fbpx

“ผมไม่ได้เขียนการ์ตูนให้คนอ่านขำๆ ไปวันๆ ผมเขียนเพื่อต่อสู้กับเผด็จการ” – เซีย ไทยรัฐ

“อะไรคือความตลกร้ายที่สุดของการเมืองไทย”

“การยกย่องผู้ร้ายเป็นพระเอก และการผลักประชาชนที่กำลังเรียกร้องความยุติธรรม สวัสดิการ ความเป็นอยู่ที่ดีไปเป็นผู้ร้าย”


หากมองภาพประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องราวสุดตลกร้ายที่คนไทยต้องพบเจอปัญหาซ้ำๆ เป็นวงจรอุบาทว์ อย่างการรัฐประหาร การใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ความล้มเหลวเรื่องการจัดการปัญหาปากท้อง ฯลฯ

สิ่งหนึ่งซึ่งช่วยบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้อย่างมีสีสัน ทำให้คนเข้าใจถึงปัญหาสำคัญของสังคมได้ง่ายขึ้น คือการ์ตูนล้อการเมือง และถ้ากล่าวถึงตำนานของการ์ตูนล้อการเมือง ก็ต้องนึกถึง ‘ศักดา แซ่เอียว’ หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ ‘เซีย ไทยรัฐ

ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 2516 มาจนถึงรัฐประหารโดยคสช. ต่อเนื่องด้วยบรรยากาศเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ‘เซีย ไทยรัฐ’ สัมผัสประสบการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย สายตาของเขาเห็นปัญหาอะไรในโครงสร้างสังคมไทย? สิ่งใดที่เขาต้องการสื่อสารแก่สังคมผ่านตัวการ์ตูนตลอดหลายสิบปี?

และนี่คืออีกหนึ่งเส้นทางการต่อสู้ของผู้ไม่ยอมสยบต่ออำนาจเผด็จการ


หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจาก รายการ PRESSCAST EP.22 : การเมืองไทยสุดตลกร้ายในสายตา ‘เซีย ไทยรัฐ’ ดำเนินรายการโดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 17 สิงหาคม 2564


นับตั้งแต่คุณเริ่มเขียนการ์ตูนล้อการเมืองจนถึงทุกวันนี้ เป็นเวลานานหลายสิบปี เห็นพัฒนาการวงการการ์ตูนล้อการเมืองไทยบ้านเราเป็นอย่างไร

ผมเริ่มต้นเขียนการ์ตูนการเมืองช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เป็นช่วงที่เราทราบกันดีว่าสื่อต่างๆ อยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลเผด็จการ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ยุคนั้นหนังสือพิมพ์ยังมีไม่มาก การ์ตูนการเมืองบนหน้าหนังสือพิมพ์เองก็เช่นกัน นักเขียนการ์ตูนทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นจึงเขียนการ์ตูนบนกระดาษแผ่นโตๆ แล้วนำไปแปะบนกำแพง เรียกว่า ‘หนังสือพิมพ์กำแพง’ ให้คนอ่านกันอย่างสนุกสนาน แม้จะไม่ใช่การ์ตูนที่เผยแพร่บนหนังสือพิมพ์อย่างเป็นทางการ แต่มันก็มีอิทธิพลส่งผลต่อนักศึกษาและประชาชนส่วนใหญ่ เพราะเป็นสิ่งที่ให้แง่คิด ความรู้ และแฝงด้วยอารมณ์ขันแบบร้ายๆ เสียดสี ทำให้ยุคหลัง 14 ตุลา 2516 เป็นต้นมา เกิดหนังสือพิมพ์ใหม่ๆ หลายฉบับ และการ์ตูนการเมืองก็เป็นที่นิยมแพร่หลายในหนังสือพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นหัวขาวดำหรือหัวสี อย่างไรก็ตาม ที่ทางของมันก็ยังจำกัดเฉพาะในสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น

