fbpx
“สิ่งที่เผด็จการกลัวที่สุด คือการรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงาน” ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

“สิ่งที่เผด็จการกลัวที่สุด คือการรวมตัวกันของผู้ใช้แรงงาน” ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์ ภาพ

“เรามีประชากรประมาณ 66.4 ล้านคน เป็นผู้ใช้แรงงานประมาณ 39 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ ถ้าคนกลุ่มใหญ่ถูกละเลย ถูกมองข้าม ก็เหมือนเราไม่มีประวัติศาสตร์”

ประโยคข้างต้นคือคำกล่าวของชายวัย 66 ปีที่คลุกคลีกับเรื่องแรงงานมาค่อนชีวิต

เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย จากแบบเรียนที่พร่ำสอนกันมาตั้งแต่ระดับประถม ไปจนถึงเนื้อหาสาระที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์ ล้วนให้น้ำหนักไปกับเรื่องราวของผู้มีสถานะและอำนาจสูงส่งในสังคม สวนทางกับเรื่องราวของกรรมกร คนงาน หรือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่า

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเรื่องราวคนเหล่านั้นไม่สำคัญ เพราะเราๆ ท่านๆ ก็อาจนับเป็นหนึ่งใน 39 ล้านคนนั้น และเราต่างมีส่วนในการสร้างสรรค์หล่อหลอมสังคมนี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แรงงาน ริเริ่มปลุกปั้น ‘พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย’ ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536 เป็นพิพิธภัณฑ์ไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มุ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ของสามัญชน โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

“ถ้าเราบอกว่าบ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตย คนส่วนใหญ่ก็ควรจะต้องได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น แต่ถ้าเป็นบ้านเมืองที่อำนาจอยู่กับคนส่วนน้อย เขาก็จะพูดถึงแต่เรื่องของคนส่วนน้อย”

แม้จะเกิดมาในครอบครัวศิลปิน และมีความใฝ่ฝันวัยเด็กที่มุ่งไปในทางศิลปะ แต่การผ่านพ้นวัยหนุ่มในยุค 14 ตุลาฯ ได้หล่อหลอมให้เขาหันมาสนใจการบ้านการเมือง โดยมุ่งเข็มทิศมาที่เรื่องแรงงานเป็นหลัก ซึ่งเขาเห็นว่าสัมพันธ์กับการบ่มเพาะประชาธิปไตยอย่างแยกไม่ออก

นอกจากการทำงานเคลื่อนไหวทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า เขายังเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาสั้นๆ และทุกวันนี้ยังคงเชื่อมั่นว่า ‘ขบวนการแรงงาน’ จะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ

ทว่าในยุคสมัยที่การเคลื่อนไหวทั้งหลายทำได้ยาก และขบวนการแรงงานดูจะโรยแรงลงไป คำถามคือสิ่งที่เขาวาดฝันจะเป็นรูปเป็นร่างได้มากน้อยแค่ไหน-อย่างไร

ถัดจากนี้คือที่มาที่ไปและผลึกความคิดที่เขาสั่งสมไว้ และถ่ายทอดออกมาอย่างกระชับผ่านบทสนทนาราวๆ สองชั่วโมง

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

อยากให้เล่าที่มาที่ไปของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยให้ฟังคร่าวๆ ว่าทำไมถึงสนใจทำเรื่องนี้ แล้วตัวคุณเองเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร

โดยส่วนตัว ผมเป็นคนสนใจประวัติศาสตร์ สนใจติดตามเรื่องแรงงานมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา แล้วช่วงที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ก็สอนประวัติศาสตร์ด้วย ประกอบกับการที่ผมมีโอกาสไปช่วยคุณโดม สุขวงศ์ ทำหอภาพยนตร์ ตอนนั้นหอภาพยนตร์อยู่กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทำให้ผมได้เข้าไปใกล้ชิดกับการทำพิพิธภัณฑ์มากขึ้น มีโอกาสไปอบรมเรื่องการทำหอภาพยนตร์ ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ที่นั่นมีพิพิธภัณฑ์เยอะ แล้วทำออกมาได้น่าสนใจ ทำให้เรารู้สึกว่าประวัติศาสตร์จับต้องได้มากขึ้น และน่าจะเหมาะกับคนไทยซึ่งไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ

หลังจากนั้นผมมีโอกาสช่วยอาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ทำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อยุธยา เป็นจุดที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เราน่าจะมีพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องของคนธรรมดาสามัญมากกว่านี้ พอผมลาออกจากการสอนหนังสือ ก็มาทำงานกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung – FES) ของเยอรมนี ซึ่งผมทำเรื่องแรงงานโดยเฉพาะ ก็เลยเอาความอยากของตัวเองที่อยากทำพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับคนธรรมดา มาปะติดปะต่อกับเรื่องแรงงานที่เราทำ

สิ่งที่ผมพบในช่วงแรกคือ แรงงานไทยไม่ค่อยมีประวัติศาสตร์ คนส่วนใหญ่จะไม่รู้เรื่องราวในอดีตของแรงงาน บ้านเรามีคำว่าเคารพนับถือกันที่หัวนอนปลายเท้า แต่แรงงานเป็นเหมือนกลุ่มคนที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้า ไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา ประวัติศาสตร์ที่เป็นทางการของบ้านเราค่อนข้างละเลยเรื่องของผู้ใช้แรงงาน

เราเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ประมาณปี 2533-2534 ไอเดียคือถ้าเราได้บอกเล่าเรื่องราวของแรงงาน คนจะรู้สึกว่าแรงงานมีคุณูปการ เพราะแรงงานคือผู้สร้างสรรค์ประวัติศาสตร์ สร้างสรรค์สังคม

