fbpx
“ชีวิตของพ่อ : ท่านชิ้น ผู้อาภัพ” – ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน

“ชีวิตของพ่อ : ท่านชิ้น ผู้อาภัพ” – ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

 

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อของ “ท่านชิ้น” ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน โดยเฉพาะผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุครัชกาลที่ 7 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากท่านมีบทบาทในเหตุการณ์กบฏบวรเดช และขบวนการเสรีไทย แต่น้อยคนที่จะรู้ถึงชีวประวัติของท่าน

101 สนทนากับ ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน ธิดาของท่านชิ้น ถึงเรื่องความสำเร็จและความล้มเหลวของผู้ชายคนหนึ่ง ที่มีบทบาทโลดแล่นอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน หน้าภาพเขียนรูปคุณหญิง | ภาพจากเฟซบุ๊ก Harry Bunyaraksh

 

 

อยากให้คุณหญิงเล่าถึงสาแหรกของท่านชิ้น

พ่อเป็นคน 5 แผ่นดิน คือเกิด พ.ศ. 2443 ในรัชกาลที่ 5 และสิ้นชีพิตักษัยในรัชกาลที่ 9 พ่อเป็นลูกของสมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และ ม.ร.ว.เสงี่ยม สนิทวงศ์ ซึ่งเป็น “เมียรับตรา” ที่พระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานให้เสด็จปู่

คนส่วนมากคงทราบกันว่าเสด็จปู่เป็นพระโอรสในรัชกาลที่ 4 และเป็นน้องของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ส่วนคุณย่าเป็นธิดาของพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ และเป็นน้องสาวของเจ้าจอมมารดาเนื่องในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นพระมารดาของพระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท และพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (ต่อมาเป็นสมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร)

 

สมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ กับ ม.ร.ว.เสงี่ยม

 

ชีวิตในวัยเยาว์ของท่านชิ้นเป็นอย่างไรบ้าง

จะเรียกว่าเป็น deprived childhood ก็ได้ อายุไม่กี่ขวบ พ่อแม่ต้องแยกทางกัน เพราะเสด็จปู่พา ม.จ.อาภาพรรณี (ต่อมาเลื่อนเป็นพระองค์เจ้า) เข้ามาในวัง เป็นพระชายาอีกพระองค์หนึ่ง (ด้วยเหตุนี้ พ่อจึงเป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 แต่เป็นคนละแม่กัน) ทำให้ ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ พี่ชายใหญ่ของคุณย่า เห็นเป็นการเสียเกียรติราชสกุลสนิทวงศ์ เพราะคุณย่าเป็นเมียพระราชทานอันถูกต้องตามขนบธรรมเนียม ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในวัง จึงบังคับให้คุณย่าทิ้งเสด็จปู่ ทิ้งลูกชายคนเดียวอายุเพียง 5 ขวบ กลับมาอยู่กับครอบครัว ทั้งๆ ที่คุณย่ายังรักและอาลัยเสด็จปู่อยู่ พอเป็นเช่นนี้ เสด็จปู่จึงนำพ่อไปถวายสมเด็จพระพันปี พ่อจึงโตมาที่วังพญาไท นานๆ ทีจะได้พบพ่อแม่

แล้วชีวิตที่วังนั้นก็เป็นชีวิตที่ขาดความรักความอบอุ่นที่แท้จริง แม้สมเด็จป้าจะทรงพระเมตตาเพียงใด แต่การเลี้ยงดูโดยพี่เลี้ยงย่อมไม่มีความรักความเอาใจใส่ที่เท่าเทียมจากแม่ของตัวเอง และชีวิตในวังก็เต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา แก่งแย่งชิงดีกัน พี่เลี้ยงพยายามให้เด็กที่ตนเลี้ยงเป็นที่โปรดปรานเพื่อจะได้หน้า ถ้าเด็กทำไม่ได้ดังที่เสี้ยมสอน ก็จะถูกทำโทษ

พ่อเคยเขียนใน ปรัชญาชาวไร่ ว่า “การประจบประแจงนั้น อย่างดีก็เป็นแต่เพียงนโยบายที่เป็นดาบสองคม ซึ่งจะหันมาทำลายตัวเองได้อย่างง่ายที่สุด”

