fbpx
การแต่งงานเพศเดียวกัน : คำสารภาพของนักนิติเศรษฐศาสตร์

การแต่งงานเพศเดียวกัน : คำสารภาพของนักนิติเศรษฐศาสตร์

อิสร์กุล อุณหเกตุ เรื่อง

 

ปี 2560 เป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฎหมายการสมรสเพศเดียวกันในหลายประเทศ  เริ่มจากคำตัดสินของศาลสูงสุดแห่งไต้หวันเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า กฎหมายห้ามการสมรสเพศเดียวกันขัดต่อรัฐธรรมนูญ  ขณะที่ในเยอรมนีและออสเตรเลียนั้น กระบวนการออกกฎหมายการสมรสเพศเดียวกันเสร็จสิ้นเรียบร้อย และประกาศใช้แล้วในเดือนตุลาคมและเดือนธันวาคมที่ผ่านมาตามลำดับ

ความเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายข้างต้นเป็นผลพวงจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การแต่งงานเพศเดียวกันได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในหลายประเทศรวมถึงในสหรัฐอเมริกา รายงานบางชิ้นชี้ว่า การแต่งงานเพศเดียวกันในสหรัฐฯ ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไปเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 35 เมื่อปี ค.ศ. 2001 เป็นร้อยละ 62 ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงความเห็นของผู้คนในสังคมทำให้คนอีกหลายๆ คนเปลี่ยนใจหันมายอมรับการแต่งงานเพศเดียวกัน รวมถึง ‘เจ้าพ่อ’ วิชานิติเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อว่า ริชาร์ด เอ. พอสเนอร์ (Richard A. Posner)

 

‘เจ้าพ่อ’ วิชานิติเศรษฐศาสตร์

 

ริชาร์ด เอ. พอสเนอร์ เป็นนักกฎหมายชาวอเมริกันคนสำคัญผู้เป็นที่รู้จักในฐานะนักกฎหมายสายอนุรักษ์นิยมที่ ‘ใช้หัวมากกว่าหัวใจ’ เขาเรียนจบด้านวรรณคดีอังกฤษจากมหาวิทยาลัยเยล และด้านกฎหมายจากสำนักกฎหมายฮาร์วาร์ด ปัจจุบัน พอสเนอร์ในวัย 78 ยังคงสอนหนังสืออยู่ที่สำนักกฎหมาย มหาวิทยาลัยชิคาโก ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 48 แต่เขาเพิ่งเกษียณตัวเองจากตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์แห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังดำรงตำแหน่งมายาวนานกว่า 36 ปี นับจากได้รับการแต่งตั้งในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

นอกจากการเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและผู้พิพากษาแล้ว พอสเนอร์ยังเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงเศรษฐศาสตร์จากผลงานในสาขานิติเศรษฐศาสตร์ ตัวอย่างผลงานของเขาในสาขานี้ เช่น การวิเคราะห์กฎหมายด้วยเศรษฐศาสตร์ (Economic Analysis of Law, 1972) เศรษฐศาสตร์แห่งความยุติธรรม (Economics of Justice, 1981) เพศและเหตุผล (Sex and Reason, 1992) รวมถึงวิสามัญสำนึก (Uncommon Sense, 2009) ที่เขาเขียนร่วมกับแกรี่ เอส. เบ็คเกอร์ (Gary S. Becker) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง ‘เจ้าพ่อ’ ของวิชานิติเศรษฐศาสตร์

 

เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการแต่งงานเพศเดียวกัน

 

เหตุผลของการแต่งงานมักถูกอธิบายผ่านคำตอบที่เป็นนามธรรม โดยเฉพาะความรัก อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่คนตัดสินใจแต่งงาน (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) นั้นสามารถอธิบายได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น ผลได้จากการบริโภคร่วมกัน (เช่น บ้าน) การเพิ่มเครดิตเพื่อการลงทุน (เช่น การกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้าน) และการแบ่งงานกันทำภายในครัวเรือน (เช่น ฝ่ายหนึ่งทำงานนอกบ้าน อีกฝ่ายหนึ่งดูแลบ้าน) ด้วยคำอธิบายเช่นนี้ การแต่งงานเพศเดียวกัน (same-sex marriage) จึงแทบไม่แตกต่างไปจากการแต่งงานระหว่างเพศ (heterosexual marriage)

ขณะที่มุมมองเชิงนิติเศรษฐศาสตร์นั้นใช้คำอธิบายเรื่องสัญญาเป็นหลัก  พอสเนอร์เห็นว่า ถ้าไม่มีผลพวงทางกฎหมายจากการแต่งงานแล้ว การแต่งงานก็ควรมีลักษณะเหมือนการทำสัญญา กล่าวคือ คู่สัญญาควรจะสามารถออกแบบสัญญาได้ตามความพึงพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานระยะห้าปี การแต่งงานแบบไม่ผูกมัด (open marriage) และการแต่งงานรูปแบบอื่นๆ  สำหรับคู่รักที่ไม่ต้องการเจรจาเรื่องสัญญาการแต่งงานนั้นก็สามารถใช้สัญญามาตรฐานที่กำหนดโดยกฎหมายได้  ดังนั้น หากใช้แนวคิดเรื่องสัญญากับการแต่งงาน ก็ไม่มีเหตุผลประการใดที่รัฐจะห้ามคนรักเพศเดียวกันแต่งงานกัน