ถ้าเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ จะพบว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ของการใช้แรงงานมาตลอด ถนนหนทาง วัดวาอารามทั้งหลาย ก็มาจากแรงงาน แต่คนเหล่านี้กลับไม่ถูกเอ่ยถึง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยไม่ค่อยยอมรับแรงงาน เหมือนเป็นคนที่ต่ำชั้นลงมาหน่อย ไม่ค่อยมีศักดิ์ศรี ไม่มีบทบาทในการสร้างสรรค์ประเทศ

เราก็เลยมีความคิดว่า ถ้าเราเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ โดยทำพิพิธภัณฑ์แรงงานที่คนเข้าถึงได้ง่าย ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี ก็เลยรวบรวมพรรคพวกที่อยู่ในขบวนแรงงาน มาช่วยกันทำ ใช้เวลาอยู่ประมาณ 2-3 ปีในการเตรียมการ และเปิดทำการวันที่ 17 ตุลาคม 2536 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าคุณูปการที่ผู้ใช้แรงงานมีต่อสังคมไทยในยุคสมัยต่างๆ

ก่อนที่จะมีพิพิธภัณฑ์แรงงาน อย่างที่คุณบอกว่าบ้านเราไม่ค่อยมีพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อย รวมถึงผู้ใช้แรงงาน คำถามคือประวัติศาสตร์ของแรงงานเหล่านี้ มีความสำคัญอย่างไร ทำไมคนทั่วไปต้องรู้เรื่องราวของพวกเขาเหล่านี้

ถ้าดูสัดส่วนประชากรในประเทศไทย คนกลุ่มใหญ่ที่สุดคือผู้ใช้แรงงาน เรามีประชากรประมาณ 66.4 ล้านคน เป็นผู้ใช้แรงงานประมาณ 39 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ ถ้าคนกลุ่มใหญ่ถูกละเลย ถูกมองข้าม ก็เหมือนเราไม่มีประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์ควรเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ต้องถูกบันทึก ถูกเขียนถึงในแง่มุมต่างๆ

แต่ที่ผ่านมา เรามักพูดถึงแต่คนส่วนน้อยที่มีสถานะทางสังคมสูง มีอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองสูง เรามักให้ความสำคัญกับเรื่องราวของคนเหล่านั้นว่าเขามีอดีตความเป็นมายังไง แต่เรื่องราวของคนทั่วๆ ไป มักถูกละเลย เป็นภาพสะท้อนว่าสังคมของเราให้ความสำคัญกับคนส่วนใหญ่หรือคนส่วนน้อย

ถ้าเราบอกว่าบ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตย คนส่วนใหญ่ก็ควรจะต้องได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น แต่ถ้าเป็นบ้านเมืองที่อำนาจอยู่กับคนส่วนน้อย เขาก็จะพูดถึงแต่เรื่องของคนส่วนน้อย

พอเราพูดคำว่า แรงงาน หรือ ผู้ใช้แรงงาน ถ้าเป็นยุคแรกๆ อาจหมายถึงไพร่ทาส ยุคถัดมาอาจหมายถึงกรรมกร แต่ยุคสมัยปัจจุบัน นิยามดังกล่าวขยับขยายหรือครอบคลุมถึงคนกลุ่มไหนบ้าง

มันขึ้นอยู่กับว่า ใครเป็นคนให้คำนิยาม เพราะคำนิยามก็เปลี่ยนไปตามคนนิยาม และเปลี่ยนไปตามกาลเวลาด้วย สมัยก่อนเวลาพูดถึงแรงงาน เราจะพูดถึง blue collar หรือคนงานที่ใช้แรงงาน แต่เมื่อโลกพัฒนา งานก็พัฒนาไป มีความหลากหลายขึ้น โรงงานขนาดใหญ่ๆ ที่ใช้คนงานเยอะๆ ลดน้อยลง อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลดลง กลายเป็นโรงงานขนาดเล็ก เช่นเดียวกับลักษณะงานที่หลากหลายมากขึ้น ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าเราจะเรียกคนเหล่านั้นว่าเป็นใคร

ปัญหาใหญ่ของคนที่ทำเรื่องแรงงานตอนนี้ คือเรื่องนิยามนี่แหละ เพราะรัฐพยายามแยกผู้ใช้แรงงานออกเป็นส่วนย่อยๆ สมัยก่อนเวลาที่คนงานรวมตัวกัน เขาจะมีสิ่งที่เรียกว่า class consciousness หรือสำนึกทางชนชั้นร่วมกัน ต่อมารัฐก็พยายามจะแยกคนออกเป็นส่วนๆ คนนั้นเป็นแรงงานในระบบ คนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ คนโน้นเป็นข้าราชการ เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นผลให้คนเกิดความสับสนว่าตกลงเราเป็นใคร เราควรจะร่วมมือกันหรือไม่อย่างไร นี่เป็นปัญหาใหญ่ของคนที่ทำเรื่องแรงงานในปัจจุบัน

ในยุโรป เขาพยายามให้คำนิยามที่ครอบคลุมคนหลากหลาย อย่างในฟิลิปปินส์ช่วงที่ผ่านมา มีการพัฒนาแนวความคิดเรื่อง social movement unionism เป็นสหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการทางสังคม แล้วเขาก็ให้นิยามใหม่กับแรงงาน โดยระบุว่าตราบใดที่คุณไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ไม่ได้มีอำนาจในการจ้างงานคนจำนวนมาก ถือว่าท่านทั้งหลายคือคนงาน โดยเป้าหมายของสหภาพแรงงานคือการไปจัดตั้งให้คนเหล่านี้มารวมกัน เพราะถ้าเขาสามารถรวมกันได้ เขาก็จะมีพลังมากขึ้น

ตอนนี้นิยามในบ้านเราถูกกำหนดโดยกฎหมายแรงงาน ที่กำหนดว่าแรงงานก็คือลูกจ้างที่มีนายจ้าง ส่วนแรงงานที่ไม่มีนายจ้างก็เรียกว่าแรงงานนอกระบบ ข้าราชการกับรัฐวิสาหกิจก็ถูกแยกออกไป ภาวะแบบนี้ทำให้คนงานส่วนหนึ่งยอมจำนนว่า เราเป็นคนละส่วนกัน ทำให้แรงงานในบ้านเรายังไม่มีเอกภาพ ไม่รู้สึกเป็นพวกเดียวกันหรือชนชั้นเดียวกันเท่าไหร่