เคราะห์ดีที่พ่อเล่นตลก ทำให้ทรงพระสรวลได้ สมเด็จพระพันปีจึงทรงโปรดปราน เมื่อโตขึ้นเวลาเสด็จไหน พ่อก็เป็นคนช่วยพยุงท่าน พ่อเรียนที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง แล้วเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง สมเด็จฯ จึงพระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้พ่อไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ในปี 2461

 

 

ท่านชิ้นไปเรียนอะไรที่อังกฤษ

พ่อจบ Woolwich Military Academy เป็นนายร้อยทหารปืนใหญ่ จากโรงเรียนเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อกลับมาจึงรับราชการเป็นทหารปืนใหญ่

พ่อเคยเขียนถึงสิ่งที่ได้จากโรงเรียนนี้ว่า “ผู้ใดจะได้เกียรติหรือการสรรเสริญก็แต่เมื่อเขาได้แสดงความไม่เห็นแก่ตัว โดยมีจิตสาธารณะ อันมุ่งหวังแต่จะทำประโยชน์แก่คณะหรือโดยส่วนรวมโดยเฉพาะเท่านั้น … หลักปรัชญาสำหรับไว้คุมใจ คือ จะทำอะไรพึงต้องทำด้วยความไม่เห็นแก่ตัว สิ่งกระทำนั้นจึงเจริญ”

 

แล้วพบรักกับหม่อมเสมอได้อย่างไร

แม่เป็นลูกของพระยาบุรีนวราษฐ์ (ชวน สิงหเสนี) กับคุณหญิงเนื่อง ปีที่พ่อไปอังกฤษ คุณตาก็ไปเป็นราชทูตที่นั่น ลงเรือลำเดียวกันเลย  พ่อกับแม่พบกันครั้งแรกในเรือมิเตานี้ เมื่อถึงอังกฤษก็มีคนมาจีบแม่เยอะ แต่พ่อออกจะติดตามใกล้ชิดที่สุด เช่น ตอนนั้นแม่เพิ่งอายุ 13 เรียนประจำที่ Belstead School เมือง Norfolk เมื่อผู้ดูแลจะไปเยี่ยมแม่ พ่อขอติดรถตามไปด้วย แล้วก็มีการส่งดอกกุหลาบแดงไปให้ที่โรงเรียน ต่อมาคุณตาย้ายไปเป็นทูตที่วอชิงตันและทราบว่าพ่อไปตามจีบแม่อยู่ จึงย้ายแม่ไปอเมริกาด้วย

 

กับหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน

 

เมื่อกลับมาเมืองไทยหลังจากคุณตาเสีย พ่อเจอแม่อีกครั้ง พ่อจึงตามตื้อจีบแม่อีก แม้คุณยายจะไม่ค่อยปลื้มพ่อ ด้วยได้รับอิทธิพลจากคุณตาซึ่งไม่ชอบหน้าพ่อเอาเลย แต่พ่อก็พยายามทุกวิถีทาง เช่น ให้เสด็จปู่ไปทาบทามจากคุณทวดสิงห์ (พระยาสิงหเสนี) จนคุณยายไม่อาจปฏิเสธได้ง่ายๆ  ที่สุดจึงได้แต่งงานกันในปี 2469 แม่ต้องออกจากการเป็นครูโรงเรียนราชินีมาเป็นแม่บ้าน ทั้งๆ ที่แม่ชอบและสนุกกับการเป็นครูมาก แต่สมัยนั้นเมื่อแต่งงานแล้วต้องลาออกจากงาน

 

อยากทราบความสัมพันธ์ของท่านชิ้นกับในหลวงรัชกาลที่ 7

ค่อนข้างใกล้ชิดกัน ปี 2469 หลังจากบวชที่วัดราชาธิวาสใหม่ๆ พ่อมีจดหมายถึงรัชกาลที่ 7 พรรณนาถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิด ความสวามิภักดิ์ จงรักภักดีในพระองค์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ กล่าวถึงความสุขที่สุดในชีวิตพ่อ เมื่อไปคลุกคลีเข้าเฝ้าอยู่ที่วังศุโขทัยตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์ แม้ตอนที่พ่อกำลัง “เมาลม” ระหว่างที่รับราชการเป็นทหารอยู่ที่ลพบุรี พ่อก็เขียนไปถวายว่ารักแม่อย่างไรบ้าง