อย่างไรก็ตาม พอสเนอร์เคยคิดว่า ข้อเสนอเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกันเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะการต่อต้านกลุ่มคนรักเพศเดียวกันนั้นเป็นไปอย่างแพร่หลาย  งานเขียนของพอสเนอร์ตั้งแต่ Sex and Reason (1992) จนถึง Uncommon Sense (2009) ยืนยันความคิดนี้มาโดยตลอด  ทั้งนี้ พอสเนอร์เห็นว่า สิ่งที่เป็นใจกลางของความขัดแย้งเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกันคือการใช้คำว่า “สมรส” เขาชี้ว่า  ถ้ากลุ่มผู้สนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกันใช้คำว่า ‘การอยู่กินด้วยกัน’ (civil unions) แทนคำว่าการสมรส  การผลักดันก็น่าจะประสบความสำเร็จดังเช่นในประเทศอื่นๆ หลายประเทศ พอสเนอร์สรุปว่า “กลุ่มผู้คัดค้านเชื่อว่า การรับรองการสมรสเพศเดียวกันจะลดคุณค่าของการสมรสระหว่างเพศแบบของพวกเขา”

ในประเด็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้น ความเห็นของเขาอยู่ขั้วตรงข้ามกับศาสตราจารย์วิลเลียม เอสกริดจ์ (William Eskridge) แห่งสำนักกฎหมายจอร์จทาวน์ (ปัจจุบัน เอสกริดจ์ประจำอยู่ที่สำนักกฎหมายเยล) ที่เห็นว่า รัฐธรรมนูญควรได้รับการตีความเพื่อรับรองสิทธิในการสมรสเพศเดียวกัน  พอสเนอร์โต้แย้งว่า การรับรองสิทธิในการสมรสเพศเดียวกันเป็นสิทธิใหม่ และเมื่อศาลจะต้องรับรองสิทธิใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ศาลควรจะต้องพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่นอกเหนือจากตัวบท โดยเฉพาะการยอมรับการตัดสินใจเรื่องสิทธินั้นๆ จากสาธารณชน  ด้วยเหตุนี้ พอสเนอร์จึงเสนอว่า ฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งในแต่ละมลรัฐต่างหากที่ควรเป็นผู้รับรองสิทธิดังกล่าว และค่อยๆ ให้มลรัฐอื่นๆ เรียนรู้ผลที่เกิดขึ้น

แต่แล้วพอสเนอร์ก็เปลี่ยนความคิด

 

รัฐธรรมนูญกับสิทธิในการแต่งงานเพศเดียวกัน

 

ในปี ค.ศ. 2013 ภายหลังการต่อสู้ทางการเมืองและการฟ้องร้องอย่างยาวนาน ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาก็มีคำตัดสินว่า การนิยามการสมรสว่าเป็น ‘การสมรสระหว่างเพศ’ ภายใต้รัฐบัญญัติป้องกันการสมรส (Defense of Marriage Act: DOMA) ที่มีผลบังคับใช้มา 17 ปีนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ผลจากคำตัดสินดังกล่าวทำให้มีการฟ้องร้องให้ยกเลิกกฎหมายห้ามสมรสเพศเดียวกันในหลายมลรัฐ รวมถึงในมลรัฐอินเดียนาและมลรัฐวิสคอนซิน[1] ต่อมา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2014 ศาลแขวงในทั้งสองมลรัฐต่างตัดสินว่า กฎหมายระดับมลรัฐที่ห้ามการสมรสเพศเดียวกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ การฟ้องร้องทั้งสองคดีถูกรวมเข้าเป็นคดีเดียวและเข้าสู่การพิจารณาโดยศาลอุทธรณ์ภาคเจ็ด (Court of Appeals for the Seventh Circuit) โดยองค์คณะสามคน ซึ่งรวมถึงผู้พิพากษา ริชาร์ด เอ. พอสเนอร์

ระหว่างการพิจารณาคดีในเดือนกันยายนปีเดียวกัน อัยการประจำมลรัฐอินเดียนาอ้างเหตุผลในการฟื้นกฎหมายห้ามการสมรสเพศเดียวกันว่าเป็นเรื่องของการรักษา ‘ประเพณี’ ขณะที่ผู้พิพากษาพอสเนอร์ตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนว่า การห้ามการสมรสระหว่างคนดำกับคนขาวก็เคยเป็นประเพณี และเรียกการห้ามสมรสเพศเดียวกันว่าเป็น ‘ประเพณีแห่งความเกลียดชัง’ และ ‘การเลือกปฏิบัติที่ป่าเถื่อน’ หลังจากนั้น องค์คณะทั้งสามก็มีมติเป็นเอกฉันท์ โดยตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นว่า กฎหมายห้ามการสมรสเพศเดียวกันในมลรัฐอินเดียนาและมลรัฐวิสคอนซินขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ในปีต่อมา ศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาก็มีคำตัดสินว่า การห้ามการสมรสเพศเดียวกันในระดับมลรัฐขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้การสมรสเพศเดียวกันได้รับการรับรองตามกฎหมายในทุกมลรัฐตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา[2]

