fbpx
คุยกับแบงก์ชาติ มองมาตรการช่วยผู้ประกอบการ ในวันที่โควิดยังยืดเยื้อ กับ สักกะภพ พันธ์ยานุกูล

คุยกับแบงก์ชาติ มองมาตรการช่วยผู้ประกอบการ ในวันที่โควิดยังยืดเยื้อ กับ สักกะภพ พันธ์ยานุกูล

การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่เข้ามาหยุดชะงักกิจกรรมเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นโจทย์ใหญ่ให้รัฐบาลไทยต้องออกแบบสรรหาสารพัดมาตรการทั้งการเงินและการคลังมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชน รวมถึงกลุ่ม ‘ผู้ประกอบการ’ ที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญให้หมุนต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกได้ประจักษ์แล้วว่าโควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงวิกฤตสั้นๆ แต่ปั่นป่วนเศรษฐกิจ กระเทือนผู้ประกอบการยาวข้ามปี ขณะที่ไทยก็ต้องเจอการระบาดระลอก 2 และ 3 อย่างไม่ได้ตั้งตัวและรุนแรงยิ่งกว่าระลอกแรก และเมื่อโควิดยังไม่จบ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการก็ไม่สามารถหยุดลงได้ แถมต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วย

23 มีนาคมที่ผ่านมา ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 โดยเพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน ซึ่งทำให้เกิด 2 มาตรการใหม่อย่าง ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ และ ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ ออกมาปิดช่องว่างมาตรการการเงินช่วยผู้ประกอบการเดิม ทำให้มาตรการการเงินจะไม่ได้แค่ ‘เยียวยา’ ผู้ประกอบการเหมือนช่วงแรกเท่านั้น แต่จะมีหน้าที่ทั้ง ‘เยียวยา’ และ ‘ฟื้นฟู’ ไปพร้อมกัน สอดรับกับสถานการณ์การระบาดที่ยังไม่มีแนวโน้มจบสิ้นลงง่ายๆ อย่างที่คิด  

101 สนทนากับ สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงมาตรการทางการเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการชุดใหม่ พร้อมไขข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายการเงิน ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ยังยืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูง


สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย


ธปท.ประเมินเศรษฐกิจและสถานการณ์ล่าสุดของผู้ประกอบการในไทยท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอนนี้อย่างไร

การแพร่ระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงมาก เพราะไปกระทบโดยตรงกับภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 12 ของ GDP โดยเมื่อปีที่แล้ว GDP ของไทยติดลบที่ประมาณร้อยละ 6 แม้ว่าจะมีมาตรการการเงินและการคลังไปเยียวยาแล้วก็ตาม และจากการคาดการณ์ ก็พบว่ากว่าที่ GDP จะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับเดิมก่อนเกิดโควิด ต้องใช้เวลาอีกประมาณปีกว่า ซึ่งก็คือช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 เลย เพราะปีนี้ GDP ของไทยน่าจะขยายตัวได้แค่ราวร้อยละ 3 หรืออาจต่ำกว่านี้ได้

โควิดยังส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ไม่เท่ากัน โดยกระทบกับภาคการท่องเที่ยวอย่างหนัก ส่งผลต่อแรงงานในภาคที่มีอยู่มากกว่า 10 ล้านคน และคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี กว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาสู่ระดับใกล้เคียงปกติได้ แต่ก็อาจไม่ได้กลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิดซึ่งอยู่ที่ 40 ล้านคน เพราะฉะนั้น บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างธุรกิจขนส่งหรือธุรกิจสปา จึงได้รับผลกระทบหนักและต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน 

นอกจากธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว ธุรกิจ SME กว่า 3 ล้านบริษัท ที่มีสายป่านธุรกิจสั้น ก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน หากไม่มีมาตรการเข้าไปฟื้นฟูเยียวยา ก็จะส่งผลให้หลายบริษัทต้องปิดตัวลงไป ตามด้วยการปลดหรือตัดลดเงินเดือนแรงงาน ปัญหาหนี้ที่สูงขึ้น และอาจส่งผลเป็นลูกโซ่ไปถึงภาคการเงิน ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการในเชิงการป้องกันและมองไปข้างหน้า เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการแก้ไขซึ่งต้องใช้ต้นทุนที่สูงกว่ามาก



