fbpx

เมื่อป้าย ‘Press’ ไม่ใช่เกราะกันกระสุน: การใช้ความรุนแรงต่อสื่อมวลชนคือการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน

ในการรายงานข่าวการชุมนุมเพื่อประท้วงการบริหารอันไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ ผู้ประกาศข่าวและผู้สื่อข่าวมักใช้คำว่า ‘เหมือนดูหนังม้วนเก่า’ เมื่อบรรยายสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมที่แยกดินแดง เนื่องจากทุกครั้งที่ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันบริเวณนี้ก็จะเผชิญกับการระดมแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง รวมถึงการตอบโต้ระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมต่อเนื่องหลายชั่วโมง

แต่หนังม้วนนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น หลายฝ่ายประเมินว่าแนวทางการสลายผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ยกระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งรุนแรงขึ้นในช่วงต้นปีนี้ ทั้งการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ ระยะเวลาที่เข้าสลายการชุมนุม ลักษณะยุทโธปกรณ์ที่นำมาใช้ การเล็ง ‘เป้าหมาย’ วิธีการรุกไล่ รุมล้อม และกวาดจับผู้ชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่มักอ้างว่านี่เป็นปฏิบัติการที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย

ขณะเดียวกัน สวัสดิภาพของสื่อมวลชนผู้รายงานจากพื้นที่ชุมนุมก็ลดลงอย่างต่อเนื่องพร้อมกับความเสี่ยงที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะมีสัญลักษณ์แสดงความเป็นสื่อมวลชนหรืออุปกรณ์ป้องกันหนาแน่นแค่ไหนก็ยังมีร่องรอยจากการเผชิญกับความรุนแรงหลายรูปแบบ ตั้งแต่ถูกอัดด้วยน้ำแรงดันสูง โดนสารเคมีที่ทำให้ระคายเคืองตา-ผิวหนัง ถูกสะเก็ดระเบิด ถูกตีด้วยกระบอง ถูกยิงด้วยกระสุนยาง ไปจนถึงถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว นี่ยังไม่รวมถึงสภาพความโกลาหล ความตื่นตระหนกของผู้คน และแสง-เสียงอึกทึกครึกโครม ที่อาจมีผลต่อสุขภาพจิตใจในระยะยาว

แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่าองค์ประกอบของผู้ประท้วงที่มีความหลากหลายและการชุมนุมที่ไร้แกนนำทำให้หาจุดร่วมและควบคุมทิศทางได้ยากจนอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากับตำรวจ แต่ประเด็นเหล่านี้ก็ไม่ควรทำให้สังคมหลงลืมว่าในสังคมประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่รัฐต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิทางการเมืองและสวัสดิภาพของประชาชน ดังนั้น หากจะสลายการชุมนุม ก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้วิธีการที่อันตรายถึงชีวิต ซึ่งบางครั้งไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่รวมถึงสื่อมวลชนและประชาชนในบริเวณใกล้เคียงด้วย

เพราะถ้าย้อนไปไกลกว่าการชุมนุมขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ อาจกล่าวได้ว่าภาพการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยการปะทะฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกในการชุมนุมเกือบทุกยุค ไม่เพียงผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ผู้ปฏิบัติงานสื่อและประชาชนกลุ่มอื่นๆ ก็ได้รับอันตรายและสูญเสียโดยที่การสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่มีความกระจ่าง

ในเมื่อการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนมักเกิดขึ้นควบคู่กับการสลายการชุมนุมซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าละเมิดหลักสากล แล้วสังคมไทยจะปฏิเสธแนวทางที่ไม่ชอบธรรมเช่นนี้ได้อย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องยอมให้หนังไม่มีคุณค่าม้วนนี้ฉายวนจนเป็นเรื่องปรกติต่อไปอีก


หรือการใช้ความรุนแรงต่อสื่อมวลชนจะกลายเป็น “ความปรกติใหม่”?


กระแสการชุมนุม-ประท้วงทั่วโลกในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาถูกขับเคลื่อนด้วยหลายปัจจัย ทั้งความไม่พอใจต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การใช้อำนาจในทางมิชอบและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ การถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ การเรียกร้องเสรีภาพและสิทธิทางการเมืองจากรัฐบาลอำนาจนิยม รวมถึงการรวมตัวกันของกลุ่มอุดมการณ์ กลุ่มผลประโยชน์ และ “ม็อบต้าน” (counter-protest)

