fbpx
สิ่งสำคัญคือการมอบ ‘โอกาส’ ครั้งที่สองให้เด็กที่เคยก้าวพลาด – ‘สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์’

สิ่งสำคัญคือการมอบ ‘โอกาส’ ครั้งที่สองให้เด็กที่เคยก้าวพลาด – ‘สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์’

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

กมลวรรณ ลาภบุญอุดม ภาพ

 

คุณคิดยังไงกับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดจนถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม?

เป็นเด็กไม่ดี เป็นเด็กเกเร หรือเป็นเด็กเหลือขอ…?

แต่สำหรับ สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่มีประสบการณ์การทำงานกับเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ มาอย่างยาวนาน เด็กกลุ่มนี้คือเด็กที่ขาดโอกาส ถูกบีบจนต้องกระทำความผิด และถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในท้ายที่สุด

คำตอบสำหรับเด็กกลุ่มนี้จึงไม่ใช่การตีตราหรือกีดกันเขาออกจากสังคม แต่เป็นการมอบ ‘โอกาส’ ครั้งที่สองให้ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติอีกครั้ง

หนึ่งในการให้โอกาสคือการนำเรื่องกีฬาเข้ามาใช้ โดยประเทศไทยได้มีการตั้งสโมสรกีฬา BBG (Bounce Be Good) ตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและป้องกันอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน และเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ให้เด็กที่เคยก้าวพลาด เลือกทางผิด ได้แสดงศักยภาพทางด้านกีฬา และกลับเข้าสู่ทางที่ถูกที่ควรอีกครั้ง

นอกจากนี้ กรมพินิจฯ ยังมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สร้างภาคีเครือข่ายเพื่อเปิดช่องทางให้เด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ ได้เรียนรู้ และมีช่องทางการประกอบอาชีพในอนาคต อันเป็นการดูแลเด็กและเยาวชนแบบครบวงจรที่แท้จริง โดยมีสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่สนับสนุนให้มีการนำกีฬามาช่วยแก้ไขปัญหาและป้องกันอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล หลังจากร่วมผลักดันประเทศไทยในการเสนอร่างข้อมติเรื่อง ‘Integrating Sport into Youth Crime Prevention and Criminal Justice’ ในเวทีการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice) สมัยที่ 28 ที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย และได้รับการรับรองโดยฉันทามติจากประเทศสมาชิก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562

101 ชวน สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ สนทนาเกี่ยวกับเรื่องราวหลังกำแพงสถานพินิจฯ ว่าด้วยแนวโน้มการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน การนำกีฬามาปรับใช้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงมุมมองต่อเด็กและเยาวชนที่มักถูกตีตราว่าเป็นเด็กเกเร

 

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แนวโน้มการก่ออาชญากรรมในเด็กและเยาวชนเป็นอย่างไร มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง

สำหรับแนวโน้มการก่ออาชญากรรม ถ้าเราดูจากตัวเลขสถิติจะพบว่า สถิติการก่ออาชญากรรมในเด็กและเยาวชนลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง คือเมื่อราว 5-6 ปีก่อน เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดและถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีจำนวนราว 40,000-50,000 คนต่อปี แต่ปัจจุบันนี้เหลือราว 20,000 คนต่อปีเท่านั้น

แต่ถ้ามองในเรื่องฐานความผิด เราพบว่าเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดในฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้น คือเมื่อ 4 ปีที่แล้วคิดเป็น 40% แต่ปัจจุบันคิดเป็น 50% แต่ถ้าเป็นฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และฐานความผิดในเรื่องทางเพศก็จะค่อนข้างน้อย