พ่อแต่งงานไม่เท่าใด รัชกาลที่ 7 ก็พระราชทานบ้านหลังหนึ่งที่ถนนราชวิถี (เวลานี้คือสภาสังคมสงเคราะห์ฯ) พ่อมีปัญหาเรื่องเงินพอใช้ แต่ก็ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณช่วยชีวิตไว้เสมอๆ

 

กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7

 

ตอนอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ท่านชิ้นอยู่กับรัชกาลที่ 7 ด้วยไหม

ไม่ได้อยู่กับพระองค์ท่าน เพราะปี 2473 พ่อถูกส่งไปเรียนวิชาตำรวจที่อังกฤษ แต่ก็มีจดหมายส่งมาถวายเนืองๆ เล่าถวายเสมอว่า นักเรียนที่นั่นมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไรบ้าง หรือเมื่อมีปัญหาการเงิน ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณช่วยชีวิตเช่นเคย แม่เล่าว่าเพราะพ่อใช้ชีวิตอย่าง “บ้าระห่ำ” ต้นเดือนไปเที่ยวดูหนัง ดูละคร กินข้าวร้านแพงๆ พอปลายเดือนเงินไม่พอใช้ ก็ต้องเข้าโรงจำนำ หนักเข้าก็ต้องกราบบังคมทูลฯ

เมื่อจบจากอังกฤษ พ่อไปดูงานที่อเมริกาอีกพักหนึ่ง กลับมาก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นทหารรักษาวัง คุ้มครององค์พระเจ้าอยู่หัวโดยตรง

 

พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ Mr.Greenup ครูสอนศิลปะ เป็นผู้ร่างให้ท่านชิ้นลงสี

 

ท่านชิ้นเคยเล่าเหตุการณ์ตอนกบฏบวรเดชให้ฟังบ้างไหม

ตอนนั้นพ่อเป็นทหารรักษาวังที่พระราชวังไกลกังวล เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงทราบเรื่องกบฏ พระองค์กับสมเด็จฯ ก็เสด็จฯ ลงเรือยนต์เล็กไปสงขลาทันที เพราะไม่ประสงค์จะเป็นองค์ประกันให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะนั้นที่วังไกลกังวลมีพระบรมวงศานุวงศ์ประทับด้วยไม่น้อย พ่อต้องถวายความปลอดภัยให้ทุกพระองค์ และหาทางนำเสด็จเจ้านายเหล่านี้ลงไปสมทบที่สงขลาด้วย พ่อตัดสินใจคุมทหารไปปล้นรถไฟที่สถานีวังก์พง เพื่อบรรทุกเจ้านายลงสงขลา พ่อต้องใช้เล่ห์เหลี่ยมล่อลวงเจ้าหน้าที่รถไฟซึ่งเป็นพวกรัฐบาลมาก กว่าจะไปถึงปลายทาง (ดูรายละเอียดได้จากหนังสือ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ของ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล)

การกระทำครั้งนี้ของพ่อถือเป็นปรปักษ์ใหญ่หลวงกับรัฐบาล ต้องการจับพ่อมาดำเนินคดี มีผู้แนะนำให้พ่อหนี แต่พ่อปฏิเสธ บอกว่าเป็นอย่างไรเป็นกัน พ่อทิ้งทหารในบังคับบัญชาไปไม่ได้ เมื่อเหตุการณ์สงบและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จฯ ไปอังกฤษเพื่อรักษาพระเนตร ในต้นปี 2477 ทรงพระกรุณาโปรดให้พ่อและแม่ตามไปด้วยเพื่อความปลอดภัย

 

ไปอังกฤษครั้งนี้นานมากไหม

กว่าที่พ่อจะกลับเมืองไทยก็หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง จำได้ว่าหลัง 16 สิงหาคม 2488 ไม่กี่วัน พ่อมาปรากฏตัวที่บ้านคุณยายแถววัดสามปลื้ม เป็นครั้งแรกที่หน่อยและหนิ่งได้พบกับพ่อ แทบจะพูดได้ว่าเป็นครั้งแรกในชีวิต เพราะเมื่อพ่อไปอังกฤษเมื่อ 12 ปีก่อนนั้น เรายังเล็กเกินกว่าจะจำหน้าได้

