fbpx
สนามหลวง-สนามราษฎร : พื้นที่ต่อสู้ทางอุดมการณ์และความทรงจำร่วมของประชาชน

สนามหลวง-สนามราษฎร : พื้นที่ต่อสู้ทางอุดมการณ์และความทรงจำร่วมของประชาชน

วจนา วรรลยางกูร และ ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ภาพสนามหลวงในความทรงจำของคนทั่วไปคือพื้นที่เปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้พักผ่อน เล่นว่าว ออกกำลังกาย ต่างกับภาพปัจจุบันที่สนามหลวงถูกล้อมรั้วปิดไม่ให้ประชาชนเข้าพื้นที่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ความมีชีวิตชีวาช่วงวันหยุดของสนามหลวงที่ผู้คนเข้าไปนั่งเล่น ซื้อขายเครื่องดื่มของกินเล่นและนอนปูเสื่อกันอย่างอิสระ ถูกแทนที่ด้วยความเงียบงันของสนามว่างเปล่าไร้ซึ่งชีวิต สนามกว้างใหญ่ที่เคยเป็นศูนย์กลางความหลากหลายของผู้คนและกิจกรรม ถูกรั้วสูงปิดกั้น คล้ายเป็นข้อความแจ้งเพื่อทราบว่า สนามหลวงไม่ใช่ของประชาชนอีกต่อไป

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา นับแต่การเกิดขึ้นของทุ่งพระเมรุที่มาพร้อมกับการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่บริเวณนี้เป็นจุดเชื่อมต่อของคนทุกระดับ โดยเฉพาะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่เปิดให้สามัญชนเข้าไปใช้พื้นที่ได้หลากหลายรูปแบบ รวมถึงการชุมนุมของทุกฝั่งทางการเมือง

การมีพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย รั้วเหล็กสูงที่ล้อมปิดสนามหลวงไว้ ไม่เพียงเป็นการปิดกั้นพื้นที่เชิงกายภาพ แต่ยังเป็นการลดทอนพื้นที่อำนาจประชาชนให้หดแคบลง ในวันที่สังคมกำลังถกเถียงเรื่องการต่อสู้เชิงอุดมการณ์อย่างเข้มข้น

101 ชวนอ่านทัศนะจาก ชาตรี ประกิตนนทการ ถึงประวัติศาสตร์สนามหลวงในเชิงการเมืองที่สัมพันธ์กับสามัญชน และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ถึงชีวิตชีวาของสนามหลวงในฐานะพื้นที่ศูนย์กลางความหลากหลายของประชาชน

สิ่งที่ทั้งสองมองเห็นคือความสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนใช้สนามหลวงดังเดิม เพื่อคืนความหมายของ ‘สนามราษฎร’ ให้แก่สนามหลวงดังที่เคยเป็นมา

สนามหลวงไม่ใช่เพียงลานโล่งกว้างที่สามารถใช้จัดกิจกรรมได้ แต่มีความทรงจำร่วมของสังคมในหลากแง่มุม และมีความหมายของการเป็นพื้นที่ซึ่งต้อนรับผู้คนอันแตกต่างหลากหลาย

 

YouTube video

 

 

ชาตรี ประกิตนนทการ : สนามหลวง-สนามราษฎร

 

 

 

สำหรับ ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แนวคิด ‘พื้นที่สาธารณะ’ หรือ public space ในความหมายแบบสมัยใหม่ของสนามหลวงเพิ่งเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

ชาตรี เล่าว่า สนามหลวงมีมาพร้อมกับการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ปี 2325 โดยมีลักษณะการใช้งานแต่แรกเริ่มคือ เป็นทุ่งพระเมรุมาศสำหรับพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า หรือใช้จัดพระราชพิธี