 

คำสารภาพของพอสเนอร์

 

พอสเนอร์ให้สัมภาษณ์กับวารสารของเนติบัณฑิตยสภาอเมริกัน (American Bar Association) เมื่อปี ค.ศ. 2014 ว่า “ผมเปลี่ยนความคิดไปมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมเป็นพวกต่อต้านการเปลี่ยนแปลง (reactionary) น้อยลงมาก ผมเคยคัดค้านการแต่งงานเพศเดียวกันในสมัยที่ความคิดเห็นของผู้คนในเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในยุคมืด หลายปีต่อมาความคิดเห็นของผู้คนเปลี่ยนไปมาก และความคิดเห็นของผมก็เช่นกัน” เขากล่าวเสริมในบทความอีกชิ้นหนึ่งว่า “ผมเชื่ออย่างจริงจังว่า ความคิดเห็นของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นมีพลังมากพอที่จะทำให้ศาลตีความรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองสิทธิในการสมรสเพศเดียวกัน” และยอมรับว่า ความเห็นในเรื่องดังกล่าวของเอสกริดจ์ ‘ผู้มาก่อนกาล’ นั้นถูกต้อง

“ดูเหมือนว่าเหตุผลเดียวที่ใช้คัดค้านการสมรสเพศเดียวกัน หรือความเสมอภาคทางกฎหมายระหว่างคนรักเพศเดียวกันกับคนรักต่างเพศคือ ความเชื่อทางศาสนา” พอสเนอร์กล่าวไว้ในบล็อกที่เขาเขียนร่วมกับเบ็คเกอร์ และสรุปว่า “สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ประเทศเทวาธิปไตย (theocracy) จึงควรครุ่นคิดให้หนักถ้าจะออกกฎหมายเพื่อรับใช้ศาสนา แทนที่จะเป็นการออกกฎหมายเพื่อฆราวาส เช่น สวัสดิการสังคมหรือความมั่นคง”

หลายคนตั้งข้อสงสัยถึงการเปลี่ยนจุดยืนของพอสเนอร์ ขณะที่อีกหลายคนเชื่อว่า พอสเนอร์เปลี่ยนใจหันมาสนับสนุนสิทธิในการสมรสเพศเดียวกันเพียงเพราะว่า เขาไม่อยากเลือกข้างผิดเมื่อความคิดเห็นของผู้คนเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม แม้แต่ผู้ที่มีความเชื่อเช่นนั้นก็ยังเห็นว่า คำตัดสินของพอสเนอร์ในคดีในมลรัฐอินเดียนาและมลรัฐวิสคอนซินนั้นมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวง และการเปลี่ยนความคิดของเขาที่ส่งผลให้คู่สมรสเพศเดียวกันได้รับสิทธิอย่างที่ควรจะเป็นนั้นก็เป็นเรื่อง ‘มาช้ายังดีกว่าไม่มา’

กฎหมายมีไว้เพื่อให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม แต่กฎหมายเป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง ขณะที่โลกและความเห็นของผู้คนล้วนเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกรัฐสภาในฐานะผู้ออกกฎหมาย หรือศาลและองค์กรอื่นๆ ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายจึงจำเป็นต้องรับฟังเสียงของผู้คน

เพราะ “กฎหมายไม่ใช่วิทยาศาสตร์” พอสเนอร์สารภาพ.

 

หมายเหตุ

แม้ว่ากฎหมายที่รับรองสิทธิในการสมรสเพศเดียวกันจะช่วยให้คู่รักเพศเดียวกันได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายเช่นเดียวกับที่คู่สมรสระหว่างเพศได้รับ เช่น สิทธิในเรื่องการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และสิทธิในการรักษาพยาบาลและการได้รับสวัสดิการ แต่ไทยยังไม่มีกฎหมายในลักษณะดังกล่าว โดยปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ. …. ยังอยู่ระหว่างการยกร่างโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

 

อ่านเพิ่มเติม

Becker, Gary S. and Richard A. Posner (2009). Uncommon Sense: Economic Insights, from Marriage to Terrorism. University of Chicago Press.

Eskridge, William N. (1996). The Case For Same-Sex Marriage: From Sexual Liberty to Civilized Commitment. Free Press.

Posner, Richard A. (1994). Sex and reason. Harvard University Press.

Posner, Richard A. (1997). “Should There Be Homosexual Marriage? And If So, Who Should Decide?”. Michigan Law Review. Vol. 95, No. 6. pp. 1578-1587.

[1] โปรดดูรายละเอียดในคดี Wolf v. Walker และ Baskin v. Bogan

[2] โปรดดูรายละเอียดในคดี Obergefell v. Hodges

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save