 

อยากให้เล่าถึงงานเสรีไทยของท่านชิ้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อพ่อได้รับข่าวญี่ปุ่นยกทัพขึ้นประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 พ่อรู้สึกผิดหวังและเห็นเป็นการเสียเกียรติประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นรัฐบาลจอมพล ป. ออกกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันประเทศว่าจะต่อสู้กับศัตรูผู้รุกรานจนโลหิตหยาดสุดท้าย เพราะฉะนั้น พ่อจึงเขียนจดหมายถึง Winston Churchill นายกรัฐมนตรีอังกฤษทันทีว่า โลหิตหยาดสุดท้ายของคนไทยในอังกฤษนี่ละจะสู้ต่อไป โดยขอตั้งคณะกอบกู้ชาติขึ้น นายกรัฐมนตรีอังกฤษตอบพ่อมาวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1942 ว่าขอให้พ่อช่วยทำงานในกรมเสนาธิการของกองทัพอังกฤษในการทำแผนที่และรวมข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย

ในปี 2485 จึงได้มีการตั้งคณะเสรีไทยกัน มีคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณเสนาะ ตันบุญยืน ฯลฯ จะไม่ลงรายละเอียดในที่นี้ แต่จะขอเล่าถึงพ่อว่า ท่านมีปัญหามาก เนื่องจากพวกนักเรียนไทยในอังกฤษไม่ยอมรับพ่อเป็นหัวหน้าและร่วมเข้าพวกด้วย เพราะนักเรียนไทย รวมถึงอัครราชทูตหัวหน้าขบวนการเสรีไทยสายอเมริกา หวั่นระแวงว่าพ่อทำงานครั้งนี้เพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้งหรือไม่ ทั้งที่ไม่มีมูลเลย พ่อคงจะช้ำใจไม่น้อย

งานเสรีไทยของพ่อยังคงเป็นการช่วยงานกองทัพอังกฤษ โดยเฉพาะ Force 136 ซึ่งตั้งฐานทัพอยู่ที่อินเดีย จนถึงสิงหาคม 2486 พ่อได้ข่าวว่าคุณจำกัด พลางกูร เดินทางจากเมืองไทยมาอยู่ที่จุงกิง ประเทศจีน พ่อจึงเดินทางไปพบคุณจำกัด ที่จุงกิง จนปรับความเข้าใจกันว่า พ่อไม่มีแผนที่จะฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพียงแต่ต้องการกู้ชาติ และเพื่อจะได้เห็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในประเทศไทยเท่านั้น

การพบกันครั้งนี้เป็นการพบกันที่สำคัญยิ่ง พ่อสามารถแจ้งทางอังกฤษได้ว่าในประเทศไทยมีเสรีไทยอยู่แล้ว โดยมีอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นหัวหน้า ซึ่งมีความสามารถที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ และพ่อได้ขอให้อังกฤษรับรองเสรีไทยในประเทศเข้าอยู่ในฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย

 

เป็นทหารอังกฤษ ปฏิบัติงานเสรีไทย

 

แล้วท่านชิ้นเข้ามาเมืองไทยเมื่อใด

การประสานงานยังคงดำเนินการต่อไปจนมกราคม 2488 การประชุมของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่อินเดียตกลงจะส่งพ่อเข้ามาติดต่ออาจารย์ปรีดีในประเทศไทย ทางอังกฤษจึงได้โทรเลขมาถึงอาจารย์ปรีดีว่าขัดข้องไหม เรื่องนี้อาจารย์ป๋วยก็เล่าว่า อาจารย์ปรีดีตอบด้วยความจริงใจว่าไม่ขัดข้อง เรื่องการเมืองในประเทศเป็นอันยุติไม่มีปัญหากันต่อไป เสรีไทยมุ่งหมายอย่างเดียวที่จะรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ

พ่อเข้ามาพบอาจารย์ปรีดีในกรุงเทพฯ เมื่อเมษายน 2488 ได้ปรับความเข้าใจและเป็นมิตรต่อกันอย่างแน่นแฟ้น และได้ตกลงกันว่าจะต้องสร้างบ้านเมืองเราต่อไปภายหน้า ต่างฝ่ายต่างจะต้องพยายามลืมความหลัง เลิกคิดร้ายและพยาบาทต่อกัน ทั้งยังเห็นด้วยกันว่า คณะเสรีไทยทั้งปวงไม่ควรจะเรียกร้องเอาบำเหน็จรางวัลทั้งสิ้น ระหว่างที่ติดต่อกัน พ่อขออย่างเดียวคือ ให้ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหลาย ซึ่งอาจารย์ปรีดีก็เห็นด้วย และได้กระทำจริงเมื่อปี 2487 ในกรมชัยนาทฯ ได้กลับคืนสู่วัง หลังจากถูกจำคุกบางขวางเป็นเวลาหลายปีโดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

หลังจากพบกับอาจารย์ปรีดีแล้ว พ่อไปทำงานในป่าเมืองตากและนครศรีธรรมราช เพื่อฝึกและเตรียมพลพรรคไว้พร้อมที่จะรบขับไล่ทหารญี่ปุ่นเมื่อกองทัพสัมพันธมิตรบุกขึ้นฝั่งประเทศมาเลเซียในวัน D day แต่ That day never come เพราะญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2488 หลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณู ฝ่ายไทยได้ประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม ประเทศไทยจึงได้เอกราชและอธิปไตยกลับคืน ทั้งนี้ก็เพราะขบวนการเสรีไทยได้ร่วมต่อสู้อยู่ในฝ่ายสัมพันธมิตรตลอดมา

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว ในการสวนสนามที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 25 กันยายน 2488 พ่อเดินนำหน้าคณะเสรีไทยจากอังกฤษ โดยอาจารย์ปรีดีเป็นประธานรับ Salute ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และได้รับยศพันโทจากกองทัพบกอังกฤษ พร้อมเหรียญ O.B.E. (Order of British Empire) ด้วย

 

ความสัมพันธ์ของอาจารย์ปรีดีกับท่านชิ้นหลังสงครามเป็นอย่างไรบ้าง

เมื่อสงครามสงบลง พ่อกลับเข้ากรุงเทพฯ มาทำงานร่วมกับอาจารย์ปรีดี เป็นเวลาที่พ่อมีความสุขที่สุด ได้รับ success, satisfaction, recognition  พ่อเล่าว่าได้รับเสนองานหลายตำแหน่ง แต่พ่อไม่รับ เพราะได้ลั่นวาจาไว้แล้วว่า เป็นเสรีไทยโดยไม่ต้องการผลอะไรตอบแทน นอกจากความสุขที่ได้รับใช้ประเทศชาติ

แม้ว่าครั้งหนึ่งทั้งสองจะมีจุดยืนตรงข้ามกัน เพราะอาจารย์ปรีดีเป็นต้นคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ต้องสละราชสมบัติและสวรรคตในต่างแดน แต่เมื่อคราวบ้านเมืองคับขัน ทั้งคู่ก็ลืมความขัดแย้งมาจับมือเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ไว้วางใจกัน อาจารย์ปรีดีก็เห็นใจพ่อที่ถูกกล่าวหาโดยไม่ยุติธรรม ทำงานร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของชาติ เพื่อประชาธิปไตย ต่อมาพ่อก็ให้ loyal support ต่ออาจารย์ปรีดีเต็มที่เช่นเดียวกัน เมื่ออาจารย์ปรีดีถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมว่าเป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8

 