ทุกวันนี้เรามีอินเทอร์เน็ต มีสื่อโซเชียล ทำให้การ์ตูนการเมืองที่เราคุ้นเคยว่าต้องอยู่ในหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ ย้ายเข้ามาอยู่ในสื่อออนไลน์เยอะมาก เพราะนอกจากยุคนี้จะเป็นยุคของโซเชียลแล้ว หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถจ้างนักเขียนการ์ตูนได้หลายคนเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ ค่าใช้จ่าย กล่าวได้ว่าเวลาเขาจ้างใครสักคน คนคนนั้นก็เขียนไปจนตายคาพู่กัน นักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่ที่อยากเขียน มีฝีมือ แต่ไม่มีเวที ก็หันไปวาดลงโซเชียล ลงเพจกัน ซึ่งผมก็ติดตามอยู่หลายเพจนะ เก่งๆ กันทุกคนเลย เราเป็นนักเขียนการ์ตูนเหมือนกัน ต้องอยู่ในกระแสข่าว ดูว่าข่าวแต่ละวันเป็นยังไง แง่คิดของคนรุ่นใหม่ รุ่นเก่า รุ่นต่างกันเป็นยังไง ผมก็อาศัยอ่านผ่านการ์ตูนนี่ล่ะ จะได้เห็นว่านักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่มองการเมืองเป็นยังไงบ้าง

สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักในวงการการ์ตูนการเมืองคือเนื้อหาต่างๆ เราเขียนแต่เรื่องแบบเดิมๆ ต่อสู้กับเผด็จการบ้าง เรียกร้องประชาธิปไตยบ้าง เรียกร้องความยุติธรรม ต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีด เพราะสังคมยังอยู่ในโครงสร้างเหมือนเดิม จะมีเปลี่ยนไปอย่างเดียวคือตัวละคร ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจ กลุ่มผลประโยชน์ พอโลกเจริญขึ้นก็มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นมาเยอะ แต่สุดท้ายแล้วผมว่าโครงสร้างการเมืองบ้านเราก็เหมือนพายเรืออยู่ในบ่อน้ำเน่า ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน บ่อน้ำเน่าก็เหมือนเดิม มีแค่ผู้เล่นที่โดดลงไปในบ่อ ในโคลน เปลี่ยนขึ้นเปลี่ยนลงเท่านั้น


ถ้ามีใครบอกว่าการ์ตูนล้อการเมืองไทยดูจะมีเนื้อหาคล้ายกันไปหมด คงต้องตอบว่าในเมื่อโครงสร้างการเมืองยังเหมือนเดิม เราก็ยังคงต้องนำเสนอปัญหาแบบเดิมๆ

ใช่ครับ โดยเฉพาะการสู้รบตบมือกับเผด็จการ ยุคไหนต่อยุคไหนก็เหมือนเดิม คนดีที่เข้ามาปกครองบ้านเมือง ก็เป็น ‘คนดี’ แบบเดิมๆ อยู่นั่นแหละ พูดง่ายๆ เหมือนสังคมเรามีเสื้อคลุม ‘คนดี’ อยู่หนึ่งตัว คนสวมคนหนึ่งตายไป คนใหม่ก็เอามาสวมต่อ รับบทบาท ‘คนดี’ ต่อไปเรื่อยๆ

ถ้าประเทศไทยยังอยู่ในลักษณะโครงสร้างการปกครอง โครงสร้างอำนาจ โครงสร้างผลประโยชน์แบบนี้ แน่นอนว่านักเขียนการ์ตูนการเมืองก็ต้องเขียนวนเวียนอยู่กับเรื่องเก่าๆ นี่แหละ เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง อย่างรุ่นน้องนักวาดใหม่ๆ ก็มีเทคนิคการนำเสนอมากขึ้น ทั้งวิธีวาด เทคนิคทางคอมพิวเตอร์ การออกแบบดิจิทัลคอนเทนต์ ทำให้ภาพลักษณ์ของการ์ตูนการเมืองดูทันสมัยขึ้น

