาจากป่าธรรมชาติหรือป่าปลูกที่มีการจัดการอย่างถูกกฎหมาย และดำเนินการตามหลักการการปลูกไม้อย่างยั่งยืน

Seafood guide ของ WWF ได้จำแนกสัตว์น้ำออกเป็น 3 ระดับ เพื่อให้ข้อมูลและแนะนำผู้บริโภคถึงชนิดพันธุ์ที่รับประทานได้หรือควรหลีกเลี่ยงเพื่อการอนุรักษ์ โดยแบ่งตามสีคือ เขียว (รับประทานได้) เหลือง (ควรหลีกเลี่ยง) และแดง (ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งเพราะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์)

UTZ มาตรฐาน UTZ ให้การรับรองผลิตภัณฑ์ว่าผลิตมาอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ UTZ ตั้งแต่การจัดการการเพาะปลูก สภาพแวดล้อมการปฏิบัติงาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

Fairtrade หรือมาตรฐานการค้าที่เป็นธรรม เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับความยุติธรรมในการค้า ซึ่งเกณฑ์การรับรองอ้างอิง มาตรฐานสากลในมิติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่ส่งออกมาจากประเทศโลกที่สามและโลกที่สองไปยังประเทศโลกที่หนึ่ง

[/et_pb_text][et_pb_text admin_label=”Text” background_layout=”light” text_orientation=”left” use_border_color=”off” border_color=”#ffffff” border_style=”solid”]

 

ตัวอย่างจากแซนวิชชีสกล่องเล็กๆ ของ KLM สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจสายการบินเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งหากจะยกระดับความยั่งยืน ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของการเดินทางโดยเครื่องบิน เราสามารถพิจารณาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เหมืองและการผลิตโลหะ ไปจนถึงโรงงานยานยนต์ สิ่งทอ พลาสติก และอุตสาหกรรมอาหาร

ในแต่ละปี KLM เสิร์ฟอาหารกว่า 40 ล้านชุด การปรับปรุงความรับผิดชอบในกระบวนการเตรียมและจัดการอาหารจึงสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ไม่น้อยเลย เมื่อต้นปี 2017 บริษัทปรับปรุงรถเข็นอาหารที่ใช้บนเที่ยวบินให้มีน้ำหนักเบาขึ้น เบากว่าของเดิมถึง 4-8 กิโลกรัม เมื่อคำนึงว่าเครื่องโบอิ้ง 747 ต้องใช้รถเข็น 70 คัน การปรับปรุงรถเข็นอาหารจึงสามารถลดน้ำหนักไปได้มากทีเดียว

น้ำหนักไม่ใช่คุณสมบัติเดียวที่ได้รับการปรับปรุงเท่านั้น ถาดเสิร์ฟอาหารแบบใหม่ยังทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล นำมาทดแทนของเดิมที่ทำจากโลหะ ซึ่งนอกจากจะน้ำหนักน้อยกว่าแล้วยังยั่งยืนกว่าอีกด้วย หม้อชาและกาแฟก็ถูกแทนที่ด้วยวัสดุที่เบาและคงทนขึ้น ทำให้สามารถยืดอายุการใช้งานได้

การจัดการขยะเป็นอีกประเด็นที่ KLM ให้ความสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายจัดการขยะที่เอาจริงเอาจังของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ห้ามการฝังกลบขยะ ทำให้ขยะจากเที่ยวบินทั้งในภาคพื้นยุโรปและข้ามทวีปต้องถูกนำไปรีไซเคิลหรือผ่านกรรมวิธีนำกลับคืน (recovery) โดยที่กระบวนหนึ่งของการนำกลับคืนสามารถทำได้โดยการผลิตพลังงานจากขยะ