ขอขยายความเรื่องท่านชิ้นกับอาจารย์ปรีดีในเรื่องกรณีสวรรคต

เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 8 นิวัติพระนครในเดือนธันวาคม 2488 พ่อถูกเรียกให้กลับเข้าไปรับใช้ในพระบรมมหาราชวังอย่างใกล้ชิด อาจารย์ปรีดีซึ่งพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้วและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขอให้พ่อช่วยเหลือประสานงานกับพระเจ้าอยู่หัวก่อน แม้เสรีไทยสายอังกฤษคนอื่นๆ จะกลับอังกฤษไปแล้ว พ่อในตำแหน่งราชองครักษ์มีหน้าที่ตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 8 เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ อาจารย์ปรีดียังมีแผนที่จะให้พ่อประจำอยู่ที่สวิตฯ เพื่อรับใช้พระเจ้าอยู่หัว และประสานงานกับฝ่ายรัฐบาล แต่แล้วเพียง 4 วันก่อนถึงกำหนดเดินทางในวันที่ 13 มิถุนายน 2489 ในหลวงก็สวรรคตในวันที่ 9 มิถุนายน

พ่อมีหมายเข้าเฝ้าในวันนั้นพอดี จึงได้อยู่ที่พระที่นั่งบรมพิมานไม่นานหลังจากเกิดเหตุ พ่อเล่าให้ฟังว่า สมเด็จกรมพระยาชัยนาทฯ และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งประทับอยู่ที่นั่นคิดว่าเป็น suicide สวรรคตด้วยพระแสงปืนโดยพระองค์เอง พ่อจึงออกความเห็นว่า จะออกแถลงการณ์ตามนั้นไม่ได้  ยกตัวอย่างเมื่อเจ้าชายรูดอล์ฟ รัชทายาทแห่งออสเตรีย ยิงพระองค์เองที่กระท่อมในป่าพระราชวังมาเยอร์ลิง จักรพรรดิโยเซฟต้องออกแถลงการณ์ว่าเป็นอุบัติเหตุ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการเสื่อมพระเกียรติ ฉะนั้น ในกรณีนี้ต้องออกแถลงการณ์ให้เหมือนกับเป็นอุบัติเหตุ และให้นายรัฐมนตรี ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้แถลง ซึ่งอาจารย์ปรีดีมิได้อยู่ในพระบรมมหาราชวังในขณะนั้น ท่านอธิบายทีหลังว่าการที่ท่านไม่ได้เข้าไปในวัง ไม่มีอะไรไปกว่าที่ท่านคิดว่า รัฐบาลเป็นคนนอก นั่นเป็นเรื่องของเจ้านายฝ่ายในราชสำนัก

 

แสดงว่าท่านชิ้นไม่เชื่อในวาทกรรมที่ว่าอาจารย์ปรีดีเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต

พ่อเป็นเจ้านายองค์เดียวที่ประกาศความบริสุทธิ์ของอาจารย์ปรีดี ไม่เชื่อว่าอาจารย์ปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตแม้แต่น้อย และเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุอย่างเดียว เจ้านายองค์อื่นๆ ออกจะหมั่นไส้พ่อว่าหลงเสน่ห์อาจารย์ปรีดี ไม่ร่วมกับเจ้านายองค์อื่นๆ สมน้ำหน้าอาจารย์ปรีดีที่โดนรับกรรมที่ตนทำเอาไว้กับราชวงศ์จักรีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ่อออกจะเป็น “หมาหัวเน่า” ไม่มีใครอยากคบสมาคม

พ่อใช้เวลาเขียนหนังสือกราบบังคมทูลเป็นร้อยหน้าเมื่อมิถุนายน 2490 พยายามอธิบายกรณีที่ว่ามีการลอบปลงพระชนม์นี้ว่าเป็นแผนทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับอาจารย์ปรีดี ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์และพวกเผด็จการ ที่จะทำลายอาจารย์ปรีดี ในความเห็นของพ่อนั้น พ่อเชื่อแน่ว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามลำพังพระองค์เอง พ่ออธิบายโดยละเอียดว่าอุบัติเหตุนี้อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่พ่อก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น

พฤศจิกายน 2490 เกิดรัฐประหารรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ทหารยึดอำนาจ อาจารย์ปรีดีต้องลี้ภัยออกไปต่างประเทศ ขณะนั้นพ่อร่วมอยู่ในคณะผู้แทนไทยในสหประชาชาติ พ่อประกาศว่าสัมพันธมิตรจะไม่มีวันรับรองรัฐบาลรัฐประหารนี้ แต่แล้ว 2–3 วันต่อมา อังกฤษและอเมริกาก็รับรองรัฐบาลรัฐประหารอันมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่ พ่อในฐานะตัวแทนของรัฐบาลประชาธิปไตยก็เป็นอันหมดหน้าที่ หมดอนาคตที่ได้ทำงานรับใช้ประเทศชาติอีกต่อไปโดยชอบธรรม เช่นเดียวกับอาจารย์ปรีดี เมื่ออายุเพียง 47 ปี