แต่สำหรับเรื่องเนื้อหา สิ่งหนึ่งที่ผมต้องชื่นชม และขอยกนิ้วให้กับนักวาดรุ่นใหม่คือพวกเขากล้านำเสนอเรื่องที่ล่อแหลมทะลุฟ้า ทุกวันนี้เรียกได้ว่าเป็นสีสัน สะท้อนการเมืองที่ร้อนแรง ผมดูทุกรูปเลย มันมากกับการเห็นผลงานในโซเชียลที่กล้าทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้ อย่างผมอยู่ในสังกัดหนังสือพิมพ์ เป็นองค์กรที่มีคนหมู่มากทำงานร่วมกัน เราก็จะมีกฎระเบียบ กฎหมายครอบไว้อยู่ อีกทั้งหนังสือพิมพ์เองก็เป็นธุรกิจ ดังนั้น ต่อให้องค์กรจะมอบสิทธิเสรีภาพแก่เรา ไม่ปิดกั้นความคิดเห็น แต่เราคงเขียนเนื้อหาที่ทะลุฟ้าเกินไปจนทำให้หนังสือพิมพ์เสี่ยงต่อการถูกปิดไม่ได้ ผมและนักเขียนการ์ตูนอีกหลายคนจึงยอมรับว่าเราต้องเบรกตัวเอง เซนเซอร์ตัวเองไว้ระดับหนึ่ง หลีกเลี่ยงการใช้ภาพสัญลักษณ์ หรือเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยง เปลี่ยนไปใช้เทคนิควิธีอื่นๆ สื่อสารแทน และปล่อยให้คนดูที่เป็นแฟนการ์ตูนของเรา ติดตามข่าวการเมืองตีความสารที่เราต้องการเสนอ ซึ่งต่อให้ต้องทำงานยุ่งยากขึ้นมานิดนึง แต่ไม่มีปัญหาครับ ผมเข้าใจ สามารถทำงานได้ในข้อจำกัดที่เกิดจากโครงสร้างสังคมและการเมืองแบบนี้


การเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทะลุฟ้าทะลุเพดานกันไปเร็วมาก ในช่วงแรกที่คุณเห็นนักวาดการ์ตูนรุ่นใหม่ออกมาสื่อสารประเด็นที่เคยอ่อนไหวในสังคมแบบนี้ รู้สึกอย่างไรบ้าง ช็อกไหม

ผมไม่ตกใจ ไม่ช็อกเลย พูดกันตรงๆ ว่าถ้าอยู่ในแวดวงนักต่อสู้ แวดวงสื่อมวลชนมานาน เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่น้องๆ พูดถึงเขียนถึง เราได้ทราบหมด เรารู้ เราเห็น เราฟัง เราสัมผัสมาเยอะ แต่เราทำไม่ได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ผมถึงนับถือน้องๆ ที่มีความกล้าหาญและความคิดสร้างสรรค์ที่จะต่อสู้นำพาสังคมออกจากระบบโครงสร้างอันไม่น่าพึงพอใจ โลกทุกวันนี้เจริญไปถึงไหนแล้ว ประเทศเราพัฒนาไปมากกว่านี้ได้ถ้าหลุดออกจากโครงสร้างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

มีคนเคยถามผมเหมือนกันว่าทำไมเด็กรุ่นนี้กล้าทำอย่างนั้น ผมก็ตอบว่าเข้าใจได้ไม่ยากหรอก ถ้าเราเห็นว่าที่ผ่านมาสังคมไปปิดประตูหน้าต่างใส่เขาหมดเลย กักขังหน่วงเหนี่ยวให้พวกเขาอยู่แต่ในห้อง ไม่มีช่องทางให้น้องๆ ได้แสดงออก สุดท้ายเมื่อเขาพยายามหาทางออก ก็เลยต้องทะลุเพดานไง คนที่บอกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควร งั้นคุณก็ไปเปิดห้องให้เขาสิ เปิดประตูหน้าต่างให้เราแสดงออกทุกเรื่องได้อย่างอิสระเสรี หลังคาเพดานคุณก็จะยังอยู่ดี

แม้ว่าคนรุ่นพวกผมจะไม่อาจทำแบบพวกน้องๆ รุ่นใหม่ แต่ผมก็อยากจะให้กำลังใจพวกเขา ให้รู้ว่าเรา รุ่นลุง รุ่นตา รุ่นปู่ ก็ยังมีคนที่อยู่ข้างเขา คิดเห็นสนับสนุนเขานะ