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ลักษณะกิจกรรมบนพื้นที่สนามหลวงเปลี่ยนแปลงไปบ้างพอสมควร หากดูหลักฐานจากภาพถ่ายเก่า จะเห็นว่ามีการจัดกิจกรรมตามแบบสมัยใหม่ที่ทำให้อาจมองสนามหลวงว่าเป็นพื้นที่สาธารณะได้ เช่นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดงานสมโภชพระนครครบรอบ 100 ปี มีการจัดแสดงนิทรรศการ หรือในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีการเปิดสนามหลวงให้เป็นสนามกอล์ฟ

“แต่หากดูในรายละเอียดแล้ว ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าชมได้มีเพียงเจ้านาย เชื้อพระวงศ์ ข้าราชการระดับสูง และชาวต่างชาติเท่านั้น จะเห็นว่าการใช้สอยพื้นที่สนามหลวงของผู้คนนั้นเป็นไปอย่างจำกัดและไม่เท่าเทียมกันจนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ

“คำว่า ‘สนามหลวง’ มีนัยทางภาษา 2 อย่างคือ สนาม ‘หลวง’ ที่แปลว่าสนามใหญ่ หรือสนามกว้าง อีกนัยหนึ่งคือ สนามที่เป็นของ ‘หลวง’ (royal) เมื่อพิจารณาความหมายของพื้นที่สนามหลวงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสนามหลวงไม่ใช่พื้นที่ที่ประชาชนพลเมืองเข้ามาใช้ได้อย่างเท่าเทียม เราจึงไม่อาจเรียกสนามหลวงว่าเป็นพื้นที่สาธารณะได้”

 

สนามหลวงหลังปี 2455 ต้นมะขามยังไม่โตนัก

 

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย แนวคิดว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคแสดงออกมาในทุกปริมณฑลสาธารณะ รวมไปถึงสนามหลวงด้วยเช่นกัน

“จุดเปลี่ยนสำคัญที่ปิดฉากสนามหลวงในแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ การที่รัฐบาลคณะราษฎรยืนยันเจตนารมณ์จัดเมรุเผาศพบนพื้นที่สนามหลวงให้กับทหารตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิตคราวปราบกบฏบวรเดชปี 2476 ซึ่งตามหลักการแล้ว นายทหารตำรวจชั้นผู้น้อยเหล่านี้คือไพร่แท้ๆ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”

การตั้งเมรุสำหรับราษฎรนับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในการเปลี่ยนความหมายของพื้นที่สนามหลวงให้กลายเป็นปริมณฑลสาธารณะและยกระดับความเป็น ‘สนามราษฎร’ มากขึ้น นำมาซึ่งการเปิดกว้างให้มีกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่สนามหลวงที่ประชาชนพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

หลังจากนั้น รัฐบาลคณะราษฎรก็จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมายในพื้นที่สนามหลวง ไม่ว่าจะเป็นงานฉลองรัฐธรรมนูญ หรือเปิดให้มีการออกร้าน

ในทศวรรษที่ 2490 สมัยรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม ระดับความเป็นพื้นที่สาธารณะของสนามหลวงก้าวไปสู่จุดสูงสุดเมื่อรัฐบาลอนุมัติให้ใช้พื้นที่สนามหลวงเปิดเป็นตลาดนัด ใช้เป็นพื้นที่ปราศรัยแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง (หรือที่เรียกว่า Hyde Park) หาเสียงเลือกตั้ง ต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ใช้เป็นพื้นที่เล่นว่าว เล่นตะกร้อ ปิกนิกพักผ่อน หรือแม้กระทั่งกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน

หากมองสายธารประวัติศาสตร์การเมืองไทย การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในปี 2500 ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของความเป็นสนามราษฎร

ชาตรีอธิบายว่า การขึ้นมามีอำนาจของรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ต่อมาจนถึงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรในปี 2516 ส่งผลให้ความเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองของสนามหลวงลดลง อย่างไรก็ดี ไทยเลือกวางนโยบายเข้าร่วมกับโลกเสรีนิยมประชาธิปไตยในช่วงสงครามเย็น ความเป็นสนามราษฎรจึงยังหลงเหลืออยู่ในบางมิติที่เสมือนเปิดให้เป็นสังคมเสรีคือ อนุญาตให้มีการใช้สนามหลวงทำกิจกรรมสาธารณะที่ไม่ส่งผลกระทบทางการเมืองได้