พูดโดยสรุปคือ แนวโน้มการก่ออาชญากรรมในเด็กและเยาวชนโดยรวมลดลง ซึ่งสถิติที่ลดลงอาจสะท้อนว่า เรามีมาตรการดูแลเชิงป้องกันที่ดีขึ้น หรือเราอาจจะมีกระบวนการที่ช่วยหันเหเด็กไม่ให้ต้องเข้าสู่กระบวนทางอาญามากขึ้น ซึ่งผมมองว่า เราอาจจะเพิ่มมาตรการเหล่านี้ และที่สำคัญไปกว่านั้น ถ้าเขาต้องเข้ามาอยู่ในสถานพินิจฯ หรือศูนย์ฝึกฯ แล้ว เราจะดูแลแก้ไขยังไงให้เขาเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ และไม่ต้องกลับเข้ามาอีก

 

บางคนอาจมองว่า เด็กที่มีฐานะค่อนข้างยากจนมีแนวโน้มจะกระทำความผิดมากกว่าเด็กที่ฐานะร่ำรวย เรื่องนี้เท็จจริงยังไงบ้าง

ผมว่าฐานะของเด็กไม่ใช่ปัจจัยทางตรงที่ก่อให้เกิดการกระทำความผิด แต่อาจจะเป็นปัจจัยทางอ้อม คือต่อให้ยากจนยังไง แต่ถ้าผู้ปกครองเลี้ยงดูลูกด้วยความรัก ให้ความอบอุ่น เป็นที่พึ่งพิงให้กับเขา เรื่องฐานะไม่ใช่ปัญหาเลย แต่ที่บอกว่าเป็นปัจจัยทางอ้อมก็เพราะว่า ในบางครอบครัว เมื่อยากจนแล้วก็อาจจะต้องทำงานจนไม่มีเวลาดูแลลูกหลานมากเท่าที่ควร

ที่สำคัญคือ เราจะละเลยเรื่องนี้ไม่ได้ ถ้ารู้ว่าครอบครัวไหนมีฐานะยากจน และมีโอกาสจะไม่ดูแลเด็กตามมาตรฐานหรือตามสิทธิที่เด็กควรได้รับ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็จะต้องเข้าไปดูแลทันที อย่าปล่อยให้เด็กต้องเผชิญชะตากรรมแบบนั้น

 

แล้วทางกรมมีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อป้องกันเด็กกลุ่มเสี่ยง ไม่ให้เขาไปกระทำความผิดจนต้องเข้ามาสู่สถานพินิจฯ หรือไม่ อย่างไร

โครงการหนึ่งที่เราทำมาได้สัก 4-5 ปี เป็นเรื่องของการป้องกันเด็กในโรงเรียน แต่เดิมเราเรียกว่าโครงการ ‘1 พินิจ 1 สถานศึกษา’ คำว่า 1 พินิจ คือสถานพินิจฯ ที่อยู่ใน 77 จังหวัด จะจับมือกับ 1 โรงเรียนในจังหวัดนั้น เพื่อร่วมเข้าไปคัดกรองและดูว่า เด็กคนไหนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และมีโอกาสจะก่ออาชญากรรมหรือทำผิดกฎหมาย เราจะมีโปรแกรมดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงร่วมกับโรงเรียน เพื่อป้องกันแก้ไขความเสี่ยงตรงนั้น ไม่ปล่อยให้เขามีพฤติกรรมเสี่ยงแล้วไปทำผิดทางอาญาต่อไป แต่ตอนนี้ เราขยายเป็น 1 พินิจ 6 สถานศึกษา คือปีหนึ่งเราร่วมมือกับโรงเรียนราว 400 กว่าแห่ง มีเด็กเข้าร่วมโครงการราว 70,000 คน ซึ่งเราก็ติดตามผลและขอข้อมูลจากทางโรงเรียน พบว่า จากกว่า 70,000 คน ทำผิดประมาณ 0.02% เท่านั้น

นอกจากในระดับโรงเรียนแล้ว เรายังมีความร่วมมือในระดับจังหวัด คือร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด (กพยจ.) มาประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในจังหวัด ซึ่งทางกรมพินิจฯ จะมีหน้าที่ให้ข้อมูลการกระทำความผิดของเด็กหรือข้อมูลในพื้นที่ และส่งไม้ต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล

ส่วนเด็กกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น เด็กแว้นที่มีอยู่ทั่วประเทศ เราจะเป็นฝ่ายเลขาฯ ที่ทำงานกับตำรวจและหลายภาคส่วนเพื่อลดความเสี่ยงตรงนี้ด้วย คือพอเด็กแว้นถูกตำรวจจับกุมตัว เราจะนำเขาไปเข้าค่ายปรับพฤติกรรม ติดตามผล และคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และส่งเสริมให้ทำกิจกรรมในทางบวก นี่ก็เป็นตัวอย่างความพยายามเชิงป้องกันของเราที่ทำร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างที่บอกไป มีทั้งร่วมมือกันและสร้างเครือข่ายกัน ทั้งหมดนี้ก็เลยก่อให้เกิดผลที่ดีขึ้นตามลำดับ

 

กรณีที่เป็นเด็กและเยาวชนอยู่ในสถานพินิจฯ แล้ว ทางกรมจะช่วยเยียวยาหรือดูแลให้เขาพร้อมกลับคืนสู่สังคมอย่างไรบ้าง

การที่เด็กเข้ามาอยู่กับเรา แน่นอนว่าเขาเข้ามาเพราะมีพฤติกรรมเสี่ยงจนกระทำความผิด สิ่งสำคัญคือเราต้องหาว่า เขาทำผิดเพราะอะไร มีความเสี่ยงมาจากไหน มาจากครอบครัว การคบเพื่อน หรือจะเป็นสิ่งแวดล้อมรอบๆ โดยเราจะใช้เครื่องมือวิเคราะห์ความเสี่ยงและความจำเป็นเพื่อวิเคราะห์ตรงนี้ ขณะเดียวกัน ก็ดูด้วยว่า เราจะต้องพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงเขาอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ เรายังใช้เครื่องมืออีกตัวหนึ่งคือ Forensic CBT เป็นเครื่องมือด้านจิตวิทยาเพื่อใช้ประเมินเด็กและเยาวชนในการกระทำความผิดทางอาญา คือค้นหาว่าเขามีความเสี่ยงอะไร ให้รู้สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง จากนั้นเราถึงมาบำบัด แก้ไข และฟื้นฟู คือเหมือนเราช่วยรักษาเขา แก้สิ่งที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจหรือพฤติกรรมของเขา

พอบำบัดเสร็จก็ยังไม่พอ เพราะพอเด็กออกไปแล้ว แต่ไม่มีอาชีพ ไม่มีการศึกษา ถามว่าอยู่ได้ไหม ก็อยู่ไม่ได้ เราเลยต้องสนับสนุนให้เขาเรียนอย่างน้อยจนจบการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมาย (ม.3) หรือให้การศึกษาคู่ขนานไปกับการฝึกอาชีพด้วย

 

ถ้าเป็นกรณีเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) พวกเขาประสบปัญหาการปรับตัว หรือโดนกลั่นแกล้งบ้างไหม

โดยปกติเราจะไม่แยกเด็กกลุ่มนี้ออกมา เพราะไม่อยากให้รู้สึกแตกต่าง แต่เราจะต้องคอยดูความประพฤติและระวังการถูกละเมิดให้เขา เพราะเราคำนึงถึงว่าเขาอาจจะถูกกระทำความรุนแรงหรือถูกล่วงละเมิดบางอย่าง ซึ่งในระบบจะมีครูที่ปรึกษา มีพ่อบ้าน มีครูที่สอนในห้องเรียน มีนักจิตวิทยา และยังมีนักสังคมสงเคราะห์คอยดูแล เพราะฉะนั้น เด็กจะคลาดสายตาเราได้ยาก

 

สังคมส่วนหนึ่งอาจจะตีตราว่า เด็กในสถานพินิจฯ เป็นเด็กเกเร เลยไม่ให้โอกาสพวกเขา แล้วเป็นไปได้ไหมว่า การที่สังคมบางส่วนยังไม่ให้โอกาสเด็กกลุ่มนี้ ทำให้พอออกมาจากสถานพินิจฯ แล้ว พวกเขาก็วกกลับไปกระทำผิดซ้ำเหมือนเดิม คุณคิดเห็นอย่างไร