ปัญหาของการแบ่งแยกผู้ใช้แรงงานออกเป็นส่วนๆ ตามที่ว่ามาคืออะไร ทั้งในมุมของรัฐ และมุมของคนที่เป็นแรงงาน

ถ้าย้อนไปช่วงรัตนโกสินทร์ที่เริ่มมีการจ้างงานกันใหม่ๆ โดยธรรมชาติของคนงาน เขาจะรู้ว่าถ้าแยกกันอยู่ เขาจะถูกเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้นเขาจึงพยายามรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ ผมเพิ่งทำงานวิจัยกับสถาบันเอเชียศึกษา ที่จุฬาฯ เรื่องแรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าในสมัยก่อนแรงงานมีบทบาทสำคัญมากในประเทศแถบนี้ ยกเว้นประเทศไทยประเทศเดียวซึ่งไม่ได้เป็นอาณานิคม เราพบว่าขบวนการต่อต้านอาณานิคม เรียกร้องเอกราช องค์กรหลักในการเคลื่อนไหวต่อสู้คือองค์กรของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งรัฐและกลุ่มทุนจะพยายามควบคุมไว้

เราพบว่าลักษณะการรวมตัวกันช่วงแรกๆ ของแรงงาน จะมีลักษณะที่เป็นเป้าหมายทางการเมืองด้วย ซึ่งกฎหมายของไทยพยายามจำกัดไม่ให้แรงงานสามารถรวมตัวกันในลักษณะที่เป็นภัยคุกคามต่อรัฐ อย่างที่ทราบว่าประเทศไทยมีช่วงที่อยู่ใต้ระบอบการปกครองเผด็จการมาเป็นระยะ ซึ่งสิ่งที่เผด็จการกลัวที่สุดคือการรวมตัวกันของแรงงาน เพราะเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันง่าย เรามีกฎหมายที่เรียกว่า พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 เป็นกฎหมายที่พยายามจำกัดสิทธิของคนงาน โดยเฉพาะสิทธิในการรวมตัวกัน

จริงๆ แล้วสิทธิในการรวมตัวกันเป็นองค์กร ที่เรียกว่าสหภาพแรงงาน องค์กรระหว่างประเทศจะถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนงานทั้งหลายสามารถรวมตัวกันได้ ในรูปแบบไหนก็ได้ แต่รัฐก็พยายามเข้ามากำหนดว่า คุณจะต้องรวมตัวกันแบบนั้นแบบนี้ ห้ามทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ โดยสรุปคือทำได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสภาพการจ้างเท่านั้น ขณะเดียวกันคนที่จะมารวมตัวกันเป็นสหภาพ ก็ต้องเป็นลูกจ้างตามกฎหมาย พูดง่ายๆ คือเป็นแรงงานในระบบ ซึ่งครอบคลุมคนประมาณ 10 ล้านคนเท่านั้น

ปัจจุบันเรามีแรงงานทั้งหมดประมาณ 39 ล้านคน นับเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประมาณ 10 ล้านคน เป็นข้าราชการกับรัฐวิสาหกิจประมาณ 3 ล้านคน ที่เหลืออีกส่วนใหญ่คือแรงงานนอกระบบซึ่งกฎหมายไม่ได้รองรับในเรื่องการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน หมายความว่าคนส่วนใหญ่จะถูกกันออกไปจากสหภาพแรงงาน

ถ้าเราคุยกับนักจัดตั้งสหภาพ เขาจะบอกเลยว่าถ้าจะจัดตั้ง ต้องดูก่อนว่าต้องมีคนงานไม่น้อยกว่า 200 คน ถ้าเล็กกว่านั้นจะตั้งยาก เพราะนายจ้างจะมีอิทธิพลสูงกว่า สถานประกอบการในบ้านเราที่เป็นแรงงานในระบบ มีอยู่ 4 แสนกว่าแห่ง ซึ่งประมาณ 97-98 % เป็นสถานประกอบการขนาดกลางกับขนาดเล็ก จ้างคนต่ำกว่า 200 คน ดังนั้นสถานประกอบการในบ้านเราจึงจัดตั้งสหภาพยาก เพราะโดยธรรมชาติพอจัดตั้งแล้ว มันจะถูกยุบ นายจ้างจะบีบลูกจ้าง ลูกจ้างเองก็กลัว พูดง่ายๆ คือมันเล็กเกินไป

ปัจจุบันเรามีอยู่ 1,300 กว่าแห่ง ที่จดทะเบียนเป็นสหภาพ ซึ่งสหภาพลักษณะนี้ ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่มีสมาชิกสหภาพแรงงานน้อยที่สุดในโลก คือประมาณ 1.5-1.6% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

แล้วที่ผ่านมามีความพยายามในการผลักดันแก้กฎหมายให้ดีขึ้นและทันโลกมากขึ้นไหม

ในระดับสากล จะมีอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง นี่คืออนุสัญญาหลักที่ประเทศต่างๆ ควรให้สัตยาบัน ประเทศไทยก็เป็น 1 ใน 45 ประเทศที่ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่เราเลี่ยงไม่ให้สัตยาบันมาตลอด อนุสัญญาดังกล่าวประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2490 จากนั้นก็มีการคุยกันว่าไทยจะให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับนี้หรือไม่ ปรากฏว่ารัฐบาลในยุคนั้นกลัว ไม่ยอมให้สัตยาบัน โดยเอาเรื่องความมั่นคงมาอ้าง