ธปท. มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างไร มีผู้ประกอบการได้รับการช่วยเหลือแล้วมากขนาดไหน

เมื่อปีที่แล้ว ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดแรกๆ มีการออก พ.ร.ก. Soft Loan วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่อยู่ภายใต้ความดูแลของ ธปท. พร้อมๆ กับที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อนำไปให้แก่ธุรกิจ SME ในประเทศ โดยมีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษร้อยละ 2 ต่อปี

นอกจากนี้ ธปท. ยังมีมาตรการการเลื่อนกำหนดชำระหนี้สำหรับธุรกิจ SME เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง อีกทั้งมีการลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟู (Financial Institutions Development Fund – FIDF) ให้กับสถาบันการเงินต่างๆ  ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.23 ของฐานเงินฝาก เพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้บรรดาธุรกิจได้ และยังมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ร้อยละ 0.5 อีกด้วย

ถ้านับถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions – SFIs) และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-bank Institutions) ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รวมแล้วทั้งสิ้น จำนวน 3.87 ล้านล้านบาท คิดเป็นจำนวนเกือบ 6 ล้านบัญชี


ล่าสุด ธปท. เพิ่งเสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเพิ่มเติมออกมาผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 10 เมษายน มาตรการเหล่านั้นมีอะไรบ้าง และการออกมาตรการมาเพิ่มนี้แสดงว่ามาตรการที่มีอยู่เดิมมีจุดบกพร่องหรือไม่เพียงพอหรือไม่

ในช่วงแรกของสถานการณ์โควิด ธปท. ประเมินว่า โควิดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพียงระยะสั้น จึงใช้มาตรการที่เน้นดูแลสภาพคล่องและใช้ลักษณะปูพรมให้ทั่วถึงเป็นหลัก แต่หลังจากนั้น เราเห็นแล้วว่าสถานการณ์โควิดยืดเยื้อ ไม่ได้มีผลแค่ระยะสั้น ขณะที่ พ.ร.ก. Soft Loan เดิมก็หมดอายุในเดือนเมษายนนี้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม โดยเน้นช่วยเหลือระยะยาวมากขึ้น เปลี่ยนไปมุ่งที่การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระหนี้ผู้ประกอบการแทนการดูแลสภาพคล่อง และต้องไม่ได้เพียงเยียวยาธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องช่วยในแง่การฟื้นฟูเพื่อให้ธุรกิจกลับมามีกิจกรรมเศรษฐกิจใกล้เคียงระดับเดิมด้วย

นอกจากนั้น มาตรการการเงินที่ผ่านมายังมีปัญหาเรื่องการกระจายสภาพคล่อง โดยเมื่อปี 2563 มีธุรกิจขอสินเชื่อไปทั้งหมดเพียง 130,000 ล้านบาท จากวงเงินทั้งหมด 5 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย และแม้ว่าการที่เศรษฐกิจปี 2563 โตติดลบร้อยละ 6 ขณะที่สินเชื่อธุรกิจโตร้อยละ 5 ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่แย่ แต่เอาเข้าจริง สินเชื่อธุรกิจที่โตได้ดีคือธุรกิจขนาดใหญ่ที่โตได้ร้อยละ 10 ขณะที่สินเชื่อที่ปล่อยให้กลุ่ม SME หดตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งถ้าหากไม่มีมาตรการ Soft Loan ก็อาจหดตัวถึงร้อยละ 6 และเรายังเห็นด้วยว่า การฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจยังไม่เท่าเทียมกัน บางภาคธุรกิจใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าภาคส่วนอื่น เช่นภาคการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น มาตรการชุดใหม่ที่ออกมาจะต้องตอบโจทย์ธุรกิจทุกกลุ่มทั้งเล็ก กลางและใหญ่ มีการจำแนกตามความหนักเบาของสภาพปัญหาธุรกิจ และต้องช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายถูกกลุ่มมากขึ้น

เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ธปท. จึงออกมาตรการการเงินเพิ่มเติมผ่านร่างมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในวงเงินรวม 350,000 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาเบิกเงินกู้ 2 ปีนับจากวันที่มาตรการมีผลบังคับใช้ โดยมี 2 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท และมาตรการสนับสนุนการโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (พักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 1 แสนล้านบาท