ถ้าเราเห็นว่าที่ผ่านมาสังคมปิดประตูหน้าต่างใส่เขาหมดเลย กักขังหน่วงเหนี่ยวให้พวกเขาอยู่แต่ในห้อง ไม่มีช่องทางให้น้องๆ ได้แสดงออก สุดท้ายเมื่อเขาพยายามหาทางออก ก็เลยต้องทะลุเพดาน


ก่อนที่จะเป็นการ์ตูนของ เซีย ไทยรัฐ ที่เราเห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน เบื้องหลังวิธีคิด การทำงานของคุณในแต่ละรูปแต่ละตอนเป็นอย่างไร

ผมจะดูข่าวที่อยู่ในกระแสรับรู้ของคนในช่วงวันหนึ่ง ข่าวไหนเป็นข่าวเด่น มีคนสนใจและมีผลต่อสังคมก็จะหยิบมาเขียน เผอิญว่าช่วงที่ผ่านมากระแสข่าวมีแต่เรื่องโควิด วัคซีนเป็นส่วนใหญ่ เรื่องอื่นไม่ค่อยสำคัญจึงอาจจะเห็นผมเขียนถึงเรื่องโควิดเยอะ ซึ่งถ้าเราเขียนแต่มุมซ้ำๆ คนก็จะเบื่อเหมือนกัน ผมจึงพยายามเขียนถึงโควิดในแง่มุมที่ต่างกัน

ยอมรับว่าบางทีก็มีช่วงที่นึกไม่ออกนะ ตันมากเลย และการเขียนการ์ตูนการเมืองที่ดี ควรจะสรุปเหตุการณ์ให้สั้นๆ ช็อตเดียวจบ คำพูดให้น้อยที่สุด แต่ประกาศให้คนอ่านรู้ชัดเจนว่าคนวาดการ์ตูนคิดเห็นต่อเรื่องเรื่องหนึ่งยังไง ตรงการเลือกคำพูดนี่แหละที่ผมมักคิดนานมาก บางเรื่องเราไม่สามารถขมวดให้สั้นได้ เช่น เราเขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง นักศึกษา ประชาชนออกไปทวงวัคซีน ทวงประชาธิปไตย แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับให้กระสุนยางและแก๊สน้ำตากลับมาแทน พอจำลองมาเป็นภาพการ์ตูนก็ไม่รู้จะขมวดคำพูดยังไงดี แถมยังมีเดดไลน์ด้วย บางครั้งต้องทำเวลา เลยใส่คำพูดให้เยอะไปก่อน เน้นให้คนอ่านรู้เรื่องว่าตอนนี้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกันแน่

ยากไหมกับการทำงานในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยกระแสข่าวเรื่องซ้ำๆ อย่างข่าวโควิด

ผมคิดว่าเรื่องที่ท้าทายท่ามกลางกระแสข่าวโควิด ทั้งเรื่องการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ผู้ป่วยไม่มีเตียง ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ตายเพิ่มขึ้น วัคซีนหายไป คือการติดตามว่ารัฐบาลไปทำอะไรที่ไหน เพราะอย่าลืมว่าในช่วงเวลาแบบนี้ โครงการต่างๆ ของรัฐบาลยังคงดำเนินอยู่ มีการอนุมัติเรื่องต่างๆ อยู่ สื่อมวลชนต้องติดตามรัฐบาลมากขึ้นไม่ให้รัฐบาลอาศัยสถานการณ์แบบนี้ทำอะไรอยู่ข้างหลัง

ผมเชื่อว่าระหว่างนี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นอีกมากมาย ถ้าสื่อหยิบมาทำเป็นข่าวหน้าหนึ่งได้ ผมก็จะเขียนถึงเหมือนกัน เพราะผมไม่สามารถหยิบข่าวจากสื่อโซเชียล ข่าวลือ ข่าวซุบซิบมาเขียน ต้องรอจนกว่าข่าวนั้นจะปรากฏบนหน้าหนึ่งไทยรัฐเท่านั้น