ความเป็นพื้นที่สาธารณะของสนามหลวงได้ผ่านอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนทางประชาธิปไตยที่สำคัญ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นัยของการเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพได้กลับคืนสู่สนามหลวงอีกครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนถูกชะลอด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่กลางท้องสนามหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนับได้ว่าเป็นหน้าประวัติศาสตร์ของสนามหลวงที่โหดร้าย

 

วันเฉลิมพระชนมพรรษาปี 2521 จัดฉายหนังร้อยจอและมีแข่งเรือมาราธอน 24 ชั่วโมง

 

การประท้วงน้ำมันขึ้นราคา ต้นปี 2523

 

หลังทศวรรษที่ 2520 ความเป็นสนามราษฎรได้หายไปอีกครั้งเมื่อเกิดแนวคิดว่าพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในเสื่อมโทรม แออัด ไร้ระเบียบ จนนำไปสู่แนวคิดการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน โดยตั้งคณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้สอดคล้องกับคุณค่าความเป็นโบราณสถานและตอบสนองต่องานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีการออกกฎระเบียบ ควบคุมพื้นที่ ปรับทัศนียภาพบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นในให้สวยงาม และมีการขึ้นทะเบียนสนามหลวงเป็นโบราณสถาน

ชาตรีมองว่านโยบายชุดนี้กลับกลายเป็นการผลักไสสามัญชนคนธรรมดาและชีวิตประจำวันออกไปจากพื้นที่สนามหลวง เมื่อย้ายตลาดนัดสนามหลวงไปอยู่ที่จตุจักร ย้ายหน่วยงานราชการออกไปนอกบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ชุมชน ชีวิตและเศรษฐกิจระดับรากหญ้าที่เคยสัมพันธ์กับพื้นที่สนามหลวงก็เริ่มหายไป

อย่างไรก็ตาม ชีวิตทางการเมืองของสนามหลวงไม่ได้หมดลงไปอย่างสิ้นเชิง เพราะคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์ไม่ได้เข้าไปควบคุมการใช้พื้นที่ในเชิงการเมือง การใช้สนามหลวงเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองของกลุ่มคนต่างๆ ก็ยังมีมาโดยตลอด จนกระทั่งก้าวมาสู่จุดสูงสุดอีกครั้งช่วงปี 2549 เมื่อทุกฝ่ายต่างก็เข้ามาใช้พื้นที่สนามหลวงในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น ทั้งฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ต้องการขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ต่อต้านการรัฐประหาร ต่างก็ใช้สนามหลวงเป็นพื้นที่ในการชุมนุมประท้วง

“การเข้าไปใช้พื้นที่สนามหลวงทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2549 นำไปสู่การขยายตัวของการเมืองมวลชนที่ลงลึกไปในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง อาจมากกว่าเมื่อ 14 ตุลาฯ 2516 เสียอีก มันเข้าไปขยับอุดมการณ์ของรัฐอย่างมีนัยสำคัญและสร้างความกังวลต่อรัฐมากพอสมควร

“นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำมาสู่การออกนโยบายปรับภูมิทัศน์ ปิดปรับปรุงบูรณะสนามหลวงของ กทม. หลังการล้อมปราบม็อบ นปช. ปี 2553 แต่ท้ายที่สุดการปิดบูรณะก็นำไปสู่การสร้างรั้วเหล็กสูง 1.7 เมตรล้อมรอบสนาม และการประกาศระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการใช้ การบํารุง และการดูแลรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวงปี 2555 ที่กำหนดห้ามไม่ให้ใช้พื้นที่สนามหลวงเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง จากตอนนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เราไม่อาจเรียกสนามหลวงว่าเป็นพื้นที่สาธารณะได้อีกต่อไป”