การออกมาตรการชุดใหม่นี้ยังให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น ต้องปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เพราะยังคงมีความไม่แน่นอนสูงมาก ทั้งการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ความไม่แน่นอนเรื่องประสิทธิผลของวัคซีน และความไม่แน่นอนในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว วงเงินระหว่างสองมาตรการนี้จึงมีความยืดหยุ่น สามารถโยกโอนวงเงินระหว่างกันได้

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย


มาตรการ ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ มีแนวทางอย่างไรบ้าง

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเน้นช่วยเหลือส่งผ่านสภาพคล่องต้นทุนต่ำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้ไปต่อได้ และออกแบบให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กมากขึ้น โดยช่วยทั้งลูกหนี้รายเดิมของสถาบันการเงิน อีกทั้งยังปรับปรุงมาตรการเดิม ขยายขอบเขตครอบคลุมไปถึงลูกหนี้รายใหม่ที่ไม่เป็นหนี้สถาบันการเงินมาก่อนด้วย เป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในวงกว้างขึ้น

สินเชื่อฟื้นฟูยังปรับปรุงจากมาตรการ Soft Loan เดิม ให้มีวงเงินในการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ จากเดิมที่ร้อยละ 20 พร้อมสร้างกลไกให้ยาวและยืดหยุ่นขึ้นด้วยการขยายระยะเวลาผ่อนชำระจาก 2 ปีเป็น 5 ปี และขยับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 5 จากเดิมที่ร้อยละ 2 เพื่อรองรับความเสี่ยงลูกหนี้ที่ก็ต้องยอมรับว่าเพิ่มสูงขึ้นตามความไม่แน่นอนของโควิด

นอกจากนี้ มาตรการยังกำหนดให้ภาครัฐจ่ายเงินชดเชยให้สถาบันการเงิน กรณีที่เกิดหนี้เสีย ในอัตราที่สูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่เดือดร้อนจริง อีกทั้งยังมีกลไกการค้ำประกันโดยภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงทางเครดิต (Credit Risk) สูง เข้าถึงความช่วยเหลือได้มากขึ้น และเพียงพอต่อความต้องการ


แล้วอีกมาตรการหนึ่งอย่าง ‘พักทรัพย์ พักหนี้’ เป็นอย่างไร

มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูง เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน และรายได้ไม่เข้า ทำให้เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการชำระหนี้ แต่ยังมีสินทรัพย์เป็นหลักประกันในการกู้ยืมอยู่ มาตรการนี้ก็จะช่วยหยุดภาระหนี้ของผู้ประกอบการธุรกิจกลุ่มนี้จนกว่าจะกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ เช่น รอให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศกลับมา

การพักทรัพย์ พักหนี้เป็นการเปิดให้ผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้สถาบันการเงินสามารถเอาสินทรัพย์ของตัวเองไปตีโอนกับทางสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์อย่างโรงแรม ซึ่งจะถูกใช้เป็นหลักประกันของผู้ประกอบการที่จะเจรจาเพื่อหยุดหรือลดหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เช่น ผู้ประกอบการท่องเที่ยวท้องถิ่นที่อาจมีกิจการโรงแรมอยู่หลายแห่ง อาจปิดโรงแรมหนึ่งแห่งเพื่อนำไปตีโอนกับธนาคาร เพื่อหยุดภาระหนี้ แล้วยังสามารถพยุงธุรกิจโดยรวม จ้างแรงงานต่อไปได้ โดยขณะเดียวกันอาจขอสินเชื่อฟื้นฟูไปด้วยก็ได้

จากนั้น เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ผู้ประกอบการก็สามารถซื้อสินทรัพย์คืน โดยจะได้สิทธิในการซื้อคืนเป็นคนแรกด้วยราคาต้นทุนที่ตีทรัพย์ภายในระยะเวลา 3-5 ปี หรือไม่เช่นนั้น ผู้ประกอบการอาจใช้วิธีเช่าสินทรัพย์กลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยสถาบันการเงินคิดค่าเช่าต่ำๆ แล้วยังให้สามารถนำค่าเช่าที่ได้รับไปหักออกจากราคาขายคืนทรัพย์ให้ลูกหนี้ ก็ได้เช่นกัน