นอกจากข่าวลือ ข่าวซุบซิบแล้ว มีเรื่องอะไรอีกไหมที่คุณเลือกไม่เขียนถึง

เวลาวาดการ์ตูน ผมจะเขียนล้อบุคคลทางการเมืองซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ส่วนดารา นักธุรกิจ คนมีอิทธิพล ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ผมไม่เขียนถึงเลย ด้านการดำเนินธุรกิจของบริษัทใหญ่ จะเจ๊ง จะอยู่ เราก็ไม่แตะต้อง ยกเว้นเป็นกิจการที่ส่งผลต่อความมั่นคงหรือเข้ามาข้องแวะกับการเมือง เช่น รถไฟฟ้า ธรรมดาเราไม่พูดถึง แต่เมื่อไหร่ที่การประมูลรถไฟฟ้ามีเงื่อนงำ มีการต่อสัญญาแบบฉ้อฉล ผมถึงจะวาด 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสถาบันต่างๆ ทั้งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การศึกษา ผมไม่แตะทุกสถาบัน เป็นเรื่องที่จำไว้จนขึ้นใจตั้งแต่เริ่มเขียนการ์ตูนใหม่ๆ อะไรที่ล่อแหลม ละเอียดอ่อน ก็อาจจะขอหลบเลี่ยงไป


คร่ำหวอดในวงการการ์ตูนล้อการเมืองมานาน ถ้ามองภาพย้อนกลับไป มีการเมืองยุคไหน ช่วงเวลาใดที่คุณรู้สึกว่าทำงานยากบ้าง

โดยรวมๆ แล้วผมไม่คิดว่าการทำงานในฐานะนักวาดการ์ตูนของผมจะมีความลำบากอะไร อาจจะยากอยู่บ้างช่วงที่ผมเริ่มเขียนการ์ตูนใหม่ๆ ไม่ได้ยากเพราะการเมือง แต่ยากตรงที่เราเพิ่งเริ่มต้น ต้องค้นหาแนวทางเป็นของตัวเอง พี่ๆ บก.พูดกับผมตลอดเวลาว่าจะเขียนการ์ตูนการเมืองให้อยู่ได้ต้องหาคาแรกเตอร์ หรือลักษณะเด่นของเรา สมัยนั้นผมยึดพี่อรุณ วัชระสวัสดิ์ เป็นอาจารย์ ทั้งการปฏิบัติตัว การทำงานที่ดี ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ค้นหาตัวเองโดยดูวิธีการวาดของพี่อรุณจนมาเป็นนักเขียนการ์ตูนที่ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง

พอเราหาจุดยืนของตัวเองได้ ประกาศตัวยึดพื้นที่บนหน้าหนังสือพิมพ์ได้ ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าเราจะทำยังไงให้คนอ่านการ์ตูนของเราแล้วได้ประโยชน์ ในช่วงการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ปี 2553 มีคนนำการ์ตูนของผมไปเผยแพร่ให้กลุ่มคนเสื้อแดงฟัง เป็นบทเรียนให้มวลชนได้เรียนรู้เรื่องการเมืองทุกวัน มันก็ทำให้เห็นว่าการ์ตูนของเราเข้าถึงคนได้ขนาดไหน ผมจึงยึดหลักที่ว่าเราต้องเขียนการ์ตูนให้คนอ่านเข้าใจและได้ความรู้ด้วย ไม่ใช่เขียนลอยๆ ไปวันๆ อ่านแล้วไม่รู้สึกอะไร

อันที่จริงในช่วงที่การเมืองแบ่งแยกเสื้อสี ผมก็เคยสมัครงานวาดการ์ตูนไปหลายที่ แต่ไม่ได้งานเพราะเขาหาว่าผมเป็นเสื้อแดง แถมมีการบอกว่าถ้าคุณเซียไม่ได้เป็นเสื้อแดงนะ มีงานรอคุณอีกเยอะแยะเลย (หัวเราะ) ก็ไม่เป็นไร ช่างมันเถอะ

มาถึงยุครัฐบาลคสช. ผมโดนเรียกไปปรับทัศนคติสองรอบ ก็ไม่ถือว่าลำบากหรอก ผมไม่ได้กลัวเรื่องที่เขาจะเรียกตัวผม ฟ้องผม เพราะผมมั่นใจว่าตัวเองมีวิธีการทำงานที่เขาไม่สามารถมาทำอะไรได้ รู้สึกสนุกด้วยซ้ำที่การ์ตูนของผมส่งผลให้ผู้มีอำนาจสั่นสะเทือน