แต่ในวันที่พื้นที่สาธารณะเหลือน้อยลงทุกขณะและในห้วงเวลาที่การเคลื่อนไหวของประชาชนปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง หากการชุมนุม ‘19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร’ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนำไปสู่การทวงคืนสนามหลวง การเมืองเรื่องพื้นที่จะกลับมา ความหมายของพื้นที่จะถูกเขย่าอีกครั้ง

“หากผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่สนามหลวงได้ นั่นเท่ากับการยืนยันว่าสนามหลวงคือสนามราษฎรอีกครั้งหนึ่ง

“การเข้าไปชุมนุมในสนามหลวงครั้งนี้จะไม่ได้เป็นเพียงแค่การชุมนุมเท่านั้น แต่มันจะเป็นการบั่นทอนอุดมการณ์ของรัฐอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้น การประกาศกร้าวว่าจะเข้าไปทวงคืนสนามราษฎรในความหมายแบบก่อนการล้อมรั้วปี 2553 จึงเป็นเรื่องที่รัฐกังวลอย่างมาก และน่าจะพยายามสกัดกั้นอย่างเต็มที่” ชาตรีกล่าว

 

 

สิ่งหนึ่งที่ชาตรีเน้นย้ำคือ พื้นที่สาธารณะถือเป็นหนึ่งในมาตรวัดความเป็นประชาธิปไตยในสังคม

“ในทัศนะของผม พื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ที่ประชาชนพลเมืองสามารถเข้าถึงได้อย่างเสรีภายใต้ข้อจำกัดเท่าที่จำเป็นและน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ชาตรีชี้ให้เห็นถึงสามองค์ประกอบสำคัญของความเป็นพื้นที่สาธารณะ

1. ต้องเปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ไม่มีการกีดกันคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ หากมีข้อจำกัดต้องบังคับใช้อย่างเสมอหน้าและจำกัดเสรีภาพในการใช้ตามความจำเป็น

2. ต้องเป็นพื้นที่ที่ผู้ใช้สอยสามารถแสดงออกซึ่งความคิดได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องเกรงกลัวหรือกังวลว่าความคิดจะไปกระทบต่อผู้มีอำนาจหรือไม่ แต่การใช้เสรีภาพทางความคิดก็ต้องไม่ขัดต่อเสรีภาพของผู้อื่นด้วย

3. ประชาชนทุกคนในสังคมต้องเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะ รัฐต้องทำหน้าที่เป็นเพียงตัวแทนในการดูแลการเข้ามาใช้สอยพื้นที่เท่านั้น มิใช่เจ้าของพื้นที่

“หากองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นพื้นที่สาธารณะขาดหายไป ผมคิดว่าพื้นที่นั้นหมดสิ้นซึ่งความเป็นพื้นที่สาธารณะ และสังคมนั้นก็หมดสิ้นความเป็นสังคมประชาธิปไตยด้วย”

สำหรับกรณีสนามหลวงแม้มีการออกกฎระเบียบห้ามใช้สนามหลวงเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2555 แต่ในปี 2556 กลุ่มแนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดินก็ยังเข้ามาใช้พื้นที่สนามหลวงประท้วงการพิจารณาคดีเขาพระวิหารของศาลโลกเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน แม้กฎหมายระวางโทษจำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการลงโทษใดๆ จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่เมื่อมีข่าวว่านักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมจะเคลื่อนขบวนเข้าไปชุมนุมในพื้นที่สนามหลวง มีการหยิบยกกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาพูดถึงบทลงโทษ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปใช้พื้นที่

“เราไม่สามารถมองได้เลยว่าระเบียบดังกล่าวออกแบบมาเพื่อควบคุมพื้นที่สาธารณะให้มีคุณภาพ เพราะเป็นการควบคุมสิทธิเสรีภาพในการใช้พื้นที่อย่างไม่สมเหตุสมผล และเป็นการบังคับใช้กฎระเบียบโดยไม่มีมาตรฐาน”