มีแน่นอนครับ ลองคิดดูว่า เด็กกลุ่มนี้ขาดโอกาสมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ก่อนเข้ามาอยู่กับเราเสียอีก บางคนไม่ได้รับการศึกษา บางคนถูกไล่ออกจากโรงเรียน สุดท้ายเขาก็ไปอยู่ในมุมมืด ไปคบเพื่อนที่เกเรและอาจจะชักจูงเขาไปในทางที่ไม่ดี หรือบางครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างยากจน พ่อแม่ดูแลไม่ได้ เด็กก็ต้องอยู่ตามลำพัง จะเห็นว่าพวกเขาเสียโอกาสตั้งแต่แรกแล้ว แล้วถ้าเราไม่ให้โอกาสเขาอีก มันก็เหมือนกับเราต้อนให้เด็กจนมุม ต้อนจนหลังชนฝา แล้วถ้าออกไปไหนไม่มีใครยอมรับ ไม่มีใครให้โอกาส เด็กจะอยู่ยังไง ถ้าเราบังคับให้เขาต้องต่อสู้แบบนี้ ไม่เหลือที่ทางดีๆ ให้เขายืน แล้วเขาจะทำยังไงล่ะ ถ้าไม่ได้ไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม

เพราะฉะนั้น การให้โอกาสของสังคมจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ ผมคิดว่า ทางกรมพินิจฯ ต้องรีบให้โอกาสเพื่อจะตัดวงจรการกระทำความผิดของเขา ไม่ให้เขาเป็นเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด จนโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่กระทำความผิด

ตอนนี้เราก็พยายามสื่อสารกับสังคม สร้างการรับรู้ให้สังคมเห็นว่า การให้โอกาสคือสิ่งดีงาม เป็นการกันไม่ให้เขากลับไปกระทำผิดซ้ำ นี่เป็นทั้งการให้โอกาสสังคมและให้โอกาสเด็กด้วย รู้ไหมว่า ถ้าเราได้สัมผัสเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จริงๆ พวกเขาไม่ใช่เด็กเลวร้ายเลย ถ้าเพียงแต่เขาได้รับโอกาส ได้รับความอบอุ่นและคำชี้แนะ ได้รับการเติมเต็มในสิ่งที่เขายังพร่องอยู่ ผมคิดว่านี่จะทำให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์ได้

 

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์

ปัจจุบันมีแนวความคิดในการนำกีฬามาใช้เป็นเครื่องมือทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้กระทำความผิด หรือถ้ากระทำความผิดไปแล้ว ก็ป้องกันไม่ให้กระทำผิดซ้ำ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

เด็กที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นเด็กที่พฤติกรรมค่อนข้างมีปัญหา ดังนั้น การนำกีฬาเข้ามาจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนาและเปลี่ยนแปลงด้านความคิด จิตใจ และพฤติกรรม เพราะกีฬาจะช่วยปลูกฝังหลายๆ เรื่อง ทั้งความมีน้ำใจ ความอดทน หรือการวางแผน ซึ่งเป็นเรื่องด้านบวกทั้งนั้น

อีกอย่างหนึ่ง กีฬาเป็นสิ่งถูกจริตเด็กอยู่แล้ว เข้าถึงเด็กได้ง่าย ทำให้เด็กไม่รู้สึกแปลกแยก และพอเขาไม่รู้สึกแปลกแยก กีฬาจึงสามารถเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงตัวตนของเด็กได้ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เขาได้ด้วย

สำหรับการนำกีฬามาใช้กับกรณีอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนนั้น เราอาจจะถอดบทเรียนออกมาแล้วสร้างเป็นโปรแกรมให้เด็ก ซึ่งผมเชื่อว่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาเราก็เห็นแล้วว่า เยาวชนที่เล่นกีฬาหรือแสดงออกในทางบวกจะยุ่งเกี่ยวกับสิ่งผิดกฎหมายน้อยมาก และพวกเขายังได้แสดงความสามารถของตนเองออกมา ผมว่าเด็กมีความสุขนะที่ได้ทำกิจกรรมพวกนี้