รายงานของ UNESCO พบการทำร้ายและจับกุมผู้สื่อข่าวจำนวน 125 กรณีจากการรายงานการประท้วงใน 65 ประเทศระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2558 – 30 มิถุนายน 2563 โดยพบแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 15 กรณีในปี 2558 มาเป็น 21 กรณีในช่วงเวลาเพียงครึ่งแรกของปี 2563 รายงานยังระบุว่ามีผู้สื่อข่าว 10 คนที่เสียชีวิตระหว่างการรายงานการประท้วงในซีเรีย อิรัก ไนจีเรีย เม็กซิโก นิการากัว ชายแดนอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และชายแดนสหราชอาณาจักร-ไอร์แลนด์เหนือ โดยส่วนใหญ่ถูกยิงเสียชีวิต

UNESCO ชี้ว่า กรณีการทำร้ายสื่อมวลชนส่วนใหญ่เกิดจากตำรวจและกองกำลังด้านความมั่นคง หลายคนได้รับบาดเจ็บจากอาวุธที่ถูกจัดว่าเป็นประเภทไม่อันตรายถึงชีวิต (non-lethal) อย่างกระสุนยางและกระสุนพริกไทย (pepper ball) แม้บางคนไม่เสียชีวิตแต่ก็สูญเสียการมองเห็น ขณะที่บางคนก็บาดเจ็บจากแรงกระแทกหรือสะเก็ดของอาวุธควบคุมฝูงชนประเภทอื่นๆ เช่น flash-ball หรือกระสุนแบบ butterfly bullet รวมทั้งยังพบผู้ได้รับบาดเจ็บจากการใช้กระสุนจริงโดยเจ้าหน้าที่ด้วย ส่วนสื่อมวลชนที่ถูกจับบางคนก็ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นผู้ต้องหา เช่น ถูกบังคับให้ถอดเสื้อและกลิ้งไปกับพื้น ถูกเจ้าหน้าที่ทุบตี

นอกจากการทำร้ายผู้ปฏิบัติงานสื่อในพื้นที่ชุมนุมแล้ว UNESCO ยังพบว่าในบางกรณี เจ้าหน้าที่รัฐก็เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สื่อข่าวและครอบครัวสู่สาธารณะเพื่อสร้างบรรยากาศข่มขู่คุกคาม อีกทั้งยังมีการสั่งเซนเซอร์หรือปิดช่องทางสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และออนไลน์ บล็อกเว็บไซต์และระบบส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ รวมถึงมีมาตรการติดตามสอดส่องนักข่าวทั้งทางกายภาพและผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

UNESCO ยังพบกรณีที่ผู้ชุมนุมคุกคามและทำร้ายผู้สื่อข่าว รวมถึงบุกรุก-ทำลายสำนักงานขององค์กรสื่อด้วย แต่กรณีเหล่านี้ก็มีจำนวนน้อยกว่าการกระทำโดยภาครัฐ อีกประเด็นที่น่ากังวลคือผู้สื่อข่าวสตรีมักตกเป็นเป้าการทำร้าย ทั้งจากเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมเพียงเพราะเป็นเพศหญิง

แม้แนวทางเหล่านี้จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานสากล แต่ส่วนใหญ่กลับไม่พบการสอบสวนหรือดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุคุกคามทำร้ายสื่อมวลชนที่รายงานการชุมนุมประท้วง ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกหรือกลุ่มบุคคล

ส่วนรายงานเฝ้าระวังสถานการณ์การทำร้ายผู้สื่อข่าวในเยอรมนีตั้งแต่ปี 2558 – 2562 โดย The European Centre for Press and Media Freedom (ECPMF) ชี้ว่าเหตุการณ์ที่ผู้สื่อข่าวได้รับอันตรายมากที่สุด คือการรายงานการชุมนุมของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวา แต่ก็พบว่ากลุ่มที่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อสื่อขยายวงกว้างและมีความหลากหลายมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่เก็บสถิติ ในเดือนมกราคม 2563 ECPMF ได้รับรายงานเหตุผู้สื่อข่าวถูกทำร้ายแล้ว 5 กรณี ซึ่งเป็นสถิติที่น่าตกใจเมื่อเทียบกับปีละ 10-20 กว่าเคสในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างการรายงานการชุมนุมของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาเหมือนก่อนหน้านั้น จน ECPMF ชี้ว่าการคุกคามผู้สื่อข่าวกลายเป็น ‘ความปรกติใหม่’ (new normal) ไปแล้ว

การเกาะติดสถานการณ์ของ ECPMF และเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม-วิชาการที่ทำงานด้านเสรีภาพสื่อและสิทธิมนุษยชนในยุโรปยังพบว่า ขณะที่ประชาชนในหลายประเทศของสหภาพยุโรปออกมาชุมนุมกันมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้เพื่อประท้วงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งการควบคุมการระบาดของโควิด-19 มาตรการทางเศรษฐกิจ และการจัดการกับผู้อพยพ สื่อมวลชนที่รายงานจากพื้นที่การประท้วงก็ถูกทำร้ายเพิ่มขึ้น บางคนได้รับบาดเจ็บจากความโกลาหลในการชุมนุมและถูกคุกคามจากผู้ประท้วง แต่จำนวนไม่น้อยถูกตำรวจทำร้ายและได้รับบาดเจ็บเมื่อเจ้าหน้าที่ใช้ปืนปราบจลาจล (riot gun) หรือแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม รวมทั้งมีผู้สื่อข่าวถูกจับแม้จะแสดงบัตรนักข่าวแล้ว