ในช่วงที่สังคมมีบรรยากาศการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คุณเคยประสบปัญหาว่าต้องนำเสนอการ์ตูน ‘แบบเป็นกลาง’ ทางการเมืองบ้างหรือเปล่า

ผมคิดว่าปรัชญาการทำสื่อคือสื่อต้องเป็นกลาง แต่เป็นกลางในที่นี้หมายถึงต้องนำเสนอทุกอย่างตามความจริง ไม่ใช่ว่าคนสองคนชกกันแล้วคนเป็นกลางคือต้องยืนอยู่เฉยๆ ไม่ใช่ เราต้องหยุดมวยคู่นี้ แล้วชี้ให้เห็นความจริง ต้นตอของปัญหา คนเป็นกลางที่ยืนเฉยคือคนที่ไม่อยากให้เหตุการณ์ยุติ ผมยึดหลักนี้ในการทำงานช่วงที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย คือดูตามเหตุการณ์ความเป็นจริงแล้วเขียนไปตามนั้น นี่คือการนำเสนอแบบเป็นกลางของผม

ด้านหนึ่ง ผมอยากเขียนการ์ตูนที่สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยเพราะผมอยู่ฝ่ายประชาชน ผมมองว่ากลุ่มคนเสื้อแดงเป็นขบวนการประชาธิปไตย ก็เลยเขียนสนับสนุนเขา ถ้าคนเสื้อเหลืองจะบอกว่าผมไม่สนับสนุนทุกฝ่าย ก็ผมไม่ชอบแนวทางคุณไง จะเขียนให้คุณทำไม แล้วผมไม่ได้ด่าคุณด้วยนะ ยกเว้นตอนเป่านกหวีดกระแสมันแรงมาก ผมเลยเขียนถึง แต่ก็เขียนตามความเป็นจริง ใครจะไม่พอใจผม ปฏิเสธผมเพราะเรื่องนี้ก็ไม่เป็นไร ต่างคนต่างอยู่


แล้วการถูกเรียกปรับทัศนคติในช่วงยุครัฐบาล คสช. ถึงสองครั้ง ส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานอย่างไรไหม

ตอนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ผมจำได้แค่ห้องเย็นมาก ถ้าใครตื่นเต้นก็คงรู้สึกหนาวเป็นพิเศษ แต่ผมไม่รู้สึกลำบากหรือกลัวอะไร เพราะเราเตรียมใจอยู่แล้วว่าถ้าเราจะเขียนการ์ตูนแบบนี้ คงไปแตกหักกับผู้มีอำนาจสักวันหนึ่ง และพูดตรงๆ คือผมเองก็มีความหยิ่ง ความถือดีว่าเราอยู่ในสื่อใหญ่ ถ้าเราไม่ล้ำเส้นหรือทำอะไรเกินเลยก็คงไม่มีใครกล้าเล่นงานเรา

อันที่จริงก่อนหน้านั้น มีทหารหรือคนจากฝั่งผู้มีอำนาจคอยส่งซิกถึงเจ้านายผมตลอดเวลา ให้เตือนผมหน่อย ปรามผมหน่อย ผมนี่ถูกเจ้านายโทรมาเตือนทุกวันว่า พี่ เขาจ้องพี่อยู่นะ พี่เบาๆ หน่อย คนนี้ขอนะ บางคนผมเขียนถึงไม่ได้ ก็ยอมให้ เพราะเราไม่อยากให้คนอื่นมีปัญหาด้วย เรื่องราวทางการเมืองก็มีให้เขียนอีกตั้งเยอะ แต่พอเขาทนไม่ได้ก็เรียกผมไปปรับทัศนคติสองครั้ง ซึ่งผมรู้สึกเฉยๆ เพราะเขาเรียกเราไปเตือนในฐานะสื่อ ไม่ได้คุยในฐานะนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม ดังนั้นสิ่งที่ผมเจอถือว่าเบามาก ไม่มีอะไรน่ากลัว ไปคุยสิบโมงเช้า เที่ยงก็กลับแล้ว เพราะคนที่เรียกเราไปเขาต้องหยุดกินข้าวตามเวลาราชการ (หัวเราะ)