สิ่งที่น่าชื่นชมคือ KLM ให้ความสำคัญกับการลดการสร้างขยะและการรีไซเคิลมากกว่า โดยตั้งเป้าหมายจะลดขยะเหลือทิ้งให้ได้ 50% ภายในปี 2025 (เมื่อเทียบกับปี 2011) โดยยึดมาตรการหลักคือ ลดปริมาณขยะรวมและเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิลให้มากขึ้น แนวทางสำคัญคือการร่วมมือกับคู่ค้าเพื่อหาทางที่จะลดปริมาณบรรจุภัณฑ์สำหรับเสิร์ฟอาหารในเที่ยวบิน เช่นการลดกระดาษแข็งและกล่องสำหรับแซนวิชลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่แก้วกาแฟก็ผลิตจากกระดาษที่ได้รับมาตรฐาน FSC

 

 

ในชั้นธุรกิจ KLM ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการเสิร์ฟอาหารเล็กน้อย โดยนำฝาปิดอะลูมิเนียมสำหรับอาหารร้อนออกก่อนเสิร์ฟและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเมื่อเครื่องบินลงสู่สนามบิน Schiphol ที่กรุง Amsterdam แก้วไวน์พลาสติกและขวดน้ำพลาสติกที่เสิร์ฟบนเที่ยวบินภายในยุโรป และเที่ยวบินข้ามทวีปที่มุ่งสู่ยุโรปถูกนำไปรีไซเคิลเช่นกัน  สายการบินประกาศอย่างชัดเจนว่าจะมุ่งลดการใช้พลาสติกให้เหลือน้อยที่สุด และรีไซเคิลให้มากที่สุดที่จะทำได้

เส้นทางการลดขยะที่ KLM ตั้งไว้ค่อนข้างสดใสทีเดียว ในปี 2016 บริษัทสามารถลดขยะเหลือทิ้งลงได้ 15% เทียบกับปี 2011 ผ่านโครงการต่างๆ เช่น การปรับปรุงการออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารและการใช้ KLM media App ทดแทนสิ่งพิมพ์ ทำให้บริษัทลดการใช้กระดาษแข็งและกระดาษได้กว่า 50,000 และ 360,000 กิโลกรัม ตามลำดับ นอกจากนี้ KLM ปรับปรุงการจัดการขยะโดยกำหนดให้มีการคัดแยกขยะ 14 ประเภทสำหรับการจัดการที่แตกต่างกัน เช่น กระดาษ โลหะ แก้ว พลาสติก ไม้ ผ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนการรีไซเคิล

 

จริงอยู่ที่หากธุรกิจการบินจะประกาศตัวว่าดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนคงได้รับคำถามมากมาย ด้วยมลพิษจากธุรกิจยังเป็นสิ่งที่จะสวนทางกับความยั่งยืน แต่การปรับปรุงการดำเนินงานของ KLM ได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริง และมีเป้าหมายที่จับต้องได้

ถ้าหัวใจของความเป็นดัตช์อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ การใส่ใจในรายละเอียด และศิลปะการเล่าเรื่อง ก็ต้องบอกว่า KLM บรรลุเป้าหมายอย่างสมบูรณ์และทำให้ผู้โดยสารได้เห็นว่าเรื่องของความยั่งยืนเป็นเรื่องที่อยู่รอบตัวเราในทุกลมหายใจ

 

เอกสารอ้างอิง

เอกสารความรู้เรื่อง แนวทางการปฏิบัติสำหรับเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ตามมาตรฐาน RSPO Practical Guideline For Smallholders โดย โครงการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน

Holland Herald, November 2017 p.80-81

บทความเรื่อง Flying vs Driving: Which Is Better for the Environment? จาก Thought Co

บทความเรื่อง The surprisingly complex truth about planes and climate change โดย Duncan Clark จาก The Guardian

เว็บไซต์ Marine Stewardship Council

เว็บไซต์ Aquaculture Stewardship Council

เว็บไซต์ Forest Stewardship Council

[/et_pb_text][/et_pb_column][/et_pb_row][/et_pb_section]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save