มาตรการนี้ช่วยรักษาโอกาสให้ผู้ประกอบการลูกหนี้ไม่ต้องถูกกดราคาบังคับขายสินทรัพย์ ช่วยต่อลมหายใจ และสามารถกลับประกอบธุรกิจสร้างงาน สร้างรายได้ได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ขณะที่ฝั่งสถาบันการเงินก็ไม่ต้องฮุบทรัพย์ลูกหนี้ เพราะตามจริง สถาบันการเงินก็คงไม่อยากได้สินทรัพย์ เพราะมีความเสี่ยง เช่น เมื่อผ่านพ้นระยะเวลาไป สินทรัพย์ที่โอนมาอาจราคาตกจนผู้ประกอบการไม่ซื้อคืน หรือไม่มีคนอื่นมาซื้อต่อ


คิดว่าสองมาตรการนี้จะช่วยผู้ประกอบการได้มากขนาดไหน

ในหมวดสินเชื่อฟื้นฟู ถ้าดูจากจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นลูกหนี้ของธนาคาร จะพบว่ามีประมาณ 2 ล้านรายที่เข้าเกณฑ์ในหมวดนี้ และเรายังเปิดให้ลูกหนี้ที่ไม่เคยเป็นหนี้สถาบันการเงินมาก่อนเข้าสู่มาตรการนี้ได้ด้วย ในมาตรการ Soft Loan รอบที่แล้ว สินเชื่อถูกปล่อยออกไป 130,000 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมผู้ประกอบการประมาณ 6-7 หมื่นราย เพราะฉะนั้นมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาใหม่นี้น่าจะช่วยคนได้ไม่น้อยไปกว่านั้น จากการประเมินก็น่าจะช่วยได้หลายหมื่นบริษัท และจะมีแรงงานที่ได้รับประโยชน์อีกหลักแสนคน นอกจากนี้ วงเงิน 250,000 ล้านบาทนี้ เราไม่ได้หวังว่าจะปล่อยทั้งหมดทีเดียวภายในเวลาสั้นๆ แต่จะทยอยออกเป็นช่วงๆ ภายในระยะเวลา 2 ปี

ส่วนมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ อาจจะประเมินได้ยากว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากขนาดไหน แต่เราก็ได้เห็นว่ามีผู้ประกอบการจำนวนมากให้ความสนใจโครงการนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม


นอกจากมาตรการการเงินแล้ว มาตรการทางการคลังก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ คุณมีความเห็นอย่างไรบ้างต่อมาตรการฝั่งการคลัง ยังทำงานสอดประสานกับมาตรการฝั่งการเงินในสถานการณ์ตอนนี้ดีอยู่หรือไม่

มาตรการการเงินและการคลังของเรายังไปในทิศทางเดียวกันอยู่ ซึ่งก็เป็นเหมือนกันทุกประเทศทั่วโลก ทางฝั่งการคลังก็มีการออกมาตรการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นตระกูล ‘ชนะ’ ต่างๆ คนละครึ่ง รวมถึงมีการเติมรายได้และสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสูง และยังมีความจำเป็นต้องทำต่อเนื่องไปอีก

นับจากนี้เราต้องมองสถานการณ์ไปข้างหน้า หากเกิดการระบาดระลอกใหม่อีก การเยียวยาทั้งสองด้านก็ยังจำเป็น แต่ถ้าสถานการณ์การระบาดดีขึ้น ก็จะเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูกิจการและปรับรูปแบบกิจการ ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาว เพราะเราทราบกันดีว่า หลังเกิดการระบาดของโควิด ศักยภาพการเติบโตระยะยาวของไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง การลงทุนระยะยาวยกระดับศักยภาพและโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งเราก็อยากเห็นนโยบายภาครัฐในแง่นี้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝั่ง ธปท. ก็มองว่าการปรับเปลี่ยนธุรกิจเป็นเรื่องจำเป็นในโลกหลังโควิด เราถึงได้ออกสินเชื่อระยะยาวขึ้น เพราะต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจรองรับโลกที่เปลี่ยนไปด้วย

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย


สถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงมาก ธปท. มีแนวโน้มจะออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่หลังจากนี้ และมาตรการน่าจะมีลักษณะแบบไหน