ตราบเท่าที่สนามหลวงยังคงถูกล้อมรั้ว ควบคุมอย่างเข้มงวดไม่ให้ประชาชนใช้เป็นพื้นที่แสดงออก แรงกดดันทางสังคมก็จะยังสะสมต่อไป และตราบเท่าที่สนามหลวงยังไม่เปลี่ยนมาเป็นสนามราษฎร สนามหลวงจะยังคงเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ต่อไป

“ในสมัยจารีตที่สนามหลวงยังจำกัดการใช้เฉพาะในชนชั้นปกครอง มีการบันทึกในพงศาวดารว่าช่วงที่ไม่มีการประกอบพระราชพิธี สนามหลวงก็ยังเป็นพื้นที่ที่ไพร่เข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่สนามหลวงในปัจจุบันกลับย่ำแย่กว่าสมัยต้นรัตนโกสินทร์เสียอีก เพราะแม้ไม่มีพระราชพิธีหรือรัฐพิธี สนามหลวงก็ยังคงมีรั้วล้อมไว้ไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้สอย

“ผมคิดว่าการสร้างรั้วเหล็กล้อมพื้นที่สาธารณะอย่างสนามหลวงเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย” ชาตรีกล่าว

 

สุชาติ สวัสดิ์ศรี : สนามหลวงในฐานะ ‘ชีวิตทางวัฒนธรรม’

 

 

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของสนามหลวงสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้ไม่ได้ถูกใช้จากภาครัฐอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้พักผ่อนและทำกิจกรรมมากมาย จนกลายเป็นความทรงจำร่วมของผู้คนจำนวนมากที่เคยเก็บเกี่ยวช่วงเวลาที่ดีขณะเข้ามาใช้พื้นที่สนามหลวง

เช่นเดียวกับ ‘สิงห์สนามหลวง’ นามปากกาของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อันเป็นสิ่งยืนยันถึงความคุ้นเคยต่อพื้นที่บริเวณนี้เป็นอย่างดี

สุชาติ เล่าว่า ชีวิตที่สนามหลวงของเขาเริ่มต้นเมื่อปี 2504 หลังเรียนจบ ม.6 เขาไปเป็นเด็กวัดมหาธาตุเพื่อสอบเทียบ ม.7-ม.8 แล้วสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2505 ชีวิตที่ วัดมหาธาตุ-สนามหลวง-ธรรมศาสตร์ จึงเริ่มต้นนับจากนั้น

ยุคนั้นในรั้วมหาวิทยาลัยยังไม่มีกิจกรรมนักศึกษามากนัก หากเขาไม่มีเรียนก็จะเข้าห้องสมุดหรือไปร้านหนังสือเก่าสนามหลวง ตกเย็นก็มานั่งเล่นแถวสนามหลวง อันเป็นจุดนัดพบความหลากหลายของผู้คนในยุคที่ยังไม่มีห้างสรรพสินค้า ตลอดทั้งปีจะมีงานเทศกาลเวียนมาจัดบนพื้นที่สนามหลวง ตั้งแต่งานปีใหม่ สงกรานต์ แรกนาขวัญ

ช่วงเข้าฤดูร้อนจะมีเทศกาลพร้อมกิจกรรมสันทนาการ ฉายหนังกลางแปลง การแสดงวงดนตรีลูกทุ่ง-ลูกกรุง การประกวดร้องเพลง สุชาติเล่าว่าเมื่อเรียนเสร็จเขามักกลับไปเปลี่ยนชุดที่วัดแล้วออกมานั่งชมงานรื่นเริง

 

ตลาดนัดสนามหลวงในวันเสาร์อาทิตย์ เมื่อปี 2523

 

 

แม้ไม่มีเทศกาลสนามหลวงก็ยังเป็น ‘ศูนย์กลางความหลากหลายของชีวิต’