 

ท่านชิ้นในการประชุมที่ต่างประเทศ

 

ท่านชิ้นจึงบอบช้ำตามอาจารย์ปรีดีไปด้วย

กลางปี 2492 พ่อต้องปวดหัวใจอย่างรุนแรงอีกครั้ง เพราะในเดือนกรกฎาคมปีนั้นมีการจัดประชุมสามัคคีสมาคมเป็นครั้งแรกหลังสงคราม ที่โรงเรียนเซนต์จอห์น เมือง Leatherhead พ่อแม่พาลูกสาวทั้ง 4 คนไปร่วมงานด้วย วันสุดท้ายเป็นงานเลี้ยงใหญ่ ทุกคนตื่นเต้นเป็นพิเศษเมื่อท่านเอกอัครราชทูต ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร เสด็จมาทรงร่วมงานเป็นแขกผู้มีเกียรติ พร้อมด้วย ม.ล.บัว และธิดาทั้งสอง คือ ม.ร.ว.สิริกิติ์ และ ม.ร.ว.บุษบา ในวันนั้น ท่านทูตรับสั่งเชิญทุกคนไปร่วมงานที่สถานทูตในอีกไม่กี่วันต่อมา เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเสด็จพระราชดำเนินมากรุงลอนดอน พวกเราตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินข่าวลือว่าอาจจะมีการประกาศหมั้น

ระหว่างงานนี้ เราสังเกตเห็นพ่อคุยกับท่านนักขัตรฯ พระญาติและพระสหายเก่า อยู่ที่สนามด้วยสีหน้าเคร่งเครียด รุ่งขึ้น พ่อเล่าให้ลูกๆ ฟังว่า ท่านนักขัตรฯ ขอไม่ให้พ่อไปร่วมงานเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวที่สถานทูต เพราะกำลังกริ้วพ่อมาก ด้วยทรงเข้าพระทัยและทรงเชื่อว่าต้องเป็นท่านชิ้นแล้วไม่ใช่ใครอื่นแน่ที่ไปรายงานอะไรบางอย่างกับลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบทเทน ที่ทรงปักพระทัยว่าเป็นพ่อ ก็เพราะพ่อรู้จักคุ้นเคยกับลอร์ดหลุยส์ ทำงานเสรีไทยใต้บังคับบัญชามาในระหว่างสงคราม

พ่อตะลึงงันอย่างไม่รู้จะอธิบายอย่างไรถูก เพราะไม่เคยคิดอะไรอย่างอื่นเลย นอกจากว่าจะเป็นอุบัติเหตุโดยในหลวงอานันท์ฯ เอง ไม่มีการลอบปลงพระชนม์ใดๆ และอาจารย์ปรีดีเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่เรื่องนี้ปรากฏออกมาก็เพราะพระองค์เจ้าธานีนิวัตทรงไปพบลอร์ดหลุยส์ในปี 2491 เพื่อทรงวางแผนให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ดังที่พ่อเคยเสนอไว้ครั้งหนึ่ง แต่ลอร์ดหลุยส์ขอให้เลื่อนกำหนดแผนดังกล่าวไปก่อนจนกว่าจะสืบสวนกรณีสวรรคตแจ่มแจ้ง

เป็นอันว่าพ่อและพวกเราพลาดคืนสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ณ สถานทูตกรุงลอนดอน คนไทยในอังกฤษทุกคนได้ร่วมฉลองการประกาศพิธีหมั้น นอกจากเรา

 