ส่วนในสหรัฐอเมริกาก็มีการชุมนุมเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวอย่างเป็นระบบและการใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตของตำรวจในหลายพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปอย่างสงบ แต่ก็มักเผชิญกับการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมถึงผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกของสหประชาชาติ และผู้รายงานพิเศษจากคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จึงออกแถลงการณ์ประณามการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม รวมทั้งยังประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวที่รายงานการชุมนุมด้วย

แถลงการณ์ของข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีรายงานเหตุผู้สื่อข่าวถูกทำร้าย คุกคาม หรือถูกจับแบบเหวี่ยงแหแม้จะแสดงตนเป็นสื่อมวลชนแล้วอย่างน้อย 200 เหตุการณ์ โดยบางคนถูกจู่โจมขณะกำลังรายงานสด ขณะที่แถลงการณ์ร่วมของผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสององค์กรนานาชาติก็ชี้ว่า การใช้กำลังทั้งแบบถึงตายหรือไม่ร้ายแรงที่เจาะจงเป้าหมายไปยังผู้ปฏิบัติงานสื่อที่ทำหน้าที่ของตนเองนั้น เป็นสิ่งต้องห้ามภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และสวนทางกับมาตรฐานการรักษากฎหมายที่ดี (best policing standards)

แน่นอนว่าแถลงการณ์ทั้งสองไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ อย่างการปล้นและทำลายสถานที่หรือสิ่งของเนื่องจากไม่เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศในการคลี่คลายความขัดแย้งและแก้ปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ใช้ยุทธวิธีแบบสงครามต่อผู้ชุมนุมและสื่อมวลชน


สู่แนวปฏิบัติที่ดีกว่าในการคุ้มครองสื่อมวลชน (และมวลชน)


“ผู้บังคับใช้กฎหมายมีหน้าที่ในการทำให้ผู้สื่อข่าวที่รายงานการประท้วงเชื่อมั่นได้ว่าได้รับความปลอดภัย และรับประกันสิทธิของสาธารณะในการหาและได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านี้ สื่อมวลชนมีบทบาทในการเป็นหมาเฝ้าบ้าน (watchdog) ที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตย”

แถลงการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสหประชาชาติ และคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563

“ผู้สื่อข่าวมีสิทธิในการรวบรวมข้อมูล และตำรวจควรป้องกันพวกเขาจากการแทรกแซงที่ผิดกฎหมายใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการชุมนุม”

Press Freedom Codex


การประมวลปัญหาการคุกคาม-ทำร้ายสื่อมวลชนในการรายงานการชุมนุมโดย UNESCO ที่สะท้อนอันตรายต่อเสรีภาพของสื่อ เสรีภาพการแสดงออก และสิทธิทางการเมืองของประชาชน นำไปสู่ข้อเสนอเพื่อรับประกันความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานสื่อ เนื่องจากรายงานฉบับนี้พบว่ากระบวนการทางกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลการทำงานของตำรวจและกองกำลังด้านความมั่นคงในประเทศที่พบการทำร้ายผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่มีข้อกำหนดต่ำกว่ามาตรฐานสากลและกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงให้ความสำคัญกับกฎหมายที่จะทำให้เจ้าหน้าที่เลี่ยงการใช้กำลังอันเป็นอันตรายถึงชีวิต (lethal force) ในการจัดการการชุมนุม และส่งเสริมให้มีกระบวนการแสดงความรับผิดรับชอบเมื่อเกิดกรณีละเมิดแนวทางสากลหรือมีการคุกคาม-ทำร้ายสื่อมวลชน

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้รัฐจัดหาและฝึกฝนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อุปกรณ์และวิธีการที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจเรื่องเสรีภาพการแสดงออกและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของประชาชน (public order) ซึ่ง UNESCO มีคู่มือนี้อยู่แล้ว รวมถึงเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และบทบาทของสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุม

รายงานของ UNESCO ยกตัวอย่างประเทศโคลอมเบียที่มีการสอบสวนกรณีการทำร้ายผู้สื่อข่าวที่ถ่ายภาพขณะทหารกำลังทุบตีผู้ประท้วงเมื่อปี 2555 โดยศาลระหว่างรัฐอเมริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกำหนดให้กองทัพต้องจัดการศึกษาเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิมนุษยชนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก ส่วนในบราซิล หลังจากมีการสอบสวนกรณีผู้สื่อข่าวถูกทำร้ายในที่ชุมนุม สำนักงานอัยการสาธารณะแห่งนครเซา เปาโล ได้ส่งข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจให้มีการกำกับดูแลการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อรับประกันการคุ้มครองสื่อมวลชน รวมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐแสดงความรับผิดรับชอบต่อการกระทำ หรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เมื่อเกิดการทำร้ายสื่อมวลชนขึ้น

ส่วน ECPMF ระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องส่งเสริมเสรีภาพสื่อ โดยเสนอแนวปฏิบัติสร้างความเข้าใจระหว่างตำรวจและสื่อมวลชนในการชุมนุม หรือ Press Freedom Police Codex ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ ไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ว่าในรูปแบบใด ผู้สื่อข่าวมีสิทธิในการเก็บข้อมูลโดยไม่ถูกแทรกแซง และมีสิทธิในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นระดับปัจเจกหรือหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ไม่สามารถลบภาพที่ผู้สื่อข่าวบันทึกไว้ หรือยึดอุปกรณ์ของผู้สื่อข่าวโดยไม่มีใบอนุญาต

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวต้องไม่ถูกดำเนินคดี เลือกปฏิบัติ  ขึ้นบัญชีดำ หรือถูกตรวจตราสอดส่องเนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมือง หากตำรวจทำอันตราย ข่มขู่ หรือคุกคามสื่อมวลชน การกระทำเหล่านี้ต้องถูกประณาม สอบสวน และเปิดเผยสู่สาธารณะโดยกรรมการสอบสวนที่เป็นอิสระ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจควรได้รับการฝึกอบรมและอัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของสื่อมวลชนอยู่เสมอ

การถอดบทเรียนจากองค์กรนานาชาติที่กล่าวมาทำให้เห็นปัญหาการละเมิดเสรีภาพสื่อและสิทธิทางการเมืองของประชาชนในการชุมนุมได้ชัดเจนขึ้น แม้แนวทางแก้ไขอาจไม่ใช่ข้อเสนอที่ใหม่นัก หลายเรื่องดูดีในหลักการ อย่างการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ แต่ในทางปฏิบัติก็อาจเป็นที่กังขาว่าจะได้ผลจริงหรือเปล่า หรือจะเป็นเพียงพิธีกรรม หรือ KPI ในการประเมินผลงานประจำปีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้น่าจะชี้ให้เห็นว่าการถกเถียงเรื่องการรักษาสวัสดิภาพของทุกฝ่ายในการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุม สื่อมวลชน ประชาชนในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐเอง ไม่ควรพุ่งเป้าไปที่การจำกัดขอบเขตของผู้ชุมนุมว่าอย่าใช้ ‘ความรุนแรง’ เท่านั้น แต่ควรย้ำให้เห็นบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการยึดมั่นหลักสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี เพื่อสร้างบรรยากาศที่จะไม่ทำให้มวลชนใช้ความรุนแรง ไม่ใช่อ้างกรอบกฎหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังเข้าปราบปรามเพียงอย่างเดียว

สำหรับสถาบันสื่อมวลชน การจะเรียกร้องการคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานสื่อในนามผู้ใช้เสรีภาพในการพูดและการแสดงความเห็นแทนประชาชนได้อย่างชอบธรรม ก็ต้องเป็นไปพร้อมกับการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิภาพของพลเมือง ด้วยการทำความเข้าใจต่อข้อเรียกร้องของประชาชน รายงานข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและหลากมุมมอง รวมถึงตรวจสอบสถาบันทางการเมืองและสังคมตามบทบาทที่ถูกคาดหวังในสังคมประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน

หากสื่อมวลชนยังให้พื้นที่อย่างล้นเหลือแก่สถาบันที่มีอำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพียงเพราะเป็นความเห็นของ ‘คู่ขัดแย้งอีกฝ่าย’ รวมถึงชี้ว่าการแสดงสิทธิทางการเมืองของประชาชนในรูปแบบที่ถูกแปะป้ายว่า ‘รุนแรง’ ล้วนเป็นการก่อความวุ่นวายของคนป่วนเพื่อสั่นคลอนรัฐบาลที่ตัวเองไม่ชอบโดยมีผู้ยุยงอยู่เบื้องหลัง การอ้างว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” ก็เป็นแค่สโลแกนอันว่างเปล่า ที่นำมาป่าวประกาศเมื่อถูกลิดรอนอำนาจต่อรองจากกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจมากกว่า ไม่ใช่ปรัชญาวิชาชีพวารสารศาสตร์ที่ยึดถืออย่างจริงจัง.


อ้างอิง

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save