อีกอย่างหนึ่งคือ กีฬายังเป็นทางเลือกอาชีพได้ด้วย อาจจะไม่ใช่แค่เป็นนักกีฬา แต่เป็นกรรมการกำกับเส้นก็ได้ เป็นกรรมการตัดสินก็ได้ มันมีอะไรตามมาเยอะแยะเลย

 

แล้วกรมพินิจฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานไหนในเรื่องกีฬาบ้างไหม

ร่วมมือกับหลายหน่วยครับ ตั้งแต่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และสโมสร BBG ซึ่งเป็นเหมือนการวางทิศทางของกรมพินิจฯ ในการนำกีฬาเข้ามาเป็นเครื่องป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้กระทำผิดซ้ำ ตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ในเรื่องการใช้กีฬาเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน ซึ่งเด็กของเราก็ได้มีโอกาสไปแข่งขันรายการ Princess Cup เด็กก็มีความภาคภูมิใจ และได้เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ เช่นกัน

นอกจากนี้ เรายังร่วมกับสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สโมสรกีฬาเซ็นทรัล มูลนิธิ Right to Play สโมสรฟุตบอลศุลกากรยูไนเต็ด และอีกหลายหน่วยงาน มาร่วมสนับสนุน ฝึกอบรมครูและพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของเด็ก ตอนนี้ก็จะออกเป็นคู่มือเรื่องการพัฒนามา ส่วนมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ (สถาบันการพลศึกษาเดิม) ก็เข้ามาร่วมมือในเชิงวิทยาศาสตร์การกีฬา เพราะเราเพิ่งริเริ่มให้ทุกศูนย์ฝึกมีห้องเรียนกีฬา ต่อไปก็จะพัฒนาให้ศูนย์ฝึกฯ บ้านบึงเป็นศูนย์กีฬาเพื่อรองรับเด็กที่มีแววด้านนี้ด้วย

 

พอนำกีฬาเข้ามาใช้แล้ว การกระทำผิดซ้ำลดลงอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ อย่างไร

สิ่งที่เราเห็นชัดคือ เด็กที่ออกจากสถานพินิจฯ หรือศูนย์ฝึกฯ และเข้าสู่วงการกีฬาก็ใช้กีฬาในการดำเนินชีวิตได้ดี เป็นอะไรที่รองรับการใช้ชีวิตของเขา บางคนได้รับการสนับสนุนจากสโมสร BBG ให้เรียนต่อมหาวิทยาลัย บางส่วนก็เป็นนักกีฬาที่พัฒนาขึ้นมาจนอยู่แถวหน้า แล้วพอเด็กที่มีที่ยืน มีทางออก ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ โอกาสกระทำผิดซ้ำก็จะลดลงด้วย

 

นอกจากกีฬา เรายังมีเครื่องมืออื่นที่นำมาปรับใช้ในการป้องกันการก่ออาชญากรรมอีกไหม

ในระบบของเรามีโปรแกรมการบำบัดเด็ก เราต้องดูว่าเขามีพฤติกรรมยังไง สาเหตุเกิดจากอะไร แล้วก็แก้ปัญหาตรงจุดนั้น สร้างความเชื่อมั่น ลดการใช้ความรุนแรง ให้เขารู้จักควบคุมตัวเอง อันนี้เราทำเป็นหลักอยู่แล้ว

อีกอย่างหนึ่งที่เราพยายามพัฒนาให้เป็นระบบขึ้นคือระบบการบำบัดแบบไร้รอยต่อ หรือที่เรียกว่า Individual Routing Counsellor (IRC) คือนักสังคมสงเคราะห์ 1 คน จะมีเด็กในความดูแล 16 คน คือดูแลตั้งแต่แรกเข้าไปจนถึงหลังปล่อยตัว เป็นทั้งแกนกลางในการดูแล วางแผนพัฒนาเด็ก และคอยประสานกับองค์กรภายนอกเมื่อเด็กออกจากศูนย์ฝึกฯ ไปแล้ว แต่ IRC จะเริ่มใช้กับเด็กที่มีความเสี่ยงสูง คือครอบครัวไม่พร้อมดูแล ตัวเด็กยังมีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งเราพบว่า พอเริ่มใช้ IRC แล้ว เปอร์เซ็นต์การกระทำความผิดลดลง