ชีวิตของท่านชิ้นหลังจากนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

พ่อกลับเมืองไทยปี 2494 ไปเริ่มชีวิตในชนบท ทำสวนทำไร่ นำความเจริญไปให้ชาวบ้านต่างจังหวัด ช่วงท้ายของชีวิตพ่ออยู่ที่สวนเสมา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี แม้แคนตาลูปและผักสลัดสวนเสมาจะเป็นที่รู้จักทั่วไป แต่กิจการก็ประสบปัญหา รายได้ไม่เท่าไหร่ รายจ่ายกลับท่วมท้น บริวารที่ไว้ใจก็โกงพ่อ เป็นต้น และช่วงนั้นพ่อกับแม่แยกทางกัน เพราะแม่ไม่ยอมให้พ่อมีเมียน้อย ซึ่งเป็นเด็กคนงานอายุ 18 พ่อเห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกของคนอายุปูนพ่อ ที่ในฐานะเช่นนี้จะมีอีหนูไว้คอยปรนนิบัติ แต่แม่เห็นว่ากลับเป็นการนอกใจ รับไม่ได้ จากนั้นไม่นานพ่อก็สิ้นด้วยโรคหัวใจ ในวัย 67 ปี เมื่อ พ.ศ. 2510

จดหมายฉบับสุดท้ายที่พ่อเขียนมาถึงตัวดิฉัน อวยพรวันเกิดหน่อยในเดือนธันวาคม 2509 พ่อจบด้วยคำว่า “I’ve discovered there’s no happiness in this life.”

 

ชาวไร่สวนเสมา

 

อยากให้คุณหญิงสรุปบทเรียนจากชีวิตของท่านชิ้น

ชีวิตของพ่อมีความทุกข์มากกว่าความสุข ความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว จะให้แรงบันดาลใจอย่างใหญ่หลวง  ชีวิตของพ่อเป็นบทเรียนให้เรารู้จักหาทางฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามในชีวิต เป็นกรรมของพ่อที่เกิดมาผิดสมัย ในสมัยที่คนดีอับจน คนเลวรุ่งเรือง พ่อรู้ว่าอะไรถูกอะไรควร และทำไปจนสุดความสามารถอย่างดีที่สุด โดยไม่คำนึงว่าจะล้มเหลวหรือสำเร็จ พ่อแหวกแนว ทำอะไรก่อนสมัย เร็วเกินไป คนยังรับไม่ได้ พ่อมองเห็นอย่างชัดใสให้มนุษย์กลับสู่ชนบท เรียนรู้จากธรรมชาติ อาศัยธรรมเป็นหลักในการครองชีวิต

พ่อยึดถือความถูกต้องชอบธรรมเป็นสรณะ มีความจริงใจ และไม่ทอดทิ้งเพื่อน เช่น อาจารย์ปรีดีที่ถูกกล่าวหา ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม ไม่คิดเอาตัวรอด มี passion ไม่ว่ากับคนหรืองาน ถ้าเป็นงานก็ทำอย่างสุดความสามารถ กับคนก็รักบูชาสุดขีด เช่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

แต่พ่อก็เป็นปุถุชนคนหนึ่ง มีจุดอ่อนจุดด้อยไม่น้อย อารมณ์ฉุนเฉียวของพ่อทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการงาน และมีมนุษย์สัมพันธ์ไม่ดีเท่าที่ควร ความเลือดร้อนของพ่อในการทำเสรีไทยทำให้บางคนเอือมระอา พ่อไม่ค่อยรับผิดชอบเรื่องการใช้จ่ายเงินทอง เติบโตมาบนกองเงินกองทองที่ไม่ใช่ของตัวเอง ได้รับการอุ้มชูจากสมเด็จพระพันปีและรัชกาลที่ 7 มาโดยตลอด พอต้องพยุงชีวิตด้วยเงินตนเอง ก็ไม่รู้จักประหยัดหรือจัดการให้เพียงพอกับรายได้

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของพ่อก็นับว่าไม่เสียชาติเกิด ทำประโยชน์ต่อผู้คนไว้มากมาย เป็นตัวอย่างที่พิเศษและหายากในสายตาของลูกหลาน เป็นแรงบันดาลใจแก่พวกเรา และหวังว่าสักวัน โลกภายนอกจะเห็นพ้องด้วย

 

ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (23 สิงหาคม 2443 – 22 เมษายน 2510)

 

อ้างอิง

ภาพประกอบในบทความนี้ มาจากหนังสือ 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ (2543) เว้นแต่ระบุไว้เป็นอย่างอื่น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save