มาตรการใหม่ที่เพิ่งออกมานี้ก็คงไม่ได้เป็นมาตรการสุดท้าย ภายภาคหน้าเราอาจมีการปรับปรุง (Fine-tuning) มาตรการตามสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงดูว่าจะมีการต่ออายุมาตรการเหล่านั้นหรือไม่ นอกจากเราจะต้องประเมินประสิทธิผลของมาตรการที่เราทำอยู่แล้ว เราก็ต้องประเมินดูเหมือนกันว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร มาตรการแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปเราต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำไปอย่างต่อเนื่อง  แต่ต่อไปคงต้องให้น้ำหนักมากขึ้นอีก เนื่องจากภาคธุรกิจและครัวเรือนจะมีระดับหนี้ที่สูงขึ้นจากช่วงโควิด

การออกมาตรการเหล่านี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ส่วนสำคัญที่สุดที่ ธปท. ต้องทำให้มั่นใจก็คือการทำให้เม็ดเงินไปถึงมือคนเดือดร้อนได้จริงและตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ในมาตรการได้จริง ซึ่งยังเป็นหนทางอีกยาวไกลสำหรับเรา


แน่นอนว่า ธปท. ยังต้องช่วยเหลือเยียวยาประชาชนไปอีกพักใหญ่ แต่ก็มีเสียงกังวลว่ากระสุนของเราจะมีเพียงพอหรือไม่ หรือจะไปผลักดันให้หนี้สาธารณะพุ่งสูงเกินเพดานหรือไม่ คุณมองว่าประเด็นนี้น่าเป็นห่วงหรือเปล่า

เดือนธันวาคม 2563 สัดส่วนหนี้สาธารณะของเราอยู่ที่ร้อยละ 52 ของ GDP ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศอื่น ของเราถือว่าไม่สูงมากจนน่ากังวล คือต้องยอมรับว่าโควิดจะทำให้หนี้สาธารณะเราเพิ่มสูงขึ้นจริง แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นในสถานการณ์ตอนนี้

ถ้าถามว่ากังวลกับเรื่องนี้ไหม เราก็มองได้หลายแบบ หนึ่ง ถ้าเศรษฐกิจเราโตช้ากว่าภาระในการใช้จ่ายหรือภาระดอกเบี้ยของรัฐบาล ก็น่ากังวล แต่ตอนนี้ ถ้าไปดูอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี จะเห็นว่ายังไม่ถึงร้อยละ 2 ขณะที่เศรษฐกิจเราปีนี้จะโตได้ร้อยละ 3 หรือต่อไปอาจมากกว่า 3 ได้ จึงเรียกได้ว่า แนวโน้มรายได้ยังโตมากกว่ารายจ่าย เพราะฉะนั้นอาจจะยังไม่น่ากังวลขนาดนั้น

สอง หนี้ของเราตอนนี้ส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 ยังอยู่ในสกุลเงินบาท เพราะฉะนั้นก็ไม่น่ากังวลมากว่าเราจะไม่มีเงินไปจ่ายหนี้ต่างประเทศ อีกทั้งหนี้ส่วนใหญ่ที่เรามีก็เป็นหนี้ระยะยาวด้วย หัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเราจะนำเงินตรงนี้ไปใช้อย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเกิดการลงทุนที่สร้างศักยภาพของประเทศในระยะยาวได้มากกว่า รวมถึงการลงทุนแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว ทั้งเรื่องโครงสร้างประชากร และระบบสวัสดิการสังคม ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มภาระภาคเงินการคลังภาครัฐสูงขึ้นอีกในระยะ 5-10 ปีข้างหน้านี้ แต่ก็นับว่ามีความจำเป็น


สถานะของภาคการเงินไทยตอนนี้ยังเข้มแข็งมากพอที่จะต้านทานผลกระทบจากความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด และยังแข็งแรงพอที่จะช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการต่อไปมากขนาดไหน

ถึงแม้สถาบันการเงินจะได้รับผลกระทบบ้างจากโควิด แต่ระบบสถาบันการเงินของเรายังเข้มแข็ง ยังคงมีกำลังมากพอที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมา และยังทำได้ต่อเนื่อง จากการประมาณการของเรา หากสถานการณ์ยังคงเป็นไปตามที่เราประเมินไว้ นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเราดำเนินมาตรการให้มั่นใจว่าสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งพอที่จะช่วยลูกหนี้ อย่างการประกาศการงดจ่ายเงินปันผล รวมถึงการผ่อนปรนเกณฑ์ต่างๆ อย่างเกณฑ์สภาพคล่อง และเกณฑ์การสำรอง