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่คนงานพยายามต่อสู้เรียกร้องมาตลอด มีการเสนอข้อเรียกร้องในวันเมย์เดย์ ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปีล่าสุด หนึ่งในข้อเรียกร้องของทุกปีคือการเรียกร้องรัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับ 87 และ 98 เพราะถ้าเราให้สัตยาบัน มันจะมีผลให้รัฐบาลต้องผูกพันกับอนุสัญญา และต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักของอนุสัญญา ที่ระบุว่าเสรีภาพในการรวมตัวเป็นของคนงาน เขาจะรวมตัวกันในรูปแบบไหนก็ได้ โดยรัฐไม่มีสิทธิ์แทรกแซง

แต่กับประเทศไทย อย่างที่บอกว่าเราอยู่กับรัฐบาลเผด็จการมาเป็นระยะ ขณะเดียวกันเราก็เป็นศูนย์กลางของสงครามเย็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้รัฐกลัวสหภาพแรงงานมาก ความคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ การต่อต้านคอมมิวนิสต์ ยังฝังหัวผู้มีอำนาจอยู่ แนวความคิดเรื่องความมั่นคงแห่งชาติยังหลอนชนชั้นนำในประเทศไทยอยู่ ทำนองว่าถ้าปล่อยให้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติรวมตัวกันแล้ว จะเป็นภัย ทั้งที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเขาก็ให้สัตยาบัน แล้วก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรอย่างที่เรากลัวกัน

ถ้าไปดูในประเทศอื่นๆ ที่กลุ่มแรงงานรวมตัวกันเป็นสหภาพที่เข้มแข็งได้ เขารวมกันได้ด้วยเงื่อนไขแบบไหน มีบทบาทในการเคลื่อนไหวอย่างไร

ประเทศที่มีขบวนการแรงงานเข้มแข็ง จะไปกระจุกอยู่ที่แถบสแกนดิเนเวีย คนงานส่วนใหญ่รวมตัวกันในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงาน บางประเทศก็มีคนงานเป็นสมาชิกถึง 80-90% ถ้านับในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ประเทศที่มีสมาชิกน้อยที่สุดคือนอร์เวย์ มีประมาณ 54% ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรน่ากลัว ขบวนการแรงงานไม่ได้สร้างความเสียหายอะไร ตรงกันข้าม ประเทศที่มีคนงานเป็นสมาชิกมาก กลับเป็นประเทศที่มีความยุติธรรม มีความเสมอภาคและความเป็นประชาธิปไตยสูง

ถ้าเราถามว่าในโลกนี้ มีประเทศไหนที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นสังคมที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม ก็จะพบว่ามันกระจุกอยู่ในประเทศที่มีคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเยอะ เพราะประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองของคนส่วนใหญ่ ซึ่งในทุกประเทศ คนงานคือคนส่วนใหญ่ ดังนั้นเมื่อคนงานรวมกันได้ เขาก็จะมีอำนาจในการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ การรวมตัวกันของคนงานเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการสร้างประชาธิปไตย ไม่มีประเทศไหนที่เป็นประชาธิปไตยโดยที่ไม่ให้คนส่วนใหญ่มีปากมีเสียง หรือมีอำนาจต่อรอง เป็นไปไม่ได้

ในทำนองเดียวกัน การจะสร้างประชาธิปไตยโดยกดคนส่วนใหญ่ไว้ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เราไม่สามารถมีรัฐธรรมนูญที่สุดแสนจะวิเศษ โดยที่ยังกดคนส่วนใหญ่ไว้ ประชาธิปไตยเกิดจากการที่คนส่วนใหญ่ปกป้องสิทธิของเขาได้ มีสิทธิ์มีเสียงในการเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ได้ ฉะนั้นประเทศแถบสแกนดิเนเวียเขาถึงมีรัฐสวัสดิการที่ดี สามารถให้คนเรียนหนังสือฟรีได้ เพราะเขาเก็บภาษีมาแล้วใช้ภาษีในทางที่ถูกที่ควร ไม่ได้เอาไปซื้อเรือดำน้ำที่ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งถ้าทำแบบนั้นประชาชนเขาก็คงไม่ยอม

จะเห็นว่าเวลาพูดถึงเรื่องการรวมตัวของคนงาน มันไม่ใช่แค่เรื่องปากท้องคนงานเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของสังคม เป็นเรื่องของการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยด้วย

ฟังดูเป็นปัญหาไก่กับไข่เหมือนกัน ว่าตกลงเราคควรแก้ที่อะไรก่อน จะเปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตยก่อน ขบวนการแรงงานถึงแข็งแกร่งได้ หรือต้องเริ่มจากการสร้างขบวนแรงงานให้เข้มแข็งก่อน จึงนำไปสู่ประชาธิปไตย

ผมมองว่าประชาธิปไตยไม่สามารถสร้างได้จากคนส่วนน้อยหรอก เพราะคนส่วนน้อยก็จะคิดถึงประโยชน์ของคนส่วนน้อยเป็นหลัก ฉะนั้นถ้าคนส่วนใหญ่ยังไม่มีอำนาจต่อรอง ก็ไม่มีทางที่จะไปถึงประชาธิปไตยได้ ไม่มีทางที่คนส่วนน้อยที่รวยมากๆ แล้วจะมาทำเพื่อคนส่วนใหญ่ ต้องเริ่มจากคนส่วนใหญ่นั่นแหละ ถ้าเราอยากสร้างประชาธิปไตย ก็ต้องสร้างจากประชาชน สร้างจากฐานล่างขึ้นไป ไม่ใช่จาก top-down ลงมา

แล้วคุณมองว่าประเทศไทย ฐานของเราแข็งแรงพอหรือยัง กระทั่งว่าเคยมีช่วงไหนที่เราสามารถไปถึงจุดที่คุณบอกได้ไหม