“วันที่มีตลาดนัดจะเห็นความหลากหลายมากขึ้น ถ้าไม่มีตลาดนัด กลางสนามหลวงก็มีรถจักรยานให้เช่าถีบ มีรถเข็นขายปลาหมึกแขวนเป็นราว แม่ค้าส้มตำมาตั้งร้าน มีเทศกาลแข่งขันว่าวปักเป้า-จุฬา จนเป็นเพลง ‘เย็นลมว่าว’ ของสุนทราภรณ์ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็เคยเขียนเรื่อง ‘ปักเป้ากับจุฬา’ ในนัยของหญิงกับชายมาพบกันที่สนามหลวง

“ไม่ว่าจะมีเทศกาลหรือไม่ สนามหลวงก็มีชีวิตของมัน เป็นสวนสาธารณะกลางเมือง เป็นชีวิตทางวัฒนธรรมที่มีความเคลื่อนไหว มีเรื่องราวต่างๆ ในเชิงปัจเจกแต่ละมุม ตั้งแต่คนขายของ คนเล่นมายากลพร้อมขายยา แดดร่มลมตกก็มีคนไปนั่งจีบกันบนสนามหญ้า ถึงไม่มีงานเทศกาล แต่มันเหมือนเป็นงานวัดย่อมๆ วันธรรมดาผมก็จะออกจากวัดมานั่งดูสาว แล้วเดินข้ามไปร้านหนังสือเก่า นามปากกา ‘สิงห์สนามหลวง’ ก็เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ ตอนนั้นเวลาคนจะไปร้านหนังสือเก่า ก็จะบอกว่า “ไปร้านหนังสือเก่าสนามหลวง” ผมรู้จักผู้คนในแวดวงหนังสือก็ที่นี่ ไม่ใช่ในห้องเรียนหรือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ”

สำหรับสุชาติ สนามหลวงถือเป็นชีวิตทางวัฒนธรรมของเขา จากเด็กรักการอ่านที่เติบโตมากับหนังสือตลาด เช่นผลงานของ ป.อินทรปาลิต, อรวรรณ, พนมเทียน และหนังสือของสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เมื่อได้มาคลุกคลีหอสมุดกลางธรรมศาสตร์และร้านหนังสือเก่าสนามหลวง ทำให้เขาค้นพบโลกการอ่านอีกรูปแบบหนึ่ง การคุ้ยหนังสือทำให้เขาพบกับหนังสือ ศิลปเพื่อชีวิต ของ ทีปกร (นามปากกาของจิตร ภูมิศักดิ์) ในราคาสองเล่มห้าบาท จึงซื้อไปอ่านโดยไม่รู้ว่าเป็นใคร

 

แผงหนังสือสนามหลวงเมื่อปี 2522

 

 

ช่วงที่สุชาติเป็นนักศึกษา เขาอธิบายว่าเป็น “ช่วงที่นักเขียนก้าวหน้าถูกตัดตอนไป” ทำให้เขาไม่รู้จักชื่อของ อิศรา อมันตกุล, กุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์, นายผี, เสนีย์ เสาวพงศ์ รวมถึงชื่อของ คณะสุภาพบุรุษ และ ขบวนการเสรีไทย แม้ว่าเขาจะเรียนสาขาประวัติศาสตร์แต่ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องราวของคณะราษฎร

เขามารู้จักชื่อเหล่านี้จากการอ่านและพบหนังสือเก่าที่เกี่ยวข้องที่ยังหลงเหลืออยู่ที่ร้านหนังสือเก่าสนามหลวง

“หนังสือเหล่านี้ถูกตัดช่วงไปในทุกครั้งที่มีรัฐประหาร เพราะการรัฐประหารเหมือนการเซ็นเซอร์ตัวเอง เป็นการนับหนึ่งใหม่ในทางวัฒนธรรม แม้ไม่มีการห้าม แต่หนังสือในห้องสมุดจะหายไป อาจเพราะบรรณารักษ์เอาไปซ่อน ผมมารู้จักหนังสือพวกนี้จากหนังสือเก่าที่หลุดรอดมา นอกจากหนังสือไทยก็ซื้อพ็อกเก็ตบุ๊กฝรั่ง เพราะตอนเรียนวิชาพื้นฐานจะได้ยินชื่อ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, จอห์น สไตน์เบ็ก, ฌอง ปอล ซาร์ต, อัลแบร์ กามู แต่ไม่มีรายละเอียด พอเจอพ็อกเก็ตบุ๊กเหล่านี้จากร้านหนังสือเก่าก็ซื้อไว้ ทำให้ผมไปพบพรมแดนทางการอ่านใหม่ๆ รสนิยมใหม่ ให้ได้เจอชื่อที่น่าสนใจ

