fbpx
ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ Samsung ที่มีมากกว่าสมาร์ตโฟน

ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ Samsung ที่มีมากกว่าสมาร์ตโฟน

ซัมซุงประกาศรายได้ของบริษัทปี 2020 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รายได้อยู่ที่ราวๆ 6.37 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% และมีกำไรอยู่ที่ 7.10 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% แม้ว่าเศรษฐกิจทั้งโลกไม่ได้สวยงามมากเพราะโควิด-19 แต่ดูเหมือนว่าซัมซุงจะไม่ได้รับผลกระทบมากสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากพวกเขาอยู่ตลอดเวลา และเป็นคู่แข่งในตลาดสมาร์ตโฟนกับแอปเปิลได้อย่างสูสี แต่สมาร์ตโฟนเป็นเพียงหนึ่งในอาณาจักรเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มาจากพวกเขาเท่านั้น เพราะซัมซุงยังมีทั้งเครื่องใช้ภายในบ้าน โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ชิปมือถือและอีกมากมาย 

เมื่อย้อนกลับไปดูอดีตของซัมซุงก่อนกลายเป็นหนึ่งในบริษัทระดับโลก เราจะเห็นว่าทุกอย่างเริ่มต้นอย่างเรียบง่าย และแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเพชรในตมก็คงไม่ผิดนัก หลังจากสงครามเกาหลีปี 1953 บาดแผลจากความแตกแยกและสงครามยังไม่หายไป เกาหลีใต้ตอนนั้นถือว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา พยายามฟื้นตัวจากการแบ่งแยกประเทศ 

ต่อจากนั้นเกาหลีใต้ก็เติบโตอย่างรวดเร็วจากปัจจัยจากการส่งออกและภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการตื่นตัวทางด้านการศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกิดการขยายตัวของชุมชนเมือง ความทันสมัยต่างๆ เข้ามา จนถูกเรียกกันอย่างติดปากว่าเป็น ‘ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน’ (Miracle on the Han River) ที่อิงมาจากปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำไรน์ (Miracle on the Rhine) ที่เป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเศรษฐกิจเยอรมันตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หนึ่งในบริษัทที่ทำให้เกาหลีใต้เติบโตเป็นประเทศอุตสาหกรรมและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ก็คงไม่พ้นซัมซุง ซึ่งคำว่า ‘Samsung’ มีความหมายในภาษาเกาหลีว่า ‘3 ดาว’ ซึ่งเป็นชื่อที่ถูกเลือกโดยลี บย็อง-ช็อล (Lee Byung-chull) ผู้ก่อตั้ง โดยมีความตั้งใจว่าอยากให้บริษัททรงพลังและอายุยืนยาวเหมือนดวงดาวบนท้องฟ้า เพราะดวงดาวถือเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่ยืนยง

ลี บย็อง-ช็อล เป็นลูกชายคนสุดท้องในพี่น้อง 4 คน เติบโตในครอบครัวเจ้าของที่ดิน ความเป็นอยู่ค่อนข้างดี เรียนชั้นมัธยมปลายที่ Joongdong High School ในกรุงโซล และต่อที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เขากลับมาก่อตั้งบริษัท Mitsubishi Trading Company (รู้จักกันอีกชื่อว่า Samsung Samhoe) ที่เมืองแดกูในปี 1938 เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายพืชผักในท้องถิ่นและอาหารแห้ง ทั้งส่งออกไปยังประเทศจีนด้วย เริ่มต้นมีพนักงานประมาณ 40 คนเท่านั้น

ธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดีและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนต้องย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ที่โซลในปี 1947 แต่ก็ต้องหยุดไปช่วงที่สงครามเกาหลีปะทุขึ้นมา หลังสงคราม เขาสร้างโรงกลั่นน้ำตาลในเมืองปูซาน ก่อนขยายไปสู่สิ่งทอและสร้างโรงงานผ้าขนสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีขณะนั้น ซึ่งกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงแบบนี้เองที่ทำให้ซัมซุงประสบความสำเร็จ ขยายไปสู่ธุรกิจประกันภัย หลักทรัพย์ และค้าปลีกอย่างรวดเร็ว โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อให้ประเทศเกาหลีใต้กลับมาฟื้นตัวจากสงครามอีกครั้ง

มีการร่วมทุนกับ Cho Hong-Jai แล้วก่อตั้งเป็น Samsung Trading Corporation แต่สุดท้ายก็อยู่กันได้ไม่นานเท่าไหร่เพราะสไตล์การบริหารงานที่แตกต่างกัน แยกออกจากกันเป็น Samsung Group และ Cho’s Hyosong Group (ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีอยู่)

ราวๆ ช่วงปลายของยุค 60 ซัมซุงเริ่มเข้าสู่ตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กลุ่ม Samsung Electronics Devices และ Samsung Semiconductor & Telecommunications นอกจากนั้นยังมีการร่วมมือกันระหว่างซัมซุงกับซันโยซึ่งพัฒนาไปสู่การผลิตเตาไมโครเวฟและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคอื่นๆ โรงงานแรกของพวกเขาตั้งอยู่ที่เมืองซูวอน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นแรกของซัมซุง-ซันโยคือทีวีขาวดำที่วางขายในปี 1970