ถ้าถามถึงตอนนี้ก็ต้องบอกว่าแย่ อย่างที่บอกว่าเรามีคนเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแค่ 1.5-1.6% ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่ถามว่าเราเคยมียุคที่แรงงานมีสิทธิ์มีเสียงมั้ย เคยมีนะ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มคนงานมีการเคลื่อนไหวใต้ดิน ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น และต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามด้วย หลังจากนั้นก็มีการจัดตั้งครั้งใหญ่ เรียกว่าสมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย มีสมาชิกเยอะมาก จัดวันเมย์เดย์ครั้งแรกปี 2489 ที่วังสราญรมย์ และที่ท้องสนามหลวงในปีถัดมา โดยมีคนงานนับแสนเข้าร่วมงาน

สหอาชีวกรรมกรมีบทบาทและมีส่วนอย่างสำคัญในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา คือพรรคสหชีพ มีเธียรไท อภิชาตบุตร์ ประธานสหอาชีวกรรมกรเป็นเลขาธิการพรรค พรรคสหชีพกับพรรคแนวรัฐธรรมนูญของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์คือสองพรรคการเมืองหลักที่สนับสนุนอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนงานรวมตัวกันได้เยอะ และมีพลังพอสมควร แต่โชคไม่ดีที่ต่อมาเกิดกรณีสวรรคต และเกิดการรัฐประหารในปี 2490 ขบวนการก็ถูกทำลายลงไป

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

กลับมามองปัจจุบัน พอจะมีความหวังว่าจะมียุครุ่งเรืองอีกครั้งได้ไหม อย่างไร

จะสิ้นหวังได้ยังไง เพราะมันเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ ซึ่งดูแล้วน่าจะมีพลังมากที่สุดด้วยซ้ำ เพียงแต่เรามองเห็นความสำคัญมากน้อยแค่ไหน ข้อสำคัญคือคนงานเองก็ต้องตระหนักว่าตัวเองมีบทบาทสำคัญได้ในสังคม

อย่างที่บอกว่าช่วงหลังสหภาพแรงงานมันถูกตีกรอบให้เป็น economic unionism คือสหภาพแรงงานเพื่อปากท้อง ฉะนั้นข้อเรียกร้องก็จะชุลมุนอยู่กับเรื่องในโรงงานเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเราย้อนกลับไปจริงๆ แล้ว สหภาพแรงงานมันโตมากับการเมือง ไม่ได้ต่อสู้แค่เรื่องค่าจ้างหรือสวัสดิการในโรงงาน แต่รวมถึงการสร้างสังคมที่ดี การสร้างความเสมอภาคและความเป็นประชาธิปไตยในสังคมด้วย

ถ้าเราตระหนักว่าบทบาทการรวมตัวกันไม่ใช่แค่นี้ แต่เป็นเรื่องของการสร้างสังคม ก็จะทำให้เราต้องขยายการจัดตั้งให้มากขึ้น ตอนนี้มีคนงานที่อยู่นอกการจัดตั้งอีกตั้ง 98 เปอร์เซ็นต์ ยังมีพื้นที่อีกเยอะที่สามารถไปจัดตั้ง ไปดึงคนเหล่านี้มา ทำให้เขาเห็นว่าเขาเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม แล้วถ้ารวมกันได้ก็จะมีพลัง

ตอนนี้เราอาจต้องมานิยามกันใหม่ว่าขบวนการแรงงานมีเป้าหมายอะไร ตั้งเป้าหมายการทำงานของขบวนการแรงงานให้ชัดเจนมากกว่านี้ เพราะถ้าเรายังคิดว่าสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญแค่การยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาต่อรอง มันก็จะวนอยู่แค่นี้

คนที่อ่อนแอจริงๆ ในสังคมไทยก็คือกลุ่มแรงงานนอกระบบ ยิ่งตอนนี้มีแรงงานใหม่ๆ บนแพลตฟอร์มจ้างงานต่างๆ คนเหล่านั้นไม่มีสวัสดิการ ไม่มีอำนาจต่อรอง หมายความว่าตัวใครตัวมัน คนที่เก่งหน่อยก็จะได้รับผลตอบแทนในแบบที่เขาอยากได้ แต่คนที่อ่อนแอกว่าก็จะถูกกดลงไป ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นโอกาสของฝ่ายทุนที่จะได้ประโยชน์สูงสุด

ในยุโรปเขาก็คุยเรื่องนี้กันว่าในแพลตฟอร์ม economy ทั้งหลาย คนงานเหล่านี้จะจัดตั้งกันยังไง ถ้าไปดูในยุโรปเหนือ คนพวกนี้ยังเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอยู่ คนที่เป็นศิลปิน เป็นดารา หรือฟรีแลนซ์ ก็เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งเขาจะได้รับการดูแลจากสหภาพแรงงาน พูดง่ายๆ ว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแรงงาน

เอาแค่คนขับแท็กซี่ ขับมอเตอร์ไซค์ สมัยก่อนคนเหล่านี้จะอยู่ในขบวนการแรงงาน ถ้าเราย้อนไปในอดีต ในสมาคมสหอาชีวะกรรมกรฯ มีสมาคมที่เป็นหลักคือสมาคมไตรจักร คือคนถีบสามล้อ แต่วันนี้พวกพี่น้องแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ อยู่นอกสหภาพแรงงาน เพราะกฎหมายไม่อนุญาต แล้วเราก็ไปยอมรับกฎหมาย จริงๆ คนที่เดือดร้อนกว่า เขาต้องการสหภาพมากกว่า แต่กลับเข้าไม่ถึง ส่วนคนที่อยู่ในสหภาพแรงงานทุกวันนี้ เอาเข้าจริงแล้ว เขาได้ประโยชน์อยู่แล้วพอสมควร เพราะอยู่ในสถานประกอบการที่มีอำนาจในการจ่ายสูง

ตอนนี้เราอาจต้องคิดถึงรูปแบบการจัดตั้งใหม่ๆ และคิดถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ คนที่เดือดร้อนต้องเอาเขาเข้ามา เพราะเขาจะมีแรงขับในการต่อสู้ จะทำให้สหภาพแรงงานมีความคึกคักมากขึ้น แต่ถ้ายังอยู่กันไปแบบสหภาพแรงงานที่อิ่มแล้ว แรงจูงใจในการเคลื่อนไหวต่อสู้ก็อาจมีไม่มากพอ