“หนังสือเก่าที่ซื้อไว้กลายเป็นห้องสมุดส่วนตัวของผม ข้อมูลเรื่องฐานทัพอเมริกันก็มาเจอที่นี่ ตอนผมเป็นบก.สังคมศาสตร์ปริทัศน์ เจอหนังสือหลุดมาจากฐานทัพอเมริกา เรียกว่าสินค้าพีเอ็กซ์ มีคนไปเอามาจากห้องสมุดฐานทัพ แล้วก็มีหนังสือฝ่ายซ้ายตั้งแต่ Rolling Stone, Ramparts, New Left Review, New York Times ความบันดาลใจเกี่ยวกับความคิดก้าวหน้า ความคิดเชิงสังคมนิยม ความคิดของนักคิดต่างประเทศ สำหรับผมไม่ได้มาจากห้องเรียนหรือตำราเรียน แต่เป็นการเก็บสะสมจากการคุ้ยร้านหนังสือเก่า”

ร้านหนังสือเก่าสนามหลวงยังนำมาซึ่งโอกาสในการพบปะระหว่างนักเขียนและนักอ่าน เมื่อผู้คนในแวดวงวรรณกรรมต่างวนเวียนมาหาหนังสือบนพื้นที่นี้ เจ้าของร้านหนังสือก็จะคอยบอกเด็กหนุ่มนักอ่านว่ามีนักเขียนดังกำลังมาเลือกหนังสืออยู่อีกมุมหนึ่งของร้าน

ชีวิตทางวัฒนธรรมของคนในวงการนักเขียนเริ่มหายไปเมื่อมีการย้ายตลาดนัดและร้านหนังสือสนามหลวงไปที่จตุจักร

 

 

การชุมนุมในวันกรรมการ ปี 2524

 

สนามหลวงยังโดดเด่นในฐานะพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดให้ประชาชนมาแสดงออก การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้สร้างความหมายใหม่ให้สนามหลวงกลายเป็นชีวิตทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับสามัญชนมากขึ้นในกิจกรรมต่างๆ จนในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มเกิดพื้นที่ไฮด์ปาร์กที่สนามหลวง โดยมีแบบอย่างมาจากสวนไฮด์ปาร์ก ลอนดอน เพียงมีลังสบู่มาตั้งก็สามารถขึ้นพูดประเด็นคับข้องใจทางการเมืองและสังคมได้

สิงห์สนามหลวง เล่าว่า ในปีแรกที่เข้าเรียนธรรมศาสตร์ ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการจัดให้นักศึกษาชั้นปีแรกไปเดินขบวนประท้วงกรณีแพ้คดีเขาพระวิหาร ตั้งต้นขบวนจากสนามหลวงถึงทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสุชาติก็ได้ไปร่วมด้วย

อีกครั้งในปี 2516 สุชาติและพวก เช่น ธีรยุทธ บุญมี, ประสาร มฤคพิทักษ์ ทำแถลงการณ์และพากันแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญในตลาดนัดรอบสนามหลวงวันเสาร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

หลัง 14 ตุลาฯ ธรรมศาสตร์กลายเป็นที่ชุมนุมของนักศึกษาและคนทำกิจกรรมคล้าย ‘เขตปลดปล่อย’