ทั้งหมดนี้เขาแค่ต้องการปรามเรา หลังจากปรับทัศนคติสองครั้งผ่านไป สุดท้ายเรากลับออกมาเขียนเหมือนเดิม เขาก็เลิกเรียกล่ะ ใช้วิธีไปที่ออฟฟิศแทน ให้เจ้านายที่คุ้นเคยโทรมาคุยกับผมแทน บ่อยขนาดที่มีครั้งหนึ่งเจ้านายผมก็ว่า พี่ ผมไม่รู้จะพูดกับพี่ยังไงแล้ว (หัวเราะ)


ทุกวันนี้คุณก็ยังโดนทักโดนปรามอยู่?

มีตลอดครับ ทักมาตลอด บอกให้เบาหน่อย ทักครั้งหนึ่งเราก็เบาให้สักสามสี่วัน แต่ถ้าข่าวมันแรง เราก็ต้องแรงตามข่าว จะบอกว่าผมแรงไปก็ไม่ได้หรอก ข่าวมันเป็นแบบนั้น นึกออกไหม บอกให้ผมอย่าไปเขียนถึงนายกฯ แต่นายกฯ ขึ้นข่าวหน้าหนึ่งแทบทุกวัน คนอื่นแทบไม่มีพื้นที่เลย ผมต้องเขียนถึงบุคคลที่เป็นข่าวและมีอิทธิพลต่อการเมือง ยังไงก็หลีกเลี่ยงเขียนถึงนายกไม่ได้หรอก เขาหาว่าผมเขียนด่าเขามาตลอด 7 ปี บอกเลยว่าถ้าไม่อยากให้ผมเขียนถึงก็ลาออกไปสิ จริงไหม (หัวเราะ)


บางคนอาจมองว่าคุณวาดการ์ตูนโจมตีผู้นำรัฐบาลมากเกินไป ส่วนตัวคุณมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร  

ผมมองว่าลำพังนายกยึดอำนาจเข้ามา ก็ถือเป็นศัตรูของผมอยู่แล้ว ถ้าคุณเข้ามาอย่างถูกต้อง เข้ามาตามครรลอง มีแนวคิดที่ดี ไม่มีอะไรเป็นข้อตำหนิผมก็ชื่นชม อีกอย่างผมไม่ได้เขียนด่าตรงๆ ลอยๆ เพราะได้ยินจากคนนั้นคนนี้ ผมเขียนจากข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ ถ้ารัฐบาลมีผลงานดี หนังสือพิมพ์ก็ต้องชมขึ้นหน้าหนึ่ง แต่ที่ผ่านมาไม่เห็นมีเลย แล้วผมจะชมได้ยังไง

มีเพื่อนผมหลายคนเคยแสดงความคิดเห็นไว้เหมือนกันว่า การ์ตูนการเมืองแทบไม่เป็นการ์ตูนแล้ว การ์ตูนการเมืองที่ดีต้องเสียดสีนิดหน่อย พอให้มีอารมณ์ขัน แต่ตอนนี้การ์ตูนการเมืองเป็นเหมือนคู่สงครามของรัฐบาล ผมก็ยอมรับว่าใช่ ผมนี่แหละคู่สงคราม ผมไม่ได้เขียนการ์ตูนการเมืองเพื่อให้คุณอ่านขำๆ จบไปวันๆ ผมเขียนการ์ตูนการเมืองแทนความคิดของคนที่ติดตามผม แทนจิตวิญญาณ แทนการต่อสู้ในใจเขา มีคนมากมายชอบอ่านการ์ตูนผมเพราะงานของผมสื่อสารแทนใจเขา ในเมื่อเขาไม่มีเวที แต่ผมมี ผมจึงเขียน จะบอกว่าผมประกาศสงครามกับรัฐบาลก็ย่อมได้ เพราะผมเองก็เป็นประชาชนเหมือนคนอื่นๆ ต้องการต่อสู้กับเผด็จการ ถึงไม่มีปืน มีแต่กระดาษและปากกา ผมก็จะสู้กับคุณ ใช้การ์ตูนของผมนี่แหละเป็นอาวุธ