 

ตอนนี้มีมาตรฐานระดับโลกในเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ต้องขัง เช่น ข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) เรานำมาตรฐานตรงนี้มาปรับใช้กับเด็กและเยาวชนบ้างหรือไม่

ทำอยู่ครับ คือในเรื่องข้อกำหนดกรุงเทพฯ เราจะมีคู่มือในการดูแลสุขอนามัยของเด็กหญิง ดูแลคุณภาพชีวิต หรือให้ความรู้ในเรื่องการดูแลตนเอง หรือในกรณีของเด็กตั้งครรภ์ หรือมีลูกติดมาด้วย เราก็จะดูแลตรงนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้เด็กติดครรภ์ยังมีน้อยอยู่ คือไม่ถึงสิบคน

ในกรณีที่เด็กหญิงคลอดลูก เราจะพิจารณาว่า ครอบครัวแม่เด็กพร้อมไหม ถ้าปู่ ย่า ตา ยาย พร้อม ก็ให้เด็กที่คลอดออกมาไปอยู่กับครอบครัวภายนอกดีกว่า เพราะที่ทางในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ จะไม่เหมาะกับพัฒนาการของเด็กอยู่แล้ว แต่ถ้าครอบครัวข้างนอกยังไม่พร้อม เราจะให้เด็กอยู่กับแม่ แต่จะจัดพื้นที่ไว้ต่างหาก เป็นพื้นที่ที่จัดสำหรับเด็กที่มีลูกติดครรภ์โดยเฉพาะ และให้อยู่ได้ไม่เกินสามปี

แต่ทั้งนี้ ข้อปฏิบัติจริงๆ คือ ให้เด็กที่คลอดออกมากลับไปอยู่ในครอบครัว แต่การอยู่กับแม่ในสถานพินิจฯ เป็นข้อยกเว้น

 

ที่ผ่านมา คุณเห็นข้อจำกัดอะไรในการทำงานกับเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ บ้าง 

ข้อจำกัดหลักที่ผมเห็นคือเรื่องการศึกษา คือเราต้องจัดการศึกษาให้เด็ก แต่เด็กเราเข้าออกทุกวัน ทุกเดือน แต่การจัดการศึกษาระบบปกติต้องลงทะเบียนเรียนตามเวลาเทอมหนึ่งเทอมสอง แต่ถ้าเด็กเข้ามาไม่ทันช่วงนั้น ก็ลงทะเบียนเรียนไม่ได้

ผมมองว่าเราเป็นปลายน้ำ เด็กที่มาอยู่กับเรามีความเสี่ยงมาก่อนแล้ว เพราะเด็กกว่า 70% เป็นเด็กนอกระบบ เรียนไม่จบ หรือต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเด็กอยู่ในโรงเรียนจะดีกว่า เพราะนี่คือวัยที่เขาต้องได้รับการศึกษา อีกอย่างหนึ่งคือ เด็กประมาณ 60-70% มาจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน การหย่าร้างมองอีกมุมหนึ่งอาจจะแสดงว่า ครอบครัวไม่สามารถดูแลเด็กได้ แล้วเราจะทำยังไงให้ครอบครัวเข้มแข็ง เราจะทำยังไงให้เด็กอยู่ในโรงเรียนได้ อย่างน้อยก็จนกว่าจะเรียนจบภาคบังคับหรือมีหลักประกันว่าเขาจะไม่ก้าวไปในทางที่ผิดอีก อันนี้คือการมองไปถึงเรื่องเชิงป้องกันด้วย

 

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์

 

ถ้าปัญหาหลักคือเรื่องการศึกษาของเด็ก แล้วเรามีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง?