ช่วงปี 1980 ซัมซุงเริ่มผลิตผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโทรคมนาคม ภายใต้กลุ่ม Samsung Electronics เมื่อลี บย็อง-ช็อล เสียชีวิตในปี 1987 ลูกชาย ลี คุน ฮี (Lee Kun-Hee) ก็เข้ารับตำแหน่งประธานของบริษัทแทน ซึ่งต่อมา Samsung Group ก็ถูกแยกออกเป็น 5 ส่วน คือ Samsung, CJ Group, Hansol Group, JooAng Group และ Shinsegae Group ซึ่งแต่ละส่วนก็อยู่กันคนละธุรกิจ สำหรับ Samsung แล้วพวกเขาเลือกที่เดินไปต่อในสายอิเล็กทรอนิกส์

หลังจากที่ลี คุน ฮี เข้ารับตำแหน่ง ซัมซุงเดินหน้าอย่างเต็มที่โดยเฉพาะเรื่องงานวิจัยและพัฒนา (R&D) ของบริษัท เขาต้องการที่จะทำให้ซัมซุงกลายเป็นแบรนด์ที่ทั่วโลกรู้จักให้ได้ ซึ่งก่อนหน้านั้นคนมักมองซัมซุงว่าล้าหลังและผลิตแค่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ราคาถูก ในองค์กรก็มีการปฏิรูปที่ชัดเจน ระบบการจัดการที่เปลี่ยนไป พนักงานทุกคนต้องรู้สึกปลอดภัยที่จะแจ้งเรื่องความผิดพลาดที่เกิดขึ้น มีการกำหนดคุณภาพที่เข้มงวด ซัมซุงยังกลายเป็นหนึ่งในบริษัทเกาหลีไม่กี่แห่งที่ส่งเสริมผู้หญิงให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เริ่มทำให้ซัมซุงกลายเป็นแบรนด์ที่ได้รับความชื่นชมในระดับนานาชาติ จนกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 1992 ช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของเอเชียปลายยุค 90 พวกเขาก็ฝ่าฟันวิกฤตนั้นมาได้แม้ต้องขายบางส่วนของบริษัทออกไป ต่อมายังขยายไปสู่การผลิตกังหันก๊าซและเครื่องยนต์อากาศยาน โดยที่ Samsung Aerospace รวมกับ Daewoo Heavy Industries และ Hyundai Space จนกลายเป็น Korea Aerospace Industries

ซัมซุงเริ่มเข้าสู่ตลาดสมาร์ตโฟนในช่วงปี 2001 ด้วยรุ่น SPH-1300 ที่เป็นสมาร์ตโฟนแบบแตะหน้าจอรุ่นแรกๆ ซัมซุงพยายามพัฒนาโทรศัพท์ของตัวเองต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเปิดตัว Galaxy SII ในปี 2011 และ Galaxy SIII ในปีถัดมาซึ่งเป็นโทรศัพท์รุ่นที่ทำให้คนเริ่มรู้จักซัมซุงในฐานะผู้ผลิตสมาร์ตโฟนระดับโลก

พวกเขาเข้าควบรวมกิจการบริษัทอีกหลายแห่งในช่วงปีต่อๆ มาเพื่อขยายตลาดไปยังเทคโนโลยีทางการแพทย์ สมาร์ตทีวี จอแบบ OLED อุปกรณ์อัตโนมัติภายในบ้าน เครื่องปรินต์ ระบบปฏิบัติงานบนคลาวด์ ระบบจ่ายเงิน ไปจนกระทั่งเอไอ

บ่อยครั้งที่เราเห็นอุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ จากซัมซุง อย่าง Gear VR หรือรถยนต์ไร้คนขับ เพราะดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกเขาเชี่ยวชาญคือการพัฒนาและต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ๆ เมื่อมีโอกาส ตอนนี้ต้องถือว่าแบรนด์ซัมซุงเป็นที่รู้จักระดับโลก มีสิทธิบัตรทางเทคโนโลยีในอเมริกามากกว่าทุกบริษัทในโลก เป็นบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์เป็นอันดับ 8 ของโลกและรายได้ของพวกเขาเท่ากับ 17% ของ GDP เกาหลีใต้

ความสำเร็จของซัมซุงบ่งบอกให้เห็นอย่างหนึ่งว่าบริษัทหนึ่งไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญหรือทำเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญคืออย่าหยุดพัฒนาและคอยสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ

==========

อ้างอิง

korea.net/AboutKorea/Economy/The-Miracle-on-The-Hangang

Samsung remains the top patent filer in the US for the second year – SamMobile

How Samsung dominates South Korea’s economy

KAI KOREA AEROSPACE INDUSTRIES, LTD.

Lee Kun-hee, Who Built Samsung Into a Global Giant, Dies at 78 – The New York Times

History of Samsung

เยอรมนีกลับมายิ่งใหญ่ได้อย่างไรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 | ลงทุนศาสตร์ Investerest.co

The History of Samsung (1938-Present)

https://www.britannica.com/topic/Samsung-Electronics#ref1229691

Infographic 20 Things You Didn’t Know about Samsung – Samsung Global Newsroom

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save