นอกจากจุดแข็งของเราจะอยู่ที่ระบบสถาบันการเงินแล้ว ฐานะด้านต่างประเทศของเราก็เป็นอีกส่วนที่เข้มแข็ง เพราะเรามีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความผันผวนจากตลาดการเงินโลกได้ดี ขณะที่ฝั่งการคลังเองก็ถือว่ามีความเข้มแข็งในแง่วินัยการคลัง โดยมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระดับค่อนข้างต่ำ เราจึงสามารถดำเนินการช่วยเหลือคนและธุรกิจที่มีความเดือดร้อนได้


นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่ามาตรการช่วยเหลือธุรกิจบางอย่าง เช่น การพักหนี้ หรือการยืดระยะเวลาชำระหนี้ อาจไปมีผลให้วินัยทางการเงินของคนไทยลดลง ธปท. มีแนวทางป้องกันปัญหานี้หรือไม่

ที่จริงแล้ว การยืดหนี้เองก็ไม่ได้เป็นผลดีกับตัวลูกหนี้ เพราะดอกเบี้ยก็ยังเดินอยู่ ซึ่งบางทีลูกหนี้อาจจะยังไม่ทราบ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ ธปท. อยากจะแนะนำคือ ถ้าคุณจ่ายได้ คุณก็ควรจะจ่าย โดยไม่ต้องยืดหนี้

นอกจากนี้ จากเดิมที่เราทำมาตรการแบบปูพรม ธปท. ก็เริ่มปรับเปลี่ยนให้มาตรการช่วยเหลือ รวมถึงการพักหนี้เป็นลักษณะเจาะกลุ่มเป้าหมาย (Selective) มากขึ้น ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 จากเดิมที่เคยใช้รูปแบบ Opt-out ก็เปลี่ยนมาเป็นแบบ Opt-in คือให้ผู้ประกอบการที่เดือดร้อนเข้าไปคุย แล้วสถาบันการเงินก็พิจารณาเป็นรายๆ ไปว่ารายไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่จะให้พักหนี้ แทนที่จะให้กับทุกคนเหมือนช่วงแรก และให้มีการปรับโครงสร้างที่เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละราย

ทาง ธปท. เองก็ได้ทำให้มั่นใจว่า ลักษณะของการที่ลูกหนี้ต้องจ่ายหนี้คืนจะต้องไม่เป็นภาระแบบกระจุกตัวจ่ายครั้งเดียว สมมติว่ายืดหนี้ไป 6 เดือน ก็ไม่ใช่ว่าจะให้ลูกหนี้มาจ่ายทีเดียวหลังจาก 6 เดือน แต่เป็นรูปแบบการเฉลี่ยจ่ายแทน เพราะไม่อย่างนั้น ลูกหนี้ก็จะจ่ายไม่ไหว

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย


มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาตรการช่วยเหลือเยียวธุรกิจต่างๆ ที่ผ่านมามักจะเข้าถึงธุรกิจรายใหญ่เสียมากกว่า ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางอาจเข้าถึงน้อยหรือยากกว่า ธปท. มองประเด็นนี้อย่างไร และมีแนวทางแก้ปัญหาหรือไม่

ถ้าดูจากตัวมาตรการ Soft Loan จะเห็นว่าการกระจายตัวดีมาก และอัตราเฉลี่ยของยอดหนี้แต่ละรายอยู่ที่ 1.9 ล้านบาทเท่านั้น แสดงว่าลงไปถึงรายเล็กได้ แต่ปัญหาคือว่าอาจจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เราถึงได้ออกมาตรการใหม่รอบนี้เพื่อปิดช่องว่าง ให้สินเชื่อใหม่ลงไปถึงรายเล็กมากกว่านี้อีก มาตรการทุกอย่างที่เราออกไป เน้นให้ความสำคัญกับรายย่อยอยู่แล้ว เพราะเป็นจุดที่เปราะบางในระบบเศรษฐกิจ