เรื่องจิตสำนึกของความเป็นแรงงาน ดูแล้วเป็นปัญหาเหมือนกัน คำถามคือจะสร้างความตระหนักและสำนึกร่วมอย่างที่คุณบอกได้อย่างไร

มีหลายเรื่องที่ต้องค่อยๆ ถอด เรื่องแรกคือบรรดาองค์กรที่เรามีอยู่ตอนนี้ กระจัดกระจาย ขาดความเป็นเอกภาพ เรามีสหภาพขนาดเล็ก ๆ มากมายกว่า 1,400 สหภาพ เรามีองค์กรระดับชาติ หรือที่เราเรียกว่า สภาองค์กรลูกจ้างมากถึง 15 สภา ประเทศอื่นไม่เยอะขนาดนี้ พอเป็นแบบนี้รัฐบาลก็ยิ้มเลย

ดังนั้นข้อแรกคือ สิ่งที่มีอยู่ ต้องเอามาควบรวมกันให้น้อยลง ซึ่งไม่ง่าย แต่ถ้าจะทำกันจริงๆ ก็ไม่ได้ยาก เพราะมันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายที่จะมารวมกันไม่ได้ เรื่องใหญ่คือเรื่องไตรภาคี ซึ่งผมคิดว่าสามารถถอดได้ ค่อยๆ ตะล่อม อันไหนรวมกันได้ต้องรวมกันก่อน แล้วถ้าเราสามารถทำให้เสียงเหล่านี้ให้เป็นเอกภาพได้ จะทำให้รัฐบาลรับฟังมากขึ้น จากนั้นก็ใช้เครื่องมือต่างๆ ทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมขึ้นมา พยายามหาประเด็นที่เป็นประเด็นร่วม

สมัยก่อนเราเคยมีความคิดแบบสังคมนิยมเป็นตัวเชื่อมร้อย แต่พออุดมการณ์หายไป ก็ต้องหาสิ่งอื่นที่จะมาเชื่อมร้อยให้คนเกิดความรู้สึกว่าเรามีปัญหาร่วมกัน มีผลประโยชน์บางอย่างที่ต้องมารวมกลุ่มกัน นั่นคือเรื่องที่องค์กรแรงงานต้องปรับ

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญกว่า คือต้องทำให้คนตาสว่างก่อนว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันแย่ และเรามีโอกาสที่จะดีกว่านี้ ต้องทำให้เขาเห็น และกล้าวิพากษ์สิ่งที่เป็นอยู่ว่ามันเลวร้ายยังไง ไม่เป็นธรรมยังไงกับคนงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จากนั้นค่อยเสนอชุดความคิดที่เป็นทางออกร่วมกัน เพื่อดึงให้เขาเข้ามาสนับสนุน นี่คือโจทย์สองด้านใหญ่ๆ ที่ต้องทำ

ที่บอกว่าต้องตาสว่าง และต้องหันมาวิพากษ์สิ่งที่เป็นอยู่ หมายถึงแค่เรื่องปากท้อง เรื่องผลประโยชน์ หรือขยายไปถึงเรื่องสังคมการเมืองด้วย

สุดท้ายเรื่องใหญ่ก็คือระบบสังคมนั่นแหละ สังคมไทยอยู่ภายใต้อิทธิพลของสองอย่าง ซึ่งส่งผลลบต่อคนส่วนใหญ่ หนึ่งคือระบบอุปถัมภ์ รวมถึงชุดความคิดแบบอุปถัมภ์ ความคิดที่เชื่อว่าคนไม่จำเป็นต้องเสมอภาคเท่าเทียมกัน คนรวยก็รวยกันไป คนจนก็หวังว่าชาติหน้าจะรวยขึ้น เราต้องชี้ให้เห็นว่ากรอบคิดแบบนี้ไม่ถูก

สองคือกรอบความคิดแบบเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ซึ่งเป็นอิทธิพลครอบไปทั่วโลก มันทำให้เราเชื่อในตลาด และไม่เข้าไปแทรกแซง เราถึงมีคนรวยที่รวยล้นฟ้าอยู่ในประเทศ ขณะเดียวกันก็มีคนจนที่ไม่มีจะกิน ที่เป็นแบบนี้เพราะเราปล่อยให้ระบบตลาดทำงานจนเกินไป มันต้องเข้าไปแทรกแซงบ้าง

สองความคิดนี้เป็นสองความคิดหลักที่ครอบสังคมไทยอยู่ ระบบอุปถัมภ์นำไปสู่ระบบอำนาจนิยม มันเปิดให้เรามีรัฐบาลแบบ คสช. เพราะว่าเราเชื่อในระบบที่มีผู้อุปถัมภ์ นี่คืออุปสรรคสำคัญต่อประชาธิปไตย ส่วนแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ก็เป็นอุปสรรคต่อความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน

แล้วชุดความคิดแบบไหน หรือระบบใด ที่คุณมองว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้

ผมเชื่อเรื่อง social democracy คือต้องเข้าไปกำกับแทรกแซงตลาด เพื่อให้คนเล็กคนน้อยได้รับการคุ้มครองด้วย หลัง คสช. เข้ามา สังเกตว่าที่คลองถม ปากคลองตลาด คนเคยขายของได้ ตอนนี้เอาเขาออกหมด นี่คือการไม่ปกป้องคนเล็กคนน้อย ตอนนี้มีแต่การเอาใจทุนใหญ่อย่างเดียว

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

ถ้าเราจะยกระดับสหภาพแรงงานอย่างที่คุณว่ามา องค์กรไหนที่จะสามารถเป็นเจ้าภาพได้ หรือตอนนี้มีใครที่กำลังทำอยู่รึเปล่า