“14 ตุลาฯ เริ่มต้นที่สนามหลวง 6 ตุลาฯ ก็มาจบที่สนามหลวง ความหมายของสนามหลวงยับเยินเพราะ 6 ตุลาฯ กลายเป็นโศกนาฏกรรม ต้นมะขามสนามหลวงถูกใช้แขวนคอคน หลัง 6 ตุลาฯ ผมคิดว่าคงไม่ได้พบคนที่เข้าป่าอีกนานเป็นร้อยปี ผมเลยอ่านหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ก่อนเข้าป่าพวกเขาเคยพูดว่า “เฮ้ย แล้วไปพบกันที่สนามหลวงนะ” หมายความว่าเมื่อสงครามประชาชนชนะแล้วจะกลับมาเจอกันที่สนามหลวง ผมก็คิดว่าคงอีกนาน แต่ที่ไหนได้สามปีพวกเขาก็กลับมาแล้ว (หัวเราะ) คนที่เข้าป่าตอนนั้นก็จะผูกพันกับธรรมศาสตร์และสนามหลวง”

สุชาติมองว่าสนามหลวงสมควรขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกทางวัฒนธรรม’ ของประเทศไทย แทนที่การขึ้นทะเบียนโบราณสถานแล้วล้อมรั้วห้ามประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่อย่างที่เป็นอยู่ หากสามารถทำให้กลับมาใช้เป็นพื้นที่รวมกิจกรรมทางชีวิตวัฒนธรรมของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยวอย่างดี

“คุณไม่ต้องไปสร้างพิพิธภัณฑ์หรอก สร้างสนามหลวงให้มีชีวิต สามารถกลับมาจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ เป็นเหมือนไฮด์ปาร์กของอังกฤษ ดูแลต้นมะขามให้มีชีวิตชีวามากกว่านี้ สนามหลวงจะเป็นศูนย์กลางที่มีความหมาย ถ้าคุณมีความคับข้องใจทางการเมืองก็มาชุมนุมที่นี่ พื้นที่มันมหาศาลพอที่จะรับผู้คน ถ้ามีความคิดคนละแบบก็แบ่งฝั่งสนามกันไป สมัยก่อนก็เป็นแบบนี้ ไม่ต้องไปรุกล้ำพื้นที่บนถนน

“ผมยังมองในแง่ดีว่าวันหนึ่งสนามหลวงจะกลายเป็นสนามราษฎร เป็นพื้นที่สาธารณะที่คนใช้ร่วมกัน ที่ผ่านมาสนามหลวงเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างคนชั้นบนกับคนชั้นล่าง สมัยก่อนคนบ้านนอกส่งลูกมาเรียนหนังสือในเมือง ถ้าลูกไม่พามาเที่ยวสนามหลวงก็จะไปเขาดิน เวลามีเทศกาลก็มีลำตัด หนังตะลุง มาสนามหลวงจะพบคนพูดภาษาใต้ เหนือ อีสาน ช่วงไม่มีตลาดนัดก็เป็นที่ออกกำลังกาย มันเป็นจุดร่วมความหลากหลาย และเป็นชีวิตทางวัฒนธรรมที่น่าจะต่อเสริมหลายสิ่งอย่างให้เกิดขึ้น มันไม่ควรเป็นที่จอดรถ มันไม่ควรถูกปิดล้อม”

สุชาติ ยืนยันถึงความสำคัญของการทำให้สนามหลวงกลายเป็น ‘สนามราษฎร’ และถูกใช้พื้นที่ในลักษณะ open space ไม่ใช่ close space แบบที่เป็นอยู่

“สนามหลวงเป็นพื้นที่เปิดที่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับผู้คนทั้งระดับบนและระดับล่าง จึงน่าจะเป็นความงดงามหากได้มองสนามหลวงในความหมายของพื้นที่เปิดแบบที่เคยเข้าใจ ไม่ใช่ในความหมายของพื้นที่ปิดแบบที่คนรุ่นใหม่พบเจอ” สุชาติกล่าวทิ้งท้าย

 

 


หมายเหตุ ภาพเก่าสนามหลวงจากหนังสือ ‘สนามหลวง : เล่าเรื่องสนามหลวงด้วยภาพ’ เอนก นาวิกมูล บรรณาธิการ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save