ผมว่าผมคิดถูกที่เลือกต่อสู้กับเขามาตั้งแต่วันแรก ช่วงแรกๆ เจ้านายผมเคยบอกว่าสถานการณ์มันยังแรง พี่อย่าเขียนแรงเกินไป เขียนแนวสายลมแสงแดดบ้าง แต่ผมคิดว่าเวลาที่เรามี พื้นที่ที่เรามี ต่อให้เป็นเพียงช่องเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์หน้าสาม แต่มันมีคุณค่ามากกว่าจะเขียนสายลมแสงแดด ผมจะใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ถ้าใครมาบอกว่าผมทำการ์ตูนเครียด นั่นก็เพราะการเมืองมันเครียด ดูสิว่าทุกวันนี้เราปล่อยให้รัฐบาลเข้ามาบริหารจัดการโรคแบบปล่อยปละละเลยจนมีคนป่วยตายมากขนาดนี้ได้ยังไง ทำไมผู้มีอำนาจยังนิ่งเฉย ทุกความผิดพลาดเราก็เห็นๆ กันอยู่ มันไม่ได้ผิดพลาดโดยสุจริต มันมีเงื่อนงำ แบบนี้ผมชื่นชมไม่ได้อยู่แล้ว    

ผมเองก็เป็นประชาชนเหมือนคนอื่นๆ ต้องการต่อสู้กับเผด็จการ ถึงไม่มีปืน มีแต่กระดาษและปากกา ผมก็จะสู้กับคุณ


สุดท้ายแล้ว สำหรับคุณ อะไรคือความตลกร้ายที่สุดของการเมืองไทย

การยกย่องผู้ร้ายเป็นพระเอก และถีบพระเอกเป็นผู้ร้าย

คนเป็นผู้ร้ายพยายามบอกคนอื่นว่าตัวเองเป็นพระเอก แต่ประชาชนเดินดินธรรมดาที่กำลังเรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องสวัสดิการ เรียกร้องการไม่เจ็บป่วย เรียกร้องให้มีกิน ถูกผลักเป็นผู้ร้าย คนดีทั้งหลายอยู่ไปวันๆ กลับมีเงินเดือนจากภาษีของเรา แล้วมาด่าประชาชนว่าไม่ยอมปฏิบัติตาม ไม่ให้ความร่วมมือมาตรการล็อกดาวน์ ทำไมอดทนอยู่บ้านไม่ได้ ก็มันไม่มีจะกิน นี่เป็นตรรกะง่ายๆ แต่ผู้บริหาร ผู้ปกครองประเทศพยายามบิดเบือน ไม่อยู่บนความเป็นจริง ข้าราชการหลายคนยังอยู่กับสายลมแสงแดด ในขณะที่คนทำมาหากินหลายครอบครัวติดโควิดทั้งบ้าน ทำมาค้าขายไม่ได้ ไปไหนก็ไม่ได้ ตัวผมขนาดเป็นฟรีแลนซ์วาดการ์ตูนยังได้รับผลกระทบ แล้วคนปากกัดตีนถีบจะเหลืออะไร

คนที่เคยชินกับความได้เปรียบของสังคมมักจะไม่เห็นว่าคนที่ออกมาเรียกร้อง ทั้งหมดก็เพื่อให้เราทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น และไม่ได้เรียกร้องอะไรมากไปกว่าสิ่งที่รัฐจะให้ได้ด้วย แต่พวกคุณกลับมาตราหน้าเรา ปล่อยให้ผู้ร้ายที่แท้จริงเสวยสุขในโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างทุน นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างดึกดำบรรพ์ของประเทศ อยู่มานานและเข้มแข็งแข็งแรง ถึงอย่างนั้นก็ต้องการการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้มีคนรุ่นใหม่ออกมาทำกันแล้ว ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย ไม่ออกมาร่วมมือกัน เราก็จะจมกับปัญหาแบบนี้ ความทุกข์ ความตลกร้ายแบบนี้ไปเรื่อยๆ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save