ผมเคยร่วมกับผู้นำแรงงาน นักกิจกรรมแรงงานและนักวิชาการอื่นๆ ทำแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี เมื่อช่วงก่อนรัฐประหาร ประมาณปี 2556 เราทำกันในนามของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีเป้าหมายสำคัญที่จะก่อให้เกิดผลต่อการเปลี่ยนขบวนการแรงงานไทยทั้งขบวนการ แต่สถานการณ์ความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างในทางการเมืองในช่วงก่อนรัฐประหารของ คสช. ทำให้ผมตัดสินใจถอนตัวออกมา เพราะเห็นว่าบทเรียนจากการที่ขบวนการแรงงานงานไปเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ผลที่ได้เป็นเช่นไร เห็นว่าถ้าทำต่อไปในสภาวะแบบนั้น สุดท้ายมันจะไม่ได้อย่างที่เราอยากจะได้

การทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ที่เราวางไว้มันยากมาก เราตั้งใจจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานเลยด้วยซ้ำ จะขยายการจัดตั้งแบบใหม่ โดยตั้งเป้าว่าใน 10 ปี ต้องขยับสมาชิกสหภาพให้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ เพราะถ้าเราอยากให้ขบวนการแรงงานมีบทบาท มันไม่ควรต่ำกว่านั้น

ถามว่าทำไมเราถึงตั้งเป้าไว้ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ก็เพราะจำนวนสมาชิกสหภาพที่เพิ่มขึ้นมันจะแปรไปเป็นฐานเสียงในการเลือกตั้ง และเพิ่มโอกาสในการมีตัวแทนของแรงงานในสภาได้ ตีง่ายๆ ว่า 10 เปอร์เซ็นต์จาก 39 ล้านคน ก็ประมาณ 3.9 ล้านเสียง ถ้าวางแผนดีๆ มันจะไปได้ แต่กว่าจะถึงตรงนั้น ต้องฝ่าฟันอะไรเยอะ เราไม่สามารถแวะไปทำเรื่องอื่นๆ ระหว่างทางได้เลย คือต้องทิ้งเรื่องอื่นแล้วมุ่งไปข้างหน้า เรามี KPI ชัดเจนว่าแต่ละปีจะต้องได้แค่ไหน

ขบวนการแรงงานเป็นเรื่องยาก ถ้าเราไม่มีความมุ่งมั่นเพียงพอ ไม่ตั้งเป้าหมายระยะยาว หรือเอาแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า มันจะไปไม่ถึงไหน ชุลมุนกันอยู่ตรงนี้แหละ แล้วสุดท้ายถ้าองค์กรจัดตั้งเราเล็ก เราก็จะเป็นได้แค่ขอทาน ทำได้แต่ขอ ไม่สามารถไปกดดันเขาได้

ตอนนั้นผมทำได้ปีนึง พอมีรัฐประหารก็ตัดสินใจถอนตัว อย่างที่รู้ว่าความขัดแย้งเหลืองแดงมันซับซ้อน เราก็เข้าใจที่คนอื่นเขาคิดอีกแบบ ก็เคารพกัน แต่เมื่อผมไม่เห็นด้วย ผมก็ขอถอยออกมา บอกว่าไปด้วยไม่ไหว ตอนนี้ผ่านมา 5-6 ปีแล้ว เขายังทำกันอยู่ แต่ได้ไม่ตามเป้า

สุดท้ายผมคิดว่าเราต้องทำ mapping ขบวนการแรงงานใหม่ เพื่อทำให้การต่อสู้มีพลังมากขึ้น ดูว่าทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ถ้าเราจะสู้ จะเอาพลังมาจากตรงไหนบ้าง เพราะขบวนการแรงงานไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ ไม่ใช่การไปกราบไปขอเขา แต่ต้องไปกดดันเขา ต้องแสดงให้เห็นว่าถ้าเขาไม่ทำ เขาจะต้องได้รับผลตอบแทนในทางใดทางหนึ่ง ต้องไป mapping ว่าขุมพลังของเราอยู่ตรงไหนบ้าง ถ้าไม่พอจะไปเติมจากตรงไหน การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งควรจะมีพลังสักเท่าไหร่ ถึงจะกดรัฐบาลได้อยู่

พูดถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องของขบวนการ ในยุคนี้คุณคิดว่ายังจำเป็นต้องม็อบอยู่มั้ย หรือมีรูปแบบการกดดันเรียกร้องใหม่ๆ ที่สามารถทำได้เหมือนกัน

ต้องทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน ถ้าสังเกตในยุโรป แถบสแกนดิเนเวีย จะเห็นว่าแทบไม่มีการสไตรค์นัดหยุดงานแล้ว เพราะเขามีสมาชิกเยอะ เขารู้อยู่แล้วว่านี่คือตัวแทนของคนมหาศาล แต่ในฝรั่งเศสยังต้องมีสไตรค์นัดหยุดงาน เพราะเขามีคนน้อย ต้องเอาคนออกมากดดัน ของเราก็เหมือนกัน คนเราน้อย เรามีคนอยู่ในสหภาพแค่ 1.5% รัฐมองเห็นแล้วว่าเราไม่มีพลัง ดังนั้นเราต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเรามีนะ ถึงสมาชิกเราน้อย ก็ยังมีคนสนับสนุน

ขณะเดียวกันก็ต้องทำเรื่องล็อบบี้ด้วย ต้องสร้างพันธมิตร คล้ายๆ ของฟิลิปปินส์ที่ผมพูดถึงในตอนแรก ทำเป็น social movement unionism ดึงคนกลุ่มต่างๆ มารวมกันในแนวระนาบ ของบ้านเราเมื่อแรกเริ่มก็เป็นแนวระนาบ แต่ตอนหลังมันกลายเป็นแท่งหลายๆ แท่ง ต่างคนต่างเป็นแท่งเล็กๆ เตะนิดเดียวก็ล้มหมด