ในต่างประเทศมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไหนที่น่าสนใจ หรืออาจนำมาปรับใช้กับไทยได้บ้าง

ในต่างประเทศ โดยทั่วไปก็จะมีการช่วยเหลือในลักษณะการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการใช้เป็นทุนหมุนเวียน เหมือนอย่าง Soft Loan เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ส่วนบางประเทศก็มีลักษณะเป็นเงินให้เปล่า ซึ่งก็เป็นกลุ่มประเทศที่มีฐานข้อมูลประชากรที่แม่นยำ ขณะที่บางประเทศที่เจอสถานการณ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อ ก็จะเน้นการใช้มาตรการที่เจาะจง โดยเน้นช่วยเหลือธุรกิจสำคัญเช่น ภาคการท่องเที่ยว อย่างประเทศอิตาลีก็มีการตั้งกองทุนเพื่อเข้าซื้อธุรกิจโรงแรม บางประเทศก็ใช้วิธีการอัดฉีดเงินเข้าไปในภาคธุรกิจสำคัญโดยตรง อย่างอิตาลีและเยอรมนี ก็ใช้วิธีการอัดฉีดเงินเข้าธุรกิจสายการบิน

แต่ละประเทศมีบริบทสถานการณ์ที่ต่างกัน ถ้าจะเอามาตรการประเทศไหนมาปรับใช้ในประเทศไทยก็ต้องดูบริบทของปัญหาเราเองด้วย อย่างอิตาลีที่พึ่งการท่องเที่ยวเยอะเหมือนไทย แต่เขาเลือกใช้วิธีการจัดตั้งกองทุน ร่วมทุนจากหลายแหล่งเข้าซื้อธุรกิจ ขณะที่ประเทศไทย ลูกหนี้มักจะอยู่ที่สถาบันการเงินอยู่แล้ว และตัวสถาบันการเงินเองก็จะรู้จักลูกค้าได้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราถึงดีไซน์โครงการอย่างพักทรัพย์ พักหนี้ออกมา โดยใช้สถาบันการเงินเองเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสูง และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ของเราก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ยังไม่มีประเทศไหนใช้ ไม่แน่ว่าในอนาคต ประเทศอื่นอาจจะต้องมาดูงานพักทรัพย์ พักหนี้ของเราก็ได้  


สุดท้ายนี้ คุณอยากจะฝากหรือแนะนำอะไรถึงบรรดาผู้ประกอบการในสถานการณ์นี้บ้าง

สิ่งที่ ธปท. ทำในแง่มาตรการฟื้นฟู เราพยายามทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจว่าจะมีเครื่องไม้เครื่องมือเพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง ถ้าคุณต้องการสินเชื่อใหม่ เราก็มีแพ็กเกจให้ หรือคุณต้องการจะดูแลจัดการหนี้เดิม อาจจะเพราะต้องการลดสเกลของธุรกิจ เราก็มีแพ็กเกจให้เช่นกัน ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ ตอนนี้เราก็มีแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้และมีโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือถ้าเกิดคุณเริ่มกังวลว่าอาจผิดนัดชำระหนี้ เราก็มีกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้ รวมถึงการคิดดอกเบี้ยที่เป็นธรรมไม่ให้เป็นภาระคุณมากเกินไป เพราะฉะนั้น ต้องประเมินตัวเองดูว่า คุณกำลังอยู่ในสถานการณ์แบบไหน และต้องการใช้เครื่องมือตัวไหน

นอกจากนี้ ต้องประเมินตัวเองด้วยว่ารูปแบบธุรกิจ (Business Model) ของคุณในอนาคตจะเป็นอย่างไร ลองมองไปข้างหน้าว่า ในระยะยาวๆ ธุรกิจของคุณจะอยู่ตรงไหน แล้วจะมีแนวทางทำธุรกิจให้ดีขึ้นอย่างไร การปรับตัวในโลกหลังโควิดนั้นเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนไม่แพ้การแก้ปัญหาในระยะสั้น เพราะฉะนั้นการพัฒนาตัวเองและการปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจถึงสำคัญมาก จึงต้องทำการบ้านเยอะ เพื่อให้พร้อมเผชิญคลื่นลมและความแปรปรวนของโลกในอนาคตได้ ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนก็ตาม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save