ตอนนี้กำลังมีการรวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีประสบการณ์ มาร่วมสร้างระบบการเรียนการสอนแบบที่ใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-based) คือตอนเรียนก็เรียนในห้องเรียนไปตามปกติ พอเข้าสู่ช่วงกิจกรรมก็อาจจะออกไปทำกิจกรรมบำบัด พัฒนาทักษะชีวิต เล่นกีฬากลางสนาม ทำจิตอาสา หรือบำเพ็ญประโยชน์ คือทุกกิจกรรมจะให้เป็นการศึกษาหมด

ถ้าจะทำแบบนี้ได้ เราต้องนำกิจกรรมไปให้โรงเรียนรับรองหลักสูตร คือต้องทำงานและร่วมมือกันเพื่อรับรองว่า กิจกรรมของเราตอบสนองต่อการศึกษา ทั้งในด้านความคิด จิตใจ และความรู้

 

แล้วถ้าเป็นเด็กที่สนใจเรียนด้านอาชีวะ?

เรามีการฝึกอาชีพให้เด็กเหมือนกัน ซึ่งฝึกหลากหลายมาก แต่ปัญหาที่เราพบคือ การฝึกอาชีพไม่ได้เชื่อมโยงกับโครงสร้างหลักสูตรอาชีวะ เด็กอาจจะได้ประกาศนียบัตรเยอะแยะจากการฝึก แต่พอไม่ได้อยู่ในโครงสร้างก็ทำอะไรไม่ได้ เราจึงจะนำเรื่องนี้ไปอยู่ในโครงสร้างของอาชีวะ ถ้าเด็กเรียนมา 10 หลักสูตร ก็ไปเทียบได้เลยว่า จะอยู่ในระดับปวช. ใด

 

ถ้าพูดให้ถึงที่สุด อาจจะมีเด็กบางกลุ่มที่ยังกระทำผิดซ้ำ และต้องกลับเข้ามาอยู่ในสถานพินิจฯ อีกครั้ง เราจะมีมาตรการเยียวยาอย่างไรกับเด็กกลุ่มนี้ หรือสถานที่เยียวยาที่จะตอบสนองต่อความเป็นเยาวชนจริงๆ ควรจะมีลักษณะแบบไหน อย่างไร

ในการดูแลเด็กและเยาวชน สิ่งสำคัญที่ยังไงก็หนีไปไม่พ้นคือการดูแลเด็กตามมาตรฐาน ที่บอกว่า เด็กไม่ใช่อาชญากร ไม่ใช่ผู้ต้องขัง และศูนย์ฝึกไม่ใช่คุก เราต้องเข้าใจตรงนี้

อีกอย่างหนึ่ง เราต้องมีกระบวนการบำบัดที่มุ่งหาสาเหตุที่แท้จริงให้เจอว่า อะไรทำให้เขากระทำผิดซ้ำ ซึ่งเราก็มีเครื่องมืออยู่ ถ้าเขาทำผิดซ้ำ เราต้องไตร่ตรองมากขึ้น ใช้เครื่องมือตรวจสอบ คัดกรองพฤติกรรม และใช้โปรแกรมบำบัดให้เข้มข้นขึ้น อันนี้เป็นปัจจัยภายใน

ส่วนปัจจัยภายนอก เราต้องทำคู่ขนานไปด้วย เช่น ถ้าเราเจอแล้วว่าครอบครัวของเด็กไม่พร้อม ดูแลลูกไม่ได้ เราต้องส่งสัญญาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรู้และเข้าไปดูแล คือนอกจากบำบัดเด็กก็ต้องบำบัดครอบครัวด้วย หรือถ้าสภาพแวดล้อมที่เด็กเคยอยู่มียาเสพติดหรืออบายมุข ก็ต้องหันเหเด็กออกมา อย่าให้เขากลับเข้าไป ซึ่งตรงนี้เราก็พยายามทำอยู่ ไม่ต้องรอเขากระทำผิดซ้ำหรอก เราอาจจะส่งเขาไปอยู่กับสถานประกอบการที่มีหอพักให้ มีเงินเดือนให้ เด็กก็ไม่ต้องกลับไปหาครอบครัวที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก ซึ่งบางทีเขาก็ไม่อยากกลับไปเหมือนกัน พอได้ข้อมูลอะไรมา เราก็พยายามจะใช้ให้เป็นประโยชน์