ฉะนั้นเราอาจต้องสร้างแนวระนาบใหม่ ซึ่งผมคิดว่าต้องกลับมาที่ฐานของ social movement unionism ร่วมจัดตั้งกับองค์กรภาคประชาสังคม ผนวกเอาองค์กรต่างๆ เข้ามาเป็นขบวนการเดียวกัน มันถึงจะมีพลัง

ถ้าย้อนไปช่วง 14 ตุลาฯ เราจะได้ยินคำว่าสามประสาน คือนักศึกษา ชาวไร่ชาวนา และกรรมกร เราอาจต้องเดินไปแบบนั้น ไปร่วมกับภาคประชาสังคม แล้วเอาปัญหาของเขามาร่วมสนับสนุน ถ้าเขามีปัญหาเราก็ไปช่วยเขา ถ้าเรามีปัญหาเขาก็มาช่วยเรา

ข้อต่อมาคือต้องสนใจในประเด็นที่ใหญ่มากขึ้น มากกว่าเรื่องค่าจ้าง เรื่องสวัสดิการในโรงงาน ต้องเปลี่ยนกรอบคิดใหม่ ต้องตั้งคำถามว่าเรามีสหภาพเพื่ออะไร เราอยากเป็นสหภาพชนิดไหน แล้วการจะเป็นสหภาพแบบนั้นๆ ได้ จะต้องทำอะไรบ้าง

ในภาวะแบบนี้ เรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็จริง แต่ดูเหมือนหลายสิ่งหลายอย่างก็ไม่ต่างจากยุค คสช. เท่าไหร่ คำถามคือในระยะสั้นเราควรขยับจากตรงไหนก่อนดี

ผมว่าต้องรื้อรัฐธรรมนูญก่อนเลย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรต้องยกเลิกไป เพราะที่มาที่ไปมันไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนตั้งแต่แรก ไม่มีความชอบธรรมที่จะนำมาใช้เป็นกติกาบ้านเมือง มันควรต้องถูกสร้างใหม่โดยกระบวนการมีส่วนร่วม ผมคิดว่าขบวนการแบบธงเขียวเป็นโมเดลที่ดีสำหรับสร้างกติกาใหม่ที่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน แน่นอนว่ามันไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย แต่มันเป็นฐานสำคัญ นี่คือเรื่องแรกที่ต้องทำ สร้างกติกาใหม่ที่คนยอมรับและมีส่วนร่วม

ข้อต่อมา เป็นเรื่องระยะยาว คือต้องให้การศึกษา ต้องสร้างคน ภาษาอังกฤษเรียกว่า civic education ผมทำงานกับเยอรมันมา 18 ปี เยอรมันเคยอยู่ในช่วงเผด็จการฮิตเลอร์ 13 ปี หลังจากฮิตเลอร์ลงจากอำนาจ สิ่งที่เขาทำคือให้การศึกษากับประชาชน มีหน่วยงานที่ให้การศึกษา สอนให้คนใช้เหตุใช้ผล พัฒนาคนให้เป็นประชาธิปไตย เพราะโดยธรรมชาติคนเราไม่ได้เป็นนักประชาธิปไตยโดยกำเนิดหรอก แต่ต้องบ่มเพาะให้เขารู้จักสิทธิของตัวเอง รู้จักหน้าที่ รู้จักความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับต่างๆ เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย ส่วนนี้เป็นส่วนที่เราล้มเหลวมาโดยตลอด

ตอนที่เยอรมันฉลองครบรอบ 50 ปีหลังการเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่เขาทำคือพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ไล่เรียงให้เห็นว่าประชาธิปไตยเกิดขึ้นมายังไง อะไรคือข้อผิดพลาด อะไรคือบาดแผล ข้อสำคัญคือเขาเคารพความเป็นจริง ผมคิดว่าผมอยากเห็นแบบนั้นในบ้านเรา

การที่เรายังทำผิดซ้ำซาก หรือที่เรียกว่าวงจรอุบาทว์ เพราะเราไม่เคยได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ เราจะนำประวัติศาสตร์มาเรียนรู้ยังไงโดยทำให้คนเคารพต่อความเป็นจริง เคารพต่อความเห็นที่แตกต่าง ทำยังไงให้คนรู้สึกหวงแหนประชาธิปไตย และให้คนได้ใช้วิจารณญาณมากขึ้น

เราน่าจะมีพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เพื่อให้คนได้ไปเรียนรู้ และถอดบทเรียน จะได้ไม่ผิดซ้ำซาก แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ก่อน (หัวเราะ) ไม่งั้นมันจะบิดเบี้ยว จริงๆ ผมมีความคิดว่าจะทำอยู่ อีกสองสามปีจะครบรอบ 90 ปี 2475 ถ้าเราใช้โอกาสนั้นทำได้ก็น่าจะดี เป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อไปว่าจะออกมาในรูปแบบไหน

มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมหรืออยากฝากอะไรทิ้งท้ายไหม

เรื่องแรงงานเป็นเรื่องสำคัญมาก ผมสนใจเรื่องนี้มานาน เพราะมันเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ และยึดโยงกับเรื่องประชาธิปไตย เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย แล้วเราไม่คิดถึงคนส่วนใหญ่ ไม่คิดถึงคนงาน มันก็เป็นไปได้ยาก

มีดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งที่บอกว่าความไม่เสมอภาค สัมพันธ์กับสิทธิในการรวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรอง ถ้าความเข้มข้นของการเป็นสมาชิกสหภาพน้อยลง ความไม่เสมอภาคจะเพิ่มขึ้น เป็นทิศทางที่สวนกัน ฉะนั้นถ้าเราอยากเห็นความเสมอภาค เราต้องส่งเสริมให้คนส่วนใหญ่รวมตัวกันได้ เมื่อเขารวมตัวกันได้เขาจะปกป้องผลประโยชน์ของเขาเอง ซึ่งจะนำไปสู่การลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนโดยปริยาย พูดง่ายๆ คือสังคมจะมีความยุติธรรมมากขึ้น เสมอภาคกันมากขึ้น

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save