สุดท้ายคือ เราต้องดูด้วยว่า ที่เขากระทำผิดซ้ำเพราะเขาไม่ได้ต่อยอดอะไรตอนที่อยู่ในสถานพินิจฯ หรือเปล่า คือไม่ได้เรียนต่อ หรือออกไปแล้วไม่มีงานทำ ตรงนี้เราก็ต้องพัฒนาและปลูกฝังเขาเพิ่มด้วย

 

แล้วสังคมจะช่วยเยียวยาเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างไร มีการกระทำที่เป็นรูปธรรมอะไรที่พวกเราสามารถช่วยกันทำได้ไหม

สุดท้ายทุกอย่างจะวกกลับมาที่การให้โอกาส ผมมองว่า พอเด็กเข้ามาอยู่ในสถานพินิจฯ กับเราแล้ว ก็ต้องเข้ามาดูแลเลย อย่างปัจจุบัน CP All ก็จะนำเด็กที่ได้รับการคัดเลือกไปศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ หรือแบรนด์มิสทีน (Mistine) ก็ได้ทำ MOU กับทางกระทรวงยุติธรรม นำงานฝีมือที่เด็กทำไปขายทางออนไลน์ และเมื่อขายได้ เด็กก็จะได้ส่วนแบ่ง และได้เรียนรู้การขายสินค้าออนไลน์ด้วยเช่นกัน

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพรวม คือต้องช่วยกันดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในศูนย์ฝึก ทั้งให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้การจัดการศึกษา ร่วมมือพาเด็กออกไปทำงาน หรือสนับสนุนปัจจัยต่างๆ ในกรณีที่เด็กต้องการเรียนต่อ ทุกอย่างอยู่ภายใต้คำว่า ‘โอกาส’ หมดเลย แต่มันจะต้องไม่ใช่แค่ความรู้สึกอยากให้โอกาส แต่ต้องลงมือทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนด้วย

 

ในฐานะคนที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด และมักจะถูกตีตราจากสังคมอยู่เสมอ คุณอยากสื่อสารอะไรกับสังคมในประเด็นนี้บ้าง

เวลาเราเห็นเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง กำพร้าพ่อแม่ หรือขาดโอกาสทางการศึกษา เราเห็นแล้วก็สงสาร อยากจะช่วยเขา แต่กลับไม่มีใครไปช่วยเขาจริงๆ เด็กกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเลยต้องเข้ามาอยู่กับเรา ดังนั้น เมื่อเขาเข้ามาอยู่กับเราแล้ว สิ่งสำคัญคือการให้โอกาสกับเด็กกลุ่มนี้ กลุ่มที่ครั้งหนึ่งเราเคยสงสารเขานั่นแหละ ให้มองว่าเรากำลังหยิบยื่นโอกาสที่ดีให้เยาวชนที่เคยก้าวผิด คิดพลาดไป

อย่างที่ผมบอกไปว่า เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ขาดโอกาสมาตั้งแต่แรก บางคนถูกทอดทิ้ง บางคนเจอกับความรุนแรง ผลักจนเขาไปอยู่ในมุมมืด บีบจนกระทำความผิด และถูกพาตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ถ้าเราให้โอกาสเขาตั้งแต่แรก ก็ถือเป็นการตัดวงจรที่เขาจะต้องเข้าสู่การทำความผิด กันไม่ให้เขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่จะไปก่ออาชญากรรมหรือกระทำความผิดร้ายแรง ไม่ใช่แค่ป้องกันเขา แต่สร้างความปลอดภัยให้สังคมด้วย

เมื่อเราให้โอกาสเยาวชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ดำเนินชีวิตได้แบบพลเมืองทั่วไป สังคมก็จะปลอดภัย เราที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็จะปลอดภัยเช่นกัน

 

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save